ข้ามไปเนื้อหา

ถนนเจริญกรุง

พิกัด: 13°44′50″N 100°29′53″E / 13.747139°N 100.498166°E / 13.747139; 100.498166
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนเจริญกรุง
Charoen Krung Road April2021 ถนนเจริญกรุง.jpg
ถนนเจริญกรุงในแขวงบางรัก เขตบางรัก
ประวัติ
สร้าง17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405; 162 ปีก่อน (2405-02-17)
เปิดให้บริการ17 มีนาคม พ.ศ. 2407; 160 ปีก่อน (2407-03-17)
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถนนท้ายวัง / ถนนสนามชัย ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ท่าเรือถนนตก ในเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

ถนนเจริญกรุง (อักษรโรมัน: Thanon Charoen Krung) ถนนสายสำคัญสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นตั้งแต่ถนนสนามไชยบริเวณวงเวียน รด. หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และหลังจากตัดกับถนนพระรามที่ 3 แล้ว ถนนเจริญกรุงจะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าถนนตก จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และการไฟฟ้านครหลวงเขตยานนาวา โดยเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก ผ่านพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม และเป็นเส้นแบ่งของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (ด้านซ้าย) กับเขตสัมพันธวงศ์ (ด้านขวา) ตั้งแต่ช่วงสะพานเหล็กบนไปจนถึงบริเวณทางแยกหมอมี

ประวัติ

[แก้]

สร้างถนน

[แก้]

ถนนเจริญกรุงเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404[1] แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,700 บาท การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้นเนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศและอ้างว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ”

ในปีระกา พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนนลักษณะสองข้างถนนมีคันหินขนาบ และมีร่องสำหรับระบายน้ำ ก่ออิฐกว้าง 40 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร พื้นถนนยังมีสภาพไม่ดีนัก เพราะไม่มีการลงฐาน ใช้วิธีการทุบพอให้ดินเรียบ ๆ แล้วเอาอิฐเรียงตะแคง อัดให้แน่นด้วยดินหรือทราย ถมตรงกลางให้นูนขึ้นแบบหลังเต่าเพื่อระบายน้ำลงสองข้างเวลาฝนตก เมื่อการตัดถนนแล้วเสร็จใหม่ ๆ สภาพถนนยังไม่เรียบร้อย ในฤดูแล้งมีฝุ่น ส่วนฤดูฝนเป็นโคลนตม[2]

ในปีจอ พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต[3]

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว (จีน: 新打路) แปลว่าถนนตัดใหม่[4] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน ดังความว่า

"ทางที่ทำใหม่ตรงวัดพระเชตุพน ตรงออกไปนอกกำแพงข้ามคลองไปริมบ้านแขกเมืองเขมร เลี้ยวไปถึงป้อมปัจนึกแล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตรงลงไปถึงบางคอแหลมนั้น โปรดเกล้าฯให้เรียกว่า ถนนเจริญกรุง ห้ามอย่าให้เรียกอย่างอื่นต่อไป จดหมายประกาศให้ราษฎรรู้จงทั่ว"[5]

ในขณะที่ตัดถนนเจริญกรุงตอนใน โปรดให้ตัดถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครด้วย เมื่อหลักฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถนนเจริญกรุงและถนนทุกสายที่สร้างในรัชกาล โปรดให้มีการฉลองถนนถึง 3 วัน 3 คืน[6]

หลังจากสร้างถนนเรียบร้อยแล้วจึงได้สร้างตึกแถวโดยได้แบบอย่างจากสิงคโปร์ ตึกแถวประดับโคมไฟซึ่งเริ่มจากการใช้ตะเกียงน้ำมัน แล้วเปลี่ยนมาใช้ไฟแก๊ส จนเมื่อ พ.ศ. 2427 มีการตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเป็นครั้งแรก ไฟตามท้องถนนจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทน[7]

ตั้งถิ่นฐาน

[แก้]
ถนนเจริญกรุง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2460 เห็นห้างฮุนซุ่ยฮง ใกล้วัดม่วงแค
ถนนเจริญกรุง ตัดถนนสีลมที่ทางแยกบางรัก

ตั้งแต่สะพานมอญ (คลองคูเมือง) จนถึงสะพานดำรงสถิตย์ (คลองรอบกรุง) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นที่ดินของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานพระโอรสและพระธิดาเพื่อเช่าการค้าและพักอาศัย ประชาชนมักเป็นคนไทยและคนจีน ชุมชนบริเวณสะพานมอญเป็นชาวมอญเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา บริเวณสี่กั๊กพระยาศรีในอดีตมีพวกมอญตั้งถิ่นฐานอยู่ริมสองฝั่งคลอง ช่วงสะพานเหล็กหรือสะพานดำรงสถิตย์จนถึงสะพานพิทยเสถียรเป็นชุมชนชาวจีน ที่ดินบางส่วนในช่วงนั้นเป็นของขุนนางซึ่งสร้างตึกแถวให้เช่า ผู้มาเช่ามีตั้งแต่ขุนนางจีนไปจนถึงกรรมกรจีน แต่มีบางส่วนทำเป็นห้างฝรั่งและพ่อค้าแขก ส่วนบริเวณบางรัก ริมถนนเจริญกรุงนอก ส่วนใหญ่เป็นแขกอินเดียและแขกมลายูในบังคับอินเดีย แขกลังกาในบังคับฝรั่งเศส และแขกยะวาในบังคับฮอลันดา[8]

แต่เดิมชุมชนชาวจีนตลาดน้อยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุง ทำให้ชุมชนตั้งห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ยังเกิดแหล่งการค้าบริเวณสะพานเหล็กล่าง (สะพานพิทยเสถียร) ซึ่งแรกสร้างได้สร้างเป็นสะพานเหล็กคู่กับสะพานเหล็ก (บน) บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมตรงสะพานพิทยเสถียรเป็นตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ มีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากจีน มีโรงสี โรงน้ำแข็ง และโกดังสินค้าต่าง ๆ

ย่านตลาดน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีตลาดเจ้าสัวสอนของหลวงอภัยวาณิช (สอน) ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีตลาดสดเปิดขึ้นมาแข่งขันในบริเวณใกล้เคียงเพิ่มขึ้นอีก 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดเจ้าสัวเท่งของพระเจริญราชธน ตลาดพระยาเดโช”ของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) และ ตลาดเจ๊กปิน ของนายปิน ซึ่งเป็นต้นตระกูลจันตระกูล[9]

ส่วนชาวตะวันตก ได้มีการตั้งถิ่นฐานถัดจากคลองผดุงกรุงเกษมไปจนถึงถนนตก โดยชาวตะวันตกชาติแรกที่ได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชาวโปรตุเกส เพื่อเป็นรางวัลในการช่วยรบกับพม่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวโปรตุเกสเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า โรซารี ได้มีการสร้างวัดคริสตังเมื่อ พ.ศ. 2329 คือโบสถ์กาลหว่าร์ ภายหลังมีการสร้างสถานกงสุลถัดจากโบสถ์นี้ เมื่อถึง พ.ศ. 2376 สมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวอเมริกันนำโดยคณะอเมริกันแบ๊บติสท์ ได้ส่งมิชชันนารีสาธุคุณ จอห์น เทเลอร์ โจนส์ เข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา ซึ่งได้เช่าเรือนพักอยู่ในสถานกงสุลของโปรตุเกสแห่งนี้ด้วย ต่อมารัชกาลที่ 4 พระราชทานที่ดินให้ชาวตะวันตกชาติต่าง ๆ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เป็นต้น นอกจากนั้นยังพระราชทานทรัพย์ซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเงิน 10 ชั่ง (ประมาณ 800 บาท) สร้างสุสานโปรเตสแตนต์ บริเวณถนนเจริญกรุง 72/5 ในปัจจุบัน[10]

รถราง

[แก้]

หลังสร้างถนนไม่กี่ปี ถนนเกิดความชำรุดอย่างรวดเร็ว จอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก จึงได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลทำสัมปทานการรถรางขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2430 พิธีเปิดเดินรถรางเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง มีเส้นทางวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง ปลายทางอยู่ที่อู่ฝรั่งหรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock) หรือบริษัทอู่กรุงเทพ และในปีต่อมาก็ได้ขยายเส้นทางไปถึงถนนตก[11]

ยุครุ่งเรืองทางธุรกิจ (รัชกาลที่ 4–5)

[แก้]
ศุลกสถาน
สยามดิสเป็นซารี่ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ร้านยาสยาม

เมื่อมีการการก่อสร้างด่านศุลกากรขึ้นเพิ่มเติมจากด่านกุฎีจีนที่สร้างตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ด่านศุลกากรนี้เรียกว่า ศุลกสถาน เป็นที่สำหรับเรือสินค้าต่างชาติมาจอดเทียบท่าเพื่อจ่ายภาษี ย่านบางรักก็เริ่มมีผู้คนเยอะขึ้น ชาวจีนที่ช่ำชองเรื่องการค้าขายเริ่มจับจองพื้นที่ ภายหลังที่ทางราชการได้สร้างห้องแถวที่สองฝั่งถนนเจริญกรุงเพื่อให้เช่าก็มีชนชาติต่าง ๆ มาเช่าเพื่อทำการค้าขาย[12] ชาวต่างชาติได้นำพาสิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรม และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศไทย เช่น โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทยอย่างโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนเจริญกรุงเป็นแหล่งพาณิชยกรรมและศูนย์รวมการค้าขนาดใหญ่ โดยมีคลองผดุงกรุงเกษมที่สามารถเป็นเขตแบ่งลักษณะของธุรกิจในถนนเจริญกรุง กล่าวคือในเขตคลองผดุงกรุงเกษมจะเป็นเขตที่อยู่อาศัยและการค้าขายของชาวไทยและชาวจีนอย่างหนาแน่น ที่พักของขุนนางหรือผู้มีบรรดาศักดิ์ตลอดจนหน่วยงานราชการและสถานที่สำคัญ แหล่งการค้าขนาดใหญ่ รวมถึงมีสถาบันการเงินเกิดขึ้นจากชาวต่างประเทศ เช่น ธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ของอินเดีย ออสเตรเลียและจีน ธนาคารอินโดจีน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการธนาคารในประเทศไทย มีการก่อตั้งบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด หรือธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ได้เปิดทำการสาขาแรกอย่างเป็นทางการในทำเลย่านเจริญกรุงอีกด้วย[13]

ร้านค้าที่เกิดขึ้นเช่น ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยนายแพทย์โธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ ที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์ด้านใต้ มีการเปิดสาขาขึ้นใหม่ที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนสี่พระยา[14] ร้าน Siam Dispensary หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ร้านยาสยาม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2421 ภายหลังคือ บี.กริม เพาเวอร์[15] ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้เปิดบนถนนเจริญกรุงแห่งนี้ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2493[16] ) ใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ลมีห้างฟาล์คแอนด์ไบเด็ก (Falck & Beidek) เจ้าของเป็นชาวเยอรมัน คนไทยมักเรียกว่า ห้างสิงโต เพราะมีรูปปั้นสิงโตหมอบอยู่หน้าห้าง ในตรอกโอเรียนเต็ลมีที่ทำการหนังสือพิมพ์ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ (Siam Observer) และมีธนาคารชาร์เตอร์ (Charter Bank) ตั้งอยู่ปลายถนนที่ขนานกับตรอกโอเรียนเต็ลสุดริมแม่น้ำ[17]

ถนนเจริญกรุงยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงสีข้าว ซึ่งตั้งเรียงรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะแรกเป็นโรงเลื่อยของชาวจีนไหหลำ ดำเนินธุรกิจเพื่อนำไม้ไปใช้ในการก่อสร้างในประเทศและธุรกิจต่อเรือ ต่อมาพัฒนาเป็นโรงเลื่อยด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ส่วนชาวตะวันตกเริ่มทำกิจการโรงเลื่อยเมื่อ พ.ศ. 2426 และประสบความสำเร็จมากกว่าโรงเลื่อยของชาวจีน[18]

มีการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อ พ.ศ. 2420 ในพุทธทศวรรษ 2460 บริเวณย่านบางรักเติบโตขึ้นกลายเป็นแหล่งธุรกิจขนาดใหญ่ ตลาดบางรักมีของขายเพื่อรองรับชาวต่างประเทศทั้งของสด ของคาว ผัก ผลไม้และมีของเค็มเช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ และของแช่นํ้าแข็ง เช่น นกสไนป์ (นกปากซ่อม) กระต่าย และเนื้อสมัน ของเหล่านี้นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง[17]

รัชกาลที่ 6–8

[แก้]
ตึกนายเลิศ ตึกสูง 7 ชั้น

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ถนนเจริญกรุง ได้รับการพัฒนาให้เป็นถนนลาดยางมะตอย เริ่มทำเมื่อ พ.ศ. 2465 ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ ในระยะแรก เริ่มราดยางที่บริเวณเชิงสะพานมอญถึงสี่กั๊กพระยาศรี จากนั้นจึงค่อยราดยางถึงถนนตกหรือสุดถนนเจริญกรุง การราดยางยังผลให้ถนนเจริญกรุงไม่มีฝุ่น[19]

พ.ศ. 2470 นายเลิศสร้างตึกสูง 7 ชั้นบนถนนเจริญกรุง ถือเป็นอาคารสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่า ตึกนายเลิศ ภายในประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศ ใต้ถุนเป็นที่ตั้งของ บาร์นายเลิศ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Hotel de la Paix อีกทั้งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทเดินอากาศสยามแห่งแรกรวมไปถึงบริษัทเดินเรือเมล์ ใต้ถุนตึกยังเป็นโรงน้ำแข็งเพื่อเก็บของสดจากต่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของกรุงเทพ[17]

หลังเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าเมื่อ พ.ศ. 2475 ทำให้การค้าขายบริเวณใกล้เคียงสะพานทั้งสองฝั่งขยายตัว ได้แก่ สำเพ็ง พาหุรัด เยาวราช สะพานหัน ต่อเนื่องไปถึงถนนเจริญกรุง มีการสร้างตลาดมิ่งเมือง (ดิโอลด์สยามพลาซ่าในปัจจุบัน) ในเวลาใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 เป็นแหล่งตัดเย็บเสื้อผ้ายุคแรกที่ใหญ่ที่สุด[20] ทำให้ถนนเจริญกรุงย่านนี้เป็นแหล่งรวมกลุ่มผู้หญิง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ที่เคยเป็นของชาวตะวันตก ถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครอง โดยเฉพาะตั้งแต่บางรักถึงบางคอแหลม ซึ่งต่อมารัฐบาลไทยขอใช้สิทธิ์ในการเข้าครอบครองแทน บางธุรกิจก็ปิดกิจการลงอย่างถาวร ถนนเจริญกรุงในยุคสงครามโลกครั้งที่สองได้รับความเสียหาย จากแรงระเบิดหลายแห่ง เช่น เช่น ไปรษณีย์กลางบางรัก อู่บางกอกด๊อก ท่าเรือขนส่งสินค้าเอเชียทีค บางคอแหลม และถนนตก หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงจึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ เข้าไปครอบครองกิจการที่ชาวตะวันตกเคยมีบทบาท เช่น ตระกูลจิราธิวัฒน์ เปิดร้านขายของชำและพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นต้น ส่วนบ้านเรือนริมฝั่งถนนเจริญกรุงได้มีการซ่อมแซมปรับปรุง โดยมีลักษณะที่เรียบง่าย ตัวอาคารไม่เน้นการตกแต่ง ใช้เหล็ก กระจก คอนกรีตเสริมเหล็ก ปูนซิเมนต์เป็นวัสดุหลัก อาคารสูง 3–4 ชั้น[21]

หยุดพัฒนา

[แก้]

ตั้งแต่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้กรุงเทพมหานครได้พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ส่งผลให้เมืองขยาย เนื่องจากย่านเจริญกรุงนั้นแทบจะถูกจับจองเต็มพื้นที่ทำให้ยากต่อการขยายตัว และยังมีการตัดถนนใหม่เพิ่มจำนวนมากทำให้ศูนย์กลางเมืองจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ถนนเจริญกรุงอีกต่อไป

ย่านถนนเจริญกรุงนั้นไม่ค่อยมีการพัฒนาใหม่ ๆ ผู้ที่อาศัยและเปิดกิจการอยู่ตามถนนเจริญกรุงมักจะเป็นผู้เช่าชาวต่างชาติซึ่งไม่สามารถถือครองที่ดินได้ตามกฎหมาย จึงเริ่มมีการขายที่ดินของเอกชนบางแปลงออกไปในลักษณะของการจัดสรรที่ดินแล้วสร้างเป็นอาคารพาณิชย์แบ่งขาย การถือครองที่ดินเริ่มเปลี่ยนกรรมสิทธิ์จากเอกชนรายใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินรายย่อยมากขึ้น ส่งผลให้ที่ดินยากต่อการพัฒนาทั้งในรูปแบบของการรวมแปลงที่ดินระหว่างเจ้าของที่เป็นภาคเอกชนเพื่อจัดรูปที่ดินใหม่[22]

ปัจจุบัน

[แก้]
เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์

เมื่อมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 และในช่วงเวลานั้นเป็นสถานีสุดท้ายของสายสีลม ย่านเจริญกรุงตรงบางรัก ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมต่อรถยนต์ เรือข้ามฟาก และรถไฟฟ้า คนฝั่งธนบุรี เริ่มมีเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ โกดังเก่าแก่ที่ปรับปรุงให้เป็นศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 มีโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์และมีคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำหลายแห่ง[23]

มีการย้ายสำนักงานใหญ่ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จากย่านสุขุมวิทมาตั้งอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางริมถนนเจริญกรุงย่านบางรัก มีโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2546

พ.ศ. 2558 มีโครงการพัฒนาให้เป็นย่านพาณิชยกรรมสมัยใหม่ พื้นที่สร้างสรรค์ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจใกล้รถไฟฟ้า เช่น โครงการศูนย์กลางอาหารทะเลกรุงเทพ (Bangkok Seafood Complex) ซึ่งเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐที่ร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าขององค์การสะพานปลาเก่าให้กลายเป็นอาคารสูง 50 ชั้น[24]

อนาคต

[แก้]

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ได้เข้ามาพัฒนาที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษม บนเนื้อที่ 14 ไร่เศษ เป็นโรงแรมหรูผสมการค้าที่ทันสมัยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569–2570 ที่ดินอีกแปลงบนที่ดิน 100 ไร่ บริเวณเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ จะพัฒนาเป็นโรงแรมหรูที่สูงที่สุดในประเทศไทย จะสร้างมูลค่าบนที่ดินราคากว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา[25]

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มอบที่ดินจำนวนหนึ่งแปลงเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงแรมบูรพาสามยอดซึ่งหมดสัญญาและเป็นโรงแรมร้าง ตั้งอยู่อยู่บริเวณจุดก่อสร้างสถานีสามยอด รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้กับสายสีน้ำเงิน[26]

สิ่งก่อสร้าง

[แก้]

ตึกแถว

[แก้]
สำนักงานหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ทางแยกเอส. เอ. บี.

ตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏอยู่ คาดว่าน่าจะมีการรื้อถอนตึกแถวในยุคนี้ไปหมดแล้ว จะปรากฏแต่ตึกแถวที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไปแล้ว เช่น ตึกแถวเซ่งชง เชิงสะพานมอญ สร้างประมาณ พ.ศ. 2430–2440 ผู้ครอบครองปัจจุบัน คือ บริษัท บี เอ็น ฮั๊ว ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนจักรวรรดิ์และถนนวรจักร ตึกที่สำคัญ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเฉลิมนคร และสำนักงานหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลาย ชุดตึกแถวริมถนนเจริญกรุงซอย 35 (ตรอกโรงน้ำแข็ง) เชิงสะพานพิทยเสถียร เป็นอาคารเก่าของตระกูลฮุนตระกูล ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรชาวสกอต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2443

ส่วนตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงซอย 28 ผู้ครอบครองคือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เป็นอาคารสูง 3 ชั้น หลังคาทรงมะนิลา ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงซอย 34 ตรอกวัดม่วง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2535 ตึกแถวเขตบางรักก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่บริเวณสี่พระยาไปถนนสีลม สาทร เป็นย่านการค้าของชาวตะวันตก มีการพระราชทานที่ดินเป็นสถานกงสุล ตั้งอาคารสำนักงาน บ้านเรือนของชาวต่างประเทศ ในอดีตเคยมีธนาคารฮ่องกงและธนาคารเซี่ยงไฮ้ อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม

ตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้แก่ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนข้าวหลามและถนนทรงวาด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นตึกแถวสูง 3–4 ชั้น และตึกแถวนานา ริมถนนเจริญกรุงซอย 43 เจ้าของคือ คุณเล็ก นานา[8]

อาคารเก่าแก่

[แก้]
โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ

บริเวณซอยกัปตันบุชเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลโปรตุเกส สถานกงสุลแห่งแรกในไทย ในซอยเดียวกันนี้ยังมีบ้านเลขที่ 1 ของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์[27]

บ้านโซวเฮงไถ่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2340 ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดน้อย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย อาคารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2451 โรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย[28] ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2413 ศุลกสถาน (สถานีดับเพลิงบางรักเก่า) ในซอยเจริญกรุง 36 อาคารสร้างราว พ.ศ. 2429–2431

ศาลาเฉลิมกรุงได้วางศิลาฤกษ์โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 และเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476[29] อาคารไปรษณีย์กลางตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง อยู่ระหว่างซอย 32 และ 34 มีลักษณะสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์[30] สร้างเมื่อ พ.ศ. 2483

ศาสนสถาน

[แก้]

มัสยิดบ้านอู่ เป็นมัสยิดจดทะเบียนหลังแรกของไทย ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง 46 ได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือประมาณ พ.ศ. 2455 และมีมัสยิดบางอุทิศ ซอยเจริญกรุง 99

อาสนวิหารอัสสัมชัญบริเวณซอยเจริญกรุง 40 อาคารหลังปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2452 โบสถ์กาลหว่าร์หรือวัดแม่พระลูกประคำ บริเวณตลาดน้อย โบสถ์หลังปัจจุบันเป็นหลังที่สาม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 สำหรับสุสานโปรเตสแตนต์ตั้งอยู่ใกล้กับวัดราชสิงขร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้แก่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เพื่อให้เป็นสถานที่ฝังศพ

วัดศาลเจ้าเจ็ด (ซิกเซียม่า) เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2425 อยู่ในซอยเจริญกรุง 39[31] ศาลเจ้าเจียวเอ็งเนี้ยว ซอยเจริญกรุง ซอย 44 วัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนที่ตั้งอยู่ระหว่างเจริญกรุง ซอย 19 และซอย 21 ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2414 และมีวัดอุภัยราชบำรุงเป็นวัดญวณตั้งอยู่บริเวณตลาดน้อย

วัดพุทธไทยที่ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุงและในซอย ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดม่วงแค วัดสวนพลู วัดยานนาวา วัดสุทธิวราราม และวัดราชสิงขร

สถานศึกษาและสถานที่ราชการ

[แก้]

บริเวณถนนตกเป็นที่ตั้งของสำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ภายในสำนักงานได้เก็บรักษารถรางพร้อมกับป้ายหยุดรถราง บริเวณใกล้กันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์มาก่อน มีการนำวัวควายส่งเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำ บริเวณหลังโรงพยาบาลมีชุมชนชาวมุสลิมสร้างบ้านเรือนอยู่ แต่เดิมประกอบอาชีพในโรงฆ่าสัตว์มาก่อน ไม่ไกลกันมากเป็นที่ตั้งของอู่เรือวังเจ้า เป็นอู่ซ่อมเรือ เหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะแต่เดิมเป็นพื้นที่วังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์[32]

สถานศึกษาที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศูนย์พระนครใต้ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โรงเรียนวัดสวนพลู โรงเรียนวัดม่วงแค โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ

ศูนย์การค้า

[แก้]

ห้างสรรพสินค้าโรบินสันบางรัก เปิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535[33] เซ็นทรัล: ดิออริจินัลสโตร์ บริเวณปากซอยเจริญกรุง 38 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563[34]

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ถนนเจริญกรุง ทิศทาง: วงเวียน รด. – ท่าเรือถนนตก
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนเจริญกรุง (วงเวียน รด. – ท่าเรือถนนตก)
กรุงเทพมหานคร 0+000 แยกวงเวียน รด. เชื่อมต่อจาก: ถนนท้ายวัง จากถนนมหาราช
ถนนสนามไชย ไปปากคลองตลาด ถนนสนามไชย ไปปิ่นเกล้า
ถนนราชินี ไปปากคลองตลาด ถนนราชินี
สะพานมอญ ข้ามคลองรอบกรุง
แยกสะพานมอญ ถนนอัษฎางค์ ไปปากคลองตลาด ถนนอัษฎางค์ ไปสนามหลวง
แยกสี่กั๊กพระยาศรี ถนนเฟื่องนคร ไปสี่กั๊กเสาชิงช้า ไม่มี
แยกเฉลิมกรุง ถนนตีทอง ไปเสาชิงช้า ไม่มี
แยกอุณากรรณ ถนนอุณากรรณ ไปเสาชิงช้า ถนนบูรพา ไปพาหุรัด
แยกสามยอด ถนนมหาไชย ไปสำราญราษฎร์ ไม่มี
สะพานดำรงสถิต ข้ามคลองโอ่งอ่าง
ถนนบริพัตร ไปถนนหลวง ถนนบริพัตร ไปเยาวราช
แยกเอส. เอ. บี. ถนนวรจักร ไปแม้นศรี ถนนจักรวรรดิ ไปพระปกเกล้า
ไม่มี ถนนมหาจักร ไปเยาวราช
แยกเสือป่า ถนนเสือป่า ไปโรงพยาบาลกลาง ถนนราชวงศ์ ไปท่าเรือราชวงศ์
ไม่มี ถนนมังกร ไปเยาวราช
แยกแปลงนาม ถนนพลับพลาไชย ไปพลับพลาไชย ไม่มี
เชื่อมต่อจาก: ถนนแปลงนาม จากเยาวราช
แยกหมอมี ไม่มี ถนนมิตรพันธ์ ไปวงเวียน 22 กรกฎาคม
เชื่อมต่อจาก: ถนนทรงสวัสดิ์ จากเฉลิมบุรี
เชื่อมต่อจาก: ถนนพระรามที่ 4 จากไมตรีจิตต์
แยกลำพูนไชย ไม่มี ถนนลำพูนไชย ไปถนนเยาวราช
วงเวียนโอเดียน ไม่มี ถนนเยาวราช ไปเฉลิมบุรี
เชื่อมต่อจาก: ถนนมิตรภาพไทย-จีน จากไมตรีจิตต์
แยกทรงวาด ถนนข้าวหลาม ไปมหาพฤฒาราม ถนนทรงวาด ไปท่าน้ำราชวงศ์
สะพานพิทยเสถียร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
แยกสี่พระยา ไม่มี ถนนสี่พระยา ไปแยกมหานคร-สี่พระยา
แยกสุรวงศ์ ถนนสุรวงศ์ ไปแยกมหานคร-สี่พระยา ไม่มี
แยกบางรัก ถนนสีลม ไปแยกใต้ทางด่วนสีลม ไม่มี
แยกเฉลิมพันธ์ ถนนสาทร ไปแยกสาทร-สุรศักดิ์ ไม่มี
แยกตรอกจันทน์ ถนนจันทน์ ไปสาธุประดิษฐ์, นราธิวาสราชนครินทร์ ไม่มี
แยกถนนตก ถนนพระรามที่ 3 ไปเจริญราษฎร์ ถนนมไหสวรรย์ ไปเจริญนคร
ทางขึ้นสะพานพระราม 3 สะพานพระราม 3 ไปตากสิน, ราชพฤกษ์, เพชรเกษม ไม่มี
ตรงไป: ท่าเรือถนนตก
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""ความเรื่องมาก" ของฝรั่งกับการสร้างถนนในสมัยรัชกาลที่ 4". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา. (2531). พระบรมราชจักรีวงศ์กับกรุงเทพมหานคร. หน้า 30.
  3. ""พระปิ่นเกล้าฯ" ทรงค้านตัดตรง "ถนนเจริญกรุง" จากสามแยกสู่พระนคร ?!?". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. ย่านเก่าในบางกอก. "ประวัติถนนเจริญกรุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-10. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. กรมศิลปากร.(2547). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. หน้า 503.
  6. กรมศิลปากร. (2547). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. หน้า 205.
  7. "กรุงเทพฯ ราตรี". เดอะคลาวด์.
  8. 8.0 8.1 สยาณี วิโรจน์รัตน์. "การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมประเภทตึกแถวริมถนนเจริญกรุง ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7" (PDF). สำนักงานวิทยทรัพยากร.
  9. ภูมิ ภูติมหาตมะ. "จีนย่านตลาดน้อย: ศรัทธาและเศรษฐกิจการค้าแห่งจีนสยาม". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  10. อาทิพร ผาจันดา. "100 ปีถนนเจริญกรุงกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2411-2511)" (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  11. หนุ่มลูกทุ่ง. "ย้อนอดีต"รถราง"พาหนะสุดคลาสสิก". ผู้จัดการออนไลน์.
  12. "ถนนเจริญกรุง – ปัจจุบันของอดีต". สารคดี.
  13. "เจริญกรุง-เจริญนคร ทำเลอนาคตในย่านเมืองเก่า".
  14. ผู้ผ่านทาง. "กำเนิด "แป้งเย็นตรางู" จากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เก่าแก่สมัยร.5 ถึงผู้ปรับสูตรแป้งเย็น". ศิลปวัฒนธรรม.
  15. "แกะรอยจดหมายเก่าห้างบี.กริม ห้างเยอรมันแห่งแรกของสยาม". เดอะคลาวด์.
  16. "Central Original Store ห้างสรรพสินค้าใหม่ ที่พาคุณกลับสู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักรค้าปลีกในเครือ ' เซ็นทรัล'". เดอะสแตนดาร์ด.
  17. 17.0 17.1 17.2 วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. "การเปลี่ยนแปลงของย่านบางรักภายหลังการตัดถนนเจริญกรุง สมัยรัชกาลที่ 4 -6 (พ.ศ. 2394-2468)". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  18. จี. วิลเลียม สกินเนอร์. (2548). สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. หน้า 107.
  19. "ถนนไม่มีฝุ่น" ใน หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2465. หน้า 5.
  20. วรรณชนก บุญปราศภัย. (2563). พัฒนาการห้องเสื้อไทย พ.ศ. 2500–2559. หน้า 40.
  21. ยงธนิศร์ พิมลเสถียร. (2552). อาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ถนนเจริญกรุงตอนบน. หน้า 50
  22. "(re)NEW ROAD: ถนนเจริญกรุงกับ 150 ปีที่ผ่านไป". โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-21. สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.
  23. "รู้จักย่านเจริญกรุงแบบเจาะลึก".
  24. "เจริญกรุง จากย่านชุมชนการค้าสำคัญเก่าแก่ สู่ยุคเฟื่องฟูของการเป็น Lifestyle Commercial ริมน้ำ". propholic.com.
  25. "บิ๊กทุนยึดที่ดินริมเจ้าพระยา 11 โปรเจ็กต์ 7.3 หมื่นล้าน". ฐานเศรษฐกิจ.
  26. "ส่องสวนสาธารณะใหม่ กลางกรุง แลนด์มาร์คระดับโลก อสังหาฯ". ฐานเศรษฐกิจ.
  27. "ปลุกตำนาน "เจริญกรุง"". คมชัดลึก.
  28. "ตึกเก่าร้อยปี! ส่อง 5 สถาปัตยกรรมรุ่นคุณปู่ เจริญกรุง วันเดียวก็เที่ยวได้!". ไทยรัฐ.
  29. "ย้อนรอยย่าน "วังบูรพา" เดินเพลินแหล่งรวมวัยเก๋า จากท้ายวังถึงหลังวัง". ผู้จัดการออนไลน์.
  30. "Hidden Gem in Old Town : หลงเสน่ห์เมืองเก่าเพราะ "ที่นี่…บางรัก"".
  31. "5 ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ย่านเจริญกรุง ไหว้พระเสริมสิริมงคล". กะปุก.
  32. หนุ่มลูกทุ่ง. ""New Road" ถนนใหม่สายแรกในกรุงเทพฯ". ผู้จัดการออนไลน์.
  33. "แบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)" (PDF). บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน).
  34. วรรษชล คัวดรี้. "Central Original Store ห้างสรรพสินค้าใหม่ ที่พาคุณกลับสู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักรค้าปลีกในเครือ ' เซ็นทรัล'". เดอะสแตนดาร์ด.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′50″N 100°29′53″E / 13.747139°N 100.498166°E / 13.747139; 100.498166