ข้ามไปเนื้อหา

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

พิกัด: 13°43′42″N 100°32′14″E / 13.72833°N 100.53722°E / 13.72833; 100.53722
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค logo
แผนที่
ที่ตั้ง98 ถนนพระรามที่ 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°43′42″N 100°32′14″E / 13.72833°N 100.53722°E / 13.72833; 100.53722
เปิดให้บริการ
  • 27 กันยายน พ.ศ. 2567 (โรงแรมดุสิตธานีใหม่)[1]
  • พ.ศ. 2568 (เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค)[2]
  • พ.ศ. 2569 (ดุสิต เรสซิเดนเซส และดุสิต พาร์คไซด์)[2]
ผู้บริหารงานบริษัท วิมานสุริยา จำกัด โดย
สถาปนิกดรากอน โฮลดิงส์ โดย
  • โอเอ็มเอ เอเชีย (ฮ่องกง)
  • สถาปนิก 49 อินเตอร์เนชันแนล
จำนวนชั้น8 ชั้น (ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค)
39 ชั้น (โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่)
69 ชั้น (ดุสิต เรสซิเดนเซส)
40 ชั้น (เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส)
ขนส่งมวลชน ศาลาแดง สีลม
เว็บไซต์Dusit Central Park

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (อังกฤษ: Dusit Central Park) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร บนที่ดินจำนวน 23 ไร่ 2 งาน 2.72 ตารางวา ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณหัวมุมฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแยกศาลาแดง จุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 4 ตัดถนนสีลม ในพื้นที่แขวงสีลม เขตบางรัก ตรงข้ามกับสวนลุมพินีฝั่งพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เยื้องกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สำนักงานสีลม บริหารงานโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ภายใต้การร่วมทุนของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเซ็นทรัล โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)[3] โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม อาคารชุดที่อยู่อาศัย และสวนลอยฟ้า ตั้งเป้าเป็นแลนด์มาร์คหนึ่งของเส้นขอบฟ้ากรุงเทพมหานคร ด้วยความสูงของอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งสูงที่สุดในโครงการที่ 69 ชั้น ภายใต้สถาปัตยกรรมแบบไทยโบราณร่วมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

ประวัติ

[แก้]

ภูมิหลัง

[แก้]
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2556

พื้นที่ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แต่เดิมเป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาคณะกรรมการโรงแรม ปริ๊นเซส ได้ดำเนินการขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงแรมระดับห้าดาวที่หรูหราแห่งแรกในกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2511 ภายใต้ชื่อ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยตัวอาคารมีความสูง 23 ชั้น นับเป็นอาคารสูงแห่งแรกในประเทศไทย[4] ในส่วนของชื่อโรงแรมได้ตั้งตามชื่อเมืองจำลองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เนื่องจากโรงแรมตั้งอยู่ตรงข้ามกับลานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่ประดิษฐานทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสวนลุมพินี[5]

การยกระดับโครงการ

[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เครือดุสิตธานีได้ประกาศต่อสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 67 ปี[6] จึงประกาศแผนพัฒนาและยกระดับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ด้วยการร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม (Mixed-use) บนที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่, อาคารที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน, พื้นที่ค้าปลีก ฯลฯ ขึ้นมาทดแทน[7] เพื่อตอบรับต่อการพัฒนาเมืองและย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร

เมื่อเริ่มต้นโครงการใช้งบลงทุน 36,700 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 46,000 ล้านบาท[8] ทำให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดของกลุ่มดุสิตธานี[9] และเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 5 ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยโครงการมีกำหนดเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2569

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มีพื้นที่รวม 440,000 ตารางเมตร ประกอบทั้งหมดสี่ส่วน ได้แก่

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

[แก้]

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ เป็นอาคารโรงแรมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโครงการ สร้างขึ้นทดแทนอาคารโรงแรมดุสิตธานีเดิมซึ่งปิดกิจการเมื่อ พ.ศ. 2562 อาคารโรงแรมใหม่นี้ตั้งอยู่บนที่ตั้งเดิมของไทยประกันชีวิต สำนักงานสีลม ออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิก อังเดร ฟู สตูดิโอ โดยอังเดร ฟู[10] ผู้ซึ่งมีผลงานการออกแบบโรงแรมหรูหราหลายแห่งในฮ่องกง รวมถึงโรงแรมวาลดอฟ แอสโทเรีย แบงค็อก ภายในอาคาร แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด[11] อาคารโรงแรมฉาบเปลือกนอกด้านหน้ากับเรือนยอดด้วยโทนสีทอง และนำสถาปัตยกรรมของอาคารเดิมมาปรับใช้ทั้งหมด

อาคารโรงแรมนี้มีความสูง 39 ชั้น ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 257 ห้อง ที่ทุกห้องมีหน้าต่างขนาดใหญ่กว้าง 5 เมตร รับวิวสวนลุมพินี รวมถึงห้องจัดเลี้ยง "นภาลัยแกรนด์บอลรูม" ที่เปิดมุมมองสวนลุมพินีแบบพาโนรามา ความจุ 950 คน ห้องอาหาร "พาวิลเลียน" ที่ให้บริการอาหารไทยและเอเชีย และ "1970 บาร์" กับ "สไปร์ รูฟท็อป บาร์" พร้อมจุดชมทัศนียภาพบริเวณชั้นบนสุด ซึ่งโครงการได้นำยอดแหลมไม้สักทองจากอาคารเดิมมาใช้ด้วย ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นส่วนแรกของโครงการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567 ส่วนรูฟท็อปบาร์เปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

นอกจากนี้โรงแรมยังมีส่วนขยายในชื่อ "บ้านดุสิตธานี" ตั้งอยู่ริมถนนศาลาแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ดุสิตกูร์เมต์" ร้านขนม คาเฟ่ และบาร์, ห้องอาหารไทย "เบญจรงค์", ห้องอาหารเวียดนาม "เธียนดอง"[12] และร้านอาหารอเมริกาใต้ "โนมาดา"[13]

เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส

[แก้]

อาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส เป็นอาคารทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโครงการ ความสูง 43 ชั้น พื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร ออกแบบในโทนสีเงิน มีรูฟท็อปบาร์ที่ชั้นบนสุดของอาคาร และให้มุมมองโอบล้อมสวนลุมพินีทั้งหมด กำหนดเปิดบริการในไตรมาส 2 พ.ศ. 2568 โดยมีผู้เช่าหลักเป็นกลุ่มบริษัทระดับเอลิสต์ของประเทศไทย รวมถึงตัวของเครือดุสิตธานีเองก็จะใช้อาคารนี้เป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทแทนอาคารจามจุรีสแควร์เดิมเช่นกัน

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค

[แก้]

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค เป็นอาคารส่วนฐานของโครงการ ความสูง 8 ชั้น (เหนือพื้นดิน 6 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) พื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร โดยเป็นศูนย์การค้าเรือธงแห่งที่ 3 ในเขตใจกลางกรุงเทพมหานครของกลุ่มเซ็นทรัล ต่อจากเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี แต่มีความแตกต่างกับสองศูนย์การค้าข้างต้นที่จะเน้นร้านค้าซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว[14]

โครงการเซ็นทรัล พาร์ค ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสวนสาธารณะพร้อมลานกีฬากลางแจ้ง ทั้งนี้ ชั้นใต้ดินจะเชื่อมกับโถงออกบัตรโดยสารสถานีสีลมของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และเชื่อมต่อกับทางเดินลอยฟ้าไปรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีศาลาแดง

เซ็นทรัล พาร์ค กำหนดเปิดให้บริการในไตรมาส 3 พ.ศ. 2568

เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

[แก้]

อาคารที่พักอาศัย เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค[15] เป็นอาคารทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโครงการ ความสูง 69 ชั้น พื้นที่ขนาด 50,500 ตารางเมตร ออกแบบในโทนสีนาก ประกอบด้วยที่พักอาศัยสองรูปแบบ ได้แก่ ดุสิต เรสซิเดนเซส จำนวน 160 ยูนิต และดุสิต พาร์คไซด์ จำนวน 246 ยูนิต[16] โดยทุกห้องพักให้มุมมองโอบล้อมสวนลุมพินีและแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารดังกล่าวกำหนดเปิดใช้งานเป็นส่วนสุดท้ายของโครงการในปี พ.ศ. 2569

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nommaneewong, Muttira (2024-04-23). "DUSIT นับถอยหลัง! เปิดตัวโรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพโฉมใหม่ 27 ก.ย. : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  2. 2.0 2.1 "ซีพีเอ็น ปั้น'Central Park' มูลค่า 2 หมื่นล้าน ลักชูรี่มิกซ์ยูสระดับโลกใจกลางกรุงเทพฯ". เดลินิวส์.
  3. isranews (2017-03-04). "CPN ร่วมทุน DTC ผุดโครงการ MIXED-USE หัวมุมสีลม-พระรามสี่ มูลค่า 3.67 หมื่นลบ". สำนักข่าวอิศรา.
  4. บันทึกหน้าสุดท้ายของโรงแรมดุสิตธานี ตำนานตั้งแต่รุ่นพ่อที่เป็นที่รักของคนไทย
  5. ‘ดุสิตธานี’ จุดเริ่มต้น การดิ้นรน และอวสานของโรงแรมไทยที่กำลังจะเป็นตำนาน
  6. รร.ดุสิตธานีต่อสัญญาเช่าที่อีก 30 ปี จับมือเซ็นทรัล ผุดมิกซ์ยูส
  7. รายการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ - บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา
  8. ดุสิตธานี ปรับแผนลงทุนโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ตอบโจทย์วิถีนิวนอร์มัล
  9. “กลุ่มดุสิต” ผนึก “เซ็นทรัล” ยกระดับโรงแรมดุสิตฯ สู่โปรเจกต์ Mixed-use 3 หมื่นล้าน แลนด์มาร์คบนสีลม
  10. "สัมภาษณ์พิเศษ 'André Fu' ผู้อยู่เบื้องหลังความงาม 'ดุสิตธานี กรุงเทพ' โฉมใหม่". THE STANDARD.
  11. Beautyman, Mairi (2018-09-05). "André Fu and AvroKO's Waldorf Astoria Bangkok Is a Tribute to Thai Culture". Architectural Digest (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. พัวพงศกร, ภัทรียา (2019-09-20). "บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง". The Cloud.
  13. "NOMADA ยกอาหารสไตล์อเมริกาใต้จากหัวหินสู่ บ้านดุสิตธานี". บ้านและสวน. 2023-11-08.
  14. Pattarat (2023-10-09). "พรีวิวคอนเซ็ปต์ "Central Park" ส่วนรีเทลและออฟฟิศใน "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" แลนด์มาร์กใหม่กรุงเทพฯ". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  15. "'ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค 'รับแรงซื้อไฮเอนด์ ดันยอดเรสซิเดนท์แตะ 80%". bangkokbiznews. 2023-12-14.
  16. "รีวิวคอนโดดุสิต Dusit Residences and Dusit Parkside คอนโดหรู วิวสวนลุม จากวิมานสุริยา [Walk-in Review] | thinkofliving.com". thinkofliving.com.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]