ข้ามไปเนื้อหา

สงครามดอกกุหลาบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามดอกกุหลาบ

ฉากจากจินตนาการในเท็มเพิลการ์เด็นโดยเฮนรี เพย์น ค.ศ. 1908 ในบทละคร “พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ตอน 1” ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ฝ่ายสนับสนุนเลือกดอกกุหลาบขาวและดอกกุหลาบแดง
วันที่22 พฤษภาคม ค.ศ. 145516 มิถุนายน ค.ศ. 1487
(32 ปี 3 สัปดาห์ 4 วัน)
สถานที่
อังกฤษ เวลส์ และกาแล (ฝรั่งเศส)
ผล

ตอนแรกฝ่ายยอร์กชนะ

ตอนท้ายฝ่ายแลงคัสเตอร์ชนะ

คู่สงคราม
ราชวงศ์แลงคัสเตอร์
ราชวงศ์ทิวดอร์
สนับสนุนโดย:
ราชอาณาจักรสกอตแลนด์
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส

ราชวงศ์ยอร์ก

สนับสนุนโดย:
รัฐเบอร์กันดี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

เฮนรีที่ 6 Surrendered โทษประหารชีวิต
เฮนรีที่ 7
มาร์กาเรตแห่งอ็องฌู Surrendered#
ดยุกแห่งบักกิงแฮม 
เอิร์ลแห่งโชร์บรี 
บารอนออดเลย์ 
ดยุกแห่งซัมเมอร์เซต โทษประหารชีวิต
ดยุคแห่งเอ็กซิเตอร์#
เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ 
บารอนคลิฟฟอร์ด 
บารอนเนวิล 
แอนดรูว์ โทรลโลป 
โอเวน ทิวเดอร์ โทษประหารชีวิต
เอิร์ลแห่งเพมโบรค
เอิร์ลแห่งวิลท์เชอร์ โทษประหารชีวิต
บารอนรอส โทษประหารชีวิต
เอิร์ลแห่งวอริก 
มาร์ควิสแห่งมอนทากิว 
เอิร์ลแห่งออกซฟอร์ด
เจ้าชายแห่งเวลส์ 
เอิร์ลแห่งเดวอน 
ทอมัส เนวิลล์ โทษประหารชีวิต
ดยุคแห่งซัมเมอร์เซ็ท 


โรบินแห่งเรดส์เดล 
บารอนวิลโลบีย์ โทษประหารชีวิต
เอ็ดเวิร์ดที่ 4#
ริชาร์ดที่ 3 
ดยุกแห่งยอร์ก 
เอิร์ลแห่งซอลส์บรี โทษประหารชีวิต
เอิร์ลแห่งวอริก [4]
เอิร์ลแห่งเคนต์#
โทมัส เนวิล 
มาร์ควิสแห่งมอนทากิว [4]
เอิร์ลแห่งรัตลันด์ 
ดยุคแห่งนอร์โฟล์ค#
บารอนเฮสติงส์ โทษประหารชีวิต
ดยุกแห่งแคลเรนซ์ โทษประหารชีวิต
ดยุคแห่งนอร์โฟล์ค 
เอิร์ลแห่งลินคอล์น 
วิสเคานต์โลเวลล์
ที่ตั้งสำคัญในสงครามดอกกุหลาบ

สงครามดอกกุหลาบ (อังกฤษ: Wars of the Roses) เป็นชุดสงครามราชวงศ์ที่ผู้สนับสนุนราชวงศ์แพลนแทเจเนตสองสายที่เป็นคู่แข่งชิงราชบัลลังก์อังกฤษกัน ได้แก่ ราชวงศ์แลงแคสเตอร์และราชวงศ์ยอร์ก (ซึ่งสัญลักษณ์ตราประจำตระกูล คือ ดอกกุหลาบสีแดงและสีขาวตามลำดับ) ทั้งสองฝ่ายรบกันเป็นช่วงห่าง ๆ กันระหว่างปี ค.ศ. 1455 ถึง 1485 แม้จะมีการสู้รบที่เกี่ยวข้องอีกทั้งก่อนหน้าและหลังช่วงนี้ สงครามดังกล่าวเป็นผลจากปัญหาทางสังคมและการเงินหลังสงครามร้อยปี ชัยชนะบั้นปลายเป็นของผู้เรียกร้องเชื้อสายแลงแคสเตอร์ค่อนข้างห่าง เฮนรี ทิวดอร์ ผู้กำราบพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ยอร์ก และอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เพื่อรวมสองราชวงศ์ หลังจากนั้น ราชวงศ์ทิวดอร์ปกครองอังกฤษและเวลส์เป็นเวลา 117 ปี

เฮนรีแห่งโบลิงโบรกทรงก่อตั้งราชวงศ์แลงแคสเตอร์ขณะทรงราชย์ในปี ค.ศ. 1399 เมื่อทรงถอดพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พระภราดร (ลูกพี่ลูกน้อง) จากราชสมบัติ พระราชโอรส พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ยังทรงรักษาการอยู่ในราชสมบัติของตระกูลไว้ได้ แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1422 พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทายาทของพระองค์ เป็นทารก การอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของราชวงศ์แลงแคสเตอร์สืบมาจากจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระราชโอรสที่ยังมีพระชนมชีพพระองค์ที่สามในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 สิทธิในราชบัลลังก์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ถูกริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์คคัดค้าน ผู้สามารถอ้างว่าสืบเชื้อสายจากไลโอเนลแห่งแอนต์เวิร์ป และเอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งยอร์กพระราชโอรสที่ยังมียังมีพระชนมชีพพระองค์ที่สองและสี่ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ริชาร์ดแห่งยอร์ค ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐหลายตำแหน่ง ทะเลาะกับราชวงศ์แลงแคสเตอร์สำคัญ ๆ ในราชสำนักและกับมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู พระมเหสีในพระเจ้าเฮนรีที่ 6

แม้เคยเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างผู้สนับสนุนราชวงศ์ยอร์กและแลงแคสเตอร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่การสู้รบเปิดเผยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1455 ที่ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 ราชวงศ์แลงแคสเตอร์คนที่โดดเด่นหลายคนเสียชีวิต แต่ทายาทที่เหลือยังพยาบาทกับริชาร์ด แม้จะมีการฟื้นฟูสันติภาพชั่วคราว มาร์กาเรตแห่งอ็องฌู ดลให้ราชวงศ์แลงแคสเตอร์คัดค้านอิทธิพลของเอิร์ลแห่งยอร์ค การสู้รบดำเนินต่ออย่างรุนแรงขึ้นในปี ค.ศ. 1459 เอิร์ลแห่งยอร์คและผู้สนับสนุนของพระองค์ถูกบีบให้หนีออกนอกประเทศ แต่ผู้สนับสนุนที่โดดเด่นที่สุดของพระองค์คนหนึ่ง เอิร์ลแห่งวอริก บุกครองอังกฤษจากกาเลและสามารถจับพระเจ้าเฮนรีเป็นเชลยได้ที่ยุทธการที่นอร์แธมป์ตัน เอิร์ลแห่งยอร์คเสด็จกลับประเทศและเป็นผู้พิทักษ์อังกฤษ (Protector of England) แต่ทรงถูกปรามมิให้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ มาร์กาเร็ตและอภิชนแลงแคสเตอร์ผู้ไม่ยอมปรองดองประชุมกำลังทางเหนือของอังกฤษ และเมื่อเอิร์ลแห่งยอร์คเคลื่อนทัพขึ้นเหนือไปปราบ พระองค์กับเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสพระองค์ที่สอง ถูกปลงพระชนม์ทั้งคู่ที่ยุทธการเวคฟีลด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1460 กองทัพแลงแคสเตอร์รุกลงใต้และจับพระเจ้าเฮนรีเป็นเชลยได้อีกในยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 2 แต่ไม่สามารถยึดครองกรุงลอนดอนไว้ได้ และถอยกลับไปทางเหนือในเวลาต่อมา พระราชโอรสองค์โตของเอิร์ลแห่งยอร์ค เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช ได้รับการประกาศเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระองค์ระดมกองทัพราชวงศ์ยอร์คและได้ชัยเด็ดขาดที่ยุทธการที่โทว์ทันเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1461

หลังการลุกขึ้นต่อต้านของแลงแคสเตอร์ทางเหนือถูกกำราบในปี ค.ศ. 1464 และพระเจ้าเฮนรีถูกจับเป็นเชลยอีกครั้ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทะเลาะกับเอิร์ลแห่งวอริก สมญา "ผู้สร้างกษัตริย์" (Kingmaker) ผู้สนับสนุนและที่ปรึกษาหลักของพระองค์ และยังแตกแยกกับพระสหายหลายคน และกระทั่งพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทรงสนับสนุนตระกูลของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ วูดวิลล์ซึ่งมีอำนาจขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งพระองค์ทรงอภิเษกสมรสด้วยอย่างลับ ๆ ทีแรก เอิร์ลแห่งวอริกพยายามยกน้องชาย จอร์จ ดยุกแห่งแคลเรนซ์ เป็นพระมหากษัตริย์ แล้วจึงฟื้นฟูพระเจ้าเฮนรีที่ 6 กลับสู่ราชสมบัติ จากนั้นสองปี พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ทรงได้รับชัยชนะสมบูรณ์อีกครั้งที่บาร์เนต (เมษายน ค.ศ. 1471) ที่ซึ่งเอิร์ลแห่งวอริกถูกสังหาร และทูกสบรี (พฤษภาคม ค.ศ. 1471) ที่ซึ่งเอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์ ทายาทแลงแคสเตอร์ ถูกประหารชีวิตหลังยุทธการ พระเจ้าเฮนรีถูกปลงพระชนม์ในหอคอยลอนดอนหลายวันจากนั้น ยุติลำดับการสืบราชสันตติวงศ์โดยตรงของแลงแคสเตอร์

จากนั้น บ้านเมืองค่อนข้างสงบอยู่พักหนึ่ง จนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตกะทันหันในปี ค.ศ. 1483 ริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ พระอนุชาที่ยังมีพระชนมชีพของพระองค์ ทีแรกเคลื่อนไหวเพื่อกันมิให้ตระกูลวูดวิลล์ที่ไม่เป็นที่นิยมของพระมเหสีหม้ายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเข้าร่วมในรัฐบาลระหว่างที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ยังทรงพระเยาว์ จึงยึดราชบัลลังก์เป็นของตน โดยอ้างว่า การสมรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เฮนรี ทิวดอร์ พระญาติห่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์แลงแคสเตอร์ผู้รับสืบทอดการอ้างสิทธิ์มาด้วย ชนะพระเจ้าริชาร์ดที่บอสเวิร์ธฟิลด์ในปี ค.ศ. 1485 พระองค์ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เพื่อรวมและประสานราชวงศ์ทั้งสอง

ชื่อและสัญลักษณ์

[แก้]

ชื่อ "สงครามดอกกุหลาบ" เชื่อกันว่ามิได้เป็นชื่อที่ใช้กันในระหว่างสงครามแต่ที่มาของชื่อมาจากตราประจำพระราชวงศ์ทั้งสอง กุหลาบแดงแห่งแลงแคสเตอร์ และ กุหลาบขาวแห่งยอร์ค สงครามดอกกุหลาบเป็นชื่อที่มานิยมเรียกกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากการพิมพ์หนังสือชื่อ "แอนน์แห่งไกเออร์สไตน์" (Anne of Geierstein) โดยเซอร์วอลเตอร์ สกอตต์ สกอตต์ใช้ชื่อที่มาจากบทละครเรื่อง "พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ตอนที่ 1" โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ซึ่งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเลือกดอกกุหลาบสีต่างกันที่วัดเทมเพิล

แม้ว่าดอกกุหลาบจะใช้บ้างบางครั้งระหว่างสงคราม แต่ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่แล้วจะติดตราของเจ้าของที่ดินผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นทางการที่เจ้าของที่ดินสัญญาว่าจะปกป้องคุ้มครองผู้ที่ทำมาหากินในที่ดินโดยการให้ใช้ตราและสัญลักษณ์ การขยายตัวของระบบนึ้ทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์เสื่อมลงและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามขึ้น ตัวอย่างของการใช้สัญลักษณ์ก็ได้แก่กองกำลังของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ที่บอสเวิร์ธที่ใช้ธงมังกรแดง และกองกำลังยอร์คที่ใช้สัญลักษณ์หมีขาว ความสำคัญของดอกกุหลาบมาเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 7 หลังจากยุติสงครามแล้วทรงรวมดอกกุหลาบแดงและขาวเป็นดอกกุหลาบแดงขาวดอกเดียวที่เรียกว่า “กุหลาบทิวดอร์

นอกจากนั้นแล้วชื่อของทั้งสองราชวงศ์ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับเมืองยอร์กและเมืองแลงแคสเตอร์ หรือเทศมณฑลยอร์กเชอร์และแลงคาเชอร์แม้ว่าการแข่งขันคริกเกตหรือรักบีระหว่างสองเทศมณฑลนี้จะใช้คำว่า "สงครามดอกกุหลาบ" ก็ตาม อันที่จริงแล้วอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับดัชชีแลงแคสเตอร์ส่วนใหญ่อยู่ในกลอสเตอร์เชอร์ นอร์ธเวลส์ และเชสเชอร์ ขณะที่อสังหาริมทรัพย์และปราสาทของดัชชียอร์กตั้งอยู่ทั่วไปในอังกฤษแม้ว่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคชายแดนเวลส์ระหว่างเวลส์และอังกฤษ

กองทัพและผู้ร่วมต่อสู้

[แก้]
พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 (ราวปี ค.ศ. 1390)

สงครามเป็นการต่อสู้ระหว่างขุนนางหรือชนชั้นเจ้านาย ทหารผู้อยู่ในอารักขา และทหารรับจ้างจากต่างประเทศ ผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับราชวงศ์เช่นอาจจะเป็นญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเสกสมรสระหว่างขุนนางกับราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งผู้ไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจ และ การมอบหรือการยึดตำแหน่งขุนนางและที่ดิน

ระบบอำนาจขุนนางที่เรียกว่า "livery and maintenance" เป็นระบบอย่างไม่เป็นทางการ ที่หมายความว่าขุนนางเป็นผู้มีอำนาจผู้ต้องให้การอารักขาให้แก่ผู้ติดตามเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเป็นฝ่ายเดียวกันและการมีสิทธิที่จะใช้ตราของขุนนางเอง (“livery”) และเป็นผู้มีอำนาจในการมีกองทัพที่ต้องจ่ายเงินบำรุงรักษา ("maintenance") ระบบที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ลิดรอนอำนาจของพระมหากษัตริย์ลง อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์เสื่อมลงคือระบบที่เรียกว่าระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (bastard feudalism) โดยนักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมาซึ่งก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าเป็นคำที่เหมาะสมหรือไม่ การมอบอำนาจให้แก้ผู้จงรักภักดีจากขุนนางเป็นเรื่องปกติแต่มิใช่เป็นการมอบที่เป็นไปตามระบบโครงสร้างเดียวกัน แต่เป็นการให้อำนาจต่อกันตามความพอใจของแต่ละบุคคลที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย

เมื่อพิจารณาถึงความจงรักภักดีทางสายเลือด การสมรส และความทะเยอทะยานในการแสวงหาอำนาจแล้วก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าจะมีผู้เปลี่ยนข้างกันไปมากันอย่างเป็นเรื่องปกติ และการแพ้การชนะกันในยุทธการก็ขึ้นอยู่กับการทรยศ

กองทหารก็เป็นผู้ถืออาวุธของขุนนางที่ประกอบด้วยนายขมังธนูและทหารราบ บางครั้งก็จะมีทหารรับจ้างจากต่างประเทศเข้าร่วมพร้อมกับปืนใหญ่และปืนพก การใช้ทหารม้าเป็นไปอย่างจำกัดเช่นในการใช้ลาดตระเวน การต่อสู้ส่วนใหญ่ก็เป็นการต่อสู้ตัวต่อตัวของทหารราบ บางครั้งขุนนางก็อาจจะลงจากหลังม้าลงมาเข้าร่วมต่อสู้กับไพร่พล เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นการกำจัดข่าวลือที่ว่าผู้มีตำแหน่งสูงเมื่อเพลี่ยงพล้ำอาจจะถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ขณะที่ทหารธรรมดาไม่มีค่าตัวแต่อย่างใดก็จะถูกสังหาร

ความขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิในราชบัลลังก์

[แก้]
พระเจ้าเฮนรีที่ 4
พระเจ้าเฮนรีที่ 5

ความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์แลงแคสเตอร์และราชวงศ์ยอร์กเริ่มขึ้นเมื่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ถูกโค่นราชบัลลังก์โดยเฮนรี โบลลิงโบรก ดยุกแห่งแลงแคสเตอร์ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกันในปี ค.ศ. 1399 ก่อนหน้านั้นรัฐบาลของพระเจ้าริชาร์ดก็ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนและขุนนางอยู่แล้ว ความตั้งใจแรกของเฮนรี โบลลิงโบรกเมื่อเดินทางกลับมาจากการลี้ภัยก็เพื่อที่จะมาอ้างสิทธิในการเป็นดยุกแห่งแลงแคสเตอร์ของตนเอง แต่เมื่อมาถึงโบลลิงโบรคก็ได้รับการสนับสนุนจากขุนนางส่วนใหญ่ให้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง โบลลิงโบรกจึงทำการโค่นราชบัลลังก์และราชาภิเษกเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4

ถ้าว่ากันตามลำดับการสืบสันตติวงศ์กันแล้วในฐานะที่เป็นลูกของจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ (พระราชโอรสพระองค์ที่สามในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ) โบลลิงโบรคก็แทบจะไม่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ ตามธรรมเนียมแล้วราชบัลลังก์ควรจะผ่านไปทางผู้สืบสายที่เป็นชายของไลโอเนลแห่งแอนต์เวิร์ป ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และตามความเป็นจริงแล้วพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 เองผู้ไม่มีพระราชโอรสธิดาก็ได้ทรงประกาศให้โรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลที่ 4 แห่งมาร์ช หลานของไลโอเนลแห่งแอนต์เวิร์ปเป็น “รัชทายาท” แต่โรเจอร์ มอร์ติเมอร์มาเสียชีวิตเสียก่อนในปีก่อนหน้านั้น ฉะนั้นเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลที่ 5 แห่งมาร์ช บุตรของโรเจอร์ก็ควรจะมีสิทธิต่อจากบิดา แต่ก็ไม่มีขุนนางผู้ใดที่สนับสนุนการอ้างสิทธิของเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์

เมื่อยึดราชบัลลังก์ได้แล้ว เพียงสองสามปีหลังจากนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ก็ต้องเผชิญกับการปฏิวัติต่อต้านหลายครั้งในเวลส์ เชสเตอร์ และนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่ก่อการปฏิวัติต่างก็ใช้ข้ออ้างของสิทธิในการครองราชบัลลังก์ของเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์เป็นเครื่องบังหน้า โบลลิงโบรคสามารถปราบปรามผู้แข็งข้อกลุ่มต่าง ๆ ได้แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

พระเจ้าเฮนรีที่ 4 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1413 พระราชโอรสพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อมา พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ทรงเป็นนักการทหารผู้มีความสามารถและทรงได้รับความสำเร็จในยุทธการในสงครามร้อยปีในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลทำให้เป็นกษัตริย์ที่เป็นที่นิยมและช่วยในการสร้างความมั่นคงของราชวงศ์แลงคาสเตอร์ในการครองราชบัลลังก์อังกฤษ

ระหว่างรัชสมัยอันสั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ก็ทรงประสบการคิดร้ายต่อพระองค์ครั้งหนึ่งในการคบคิดเซาท์แธมตัน (Southampton Plot) ที่นำโดยริชาร์ดแห่งโคนิสเบิร์ก เอิร์ลแห่งเคมบริดจ์ที่ 3 (Richard of Conisburgh, 3rd Earl of Cambridge) บุตรชายของเอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งยอร์ก พระราชโอรสองค์ที่ 5 ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แต่การคบคิดไม่ประสบความสำเร็จ เอิร์ลแห่งเคมบริดจ์ถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1415 ในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ที่นำไปสู่ยุทธการอาแฌงคูร์ต (Battle of Agincourt) ภรรยาของเอิร์ลแห่งเคมบริดจ์แอนน์ เดอ มอร์ติเมอร์ ก็มีสิทธิในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เพราะเป็นลูกสาวของโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 4 ซึ่งเท่ากับสืบเชื้อสายมาจากไลโอเนลแห่งอันท์เวิร์พ เอ็ดมันด์พี่ของแอนน์เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อเฮนรีเสียชีวิตโดยไม่มีบุตรฉะนั้นสิทธิของเอ็ดมันด์จึงผ่านต่อมายังแอนน์

ริชาร์ด ลูกของเอิร์ลแห่งเคมบริดจ์และแอนน์ เดอ มอร์ติเมอร์เพิ่งมีอายุได้ 4 ปีเมื่อบิดาถูกประหารชีวิต ตำแหน่งดยุกแห่งยอร์กจึงตกมาเป็นของริชาร์ดจากพี่ชายคนโตของเอิร์ลแห่งเคมบริดจ์เอ็ดเวิร์ดแห่งนอริช ดยุกที่ 2 แห่งยอร์ก (Edward of Norwich, 2nd Duke of York) ผู้เสียชีวิตในการต่อสู้เคียงข้างกับพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ในยุทธการที่อาแซ็งกูร์ แม้ว่าทรัพย์สินของเอิร์ลแห่งเคมบริดจ์จะถูกริบ แต่ต่อมาพระเจ้าเฮนรีพระราชทานพระราชานุญาตให้ริชาร์ดได้รับบรรดาศักดิ์และพระราชทานดินแดนที่เป็นของลุงที่เสียชีวิตไปโดยไม่มีบุตร พระเจ้าเฮนรีผู้มีพระอนุชาสามพระองค์และทรงเป็นผู้มีพระสุขภาพพลานามัยดีไม่มีเหตุผลใดใดที่จะต้องทรงวิตกถึงความมั่นคงของราชวงศ์แลงคาสเตอร์ในการครองราชบัลลังก์ แต่หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์แล้วพระราชโอรสองค์เดียวที่มีก็เป็นผู้นำผู้ไม่มีประสิทธิภาพ และพระอนุชาก็ไม่มีบุตรธิดาที่มีสิทธิซึ่งทำให้เหลือแต่ลูกพี่ลูกน้องห่าง ๆ ของตระกูลโบฟอร์ทที่อาจจะเป็นรัชทายาทได้ ฉะนั้นการอ้างสิทธิของริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ และในที่สุดราชบัลลังก์ก็เปลี่ยนมือไปเป็นของราชวงศ์ยอร์ก

พระเจ้าเฮนรีที่ 6

[แก้]
พระเจ้าเฮนรีที่ 6
พระนางมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 5 เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1422 พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษพระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์ต่อมายังคงมีพระชนมายุได้เพียง 9 เดือน หลังจากการเสียชีวิตของจอห์นแห่งแลงแคสเตอร์ ดยุกที่ 1 แห่งเบดฟอร์ด พระปิตุลา ในปี ค.ศ. 1435 แล้วพระองค์ก็ทรงมีแต่ผู้สำเร็จราชการและที่ปรึกษาประจำพระองค์ที่ไม่เป็นที่นิยม นอกจากพระปิตุลาทางพระราชบิดาฮัมฟรีย์ ดยุกแห่งกลอสเตอร์ (Humphrey, Duke of Gloucester) แล้วบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่เอ็ดมันด์ โบฟอร์ต ดยุกที่ 1 แห่งซัมเมอร์เซ็ท และวิลเลียม เดอ ลา โพล ดยุกที่ 1 แห่งซัฟโฟล์ก ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีสมรรถภาพในการบริหารรัฐบาล และในการบริหารการทำสงครามร้อยปีกับฝรั่งเศส ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ดินแดนเกือบทั้งหมดของอังกฤษในฝรั่งเศสรวมทั้งดินแดนที่ได้มาจากการได้รับชัยชนะในการสงครามของพระราชบิดาก็สูญเสียกลับไปให้กับฝรั่งเศส

ในที่สุดดยุกแห่งซัฟโฟล์กก็สามารถกำจัดฮัมฟรีย์ ดยุกแห่งกลอสเตอร์สำเร็จโดยการจับในข้อหากบฏ ฮัมฟรีย์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1447 ขณะที่รอการพิจารณาคดีในศาล แต่เมื่อสถานะการณ์ในฝรั่งเศสผันผวนไปดยุกแห่งซัฟโฟล์คก็ถูกปลดจากตำแหน่งและถูกฆาตกรรมระหว่างที่พยายามหนีไปหลบภัย ดยุกแห่งซัมเมอร์เซตขึ้นมามีอำนาจแทนในฐานะผู้นำผู้พยายามหาความสันติกับฝรั่งเศส แต่ดยุกแห่งยอร์กผู้ได้รับหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาทหารแห่งฝรั่งเศส (Lieutenant in France) ต่อจากดยุกแห่งเบดฟอร์ดผู้เป็นผู้นำฝ่ายที่ต้องการทำสงครามกับฝรั่งเศสต่อไปวิพากษ์วิจารณ์ราชสำนักและโดยเฉพาะดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทว่าจำกัดเงินทุนและกำลังคนระหว่างที่พยายามต่อสู้อยู่ในฝรั่งเศส

พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แทบจะไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยความคิดเห็นทั่วไปแล้วเป็นพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแอไม่มีสมรรถภาพ นอกจากนั้นก็ยังมีพระอาการเสียพระสติเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นอาการที่เป็นกรรมพันธุ์มาจากพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระอัยกาเมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1450 ก็เป็นที่ตกลงกันว่าไม่ทรงมีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นพระพระมหากษัตริย์ได้อีกต่อไป

ในปี ค.ศ. 1450 ก็เกิดการปฏิวัติในเค้นท์ที่เรียกว่าการปฏิวัติของแจ็ก เคด (Jack Cade) ข้อร้องทุกข์ของผู้ปฏิวัติคือการถูกขูดรีดจากข้าราชสำนักบางคนของรัฐบาลและความไม่มีประสิทธิภาพของราชสำนักในการปกป้องสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าในระดับใด ผู้ปฏิวัติเข้ามายึดบางส่วนของลอนดอนแต่ถูกประชาชนลอนดอนขับไล่ออกไปเพราะเที่ยวมาปล้นขโมย ฝ่ายก่อการสลายตัวไปหลังจากได้รับคำสัญญาว่าจะไม่ถูกลงโทษรวมทั้งเคด แต่เคดถูกประหารชีวิตต่อมา[5]

สองปีต่อมาริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กกลับอังกฤษจากที่ไปเป็นผู้บังคับบัญชาทหารแห่งไอร์แลนด์ (Lieutenant of Ireland) และได้นำกำลังมายังลอนดอนเพื่อเรียกร้องให้ปลดดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทและให้มีการปฏิรูปรัฐบาล ในช่วงนี้มีขุนนางเพียงไม่กี่คนที่สนับสนุนนโยบายที่รุนแรงเช่นว่า ดยุกแห่งยอร์คต้องยอมต่อกองทัพที่มีพลานุภาพเหนือกว่าที่แบล็คฮีธ หลังจากนั้นก็ถูกจับไปคุมขังระหว่างปี ค.ศ. 1452 ถึงปี ค.ศ. 1453[6] แต่ถูกปล่อยตัวหลังจากที่สาบานว่าจะไม่ยกอาวุธต่อต้านฝ่ายราชสำนักอีก

ความขัดแย้งในราชสำนักก็เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในประเทศที่ตระกูลขุนนางต่างก็เกิดความขัดแย้งกันเป็นการส่วนตัวและไม่ยอมรับอำนาจจากทางราชสำนักและอำนาจทางศาลมากขึ้นทุกขณะ กรณีที่มีชื่อเสียงคือความบาดหมางระหว่างเพอร์ซีย์และเนวิลล์ ในหลายกรณีเป็นการต่อสู้ระหว่างขุนนางเก่ากับขุนนางใหม่ที่เพิ่งได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นและอิทธิพลขึ้นมาในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ความบาดหมางระหว่างเพอร์ซีย์และเนวิลล์ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างตระกูลเพอร์ซีย์หรือเอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ซึ่งเป็นตระกูลเก่ากับตระกูลเนวิลล์ที่เพิ่งรุ่งเรืองขึ้นมาก็เป็นความขัดแย้งเช่นที่ว่านี้ อีกกรณีหนึ่งก็คือความขัดแย้งระหว่างตระกูลคอร์เทเนย์สและตระกูลบอนวิลล์สในคอร์นวอลล์และเดวอนเชอร์ ปัจจัยหนึ่งของปัญหานี้คือบรรดาทหารจำนวนมากที่กลับมาหลังจากการพ่ายแพ้ในฝรั่งเศส ขุนนางที่มีปัญหาความขัดแย้งก็ใช้ทหารเหล่านี้ในการโจมตี หรือใช้ในการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามหรือเข้าไปข่มขู่เจ้าหน้าที่หรือผู้พิพากษาในศาล

ความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายขุนนางต่าง ๆ ที่มีกองกำลังส่วนตัว และความฉ้อโกงของราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 เป็นผลให้เกิดความคุกรุ่นที่พร้อมที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เมื่อมีพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแออำนาจจึงตกไปอยู่ในมือของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ในกรณีนี้คือในมือของดยุกแห่งซัมเมอร์เซตและฝ่ายแลงแคสเตอร์ ริชาร์ดและฝ่ายยอร์คที่อยู่ไกลจากอำนาจก็พบว่าอำนาจร่อยหรอลงไปทุกวัน เช่นเดียวกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่อำนาจฝ่ายแลงคาสเตอร์เพิ่มมากขึ้นเมื่อพระเจ้าเฮนรีพระราชทางดินแดนต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายแลงคาสเตอร์

ในปี ค.ศ. 1453 พระเจ้าเฮนรีทรงเสียพระสติอีก ครั้งนี้รุนแรงขนาดที่ไม่ทรงรู้จักเอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์พระราชโอรสของพระองค์เอง สภาผู้สำเร็จราชการที่ได้รับการก่อตั้งนำโดยดยุกแห่งยอร์คผู้เป็นที่นิยมในฐานะเจ้าผู้พิทักษ์ ดยุกแห่งยอร์คจึงเริ่มใช้อำนาจมากขึ้น โดยการสั่งจับดยุกแห่งซัมเมอร์เซตและสนับสนุนตระกูลเนวิลล์ที่รวมทั้งน้องเขยริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 5 แห่งซอลสบรีและลูกชายริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก ในการดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อเฮนรี เพอร์ซีย์ เอิร์ลที่ 2 แห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ผู้สนับสนุนพระเจ้าเฮนรีต่อไป

พระเจ้าเฮนรีทรงหายจากการเสียพระสติในปี ค.ศ. 1455 และกลับไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใกล้ชิดกับพระองค์ในราชสำนัก โดยการนำของพระนางมาร์กาเร็ตแห่งอองชู ผู้กลายเป็นผู้นำฝ่ายแลงแคสเตอร์โดยปริยาย ริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กก็ถูกบังคับให้ออกจากราชสำนัก พระนางมาร์กาเร็ตทรงสร้างพันธมิตรขึ้นเพื่อต่อต้านและลดอำนาจของริชาร์ด ความขัดแย้งในที่สุดก็นำไปสู่สงครามในปี ค.ศ. 1455

ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 และการปรองดอง

[แก้]
หอระฆังของโบสถ์เซนต์ออลบันส์ (คริสต์ศตวรรษที่ 15)

ดยุกแห่งยอร์กทรงนำกองกำลังย่อยไปยังลอนดอนและไปประจันหน้ากับกองทัพของพระเจ้าเฮนรีที่หมู่บ้านเซนต์อัลบันทางตอนเหนือของลอนดอนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1455 ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใหญ่นักเป็นการเปิดฉากสงครามกลางเมือง จุดประสงค์ของริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์คก็เพื่อกำจัด “ที่ปรึกษาผู้ไร้สมรรถภาพ” ของพระเจ้าเฮนรี ผลของยุทธการฝ่ายแลงคาสเตอร์ของพระเจ้าเฮนรีได้รับความพ่ายแพ้ ผู้นำฝ่ายแลงคาสเตอร์คนสำคัญหลายคนที่รวมทั้งดยุกแห่งซัมเมอร์เซตและเอิร์ลแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์เสียชีวิตในสนามรบ เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงแล้วฝ่ายยอร์กก็พบพระเจ้าเฮนรีประทับซึมอยู่พระองค์เดียวในเตนต์ขณะที่ข้าราชสำนักและมหาดเล็กต่างก็ละทิ้งพระองค์ เพราะมีพระอาการเสียพระสติอีกครั้ง (และทรงได้รับความบาดเจ็บจากธนูเล็กน้อยที่พระศอ)[7] ฝ่ายยอร์กและพันธมิตรจึงเป็นฝ่ายที่มีอำนาจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อโค่นอำนาจของพระเจ้าเฮนรีได้แล้วยอร์กก็ตั้งตนเป็น “ผู้อารักขา” (Protector) พระนางมาร์กาเรตแห่งอ็องฌูทรงถูกกีดกันให้เป็นดูแลพระเจ้าเฮนรี

ในระยะแรกทั้งสองฝ่ายต่างก็ตกตะลึงต่อการมีการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจริง ๆ และต่างฝ่ายต่างก็พยายามหาทางปรองดองกัน แต่ในที่สุดสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดปัญหาก็หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ระหว่างดยุกแห่งยอร์คและพระเจ้าเฮนรีและเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรี มาร์กาเร็ตไม่ทรงยอมรับข้อตกลงใด ๆ ที่จะเป็นการยกเลิกสิทธิของเอ็ดเวิร์ดจากราชบัลลังก์ และเป็นที่เห็นชัดได้ว่าจะไม่ทรงยอมตราบใดที่ดยุกแห่งยอร์กและฝักฝ่ายของพระองค์ยังคงมีอำนาจทางทหารอยู่

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1456 พระเจ้าเฮนรีก็มีพระอาการดีขึ้นและทรงสามารถกลับมาทำหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งทำให้ดยุกแห่งยอร์กไม่ต้องมีหน้าที่เป็น “ผู้อารักขา” อีกต่อไป[8] ในฤดูใบไม้ร่วงในปีเดียวกันพระเจ้าเฮนรีก็เสด็จประพาสบริเวณมิดแลนด์ซึ่งเป็นบริเวณที่พระองค์ทรงเป็นที่นิยม มาร์กาเร็ตไม่ทรงยอมให้พระเจ้าเฮนรีเสด็จกลับลอนดอนที่พ่อค้าในเมืองต่างก็มีความไม่พึงพอใจต่อความเสื่อมโทรมทางการค้าและบ้านเมืองที่ขาดระบบ พระองค์จึงทรงตั้งราชสำนักขึ้นที่โคเวนทรี ขณะนั้นดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทก็กลายมาเป็นคนโปรด ขณะเดียวกันมาร์กาเร็ตก็ทรงหว่านล้อมให้เฮนรีปลดข้าราชสำนักต่าง ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อดยุกแห่งยอร์กเป็น “ผู้อารักขา” ออก ขณะที่ดยุกถูกเรียกตัวให้กลับไปเป็นข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์

ความระส่ำระสายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็รวมทั้งความวุ่นวายในเมืองหลวง การต่อสู้ทางตอนเหนือของอังกฤษระหว่างตระกูลเนวิลล์และตระกูลเพอร์ซีย์ที่เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[9]) นอกจากนั้นทางด้านใต้ของประเทศการถูกโจมตีโดยโจรสลัดก็เพิ่มมากขึ้น แต่พระเจ้าเฮนรีและพระนางมาร์กาเร็ตก็มัวแต่ทรงพะวงกับการรักษาตำแหน่งของพระองค์ โดยมาร์กาเร็ตทรงเริ่มใช้การเกณฑ์ทหารขึ้นเป็นครั้งแรกในอังกฤษ ขณะที่พันธมิตรของฝ่ายยอร์คเอิร์ลแห่งวอริก หรือที่ต่อมารู้จักกันในนามว่า “ผู้สร้างกษัตริย์” ก็เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในกรุงลอนดอนในฐานะผู้สนับสนุนผลประโยชน์ของพ่อค้า

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1458 ทอมัส บูเชียร์อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีพยายามหาทางให้ทั้งสองฝ่ายหันกลับมาปรองดองกัน ขุนนางต่าง ๆ ก็เดินทางมายังลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาครั้งใหญ่ อาร์ชบิชอปเจรจาข้อตกลงอันซับซ้อนเพื่อพยายามเลี่ยงการนองเลือดเช่นที่เกิดขึ้นในยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 หลังจากที่การประชุมจบลง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1458 พระเจ้าเฮนรีก็เสด็จนำขบวนไปยังมหาวิหารเซนต์พอลตามด้วยขุนนางทั้งฝ่ายแลงแคสเตอร์และยอร์กประสานมือกัน[9] แต่ทันทีที่จบการเดินทั้งสองฝ่ายก็แยกกันวางแผนหาทางกำจัดอำนาจของกันและกันอีก

การต่อสู้ระหว่าง ค.ศ. 1459-ค.ศ. 1460

[แก้]
ปราสาทลัดโลว์, เซาธ์ชร็อพเชอร์

หลังจากดยุกแห่งยอร์กกลับมาจากไอร์แลนด์โดยไม่ได้รับการอนุญาตแล้วการต่อสู้ก็ดำเนินต่อไป ดยุกแห่งยอร์คเรียกตระกูลเนวิลล์ให้มาสมทบที่ที่มั่นที่ปราสาทลัดโลว์ ในยุทธการที่บลอร์ฮีธในสตัฟฟอร์ดเชอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1459 ฝ่ายแลงแคสเตอร์ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 5 แห่งซอลสบรี จากการเดินทัพไปยังปราสาทมิดเดิลแลมในยอร์กเชอร์เพื่อไปยังสมทบกันที่ลัดโลว์ได้ หลังจากนั้นกองกำลังของฝ่ายยอร์กที่ได้รับกำลังหนุนก็เผชิญหน้ากับกองทัพฝ่ายแลงแคสเตอร์ที่ใหญ่ขึ้นในยุทธการที่ลัดฟอร์ดบริดจ์ กองกำลังของวอริกจากกาเลภายใต้การนำของแอนดรูว์ ทรอลล็อปเปลี่ยนข้างไปเข้ากับฝ่ายแลงแคสเตอร์ ฝ่ายผู้นำของยอร์กจึงจำต้องหนีร่น ดยุกแห่งยอร์กกลับไปไอร์แลนด์ และเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช (ลูกชายคนโตของดยุกแห่งยอร์ค) เอิร์ลแห่งซอลสบรี และเอิร์ลแห่งวอริคหนีไปคาเลส์

หลังจากนั้นฝ่ายฝ่ายแลงแคสเตอร์ก็กลับมามีอำนาจ ฝ่ายยอร์คและผู้สนับสนุนถูกประกาศว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน การที่จะได้ตำแหน่ง ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์คืนมาก็ด้วยการรุกรานเท่านั้น ดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทถูกส่งไปเป็นข้าหลวงแห่งคาเลส์ ซัมเมอร์เซ็ทพยายามขับไล่เอิร์ลแห่งวอริคออกจากคาเลส์แต่ก็ไม่สำเร็จ ฝ่ายยอร์คกล้าถึงกับเริ่มส่งเรือมารุกรานอังกฤษจากคาเลส์ ที่ทำให้บ้านเมืองยิ่งระส่ำระสายมากขึ้น วอริคเดินทางไปไอร์แลนด์เพื่อไปร่วมวางแผนกับดยุกแห่งยอร์คโดยเลี่ยงเรือหลวงที่พยายามกีดกันที่นำโดยเฮนรี ฮอลแลนด์ ดยุกแห่งเอ็กซิเตอร์ที่ 3 (Henry Holland, 3rd Duke of Exeter) ได้อย่างง่ายดาย[10]

ในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1460 วอริก ซอลสบรี และ เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ชก็ข้ามช่องแคบอย่างรวดเร็วมาตั้งที่มั่นอยู่ที่เค้นท์และลอนดอนและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการสนับสนุนจากผู้แทนของสันตะปาปา จากนั้นฝ่ายวอริคก็เดินทัพขึ้นเหนือ พระเจ้าเฮนรีก็ทรงนำทัพลงมาทางใต้เพื่อที่จะมาต่อต้านฝ่ายยอร์ก ขณะที่มาร์กาเรตยังคงประทับอยู่ทางเหนือกับพระราชโอรส ในยุทธการที่นอร์แธมป์ตันเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ฝ่ายยอร์กที่นำโดยวอริคก็มีชัยต่อฝ่ายแลงคาสเตอร์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่ทรยศต่อพระเจ้าเฮนรี พระองค์ทรงถูกทิ้งไว้ให้ฝ่ายยอร์คจับตัวไปได้อีกครั้งหนึ่งและนำตัวเดินทางกลับไปยังลอนดอน

พระราชบัญญัติสอดคล้อง

[แก้]

เมื่อได้รับชัยชนะแล้วริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์ค ก็เพิ่มความกดดันในการอ้างสิทธิในการเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชบัลลังก์อังกฤษโดยอ้างว่าฝ่ายแลงคาสเตอร์ครองบัลลังก์โดยไม่ชอบธรรม หลังจากการขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของเวลส์ริชาร์ดและภรรยาซิซิลี เนวิลล์ก็เข้ากรุงลอนดอนในพิธีที่ใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น รัฐสภาถูกเรียกประชุม เมื่อเข้ามาในที่ประชุมดยุกแห่งยอร์กก็เดินรี่ไปยังที่ตั้งบัลลังก์ซึ่งคงหวังว่าขุนนางในที่ประชุมจะสนับสนุนให้นั่งดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ในปี ค.ศ. 1399 แต่แทนที่จะทำเช่นนั้นขุนนางต่างก็เงียบงันไปทั้งสภา ริชาร์ดจึงประกาศอ้างสิทธิ ซึ่งทำให้ขุนนางแม้แต่วอริกและซอลสบรีต่างตกตลึงกับการอนุมานสิทธิของริชาร์ด ขณะนั้นจุดประสงค์ของกลุ่มผู้ปฏิวัติก็เพียงเพื่อที่กำจัดที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระเจ้าเฮนรีเท่านั้นมิใช่เพื่อเป็นการโค่นราชบัลลังก์

วันต่อมาริชาร์ดก็นำผังการสืบสายเลือดของตนเองมาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่กล่าวว่าตนเองเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากไลโอเนลแห่งอันท์เวิร์พซึ่งก็ทำให้สมาชิกบางคนก็อ่อนใจลงบ้าง รัฐสภาจึงตกลงออกเสียงตัดสินว่าสิทธิของริชาร์ดเหนือกว่าพระเจ้าเฮนรีหรือไม่ เสียงสนันสนุนส่วนใหญ่ที่มากกว่าเพียงห้าเสียงก็อนุมัติให้พระเจ้าเฮนรียังคงครองราชบัลลังก์ต่อไป ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1460 รัฐสภาก็ออกพระราชบัญญัติสอดคล้อง (Act of Accord) ซึ่งพระราชบัญญัติในการประนีประนอมที่แต่งตั้งให้ดยุกแห่งยอร์คเป็นทายาทในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเฮนรี และยกเลิกสิทธิในการเป็นรัชทายาทของเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีผู้ขณะนั้นมีพระชนมายุหกพรรษา ริชาร์ดยอมรับข้อตกลง ซึ่งเป็นการได้รับเกือบทุกอย่างที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ผู้พิทักษ์อาณาจักร” และมีอำนาจการปกครองในนามของพระเจ้าเฮนรี

ฝ่ายแลงแคสเตอร์หันกลับมาโจมตี

[แก้]
ซากปราสาทแซนดัลใกล้เวคฟิลด์ในเวสต์ยอร์คเชอร์
พระอาทิตย์ทรงกลดยามพลบค่ำ

พระนางมาร์กาเรตเสด็จหนีขึ้นไปทางตอนเหนือของเวลส์ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในมือของฝ่ายแลงแคสเตอร์ขณะที่ขุนนางฝ่ายแลงแคสเตอร์ไปรวมกองกำลังกันทางเหนือของอังกฤษ ทางดยุกแห่งยอร์กก็ออกจากลอนดอนในปลายปีนั้นพร้อมกับเอิร์ลแห่งซอลสบรีเพื่อไปปราบปรามฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่ไปรวมกำลังกันและตั้งที่มั่นกันอยู่ที่ยอร์ก ดยุกแห่งยอร์กตั้งหลักรับอยู่ที่ปราสาทแซนดัลไม่ไกลจากเวคฟิลด์ระหว่างคริสต์มัสปี ค.ศ. 1460 เมื่อมาถึงวันที่ 30 ธันวาคมกองทหารฝ่ายยอร์คก็ออกจากเวคฟิลด์ไปโจมตีฝ่ายแลงคาสเตอร์ ฝ่ายยอร์คมีกองกำลังที่น้อยกว่ามากซึ่งเป็นผลให้ได้รับความพ่ายแพ้ในยุทธการที่เวกฟิลด์ ดยุกแห่งยอร์คเสียชีวิตในสนามรบ เอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัแลนด์ลูกชายของยอร์กอายุ 17 ปีและเอิร์ลแห่งซอลสบรีถูกจับตัวได้และถูกสังหาร พระนางมาร์กาเรตมีพระราชเสาวณีย์ให้นำหัวของทั้งสามคนไปเสียบประจานไว้หน้าประตูเมืองยอร์ก

ขณะเดียวกันพระนางมาร์กาเรตก็เสด็จขึ้นไปยังสกอตแลนด์เพื่อไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากสกอตแลนด์ แมรีแห่งเกลเดรอส์ พระมเหสีในพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ทรงตกลงมอบกองกำลังให้แต่มีข้อแม้ว่าฝ่ายอังกฤษต้องคืนเบริก-อะพอน-ทวีดให้กับสกอตแลนด์ และต้องจัดการหมั้นหมายเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกับพระธิดาของพระองค์ พระนางมาร์กาเรตทรงยอมตกลงตามข้อเสนอแม้ว่าจะไม่ทรงมีทุนทรัพย์ในการเลี้ยงกองทัพที่ได้มา แต่ทรงสัญญาทรัพย์สินที่จะได้จากการโจมตีผู้มีฐานะมั่งคั่งในดินแดนอังกฤษ ตราบใดที่ทหารสัญญาว่าจะไม่ทำการปล้นจากแม้น้ำเทร้นท์ลงไป

พระราชบัญญัติสอดคล้องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ยุทธการที่เวกฟิลด์ทิ้งให้เอ็ดเวิร์ดเอิร์ลแห่งมาร์ชบุตรคนโตอายุ 18 ปีของยอร์กกลายเป็นดยุกแห่งยอร์กคนต่อมา และเป็นทายาทในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อ เอ็ดเวิร์ดรวบรวมกองกำลังของผู้สนับสนุนในบริเวณชายแดนระหว่างอังกฤษและเวลส์ เมื่อปะทะกันในยุทธการมอร์ติเมอร์ครอสในแฮรฟอร์ดเชอร์ เอ็ดเวิร์ดก็ได้รับชัยชนะต่อกองทัพของฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่นำโดยแจสเปอร์ ทิวดอร์ที่มาจากเวลส์ เอ็ดเวิร์ดทรงปลุกขวัญทหารด้วย “นิมิต” ของพระอาทิตย์สามดวงยามรุ่งอรุณที่ทรงเห็น (ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าพระอาทิตย์ทรงกลด (parhelion)) โดยทรงกล่าวว่าการเห็นพระอาทิตย์สามดวงเป็นสัญลักษณ์ของลูกของยอร์กสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พระองค์เองและพระอนุชาอีกสององค์จอร์จ และริชาร์ด ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ทรงใช้ “sunne in splendour” (พระอาทิตย์อันรุ่งโรจน์) เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ต่อมา

ขณะเดียวกันกองทัพของพระนางมาร์กาเรตก็นำกองทัพเดินลงมาทางใต้ โดยการหากินด้วยการเที่ยวปล้นตามเมืองหรือหมู่บ้านที่ผ่านระลงมาเรื่อย ๆ ในลอนดอนวอริคก็เริ่มใช้การโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนหันมาสนับสนุนฝ่ายยอร์ค เมืองโคเวนทรีเปลี่ยนข้างมาสนับสนุนฝ่ายยอร์ก จากนั้นวอริกก็นำทัพไปตั้งรับอยู่ที่เซนต์ออลบันทางเหนือกรุงลอนดอนเพื่อจะกันไม่ให้ฝ่ายแลงแคสเตอร์ลงมายังลอนดอนได้ แต่กองทัพของพระราชีนีมาร์กาเร็ตที่มีจำนวนมากกว่าเลี่ยงไปทางตะวันตกและอ้อมกลับมาตีหลังวอริกในยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 2 ฝ่ายแลงคาสเตอร์จึงได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่กองทหารฝ่ายยอร์กต้องหนีร่นทิ้งพระเจ้าเฮนรีให้ประทับอยู่ใต้ต้นไม้อยู่เพียงลำพังกับทหารรักษาพระองค์

ทันทีที่ยุทธการเสร็จสิ้นลงพระเจ้าเฮนรีก็พระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางให้แก่ทหารฝ่ายแลงแคสเตอร์สามสิบคน ความเคียดแค้นระหว่างสองฝ่ายเห็นได้จากการที่พระนางมาร์กาเรตมีพระราชเสาวณีย์ให้เอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์พระราชโอรสผู้มีพระชันษาเพียงเจ็ดปีเป็นผู้ตัดสินวิธีลงโทษทหารฝ่ายยอร์กที่ถูกทิ้งไว้รักษาความปลอดภัยแก่พระราชบิดา

เมื่อฝ่ายแลงแคสเตอร์เริ่มเดินทางเข้าไกล้ลอนดอนมากขึ้น ความประหวั่นพรั่นพรึงก็เกิดขึ้นทั่วไปในลอนดอน ถึงกับมีข่าวร่ำลือถึงความทารุณโหดร้ายของทหารจากทางเหนือที่จะเข้ามาปล้นและทำลายเมือง ประชาชนลอนดอนจึงปิดประตูเมือง และไม่ยอมให้อาหารและเสบียงแก่กองทหารของพระนาง ผู้ที่ทำการปล้นมาตลอดทางจนแม้เมื่อมาถึงปริมณฑลของลอนดอนในฮาร์ตเฟิร์ดเชอร์และมิดเดิลเซกซ์

ชัยชนะของฝ่ายยอร์ก

[แก้]
สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4

ขณะเดียวกันเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ชก็นำทัพที่ไปรวมกับกองทัพของวอริคที่ยังเหลืออยู่ตามลงมายังลอนดอนจากทางตะวันตก ซึ่งประจวบการถอยกลับขึ้นไปทางเหนือของพระนางมาร์กาเรตไปยังดันสเตเบิล เอ็ดเวิร์ดและวอริคจึงสามารถนำกองทัพเข้าลอนดอนได้ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองอย่างกระตือรือร้น เมื่อมาถึงช่วงนี้เอ็ดเวิร์ดก็ไม่สามารถจะอ้างได้ว่าเพียงต้องการที่จะกำจัดที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระเจ้าเฮนรีได้อีก การต่อสู้กลายเป็นการต่อสู้เพื่อการชิงราชบัลลังก์ เอ็ดเวิร์ดต้องการที่จะวางรากฐานทางอำนาจซึ่งก็ทรงได้รับเมื่อทอมัส เคมป์ บิชอปแห่งลอนดอนประกาศถามความเห็นชาวเมืองลอนดอนว่าต้องการผู้ใดชาวเมืองก็พร้อมใจกันตะโกนว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” ความเห็นนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา หลังจากนั้นเอ็ดเวิร์ดก็ได้รับราชาภิเษกอย่างรีบเร่งอย่างไม่เป็นทางการที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ท่ามกลางความยินดีของบรรดาประชาชนโดยทั่วไป เอ็ดเวิร์ดทรงตั้งคำปฏิญาณว่าจะไม่รับราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจนกว่าพระเจ้าเฮนรีและพระนางมาร์กาเรตจะถูกสำเร็จโทษหรือเนรเทศ และทรงประกาศว่าพระเจ้าเฮนรีทรงสละสิทธิในราชบัลลังก์เมื่อทรงอนุญาตให้พระนางมาร์กาเรตถืออาวุธต่อต้านผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติสอดคล้องตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านั้น

หลังจากนั้นเอ็ดเวิร์ดและวอริกก็นำกองทัพใหญ่ขึ้นไปทางเหนือไปปะทะกับกองทัพของฝ่ายแลงแคสเตอร์ที่มีกำลังพอ ๆ กันที่โทว์ทัน ยุทธการที่โทว์ทันไม่ไกลจากยอร์กที่เกิดขึ้นเป็นยุทธการที่ใหญ่ที่สุดในสงครามดอกกุหลาบ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าปัญหาทั้งหมดต้องตกลงกันให้เป็นที่สิ้นสุดกันในวันนั้นโดยไม่มีฝ่ายใดที่จะยอมประนีประนอมแม้แต่เพียงก้าวเดียว ทหารที่เข้าร่วมต่อสู้มีทั้งหมดด้วยกันประมาณ 40,000 ถึง 80,000 คนโดยมีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คนระหว่างการต่อสู้ หรือหลังจากการต่อสู้ ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เป็นจำนวนอันมหาศาลที่เกิดขึ้นภายในวันเดียวบนแผ่นดินอังกฤษ ในยุทธการครั้งนี้เอ็ดเวิร์ดและผู้สนับสนุนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ผู้นำของฝ่ายแลงแคสเตอร์เสียชีวิตไปเกือบทั้งหมด เมื่อได้ข่าวการพ่ายแพ้พระเจ้าเฮนรีและพระนางมาร์กาเรตผู้ประทับรออยู่ที่ยอร์กพร้อมกับพระราชโอรสก็เสด็จหนีขึ้นเหนือ ผู้ที่รอดมาได้จากยุทธการก็สลับข้างไปสนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ผู้ที่ไม่ยอมสนับสนุนก็ถูกไล่ขึ้นไปทางพรมแดนทางตอนเหนือและเวลส์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเปลี่ยนหัวของพระราชบิดา พระอนุชาเอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัทแลนด์ และเอิร์ลแห่งซอลสบรีที่เสียบประจานไว้หน้าเมืองยอร์ก ด้วยหัวของขุนนางแลงแคสเตอร์ผู้พ่ายแพ้เช่นหัวของจอห์น คลิฟฟอร์ด บารอนที่ 9 แห่งคลิฟฟอร์ด ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีบทบาทในการสังหารเอิร์ลแห่งรัทแลนด์หลังจากยุทธการที่เวกฟิลด์

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4

[แก้]
ปราสาทฮาร์เล็คในเวลส์

พระราชพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1461 ในกรุงลอนดอนโดยความยินดีของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พระองค์ทรงสามารถปกครองราชอาณาจักรอย่างร่มเย็นเป็นเวลาราวสิบปี แต่ก็ไม่ทรงสามารถมีอำนาจอย่างเด็ดขาดทางตอนเหนือจนกระทั่งปี ค.ศ. 1465 หลังจากยุทธการที่โทว์ทันแล้วพระเจ้าเฮนรีและพระนางมาร์กาเรตก็หนีภัยไปพึ่งราชสำนักสกอตแลนด์ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ ในปลายปีทั้งสองพระองค์ก็เข้าโจมตีคาร์ไลล์แต่เพราะความที่ขาดงบประมาณก็ทำให้เพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายยอร์กที่พยายามยึดที่ตั้งมั่นสุดท้ายของฝ่ายแลงคาสเตอร์ทางตอนเหนือ ปราสาทหลายแห่งที่ยังอยู่ในมือของฝ่ายแลงแคสเตอร์ก็สามารถยืนหยัดต่อต้านฝ่ายยอร์กอยู่ได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะตกไปเป็นของฝ่ายยอร์ค

ในปี ค.ศ. 1464 ก็เกิดการปฏิวัติโดยฝ่ายแลงแคสเตอร์ทางตอนเหนือของอังกฤษโดยมีขุนนางแลงแคสเตอร์ที่รวมทั้งเฮนรี โบฟอร์ต ดยุกที่ 3 แห่งซัมเมอร์เซต เป็นผู้นำ ฝ่ายก่อการถูกปราบปรามโดยน้องชายของวอริคจอห์น เนวิลล์ มาร์ควิสที่ 1 แห่งมอนทากิว กองกำลังแลงคาสเตอร์บางส่วนถูกทำลายในยุทธการที่เฮ็ดจ์ลีย์มัวร์เมื่อวันที่ 25 เมษายนแต่จอห์น เนวิลล์ไม่สามารถปราบฝ่ายแลงแคสเตอร์ให้เสร็จสิ้นในทันทีได้เพราะอยู่ในระหว่างการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้แทนจากสกอตแลนด์มายังยอร์ค แต่หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมจอห์น เนวิลล์ก็สามารถเอาชนะกองทัพของซัมเมอร์เซ็ทได้ในยุทธการที่เฮ็กซัม ดยุกแห่งซัมเมอร์เซตถูกจับและถูกประหารชีวิต

พระเจ้าเฮนรีผู้ถูกปลดจากราชบัลลังก์ถูกจับได้เป็นครั้งที่สามในแลงคาเชอร์ในปี ค.ศ. 1465 และทรงถูกนำตัวกลับไปลอนดอนไปจำขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน ขณะเดียวกันอังกฤษก็อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ผู้สามารถเจรจาตกลงกับฝ่ายสกอตแลนด์สำเร็จ พระนางมาร์กาเรตและพระราชโอรสจึงทรงถูกบังคับให้ออกจากสกอตแลนด์ไปยังฝรั่งเศส ไปทรงดำรงราชสำนักอย่างสมถะอยู่หลายปี[11]

ที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายแลงแคสเตอร์ที่ปราสาทฮาร์เลกในเวลส์ก็ยอมแพ้ในปี ค.ศ. 1468 หลังจากที่ถูกล้อมอยู่เจ็ดปี

การปฏิวัติของวอริกและการฟื้นฟูพระเจ้าเฮนรีที่ 6

[แก้]
ปราสาทมิดเดิลแลม
พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศส

ในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งวอริกกลายเป็นขุนนางผู้มีอำนาจและเจ้าของที่ดินมากมายในอังกฤษ ก่อนหน้านั้นวอริกก็เป็นขุนนางผู้มีอำนาจและทรัพย์สินมากอยู่แล้วจากการสมรสและจากทรัพย์สมบัติที่ได้รับจากบิดาที่ได้มาจากทรัพย์ที่ยึดจากฝ่ายแลงแคสเตอร์ นอกจากนั้นก็ยังรับหน้าที่สำคัญต่าง ๆ หลายหน้าที่ ความที่เชื่อว่าอังกฤษควรจะมีความสัมพันธ์อันดีกับฝรั่งเศสวอริคก็ไปพยายามเจรจาต่อรองหาคู่อภิเษกสมรสชาวฝรั่งเศสให้กับสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด แต่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงไปเสกสมรสอย่างลับ ๆ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1464 แล้วกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์แม่หม้ายของจอห์นแห่งเบดฟอร์ด ต่อมาพระองค์ก็ทรงประกาศการสมรสอย่างเป็นทางการซึ่งทำให้วอริกได้รับความอับอายขายหน้าเป็นอันมาก

ความอับอายที่ได้รับทำให้วอริกเคียดแค้นโดยเฉพาะเมื่อตระกูลวูดวิลล์เรืองอำนาจกลายเป็นคนโปรดของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเหนือกว่าตระกูลเนวิลล์ของวอริค พระญาติของเอลิซาเบธต่างก็ได้สมรสกับครอบครัวขุนนางต่าง ๆ หรือไม่ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางหรือตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ปัจจัยต่าง ๆ หลายอย่างเหล่านี้ทำให้วอริคยิ่งเพิ่มความไม่พอใจหนักขึ้นที่รวมทั้ง การที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระราชประสงค์ที่จะมีความสัมพันธ์กับเบอร์กันดีแทนที่จะเป็นฝรั่งเศส และความไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะให้พระอนุชาสองพระองค์ คือ ดยุกแห่งแคลเรนซ์และดยุกแห่งกลอสเตอร์--ไปสมรสกับลูกสาวสองคนของวอริก คือ อิสซาเบล และ แอนน์ นอกจากนั้นความเป็นที่นิยมโดยประชาชนของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็เริ่มลดลงเมื่อมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและการขาดกฎและระเบียบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1469 วอริคก็หันไปเป็นพันธมิตรกับดยุกแห่งแคลเรนซ์พระอนุชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้ไปแต่งงานกับอิซาเบล เนวิลล์ ดัชเชสแห่งแคลเรนซ์แม้ว่าจะไม่เป็นที่ต้องพระทัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ตาม วอริกและดยุกแห่งแคลเรนซ์รวบรวมพลเข้าต่อสู้กับฝ่ายแลงแคสเตอร์และได้รับชัยชนะในยุทธการที่เอ็ดจ์โคตมัวร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกจับตัวได้ที่โอลนีย์ในบักกิงแฮมเชอร์และถูกนำไปขังไว้ที่ปราสาทมิดเดิลแลม (Middleham Castle) ในยอร์กเชอร์ (ซึ่งทำให้วอริกมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ในมือสององค์) หลังจากนั้นวอริกก็จับและสังหารพระราชบิดาของพระราชินีริชาร์ด วูดวิลล์ เอิร์ลริเวอร์สที่ 1และพระอนุชาจอห์น แต่วอริกก็มิได้ทำการประกาศว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือประกาศให้ดยุกแห่งแคลเรนซ์เป็นพระมหากษัตริย์[12] บ้านเมืองในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยความระส่ำระสาย ขุนนางต่างก็ลุกขึ้นมาก่อตั้งกองทัพส่วนตัวเข่นฆ่าแก้แค้นกันจากสาเหตุต่าง ๆ ที่บาดหมางกันมาก่อนหน้านั้น ฝ่ายแลงแคสเตอร์ที่หมดอำนาจไปก่อนหน้านั้นก็ลุกขึ้นมาก่อความไม่สงบอีก[13] แต่จะอย่างไรก็ตามก็มีขุนนางเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สนับสนุนการยึดอำนาจของวอริค พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกนำตัวกลับมาลอนดอนโดยน้องของวอริคจอร์จอาร์ชบิชอปแห่งยอร์กเพื่อมาทำความปรองดองกันกับวอริกอย่างน้อยก็เท่าที่เห็นกันภายนอก

เมื่อการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในลิงคอล์นเชอร์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงสามารถปราบปรามได้อย่างง่ายดายในยุทธการที่ลูสโคตฟิล์ด จากคำให้การของผู้นำการปฏิวัติกล่าวหาว่าผู้ยุยงให้เกิดการก่อการคือวอริกและดยุกแห่งแคลเรนซ์ ทั้งสองคนจึงถูกประกาศว่าเป็นผู้ทรยศต่อแผ่นดินจนจำเป็นต้องหนีไปฝรั่งเศสที่พระนางมาร์กาเรตประทับลี้ภัยอยู่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศสผู้ทรงต้องการที่จะหยุดยั้งความเป็นพันธมิตรระหว่างพระอนุชาเขยชาร์ลผู้อาจหาญ ดยุกแห่งเบอร์กันดีกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงแนะนำให้วอริกกับพระนางมาร์กาเรตหันมาร่วมมือกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายผู้เป็นศัตรูกันมาก่อนก็แสดงความไม่เต็มใจในระยะแรก แต่เมื่อมาพิจารณาแล้วก็เริ่มมองเห็นผลประโยชน์ที่อาจจะได้จากการเป็นพันธมิตรกัน แต่ผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างคาดนั้นก็แตกต่างกันมาก วอริกต้องการพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้เป็นหุ่นเช่นพระเจ้าเฮนรีหรือพระราชโอรส ส่วนพระนางมาร์กาเรตมีพระราชประสงค์ในการกู้ราชบัลลังก์ของพระองค์คืน แต่จะอย่างไรก็ตามผลของการตกลงคือการจัดการแต่งงานระหว่างแอนน์ลูกสาวของวอริกกับพระราชโอรสของพระองค์เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด หลังจากนั้นวอริกก็ยกทัพไปรุกรานอังกฤษในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1470

ยุทธการที่ทูกสบรี

ขณะนั้นที่วอริกยกทัพมาตีอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงนำทัพขึ้นไปทางเหนือเพื่อไปปราบการก่อความไม่สงบในยอร์กเชอร์ วอริกด้วยความช่วยเหลือของกองเรือภายใต้การนำของหลานทอมัส เนวิลล์ขึ้นฝั่งที่ดาร์ทมัธและรวบรวมกำลังผู้สนับสนุนจากมณฑลทางใต้และเมืองท่าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นวอริคก็นำทัพเข้ายึดกรุงลอนดอนในเดือนตุลาคมและนำพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่ตามถนนรอบเมืองลอนดอนในฐานะกษัตริย์ผู้ได้รับการฟื้นฟู จอห์น เนวิลล์น้องของวอริคผู้ได้รับตำแหน่งลอยให้เป็นมาร์ควิสแห่งมองตากิวก็หันมาสนับสนุนพี่ชาย กองกำลังของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้มิได้ทรงเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็แตกกระจาย พระองค์และดยุกแห่งกลอสเตอร์หนีจากดอนคาสเตอร์ไปยังชายฝั่งทะเลข้ามไปยังฮอลแลนด์ไปลี้ภัยอยู่ในเบอร์กันดี พระองค์และพระอนุชาก็ถูกประกาศว่าเป็นผู้ทรยศต่อแผ่นดิน หลังจากนั้นฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่ไปหนีภัยก็กลับมาอ้างสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึดไปในระหว่างสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

แต่ความสำเร็จของวอริคก็เป็นไปเพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น เมื่อวอริคเลยเถิดไปพยายามที่จะรุกรานเบอร์กันดีโดยการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสเมื่อฝรั่งเศสสัญญาว่าจะให้ดินแดนในเนเธอร์แลนด์เป็นการตอบแทน ซึ่งเป็นผลให้ชาร์ลส์แห่งเบอร์กันดีมอบทุนทรัพย์และกองทหารที่ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสามารถนำกลับไปรุกรานอังกฤษได้ในปี ค.ศ. 1471 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จขึ้นฝั่งพร้อมกับทหารกลุ่มหนึ่งที่เรเวนสเปอร์ทางฝั่งทะเลตอนเหนือของอังกฤษในยอร์กเชอร์ เมื่อเริ่มแรกก็ทรงอ้างว่าเสด็จมาสนับสนุนพระเจ้าเฮนรีและขอบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งยอร์กคืน แต่ไม่นานพระองค์ก็ทรงได้รับการสนับสนุนจากเมืองยอร์ค พระอนุชาดยุกแห่งแคลเรนซ์ผู้ไปสนับสนุนวอริคอยู่ชั่วระยะหนึ่งก็ทิ้งวอริคและหันกลับมาสนับสนุนพระองค์อีกครั้ง จากนั้นพระองค์ก็ทรงเดินทัพลงมาเพื่อยึดกรุงลอนดอน และมาปะทะกับกองทัพของวอริกในยุทธการที่บาร์เน็ต การต่อสู้เกิดขึ้นท่ามกลางหมอกที่ลงจัด กองกำลังของวอริคก็โจมตีกันเองด้วยความเข้าใจผิด และกองทัพของวอริกก็เชื่อกันโดยทั่วไปว่าโดนทรยศจึงหนีกันกระเจิดกระเจิง วอริกถูกสังหารขณะที่พยายามจะขึ้นม้า

พระนางมาร์กาเรตและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสขึ้นฝั่งที่เวสต์คันทรีเพียงสองสามก่อนหน้ายุทธการที่บาร์เน็ต แต่แทนที่จะเดินทางกลับฝรั่งเศสพระราชินีมาร์กาเร็ตก็เสด็จไปสมทบกับผู้สนับสนุนฝ่ายแลงคาสเตอร์ในเวลส์ แต่เมื่อทรงพยายามนำทัพข้ามแม่น้ำเซเวิร์นพระองค์ก็ทรงถูกยับยั้งโดยเมืองกลอสเตอร์ที่ไม่ยอมให้ข้าม กองทัพของพระองค์นำโดยเอ็ดมันด์ โบฟอร์ต ดยุกที่ 4 แห่งซัมเมอร์เซต เข้าต่อสู้และพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในยุทธการที่ทูกสบรี เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษของฝ่ายแลงคาสเตอร์ถูกสังหารในที่รบ พระเจ้าเฮนรีที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ก็ทรงถูกปลงพระชนม์เพียงสิบวันหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1471 เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในการครองราชบัลลังก์แก่ฝ่ายยอร์ก

พระเจ้าริชาร์ดที่ 3

[แก้]
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3

การฟื้นฟูพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ในปี ค.ศ. 1471 บางก็กันเห็นว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามดอกกุหลาบหลัก บ้านเมืองกลับมามีความสงบสุขขึ้นอีกครั้งจนตลอดรัชสมัยของพระองค์ ริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์พระอนุชาองค์สุดท้องผู้ใกล้ชิดและสนับสนุนพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพ และวิลเลียม เฮสติงส ต่างก็ได้รับพระราชทานรางวัลในความจงรักภักดี และได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงแห่งภาคเหนือ และ ข้าหลวงแห่งมิดแลนด์ตามลำดับ[14] ดยุกแห่งแคลเรนซ์พระอนุชา ผู้ทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์เพิ่มขึ้นทุกขณะก็ถูกประหารชีวิตในที่สุดในปี ค.ศ. 1478 ในการมีส่วนพัวพันกับผู้ทรยศต่อแผ่นดินผู้ถูกลงโทษไปแล้ว

แต่เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1483 ความระส่ำระสายทางการเมืองก็อุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ขุนนางต่างก็ชิงชังกับอิทธิพลของพระญาติพระวงศ์ตระกูลวูดวิลล์ของพระนางเอลิซาเบธ (แอนโทนี วูดวิลล์ เอิร์ลแห่งริเวอร์สที่ 2 พระเชษฐาและพระโอรสจากการสมรสครั้งแรกทอมัส เกรย์ มาร์ควิสที่ 1 แห่งดอร์เซต) และมองเห็นว่าเป็นขุนนางใหม๋ผู้ทะเยอทะยานและกระหายอำนาจ เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตพระราชโอรสผู้สืบราชบัลลังก์ต่อมาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ก็เพิ่งมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษาผู้ที่ทรงได้รับการเลี้ยงดูภายใต้การนำของเอิร์ลแห่งริเวอร์สอยู่ที่ลัดโลว์

บนพระแท่นที่ประชวรพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงแต่งตั้งให้พระอนุชาริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์เป็น “ผู้อารักขาอังกฤษ” (Protector of England) ขณะนั้นริชาร์ดยังอยู่ทางตอนเหนือของอังกฤษเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคต วิลเลียม เฮสติงส์ บารอนเฮสติงส์ที่ 1 ก็รีบส่งข่าวไปให้ริชาร์ดลงมายังลอนดอนพร้อมกับกองทัพเพื่อที่จะมาปราบปรามฝ่ายวูดวิลล์ที่อาจจะลุกขึ้นมาต่อต้าน[15] เฮนรี สแตฟฟอร์ด ดยุกที่ 2 แห่งบักกิงแฮม ก็หันไปสนับสนุนริชาร์ด

“เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและริชาร์ดทั้งสองพระองค์ในหอคอยในปี ค.ศ. 1483” โดยจอห์น เอเวอเรทท์ มิเลย์ (ค.ศ. 1878)

ริชาร์ดและดยุกแห่งบักกิงแฮมเดินทางไปทันกับเอิร์ลแห่งริเวอร์สผู้กำลังนำพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 จากลัดโลว์ลงมายังกรุงลอนดอนที่สโตนีสแตรทฟอร์ดในมณฑลบักกิงแฮมเชอร์เมื่อวันที่ 28 เมษายน แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะกินอาหารเย็นด้วยกันอย่างฉันท์มิตรแต่ในวันรุ่งขึ้นริชาร์ดและดยุกแห่งบักกิงแฮมก็จับเอิร์ลแห่งริเวอร์สเป็นนักโทษ และให้เหตุผลกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันการสมรู้ร่วมคิดของตระกูลวูดวิลล์ในการพยายามที่จะปลงพระชนม์ เอิร์ลแห่งริเวอร์สและหลานริชาร์ด เกรย์ถูกส่งไปจำขังไว้ที่ปราสาทพอนทีแฟร็คในยอร์กเชอร์ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตในปลายเดือนมิถุนายน

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จเข้ากรุงลอนดอนภายใต้การอารักขาของริชาร์ดพระปิตุลาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมและถูกนำไปประทับอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน ขณะที่พระนางเอลิซาเบธพระมารดาและพระราชโอรสธิดาองค์อื่น ๆ หนีไปหนีภัยอยู่ในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ก่อนหน้านั้นแล้ว แม้ว่าทางมหาวิหารจะอยู่ในระหว่างการเตรียมตัวที่จะทำพิธีราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นริชาร์ดก็หมดอำนาจและหน้าที่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนริชาร์ดก็เรียกประชุมสภาองคมนตรี ในที่ประชุมริชาร์ดกล่าวหาว่าวิลเลียม เฮสติงส บารอนเฮสติงสที่ 1 และผู้อื่นว่าคบคิดกันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เฮสติงสถูกประหารชีวิตอย่างเร่งด่วนภายในวันเดียวกัน

จากนั้นทอมัส บูเชียร์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีก็หว่านล้อมให้พระนางเอลิซาเบธส่งริชาร์ดแห่งชรูว์สบรี ดยุกที่ 1 แห่งยอร์ก พระอนุชาองค์รองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ผู้มีพระชนมายุ 9 พรรษาไปประทับกับพระเชษฐาในหอคอยแห่งลอนดอน เมื่อได้พระโอรสมาสองพระองค์แล้วริชาร์ดก็กล่าวหาว่าการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และพระนางเอลิซาเบธเป็นการเสกสมรสที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้นพระราชโอรสทั้งสองพระองค์จึงเป็นลูกนอกคอกและไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ รัฐสภามีความเห็นพ้องและออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยตำแหน่งอันถูกต้อง” (Titulus Regius) ที่ระบุให้ริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์เป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พระโอรสสองพระองค์ของพระเชษฐาที่ถูกจำขังในหอคอยที่มารู้จักกันว่า “เจ้าชายในหอคอย” หายสาบสูญไป ซึ่งอาจจะทรงถูกฆาตกรรม แต่จะโดยผู้ใดหรือด้วยคำสั่งของผู้ใดก็ไม่เป็นที่ทราบ ซึ่งทำให้เกิดการสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ มาจนกระทั่งทุกวันนี้

หลังจากที่ทรงได้รับการราชาภิเษกในพิธีอันใหญ่โตเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมแล้ว พระเจ้าริชาร์ดก็เสด็จประพาสมิดแลนด์สและทางตอนเหนือของอังกฤษ พระราชทานสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ผู้คนโดยทั่วไป และใบพระราชานุญาตต่าง ๆ รวมทั้งการแต่งตั้งพระราชโอรสขึ้นเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ด้วย

ดยุกแห่งบักกิงแฮมก่อกบฏ

[แก้]
ดยุกแห่งบักกิงแฮมผู้นำกบฏต่อต้านพระเจ้าริชาร์ดที่ 3

ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เริ่มก่อตัวกันขึ้นทางตอนใต้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมเฮนรี สแตฟฟอร์ด ดยุกที่ 2 แห่งบักกิงแฮม (ผู้ก่อนหน้านั้นมีบทบาทสำคัญในการทำให้พระเจ้าริชาร์ดได้ขึ้นครองราชบัลลังก์และตนเองก็พอจะมีสิทธิในราชบัลลังก์อยู่บ้าง) ก็นำการปฏิวัติเพื่อที่จะยกเฮนรี ทิวดอร์ผู้เป็นฝ่ายแลงแคสเตอร์ขึ้นครองราชย์ ประเด็นการถกเถียงถึงสาเหตุที่ดยุกแห่งบักกิงแฮมเปลี่ยนข้างไปสนับสนุนฝ่ายแลงแคสเตอร์แทนที่จะสนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ริชาร์ดแห่งชรูว์สบรี หรือพระอนุชาก็คงเป็นเพราะดยุกแห่งบักกิงแฮมทราบแล้วว่าทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว[16] ขุนนางที่เคยสนับสนุนพระเจ้าริชาร์ดในการต่อต้านตระกูลวูดวิลล์หันมาเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์เมื่อทรงยึดอำนาจมาเป็นของพระองค์เอง และเมื่อมีข่าวลือว่าทรงเป็นผู้มีบทบาทในการฆาตกรรมพระราชนัดดาสองพระองค์[17]

สิทธิในราชบัลลังก์ของฝ่ายแลงแคสเตอร์ตกมาถึงเฮนรี ทิวดอร์หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชโอรสในปี ค.ศ. 1471 บิดาของเฮนรี ทิวดอร์คือเอ็ดมันด์ ทิวดอร์ เอิร์ลที่ 1 แห่งริชมอนด์ เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แต่การอ้างของเฮนรี ทิวดอร์เป็นการอ้างจากทางสายมารดามาร์กาเรต โบฟอร์ต เคาน์เตสแห่งริชมอนด์และดาร์บีมารดา ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากจอห์น โบฟอร์ต เอิร์ลที่ 1 แห่งซัมเมอร์เซต บุตรจอห์นแห่งกอนต์ พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ซึ่งทำให้เฮนรีเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 จอห์น โบฟอร์ตเป็นลูกนอกสมรสจนกระทั่งเมื่อจอห์นแห่งกอนท์มาสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อมากับแคเธอริน สวินฟอร์ด (Katherine Swynford) แม่ของเฮนรี การสมรสกล่าวกันว่าตามเงื่อนไขที่ว่าลูกหลานของตระกูลโบฟอร์ทจะสละการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ เฮนรีใช้เวลาส่วนใหญ่ถูกกักอยู่ที่ปราสาทฮาร์เล็ค หรือไม่ก็ไปลี้ภัยอยู่ที่บริตตานี หลังจากปี ค.ศ. 1471 . After 1471 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 มักจะทำเรื่องการอ้างสิทธิของเฮนรีเป็นเรื่องย่อย และทรงพยายามที่จะนำตัวเฮนรีกลับมาแต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างจริงจังเท่าใดนัก แต่ทางฝ่ายแม่มาร์กาเร็ต โบฟอร์ทผู้แต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกกับลุงของดยุกแห่งบัคคิงแฮม และต่อมากับทอมัส สแตนลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งดาร์บี ผู้เป็นข้าราชสำนักคนสำคัญคนหนึ่งของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสนับสนุนสิทธิของลูกมาโดยตลอด

การปฏิวัติของดยุกแห่งบักกิงแฮมล้มเหลว เพราะฝ่ายที่สนับสนุนทางตอนใต้ลุกขึ้นต่อต้านก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นผลทำให้ นายทัพของพระเจ้าริชาร์ดทางตอนใต้จอห์น เฮาเวิร์ด ดยุกที่ 1 แห่งนอร์โฟล์ก มีโอกาสป้องกันมิให้ฝ่ายปฏิวัติเข้ามารวมตัวกันได้ ดยุกแห่งบักกิงแฮมเองก็ไปรวบรวมกำลังอยู่ที่เบรกอนทางตอนกลางของเวลส์ แต่ถูกหยุดยั้งไม่ให้ข้ามแม่น้ำเซเวิร์นมาสมทบกับกองปฏิวัติที่มาจากทางใต้ ซึ่งก็เป็นการหยุดยั้งเฮนรีจากการขึ้นฝั่งในเวสต์คันทรี กองทหารของบัคคิงแฮมจึงหนี และบัคคิงแฮมเองก็ถูกทรยศและจับประหารชีวิต

ความล้มเหลวของการปฏิวัติของดยุกแห่งบักกิงแฮมมิได้เป็นการยุติการวางแผนต่อต้านพระเจ้าริชาร์ดผู้ไม่อาจจะทรงมีความรู้สึกปลอดภัยได้อีก ผู้ทรงสูญเสียพระอัครมเหสีและะพระราชโอรสผู้มีพระชนม์ได้สิบเอ็ดพรรษา ซึ่งทำให้อนาคตของการครองราชบัลลังก์ของฝ่ายยอร์คไม่อยู่ในสภาพที่มั่นคงเท่าใดนัก

พระเจ้าเฮนรีที่ 7

[แก้]
พระเจ้าเฮนรีที่ 7

หลังจากการพ่ายแพ้ในการปฏิวัติของดยุกแห่งบักกิงแฮมแล้วผู้สนับสนุนหลายคนและขุนนางอื่นที่ละทิ้งสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดก็หนีไปรวมตัวกับเฮนรี ทิวดอร์ที่ลี้ภัยอยู่ในบริตตานี พระเจ้าริชาร์ดทรงพยายามติดสินบนมนตรีของดยุกแห่งบริตตานีให้ทรยศต่อเฮนรีแต่เฮนรีก็ได้รับการเตือนและสามารถหนีไปยังฝรั่งเศสและไปทรงได้รับที่พำนักลี้ภัยและการสนับสนุนที่นั่น[18]

เมื่อเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าขุนนางเป็นจำนวนมากและแม้แต่ข้าราชสำนักของพระเจ้าริชาร์ดเองจะหันมาสนับสนุนพระองค์ เฮนรี ทิวดอร์ก็ออกเดินทางจากฮาร์เฟลอร์ (Harfleur) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1485 พร้อมกับกองที่ไปลี้ภัยและทหารรับจ้างชาวฝรั่งเศส และมาขึ้นฝั่งที่เพมโบรคเชอร์หกวันต่อมา ผู้ที่สมเด็จพระเจ้าริชาร์ดแต่งตั้งในเวลส์ถ้าไม่หันไปสมทบกับกองทัพของเฮนรี ก็ยอมให้ผ่านโดยมิได้ต่อต้าน เฮนรีรวบรวมผู้สนับสนุนตลอดทางที่เดินผ่านมาในเวลส์และภูมิภาคชายแดนเวลส์ (Welsh Marches) เและเมื่อปะทะกับกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดในยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1485 เฮนรีก็ได้รับชัยชนะ พระเจ้าริชาร์ดถูกสังหารในสนามรบกล่าวกันว่าโดยทหารเวลส์ชื่อ Rhys ap Thomas จากแรงเหวี่ยงของขวานที่พระเศียร Rhys ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางสามวันหลังจากนั้น

เฮนรีผู้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 สร้างความมั่นคงให้แก่ราชบัลลังก์โดยการเสกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ฉะนั้นสมเด็จพระเจ้าเฮนรีจึงทรงเป็นผู้รวมสองราชวงศ์เข้าเป็นราชวงศ์เดียว และทรงรวมสัญลักษณ์ของสองราชวงศ์กุหลาบแดงแห่งแลงแคสเตอร์และกุหลาบขาวแห่งยอร์กเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่เรียกว่ากุหลาบทิวดอร์ที่มีทั้งสีแดงและขาวในดอกเดียวกัน นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงสร้างเสริมความมั่นคงโดยการสังหารผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์คนอื่น ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่จนหมดสิ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินต่อมาโดยพระราชโอรสพระเจ้าเฮนรีที่ 8

นักประวัติศาสตร์หลายคนถือว่าการขึ้นครองราชบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 เป็นการสิ้นสุดของสงครามดอกกุหลาบ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าสิ้นสุดหลังจากยุทธการสโตคฟิลด์ในปี ค.ศ. 1487 เมื่อเด็กหนุ่มชื่อแลมเบิร์ต ซิมเนลผู้มีหน้าตาคล้ายเอ็ดเวิร์ด แพลนทาเจเน็ท เอิร์ลแห่งวอริคที่ 17 บุตรของดยุกแห่งแคลเรนซ์ มาอ้างตัวว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์ แต่ก็เป็นแผนการณ์ที่มีข้อบกพร่องตรงที่ตัวเอ็ดเวิร์ด แพลนทาเจเน็ทจริงยังคงมีชีวิตอยู่และอยู่ในการอารักขาของพระเจ้าเฮนรีเอง พระเจ้าเฮนรีจึงทรงนำเอ็ดเวิร์ด แพลนแทเจเนตไปแสดงตัวรอบลอนดอนเพื่อให้เห็นว่าซิมเนลเป็นตัวปลอม ในยุทธการที่สโตกฟิลด์พระเจ้าเฮนรีก็ทรงสามารถเอาชัยชนะต่อกองกำลังของจอห์น เดอ ลา โพล เอิร์ลที่ 1 แห่งลิงคอล์น ผู้ที่พระเจ้าริชาร์ดทรงแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทซึ่งเป็นการกำจัดผู้เป็นปฏิปักษ์ฝ่ายยอร์กคนสุดท้าย ซิมเนลได้รับพระราชทานอภัยโทษ

แต่ในปี ค.ศ. 1491 ราชบัลลังก์ของพระเจ้าเฮนรีก็สั่นคลอนอีกครั้งหนึ่งเมื่อเพอร์คิน วอร์เบ็คอ้างตัวว่าเป็นริชาร์ดแห่งชรูว์สบรี ดยุกที่ 1 แห่งยอร์ก พระอนุชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แต่ในที่สุดก็ทรงแก้ปัญหาได้ในปี ค.ศ. 1499 เมื่อทรงจับตัววอร์เบ็คและประหารชีวิตได้

บทสรุป

[แก้]
ดอกกุหลาบทิวดอร์สัญลักษณ์ของราชวงศ์ทิวดอร์ที่เป็นราชวงศ์ใหม่ที่เกิดจากการรวมราชวงศ์แลงแคสเตอร์และราชวงศ์ยอร์คโดยการเสกสมรสระหว่างเฮนรี ทิวดอร์และพระนางเอลิซาเบธแห่งยอร์ก

แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังคงโต้แย้งกันถึงความกระทบกระเทือนของความขัดแย้งของสงครามดอกกุหลาบต่อชีวิตในยุคกลางของอังกฤษ แต่ที่แน่คือสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่สร้างความระส่ำระสายทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางดุลยภาพของอำนาจทางการเมือง สิ่งที่ได้รับผลกระทบกระเทือนมากที่สุดคือการสลายตัวของราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทที่มาแทนที่ด้วยผู้นำของราชวงศ์ทิวดอร์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษเป็นอันมากในปีต่อ ๆ มา หลังจากสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีแล้วราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้างแต่ก็ไม่มีผู้ใดที่จะอ้างได้ว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์โดยตรงได้ โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงหนุนหลังให้ฝักฝ่ายย่อยขัดแย้งกันเอง

การสงครามทำให้ขุนนางเสียชีวิตกันไปเป็นจำนวนมากที่เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมระบบศักดินาของอังกฤษ ที่ทำให้อำนาจของขุนนางอ่อนแอลงขณะเดียวกันอำนาจของชนชั้นพ่อค้าก็เพิ่มขึ้น การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจของราชวงศ์ทิวดอร์เป็นการสร้างเสริมให้ระบบพระมหากษัตริย์ของอังกฤษแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของยุคกลางของอังกฤษและก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอันใหญ่หลวงของสงครามดอกกุหลาบก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงใช้ในการช่วยแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการนำมาซึ่งความสันติในบั้นปลายก็เป็นได้ แต่จะอย่างไรก็ตามผลกระทบกระเทือนต่อชนชั้นพ่อค้าและแรงงานในการเป็นสงครามอันยืดเยื้อในการล้อมเมืองหรือปล้นเมืองก็ยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสหรือประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่ประสบกับสงครามอันยาวนาน แม้ว่าจะมีการล้อมที่เนิ่นนานอยู่บ้างเช่นการล้อมปราสาทฮาร์เล็ค แต่ก็เป็นการล้อมสถานที่ที่ไกลผู้ไกลคน ในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นถ้ามีการสู้รบกันขึ้นก็จะสร้างความเสียหายอันไม่ควรค่าให้แก่ทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นการต่อสู้ส่วนใหญ่จึงเป็นการต่อสู้ที่มีการนัดกันล่วงหน้าในการเลือกจุดที่จะทำการต่อสู้ (pitched battle)

สงครามดอกกุหลาบไม่ได้ช่วยอิทธิพลของอังกฤษในฝรั่งเศสที่เริ่มลดลงอยู่แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นสงครามดินแดนที่เคยได้มาระหว่างสงครามร้อยปีก็ไม่มีเหลืออยู่อีกเลยนอกไปจากคาเลส์ซึ่งก็มาเสียให้แก่ฝรั่งเศสระหว่างรัชสมัยของพระนางแมรี แม้ว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษจะพยายามรณรงค์ในยุโรป แต่อังกฤษก็ไม่สามารถยึดดินแดนใดใดที่เสียไปคืนมาได้ ดัชชี และราชอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรปมีบทบาทโดยตรงต่อผลของความพยายามของอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและดยุกแห่งเบอร์กันดียุยงฝักฝ่ายในอังกฤษให้มีความขัดแย้งกันเองโดยการสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือทางการทหาร หรือให้ที่พำนักแก่พระราชวงศ์ ขุนนาง หรือผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ผู้มาลี้ภัย ซึ่งเป็นสร้างสถานการณ์ที่ช่วยเพิ่มความแตกแยกขึ้นในอังกฤษซึ่งเป็นผลทำให้อ่อนแอลง

เมื่อสงครามยุติลงก็เท่ากับเป็นการสิ้นสุดของกองทัพส่วนตัวของขุนนางผู้มีอำนาจ ระเจ้าเฮนรีผู้ทรงต้องการที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างขุนนางก็ทรงพยายามโดยการควบคุมขุนนางอย่างไม่ให้ห่างพระหัตถ์ และไม่ทรงอนุญาตให้ขุนนางมีสิทธิในการรวบรวมกองกำลัง อาวุธ และ เลี้ยงกองทัพเพื่อที่จะไม่ให้สามารถก่อความขัดแย้งระหว่างกัน หรือลุกขึ้นมาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ฉะนั้นอำนาจทางทหารของบารอนจึงลดถอยลงไปเป็นอันมาก และราชสำนักทิวดอร์อันมีอำนาจกลายเป็นสถานที่สำหรับการตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างขุนนางด้วยอิทธิพลของพระเจ้าแผ่นดิน

ระหว่างสงครามก็แทบจะไม่มีการยุบเลิกตำแหน่งขุนนางใดใด เช่นในระหว่าง ค.ศ. 1425 ถึง ค.ศ. 1449 ก่อนที่สงครามจะเริ่มขึ้นก็มีการยุบตำแหน่งขุนนางไป 25 ตำแหน่ง พอพอกับ 24 ตำแหน่งที่ยุบไประหว่างการต่อสู้ระหว่าง ค.ศ. 1450 ถึง ค.ศ. 1474[19] แต่ขุนนางที่มีความทะเยอทะยานสูงเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก มาถึงสมัยต่อมาก็แทบจะไม่มีขุนนางที่เต็มใจที่จะสละชีพในการต่อสู้ที่ไม่มีผลที่จะทราบได้แน่นอน

บันทึกเหตุการณ์

[แก้]

บันทึกที่เขียนระหว่างสงครามดอกกุหลาบได้แก่:

  • บันทึกเบนเนต (Benet's Chronicle)
  • บันทึกเกรกอรี (Gregory's Chronicle) (ค.ศ. 1189-ค.ศ. 1469)
  • บันทึกอังกฤษฉบับสั้น (Short English Chronicle (-ค.ศ. 1465)
  • บันทึกฮาร์ดิง: ฉบับแรกสำหรับเฮนรีที่ 6 (Hardyng's Chronicle: first version for Henry VI) (ค.ศ. 1457)
  • บันทึกฮาร์ดิง: ฉบับที่สองสำหรับริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์ก และเอ็ดเวิร์ดที่ 4 (Hardyng's Chronicle: second version for Richard, duke of York and Edward IV) (ค.ศ. 1460 and c. 1464)
  • บันทึกฮาร์ดิง: ฉบับที่สองฉบับปรับปรุงสำหรับฝ่ายแลงแคสเตอร์ระหว่างรัชสมัยของการฟื้นฟูเฮนรีที่ 6 (Hardyng's Chronicle: second 'Yorkist' version revised for Lancastrains during Henry VI's Readeption)
  • แคพเกรฟ (Capgrave) (ค.ศ. 1464)
  • คอมมีนส (Commynes) (ค.ศ. 1464-ค.ศ. 1498)
  • บันทึกการปฏิวัติลิงคอล์นเชอร์ (Chronicle of the Lincolnshire Rebellion) (ค.ศ. 1470)
  • ประวัติการมาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 (Historie of the arrival of Edward IV in England) (ค.ศ. 1471)
  • วอริน (Waurin (-ค.ศ. 1471)
  • บันทึกเดวีส์ (An English Chronicle: aka Davies' Chronicle) (ค.ศ. 1461)
  • บันทึกภาษาลาตินฉบับย่อ (Brief Latin Chronicle) (ค.ศ. 1422-ค.ศ. 1471)
  • เฟเบียน (Fabyan (-ค.ศ. 1485)
  • รูส (Rous) (ค.ศ. 1480/86)
  • บันทึกครอยแลนด์ (Croyland Chronicle) (ค.ศ. 1149-ค.ศ. 1486)
  • บันทึกวอร์คเวิร์ธ (Warkworth's Chronicle) (ค.ศ. 1500?)

บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง

[แก้]
บุคคลสำคัญอื่น ๆ ดูที่: รายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสงครามดอกกุหลาบ
ราชวงศ์แลงแคสเตอร์ ราชวงศ์ยอร์ก
พระเจ้าเฮนรีที่ 6
พระเจ้าเฮนรีที่ 7
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3
พระนางมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู (ในพระเจ้าเฮนรีที่ 6)
เฮนรี เพอร์ซีย์ เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ที่ 2
เฮนรี เพอร์ซีย์ เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ที่ 3
ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งวอริคที่ 16 (ผู้สร้างพระมหากษัตริย์)
เอ็ดมันด์ โบฟอร์ท ดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทที่ 2
เฮนรี โบฟอร์ท ดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทที่ 3
เอ็ดมันด์ โบฟอร์ท ดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทที่ 4
จอร์จ แพลนทาเจเน็ท ดยุกแห่งแคลเรนซ์ที่ 1
เฮนรี สตาฟฟอร์ด ดยุกแห่งบัคคิงแฮมที่ 2
พระนางเอลิซาเบธ วูดวิลล์ (ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4)
จอร์จ แพลนทาเจเน็ท ดยุกแห่งแคลเรนซ์ที่ 1
ริชาร์ด แพลนทาเจเน็ท ดยุกแห่งยอร์คที่ 3
ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งวอริคที่ 16 (ผู้สร้างพระมหากษัตริย์)
ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งซอลสบรีที่ 5
จอห์น เนวิลล์ มาร์ควิสแห่งมองตากิวที่ 1
วิลเลียม เนวิลล์ เอิร์ลแห่งเค้นท์ที่ 1
ทอมัส เนวิลล์
เฮนรี สตาฟฟอร์ด ดยุกแห่งบัคคิงแฮมที่ 2

ผังเครือญาติที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

บุคคลที่ระบุไว้ข้างต้นซึ่งมีด้านที่กำหนดไว้อย่างดีจะมีสีที่ขอบ โดยขอบสีแดงสำหรับแลงคัสเตอร์ และน้ำเงินสำหรับยอร์ก (ผู้กำหนดตัวประมุขของรัฐ (Kingmaker), พระญาติของพระองค์ และจอร์จ แพลแทเจเน็ตแปรพักตร์ ดังนั้นจึงแสดงเป็นขอบสีม่วง)

เอ็ดเวิร์ดที่ 3
เอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์
[note 1]
เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ
[note 2]
ไลโอเนลแห่งอันท์เวิร์พ
[note 3]
จอห์นแห่งกอนท์
[note 4]
ริชาร์ดที่ 2ฟีลิปปา
โรเจอร์ มอร์ติเมอร์เอลิซาเบธ มอร์ติเมอร์โจน โบฟอร์ทเฮนรีที่ 4
โบลิงโบรก
จอห์น โบฟอร์ท
ริชาร์ดแห่งโคนิสเบิร์กแอนน์ มอร์ติเมอร์เฮนรี เพอร์ซีย์เอเลเนอร์ เนวิลล์ริชาร์ด เนวิลล์วิลเลียม เนวิลล์เฮนรีที่ 5แคทเธอรินแห่งวาลัวส์โอเวน ทิวดอร์จอห์น โบฟอร์ทเอ็ดมันด์ โบฟอร์ท
ริชาร์ด แพลนทาเจเน็ทเซซิลี เนวิลล์เฮนรี เพอร์ซีย์ริชาร์ด เนวิลล์จอห์น เนวิลล์ทอมัส เนวิลล์มาร์กาเรตแห่งอ็องฌูเฮนรีที่ 6เอ็ดมันด์ ทิวดอร์มาร์กาเรต โบฟอร์ตเฮนรี โบฟอร์ทเอ็ดมันด์ โบฟอร์ท
เอ็ดเวิร์ดที่ 4เอลิซาเบธ วูดวิลล์จอร์จ แพลนทาเจเน็ทอิสซาเบล เนวิลล์ริชาร์ดที่ 3แอนน์ เนวิลล์เอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์
เอ็ดเวิร์ดที่ 5เอลิซาเบธแห่งยอร์คเฮนรีที่ 7
ทิวดอร์
ราชวงศ์ทิวดอร์
  1. โอรสองค์ที่ 4 ทอมัสแห่งวูดสตอกมีพระชนมายุน้อยสุด
  2. โอรสองค์แรก
  3. โอรสองค์ที่ 2
  4. โอรสองค์ที่ 3

ข้อมูล:[20][21][22]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wagner & Schmid 2011.
  2. Guy 1990, a leading comprehensive survey
  3. McCaffrey 1984.
  4. 4.0 4.1 ต่อหลังแปรพักตร์จากแลงคัสเตอร์
  5. Rowse, pp.123-124
  6. Rowse, p.125
  7. Farquhar, Michael (2001). A Treasure of Royal Scandals, p.131. Penguin Books, New York. ISBN 0-7394-2025-9.
  8. Rowse, p.136
  9. 9.0 9.1 Rowse, p.138
  10. Rowse, p.140
  11. Rowse, pp.155-156
  12. Rowse, p.162
  13. Baldwin, p.43
  14. Baldwin, p.56
  15. Rowse, p.186
  16. Rowse, p.199
  17. Rowse, p.198
  18. Rowse, p.212
  19. Terence Wise and G.A. Embleton, The Wars of the Roses, Osprey Men-at-Arms series, p.4, from K.B.MacFarlane, The Nobility of Later Medieval England, Oxford University Press
  20. Alchin, Linda. "Lords and Ladies". King Henry II. Lords and Ladies, n.d. Web. 6 February 2014. http://www.lordsandladies.org/king-henry-ii.htm.
  21. Barrow, Mandy. "Timeline of the Kings and Queens of England: The Plantagenets". Project Britain: British Life and Culture. Mandy Barrow, n.d. Web. 6 February 2014. http://projectbritain.com/monarchy/angevins.html.
  22. Needham, Mark. "Family tree of Henry (II, King of England 1154–1189)". TimeRef.com. TimeRef.com, n.d. Web. 6 February 2014. http://www.timeref.com/tree68.htm.
  • Haigh, Philip A. (1995). The Military Campaigns of the Wars of the Roses. ISBN 0-7509-0904-8.
  • Peverley, Sarah L. (2004). "66:1". Adapting to Readeption in 1470-1471: The Scribe as Editor in a Unique Copy of John Hardyng’s Chronicle of England (Garrett MS. 142). The Princeton University Library Chronicle. pp. 140–72.
  • Pollard, A.J. (1988). The Wars of the Roses. Basingstoke: Macmillan Education. ISBN 0333406036.
  • Rowse, A.L. (1966). Bosworth Field & the Wars of the Roses. Wordsworth Military Library. ISBN 1-85326-691-4.
  • Wagner, John A. (2001). Encyclopedia of the Wars of the Roses. ABC-Clio. ISBN 1-85109-358-3.
  • Weir, Alison (1998). Lancaster and York: the Wars of the Roses. ISBN 0-7126-6674-5.
  • Worth, Sandra (2003). The Rose of York: Love & War. ISBN 0-9751264-0-7. (A novelized account of the Wars of the Roses)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สงครามดอกกุหลาบ