ข้ามไปเนื้อหา

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
Bureau of Grand National Treasure

อาคารสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2545
สำนักงานใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์เว็บไซต์สำนักทรัพย์สินฯ emuseum.treasury.go.th
เชิงอรรถ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน เป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกรมธนารักษ์ ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมธนารักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยแบ่งแยกออกมาจาก “สำนักบริหารเงินตรา” เนื่องจากลักษณะและภารกิจในความดูแลรับผิดชอบที่แตกต่างกัน โดยสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ การเก็บรักษา และจัดทำทะเบียนทรัพย์สิน การจัดแสดงและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน อาทิ เครื่องยศ ต้นเค้าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องในองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง หรือข้าราชการระดับสูง ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ตกทอดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งจำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญ เพื่อส่งเสริมการสะสมเงินตรา

ประวัติ

[แก้]

แต่เดิมภารกิจในการดูแลรักษาและจัดเก็บทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของ "กรมเก็บ" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพระคลังมหาสมบัติ" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการคัดแยก "ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน" ออกจาก "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และเก็บรักษาไว้ใน "กรมพระคลังมหาสมบัติ" ต่อจากนั้นได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง และกรม พ.ศ. 2476 โดยให้ยุบกรมพระคลังมหาสมบัติและจัดตั้งเป็น "กองคลังกลาง" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมคลัง" และในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมธนารักษ์" ในที่สุด

ด้วยเหตุที่การเก็บรักษาทรัพย์สินมีค่า ที่มีความสำคัญของแผ่นดินเป็นภารกิจหลักของกรมธนารักษ์ ในปี พ.ศ. 2519 นายสุนทร เสถียรไทย อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น จึงมีดำริให้ กองคลังกลางดำเนินการคัดเลือกทรัพย์สิน เพื่อนำออกจัดแสดงในทำนองเดียวกับการจัดรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นเพียงการจัดแสดงทรัพย์สินเฉพาะอย่าง ซึ่งใช้พื้นที่ไม่กว้างขวางใหญ่โตเท่าใดนัก หลังจากที่ได้ทำการแบ่งทรัพย์สินออกเป็นหมวดต่างๆ เห็นว่าควรนำเหรียญกษาปณ์ไทยและเงินตราโบราณออกจัดแสดง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง 'วิวัฒนาการเหรียญกษาปณ์ไทย' เป็นลำดับแรก โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ส่วนหนึ่งของอาคารสำนักงานพระคลังข้างที่ หลังศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่จัดแสดง และเรียกชื่อตามทรัพย์สินที่จัดแสดงว่า “ศาลาเหรียญกษาปณ์ไทย”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 กรมธนารักษ์ได้ขอขยายพื้นที่เพื่อนำ “เครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย” ออกจัดแสดง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงทำพิธีเปิดทั้งสองครั้ง เมื่อเดือนเมษายน 2519 และสิงหาคม 2521

ในปี พ.ศ. 2526 หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดแสดงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กองเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์” จนกระทั่งมีการรวม ‘กองคลังกลาง’ และ ‘กองเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์’ เข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้งเป็น “สำนักบริหารเงินตรา” ในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 กรมธนารักษ์ได้ปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการอีกครั้ง โดยได้จัดตั้ง “สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน” ขึ้นตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เพื่อดูแลรับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ตราบจนทุกวันนี้

โครงสร้างหน่วยงาน

[แก้]
โครงสร้างหน่วยงาน

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและรับผิดชอบของผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน แบ่งหน่วยงานในสังกัดในส่วนกลางออกเป็น 5 ส่วน และในส่วนภูมิภาค 2 ส่วน ดังนี้

หน่วยงานในส่วนกลาง

  1. ส่วนเก็บรักษาและอนุรักษ์ทรัพย์สิน มีหน้าที่ดูแล เก็บรักษา และซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพ หรือเสื่อมสภาพน้อยที่สุดตามหลักวิชาการอนุรักษ์
  2. ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน มีหน้าที่จัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและเหรียญกษาปณ์ไทย ทั้งภายในและต่างประเทศ
  3. ส่วนจัดการผลิตภัณฑ์ มีหน้าที่จัดหา จัดเก็บ และจำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญ
  4. ส่วนบริหารเงินทุน มีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีและงบการเงินของเงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย
  5. ส่วนอำนวยการ มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการปฏิบัติงาน และเป็นหน่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนต่างๆ
  6. ศาลาธนารักษ์ 1 จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่เผยแพร่และจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน จำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญ
  7. ศาลาธนารักษ์ 2 จังหวัดสงขลา มีหน้าที่จำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญ

ภารกิจหลัก

[แก้]

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน มีภารกิจหลักในการปฏิบัติงาน 3 ด้าน

การเก็บรักษาและอนุรักษ์ทรัพย์สิน

[แก้]
ทำความสะอาดก่อนทำการอนุรักษ์
ประกอบชิ้นส่วนที่หลุด แตกหัก ฉีกขาด

ด้วยการดูแล เก็บรักษา และอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน อาทิ เครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เงินตราโบราณ ดวงตราไปรษณียากรโบราณ เครื่องประดับ ฯลฯ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์ เพื่อหยุดยั้งหรือชะลอการเสื่อมสภาพของทรัพย์สิน และเพื่อให้ทรัพย์สินอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

การดูแลทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การอนุรักษ์ การจัดทำทะเบียน และการจัดเก็บ ที่ได้ดำเนินการเป็นโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทั้ง 3 กิจกรรม เป็นกรรมการที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และประเมินผลการดำเนินงาน ทำให้การดำเนินงานด้านการดูแล เก็บรักษา และอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินมีประสิทธิภาพ ก้าวหน้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

[แก้]
ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
ห้องจัดแสดงเครื่องราชอิสริยยศสมเด็จพระเทพฯ และห้องพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
งานบัตรใบเดียวเที่ยว 100 พิพิธภัณฑ์ ณ สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงเปิดงาน
งานพุทธบูชานิทรรศ ที่โรงเรียนพุทธบูชาเชิญเข้าร่วมจัดนิทรรศการ

ทรัพย์สินที่ได้รับการอนุรักษ์เรียบร้อยแล้ว จะถูกคัดเลือกนำออกจัดแสดงที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ในพระบรมมหาราชวัง และที่ศาลาธนารักษ์ 1 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนของชาติและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสชื่นชม ศึกษาหาความรู้ และร่วมภาคภูมิใจในทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ตลอดจนศิลปะด้านงานช่างฝีมือไทยโบราณที่ได้รังสรรค์ผลงานอย่างประณีต วิจิตรบรรจง งดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น

เพื่อให้การจัดแสดงทรัพย์สิน เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างทั่วถึง สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจึงได้จัดทำเว็บไซต์นำชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ e-Museum เก็บถาวร 2011-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าชมการจัดแสดงที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ ได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินยังเข้าร่วมงานนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

การจำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญ

[แก้]

จำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญ ที่กรมธนารักษ์จัดทำในวาระสำคัญเกี่ยวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อส่งเสริมการเก็บสะสม โดยมีหน่วยบริการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้

ส่วนกลาง

  • ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ในพระบรมมหาราชวัง
  • หน่วยจ่ายแลกเหรียญ กระทรวงการคลัง
  • อาคารสำนักบริหารเงินตรา ถนนจักรพงษ์

หน่วยงานในส่วนภูมิภาค

[แก้]

ศาลาธนารักษ์ 1 จังหวัดเชียงใหม่

[แก้]
ศาลาธนารักษ์ 1 จังหวัดเชียงใหม่

จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ประชาชนในส่วนภูมิภาค ได้มีโอกาสชื่นชมทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยได้จัดแสดงเหรียญกษาปณ์ยุคสมัยต่างๆ และเน้นการจัดแสดงเงินตราสมัยล้านนา รวมทั้งจัดแสดงเหรียญที่ระลึกและเครื่องราชอิสริยยศ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมออกไปสู่ภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีบริการจ่ายแลก รับคืนเหรียญกษาปณ์ และจำหน่ายเหรียญเพื่อการสะสม รวมทั้งการจัดนิทรรศการนอกสถานที่

ที่ทำการ “ศาลาธนารักษ์ 1” ตั้งอยู่เลขที่ 52 ถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดทำการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538

ศาลาธนารักษ์ 2 จังหวัดสงขลา

[แก้]
ศาลาธนารักษ์ 2 ตั้งอยู่ชั้น 1 บริเวณห้องสำนักงานคลังจังหวัด (เดิม)

จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาค โดยมีหน้าที่ในการให้บริการจ่ายแลก รับคืนเหรียญกษาปณ์ และการจำหน่ายเหรียญ เพื่อการสะสม

ศาลาธนารักษ์ 2 เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 โดยมีที่ทำการอยู่ในอาคารศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) บริเวณห้องสำนักงานคลังจังหวัด (เดิม) ตั้งอยู่ที่ ถนน ราชดำเนิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]