หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | หมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง |
เมือง | เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2412 |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เป็นส่วนหนึ่งของ | พระบรมมหาราชวัง |
เลขอ้างอิง | 0005574 |
หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นหมู่พระที่นั่งที่อยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรและหมู่พระมหาปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง ทอดตัวจากทิศเหนือไปทิศใต้ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นใน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการและเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ เดิมประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 11 องค์ แต่เนื่องจากพระที่นั่งบางองค์ทรุดโทรมจนยากต่อการบูรณะจึงได้ทำการรื้อลง
ปัจจุบัน หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประกอบด้วย พระที่นั่ง 5 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์เดียวในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน เป็นพระที่นั่งที่รื้อลงและสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประวัติ
[แก้]หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทตั้งอยู่ระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรและหมู่พระมหาปราสาท ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในและชั้นกลาง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกเริ่มนั้นพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งขึ้นในบริเวณพระตำหนักที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพและเป็นที่ประทับเดิมของพระองค์ หมู่พระที่นั่งนี้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2412 ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่[1]
- พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ (ห้องโต๊ะ) เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก ใช้เป็นห้องสำหรับพระราชทานเลี้ยง
- พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ (ห้องทอง) เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก เดิมใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และเป็นสถานที่ทรงประกาศพระบรมราชโองการการเลิกทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระที่นั่งนี้ ตรงบริเวณที่เป็นพระตำหนักชั้นเดียวที่ทรงเสด็จพระราชสมภพ
- พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ (ห้องผักกาด) เป็นห้องเครื่องลายคราม (ถูกรื้อลงแล้ว)
- พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร (ห้องพระภูษา) (ถูกรื้อลงแล้ว)
ในระหว่างนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นทางทิศใต้ของหมู่พระที่นั่งเดิมอีก 6 พระที่นั่ง โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2413 ประกอบด้วย[2][1]
- พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย ห้องน้ำเงิน ห้องเหลือง และห้องเขียว นอกจากนี้ ยังเคยใช้เป็นที่เสด็จออกรับแขกเมืองด้วย
- พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ถูกรื้อลงแล้ว)
- พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ เป็นห้องพระบรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี (ถูกรื้อลงแล้ว)
- พระที่นั่งบรรณาคมสรนี เป็นห้องทรงพระอักษร (ถูกรื้อลงแล้ว)
- พระที่นั่งราชปรีดีราชวโรทัย เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ (ถูกรื้อลงแล้ว)
- พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร เป็นห้องบรรทมสมเด็จพระราชโอรสธิดาบางพระองค์ (ถูกรื้อลงแล้ว)
โดยเพิ่มขึ้นมาอีก1องค์คือ
- พระที่นั่งเทวรารัณยสถาน เป็นสวนป่า
พระที่นั่งทั้ง 10 องค์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2416 โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรปทั้งสิ้น หลังจากนั้น เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากการประพาสสิงคโปร์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้นทางด้านทิศเหนือของหมู่พระที่นั่งเดิม โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2419 และเฉลิมพระราชมนเฑียรใน พ.ศ. 2425 ดังนั้น พระที่นั่งภายในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงประกอบด้วย พระที่นั่ง 11 องค์
ปัจจุบัน พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ในสภาพที่ชำรุดจนเกินกว่าการบูรณะได้จึงมีการรื้อพระที่นั่งลงหลายองค์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่บนสถานที่เดิม 4 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน
แผนผังพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่5
[แก้]แผนผังหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในสมัยรัชกาลที่ 5
- ท้องพระโรงหน้า
- ท้องพระโรงกลาง
- ท้องพระโรงหลัง
- มุขกระสันตะวันออก
- ห้องไปรเวท
- มุขกระสันตะวันตก
- ออฟฟิสหลวง
- อ่างแก้ว
- พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ( ห้องโต๊ะ )
- พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ( ห้องทอง )
- พระที่นั่งดำรงสวัสดิอนัญวงศ์ ( ห้องผักกาด )
- พระที่นั่งพิพัฒน์พงศ์ถาวรวิจิตร ( ห้องพระภูษา )
- พระเฉลียง
- ห้องน้ำเงิน
- ห้องเหลือง
- ห้องเขียว
- พระที่นั่งอมรพิมานมณี
- พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์
- พระที่นั่งบรรณาคมสรณี
- พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย
- พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร
- สวนสวรรค์
พระบรมอัฐิบนพระวิมาน
[แก้]- พระวิมานองค์กลาง
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
- พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
- สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
- สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
- สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- พระวิมานตะวันตก
- สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
- สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
- สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
- สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
- สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี
- สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
- พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
- พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
- พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
[แก้]พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
[แก้]พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นท้องพระโรง มีลักษณะเป็นพระที่นั่งยอดปราสาท 3 องค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสันตลอดทั้งแนว เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ในรูปแบบตะวันตก แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลขอให้สร้างเป็นยอดปราสาท ดังนั้น รูปแบบพระที่นั่งองค์นี้จึงมีสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก
พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
[แก้]พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพและเป็นที่ประทับเดิมของพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นบริเวณนี้ 2 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติและพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ โดยพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์เป็นห้องโต๊ะใช้จัดเลี้ยง[2]
ปัจจุบัน พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์องค์เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทนบนพื้นที่เดิมของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เพื่อใช้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง[3][1]
พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
[แก้]พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เป็นพระที่นั่ง 1 ใน 2 องค์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งพระองค์เสด็จพระราชสมภพและเป็นที่ประทับเดิมของพระองค์ โดยนามของพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติมีความหมายว่า เป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชสมภพ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศจะให้มีการเลิกทาสท่ามกลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417[4]
พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติองค์เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทนบนพื้นที่เดิมของพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติและพระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เพื่อใช้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง[1]
พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
[แก้]พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา มีมุขหน้าต่อกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ[5]
พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารองค์เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทน เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชทานเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง[6]
พระที่นั่งเทวารัณยสถาน
[แก้]พระที่นั่งเทวารัณยสถาน เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทมีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท สร้างขึ้นบนพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ตั้งอยู่ติดต่อกับท้องพระโรงใหญ่อันเป็นที่จัดเลี้ยง นามพระที่นั่ง "เทวารัณยสถาน" หมายถึง สถานอันเป็นสวนป่าของเทวดา เป็นนามอนุสรณ์ถึง "สวนสวรรค์" ซึ่งเป็นสวนยกพื้นในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งสวนดังกล่าวทรุดโทรมและถูกรื้อลงตั้งแต่แรกรื้อพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารองค์เดิม[2]
เหตุผลที่ทำให้มีการรื้อพระที่นั่งลง
[แก้]พระที่นั่งเหล่านี้ได้ถูกรื้อลงแล้วเนื่องจากมีความชำรุดความทรุดโทรม พบว่าเสาของพระที่นั่งแตกและโป่งออกทางด้านข้าง ปูนก่ออิฐหมดความแข็งแรงเพราะว่าน้ำหนักขององค์พระที่นั่งมีมาก เสาแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักส่วนบนได้ และพื้นชั้นบนทรุด ผนังแตกร้าว และอาจจะพังลงมาได้โดยง่าย อนึ่งเมื่อสมัยอดีตบรรดาพระที่นั่งและตำหนักต่าง ๆ ในเขตพระราชฐานชั้นใน สร้างขึ้นอย่างแออัดเพื่อให้เพียงพอกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาในองค์สมเด็จมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในสมัยก่อนซึ่งมีอยู่มาก แต่เมื่อมาถึงในปัจจุบันหมดความจำเป็นที่จะต้องมีที่ประทับสำหรับฝ่ายในมาก เช่นในสมัยก่อนแล้ว ประกอบกับทั้ง พระที่นั่งหรือตำหนัก และอาคาร ต่าง ๆ ในเขตพระราชฐานชั้นในก็ชำรุดทรุดโทรมลงมาก บางอาคารก็ใกล้จะพังลงมา ถ้าจะซ่อมให้คงดีตามสภาพเดิมก็ย่อมเป็นการสิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์อัน ใด สำนักพระราชวังจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รื้อ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงดำเนินการรื้อลงในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2501
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 กรมศิลปากร, หน้า 9-10
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ชัชพล ไชยพร, บรมราชสถิตยมโหฬาร - เทวารัณยสถาน, ศิลปวัฒนธรรม, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549, ปีที่ 27, ฉบับที่ 10
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 276-278
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 360-361
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 154
- ↑ ชลทิตย์ ไชยจันทร์, พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร : ปราสาท เรือนฐานันดรสูงในรัชกาลปัจจุบัน เก็บถาวร 2011-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554
บรรณานุกรม
[แก้]- ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม
- กรมศิลปากร. นำชมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์การพิมพ์, พ.ศ. 2525. 332 หน้า. ISBN 974-7919-60-5