ข้ามไปเนื้อหา

บิฮุย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บิฮุย (เฟ่ย์ อี)
費禕
รูปปั้นของบิฮุยในศาลจูกัดเหลียงที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 243 (243) – 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าเจียวอ้วน
ถัดไปเกียงอุย
ผู้จัดการกิจการในสำนักราชเลขาธิการ
(錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ)
(ดำรงตำแหน่งร่วมกับเกียงอุยตั้งแต่ ค.ศ. 247)
ดำรงตำแหน่ง
พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 243 (243) – 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าเจียวอ้วน
ถัดไปเกียงอุย
ข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว
(益州刺史 อี้โจฺวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 244 (244) – 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าเจียวอ้วน
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ
(尚書令 ช่างชูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคม ค.ศ. 235 (235) – ค.ศ. 244 (244)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าเจียวอ้วน
ถัดไปตั๋งอุ๋น
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
อำเภอหลัวชาน มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิต16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253[a]
อำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวน
ที่ไว้ศพเขตเจาฮฺว่า นครกว่างยฺเหวียน มณฑลเสฉวน
บุตร
ญาติเฟ่ย์ ปั๋วเหริน (ญาติ)
อาชีพนักการทูต, ขุนพล, นักการเมือง, ผู้สำเร็จราชการ
ชื่อรองเหวินเหว่ย์ (文偉)
สมัญญานามจิ้งโหว (敬侯)
บรรดาศักดิ์เฉิงเซียงโหว
(成鄉侯)

บิฮุย, ปีฮุย[b], ปี่ฮุย[c] หรือหุยวุย[d] (เสียชีวิต 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฟ่ย์ อี (จีน: 費禕; พินอิน: Fèi Yī) ชื่อรอง เหวินเหว่ย์ (จีน: 文偉; พินอิน: Wénwěi) เป็นนักการทูต ขุนพล นักการเมือง และผู้สำเร็จราชการของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[7] บิฮุยเกิดในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เริ่มรับราชการในฐานะข้าราชบริพารของเล่าเสี้ยน โอรสองค์โตและรัชทายาทของเล่าปี่ ขุนศึกที่ขึ้นเป็นจักรรดิผู้สถาปนารัฐจ๊กก๊ก หลังเล่าเสี้ยนขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 223 บิฮุยก็เริ่มค่อย ๆ มีบทบาทสำคัญภายใต้การสำเร็จราชการของจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊ก ในเวลานั้นบิฮุยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการทหารของจูกัดเหลียงและเป็นราชทูตของจ๊กก๊กในการติดต่อกับง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตร บิฉุยยังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งระหว่างอุยเอี๋ยนขุนพลของจ๊กก๊กและเอียวหงีหัวหน้าอาลักษณ์ของจูกัดเหลียง หลังจูกัดเหลียงชีวิตในปี ค.ศ. 234 รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของเจียวอ้วนที่เป็นผู้สำเร็จราชการคนใหม่ และรับหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เจียวอ้วนค่อย ๆ สละอำนาจเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ในปี ค.ศ. 244 บิฮุยนำทัพจ๊กก๊กได้ชัยในยุทธการที่ซิงชื่อต่อรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ และได้สืบตำแหน่งผู้สำเร็จราชการต่อจากเจียวอ้วนหลังเจียวอ้วนเสียชีวิตในอีก 2 ปีถัดมา ในเทศกาลปีใหม่วันแรกในปี ค.ศ. 253 บิฮุยถูกลอบสังหารโดยกัว ซิว ผู้แปรพักตร์จากวุยก๊ก

ประวัติช่วงต้น

[แก้]

บิฮุยเป็นชาวอำเภอเหมิง (鄳縣 เหมิงเซี่ยน) เมืองกังแฮ (江夏郡 เจียงเซี่ยเซี่ยน) ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอหลัวชาน มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[8] บิดาของบิฮุยเสียชีวิตตั้งแต่บิฮุยยังอยู่ในวัยเยาว์ บิฮุยจึงได้รับการอุปการะจากญาติผู้ใหญ่ชื่อเฟ่ย์ ปั๋วเหริน (費伯仁) ป้าของเฟ่ย์ ปั๋วเหรินเป็นมารดาของเล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เมื่อเล่าเจี้ยงเชิญเฟ่ย์ ปั๋วเหรินมารับราชการ บิฮุยก็ได้ติดตามเฟ่ย ปั๋วเหรินเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋วมาด้วยในฐานะนักศึกษานักเดินทาง[9]

ในปี ค.ศ. 214[10] หลังขุนศึกเล่าปี่เข้ายึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงและกลายเป็นเจ้ามณฑลคนใหม่ บิฮุยเลือกที่จะอยู่ในมณฑลเอ๊กจิ๋ว เวลานั้นบิฮุยขึ้นมามีชื่อเสียงเทียบกับบัณฑิตอีก 2 คนได้แก่ สฺวี ชูหลง (許叔龍) จากเมืองยีหลำ[e] (汝南 หรู่หนาน) และตั๋งอุ๋นจากเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น)[11]

พฤติการณ์ในงานศพของบุตรชายเคาเจ้ง

[แก้]

เมื่อบุตรชายของเคาเจ้งเสียชีวิต บิฮุยและตั๋งอุ๋นต้องการไปร่วมงานศพ ตั๋งอุ๋นจึงขอกับตั๋งโหผู้บิดาให้ช่วยจัดการเรื่องยานพาหนะในการเดินทาง หลังตั๋งโหจัดหารถม้าขนาดเล็กที่ไม่มีที่กั้นด้านหลังให้ ตั๋งอุ๋นมีท่าทีไม่เต็มใจที่จะขึ้นรถ ในขณะที่บิฮุยขึ้นรถอย่างกระตือรือร้น[12] เมื่อบิฮุยและตั๋งอุ๋นไปถึงที่หมายก็เห็นว่าจูกัดเหลียงและขุนนางสำคัญคนอื่น ๆ เดินทางมาถึงด้วยรถม้าที่ตกแต่งเป็นอย่างดี เมื่อทั้งคู่ลงจากรถม้า ตั๋งอุ๋นแสดงอาการลำบากใจ ในที่ขณะที่บิฮุยดูสงบเยือกเย็น [13]

เมื่อทั้งคู่กลับจากงานศพ ตั๋งโหถามสารถีผู้ขับรถม้าจึงรู้ว่าตั๋งอุ๋นและบิฉุยแสดงปฏิกิริยาที่แตกต่างกันเมื่อเห็นว่ายานพาหนะของพวกตนมีรูปแบบที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับของคนอื่น ตั๋งโหจึงบอกกับตั๋งอุ๋นบุตรชายว่า "พ่อมักจะสงสัยว่าเจ้าและเหวินเหว่ย์ (ชื่อรองของบิฮุย) มีความดีเสมอกันหรือไม่ บัดนี้พ่อได้คำตอบแล้ว"[14]

รับราชการกับเล่าปี่

[แก้]

ในปี ค.ศ. 221[15] หลังเล่าปี่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก พระองค์ตั้งให้เล่าเสี้ยนโอรสองค์โตเป็นรัชทายาท และตั้งให้บิฮุยและตั๋งอุ๋นเป็นข้าราชบริพารคนสนิทของเล่าเสี้ยนที่เป็นรัชทายาทแต่งตั้งใหม่[16]

รับราชการในสมัยที่จูกัดเหลียงเป็นผู้สำเร็จราชการ

[แก้]

เมื่อเล่าเสี้ยนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 223 หลังการสวรรคตของเล่าปี่ จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราขการเนื่องจากเวลานั้นเล่าเสี้ยนยังทรงพระเยาว์[17] หลังการเถลิงราชย์ เล่าเสี้ยนตั้งให้บิฮุยเป็นขุนนางสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง)[18]

ราวฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 225[17] เมื่อจูกัดเหลียงกลับจากการทัพต่อกบฏและชนเผ่าลำมัน (南蠻 หนานหมาน) ในทางใต้ของจ๊กก๊ก บิฮุยและเพื่อนขุนนางหลายคนเดินทางหลายสิบลี้ออกจากนครหลวงเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) เพื่อต้อนรับจูกัดเหลียงกลับ ขุนนางส่วนใหญ่มีอายุในช่วงเดียวกับบิฮุยและมีตำแหน่งทางราชการในราชสำนักจ๊กก๊กที่เทียบเท่ากัน ในเหล่าขุนนางเหล่านี้ จูกัดเหลียงเลือกเพียงบิฮุยให้มานั่งในรถคันเดียวกันกับตนในการเดินทางกับเซงโต๋ คนอื่น ๆ แปลกใจมากและเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อบิฮุยไปหลังจากนั้น[19]

ในฐานะราชทูตของจ๊กก๊กไปง่อก๊ก

[แก้]

ในปี ค.ศ. 223 จ๊กก๊กฟื้นฟูความเป็นพันธมิตรกับง่อก๊กอดีตรัฐพันธมิตรในการต้านวุยก๊กอันเป็นรัฐอริร่วม[17] หลังจากจูกัดเหลียงกลับจากการบุกลงใต้ ในปี ค.ศ. 225[17] ได้แต่งตั้งให้บิฮุยเป็นนายกองผู้น่าเชื่อถือแจ่มชัด (昭信校尉; เจาซิ่นเซี่ยวเว่ย์) และส่งเป็นราชทูตไปยังง่อก๊ก[20]

ในระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ง่อก๊ก บิฮุยมีท่าทีสงบเยือกเย็นเมื่อซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊กพยายามเยาะเย้ยล้อเล่นกับบิฮุย ซุนกวนนำสุรามาเลี้ยงบิฮุยเมื่อเห็นว่าบิฮุยเมาจึงกระหน่ำตรัสถามคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันกับบิฮุย บิฮุยทูลว่าตนยังไม่สร่างเมาและปฏิเสธที่จะทูลตอบในทันที บิฮุยจดคำถามทั้งหมดและนำกลับไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ภายหลังจึงกลับมาเข้าเฝ้าซุนกวนพร้อมกับคำตอบของคำถามทั้งหมดโดยไม่ผิดพลาดแม้แต่คำถามเดียว[21] ขุนนางของง่อก๊กบางคนอย่างจูกัดเก๊กและหยาง เต้า (羊衜) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความสามารถในการพูด พยายามท้าทายบิฮุยและตั้งคำถามยาก ๆ ให้บิฮุยตอบ แต่บิฮุยก็สามารถตอบคำถามด้วยคำตอบที่สมเหตุสมผลในอาการสงบและสง่างาม บิฮุยสามารถยืนหยัดได้ดีตลอดภารกิจการทูตของตน[22]

ครั้งหนึ่ง ซุนกวนที่เมาสุราตรัสถามกับบิฮุยว่า "เอียวหงีและอุยเอี๋ยนประพฤติตนเหมือนเด็กไม่รู้จักโต แม้ว่าจะมีผลงานเล็กน้อย แต่ก็ยังสามารถก่อปัญหาใหญ่ได้เพราะอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ หากวันใดจูกัดเหลียงไม่อยู่แล้วจะเกิดหายนะขึ้นเป็นแน่ พวกท่านสับสนกันไปหมด ไม่มีใครพิจารณาถึงผลกระทบระยะยาวของปัญหานี้เลย จะไม่เป็นภัยต่อลูกหลานของพวกท่านเลยหรือ" บิฮุยตกตะลึงกับคำถามของซุนกวน ไม่สามารถตอบได้ในทันทีและเริ่มมองไปรอบ ๆ ขณะพยายามคิดหาคำตอบ ต่ง ฮุย (董恢 ) ผู้ช่วยของบิฮุยก้าวขึ้นมาข้างหน้า มองไปที่บิฮุยและพูดว่า "ท่านพูดได้ว่าความขัดแย้งระหว่างเอียวหงีและอุยเอี๋ยนเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างพวกเขา พวกเขาไม่ได้มีความทะเยอทะยานแรงกล้าอย่างหยินโป้ (英布 อิ่ง ปู้) และฮั่นสิน (韓信 หาน ซิ่น) บัดนี้ความสำคัญลำดับแรกคือการกำจัดข้าศึกที่ทรงอำนาจและรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น หลังจากที่ทำสำเร็จแล้วเท่านั้นจึงถือว่าภารกิจของเราลุล่วงและสามารถขยายสิ่งตกทอด หากเราละทิ้งความสำคัญนี้ไปและมุ่งเน้นไปใส่ใจปัญหาภายในเช่นนี้ก่อน ก็เปรียบได้ก็การไม่ต่อเรือรอรับพายุ นั่นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยในระยะยาว" ซุนกวนรู้สึกถูกใจกับคำตอบของต่ง ฮุย[23]

ในอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซุนกวนสั่งขุนนางของตนว่า "หากราชทูตจ๊กมาถึง พวกท่านทั้งหมดจงนั่งอยู่ที่เดิม รับประทานอาหารต่อไป และอย่าลุกขึ้นต้อนรับ" เมื่อบิฮุยมาถึง ซุนกวนและขุนนางก็จงใจเพิกเฉยต่อการมาถึงของบิฮุยและเลี้ยงฉลองกันต่อไป บิฮุยจึงพูดว่า "เมื่อหงส์ปรากฏ กิเลนจะหยุดกินอาหาร (และรู้ถึงการปรากฏตัวของหงส์) ส่วนพวกลาและล่อจะเพิกเฉย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกมันจึงยังกินอาหารต่อไป (และเพิกเฉยต่อหงส์)" จูกัดเก๊กตอบว่า "เราปลูกต้นอู๋ถง (梧桐) เพื่อรับการมาถึงหงส์ แต่มีนกจาบมาจับแทน เหตุใดเราจึงไม่ไล่นกจาบให้กลับไปรังที่มันอยู่เล่า" บิฮุยหยุดเคี้ยวขนมและขอพู่กันเพื่อแต่งบทกวี จูกัดเก๊กก็ทำเช่นกัน พวกเขาแลกเปลี่ยนผลงานและชื่นชมซึ่งกันและกัน[24]

ซุนกวนประทับใจในตัวบิฮุยมากจึงตรัสกับบิฮุยว่า "ท่านคือบุรุษที่ทรงคุณธรรมที่สุดคนหนึ่งในแผ่นดิน ท่านจะกลายเป็นเสาหลักสำคัญของรัฐจ๊กเป็นแน่ เมื่อถึงตอนนั้น ข้าเกรงว่าท่านจะไม่อาจมาเยี่ยมเราได้บ่อย ๆ อีกแล้ว"[25] ซุนกวนยังพระราชทานกระบี่ล้ำค่าเป็นของขวัญอำลาให้กับบิฮุยสำหรับพกพา บิฮุยทูลว่า "กระหม่อมไร้ความสามารถ สิ่งใดที่ทำให้กระหม่อมควรได้รับเกียรติถึงเพียงนี้ กระบี่นั้นมีไว้ใช้ต่อสู้กับข้าศึกของรัฐและเพื่อยุติความวุ่นวาย กระหม่อมหวังว่าฝ่าบาทจะปกครองอาณาจักรของพระองค์อย่างดีที่สุดและร่วมมือกัน (กับจ๊กก๊ก) ในการส่งเสริมราชวงศ์ฮั่น กระหม่อมอาจจะโง่เขลาและอ่อนแอ แต่กระหม่อมจะไม่ทำให้ฝ่าบาทผิดหวังต่อความคาดหวังในตัวกระหม่อม"[26]

ในฐานะที่ปรึกษาการทหาร

[แก้]

บิฮุยได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) หลังกลับจากภารกิจการทูตในง่อก๊ก[27]

ในปี ค.ศ. 227[17] จูกัดเหลียงระดมกำลังทหารจากทั่วทั้งจ๊กก๊กเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทัพครั้งใหญ่ต่อวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊กในปีถัดมา ขณะที่กำลังทหารไปรวมตัวกันที่พื้นที่ที่จัดไว้ในเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) จูกัดเหลียงก็เรียกตัวบิฮุยมาจากนครเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) และตั้งให้เป็นที่ปรึกษาการทหาร (參軍 ชานจฺวิน)[28] ในฎีกาออกศึก (出師表 ชูชือเปี่ยว) จูกัดเหลียงระบุชื่อบิฮุย กุยฮิวจี๋ และตั๋งอุ๋นว่าเป็นตัวอย่างของขุนนางที่น่าเชื่อถือ จงรักภักดี และมีความสามารถ ซึ่งสามารถถวายคำปรึกษาที่ดีและช่วยเหลือจักรพรรดิเล่าเสี้ยนในการปกครองอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น[29]

ระหว่างปี ค.ศ. 227 ถึง ค.ศ. 230 บิฮุยสลับบทบาทหน้าที่ระหว่างการเป็นที่ปรึกษาการทหารกับราชทูตของจ๊กก๊กไปยังง่อก๊ก นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของจูกัดเหลียงระหว่างการทัพกับวุยก๊กแล้ว บิฮุยยังมักถูกราชสำนักจ๊กก๊กส่งไปทำภารกิจการทูตยังง่อก๊กในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย[30] ในปี ค.ศ. 230 บิฮุยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ทัพส่วนกลาง (中護軍 จงฮู่จฺวิน) และต่อมาเป็นนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ในทัพจ๊กก๊ก[31]

บทบาทในความขัดแย้งระหว่างอุยเอี๋ยนและเอียวหงี

[แก้]

อุยเอี๋ยนขุนพลผู้ใหญ่ของจ๊กก๊กมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเอียวหงีหัวหน้าอาลักษณ์ของจูกัดเหลียง อุยเอี๋ยนมีชื่อเสียงในเรื่องชอบโอ้อวด และเพื่อนขุนนางนายทหารโดยทั่วไปมักยอมให้เขา เอียวหงีเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ไม่ยอมให้อุยเอี๋ยน อุยเอี๋ยนจึงไม่พอใจเอียวหงีเป็นอย่างมาก[32] จูกัดเหลียงรู้สึกไม่สบายใจที่อุยเอี๋ยนและเอียวหงีไม่ลงรอยกัน แต่ก็ไม่อยากจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะชื่นชมความสามารถของทั้งสองคนและยังต้องการความช่วยเหลือจากทั้งคู่[33]

เมื่ออุยเอี๋ยนและเอียวหงีทะเลาะกันอย่างรุนแรง อุยเอี๋ยนชักกระบี่ออกมาและกวัดแกว่งต่อหน้าเอียวหงี เอียวหงีร้องไห้น้ำตาอาบแก้ม บิฮุยจึงเข้ามาหยุดการวิวาทของทั้งคู่และสามารถควบคุมทั้งคู่ได้ในช่วงเวลาที่จูกัดเหลียงยังมีชีวิตอยู่[34]

ยุทธการที่ทุ่งอู่จ้าง

[แก้]

ในปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงล้มป่วยหนักระหว่างการคุมเชิงกันกับทัพวุยก๊กในยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง[35] ในช่วงเวลานั้นเมื่อลิฮกถามจูกัดเหลียงว่าควรให้ใครสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าราชสำนักจ๊กก๊กถัดจากจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงตอบว่าเจียวอ้วนสามารถสืบทอดต่อจากตน และบิฮุยสามารถสืบทอดต่อจากเจียวอ้วน หลังจากลิฮกจากไปแล้ว[36] จูกัดเหลียงลอบสั่งให้เอียวหงี บิฮุยและเกียงอุยให้นำทัพกลับไปจ๊กก๊กหลังตนเสียชีวิต โดยให้อุยเอี๋ยนและเกียงอุยทำหน้าที่คุมกองหลัง หากอุยเอี๋ยนปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง ก็ให้ล่าถอยไปโดยไม่ต้องมีอุยเอี๋ยน หลังจูกัดเหลียงเสียชีวิต เอียวหงีสั่งให้ปิดข่าวการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงเป็นความลับ จากนั้นจึงให้บิฮุยไปพบอุยเอี๋ยนเพื่อประเมินเจตนาของอุยเอี๋ยน[37]

เมื่ออุยเอี๋ยนปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสุดท้ายของจูกัดเหลียงและปฏิเสธที่จะยอมทำตามคำสั่งของเอียวหงี[38] บิฮุยจึงแสร้งทำเป็นรับปากว่าจะช่วยอุยเอี๋ยนในการจัดทัพของจ๊กก๊กส่วนหนึ่งใหม่ให้ยังคงอยู่ทำศึกต่อไป ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะยกกลับไปจ๊กก๊ก จากนั้นบิฮุยจึงเขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดทัพใหม่ให้ทั้งคู่ลงนามในหนังสือ และบอกอุยเอี๋ยนว่าตนจะนำหนังสือไปอ่านแจ้งให้ขุนนางทุกคนทราบในภายหลัง บิฮุยยังบอกอุยเอี๋ยนอีกว่า "ข้าจะกลับไปอธิบายความคิดของท่านให้กับหัวหน้าอาลักษณ์เอียว หัวหน้าอาลักษณ์เป็นขุนนางพลเรือนที่รู้เรื่องการทหารเพียงเล็กน้อย เขาจะไม่คัดค้านการจัดทัพใหม่เป็นแน่"[39]

จากนั้นบิฮุยก็ลาอุยเอี๋ยนและรีบกลับไปยังค่ายหลัก ในไม่ช้าอุยเอี๋ยนก็นึกเสียใจกับการตัดสินใจของตนจึงพยายามจะหยุดบิฮุยแต่ไล่ตามไม่ทันกาล หลังจากส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปสืบสถานการณ์ในค่ายหลัก ก็ต้องตกใจที่รู้ว่าบิฮุยโกหกตนเพราะทุกหน่วยในทัพจ๊กก๊กเตรียมการล่าถอยตามคำสั่งสุดท้ายของจูกัดเหลียง อุยเอี๋ยนโกรธมากเพราะตนต้องการทำศึกต่อ จึงพยายามจะสกัดการล่าถอยของทัพจ๊กก๊กโดยนำหน่วยทหารของตนไปทำลายสะพานทางเดินเลียบหน้าผาที่มุ่งหน้ากลับไปจ๊กก๊ก[40]

อุยเอี๋ยนและเอียวหงีต่างก็เขียนฎีกาไปยังราชสำนักจ๊กก๊กเพื่อกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นกบฏ ราชสำนักจ๊กก๊กเชื่อฎีกาของเอียวหงีและสงสัยว่าอุยเอี๋ยนวางแผนก่อกบฏ ในที่สุดอุยเอี๋ยนก็พบกับจุดจบด้วยฝีมือของม้าต้ายขุนพลจ๊กก๊ก ความขัดแย้งจึงสิ้นสุดลง[35]

รายงานเรื่องเอียวหงี

[แก้]

หลังกลับมาที่นครเซงโต๋ เอียวหงีเห็นว่าตนคงมีความดีความชอบยิ่งใหญ่จึงเชื่อมั่นว่าตนจะได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของจูกัดเหลียงในฐานะผู้นำขุนนางราชสำนักจ๊กก๊กคนใหม่ แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างมากเมื่อกลับกลายเป็นว่าจูกัดเหลียงเลือกให้เจียวอ้วนเป็นแทน เจียวอ้วนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ส่วนเอียวหงีได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาการทหารส่วนกลาง (中軍師 จงจฺวินซือ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง[41]

เอียวหงีมองว่าตัวเองสูงส่งมาโดยตลอดและเห็นว่าตนเหนือกว่าเจียวอ้วนเพราะตนเริ่มรับราชการในจ๊กก๊กก่อนเจียวอ้วน หลังเจียวอ้วนขึ้นเป็นผู้นำขุนนางขุนใหม่ของราชสำนักจ๊กก๊ก เอียวหงีก็มักบ่นแสดงความไม่พอใจ เพื่อนขุนนางต่างเพิกเฉยเขาเพราะเอียวหงีเลือกใช้คำที่หยาบคายในการถ่ายทอดความคับข้องใจ บิฮุยเป็นคนเดียวที่คอยปลอบโยนเอียวหงี[42]

ครั้งหนึ่งเอียวหงีพูดกับบิฮุยว่า "เมื่อครั้งท่านอัครมหาเสนาบดีสิ้นชีพ ข้าควรนำคนไปเข้าด้วยกับวุยเสียถ้ารู้ว่าข้าจะต้องลงเอยเช่นทุกวันนี้ ข้าเสียดายอย่างมากแต่บัดนี้ข้าทำอะไรไม่ได้แล้ว" บิฮุยลอบรายงานเรื่องที่เอียวหงีพูดไปยังราชสำนักจ๊กก๊ก เป็นผลให้ในปี ค.ศ. 235 เอียวหงีถูกปลดสถานะลงเป็นสามัญชนและเนรเทศไปอยู่เมืองแก่กุ๋น (漢嘉郡 ฮั่นเจียจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอหลูชาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เอียวหงีฆ่าตัวตายที่นั่นในภายหลัง แต่ครอบครัวของเอียวหงีได้รับอนุญาตให้กลับจ๊กก๊กได้[43]

รับราชการในสมัยที่เจียวอ้วนเป็นผู้สำเร็จราชการ

[แก้]

ในฐานะหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ

[แก้]

บิฮุยขึ้นมามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาการทหารส่วนหลัง (後軍師 โฮฺ่วจฺวินชือ) หลังจูกัดเหลียงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234[35] ต่อมาไม่นานก็ได้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) จากเจียวอ้วนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 235[44][45]

เวลานั้นจ๊กก๊กอยู่ในภาวะสงคราม บิฮุยมีปัญหาจำนวนมากที่ต้องสะสางในแต่ละวันเนื่องจากบทบาทในฐานะหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ แต่บิฮุยก็ได้ชื่อว่ามีสติปัญญาสูงเป็นพิเศษ ประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นเลิศ บิฮุยสามารถจับประเด็นที่สำคัญทั้งหมดในเอกสารและจดจำได้หลังจากอ่านเอกสารผ่านเพียงรอบเดียว ดังนั้นในวันทำงานปกติ บิฮุยมักจะทำงานทั้งหมดให้เสร็จในตอนเช้าและใช้เวลาช่วงบ่ายพบปะผู้คนและทำกิจกรรมยามว่าง บิฮุยเชี่ยวชาญในการเล่นหมากล้อมเป็นพิเศษ แม้ว่าบิฮุยจะปล่อยตัวไปกับความสนุกสนานและความบันเทิงแต่ก็ไม่เคยละเลยงานและหน้าที่ของตน[46]

ในฐานะมหาขุนพลและผู้จัดการกิจการในสำนักราชเลขาธิการ

[แก้]

ปลายเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 243 เจียวอ้วนย้ายจากเมืองฮันต๋งไปอยู่อำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน) เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ในปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีเดียวกันนั้น เจียวอ้วนได้สละตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และผู้จัดการกิจการในสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) ให้กับบิฮุย[47][48] จึงทำให้บิฮุยเป็นผู้นำขุนนางราชสำนักจ๊กก๊ก "โดยพฤตินัย"

ในปี ค.ศ. 244 ตั๋งอุ๋นสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) จากบิฮุย[48] หลังรับตำแหน่งก็พยายามทำตามกำหนดการและวิถีการใช้ชีวิตประจำวันแบบบิฮุย แต่ภายในสิบวันตั๋งอุ๋นก็ตระหนักว่างานของตนกำลังค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จึงถอนใจพูดว่า "ความสามารถของผู้มีพรสวรรค์นั้นแตกต่างจากคนอื่นเป็นอย่างมาก ข้าเห็นว่าข้าคงไม่มีวันตาม (บิฮุย) ได้ทัน แม้จะทำงานตลอดทั้งวัน แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ข้ายังไม่ได้สะสาง"[49]

ยุทธการที่ซิงชื่อ

[แก้]

ต้นปี ค.ศ. 244 โจซองผู้สำเร็จราชการของวุยก๊กนำทัพไปยังเขาซิงชื่อชาน (興勢山; ตั้งอยู่ทางเหนือของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และเตรียมจะโจมตีเมืองฮันต๋งที่จ๊กก๊กครอบครองอยู่ ในปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กพระราชทานอาญาสิทธิ์ให้กับบิฮุยและมีรับสั่งให้นำทัพจ๊กก๊กไปทำศึกกับทัพวุยก๊กที่รุกราน[50][48]

ก่อนที่บิฮุยจะนำทัพไป ไลบินขุนนางจ๊กก๊กมาเยี่ยมและขอเล่นหมากล้อมกับบิฮุย เวลานั้นมีการเตรียมการทุกอย่างสำหรับยุทธการและกองกำลังทหารก็พร้อมจะยกออกไป ในขณะที่เอกสารแนบขนนก[f]ยังคงเข้ามาเรื่อย ๆ บิฮุยก็ยังคงเล่นหมากล้อมกับไลบินและดูจะจดจ่อกับการเล่นหมากล้อมเป็นอย่างมาก ไลบินบอกกับบิฮุยว่า "จริง ๆ แล้วข้ากำลังทดสอบท่าน ท่านเป็นผู้ที่ไว้ใจได้และท่านจะต้องเอาชนะข้าศึกได้เป็นแน่"[52]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 244 ทัพวุยก๊กตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเนื่องจากเนื่องจากไม่สามารถรุกคืบไปไกลกว่าภูเขาซิงชื่อได้และเสบียงก็เหลือน้อยเต็มที หยาง เว่ย์ (楊偉) ที่ปรึกษาของโจซองเห็นว่าทัพวุยก๊กเสี่ยงจะพ่ายแพ้จึงโน้มน้าวโจซองให้ถอนกำลังทัพวุยก๊กกลับก่อนจะสายเกินไป แต่โจซองฟังคำของเตงเหยียงและหลีซินแทนและสั่งให้กองกำลังยังคงประจำตำแหน่ง หลังจากสุมาอี้ผู้สำเร็จราชราชการร่วมกับโจซองเขียนหนังสือถึงแฮเฮาเหียนนายทหารผู้ช่วยของโจซอง เตือนถึงเรื่องอันตรายที่กำลังเผชิญอยู่ แฮเฮาเหียนหวาดกลัวจึงพยายามโน้มน้าวโจซองให้ล่าถอย ปลายเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ขณะทัพวุยก๊กล่าถอย บิฮุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีข้าศึกสามทิศทางจนแตกพ่าย โดยที่โจซองหนีไปได้อย่างแทบเอาชีวิตไม่รอด[48]

ในฐานะข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว

[แก้]

หลังจากบิฮุยกลับมายังนครเซงโต๋หลังชัยชนะที่เขาซิงชื่อชาน ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเฉิงเซียงโหว (成鄉侯) เป็นบำเหน็จความชอบ[53]

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 244 ขณะที่สุขภาพของเจียวอ้วนย่ำแย่ลง เจียวอ้วนสละตำแหน่งข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州刺史 อี้โจฺวชื่อฉื่อ) และมอบตำแหน่งให้บิฮุย[54][48]

สมัยที่บิฮุยเป็นผู้สำเร็จราชการ

[แก้]

หลังการเสียชีวิตของเจียวอ้วนในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 246[55] บิฮุยขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการและผู้นำขุนนางราชสำนักจ๊กก๊กคนใหม่ ในช่วงเวลาที่บิฮุยขึ้นมามีอำนาจ ผลงานที่สร้างไว้ให้จ๊กก๊กและชื่อเสียงส่วนตัวของบิฮุยก็ไล่เลี่ยกันกับของเจียวอ้วนผู้ล่วงลับแล้ว[56]

ในปี ค.ศ. 248 บิฮุยย้ายจากนครเซงโต๋ราชธานีของจ๊กก๊กไปยังเมืองฮันต๋งใกล้กับชายแดนวุยก๊ก-จ๊กก๊ก[57] ตลอดช่วงเวลาที่มีฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ เจียวอ้วนและบิฮุยยังคงควบคุมกิจการรัฐในเซงโต๋แม้ว่าตนจะอยู่ไกลถึงฮันต๋งเป็นระยะเวลานานก็ตาม อย่างเช่นการที่เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กต้องปรึกษาเจียวอ้วนและบิฮุยและได้รับอนุมัติก่อนมอบรางวัลหรือลงโทษขุนนาง แสดงถึงความไว้วางพระทัยเป็นอย่างสูงของเล่าเสี้ยนที่มีต่อผู้สำเร็จราชการทั้งสองคนในรัชสมัยของพระองค์[58]

ในฤดูร้อน ค.ศ. 251 เมื่อบิฮุยกลับไปเซงโต๋ ได้ยินคำทำนายจากหมอดูว่าการอยู่ในนครหลวงนั้นไม่เป็นมงคล ในฤดูหนาวปีนั้นบิฮุยจึงย้ายจากเซงโต๋ไปอยู่อำเภอหั้นสือ (漢壽縣 ฮั่นโชฺ่วเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)[59][60]

ในปี ค.ศ. 252 เล่าเสี้ยนทรงอนุญาตให้บิฮุยมีเจ้าหน้าที่ส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือในกิจการที่ดำเนินการประจำวัน[61]

ถูกลอบสังหาร

[แก้]

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 ขณะที่บิฮุยจัดงานเลี้ยงในเทศกาลขึ้นปีใหม่วันแรกในอำเภอหั้นสือ (漢壽縣 ฮั่นโชฺ่วเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) บิฮุยที่กำลังเมาสุราก็ถูกแทงสังหารโดยกัว ซิว (郭脩; หรือกัว สฺวิน 郭循) อดีตพลเรือนของวุยก๊กที่กลายมาเป็นขุนพลของจ๊กก๊ก กัว ซิวผู้ลอบสังหารก็พบจุดจบด้วยฝีมือของผู้ใต้บังคับบัญชาของบิฮุย บิฮุยได้รับสมัญญานามว่า "จิ้งโหว" (敬侯; แปลว่า "พระยาผู้น่านับถือ")[a] ศพได้รับการฝังในตำแหน่งทางตะวันออกไป 1 กิโลเมตรจากประตูตะวันออกของเมืองโบราณเจาฮฺว่า เขตเจาฮฺว่า นครกว่างยฺเหวียน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน[62]

กัว ซิว ชื่อรอง เซี่ยวเซียน (孝先) มีชื่อเสียงในมณฑลเลียงจิ๋วก่อนจะมาเข้าร่วมกับจ๊กก๊ก หลังกัว ซิวถูกจับตัวในยุทธการโดยเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊ก กัว ซิวก็ยอมสวามิภักดิ์อย่างไม่เต็มใจและให้คำมั่นว่าจะภักดีต่อจ๊กก๊ก จักรพรรดิจ๊กก๊กเล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้กัว ซิวเป็นขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน) ครั้งหนึ่งกัว ซิวเคยพยายามจะลอบปลงพระชนม์เล่าเสี้ยน โดยเข้าไปใกล้พระองค์อ้างว่าจะถวายพระพร แต่เหล่าทหารราชองครักษ์ของเล่าเสี้ยนสังเกตเห็นอะไรชอบกลในพฤติกรรมของกัว ซิว จึงหยุดเขาไว้ก่อนที่จะเข้าไปใกล้จักรรพรดิ กัว ซิวผิดหวังกับความล้มเหลวในการลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิจ๊กก๊ก จึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นบิฮุยแทนและทำได้สำเร็จ[63] ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 253 โจฮองจักรพรรดิวุยก๊กออกพระราชโองการยกย่องกัว ซิวสำหรับ "การปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญเพื่อวุยก๊ก" และเปรียบเทียบกัว ซิวกับเนี่ย เจิ้ง (聶政) และฟู่ เจี้ยจื่อ (傅介子) รวมทั้งพระราชทานเกียรติคุณย้อนหลังให้กัว ซิวและพระราชทานรางวัลให้กับครอบครัวของกัว ซิว[64]

เผย์ ซงจือนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 5 โต้แย้งพระราชโองการของโจฮองว่ากัว ซิวไม่ใช่วีรบุรุษ และการลอบสังหารบิฮุยก็ไม่ใช่ "การปฏิบัติหน้าที่เพื่อวุยก๊ก" โดยให้เหตุผลสามประการ ประการแรก กัว ซิวเป็นพลเรือนขณะถูกจับตัวโดยข้าศึก จึงไม่ได้ "ปฏิบัติหน้าที่" ให้วุยก๊กอย่างแน่นอน ดังนั้นการลอบสังหารบิฮุยโดยกัว ซิวจึงไม่ควรถือเป็นการกระทำที่เป็น "การปฏิบัติหน้าที่เพื่อวุยก๊ก" ประการที่สอง วุยก๊กไม่ได้ถูกคุกคามโดยจ๊กก๊กในลักษณะเดียวกับที่รัฐเอี๋ยน (燕 เยียน) ถูกคุมคามโดยรัฐจิ๋น (秦 ฉิน) ในช่วงปลายยุครณรัฐ ดังนั้นการลอบสังหารบิฮุยโดยกัว ซิวจึงไม่ควรถูกมองในแง่เดียวกับการพยายามลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้โดยเก๋งคอ (荊軻 จิง เคอ) ประการที่สาม จากมุมมองของเผย์ ซงจือแล้ว เล่าเสี้ยนและบิฮุยถือเป็นผู้ปกครองและผู้สำเร็จราชการที่มีความสามารถระดับกลาง ดังนั้นการเสียชีวิตของคนทั้งสองจะไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อจ๊กก๊ก เผย์ ซือจงจึงสรุปว่ากัว ซิวเป็นเพียงนักฉวยโอกาสที่แสวงหาชื่อเสียงในการลอบสังหารผู้สำเร็จราชการของรัฐ[65]

การให้เหตุผลในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสุมาอี้และโจซอง

[แก้]

หลังจากสุมาอี้ประหารชีวิตโจซอง บิฮุยได้เสนอมุมมองของตนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมีวาทศิลป์ อันดับแรกบิฮุยเสนอมุมมองเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ตามด้วยการให้เหตุผลของเหตุการณ์นี้ว่าในทางจริยธรรมแล้วใครถูกใครผิด[66]

“มีบางคนเชื่อว่าโจซองและเหล่าน้องชายเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ ตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับเกิดจากเพียงความเกี่ยวพันกับราชวงศ์ อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็กลายเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายและหยิ่งยโส หวังจะช่วงชิงอำนาจของราชวงศ์ ใกล้ชิดกับคนสามานย์ ผูกขาดอำนาจโดยการจัดตั้งพรรคพวกและวางแผนต่อต้านผลประโชน์ของรัฐ จากนั้นสุมาอี้จึงเสี่ยงเพื่อจะลงทัณฑ์พวกเขาและกำจัดได้ทั้งหมดในครั้งเดียว การกระทำนี้เป็นข้อพิสูจน์เพียงพอว่าสุมาอี้เป็นผู้สมควรกับตำแหน่งและตระหนักถึงความปรารถนาของทั้งเหล่าบัณฑิตและราษฎร"[67]

“แต่คนอื่น ๆ ก็อาจเชื่อว่าสุมาอี้ไม่พอใจโจยอยที่ไม่มอบหมายกิจการของรัฐทั้งหมดให้ตนแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นโจซองและการกระทำของเขาจึงไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจสุมาอี้ การบริหารราชการที่ไม่เป็นเอกภาพค่อย ๆ มีข้อบกพร่อง แต่แรกสุมาอี้ก็ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือทัดทานอย่างซื่อสัตย์ กลับฉวยโอกาสสังหารทั้งหมดในคราวเดียวโดยที่พวกโจซองไม่ทันได้ตั้งตัว ในกรณีเช่นนั้นจะถือว่าผู้ยิ่งใหญ่กระทำการเพื่อรัฐหรือกระทำตามหน้าที่ได้หรือ หากโจซองต้องการที่จะต่อต้านประมุขของตนจริง ๆ และหวังจะก่อกบฎ แต่แล้วในวันที่สุมาอี้ก่อการ โจฮองอยู่ด้วยกับโจซองและน้องชาย สุมาอี้และสุมาสูบุตรชายมาจากด้านหลังเข้าปิดประตูเมืองและระดมพล คุกคามโจฮองและประกาศว่าจะไม่มีการเจรจาสันติ เราจะถือว่าบุคคลที่ก่อการเช่นนี้เป็นเสนาบดีที่ภักดีพร้อมด้วยความต้องใจจะช่วยนายเหรือหัวหรือไม่ จากมุมมองนี้ก็จะเห็นว่าโจซองไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงที่เห็นได้ชัด บัดนี้หากสุมาอี้ก่อการเพราะโจซองช่วงชิงอำนาจและสุรุ่ยสุร่าย เช่นนั้นแล้วการลงทัณฑ์ที่ยุติธรรมก็คือการถอดออกจากตำแหน่งก็เพียงพอแล้ว แต่สุมาอี้กวาดล้างตระกูลโจซองทั้งหมด และนี่คือความอยุติธรรมที่ยุติสายเลือดของโจจิ๋น แม้แต่โฮอั๋นและบุตรชายซึ่งเป็นญาติของราชวงศ์วุยก็ถูกประหารเช่นกัน นี่เป็นการช่วงชิงอำนาจ การก่อการของสุมาอี้เกินกว่าเหตุและไม่สมควร"[68]

ครอบครัว

[แก้]

บิฮุยมีบุตรชายอย่างน้อย 2 คนและบุตรสาวอย่างน้อย 1 คน บุตรชายคนแรกของบิฮุยชื่อเฟ่ย์ เฉิง (費承) สืบทอดบรรดาศักดิ์เฉิงเซียงโหว (成鄉侯) ของบิฮุยและรับราชการเป็นขุนนางสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) ในพระราชวังจ๊กก๊ก[69] บุตรชายคนรองของบิฮุยชื่อเฟ่ย์ กง (費恭) แต่งงานกับองค์หญิงของจ๊กก๊ก (อาจจะเป็นพระธิดาองค์หนึ่งของเล่าเสี้ยน) มีชื่อเสียงค่อนข้างมาก และรับราชการเป็นขุนนางในสำนักราชเลขาธิการของจ๊กก๊ก แต่เฟ่ย์ กงเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังเยาว์แต่ต้องมีชีวิตอย่างน้อยที่สุดถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 268 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หลัว เซี่ยนเสนอชื่อเฟ่ย์ กงในฐานะบุคคลผู้มีความสามารถให้กับสุมาเอี๋ยนในระหว่างงานเลี้ยง[70][71] บุตรสาวของบิฮุยแต่งงานกับเล่ายอย พระโอรสองค์โตและรัชทายาทของเล่าเสี้ยน[72]

คำวิจารณ์

[แก้]

ตันซิ่วนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 3 ผู้เขียนชีวประวัติของบิฮุยในสามก๊กจี่ ยกย่องบิฮุยที่เป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจ น้ำใจกว้างขวาง และเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ตันซิ่วยกย่องบิฮุยและเจียวอ้วนในเรื่องที่การเจริญรอยตามจูกัดเหลียงและชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่มีส่วนช่วยรักษาเขตแดนของจ๊กก๊ก และรักษาสันติสุขและความสมัครสมานภายในจ๊กก๊ก แต่ตันซิ่วก็ยังวิจารณ์บิฮุยและเจียวอ้วนที่ไม่พยายามอย่างเต็มกำลังในการปกครองและคุ้มครองรัฐเล็ก ๆ อย่างจ๊กก๊ก[73]

เผย์ ซงจือนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 5 ผู้เขียนอรรถาธิบายให้สามก๊กจี่ ไม่เห็นด้วยกับทัศนะของตันซิ่ว โดยแย้งว่าบิฮุยและเจียวอ้วนทำหน้าที่ได้ดีในสมัยที่เป็นผู้สำเร็จการราชการแทนพระองค์ เพราะพวกเขาละเว้นการเคลื่อนไหวอย่างสุ่มเสี่ยงซึ่งอาจเป็นภัยต่อจ๊กก๊กในวันข้างหน้า พวกเขาตอบโต้การบุกของวุยก๊กได้สำเร็จและรักษาสันติสุขภายในอาณาเขตจองจ๊กก๊ก นอกจากนี้เผย์ ซงจือยังบ่งชี้ว่าผู้อ่านอาจพบว่าข้อเขียนสรุปของตันซิ่วอาจทำให้สับสน เพราะตันซิ่วไม่ได้เสนอหลักฐานใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่าบิฮุยและเจียวอ้วนไม่ได้พยายามอย่างเต็มกำลังในการปกครองและคุ้มครองจ๊กก๊ก[74]

แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจและเกียรติภูมิ แต่บิฮุยก็ยังคงถ่อมตนและแสดงความเคารพต่อผู้อื่นอยู่เสมอ บิฮุยไม่มีทรัพย์สมบัติเพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว เหล่าบุตรชายของบิฮุยใช้ชีวิตอย่างสามัญชน สวมเสื้อผ้าเรียบ ๆ รับประทานอาหารง่าย ๆ เดินทางด้วยการเดินเท้า และไม่มีผู้คุ้มกันร่วมเดินทางด้วย[75]

เตียวหงีขุนพลของจ๊กก๊กสังเกตว่าบิฮุยเป็นผู้มีอัธยาศัยดีเกินไปและไว้วางใจคนรอบข้างมากเกินไป ครั้งหนึ่งเตียวหงีเคยเตือนบิฮุยว่า "ในอดีต งิมเหง (岑彭 เฉิน เผิง) บัญชาการกองกำลัง และไลเอียก (來歙 หลาย ซี) ถือคถาอาญาสิทธิ์ ทั้งคู่ถูกลอบสังหาร บัดนี้ท่านขุนพลดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจและความสำคัญอย่างยิ่ง ท่านจึงควรเรียนรู้จากอุทาหรณ์ในอดีตและระมัดระวังตนให้มากขึ้น" ในที่สุดบิฮุยก็พบจุดจบด้วยน้ำมันของมือสังหารกัว ซิว สมดังที่เตียวหงีคาดการณ์ไว้[76]

ยฺหวี ซี่นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 4 ให้ความเห็นในจื้อหลิน (志林) ว่าเป็นเรื่องตลกร้ายที่ข้อดีของบิฮุยกลายเป็นสิ่งที่นำจุดจบมาให้ บิฮุยเปิดกว้างและใจกว้างมากเกินไป คลายความระมัดระวังต่อผู้คนรอบข้าง และไม่สามารถช่วยตัวเองจากการปองร้ายของกัว ซิวผู้แปรพักตร์จากรัฐอริได้[77]

ฉาง ฉฺวีผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเสฉวนอย่างครอบคลุมในหฺวาหยางกั๋วจื้อ (พงศาวดารหฺวาหยาง) ยกย่องเจียวอ้วนและบิฮุยที่สานต่อหลักการของจูกัดเหลียง และยังปกป้องดินแดนจ๊กก๊กระหว่างที่ถูกขนาบโดยสองรัฐใหญ่ ทำให้รัฐที่อ่อนแอกลายเป็นรัฐที่เข้มแข็ง[78] ฉาง ฉฺวียังบันทึกว่าผู้คนในจ๊กก๊กยกย่องให้จูกัดเหลียง เจียวอ้วน บิฮุย และตั๋งอุ๋นเป็นสี่อัครมหาเสนาบดีผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐจ๊กก๊ก[79]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติบิฮุยในสามก๊กจี่บันทึกว่าบิฮุยถูกลอบสังหารในวันที่ 1 เดือน 1 ของศักราชเหยียนซีปีที่ 16 ในรัชสมัยจักรพรรดิเล่าเสี้ยน[1] เทียบได้กับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 ในปฏิทินกริโกเรียน ประวัติเล่าเสี้ยนในสามก๊กจี่ระบุเพียงว่าการลอบสังหารเกิดขึ้นในเดือนนั้นโดยไม่ระบุวันที่แน่ชัด[2]
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 67[3] และตอนที่ 69[4]
  3. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 68[5]
  4. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 80[6]
  5. สฺวี ชูหลง (許叔龍) อาจจะมาจากตระกูลเคา (許 สฺวี) แห่งเมืองยีหลำ (汝南許氏 หรู่หนานสฺวีชื่อ) ซึ่งมีสมาชิกคนสำคัญได้แก่ เคาเจ้ง (許靖 สฺวี่ จิ้ง) และเขาเฉียว (許劭 สฺวี่ เช่า)
  6. ในจึนยุคโบราณ ขนนกมักแนบมากับเอกสารเร่งด่วนทางการทหารเพื่อเน้นความเร่งด่วนของสถานการณ์[51]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([延熙]十六年歲首大會,魏降人郭循在坐。禕歡飲沈醉,為循手刃所害,謚曰敬侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  2. ([延熙]十六年春正月,大將軍費禕為魏降人郭循所殺于漢壽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  3. ("แล้วขงเบ้งก็พาจูล่งเข้าไปถวายบังคมลาพระเจ้าเล่าเสี้ยน แล้วออกไปจัดกองทัพอยู่นอกเมือง จึงตั้งให้จูล่งอุยเอี๋ยนสองคนเปนนายกองทัพ อองเป๋งกับเตียวเอ๊กคุมทหารเปนปีกซ้ายขวา เจียวอ้วนคุมทหารเปนสารวัดตรวจตรา ปีฮุยต๋งเคียด อ้วนเคียนสามคนนี้เปนที่ปรึกษา แลทหารในกองทัพห้าสิบหมื่น") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 4, 2023.
  4. ("ปีฮุยนายทหารจึงว่าแก่ขงเบ้งว่า มหาอุปราชมาทำการครั้งนี้ก็ลำบากไพร่พลนัก เบ้งเฮ็กจึงสมัคอ่อนน้อมด้วย ซึ่งมหาอุปราชจะให้แต่เบ้งเฮ็กอยู่รักษาเมืองผู้เดียวนั้นเกลือกเบ้งเฮ็กกลับกลอก นานไปจะได้ความเดือดร้อน ขอให้มหาอุปราชตั้งขุนนางไว้กำกับด้วย") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 4, 2023.
  5. ("ม้าต้ายครั้นแจ้งดังนั้นแล้วก็เอาเนื้อความเข้าไปบอกขงเบ้ง ๆ นั่งปรึกษาการศึกอยู่กับม้าเจ๊กลิคีเจียวอ้วนปี่ฮุยสี่คน ") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๘". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 4, 2023.
  6. ("หุยวุยเสนาบดีผู้ใหญ่จึงว่า เตียวอ้วนตังอุ๋นมีสติปัญญาฝีมือรบพุ่งก็กล้าเปนทหารเอกของเราก็ตายเสียแล้ว ในเมืองเราหามีคนดีไม่ จะยกไปบัดนี้เห็นจะไม่สำเร็จ อย่าเพ่อเบาแก่ความ ให้ได้ท่วงทีแล้วจึงยกไปทำการ เกียงอุยจึงว่า ท่านว่าทั้งนี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย วันคืนปีเดือนล่วงไปไม่หยุดเลย จะคอยท่าให้ได้ทีก็จะแก่เสียเปล่า เมื่อไรจะได้ทีเล่าจึงจะยกไป หุยวุยตอบว่า โบราณท่านกล่าวไว้ว่า แม่ทัพแม่กองผู้จะทำการสงคราม พึงให้พิเคราะห์ดูกำลังความคิดแลฝีมือทหารแลอาวุธของตัวกับข้าศึก ถ้าเห็นชนะฝ่ายเดียวแล้วจงให้ทำการ ถ้าไม่รู้จักหนักเบาเลยเหมือนท่านจะไปทำการครั้งนี้ ถึงท่านมหาอุปราชซึ่งเปนคนดีมีสติปัญญายังมีชีวิตอยู่ก็หาอาจไปทำไม่") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 4, 2023.
  7. de Crespigny (2007), p. 212.
  8. (費禕字文偉,江夏鄳人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  9. (少孤,依族父伯仁。伯仁姑,益州牧劉璋之母也。璋遣使迎仁,仁將禕遊學入蜀。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  10. Sima (1084), vol. 67.
  11. (會先主定蜀,禕遂留益土,與汝南許叔龍、南郡董允齊名。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  12. (時許靖喪子,允與禕欲共會其葬所。允白父和請車,和遣開後鹿車給之。允有難載之色,禕便從前先上。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  13. (及至喪所,諸葛亮及諸貴人悉集,車乘甚鮮,允猶神色未泰,而禕晏然自若。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  14. (持車人還,和問之,知其如此,乃謂允曰:「吾常疑汝於文偉優劣未別也,而今而後,吾意了矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  15. Sima (1084), vol. 69.
  16. (先主立太子,禕與允俱為舍人,遷庶子。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 Sima (1084), vol. 70.
  18. (後主踐位,為黃門侍郎。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  19. (丞相亮南征還,羣寮於數十里逢迎,年位多在禕右,而亮特命禕同載,由是衆人莫不易觀。) จดหมายเหตุสากก๊ก เล่มที่ 44.
  20. (亮以初從南歸,以禕為昭信校尉使吳。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44
  21. (禕別傳曰:孫權每別酌好酒以飲禕,視其已醉,然後問以國事,并論當世之務,辭難累至。禕輙辭以醉,退而撰次所問,事事條荅,無所遺失。) อรรถาธิบายจากเฟ่ย์อีเปี๋ยจว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  22. (孫權性旣滑稽,嘲啁無方,諸葛恪、羊衜等才愽果辯,論難鋒至,禕辭順義篤,據理以荅,終不能屈。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  23. (襄陽記曰:董恢字休緒, ... 以宣信中郎副費禕使吳。孫權甞大醉問禕曰:「楊儀、魏延,牧豎小人也。雖甞有鳴吠之益於時務,然旣已任之,勢不得輕,若一朝無諸葛亮,必為禍亂矣。諸君憒憒,曾不知防慮於此,豈所謂貽厥孫謀乎?」禕愕然四顧視,不能即荅。恢目禕曰:「可速言儀、延之不協起於私忿耳,而無黥、韓難御之心也。今方歸除彊賊,混一函夏,功以才成,業由才廣,若捨此不任,防其後患,是猶備有風波而逆廢舟檝,非長計也。」權大笑樂。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางฉี่จิวจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  24. (恪別傳曰:權甞饗蜀使費禕,先逆勑羣臣:「使至,伏食勿起。」禕至,權為輟食,而羣下不起。禕啁之曰:「鳳皇來翔,騏驎吐哺,驢騾無知,伏食如故。」恪荅曰:「爰植梧桐,以待鳳皇,有何燕雀,自稱來翔?何不彈射,使還故鄉!」禕停食餅,索筆作麥賦,恪亦請筆作磨賦,咸稱善焉。) อรรถาธิบายจากจูเก่อเค่อเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  25. (權甚器之,謂禕曰:「君天下淑德,必當股肱蜀朝,恐不能數來也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  26. (禕別傳曰:權乃以手中常所執寶刀贈之,禕荅曰:「臣以不才,何以堪明命?然刀所以討不庭、禁暴亂者也,但願大王勉建功業,同獎漢室,臣雖闇弱,終不負東顧。」) อรรถาธิบายจากเฟ่ย์อีเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  27. (還,遷為侍中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  28. (亮北住漢中,請禕為參軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  29. (上疏曰:「侍中郭攸之、費禕、侍郎董允等,先帝簡拔以遺陛下,至於斟酌規益,進盡忠言,則其任也。愚以為宮中之事,事無大小,悉以咨之,必能裨補闕漏,有所廣益。若無興德之言,則戮允等以彰其慢。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  30. (以奉使稱旨,頻煩至吳。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  31. (建興八年,轉為中護軍,後又為司馬。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  32. (延旣善養士卒,勇猛過人,又性矜高,當時皆避下之。唯楊儀不假借延,延以為至忿,有如水火。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  33. (亮深惜儀之才幹,憑魏延之驍勇,常恨二人之不平,不忍有所偏廢也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  34. (值軍師魏延與長史楊儀相憎惡,每至並坐爭論,延或舉刃擬儀,儀泣涕橫集。禕常入其坐間,諫喻分別,終亮之世,各盡延、儀之用者,禕匡救之力也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  35. 35.0 35.1 35.2 Sima (1084), vol. 72.
  36. ([李]福謝:「前實失不諮請公,如公百年後,誰可任大事者?故輒還耳。乞復請,蔣琬之後,誰可任者?」亮曰:「文偉可以繼之。」又復問其次,亮不荅。福還,奉使稱旨。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 45.
  37. (秋,亮病困,密與長史楊儀、司馬費禕、護軍姜維等作身歿之後退軍節度,令延斷後,姜維次之;若延或不從命,軍便自發。亮適卒,祕不發喪,儀令禕往揣延意指。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  38. (延曰:「丞相雖亡,吾自見在。府親官屬便可將喪還葬,吾自當率諸軍擊賊,云何以一人死廢天下之事邪?且魏延何人,當為楊儀所部勒,作斷後將乎!」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  39. (因與禕共作行留部分,令禕手書與己連名,告下諸將。禕紿延曰:「當為君還解楊長史,長史文吏,稀更軍事,必不違命也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  40. (禕出門馳馬而去,延尋悔,追之已不及矣。延遣人覘儀等,遂使欲案亮成規,諸營相次引軍還。延大怒,纔儀未發,率所領徑先南歸,所過燒絕閣道。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  41. (儀旣領軍還,又誅討延,自以為功勳至大,宜當代亮秉政, ... 而亮平生宓指,以儀性狷狹,意在蔣琬,琬遂為尚書令、益州刺史。儀至,拜為中軍師,無所統領,從容而已。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  42. (初,儀為先主尚書,琬為尚書郎,後雖俱為丞相參軍長史,儀每從行,當其勞劇,自為年宦先琬,才能踰之,於是怨憤形于聲色,歎咤之音發於五內。時人畏其言語不節,莫敢從也,惟後軍師費禕往慰省之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  43. (儀對禕恨望,前後云云,又語禕曰:「往者丞相亡沒之際,吾若舉軍以就魏氏,處世寧當落度如此邪!令人追悔不可復及。」禕密表其言。[建興]十三年,廢儀為民,徙漢嘉郡。 ... 儀自殺,其妻子還蜀。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  44. (亮卒,禕為後軍師。頃之,代蔣琬為尚書令。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  45. Sima (1084), vol. 73.
  46. (禕別傳曰:于時戰國多事,公務煩猥,禕識悟過人,每省讀書記,舉目暫視,已究其意旨,其速數倍於人,終亦不忘。常以朝晡聽事,其間接納賔客,飲食嬉戲,加之博弈,每盡人之歡,事亦不廢。) อรรถาธิบายจากเฟ่ย์อีเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  47. (琬自漢中還涪,禕遷大將軍,錄尚書事。) จดหมายเหคุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 48.4 Sima (1084), vol. 74.
  49. (董允代禕為尚書令,欲斆禕之所行,旬日之中,事多愆滯。允乃歎曰:「人才力相縣若此甚遠,此非吾之所及也。聽事終日,猶有不暇爾。」) อรรถาธิบายจากเฟ่ย์อีเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  50. (延熈七年,魏軍次于興勢,假禕節,率衆往禦之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  51. (ในภาษาจีน) Dictionary definition of 羽檄
  52. (光祿大夫來敏至禕許別,求共圍棊。于時羽檄交馳。人馬擐甲,嚴駕已訖,禕與敏留意對戲,色無厭倦。敏曰:「向聊觀試君耳!君信可人,必能辨賊者也。」) สามก๊กจี่ 44.
  53. (禕至,敵遂退,封成鄉侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  54. (琬固讓州職,禕復領益州刺史。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  55. ([延熙九年]冬十一月,大司馬蔣琬卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  56. (禕當國功名,略與琬比。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  57. ([延熙]十一年,出住漢中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  58. (自琬及禕,雖自身在外,慶賞威刑,皆遙先諮斷,然後乃行,其推任如此。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  59. (後[延熙]十四年夏,還成都,成都望氣者云都邑無宰相位,故冬復北屯漢壽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  60. ([延熙]十四年夏,大將軍費禕還成都。冬,復北駐漢壽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  61. (延熙十五年,命禕開府。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  62. "Fei Yi Tomb". meet99.com (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 31 May 2018.
  63. (魏氏春秋曰:脩字孝先,素有業行,著名西州。姜維劫之,脩不為屈。劉禪以為左將軍,脩欲刺禪而不得親近,每因慶賀,且拜且前,為禪左右所遏,事輙不克,故殺禕焉。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  64. ([嘉平五年]八月,詔曰:「故中郎西平郭脩,砥節厲行,秉心不回。乃者蜀將姜維寇鈔脩郡,為所執略。往歲偽大將軍費禕驅率羣衆,陰圖闚𨵦,道經漢壽,請會衆賔,脩於廣坐之中手刃擊禕,勇過聶政,功逾介子,可謂殺身成仁,釋生取義者矣。夫追加襃寵,所以表揚忠義;祚及後胤,所以獎勸將來。其追封脩為長樂鄉侯,食邑千戶,謚曰威侯;子襲爵,加拜奉車都尉;賜銀千鉼,絹千匹,以光寵存亡,永垂來世焉。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  65. (臣松之以為古之舍生取義者,必有理存焉,或感恩懷德,投命無悔,或利害有機,奮發以應會,詔所稱聶政、介子是也。事非斯類,則陷乎妄作矣。魏之與蜀,雖為敵國,非有趙襄滅智之仇,燕丹危亡之急;且劉禪凡下之主,費禕中才之相,二人存亡,固無關於興喪。郭脩在魏,西州之男子耳,始獲於蜀,旣不能抗節不辱,於魏又無食祿之責,不為時主所使,而無故規規然糜身於非所,義無所加,功無所立,可謂「折柳樊圃」,其狂也且,此之謂也。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  66. (殷基通語曰:司馬懿誅曹爽,禕設甲乙論平其是非。) อรรถาธิบายจากทงยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  67. (甲以為曹爽兄弟凡品庸人,苟以宗子枝屬,得蒙顧命之任,而驕奢僭逸,交非其人,私樹朋黨,謀以亂國。懿奮誅討,一朝殄盡,此所以稱其任,副士民之望也。) อรรถาธิบายจากทงยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  68. (乙以為懿感曹仲付己不一,豈爽與相干?事勢不專,以此陰成疵瑕。初無忠告侃爾之訓,一朝屠戮,讒其不意,豈大人經國篤本之事乎!若爽信有謀主之心,大逆已搆,而發兵之日,更以芳委爽兄弟。懿父子從後閉門舉兵,蹙而向芳,必無悉寧,忠臣為君深慮之謂乎?以此推之,爽無大惡明矣。若懿以爽奢僭,廢之刑之可也,滅其尺口,被以不義,絕子丹血食,及何晏子魏之親甥,亦與同戮,為僭濫不當矣。) อรรถาธิบายจากทงยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  69. (子承嗣,為黃門侍郎。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  70. (承弟恭,尚公主。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  71. (禕別傳曰:恭為尚書郎,顯名當世,早卒。) อรรถาธิบายจากเฟ่ย์อีเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  72. (禕長女配太子璿為妃。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  73. (評曰:蔣琬方整有威重,費禕寬濟而博愛,咸承諸葛之成規,因循而不革,是以邊境無虞,邦家和一,然猶未盡治小之宜,居靜之理也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  74. (臣松之以為蔣、費為相,克遵畫一,未甞徇功妄動,有所虧喪,外郤駱谷之師,內保寧緝之實,治小之宜,居靜之理,何以過於此哉!今譏其未盡而不著其事,故使覽者不知所謂也。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  75. (禕別傳曰:禕雅性謙素,家不積財。兒子皆令布衣素食,出入不從車騎,無異凡人。) อรรถาธิบายจากเฟ่ย์อีเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  76. ([張]嶷初見費禕為大將軍,恣性汎愛,待信新附太過,嶷書戒之曰:「昔岑彭率師,來歙杖節,咸見害於刺客,今明將軍位尊權重,宜鑒前事,少以為警。」後禕果為魏降人郭脩所害。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
  77. (斯乃性之寬簡,不防細微,卒為降人郭脩所害,豈非兆見於彼而禍成於此哉?) อรรถาธิบายจากจื้อหลินในสามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  78. (爰迄琬、禕,遵脩弗革,攝乎大國之間,以弱為強,猶可自保。) พงศาวดารหฺวาหยาง เล่มที่ 7.
  79. (華陽國志曰:時蜀人以諸葛亮、蔣琬、費禕及允為四相,一號四英也。) อรรถาธิบายจากพงศาวดารหฺวาหยางในสามก๊กจี่ เล่มที่ 39.

บรรณานุกรม

[แก้]