ซีโอแอล
ประเภท | บริษัทมหาชน |
---|---|
อุตสาหกรรม | ค้าปลีก |
ก่อตั้ง | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 |
ผู้ก่อตั้ง | วรวุฒิ อุ่นใจ |
สำนักงานใหญ่ | 24 ซอยอ่อนนุช 66/1 ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250 |
บุคลากรหลัก | สหัส ตรีทิพยบุตร อังครัตน์ เพรียบจริยวัฒน์ ชุลีพร เปี่ยมสมบูรณ์ สุพัตรา จิราธิวัฒน์ จริยา จิราธิวัฒน์ ปัณฑิต มงคลกุล ปิยะ งุ่ยอัครมหาวงศ์ วรวุฒิ อุ่นใจ โลร็องต์ โปซ |
ผลิตภัณฑ์ | เครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน สินค้าในชีวิตประจำวัน |
รายได้ | 11,320,036,580 บาท (ณ สิ้นปีการเงิน 2562) |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 640,000,000 หุ้น |
บริษัทแม่ | เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์หลักซีโอแอล |
บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: COL Public Company Limited) เป็นบริษัทสำหรับการลงทุน ดูแล และบริหารธุรกิจค้าปลีกประเภทเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานผ่านแค็ตตาล็อก (Catalog) ระบบคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ระบบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์เฉพาะแต่ละองค์กร (e-Procurement) ระบบออนไลน์ (e-Commerce) และระบบขายผ่านหน้าร้าน (Store) รวมถึงธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และดิจิทัลในกลุ่มเซ็นทรัล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 โดยบุคคลในตระกูลอุ่นใจ ก่อนขายกิจการให้กลุ่มเซ็นทรัลในเวลาต่อมา
ประวัติ
[แก้]ซีโอแอล หรือเดิมคือ ออฟฟิศเมท ก่อตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2537 เพื่อดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งอุปกรณ์สำนักงาน โดยบริษัทดังกล่าว เป็นผลสำเร็จจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ วรวุฒิ อุ่นใจ ลูกชายคนสุดท้ายที่สานต่อธุรกิจเครื่องเขียนขายส่ง ตึกแถวสองห้องบริเวณถนนเอกมัย ธุรกิจเครื่องเขียนที่บ้านกำลังจะล้ม ด้วยความสงสารคุณพ่อ จึงคิดหาทางออกด้วยการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะเรียนต่อปริญญาโท เกรดเฉลี่ยก็ไม่ถึงเพราะเป็นคนที่เรียนอ่อนมาก ธุรกิจที่เกือบจะเจ๊งถูกวางแผนใหม่โดยตั้งเป้าในการเติบโตแบบเป็นระบบ ด้วยระบบไอที ระบบใบราคาสินค้ามาวางแผนต่อยอดธุรกิจเดิมให้แบบแผนมากขึ้น และได้นำเอาความรู้และวิทยานิพนธ์จากการเรียนปริญญาโทที่ศึกษาด้านบริหารธุรกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มานำเสนอต่อธนาคารพาณิชย์เพื่อกู้เงินลงทุนบริษัทจริงจัง ในแผนการกู้เงินมีการเขียนแผนการลงทุนโดยละเอียด มีการศึกษาความเป็นไปทางการเงิน และแผนการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผล ประกอบกับนายวรวุฒิ เป็นคนมีความสามารถในการนำเสนอ จึงทำให้ได้เงินกู้จำนวนยี่สิบห้าล้านบาทซึ่งมากกว่าราคาที่ดินหลายเท่า เพื่อสร้างอาคารสำนักงาน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเริ่มต้นธุรกิจ[1][2]
เพียง 2 ปี บริษัท ออฟฟิตเมทมีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท และ ขยายตัวต่อเนื่องด้วยระบบเคตตาล็อก เซล และ ระบบไอที ของบริษัทฯ แต่แล้วในคราว วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ยอดขายของบริษัทลดลงจนเกือบล้มละลาย วรวุฒิ อุ่นใจ จึงได้คิดกลยุทธการทำเคตตาล็อกที่สวยงามโดยใช้ เอเจนซี่และทีมงานมืออาชีพ แต่ด้วยเงินลงทุนที่สูงจึงได้ขายสปอนเซอร์พื้นที่ในแต่ละหน้าของเคตตาล็อกกับซัพพลายเออร์ของออฟฟิศเมทในขณะนั้นให้มาสนับสนุน จนทำให้สามารถจัดทำแค็ตตาล็อกแบบที่สวยงามโดดเด่นจากรูปแบบเดิมๆ เป็นเล่มแรกของบริษัทได้สำเร็จ และสามารถพลิกวิกฤตของบริษัทให้กลับมากำไรได้ในระยะเวลา 6 เดือน ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินการและบริการที่รวดเร็ว และลูกค้าต้องได้รับสินค้าในวันถัดไป แม้ข้อเสียของรูปแบบการขายนี้คือทำให้คู่แข่งเห็นราคาทั้งหมดก็ตาม[3]
นับจากนั้นออฟฟิศเมทได้ก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าใหญ่ย่านถนนอ่อนนุช และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ก่อนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ด้วยทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2555 ออฟฟิศเมทได้ออกหุ้นสามัญจดทะเบียนเพิ่มเติม 240 ล้านหุ้น เพื่อจำหน่ายให้กับ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยวิธีการแลกหุ้นของ บริษัท ออฟฟิศ คลับ (ไทย) จำกัด และบริษัท บี ทู เอส จำกัด ทำให้ทั้งสามบริษัทถูกควบรวมกิจการให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของออฟฟิศเมท โดยที่โครงสร้างการถือหุ้นของออฟฟิศเมทเปลี่ยนเป็นกลุ่มเซ็นทรัลถือหุ้น 75% และตระกูลอุ่นใจรวมถึงวรวุฒิ ถือหุ้นอีก 25%[4] ก่อนปรับสภาพบริษัทและเปลี่ยนไปจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ภายหลังการเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซ็นทรัล ออฟฟิศเมทได้ขยายธุรกิจจากออนไลน์สู่ออฟไลน์โดยการนำเอาหน้าร้านของออฟฟิศดีโปมาเปลี่ยนเป็นร้านออฟฟิศเมทโดยเริ่มจากสาขาโรบินสัน เมกาบางนา (ปัจจุบันคือ สาขาเซ็นทรัล แอท เมกาบางนา) เป็นสาขาทดลองรูปแบบสาขาแรก ก่อนเปลี่ยนแปลงไปครบ 120 สาขา ทำให้ออฟฟิศเมทก้าวขึ้นเป็นผู้นำค้าปลีกสินค้าสำหรับองค์กรที่มีช่องทางจำหน่ายแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน ผ่านโทรศัพท์ ผ่านแค็ตตาล็อก และผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงยังได้ยุบกิจการเทรนดดี้เดย์ดอตคอมเข้ากับบีทูเอส ปรับรูปแบบร้านบีทูเอสจากร้านหนังสือและเครื่องเขียน สู่ร้านค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจร และเริ่มธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ร่วมกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ผ่าน www.central.co.th และ www.robinson.co.th รวมถึงซื้อกิจการของซาโลราต่อจาก Rocket Internet เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น ทำให้ออฟฟิศเมท กลายเป็นผู้นำธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจรภายใต้การดูแลของกลุ่มเซ็นทรัล[5]
ออฟฟิศเมท จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจาก บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์จาก OFM เป็น COL เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558[6] ทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทภายใต้การบริหารของกลุ่มเซ็นทรัลโดยปริยาย และเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563 เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น โดยบริษัท พีบีเอชดี จำกัด ได้ทำคำเสนอซื้อกิจการทั้งหมดเพื่อเพิกถอนซีโอแอลออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับลงนามในบันทึกความเข้าใจกับวรวุฒิ เพื่อซื้อหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 9% รวมถึงส่วนของผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ในฝั่งวรวุฒิอีก 1.87% รวมเป็น 10.87% ธุรกรรมนี้จะทำให้ซีโอแอลกลายเป็นบริษัทภายใต้การดูแลของกลุ่มเซ็นทรัล โดยเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น โดยสมบูรณ์ โดยหุ้น COL ถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 หลังการซื้อขายกิจการเสร็จสมบูรณ์[7]
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดเผยถึงการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับนายวรวุฒิ อุ่นใจ และนางสาวพชรพัชร์ ทองแว่น กรณีร่วมกันซื้อหุ้นบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) (COL) โดยอาศัยข้อมูลภายในกรณีที่บริษัทย่อยของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ COL ที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายกันอยู่ โดยหลังจากที่นายวรวุฒิได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวแล้ว นายวรวุฒิได้ร่วมกับนางสาวพชรพัชร์ ซื้อหุ้น COL ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวพชรพัชร์ ก่อนที่ COL จะเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 14 กันยายน 2563 โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.)[Note 1] กำหนดบทลงโทษบุคคลทั้งสอง ประกอบด้วย มาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง โดยให้ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด อีกทั้ง ห้ามบุคคลทั้งสองเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่กำหนด[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ [หนังสือ "ชีวิต (ไม่) หมู จาก SME ห้องแถว สู่ธุรกิจหมื่นล้าน"]
- ↑ "ชีวิต (ไม่) หมู" ผลงานใหม่ "วรวุฒิ อุ่นใจ" ขึ้นแท่นขายดี อันดับ1 - กรุงเทพธุรกิจ
- ↑ OfficeMate จากห้องแถว สู่ธุรกิจหมื่นล้าน
- ↑ เซ็นทรัล รีเทล ซื้อ ออฟฟิศเมท
- ↑ "ประวัติบริษัท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-09. สืบค้นเมื่อ 2020-08-18.
- ↑ การเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท การแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์[ลิงก์เสีย]
- ↑ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิกถอนหุ้น COL ออกจากตลาดฯ
- ↑ ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 2 ราย กรณีร่วมกันซื้อหุ้น COL โดยอาศัยข้อมูลภายใน - Thai ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 157 / 2567 วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 (sec.or.th)
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ประกอบด้วย องค์คณะ 5 ท่าน ได้แก่ (1) อัยการสูงสุด (2) ปลัดกระทรวงการคลัง (3) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (4) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ (5) เลขาธิการ ก.ล.ต.