ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระเชษฐาธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเชษฐาธิราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2171 — 2172 (1 ปี 7 เดือน)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ถัดไปสมเด็จพระอาทิตยวงศ์
พระราชสมภพพ.ศ. 2155
สวรรคตพ.ศ. 2172 (18 พรรษา)
ราชวงศ์สุโขทัย
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
พระราชมารดาพระองค์อัมฤทธิ์[1]

สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (พ.ศ. 2171 – พ.ศ. 2172) เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และเป็นพระเชษฐาในพระพันปีศรีสินและสมเด็จพระอาทิตยวงศ์[2]

พระราชประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระเชษฐาธิราช มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเชษฐาธิราช พระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 2155 เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปลายปี พ.ศ. 2171 เหล่าขุนนางมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นประธานได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นสืบราชสมบัติ ขณะนั้นพระชนมายุได้ 15 พรรษา[3] แต่ 7 วันต่อมาพระพันปีศรีสินซึ่งกริ้วที่ขุนนางไม่ยกราชสมบัติให้ ได้ซ่องสุมพลที่เมืองเพชรบุรี สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงทราบจึงส่งทัพไปปราบ ได้ตัวพระพันปีศรีสินมา โปรดให้นำไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา ส่วนพรรคพวกให้ไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง[4]

4 เดือนต่อมา มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่กรรม (ในจดหมายเหตุวันวลิตระบุว่าเป็นน้องชายเจ้าพระยากลาโหมที่ถึงแก่กรรม) มีพิธีปลงศพ ณ วัดกุฎธาราม ข้าราชการใหญ่น้อยไปช่วยงานจำนวนมาก จนเมื่อสมเด็จพระเชษฐาฯ เสด็จขึ้นว่าราชการ กลับไม่มีขุนนางมาเข้าเฝ้าฯ อีกทั้งข้าหลวงเดิมและพระราชมารดาในสมเด็จพระเชษฐาธิราชเพ็ดทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมอาจคิดก่อกบฏ ก็ทรงเชื่อ โปรดให้ทหารตามป้อมขึ้นประจำที่ เตรียมทหารไว้เป็นกอง ๆ แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาดูมวย แต่เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีส่งข่าวไปแจ้งแผนการก่อน เจ้าพระยากลาโหมจึงบอกขุนนางว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" แล้วยกกองกำลังเข้ายึดพระราชวังได้

สมเด็จพระเชษฐาธิราชกับข้าหลวงเดิมลงเรือหนีไป[5]ที่วัดบางพลีมะขามหย่อง[6] เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำออกติดตามในคืนนั้นจนตามจับได้ที่ป่าโมกน้อย แล้วให้นำไปสำเร็จโทษ[7] พร้อมกับพระราชมารดา[8] ในปี พ.ศ. 2173 อยู่ในราชสมบัติได้ราว 1 ปี 7 เดือน

พงศาวลี

[แก้]


อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (พ.ศ. 2507). จดหมายเหตุวันวลิต. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 264
  3. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 137
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 265
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 267
  6. จดหมายเหตุวัน วลิต
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 268
  8. จดหมายเหตุวัน วลิต
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระเชษฐาธิราช ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
พ.ศ. 2153 - 2171

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุโขทัย)

(พ.ศ. 2171 - 2172)
สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
พ.ศ. 2172