ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
ครองราชย์26 มิถุนายน 1483– 22 สิงหาคม 1485
(2 ปี 57 วัน)
ราชาภิเษก6 กรกฎาคม 1483
ก่อนหน้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5
ถัดไปพระเจ้าเฮนรีที่ 7
พระราชสมภพ2 ตุลาคม ค.ศ. 1452(1452-10-02)
ปราสาทฟอเธอริงเฮย์, นอร์แทมป์ตันเชอร์
สวรรคต22 สิงหาคม ค.ศ. 1485(1485-08-22) (32 ปี)
บอสเวิร์ธฟิลด์, เลสเตอร์เชอร์
ฝังพระบรมศพมหาวิหารเลสเตอร์ (ตั้งแต่ 2015)
ชายาแอนน์ เนวิลล์
พระราชบุตรเอ็ดเวิร์ดแห่งมิลเดิลแฮม
จอห์นแห่งโกลเชสเตอร์ (นอกกฎหมาย)
แคเธอรีน (นอกกฎหมาย)
ราชวงศ์ยอร์ก
พระราชบิดาริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกแห่งยอร์ก
พระราชมารดาเซซิลี เนวิลล์
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (2 ตุลาคม ค.ศ. 1452 – 22 สิงหาคม ค.ศ. 1485) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1483 จนพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1485 ในยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ยอร์กและราชวงศ์แพลนแทเจเนต ความปราชัยของพระองค์ที่บอสเวิร์ธฟีลด์ อันเป็นยุทธการชี้ขาดครั้งสุดท้ายของสงครามดอกกุหลาบเป็นจุดสิ้นสุดของยุคกลางในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นตัวละครของเรื่องละครบันเทิงคดีประวัติศาสตร์ ริชาร์ดที่ 3 โดย วิลเลียม เชกสเปียร์

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระเชษฐา เสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน ค.ศ. 1483 พระเจ้าริชาร์ดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้อารักขาราชอาณาจักรแด่พระราชโอรสและผู้สืบมรดกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 วัย 12 พรรษา เมื่อยุวกษัตริย์เสด็จจากลัดโลว์ (Ludlow) ไปกรุงลอนดอน ริชาร์ดพบและนำพระองค์ไปที่พักแรมในหอคอยลอนดอน ที่ซึ่งพระเชษฐาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ริชาร์ดแห่งชูลส์บรีเข้าร่วมด้วยในอีกไม่นานให้หลัง มีการจัดเตรียมพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1483 แต่ก่อนยุวกษัตริย์จะทันได้สวมมงกุฎ มีการประกาศให้การเสกสมรสระหว่างพระราชชนกกับพระราชชนนี เอลิซาเบธ วูดวิลล์ เป็นโมฆะ ทำให้บุตรของทั้งสองมิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ ในวันที่ 25 มิถุนายน สมัชชาขุนนางและสามัญชนสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้ วันรุ่งขึ้น พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เริ่มทรงราชย์ และพระองค์ทรงได้รับสวมมงกุฎ ไม่พบยุวกษัตริย์ในที่สาธารณะอีกหลังเดือนสิงหาคม และมีการกล่าวหาแพร่สะพัดว่ายุวกษัตริย์ถูกฆ่าตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าริชาร์ด นำไปสู่ตำนานเจ้าในหอคอย (Princes in the Tower)

มีการกบฏใหญ่สองครั้งต่อพระเจ้าริชาร์ด ครั้งแรกใน ค.ศ. 1483 นำโดยพันธมิตรสายโลหิตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4[1] และโดยอดีตพันธมิตรของพระเจ้าริชาร์ด เฮนรี สตัฟฟอร์ด ดยุกที่ 2 แห่งบักกิงแฮม การก่อการกำเริบนี้ล่มสลาย และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1485 เฮนรี ทิวดอร์ เอิร์ลที่ 2 และลุง แจสเปอร์ ทิวดอร์ ดยุกที่ 1 แห่งเบดฟอร์ด นำการกบฏอีกหนหนึ่งของพระเจ้าริชาร์ด เฮนรี ทิวดอร์นำทหารฝรั่งเศสกองเล็ก ๆ ขึ้นบกทางใต้ของเวลส์แล้วเดินทัพผ่านบ้านเกิด เพมบรุกเชียร์ แล้วเกณฑ์ทหารเพิ่ม กำลังของเฮนรีโรมรันกับกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดและพิชิตได้ที่ยุทธการที่บอสเวิร์ธฟีลด์ในเลสเตอร์เชอร์ พระเจ้าริชาร์ดถูกปลงพระชนม์ในสมรภูมิ ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์สุดท้ายที่เสด็จสวรรคตในการยุทธ์บนแผ่นดินเกิด และเป็นพระองค์แรกนับแต่พระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 ซึ่งถูกปลงพระชนม์ที่ยุทธการที่เฮสติ้งส์เมื่อ ค.ศ. 1066

พระบรมศพถูกฝังโดยปราศจากพิธี[2] เชื่อว่าสุสานดั้งเดิมถูกทำลายระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และพระบรมศพยังสาบสูญอีกกว่าห้าศตวรรษ[3] ใน ค.ศ. 2012 มีการขุดโบราณคดีบนที่จอดรถสภานครแห่งหนึ่งโดยใช้เรดาร์ทะลุพื้นดินบนแหล่งขุดอันเคยเป็นที่ตั้งของเกรย์ไฟรอาส์ (Greyfriars) เลสเตอร์ มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ยืนยันเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ว่า โครงกระดูกที่พบในการขุดเป็นโครงกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3[4] โดยอาศัยผลการหาอายุด้วยคาร์บอนรังสี การเทียบกับรายงานลักษณะภายนอกของพระองค์ร่วมสมัย และการเทียบกับดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียกับผู้สืบสันดานฝ่ายมารดาสองคนของแอนน์แห่งยอร์ก พระเชษฐภคินีองค์โตสุด[5][6][7] พระบรมศพถูกฝังในมหาวิหารเลสเตอร์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2015[8]

เบื้องต้น

[แก้]

พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เสด็จพระราชสมภพที่ปราสาทโฟเธอริงเฮย์เป็นบุตรคนสุดท้องและองค์ที่สี่ที่รอดชีวิตมาจนโตของริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 3 แห่งยอร์ก (ผู้อ้างสิทธิในบัลลังก์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 6) และเซซิลี เนวิลล์ ดัชเชสแห่งยอร์ก ริชาร์ดใช้เวลาเมื่อยังทรงพระเยาว์ส่วนใหญ่ที่ปราสาทมิดเดิลแฮมที่เวนสลีย์เดลภายใต้การให้การศึกษาของริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก ผู้ที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ว่า “ผู้สร้างกษัตริย์” (The Kingmaker) เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อแนวทางการเป็นไปของสงครามดอกกุหลาบมาก

เมื่อพระบิดาและพระเชษฐา (เอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัทแลนด์) สิ้นพระชนม์และพระเชษฐาขึ้นครองราชย์เป็นที่ยุทธการที่เวกฟิลด์ ริชาร์ดซึ่งยังทรงพระเยาว์ถูกนำตัวไปอยู่ในการดูและของเอิร์ลแห่งวอริก ขณะที่ริชาร์ดอยู่ที่วอริคทรงเป็นสหายกับฟรานซิส โลเวลล์ ไวเคานต์โลเวลล์ที่ 1 ซึ่งทรงสนิทสนมด้วยตลอดพระชนม์ชีพ แอนน์ เนวิลล์เป็นอีกผู้หนึ่งที่พำนักที่วอริกผู้ที่ต่อมาอภิเษกสมรสกับริชาร์ด

รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4

[แก้]

ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระเชษฐา ริชาร์ดทรงแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์และความสามารถทางการทหารในฐานะนายทัพจนทรงได้รับพระราชทานดินแดนผืนใหญ่ทางเหนือของอังกฤษและทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งกลอสเตอร์และผู้ครองภาคเหนือ (Governor of the North) ริชาร์ดกลายเป็นเจ้านายผู้มีฐานะมั่งคั่งและอิทธิพลมากที่สุดรองจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ต่างจากพระเชษฐาองค์อื่นที่มีอันเป็นไป จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์ ที่ถูกสำเร็จโทษโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพราะเป็นกบฏ

ริชาร์ดทรงปกครองทางเหนือของอังกฤษจนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จสวรรคต ในปี ค.ศ. 1482 ริชาร์ดยึดเบอร์วิก-อัปพอน-ทวีดกลับจากสกอตแลนด์ และการปกครองในบริเวณที่ยึดครองของพระองค์ถือว่าเป็นไปโดยยุติธรรมโดยการทรงสร้างมหาวิทยาลัยและทรงบริจาคเงินแก่คริสต

ขึ้นครองราชย์

[แก้]

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1483 พระราชโอรสของพระองค์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษาโดยมีริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์ก พระอนุชาพระชนมายุ 9 พรรษาเป็นรัชทายาท ริชาร์ดทรงสั่งจับแอนโทนี วูดวิลล์ เอิร์ลที่ 2 แห่งริเวิร์ส ผู้ดูแลพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 (พระเชษฐาของพระนางเซซิลี เนวิลล์ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4) และที่ปรึกษาประจำพระองค์อีกหลายคนและนำไปกักขังที่ปราสาทพอนทีแฟรก ต่อมาก็ทรงสำเร็จโทษโดยทรงกล่าวหาว่าร่วมกันวางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ต่อมาก็ทรงย้ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระอนุชาไปประทับที่หอคอยแห่งลอนดอน

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1483 ก็มีการอ่านแถลงการณ์หน้ามหาวิหารเซนต์พอลซึ่งเป็นการประกาศเป็นครั้งแรกของริชาร์ดว่าทรงยึดราชบัลลังก์ด้วยเหตุผลที่ว่าการอภิเษกสมรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งทำให้พระราชโอรสของพระองค์ไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ และผู้ที่มีสิทธิถูกต้องในราชบัลลังก์จึงเป็นริชาร์ด แถลงการณ์สนับสนุนโดยพระราชบัญญัติที่ผ่านรัฐสภาตามหลักฐานการกล่าวอ้างของบิชอปราล์ฟ ชา ผู้ให้การว่าเป็นผู้ทำการสมรสระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 กับเลดีเอลินอร์ ทาลบอทผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาสมรสกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์ผู้ต่อมาเป็นพระราชินีเอลิซาเบธ วูดวิลล์

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1483 ริชาร์ดก็ได้รับราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระอนุชาหายสาบสูญไปโดยไม่มีร่องรอย (จนปัจจุบัน) เป็นที่เชื่อกันว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 สังหารพระราชนัดดา แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยังขัดแย้งกันอยู่เรื่องการเสียชีวิตของทั้งสองพระองค์และเหตุผลที่ที่ริชาร์ดขึ้นครองราชสมบัติ (เจ้าชายในหอคอยแห่งลอนดอน (Princes in the Tower))

การสวรรคตที่บอสเวิร์ธ

[แก้]

เมื่อวันที่ 22 สิหาคม ค.ศ. 1485 พระเจ้าริชาร์ดทรงเผชิญกับกองทัพแลงคัสเตอร์ของเฮนรี ทิวดอร์ที่ทุ่งบอสเวิร์ธ ระหว่างการต่อสู้ริชาร์ด วิลเลียม สแตนลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งดาร์บี เซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ และ เฮ็นรี เพอร์ซีย์ เอิร์ลที่ 4 แห่งนอธัมเบอร์แลนด์ ละทิ้งพระเจ้าริชาร์ดไปเข้าข้างเฮนรี ทิวดอร์ การเปลี่ยนข้างนี้ทำให้กองกำลังของพระเจ้าริชาร์ดอ่อนแอลงซึ่งอาจจะมีส่วนในการทำให้พระองค์ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด กล่าวกันว่าพระเจ้าริชาร์ดทรงต่อสู้อย่างกล้าหาญ ทรงสังหารผู้ถือธงของเฮนรีตกจากหลังม้าและเกือบจะเข้าถึงตัวเฮนรีเองแต่ทรงถูกล้อมและถูกปลงพระชนม์เสียก่อน

พระบรมศพที่เปลือยเปล่าถูกลากไปประจานตามถนนก่อนที่ถูกปลงที่โบสถ์เกรย์ไฟรอารส์ที่เลสเตอร์ ตามคำอ้างหนึ่งกล่าวว่าระหว่างการยุบอาราม พระบรมศพของพระองค์ถูกโยนลงไปในแม่น้ำซอร์ แต่หลักฐานอื่นกล่าวว่าอาจจะไม่เป็นจริงและพระบรมศพของพระองค์อาจจะยังอยู่ภายใต้ลานจอดรถที่เลสเตอร์ก็ได้ ในปัจจุบันมีป้ายติดเป็นอนุสรณ์ตรงมหาวิหารที่เชื่อกันว่าครั้งหนึ่งอาจจะเป็นที่ที่ปลงพระบรมศพของพระเจ้าริชาร์ด

อีกทฤษฏีหนึ่งก็ว่าพระเจ้าริชาร์ดทรงปรึกษาหมอดูที่เมืองเลสเตอร์ก่อนที่เข้าทำศึก หมอดูก็ทำนายว่า “ที่ใดที่เดือยฉลองพระบาทหักเมื่อทรงม้าไปสงคราม ที่นั่นก็จะเป็นที่ที่พระเศียรหักเมื่อเสด็จกลับ” เมื่อทรงขี่ม้าไปศึกเดือยฉลองพระบาทก็หักที่สะพานหินที่สะพานโบว์ ตำนานกล่าวว่าเมื่อนำพระบรมศพของพระองค์ประทับพาดหลังม้ากลับจากศึก พระเศียรของพระองค์ก็สะดุดกับหินก้อนเดียวกับที่ทำให้เดือยหักหลุดลงมา[9]

เฮนรี ทิวดอร์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และทรงสมานสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ยอร์กโดยการเสกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์กพระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ซึ่งเป็นการทำให้สงครามดอกกุหลาบสิ้นสุดลง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ross, Charles (1981). Richard III. Eyre Methuen. p. 105
  2. Ashdown-Hill, The Last Days of Richard III, p. 94 citing Polydore Vergil's "Historia Regum Angliae"
  3. Baldwin, David (1986). "King Richard's Grave in Leicester" (PDF). Leicester Archaeological and Historical Society. สืบค้นเมื่อ 15 January 2014.
  4. "Richard III DNA results announced – Leicester University reveals identity of human remains found in car park". Leicester Mercury. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2013. สืบค้นเมื่อ 4 February 2013.
  5. Kennedy, Maev (4 February 2013). "Richard III: DNA confirms twisted bones belong to king". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 7 December 2014.
  6. "Richard III dig: DNA confirms bones are king". BBC News. 4 February 2013. สืบค้นเมื่อ 4 February 2013.
  7. Fricker, Martin (5 February 2013). "Edinburgh-based writer reveals how her intuition led archaeologists to remains of King Richard III". Daily Record and Sunday Mail. สืบค้นเมื่อ 5 February 2013.
  8. http://www.bbc.com/news/uk-england-leicestershire-32052800
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-25. สืบค้นเมื่อ 2008-03-30.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ถัดไป
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5
กษัตริย์แห่งอังกฤษ
(ราชวงศ์ยอร์ก)
สาขาหนึ่งของราชวงศ์แพลนแทเจเนต

(ค.ศ. 1483ค.ศ. 1485)
พระเจ้าเฮนรีที่ 7