ข้ามไปเนื้อหา

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2519
สำนักงานใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เว็บไซต์emuseum.treasury.go.th
เชิงอรรถ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเงินตราไทย ปัจจุบันอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษา (อนุรักษ์ จัดเก็บ จัดทำทะเบียน) ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน อันได้แก่ เครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเงินตราไทย ฯลฯ ให้ปลอดภัยอยู่ในสภาพที่ดีตามหลักการอนุรักษ์ และนำออกจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ให้คนไทยได้รับรู้ และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกของชาติ รวมทั้งให้ชาวต่างชาติได้รู้จักศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ จัดตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08:30 - 16:00 น.

การจัดแสดง

[แก้]

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ จัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ได้แก่ เครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญกษาปณ์ และเงินตราโบราณ โดยแบ่งส่วนการจัดแสดงเป็น 2 ชั้น มีห้องจัดแสดงทรัพย์สิน 8 ห้อง ดังนี้

ห้องประวัติศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์

[แก้]

แสดงลำดับเรื่องราวความเป็นมาของการจัดตั้งศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ พร้อมทั้งจัดแสดงโต๊ะที่ทรงลงพระปรมาภิไธยและสมุดทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเปิดศาลาเหรียญกษาปณ์ไทยและศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2519 และปี พ.ศ. 2521

ห้องเครื่องราชอิสริยยศและต้นเค้าเครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

จัดแสดงทรัพย์สินประเภทเครื่องราชอิสริยยศหมวดต่างๆ อันได้แก่ เครื่องศิราภรณ์ เครื่องสิริมงคล เครื่องภูษณาภรณ์ เครื่องอุปโภค เครื่องศัสตราวุธ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงเกียรติยศ เครื่องประกอบเกียรติยศและบำเหน็จความชอบที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นมาแต่โบราณกาล เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่มีความดีความชอบต่อแผ่นดิน ตามชั้นยศและฐานันดรศักดิ์ของผู้ได้รับพระราชทานที่แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรงดงามของลวดลายเครื่องยศในแต่ละยุคสมัย และความคิดสร้างสรรค์ของฝีมือช่างโบราณ อาทิ พระประคำ 108 เม็ด พระดิ่งทองคำสายสร้อยทอง พระตะกรุดทองคำสายสร้อยทอง แหวนนพรัตน์ พระสังวาลทองคำประดับเพชร พระแสงดาบนาคสามเศียรทองคำลงยาประดับเพชร และพานพระศรีทองคำพร้อมเครื่อง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจัดแสดงต้นเค้าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มให้สร้างเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน แทนการพระราชทานเครื่องยศ อาทิ ไอราพตเครื่องต้นและองค์รองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดวงตราประจำตำแหน่งต่างๆ อันเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบของผู้ได้รับพระราชทาน

ห้องเครื่องราชอิสริยยศและพระราชพิธี

[แก้]

จัดแสดงทรัพย์สินที่ประกอบในพระราชพิธี ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีโสกันต์ โดยแสดงประวัติความเป็นมาของพระราชพิธี ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเครื่องราชอิสริยยศที่มีมาช้านาน ทรัพย์สินที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ ชฎาพระกลีบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร มีส่วนประกอบ คือ มีใบสนและกรรเจียก ส่วนยอดค่อนข้างแบนจำหลักเป็นกลีบ ปลายสะบัดไปข้างหลัง เป็นยอดเดี่ยวปลายมนช้อยขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2411 นอกจากนั้นยังมีทรัพย์สินอื่น ซึ่งล้วนแต่มีความหมายที่เป็นมงคลสำหรับใช้ในพระราชพิธี ได้แก่ จั่นหมากทองคำ จั่นมะพร้าวทองคำ แผ่นทองคำจำหลักเขียนรูปราชสีห์ ดอกพิกุล และดอกจำปาทองคำ และดอกจำปาเงิน

พระราชพิธีโสกันต์หรือการโกนจุก เป็นพระราชพิธีที่แสดงให้เห็นว่าพระโอรสและพระธิดา ได้ก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ตามโบราณราชประเพณี โดยพระโอรสจะโสกันต์เมื่อพระชนมายุ 11 – 13 พรรษา และพระธิดาโสกันต์ตั้งแต่พระชนมายุ 11 พรรษา ทรัพย์สินที่จัดแสดงในห้อง อาทิ ทับทรวงทองคำประดับอัญมณีสำหรับประดับพระอุระ พระเกี้ยวทองคำประดับเพชรสำหรับสวมมวยพระเกศา เป็นต้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระราชพิธีโสกันต์มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ห้องเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

[แก้]

ห้องเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือเครื่องทรงพระแก้วมรกต จัดแสดงชุดเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรชุดใหม่ 3 ฤดู (ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว) ที่กรมธนารักษ์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแทนเครื่องทรงชุดเดิม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยการจัดสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2539 - 2540 เครื่องทรงฤดูร้อนทำด้วยทองคำลงยา ประดับเพชรและมณีต่างๆ ยอดมงกุฎประดับเพชรเม็ดใหญ่ เครื่องทรงฤดูฝนทำด้วยทองคำ เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง จำหลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม และเครื่องทรงฤดูหนาวมีลักษณะเป็นผ้าทรงคลุม ทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาร้อยลวดเหมือนตาข่าย เครื่องทรงฯ ทั้ง 3 ชุด มีความงดงาม มีคุณค่า และหาชมได้ยากยิ่ง และยังได้นำต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ซึ่งใช้เป็นพุทธบูชาต่อองค์พระแก้วมรกต มาจัดแสดงให้ชมด้วย

เครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร


ห้องพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

[แก้]

จัดแสดงทรัพย์สินที่ใช้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ซึ่งเป็นพระราชประเพณีที่สืบต่อกันมา เมื่อพระราชโอรส พระราชธิดา หรือพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ประสูติและเจริญพระชนมายุ 1 เดือน โดยได้นำพระอู่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องประกอบที่ได้เคยใช้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าหลานเธอ และภาพพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยได้จัดฉายวีดิทัศน์พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประกอบการจัดแสดงเพื่อให้ผู้เข้าชม ได้เข้าใจเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น

ห้องเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ

[แก้]

จัดแสดงเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศนี้ ได้เคยโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีลักษณะพิเศษ คือ ลงยาสีชมพู ประกอบด้วย พระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม หีบพระศรีทองคำลงยาประดับเพชร พระสุพรรณศรีทองคำลงยา กาทองคำทรงกระบอก ขันน้ำเสวยทองคำลงยาพร้อมจอกทองคำลงยา ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาพร้อมพานรอง และที่ชาทองคำพร้อมถ้วยฝาหยก นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงภาพเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย

ห้องวิวัฒนาการเงินตราไทย

[แก้]

จัดแสดงเงินตราไทยในยุคสมัยต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นวิวัฒนาการผลิตและการใช้เงินตรา ที่ใช้ในสุวรรณภูมิจนถึงเหรียญกษาปณ์ในรัชกาลปัจจุบัน เงินตราที่จัดแสดง ได้แก่

- เงินตราที่ใช้ในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ เงินฟูนัน เงินทวารวดี และเงินนโม

- เงินพดด้วง เป็นเงินตราที่ใช้มายาวนานกว่า 600 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำด้วยโลหะเงิน มีสัณฐานกลม คล้ายตัวด้วง จึงเรียกกันว่า “เงินพดด้วง” จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วงทุกชนิดราคา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2447

- เงินตราร่วมสมัย เป็นเงินตราที่ผลิตขึ้นใช้ในสมัยเดียวกันกับที่ใช้ในอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่ เงินเจียงหรือเงินกำไล เงินผักชี เงินไซซี เงินดอกไม้ เงินท้อก ใช้ทางภาคเหนือของไทยหรืออาณาจักรล้านนา ส่วนเงินฮ้อย เงินฮาง เงินลาด เงินลาดฮ้อย ใช้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออาณาจักรล้านช้าง

- เหรียญบรรณาการ เป็นเหรียญกลมแบนรุ่นแรกที่ผลิตจากเครื่องผลิตเหรียญกษาปณ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

- เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำและเงินตรามหามงกุฎ-กรุงสยาม ราคา 4 บาท หนัก 60 กรัม หรือนิยมเรียกโดยทั่วไปว่า “เหรียญแต้เม้ง” เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

- เหรียญกษาปณ์เงินตราพระบรมรูป-ไอราพต ราคาหนึ่งบาท หรือ “เหรียญหนวด” ผลิตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่ได้นำออกใช้ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเป็นที่ระลึก ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ยังจัดแสดงเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึก ที่ผลิตในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เหรียญขัดเงา (Proof Coin) เหรียญขัดเงาที่มีความหนา 2 เท่า (Piedfort) เหรียญที่มีภาพ 3 มิติ (Hologram) และเหรียญกษาปณ์ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์สีลงบนโลหะเงินบริสุทธิ์ (Colored Coin) ฯลฯ

ห้องจัดนิทรรศการชั่วคราว

[แก้]

จัดนิทรรศการชั่วคราวในวาระโอกาสสำคัญๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

ของที่ระลึกเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์

[แก้]

นอกจากการจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแล้ว ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ยังมีของที่ระลึกประเภทผลิตภัณฑ์เหรียญจำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ระบบเทคโนโลยีเสมือนจริง

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2553 ทางพิพิธภัณฑ์ได้ริเริ่มดำเนินการนำระบบเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality Technologies) มาประยุกต์ใช้กับการจัดแสดงเพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับทรัพย์สิน ที่จัดแสดง และสามารถเข้าใจถึงเรื่องราวเกี่ยวกับทรัพย์สินจัดแสดงได้ง่ายขึ้นจากการนำเสนอผ่านสื่อผสมที่สามารถเห็นภาพเสมือนจริงของทรัพย์สินที่จัดแสดงได้รอบด้าน 360 องศา พร้อมทั้งมีการบอกเล่าข้อมูลโดยสังเขป นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเว็บไซต์ e-museum ด้วยเทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ซึ่งสามารถการเดิมชม (Walkthrough) ตามแผนผังและภาพจำลองของพิพิธภัณฑ์จริง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมการเผยแพร่ผลงานจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินได้จากทุกแห่งทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง ทางเว็บไซต์ เก็บถาวร 2024-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ปัจจุบันเว็บไซต์อยู่ระหว่างการแก้ไข)

อ้างอิง

[แก้]
  • หนังสือเครื่องอิสริยยศพระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
  • หนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535
  • หนังสือวิวัฒนาการเงินตราไทย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]