สาธร ยูนีค ทาวเวอร์
สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ที่ตั้ง | ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร |
สถานะ | ปิดถาวร |
ก่อสร้าง | พ.ศ. 2533 |
การใช้งาน | คอนโดมีเนียม |
ความสูง | |
ชั้นสูงสุด | 185 เมตร[1] |
รายละเอียด | |
จำนวนชั้น | 49 (รวมชั้นใต้ดินสองชั้น) |
มูลค่า | ราคาประเมินปัจจุบันราว 3,000 ล้านบาท[2] |
บริษัท | |
สถาปนิก | รังสรรค์ ต่อสุวรรณ |
ผู้พัฒนา | บริษัท สาธร ยูนีค จำกัด |
สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ (อังกฤษ: Sathorn Unique Tower) เป็นตึกระฟ้าร้างสูง 185 เมตร 49 ชั้น ตั้งอยู่ที่เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ได้รับการออกแบบโดย บริษัท รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานออกแบบเป็นเจ้าของโครงการด้วย ด้วยทำเลที่ตั้งที่ถือได้ว่าเป็นทำเลทอง เพราะติดแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนสาทร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ได้มีการวางแผนจะสร้างให้เป็นคอมเพล็กซ์คอนโดมิเนียมระดับหรู โดยให้ทุกห้องของอาคารสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำได้ทั้งหมด แต่การก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงักลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แม้จะเสร็จสิ้นไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม เหลือแต่เพียงการตกแต่งภายในทั้งหมดและภายนอกอีกเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้เอง สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ จึงกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ในอีกประการหนึ่ง
รูปแบบอาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ มีความคล้ายคลึงกับสเตท ทาวเวอร์ ซึ่งก่อสร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งที่ตั้งก็ตั้งไม่ห่างไกลกันมาก อาคารใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์นแบบคลาสสิก ทั้งช่องหน้าต่างโค้ง ซุ้มประตูโค้ง และชั้นบนสุดเป็นทรงโดม ที่เป็นอาคารเพนท์เฮาส์ที่มีราคาสูงที่สุดในโครงการ
ปัจจุบันอาคาร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ถือเป็นอาคารร้างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและแห่งหนึ่งของโลก เป็นตึกร้างที่สูงที่สุดในประเทศไทย และจากการจัดอันดับอาคารร้างระฟ้าสูงที่สุดในโลก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ปรากฏว่า สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ติดอยู่อันดับที่ 4 ของโลกอีกด้วย[3][4] ด้วยความเป็นที่เป็นอาคารสูงบนทำเลทองโดยรอบ จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่อันซีนยอดฮิตของนักท่องเที่ยวในอดีต ที่มีคนแอบขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนซึ่งสามารถดูบรรยากาศโดยรอบกรุงเทพมหานครได้รอบ 360 องศา แต่ในปัจจุบันทางเจ้าของโครงการได้ทำการปิดประตูอย่างเบ็ดเสร็จห้ามคนนอกขึ้นไปได้อีก
ประวัติ
[แก้]ได้มีการวางแผนให้สาธร ยูนีค เป็นคอนโดมิเนียมระดับหรูสูง 47 ชั้น รวม 600 ยูนิต ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกแบบอาคารสเตท ทาวเวอร์ ที่ถือเป็นอาคารน้องของสาธร ยูนีค โครงการก่อสร้างนั้นเริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. 2533 มีเจ้าของโครงการคือบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด และได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนมากจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยแมกซ์ การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นปีเดียวกัน โดยมีบริษัทสี่พระยา จำกัด เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง[5]
ในปีพ.ศ. 2536 ผศ.รังสรรค์ ได้ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันวางแผนลอบฆาตกรรมนายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากมือปืนถูกจับกุมได้ก่อน โดยในปีพ.ศ. 2551 ผศ.รังสรรค์ ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิด แต่สุดท้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้ทำการยกฟ้องในปีพ.ศ. 2553 คดีความดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรักษาเงินสนับสนุนโครงการของผศ.รังสรรค์เป็นอย่างมาก และการก่อสร้างอาคารสาธร ยูนีค ก็เผชิญกับปัญหาความล่าช้าหลายครั้งเนื่องจากขาดแคลนเงินทุน[6][7]
จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการล้มละลาย เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการซึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สิน โครงการก่อสร้างอาคารต่างๆในกรุงเทพมหานครต่างพากันหยุดชะงัก โดยมีอาคารหรูกว่า 300 แห่งที่ถูกทิ้งร้าง แต่อาคารส่วนมากได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว (อาคารสเตท ทาวเวอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในอาคารดังกล่าว) แต่อย่างไรก็ตาม อาคารสาธร ยูนีคกลับถูกทิ้งร้างไว้ในสภาพเดิมนับแต่นั้นจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชื่อของ "Ghost Tower" แม้ว่าจะมีความพยายามในเรื่องการตกลงในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์อยู่หลายครั้งโดยนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ บุตรชายของผศ.รังสรรค์ที่เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา[5][7][8] แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากนายพรรษิษฐ์ต้องการที่จะขายอาคารในราคาที่จะสามารถชดเชยเงินต้นให้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ[9]
ตัวอาคาร
[แก้]อาคารสาทร ยูนีค ทาวเวอร์ตั้งอยู่ในเขตสาทร ตัวอาคารใกล้กันกับถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ระหว่างซอย 51 กับ 53 เยื้องกับวัดยานนาวา โดยเป็นบริเวณที่ใกล้กับจุดสิ้นสุดถนนสาทรใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานตากสิน ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีทั้งหมด 49 ชั้น (รวมชั้นใต้ดินสองชั้น) มีพื้นที่รวม 2 ไร่ เชื่อมติดกับอาคารที่จอดรถสูงสิบชั้น ในการออกแบบนั้น ผศ.รังสรรค์เป็นที่รู้จักจากรูปแบบการออกแบบอาคารที่มักจะใช้ โดยอาคารแห่งนี้ได้เลือกใช้องค์ประกอบของความเป็นศิลปะกรีก-โรมันสมัยใหม่เหมือนกับตึกสเตท ทาวเวอร์ โดยเฉพาะในส่วนของเสาและระเบียง ก่อนที่การก่อสร้างทั้งหมดจะหยุดชะงักลง การก่อสร้างได้เสร็จสิ้นไปกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ตัวโครงสร้างหลักของอาคารที่เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยและได้รับการยืนยันในเรื่องความปลอดภัยแข็งแรงของโครงสร้างแล้ว อย่างไรก็ตาม งานออกแบบภายในและการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และงานส่วนกำแพงและรายละเอียดต่างๆเองก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นบนของอาคาร[10]
อาคารแห่งนี้ได้กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทาย และยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย แม้จะมีการปิดไม่ให้บุคคลใดเข้าถึงตัวอาคาร แต่ก็มีรายงานว่าผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปในตัวอาคารได้ด้วยการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใต้อาคาร และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 อาคารแห่งนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งหลังจากที่มีการพบศพชายชาวสวีเดนในสภาพแขวนคอ เสียชีวิตบนชั้นที่ 43 โดยสาเหตุการเสียชีวิตนั้นได้มีการยืนยันว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งทางสำนักข่าวหลายแห่งก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของอาคารแห่งนี้
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ซึ่งได้เข้ามาเป็นหนึ่งสมาชิกบอร์ดบริหารของบริษัทสาทร ยูนีค จำกัด ได้เปิดเผยว่าได้ทำการแจ้งความข้อหาบุกรุกอาคารสถานที่แก่บุคคลทั้งหมด 5 คน ที่ได้โพสต์รูปและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการเข้ามาในอาคารลงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติสองคนที่ได้ทำวิดีโอที่พวกเขาแสดงการวิ่งฟรีรันนิ่งบนตึกแห่งนี้[11][12] นายพรรษิษฐ์ได้กล่าว่าเขาต้องการให้การแจ้งความครั้งนี้เป็นตัวอย่างและหยุดยั้งคนที่จะเข้ามาปีนป่ายบนตึกที่มีความอันตราย เขาได้ระบุเพิ่มว่าจำนวนผู้เข้ามาในตัวอาคารอย่างผิดกฎหมายนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องอาคารแห่งนี้ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยในบางสัปดาห์นั้นมีผู้เข้าไปยังตัวอาคารมากกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งตนก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ยามรับสินบนจากผู้เข้าชมตึกได้เนื่องจากไม่สามารถเฝ้าตึกด้วยตัวเองตลอดทั้งวัน[13]
อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2560 นายพรรษิษฐ์ได้อนุญาตให้มิวเซียมสยามจัดการสัมมนาที่ตัวอาคาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการระลึก 20 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจ[14] นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ จีดีเอช (GDH) ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก อีกด้วย[15]
นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกชื่ออาคารแห่งนี้กันว่า "Ghost Tower" และเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทายและต้องการถ่ายภาพมุมสูง[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Sathorn Unique Tower". Emporis. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ ข่าวดังข้ามเวลา : Ghost Tower ระทึกตึกร้างในตำนาน [คลิปเต็มรายการ], สำนักข่าวไทย TNAMCOT .วันที่ 7 ม.ค. 2019
- ↑ The 8 Tallest Abandoned Skyscrapers in the World เก็บถาวร 2020-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Mark Hand, วันที่ 29 มีนาคม 2560
- ↑ The 8 Tallest Abandoned Skyscrapers in the World, Interesting Shit, วันที่ 5 เมษายน 2560
- ↑ 5.0 5.1 "ระบุสาธรยูนิคใกล้ได้ข้อสรุป เผยเจรจาหนี้เสร็จ-นักลงทุนสนซื้อเพียบ". Manager Online. 25 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-05. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ Waites, Dan (2014). CultureShock! Bangkok. Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. ISBN 9789814516938.
- ↑ 7.0 7.1 "รังสรรค์ 70 ปี ไม่มีวันสาย พ่อผม ยังฝันจะทำโครงการที่สูงที่สุดในประเทศ". Prachachat Turakij Online. No. 22 September 2010. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ Barta, Patrick (27 July 2007). "High-Rise Relics: Ghost Structures Haunt Bangkok". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ "เปิดใจเจ้าของตึกร้างระฟ้า 'สาธรยูนีค' อนุสรณ์ 20 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง". Thairath Online. 1 March 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-17. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
- ↑ "ตึกร้างพันล้าน สาธร ยูนีค EP.1 สร้างต่อ-รื้อทิ้ง!? ไขปมโอกาสพังถล่ม". Thairath Online. 10 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ Campbell-Dollaghan, Kelsey (13 February 2014). "Inside Bangkok's Abandoned, Half-Finished Ghost Tower". Gizmodo. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ Kang, Dake (1 March 2017). "Ghost Tower haunts Bangkok 20 years after financial crisis". AP. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
- ↑ "Man's death puts spotlight on access to 'ghost tower'". The Nation. 8 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-28. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
- ↑ "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! เสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540"". Museum Siam. National Discovery Museum Institute. 16 February 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
- ↑ ที่ระลึก ปี 40 (YouTube video). GDH 559. 1 August 2017. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
- ↑ "ตึกร้างพันล้าน สาธร ยูนีค EP.3 ไขรหัสปรับฮวงจุ้ย เสริมบารมี ฟื้นที่ดินทำเลทอง". Thairath Online. 12 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.