สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 | |||||
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง | |||||
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275 (24 ปี) | ||||
รัชสมัย | 24 ปี | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ | ||||
พระมหาอุปราช | เจ้าฟ้าพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล | ||||
สมุหนายก | ดูรายชื่อ | ||||
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2221 | ||||
สวรรคต | พ.ศ. 2275 (54 พรรษา) | ||||
มเหสี | กรมหลวงราชานุรักษ์[1] พระองค์เจ้าทับทิม | ||||
พระราชบุตร | กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เจ้าฟ้าหญิงเทพ เจ้าฟ้าหญิงประทุม เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศร์ เจ้าฟ้าชายทับ พระองค์เจ้าชายเสฏฐา พระองค์เจ้าชายปริก พระองค์เจ้าหญิงสมบุญคง | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง | ||||
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี | ||||
พระราชมารดา | สมเด็จพระพันวษา |
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[2] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ หรือ พระเจ้าภูมินทราชา[3] หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275[4]
พระราชประวัติ
[แก้]สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีมะแม จุลศักราช 1040[5]: 365 ตรงกับ พ.ศ. 2221 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี กับพระอัครมเหสีพระนามว่าสมเด็จพระพันวษา[7] มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าพร และเจ้าฟ้าหญิง (ไม่ทราบพระนาม) พระองค์ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา (พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่งออกหลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากพระอัยกา (พระเพทราชา) ทรงครองราชย์และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2251 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่าพระเจ้าภูมินทราชา แต่จารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์ออกพระนามว่า พระบาทพระศรีสรรเพชญสมเด็จเอกาทศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[8] แต่ประชาชนมักออกพระนามว่าพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ต่อมาทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
พระนาม
[แก้]- สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง
- สมเด็จพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
- สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
- สมเด็จพระภูมินทราธิราช
- ขุนหลวงทรงปลา
- พระภูมินทราชา (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[9]: 510
- พระภูมินทรมหาราชาธิราช (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความย่อ หอพระราชกรมานุสร)[9]: 510
พระอุปนิสัย
[แก้]พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนดัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง[12]: 307
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระท้ายทรงมีพระนิสัยคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[13][14] กล่าวคือ :-
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทําปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือก [ทำที่กันเฝือก] ดักลอบ ดักไชย กระทำการต่าง ๆ ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ประพาสป่าฆ่าเนื้อนกเล่นสนุกด้วยดักแร้ว ดักบ่วง ไล่ช้าง ล้อมช้าง ได้ช้างเถื่อนเป็นอันมาก เป็นหลายวัน แล้วกลับคืนมายังพระนคร[12]: 310–311
เหตุการณ์ในรัชสมัย
[แก้]เจ้าฟ้าพรถวายราชสมบัติ
[แก้]ก่อนที่กรมพระราชวังบวร ฯ พระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าเพชร) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงมอบเวนราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าพร[15]: 186 ขณะทรงพระประชวรหนักก่อนจะเสด็จสวรรคคต เนื่องจากทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ พระมหาอุปราช หลังจากเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรทรงมิได้กระทำตามรับสั่งของสมเด็จพระราชบิดาแล้วทรงถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเพชร ด้วยทรงดำริว่า เจ้าฟ้าเพชรทรงเป็นพระเชษฐามีสิทธิโดยชอบในราชบัลลังก์ แต่ทรงมีข้อตกลงว่าเมื่อใดที่พระเชษฐาเสด็จสวรรคตแล้วหากพระอนุชายังมีพระชนม์อยู่ จะต้องยกราชสมบัติคืนให้แก่พระอนุชาสืบราชบัลลังก์ต่อไป เจ้าฟ้าเพชรก็ทรงรับมอบราชสมบัติแล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในรัชกาลพระองค์จึงเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยดี[16]: 118
พงศาวดารเรื่อง ไทยรบพม่า ว่าด้วยเรื่องมูลเหตุที่จะเกิดรบกับพม่าคราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ กล่าวว่า :-
เดิมเมื่อพระเจ้าเสือประชวรจะสวรรคต ทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าเพ็ชรพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช จึงมอบเวนราชสมบัติพระราชทานเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสองค์น้อย ซึ่งเป็นพระบัณฑูรน้อย แต่พระบัณฑูรน้อยยอมถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐา พระมหาอุปราชจึงเสด็จขึ้นผ่านพิภพทรงพระนามว่า สมเด็จพระภูมินทรราชา[17]: 52
และ ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง กล่าวว่า :-
ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเพทราชา ทรงมีพระราชโอรสหลายพระองค์ พระองค์ไม่พอพระทัยในราชโอรสองค์โต จึงทรงแต่งตั้งโอรสองค์ที่สองเป็นวังหน้าพระราชโอรสองค์นี้ทรงแสดงพระองค์ว่า มีค่าเหมาะสมกับราชบัลลังก์จริง ๆ โดยปฏิเสธที่จะสืบราชบัลลังก์ซึ่งแย่งจากพระเชษฐา พระองค์ทรงยื่นข้อเสนอว่า ถ้าพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์จึงจะตกแก่พระองค์ ข้อเสนอนี้เป็นที่ยอมรับ[18]: 137
สำเร็จโทษพระองค์เจ้าดำ
[แก้]ต้นรัชกาลหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา (พระราชพงศาวดารไทยว่า พระองค์เจ้าดำ เป็นพระบิดาของกรมขุนสุรินทรสงคราม[19]: 265 [9]: 345 ) ทรงกระทำฝ่าฝืนเข้าไปในบริเวณพระราชฐานต้องห้าม สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงปรึกษากับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เพื่อชำระความผิดตามพระราชอาญาจึงรับสั่งให้จับพระองค์เจ้าดำนำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์แล้วให้นำพระศพไปฝังที่วัดโคกพระยาตามราชประเพณีโดยไม่มีการจัดพระเมรุพระศพ
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า :-
เจ้าพระองค์ดำนั้นกระด้าง ลางทีเสด็จเข้าในออกนอกขึ้นบังลังก์กลาง ไม่สู้เกรงกลัวพระราชอาชญาเลย จึ่งทรงพระกรุณาสั่งให้สำเร็จเสียด้วยท่อนจันทน์[20]: 395–396
ส่วนพระองค์เจ้าแก้ว บาทบริจาริกาของพระองค์เจ้าดำเป็นหม้ายจึงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวชเป็นภิกษุณีอยู่กับกรมพระเทพามาตย์ (กัน) ณ พระตำหนักวัดดุสิดารามนิวาสสถานเดิมของเจ้าแม่วัดดุสิต[21]
ไข้ทรพิษระบาด พ.ศ. 2256
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2256 เกิดไข้ทรพิษระบาดในรัชกาลพระองค์[22] กินระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้มตายจำนวนมาก และระหว่างเกิดไข้ทรพิษระบาดก็ยังเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงที่สุดจนแทบหาซื้อไม่ได้ แม้ว่าราคาข้าวในรัชกาลพระองค์เคยเป็นยุครุ่งเรืองในการค้าข้าวและยังมีราคาถูกที่สุดเพียงเกวียนละ 7 บาทกว่า[23] ก็ตาม ปรากฏหลักฐานชั้นต้นในจดหมายมองซิเออร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการ คณะต่างประเทศ วันที่ ๑๔ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๑๒ (พ.ศ. ๒๒๕๕) และจดหมายของมองซิเออร์เดอบูร์ ถึง มองซิเออร์เตเชีย วันที่ ๑๐ เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๑๓ (พ.ศ. ๒๒๕๖) ความว่า[24]
เมื่อต้นปีนี้ได้เกิดไข้ทรพิษขึ้น ซึ่งกระทำให้พลเมืองล้มตายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งการที่ข้าวยากหมากแพงก็ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ตามปกติในปีก่อนๆ ข้าวที่เคยซื้อกันได้ราคา ๑ เหรียญนั้น บัดนี้ ๑๐ เหรียญ ก็ยังหาซื้อเกือบไม่ได้
พระเจ้ากรุงกัมพูชาเข้ามาพึ่งและการยกทัพตีกรุงกัมพูชา
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2259 รัชกาลพระศรีธรรมราชาที่ 2 (นักเสด็จ) หรือ พระธรรมราชาวังกะดาน[12]: 308 เสด็จเสวยราชสมบัติปกครองกรุงกัมพูชา ครั้งนั้นพระแก้วฟ้าที่ ๓ (นักองค์อิ่ม) ซึ่งถูกถอดออกจากราชบัลลังก์ก่อกบฏจะทำสงคราม พระศรีธรรมราชาที่ 2 กับพระองค์ทอง พระอนุชาร่วมกันทำสงครามต้านกบฏแต่ไม่สำเร็จ จึงเสด็จหนีฝ่าวงล้อมเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและขอกองกำลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จไปสู้รบกับพระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) ที่ได้ขึ้นครองราชย์กรุงกัมพูชา[12]: 308 ครั้งนั้นสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงมีรับสั่งให้พระศรีธรรมราชาที่ 2 เข้าเฝ้าแล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค และบ้านเรือนให้พำนักใกล้วัดค้างคาว[12]: 309
เมื่อ พ.ศ. 2261 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงจัดทัพหมายจะตีกรุงกัมพูชาเพื่อช่วยให้พระศรีธรรมราชาที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง มีรับสั่งให้มหาดไทยและกลาโหมเกณฑ์กองทัพ 20,000 คน พร้อมช้างม้า โปรดให้ เจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) หรือ เจ้าพระยาจักรีบ้านโรงฆ้อง[20]: 397 เป็นแม่ทัพบก พร้อมกำลังพล 10,000 ช้าง 300 เชือก ม้า 400 ตัว พร้อมสรรพาวุธต่างๆ ให้พระพิชัยรณฤทธิ์เป็นนายพลทหารทัพหน้า ให้พระวิชิตณรงค์เป็นยกกระบัตร ให้พระพิชัยสงครามเป็นนายกองเกียกกาย ให้พระรามกำแหงเป็นนายกองทัพหลัง ให้ พระยาโกษาธิบดีจีน (ลูกจีน)[20]: 397 เป็นแม่ทัพเรือ นำกองพล 10,000 คน เรือรบ 100 ลำ พร้อมพลแจวและสรรพาวุธ โปรดให้ยกทัพไปตีเมืองกัมพูชา[12]: 309
บันทึกร่วมสมัยของพ่อค้าชาวสก๊อตแลนด์[25]: 234 ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระชื่อ กัปตัน อะเล็กซานเดอ แฮมินตันกล่าวถึง พระยาโกษาธิบดีจีน ว่า:-
ในปี ๑๗๑๗ พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทําสงครามกับประเทศกัมพูชา และให้กองทัพยกพลประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน และกองทัพเรือ ๒๐,๐๐๐ คน ยกไปให้กองทัพทั้งสองนี้อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาพระคลังผู้ซึ่งเป็นจีนไม่มีความรู้ในการสงครามเลย จีนผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งด้วยความไม่เต็มใจที่สุด แต่คําสั่งของพระเจ้าแผ่นดินย่อมขัดขืนไม่ได้[26]: 25
ครั้นกองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาของพระยาโกษาธิบดีจีนได้ยกทัพมาถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ ได้เข้าโจมตีกับทหารเวียดนามเป็นสามารถ ทหารเวียดนามล้มตายจำนวนมากแต่ฝ่ายเวียดนามเสริมกำลังเรือรบเพิ่มอีกมา พระยาโกษาธิบดีจีนกำลังไม่แข็งกล้าจึงถอยทัพเรือหนีไป กองกำลังฝ่ายเวียดนามจึงเข้าโจมตีจนกองทัพกรุงศรีอยุธยาถอยแตกหนี เสียเรือรบปืนใหญ่น้อยให้กับฝ่ายเวียดนามจำนวนมาก
ครั้นกองทัพหลวงของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) มีรี้พลมาถึงได้ตั้งค่ายอยู่ใกล้เมืองกัมพูชาห่างประมาณ 80 – 90 เส้น ส่วนทัพหน้าของพระพิชัยรณฤทธิ์ ถือพลจำนวน 3,000 คน มีรี้พลออกไปสู้รบนำหน้าไปก่อน ทัพพระพิชัยรณฤทธิ์ได้เข้าตีต่อกับทหารกัมพูชาและเวียดนามจนมีชัย ทหารฝ่ายข้าศึกหลายแห่งก็ล้มตายจำนวนมาก พระพิชัยรณฤทธิ์จึงเคลื่อนพลไล่ติดตามต่อเข้าไปอีก ตีได้หัวเมืองมากมาย ฝ่ายทัพหลวงของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) ก็เร่งเสริมกำลังพลทหารยกเข้าไปหนุนตีต่อจนฝ่ายข้าศึกตกใจกลัวไม่อาจสู้รบต้านทานได้จึงแตกพ่ายหนีไป ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยามีชัยชนะได้กำลังเสริม ช้างม้า และสรรพาวุธต่างๆ จำนวนมาก ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงไล่ติดตามต่อไปแล้วจึงตั้งค่ายล้อมรักษาเมืองกัมพูชาไว้อย่างมั่นคง[12]: 309
ครั้งนั้น เจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) แม่ทัพบกคิดอุบายให้กษัตริย์กรุงกัมพูชาว่าจะสร้างสัมพันธไมตรีต่อกัน จึงแต่งหนังสือพร้อมส่งทูตไปบอกความแก่พระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) กษัตริย์กรุงกัมพูชาทราบความในหนังสือนั้นก็ดำริว่าจะพ้นภัยอันตรายจึงรับสั่งว่าจะถวายดอกไม้เงินทองยอมเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ)ทราบความพระดำริของพระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) จึงเลิกทัพกลับมายังกรุงศรีอยุธยาและให้พระแก้วฟ้าที่ 3 เข้ามาถวายดอกไม้เงินทองแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเป็นที่พอพระทัยเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) และนายทัพนายกองได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลจำนวนมาก แต่พระยาโกษาธิบดีจีนไม่เป็นที่พอพระทัยมาก ทรงพระพิโรธแล้วรับสั่งให้พระยาโกษาธิบดีจีนชดใช้อาวุธยุโธปกรณ์ เรือรบต่างๆ ที่เสียให้กับฝ่ายข้าศึกทั้งหมด [12]: 309
หลังจากทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับ พระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) ถูกบรรดาขุนนางในราชสำนักเหยียดหยามว่าแปรพักตร์และไม่พอใจให้ปกครองกรุงกัมพูชา กระทั่ง พ.ศ. 2265 พระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) ยอมสละราชสมบัติให้นักองค์ไชย พระราชโอรสปกครองกรุงกัมพูชาแทน ราชสำนักกัมพูชาเกิดความวุ่นวายและทำสงครามบ่อยครั้งเป็นเหตุให้ดินแดนกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม ทั้งยังถูกแทรกแซงและแย่งที่ดินทำกิน[27]: 179–181
ราชทูตสเปนเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2261 พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน ทรงแต่งคณะราชทูตสเปนประจำกรุงมะนิลา[28]: 48 หัวเมืองขึ้นของสเปนจำนวน 220 คน[29] โดย คอน เกรกอริโอ บุสตามันเต บุสติลโย (สเปน: Gregorio Alexandro Bustamante Bustillo) หลานชายของ เฟอร์นันโด มานูเอล บุสตามันเต บุสติลโย (สเปน: Fernando Manuel Bustamante Bustillo) ข้าหลวงใหญ่ประจำกรุงมะนิลาเป็นหัวหน้าคณะทูต พร้อมเรือกำปั่น 2 ลำ[30]: 38 โปรดให้เชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเพื่อขอนำเข้าข้าวจากกรุงสยามอันเนื่องมาจากนาข้าวของกรุงมะนิลาเสียหายจากการระบาดของตั๊กแตนตั้งแต่เมืองปังกาซีนันจนถึงหมู่เกาะปาไนย์จนขาดแคลนข้าว รื้อฟื้นความสัมพันธ์[31]: 61 อำนวยความสะดวกด้านการค้าเฉกเช่นประเทศอื่นๆ[32] และยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยา[29] เรือกำปั่นของสเปนออกเดินทางจากกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2261 ฤดูร้อน มาถึงอ่าวสยามบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 3 เมษายน วันต่อมาออกญาโกษาธิบดี (จีน) ว่าการพระคลัง ได้ให้การต้อนรับพร้อมแจ้งระเบียบราชสำนัก และอนุญาตให้คณะทูตสเปนเดินเรือขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา[31]: 62–63
คณะราชทูตสเปนเดินเรือจากบางกอกมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงให้การต้อนรับคณะทูตสเปนอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติแล้วโปรดพระราชทานสิ่งของกำนัลจำนวนมาก คณะทูตสเปนต่างได้รับการปรนนิบัติอย่างฟุ่มเฟือยเป็นที่เกษมสำราญ ต่อมา หลวงมงคลรัตน์จีน กับ กีแยร์โม ดันเต (สเปน: Guillermo Dante) เป็นผู้เชิญพระราชสาส์นแปลถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ การเตรียมการเจรจาข้อตกลงสนธิสัญญาต่างๆ ทางการทูตเริ่มเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน อีก 2 วันต่อมา สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีพระราชดำริถึงความเร่งด่วนเรื่องกรุงมะนิลาขาดแคลนข้าว มีรับสั่งให้ส่งเรือสินค้าข้าวสารล่วงหน้าไปยังกรุงมะนิลาจำนวน 2 ลำ การเจรจาครั้งนั้น โปรดให้จัดการต้อนรับเลี้ยงคณะทูตสเปนเป็นเวลา 81 วัน ระหว่างนี้คณะราชทูตได้เข้าชมพระมณฑปจตุรมุขภายในพระราชวัง (The Great Pagoda)[33]: 127 แล้วจึงโปรดให้เข้าเฝ้า[31]: 68 การเจรจาทางการทูตครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี
ครั้งนั้น สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระพระราชทานที่ดินบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา[34]: 140 จำนวน 64 ตารางบราซ (Brazas) ตั้งอยู่ทางตะวันออกห่างจากแม่น้ำ 100 บราซ (Brazas) ซึ่งแต่เดิมเป็นค่ายญี่ปุ่น ให้แก่คณะทูตสเปนเพื่อสร้างโรงงานค้าขาย และไว้ต่อเรือ (ต้นทุนค่าต่อเรือในกรุงสยามมีราคาเพียง 35,000 เปโซ ขณะที่กรุงมะนิลาราคา 150,000 เปโซ[31]: 70 ) โปรดให้ชาวกรุงศรีอยุธยาจัดหาไม้เลื่อย ไม้สัก และเหล็กอีกด้วย ครั้นการสร้างโรงงานเสร็จสิ้น คณะราชทูตสเปนจึงได้เดินทางกลับกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2261 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระพระราชทานของกำนัลมากมาย และข้าวสารจำนวน 70 คอลล่า (Collas)[31]: 71 แล้วทรงตั้งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาให้เดินทางพร้อมไปด้วย แต่ระหว่างเดินทางคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยากลับได้รับการปฏิบัติที่เลวมาก[34]: 140 แม้แต่ผู้ว่าราชการบุสตามันเตก็ไม่ได้ใส่ใจกับคณะทูตกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นคนแปลกหน้า คณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเกิดความไม่พอใจจึงเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาด้วยความโกรธ และเต็มไปด้วยความขุ่นเคือง และไม่ปรารถนาคบค้าสมาคมกับพวกสเปนอีกต่อไป[34]: 140 ทว่าการต้อนรับคณะทูตสเปนครั้งนั้นทำให้เรือของกรุงศรีอยุธยาได้ออกไปค้าขายถึงกรุงมะนิลาเป็นครั้งคราว[30]: 38
หมายเหตุ รายงานคณะทูตสเปนเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสระได้รับการตีพิมพ์ในกรุงมะนิลาเมื่อ ค.ศ. 1719 (พ.ศ. 2262) ปรากฏในรายงานชื่อ La Breve y puntual Relación de la Embajada, que executó en Siam el General Don Alejandro de Bustamante, Bastillo, y Me-dinilla, Manjón de Estrada, Señor y Mayor de las Casas de su apellido: con una epilogada descripción de aquel Reyno, y sus costumbres; y otra muy sucinta de las Islas Philippinas, sus servicios en ellas, y alguna parte de los trabajos, e infortunios, que después la han seguido, (en adelante, Breve). Manila, 1719.[35][36]
ส่งราชทูตไปกรุงจีน
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2263 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พระนามใน จดหมายเหตุรัชกาลเซิ่งจู่ มีชื่อว่า เซินเลี่ยไพเจ้าก่วงไพหม่าฮูลู่คุนซือโหยวถียาผูอาย หรือ เซินเลี่ยไพ)[37]: 120 ทรงแต่งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเป็นชุดแรก โปรดให้เดินทางโดยเรือไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนเมื่อปลายรัชสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง เมื่อคณะราชทูตเดินทางถึง หยังจงเหยิน ข้าหลวงกว่างตงถวายรายงานต่อกรมพิธีการกรุงจีน (อังกฤษ: Li bu; จีน: 禮部) ว่า ชุดเดินทางของคณะราชทูตกรุงสยามชุดนี้มีบุคคลชื่อ กัวอี้ขุย กับพวกรวม 156 คน ซึ่งเป็นชาวฝูเจี้ยน และกว่างตงติดเรือมาด้วย ขอโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจสอบแล้วสั่งให้กลับไปฝูเจี้ยนและกว่างตงภูมิลำเนาเดิมนั้น ให้คณะราชทูตกรุงสยามชุดนี้กลับไปยังกรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วส่งพระราชสาส์นถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระให้ทรงทราบ เมื่อมีเรือเดินทางจากกรุงศรีอยุธยามาถึงกรุงจีน จึงให้ กัวอี้ขุย กับพวก ตลอดจนชาวจีนที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยากลับไปยังฝูเจี้ยนและกว่างตง ภูมิลำเนาเดิม[37]: 119 สาเหตุเหตุของการเรียกชาวจีนกลับภูมิลำเนาเดิมนั้น เพราะเป็นพระราโชบายของจักรพรรดิจีนทุกราชวงศ์ที่ห้ามชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานโพ้นทะเล[38]: 114
เมื่อ พ.ศ. 2265 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงแต่งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาชุดที่สอง (นับเป็นครั้งแรกที่มีรายงานของคณะทูตบรรณาการ) ให้ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนเมื่อปลายรัชสมัยจักรพรรดิคังซี เมื่อคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปถึง พระเจ้ากรุงจีนโปรดพระราชทานเลี้ยง และพระราชสิ่งของตามธรรมเนียม ครั้นคณะราชทูตสยามได้เข้าเฝ้า จึงกราบทูลถวายจักรพรรดิคังซี พระเจ้ากรุงจีนว่า ดินแดนสยามมีข้าวอุดมสมบูรณ์และมีราคาถูก[39]: 16 ใช้เงินเพิง 2-3 เฉียน (เงินหน่วยย่อยของจีนโบราณ) สามารถซื้อข้าวเปลือกได้ 1 ตั้น (1 ตั้น หรือ ต่า หมายถึง 1 หาบจีน หรือเท่ากับ 50 กิโลกรัมในสมัยโบราณ)[40]: 179 ในขณะเดียวกันทางตอนใต้ของจีนก็กำลังประสบปัญหาความอดอยาก และสภาพแห้งแล้ง[39]: 16
จักรพรรดิคังซี ทรงฟังแล้วจึงประกาศพระราชดำรัสต่อเสนาบดีจีนว่า ชาวเสียนหลอ [คณะราชทูตกรุงศรีอยุธยา] กล่าวว่ามีข้าวอุดมสมบูรณ์ในแผ่นดินของตน และเงินหนักสองสามออนซ์สามารถแลกข้าวได้หนึ่งหาบ เราจึงสั่งให้ส่งข้าวสารมายังมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และเจ้อเจียง เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อท้องที่เหล่านั้น มีการส่งข้าวสาร 30,000 หาบ ไปตามวัตถุประสงค์ของทางการ และข้าวสารเหล่านี้ก็ได้รับการยกเว้นภาษี[41]: 120 แล้วมีพระราชดำรัสตอบคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาว่า :-
ในเมื่อดินแดนของท่านมีข้าวมากก็ให้ส่งมาสักสามแสนตั้น ไปยังฝูเจี้ยน กว่างตง และหนิงปอ แล้วนำออกขาย ถ้าหากสามารถส่งมาได้จริงตามนั้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างมาก ข้าวสามแสนตั้นนี้เป็นข้าวที่ขนส่งในนามของทางราชการให้ยกเว้นภาษี[37]: 120
ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา คณะราชทูตยังซื้อผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา และทองเหลืองกลับมาด้วย[42]
เมื่อ พ.ศ. 2267 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระโปรดให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายจักรพรรดิยงเจิ้ง มีพันธุ์ข้าว ไม้ผล และสิ่งของต่างๆ และรับสั่งให้กลุ่มชาวจีน 96 คน ให้บรรทุกข้าวทางเรือมาขายที่มณฑลกว่างตง เมืองจีน จักรพรรดิยงเจิ้งจึงมีพระดำริสรรเสริญสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่าทรงไม่ย่อท้อต่อความลำบาก ทรงแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมอย่างน่าสรรเสริญ แล้วโปรดให้นำข้าวที่บรรทุกมาจากสยามออกขายโดยไม่ต้องเสียภาษี และห้ามไม่ให้กลุ่มพ่อค้าซื้อถูกแล้วนำไปขายแพงแล้วยังทรงหยุดนำเข้าข้าวชั่วคราวเป็นการแสดงความเอื้ออาทรของพระองค์ต่อกรุงสยามอีกด้วย จักรพรรดิยงเจิ้งมีพระบัญชาว่า :-
การที่กษัตริย์เซียนหลัว [พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา] มาถวายพันธุ์ข้าว ไม้ผล และสิ่งอื่น ๆ โดยไม่ย่อท้อต่อความลำบากในการเดินทางไกลและมีภยันตราย นับว่าเป็นแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมอย่างน่าสรรเสริญ สมควรกำนัลสิ่งของให้ ส่วนข้าวที่ส่งมานั้น ให้ขุนนางท้องถิ่นจัดให้นำออกขายโดยเร็วตามราคาในขณะนั้นของมณฑลกว่างตง ไม่ให้หัง [ห้าง] เพิ่มหรือกดราคาตามอำเภอใจ การซื้อถูกขายแพงมิใช่เจตนาของเราที่จะแสดงความเอื้ออาทรต่อประเทศเล็ก หลังจากนี้ไปแล้วให้หยุดการนำเข้าข้าวไว้ก่อน จนกว่าจะต้องการข้าวอีก และเมื่อมีคำสั่งอย่างไรก็ให้ปฏิบัติตามนั้น สำหรับสินค้าอับเฉา [สิ่งของที่ใช้ถ่วงน้ำหนักในเรือ] ที่มาพร้อมกับเรือนั้น ให้ยกเว้นภาษีทั้งหมด ส่วนสีควน หัวหน้าลูกเรือและลูกเรืออื่นๆ รวมเก้าสิบหกคน แม้จะเป็นชาวกว่างตง ฝูเจี้ยน และเจียงซี [กังไส] แต่ได้อาศัยในเซียนหลัว [กรุงศรีอยุธยา] มาหลายชั่วคน ต่างมีครอบครัว ยากที่จะบังคับให้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม จึงอนุญาตให้ตามที่ขอคงให้อยู่ในเซียนหลัวต่อไปโดยไม่ต้องกลับภูมิลำเนา เป็นการผ่อนผันให้[37]: 121
ครั้งนั้นจักรพรรดิยงเจิ้งโปรดพระราชทานกำนัลแพรต่วน และแพรแสเป็นพิเศษถวายแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และพระมเหสี รวมทั้งพระราชทานสิ่งของกำนัลแก่กัปตันเรือและคณะ เมื่อ พ.ศ. 2271 ฉางไล่ ข้าหลวงฝูเจี้ยน ถวายความเห็นต่อพระเจ้ากรุงจีนว่าสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีพระทัยเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ เห็นควรอนุญาตให้นำข้าวและสินค้าออกขายในมณฑลเซี่ยเหมิน โดยให้เก็บภาษีตามระเบียบและจัดให้มีผู้กำกับควบคุม หากมีเรือบรรทุกสินค้ามาจากกรุงศรีอยุธยาก็ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบนี้ จักรพรรดิยงเจิ้ง ทรงเห็นด้วยตามข้อเสนอผ่อนผันให้ยกเว้นภาษีข้าวสาร และพืชธัญญาหาร[37]: 122
เมื่อ พ.ศ. 2272 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระแต่งคณะราชทูตมาถวายพระสุพรรณบัฏ และเครื่องราชบรรณาการเป็นสิ่งของพื้นเมือง เช่น ซู่เซียง [ไม้เนื้อหอม] กำยาน จีวรพระ และผ้าพับ มาถวายจักรพรรดิยงเจิ้ง พระเจ้ากรุงจีนทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงความจริงใจของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ โปรดให้รับเครื่องราชบรรณาการ แต่สิ่งของพื้นเมืองนั้นทรงมิได้ใช้ในราชสำนักจีน ตรัสว่ามิจำเป็นต้องนำมาถวายเป็นราชบรรณาการอีก[37]: 123 แล้วทรงแต่งเครื่องราชบรรณาการถวายแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ประกอบด้วย ผ้าไหม ผ้าแพร ภาชนะหยก ถ้วยชามจีน และแผ่นจารึกคำสดุดีว่า เทียนหนานโลหว๋อ หรือ เทียนหลำลกก๊ก[43]: 51 หมายถึง เมืองสวรรค์ทางทิศใต้[38]: 114 หรือ ประเทศสุขสำราญอยู่ข้างฟ้าฝ่ายทิศใต้[43]: 51 แล้วมีพระบรมราชโองการว่า :-
ไทยนั้นอยู่ไกล และเส้นทางเดินเรือก็ยากลำบาก และเต็มไปด้วยอันตราย การส่งบรรณาการเป็นงานที่ยุ่งยาก เราปรารถนาที่จะแสดงความกรุณาของเราต่อประเทศราชที่อยู่ห่างไกลโดยให้ลดจำนวนเครื่องราชบรรณาการลง แต่เนื่องจากพวกเขาได้นำบรรณาการมาแล้วในเวลานี้ จึงไม่เหมาะที่จะขนกลับไปอีก เพราะฉะนั้นเราก็จะขอรับไว้...[38]: 114
แล้วโปรดให้กรมพิธีการกรุงจีนมีหนังสือกราบทูลถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงทราบ[37]: 123 ตลอดรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระโปรดให้ส่งคณะราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับกรุงจีนทั้งสิ้น 4 ครั้ง[38]: 113
ขุดคลองมหาชัย
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2264 ปีฉลู ครั้นสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเบ็ดปลาที่ปากน้ำท่าจีน เมื่อถึงคลองมหาชัย ทรงทอดพระเนตรเห็นคลองนี้ยังขุดไม่เสร็จตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี เดิมขุดไว้เมื่อปีระกาศักราช 1067 (พ.ศ. 2248) กำหนดความกว้าง 8 วา ลึก 6 ศอก ยาว 340 เส้น แต่ขุดไปได้ 6 เส้น สมเด็จพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน[44]: 154
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระก็ทรงดำริให้ขุดคลองมหาชัย จึงมีรับสั่งให้พระราชสงคราม (ปาน) เป็นนายกองจัดการเกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองใต้ 7 หัวเมือง[note 1] ได้กำลัง 30,000 คน เมื่อถึงคลองมหาชัย พระราชสงคราม (ปาน) มีบัญชาการให้ เมอสิเออร์ปาลู[46]: 369 [10]: 13 กัปตันชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นข้าหลวงในกรุงศรีอยุธยาดำเนินการส่องกล้องแก้ว 5 ชั้น มองดูเสาธงที่ปักไว้เป็นกรุยเป็นสำคัญ แล้วให้สังเกตุที่ตรงปากคลองข้างใต้บริเวณที่ยังไม่ได้ขุด รังวัดแล้วนับได้ 340 เส้น (13.6 กม.)[47]: 32 ส่วนที่ขุดแล้วนั้นรังวัดได้เพียง 6 เส้น (240 เมตร) เท่านั้น แล้วจึงกำหนดให้ขุดคลองลึก 6 ศอก และกว้างเท่ากับรอยขุดเดิมที่ค้างไว้ ใช้เวลาขุด 2 เดือน จึงขุดคลองมหาชัยแล้วเสร็จ[12]: 311
หลังการขุดคลองมหาชัยเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว พระราชสงคราม (ปาน) เข้าเฝ้าทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระก็ทรงปิติยินดีพอพระทัย จึงเลื่อนพระราชสงคราม (ปาน) เป็นพระยาราชสงคราม (ปาน) และพระราชทานเจียดทอง เสื้อผ้าเงินทองเป็นจำนวนมาก[12]: 312 คลองที่ขุดเพิ่มตอนที่หนึ่ง (ตั้งแต่ปากคลองทิศเหนือถึงโคกขาม) พระราชทานนามว่า คลองพระพุทธเจ้าหลวง[48]: 95 (ทรงตั้งชื่อนี้เพราะขุดค้างมาแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[49]: 130 ) ส่วนตอนที่สอง (โคกขามถึงเมืองสาครบุรี หรือจังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน) พระราชทานนามว่า คลองมหาชัยชลมารค[48]: 95 [50]: 76 ชื่อคลองมหาชัยนี้ใช้เรียกกันมาถึงปัจจุบัน
การชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก
[แก้]มูลเหตุ
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2268 ปีมะเส็ง เกิดเหตุการณ์สายน้ำไหลมาทางด้านตะวันตก กัดเซาะจนตลิ่งพังเสียหายจวนใกล้จะถึงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) วัดป่าโมกวรวิหาร[51]: 215 พระราชมุนี[52]: 88 เจ้าอาวาสวัดป่าโมกในขณะนั้นจึงเข้ามากรุงศรีอยุธยาแล้วแจ้งมูลเหตุแก่พระยาราชสงคราม (ปาน) เจ้ากรมโยธา[53]: 441 ว่าเห็นจะพังลงน้ำหากตลิ่งยังถูกกัดเซาะไปอีกประมาณ 1 ปี แล้ว พระยาราชสงคราม (ปาน) จึงกราบทูลให้ทรงทราบเหตุ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงทรงปรึกษาเหล่าเสนาบดีทั้งปวง ทรงมีพระดำริหาหนทางแก้ไขว่าจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ไปก่อใหม่ หรือจะชะลอลากไปให้พ้นตลิ่ง ทรงตรัสว่า :-
เราจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ไปก่อใหม่จะดีหรือ ๆ จะชะลอลากไปไว้ในที่ควรจะดี[12]: 313
พระยาราชสงคราม (ปาน) กราบทูลว่ายังไม่ได้เห็นด้วยตัวเองจะขอถวายบังคมลาไปสำรวจดูก่อน ครั้นสำรวจดูแล้วเห็นทางแก้ไขได้จึงกลับมาเข้าเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่าเห็นพอจะชะลอองค์พระพุทธไสยาสน์ให้พ้นตลิ่งได้ พระยาราชสงคราม (ปาน) กราบทูลว่า :-
จะขอพระราชทานเจาะฐานพระเจ้า [องค์พระพุทธไสยาสน์] เป็นฟันปลา เจาะศอกหนึ่งไว้ศอกหนึ่ง เจาะให้ตลอดแล้วเอาไม้ยางหน้าศอกคืบยาว ๑๓ วา เป็นแม่สะดึงเข้าเคียงไว้ แล้วจึ่งเอาไม้ยางทำเป็นฟากหน้าใหญ่ศอกหนึ่ง หน้าน้อยคืบหนึ่ง สอดไปตามช่องซึ่งเจาะไว้นั้น พาดขึ้นบนหลังตะเฆ่ทุกช่องแล้วตราดติง แล้วจึ่งให้ขุดที่เว้นไว้ให้ตลอด เอาไม้ฟากสอดทุกช่องแล้วองค์พระเจ้าจะลอยขึ้นอยู่บนตะเฆ่[20]: 400–401
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จเข้าเฝ้าอยู่ได้ทรงฟังก็ดำริคัดค้านไม่เห็นด้วยกับพระยาราชสงคราม (ปาน) ทรงตรัสว่า หากพระพุทธไสยาสน์เป็นไม้พอจะเห็นด้วย แต่เป็นอิฐปูนองค์ใหญ่โต หากชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ไปทั้งพระองค์ แม้บั่นออกเป็น 3 ท่อน เอาไปทีละท่อนก็เอาไปไม่ได้ รื้ออิฐไปก่อใหม่เสียจะดีกว่า หากมีอันตรายแตกหักพังทลายจะเป็นการเสียพระเกียรติยศเลื่องลือไปนานาประเทศ[20]: 401 [12]: 313
พระยาราชสงคราม (ปาน) จึงกราบทูลขออาสาถวายชีวิตเป็นเดิมพัน จะขอชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ไม่ให้แตกพังให้จงได้ แต่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงกังวลพระทัยจึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระสังฆราชาคณะมาประชุมร่วมกัน พระสังฆราชาคณะปรึกษาว่า พระพุทธไสยาสน์ก่อเป็นองค์พระพุทธอยู่แล้วหากรื้อไปก่อใหม่ก็ไม่สมควร สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงทราบก็ทรงคล้อยตามพระสังฆราชาคณะ ดังนั้นจึงมีรับสั่งให้พระยาราชสงคราม (ปาน) จัด เตรียมการชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ เร่งพันเชือก ทำรอกกว้าน เครื่องมือตะเฆ่ ใช้เวลาเตรียมการ 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ[20]: 401
การเตรียมการ และการชะลอ
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2269 ปีมะเมีย ได้ฤกษ์งามยามดี สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดป่าโมก โปรดให้พระยาราชสงคราม (ปาน) รื้อพระวิหารแล้วให้ตั้งพระตำหนักตำบลบ้านชีปะขาว ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ประทับ และเสด็จทอดพระเนตรด้วย
ครั้นรื้อพระวิหารและตั้งพระตำหนักเสร็จ พระยาราชสงคราม (ปาน) จึงเกณฑ์คนไปตัดไม้เพื่อทำตะเฆ่แม่สะดึงจำนวนมาก แล้วถมที่สระ 2 แห่ง เอาช้างเหยียบพื้นให้แน่นเสมอกันแล้วปูพื้นด้วยกระดานหนา 2 นิ้วเพื่อใช้เป็นทางสำหรับลากตะเฆ่แม่สะดึงเข้าไป ทางนี้ถึงตัวองค์พระพุทธไสยาสน์ยาว 4 เส้น 10 วา (ประมาณ 180 เมตร) จากนั้นเจาะฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ให้เป็นช่องกว้าง 1 ศอก เว้นไว้ 1 ศอก ช่องสูง 1 คืบให้มีลักษณะเป็นฟันปลา แล้วเอาตะเฆ่แม่สะดึงสอดเข้าไปทั้งสองข้างแล้วร้อยไม้ขวางทางที่แม่สะดึงกลายเป็นตะเฆ่ 4 ล้อ แล้วสอดกระดานหนา 1 คืบหลังตะเฆ่ลอดช่อง แล้วดำเนินการขุดเจาะรื้อเอาอิฐซึ่งอยู่ระหว่างกระดานที่เว้นเป็นฟันปลาออกไป เอากระดานหนาสอดให้เต็มทุกช่อง ผูกรัดร้อยรึงกระหนาบให้มั่งคง ใช้เวลา 5 เดือนจึงเสร็จ เมื่อได้มงคลฤกษ์ดีแล้วให้เริ่มชะลอลากชักตะเฆ่รององค์พระพุทธไสยาสน์
ตะเฆ่แม่สะดึงที่ใช้ชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกครั้งนี้เป็นตะเฆ่ที่ใหญ่ที่สุด และใช้บรรทุกสิ่งของหนักที่สุดในประวัติศาสตร์อยุธยา[54]
เมื่อ พ.ศ. 2270 เดือนหกขึ้น 15 ค่ำ การชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์ดำเนินไปได้ครึ่งทาง (90 เมตร) สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงมีรับสั่งให้หยุดการชะลอลากแล้วโปรดให้มีการสมโภชวัดป่าโมก 3 วัน หลังจากนั้นมีรับสั่งให้ชะลอลากต่อ เมื่อพระยาราชสงคราม (ปาน) ชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์พ้นตลิ่งจนมาถึงที่เสร็จสมบูรณ์แล้วโปรดให้ดีดยกองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้นสูงประมาณศอกเศษ (ครึ่งเมตร) แล้วให้ก่ออิฐเป็นฐานรองรับองค์พระพุทธไสยาสน์ ให้ถอดฟากตะเข้ออก แล้วโปรดให้สร้างพระวิหาร พระอุโบสถ การเปรียญ กุฏิ ศาลา กำแพง หอไตร และฉนวนยาว 4 เส้น (160 เมตร) จำนวน 40 ห้อง มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ทำ 6 ปีจึงเสร็จ[12]: 314 แต่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระยังไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปฉลอง จารึกว่าป่าโมก หอพระสมุดวชิรญาณ กล่าวว่า ทรงพระประชวรหนัก[20]: 402
เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกได้สําเร็จ กรมพระราชวังบวรฯ มหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร) ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ [51]: 215 ชื่อ โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เมื่อ พ.ศ. 2270 เพื่อเทิดพระเกียรติ และสดุดีบุญญาธิการของพระเชษฐาธิราช[55]: 172
คณะบาทหลวงฝรั่งเศสถูกฟ้องร้อง และพวกเข้ารีตถูกจำคุก
[แก้]ภูมิหลัง
[แก้]ใน จดหมายเหตุของสังฆราชเตเซียเดอเคราเลว่าด้วยไทยกดขี่บีบคั้นคณะบาทหลวง[56] กล่าวถึงมูลเหตุที่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสถูกกดขี่บีบคั้นเมื่อ พ.ศ. 2273 ปลายรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมี 2 ประการ
มูลเหตุที่ 1 นายเต็ง บุตรของหลวงไกรโกษา[57] สังกัดกรมพระคลังฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[58] ซึ่งอยู่ในความอุปการะของ พระสังฆราชเตเซีย เดอ เคราเล ได้เข้ารีตเป็นบาทหลวงแล้วกระทำการหมิ่นพระอาญากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) โดยทูลตอบสวนพระดำรัสว่าพระผู้เป็นเจ้ามีอำนาจมากจะช่วยให้พ้นพระอาญากรมพระราชวังบวรฯ ได้ จึงถูกลงพระอาญาเฆี่ยน จำคุก แล้วถูกบังคับให้เลิกเข้ารีตให้มากราบพระพุทธรูปและบวชเป็นภิกษุ[56]: 65–68
มูลเหตุที่ 2 คณะสงฆ์ไม่สามารถตอบข้อปัญหาอรรถธรรม คุณความดี และอภินิหารของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ที่ปรากฏในหนังสือคริสต์ ซึ่งเชื้อพระวงศ์พระองค์หนึ่งได้ยืมหนังสือจากคณะบาทหลวงฝรั่งเศสไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ด้วยเชื้อพระวงศ์องค์นั้นทรงดำริว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงจะโปรดศาสนาคริสต์เช่นเดียวกัน[56]: 68–69
เหตุการณ์สืบเนื่อง
[แก้]ตั้งแต่นั้น สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และเสนาบดีได้ประชุมปรึกษาโต้เถียงเรื่องศาสนาอยู่หลายเดือนแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้[56]: 69 ทรงมีพระราชโองการตั้งกระทู้สอบสวนมูลเหตุคดีต่างๆ[56]: 71–84 กล่าวโทษคณะบาทหลวงฝรั่งเศส และกำหนดข้อห้าม 4 ข้อซึ่งคณะบาทหลวงฝรั่งเศสต้องปฏิบัติตาม[56]: 70 ดังนี้[59]: 163
- ไม่ให้เขียนหนังสือคาทอลิกเป็นภาษาสยามและภาษาบาลี
- ไม่ให้ประกาศศาสนาคาทอลิกแก่ชาวสยาม ชาวมอญ และชาวลาว
- ไม่ให้ชักชวนคนสามชาตินี้เข้าศาสนาคาทอลิกเป็นอันขาด
- ไม่ให้โต้แย้งศาสนาของชาวสยาม
แล้วโปรดให้ เจ้าพระยาพระคลัง ว่าความไต่สวนมูลคดี ระหว่างที่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสถูกสอบสวนคดีความจนยืดเยื้อนั้น ฝ่ายราชสำนักก็ได้จับกุมพวกเข้ารีตเรื่อยมา บ้างอพยพหนี บ้างถูกติดคุก แม้แต่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสก็ยังถูกข้าหลวงจากราชสำนักก่อกวนบีบคั้นจนได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2273 ข้าหลวงจากราชสำนักเข้าริบหนังสือสอนศาสนาที่แต่งเป็นภาษาไทย แต่ริบได้แค่บางเล่มล้วนไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา ส่วนหนังสือเกี่ยวด้วยศาสนาไทยถูกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสนำไปเผาไฟทิ้ง[56]: 81 ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ข้าหลวงคนโปรดของกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร) ให้คนมาตามบาทหลวงฝรั่งเศสแล้วบอกว่า เมื่อครั้งไต่สวนมูลคดีนั้น การที่พระสังฆราชฝรั่งเศสขออนุญาตจะกลับไปยังกรุงฝรั่งเศสเป็นเหตุให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และกรมพระราชวังบวรฯ ทรงกริ้วอย่างมาก[56]: 85 จึงแนะให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายเพื่อให้หายกริ้ว พระสังฆราช และคณะบาทหลวงฝรั่งเศสจึงไปขึ้นศาลไต่สวนคดีของเจ้าพระยาพระคลังพร้อมดอกไม้ธูปเทียนหมายจะถวายต่อสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเพื่อให้ทรงหายกริ้ว จึงกล่าวถ้อยความสำนึกผิด ไม่ได้คิดทุจริตแต่อย่างใด และจะยินยอมปฏิบัติตามข้อห้าม 4 ข้อตามพระราชโองการ[56]: 86–87 เจ้าพระยาพระคลังจึงให้เสมียนแต่งหนังสือทัณฑ์บนให้คณะบาทหลวงฝรั่งเศสอ่านแล้วลงนามยินยอม แต่คณะบาทหลวงฝรั่งเปลี่ยนใจจะไม่ยอมทำตาม ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) เห็นว่าพอมีทางจะกราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร) ได้ จึงเอาหนังสือทัณฑ์บนไปพับเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถอ่านข้อห้าม 4 ข้อนั้นได้ แล้วเจ้าพระยาพระคลังถามมูลเหตุการถวายดอกไม้ธูปเทียนก็กล่าวชมเชยสรรเสริญว่าคณะบาทหลวงฝรั่งเศสทำให้พระราชไมตรีระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศสจะได้ติดต่อกันอีก[56]: 88
ไม่กี่วันต่อมา เจ้าพระยาพระคลังกราบทูลกล่าวโทษขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ต่อสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ จึงทรงมีรับสั่งให้นำตัวขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ไปไต่สวนคดีด้วยเหตุที่คณะบาทหลวงไม่ยอมลงนามในหนังสือทัณฑ์บน สาเหตุเพราะขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) คนเดียว ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ได้ให้การแก้ตัวว่า หากนำหนังสือทัณฑ์บนออกอ่านเปิดเผยแล้ว พระสังฆราช และคณะบาทหลวงฝรั่งเศสคงจะร้องคัดค้านปฏิเสธข้อความตามหนังสือทัณฑ์บนนั้น หากกระทำเช่นนี้ พระสังฆราช และคณะบาทหลวงฝรั่งเศสจะมีความผิดโทษประหารชีวิต และต้องขาดพระราชสัมพันธไมตรีที่มีต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส[56]: 89 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงฟังถ้อยคำแก้ตัวแล้วก็ทรงนิ่งเฉย เหตุเพราะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จมาช่วยขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) มิเช่นนั้นขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) คงต้องถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนอย่างแน่[56]: 89–90 แล้วเจ้าพระยาพระคลังยังกล่าวโทษเพิ่มอีกว่า ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ได้รีดไถเอาเงินจากคณะบาทหลวงอีกด้วย (แต่เจ้าพระยาพระคลังได้รีดไถเอาเงินจากคณะบาทหลวงไปแล้วถึง 150 เหรียญ มีความผิดร้ายแรงกว่าขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) เสียอีก)[56]: 90
ต่อมา ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ขอร้องพระสังฆราชฝรั่งเศสว่าอย่าขัดขวางพระราชโองการอันมีข้อห้าม 4 ข้อ แต่พระสังฆราชฝรั่งเศสไม่ยินยอม กล่าวว่าจะเป็นการผิดศาสนาและขัดพระราชไมตรี ข้าราชการของเจ้าพระยาพระคลังก็พยายามเคี่ยวเข็ญพระสังฆราชฝรั่งเศสให้ลงนามหนังสือทัณฑ์บนแต่ก็ถูบไล่กลับไปทุกครั้ง[56]: 91–94
หลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงตั้งเจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ เจ้าพระยาพระคลังผู้นี้กราบทูลว่าพระสังฆราชฝรั่งเศสเป็นกบฏ เอาคำสั่งสอนมิจฉาทิฐิเที่ยวสอนให้แพร่หลาย และดูหมิ่นศาสนาพุทธ พวกเข้ารีตก็เพิ่มขึ้นทุกวัน จะขอพระบรมราชานุญาตขับไล่พระสังฆราชและมิชชันนารีฝรั่งเศสออกจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้หมดสิ้น[56]: 101–105 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงดำรัสถามเจ้าพระยาจักรีให้ทูลตามความพอใจและจริงใจได้
เจ้าพระยาจักรีจึงกราบทูลว่า :-
พวกสังฆราชฝรั่งเศส และพวกมิชชันนารีได้เข้ามายังพระราชอาณาจักรก็โดยที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ๆ ก็ได้เคยโปรดปรานพวกสังฆราชและมิชชันนารีฝรั่งเศสอยู่เสมอ การที่พวกสังฆราชและมิชชันนารีเที่ยวเทศนาสั่งสอนการศาสนานั้น ก็ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ๆ ได้พระราชทานพระราชานุญาตไว้ มาจนบัดนี้ก็ได้โปรดพระราชทานพระราชานุญาตอยู่อย่างเดิม การที่หาว่าพวกสังฆราชและมิชชันนารีทำความผิดนั้นก็ไมาได้ยินใครพูดเลย เพราะคนจำพวกนี้เป็นคนที่เรียบร้อยไม่ทำการเอะอะอย่างใด และทำความดีโดยแจกยาจนคนไทยเราทั้งเจ้าพนักงานและพระสงฆ์ ก็ได้รักษาโรคหายเพราะยาของพวกมิชชันนารีก็มาก จำนวนคนที่เข้ารีตมีจำนวนเล็กน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ควรสงสัย หรือหาความใส่พวกมิชชันนารีนี้เลย[56]: 106–107
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงได้ฟังเช่นนั้นก็ทรงกราบทูลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่าเจ้าพระยาจักรีกราบทูลโดยสติปัญญาเฉียบแหลม และทรงเห็นพ้องด้วย
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีรับสั่งว่า :-
ถ้าฉะนั้นต้องเอาเรื่องของคนทั้งหลายมากวนเราทำไม เมื่อการเป็นอยู่ดังนี้แล้ว ก็ปล่อยให้พวกเข้ารีตได้มีความสุขเสียบ้างเถิด และใครอย่าเอาเรื่องนี้มาพูดอีกต่อไป[56]: 107
แม้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงรับสั่งเช่นนี้แต่เจ้าพระยาพระคลังคนใหม่กลับไม่ยอมปล่อยพวกเข้ารีตออกจากที่คุมขัง กลับรีดไถเรียกเงินพวกเข้ารีตสูงถึงคนละ 600 เหรียญเป็นค่าไถ่ออกจากคุก พวกเข้ารีตไม่มีทุนทรัพย์จะไถ่ตัวเองจึงต้องติดคุกไปตลอดจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และพระสังฆราชฝรั่งเศสก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าประกันตัวแก่พวกเข้ารีตแก่เจ้าพระยาพระคลังได้[56]: 107–108
เจ้าฟ้าอภัยคิดแย่งชิงราชสมบัติ
[แก้]เมื่อคราวสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงชะลอพระพุทธไสยาสน์สำเร็จ พระองค์ทรงพระประชวรลงยังไม่เสด็จสวรรคต จึงมีพระบรมราชโองการตรัสมอบเวนราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) ให้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา[20]: 402 ด้วยเหตุว่าขณะนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาธิราชทรงผนวชอยู่เช่นเดียวกับกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) เป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงไม่พอพระทัย เว้นแต่หากทรงมอบเวนราชสมบัติแก่กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ก็จะทรงยอมให้แต่กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงไม่ยอมรับ และไม่ทรงลาผนวช เมื่อเจ้าฟ้าอภัยทรงรับราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้เจ้าฟ้าอภัยขึ้นราชาภิเษก[20]: 403 เจ้าฟ้าอภัยทรงทราบดีว่าพระราชปิตุลานั้นทรงไม่พอพระพระทัยเป็นแน่ ทรงปรารถนาจะทำสงครามสู้รบทำสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์
เจ้าฟ้าอภัยทรงปรึกษากับเจ้าฟ้าปรเมศร์ว่า :-
พระบิดาเราทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก เห็นจะทรงพระชนม์อยู่ไม่นาน ถ้าพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ราชสมบัติจะไปตกอยู่กับพระมหาอุปราช ควรเราซึ่งเป็นราชโอรสจะซ่องสุมผู้คนไว้ให้มาก เวลาพระบิดาสวรรคตแล้วจะได้ต่อสู้รักษาราชสมบัติไว้ มิให้ตกไปเป็นของพระมหาอุปราช และถึงในเวลานี้ก็ควรจะเกียดกัน [กีดกัน] อย่าให้พระมหาอุปราชเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนทราบพระอาการได้[60]: 369
เจ้าฟ้าอภัยจึงซ่องสุมกำลังผู้คนและช้างม้าจำนวนมากถึง 40,000 คนในวังหลวง[18]: 138 ส่วนกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซ่องสุมกำลังจำนวน 5,000 คนไว้ในวังหน้า[18]: 138 เจ้าฟ้าอภัยรับสั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ แม้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ให้เข้าเฝ้าได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ทรงระมัดระวัง และพยายามชักจูงเสนาบดีทั้ง 4 ฝ่ายให้อยู่ข้างพระองค์[18]: 138
หลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอภัยทรงปิดความเพื่อไม่ให้ข่าวการสวรรคตแพร่ออกไปแล้วทรงเตรียมสรรพาวุธและผู้คนให้พร้อมในพระราชวังหลวง โปรดให้ข้าราชการวังหลวงตั้งค่ายตั้งแต่คลองประตูข้าวเปลือกไปถึงคลองประตูจีน ให้ขุนศรีคงยศไปตั้งค่ายริมสะพานช้าง คลองประตูข้าวเปลือกฟากตะวันตก แล้วรักษาค่ายอยู่ที่นั้น [12]: 314 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสังเกตุได้ระแคะระคายว่าเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ทรงกีดกันคิดจะแย่งชิงราชสมบัติ จึงโปรดให้ข้าราชการวังหน้าเตรียมไพร่พลตั้งค่ายฟากคลองข้างตะวันออกเตรียมพร้อมที่จะทำสงคราม แต่ยังมิทรงออกพุ่งรบก่อนด้วยยังทรงไม่ทราบการสวรรคต และทรงเกรงกลัวจะเป็นกบฏต่อพระเชษฐาธิราชที่ทรงพระประชวรอยู่[60]: 370 เมื่อพระราชบุตรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จตรวจค่ายจนถึงค่ายขุนศรีคงยศฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย จึงมีรับสั่งให้ขุนเกนหัดยิงขุนศรีคงยศถึงแก่ความตายแล้วทูลพระราชบิดาว่าเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย[12]: 315
ฝ่ายข้าราชการทราบข่าวว่าจะเกิดสงครามในพระนคร ต่างพากันเข้ากับฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจำนวนมาก ด้วยพระองค์มีพระทัยโอบอ้อมอารี[60]: 370 ขณะนั้นมีผู้หนึ่งแต่งหนังสือลับการสวรรคตของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระหมายจะให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบความจริง ได้นำความลับนั้นไปผูกกับช้างต้นพระเกษยเดชแล้วปล่อยช้างออกพระราชวังหลวงไป ด้วยบุญญาภินิหาร ช้างตัวนั้นก็วิ่งข้ามน้ำตรงเข้าไปยังพระราชวังหน้า พวกข้าราชการจับช้างได้เห็นความหนังสือผูกติดกับช้างมาด้วยก็นำไปกราบทูลถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[60]: 371
ข้างฝ่ายวังหลวง พระมหามนตรีจางวาง พระยาธรรมาเสนาบดีกรมวัง และนายสุจินดามหาดเล็กได้แต่งหนังสือลับให้คนสนิทลอบไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ยกทัพมาพระราชวังหลวง ความว่า :-
พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่เวลาปฐมยาม เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์คิดการลับจะทำร้ายพระองค์ บรรดาข้าราชการพากันเบื่อหนายเอาใจออกหาก และย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เป็นอันมาก ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ[60]: 371
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบความหนังสือลืบ เวลาย่ามรุ่งโปรดเคลื่อนกำลังพลไปยังพระราชวังหลวงได้เข้าสู้รบกับเจ้าฟ้าอภัย ส่วนข้าราชการวังหลวงทั้ง 3 คนที่แต่งหนังสือลับลักลอบหนีไปยังตำบลบ้านตาลานโดยทางเรือแล้วยังลอบขนทรัพย์สินจากวังหลวง เช่น พระแสงชื่อ พระยากำแจกที่กำจัดภัย ทรัพย์สินมีค่า เสบียงอาหาร และข้าราชการคนสนิทไปด้วย[60]: 372 ภายหลังเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ถูกจับนำไปสำเร็จโทษให้สิ้นพระชนม์ด้วยท่อนจันทร์ตามราชประเพณี[12]: 317 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
การสวรรคต
[แก้]ระหว่างที่เจ้าฟ้าอภัยฝ่ายวังหลวงคิดแย่งชิงราชสมบัติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมที่จะพุ่งรบแล้วนั้น ทั้ง 2 พระองค์ต่างก็รอเวลาที่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จสวรรคต ไม่นานนักอาการพระประชวรแย่ลงจนแพทย์หลวงไม่สามารถวายการรักษาได้ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงเสด็จสวรรคตลงในปีจุลศักราช 1094 (พ.ศ. 2275)
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
ลุศักราชได้ ๑๐๙๔ ปีชวด จัตวาศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนักลง ก็ถึงแก่ทิวงคตในเดือนยี่ข้างแรมไปโดยยถากรรมแห่งพระองค์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาบังเกิดในปีมะแม อายุได้ ๒๘ ปี ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๒๖ ปีเศษ พระชนมายุได้ ๕๔ ปีเศษ กระทำกาลกิริยา ผู้ใดมีเมตตาไม่ฆ่าสัตว์ อายุยืน ไม่มีเมตตาฆ่าสัตว์ อายุสั้น[12]: 315
จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบาทหลวงเอเดรียง โลเน ได้รวบรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2463 และอรุณ อมาตยกุล เป็นผู้แปล ระบุว่า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงพระประชวรมีฝีในพระโอษฐ์หรือพระศอ ขณะที่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกไว้ว่าพระองค์ประชวรที่พระชิวหา (ลิ้น) จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก พระองค์ประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นเวลานานจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2275 ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์[61] ส่วน จดหมายมองซิเออร์ เลอแบร์ (ว่าด้วยพระเจ้าท้ายสระสวรรคต) ถึงผู้อำนวยการต่างประเทศ วันที่ ๒๗ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๓๓ (พ.ศ. ๒๒๗๖) ว่า :-
ทรงพระประชวรเป็นคล้ายพระยอดขึ้นที่พระโอษฐ์ ได้ทรงพระประชวรอยู่เกือบปีหนึ่งจึงได้เสร็จสวรรคตเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (พ.ศ. ๒๒๗๖)[56]: 129
หลังจากนั้นเจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสซึ่งอ้างสิทธิในราชสมบัติและเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้สู้รบกับเจ้าฟ้าพรพระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระและวังหน้าและพระเจ้าอาของเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์กลายเป็นสงครามกลางเมือง
การพระบรมศพ
[แก้]หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระอนุชาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโทนมัสแค้นพระทัยในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระด้วยเหตุทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรส ดำรัสว่าจะไม่เผาพระบรมศพให้แต่จะนำไปทิ้งน้ำ[12]: 319 พระยาราชนายกว่าที่กลาโหมกราบทูลเล้าโลมพระองค์หลายครั้งจนพระองค์ทรงตัดสินพระทัยจัดการพระบรมศพตามราชประเพณีแต่ทรงลดขนาดพระเมรุลงเป็นพระเมรุน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก มีพระสงฆ์สดับปกรณ์ 5,000 องค์ (จากเดิม 10,000 องค์) ใช้เวลาทำ 10 เดือนจึงแล้วเสร็จ แล้วเชิญพระบรมศพถวายพระเพลิงเมื่อเดือน 4 ปีฉลู พ.ศ. 2276 ทรงดำรัสว่าทำบุญน้อยนักไม่สบายพระทัยแล้วทรงนิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์เพิ่มเป็น 6,000 องค์ ให้สดับปกรณ์ 3 วันแล้วถวายพระเพลิงเสร็จแล้วนำพระบรมอัฐิใส่พระโกศน้อยแห่เข้ามาบรรจุไว้ท้ายจระนำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์[20]: 405
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
จึ่งทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้ตั้งพระเมรุมาศขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก ชักพระบรมศพออกถวายพระเพลิงตามราชประเพณี[12]: 319
การลดพระเมรุเป็นพระเมรุน้อยทำให้การพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีความสมพระเกียรติยศแตกต่างกับรัชกาลก่อนๆ[62]: 350
พระราชกรณียกิจ
[แก้]ในรัชสมัยของพระองค์ มีการขุดคลองสำคัญอันเป็นเส้นทางคมนาคม คือ "คลองมหาไชย" และ "คลองเกร็ดน้อย" มีการแข่งกันสร้างวัด ระหว่างพระองค์กับพระอนุชา คือ วัดมเหยงคณ์และวัดกุฎีดาว มีการเคลื่อนย้ายพระนอนองค์ใหญ่ของวัดป่าโมกเพื่อให้พ้นจากการถูกน้ำเซาะตลิ่ง เป็นต้น
ในด้านการต่างประเทศ มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีนถึงสี่ครั้ง ทำให้การค้าขายระหว่างสยามกับจีน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2244 เกิดความวุ่นวายในประเทศกัมพูชา อันเนื่องจากการแย่งราชสมบัติกันระหว่างนักเสด็จกับนักแก้วฟ้าสะจอง นักเสด็จขอเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ส่วนพระแก้วฟ้านักสะจองผู้เป็นอนุชาฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายญวน ซึ่งพยายามแผ่อำนาจเข้าไปในเขมร พระองค์ได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถึงเมืองอุดงมีชัย ราชธานีของเขมร และได้เกลี้ยกล่อมให้นักแก้วฟ้าสะจองกลับมาอ่อนน้อมต่ออยุธยา เขมรจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรเช่นแต่ก่อน
ในช่วงรัชสมัยนี้ มิชชันนารีคาทอลิกคือมุขนายกหลุยส์ ลาโน ได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ “ปุจฉาวิสัชนา” มีเนื้อหาเปรียบเทียบศาสนาคริสต์ – ศาสนาพุทธ ชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของศาสนาคริสต์ ดูหมิ่นพุทธศาสนา ทันทีหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกก็สร้างความไม่พอใจให้กับราชการไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงเรียกบาทหลวง 3 คนขึ้นศาลไต่สวน ที่สุดมีพระราชโองการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาไทยในการเผยแพร่ศาสนา ห้ามคนไทย มอญ และลาวเข้ารีตศาสนาคริสต์ และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนศาสนาของคนไทย มิชชันนารีที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกเฆี่ยนแล้วเนรเทศ[63]
วรรณกรรมในรัชกาล
[แก้]- โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก พ.ศ. 2270 พระราชนิพนธ์ยอพระเกียรติสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาธิราช ลักษณะคำประพันธ์เป็นโคลงสี่สุภาพ
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย[64] พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ต่อมาพระยาตรังคภูมิบาล กวีสมัยรัชกาลที่ 2 รวบรวมไว้ในหนังสือ โคลงกวีโบราณ
- ราโชวาทชาฎก ฉบับคัดออกจากฉบับเขียนรงของมหาพุทธรักขิต วัดพุทไธสวรรย์ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรงฉศก จุลศักราช ๑๐๘๖ (พ.ศ. 2267)[65]: 29
- พระสี่เสาร์คำกาพย์ ปีพุทธศักราช 2266[66]: 24
- ตำนานนางเลือดขาว เข้าใจว่าพระภิกษุวัดสทัง (วัดเขียนบางแก้ว) รวบรวม ปีที่แต่งมีข้อความจารเป็นตัวอักษรขอม แปลโดย ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ[67] ว่า "ศุภมัสดุ ๖๕๑ ศกระกานักษัตรเอกศก" เป็นปีมหาศักราช ๑๖๕๑ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๙๑ (พ.ศ. 2272) รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[68]: 99
พระราชโอรส-ธิดา
[แก้]สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีพระราชโอรสธิดารวมกัน 9 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 6 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 3 พระองค์ ดังนี้[7]
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ คือ
- เจ้าฟ้าหญิงเทพ
- เจ้าฟ้าหญิงประทุม
- เจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์
- เจ้าฟ้าอภัย
- เจ้าฟ้าปรเมศร์
- เจ้าฟ้าชายทับ
- พระสนม
มีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ คือ
- พระองค์เจ้าชายเสฏฐา
- พระองค์เจ้าชายปริก
- พระองค์เจ้าหญิงสมบุญคง
เกร็ดที่น่าสนใจ
[แก้]- พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
- พระราชทานท้องพระโรงแก่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์โดยล่องเรือจากอยุธยาไปเพชรบุรีแล้วไปสร้างที่วัดใหญ่สุวรรณาราม (วัดสุวรรณาราม บ้างก็เรียกวัดใหญ่) จึงทำให้คงเหลือพระราชวัง ท้องพระโรงที่แสดงถึงศิลปกรรมของอยุธยาที่เหลือรอดจากการเผาของพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]มีนักแสดงที่รับบทเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ได้แก่
- วฤธ หงสนันทน์ จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
- วรินทร ปัญหกาญจน์ จากละครเรื่อง พรหมลิขิต (2566)
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- หมายเหตุ
- เชิงอรรถ
- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย. เฉลิมพระยศ เจ้านายฝ่ายในในรัชกาลที่ 1-9. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2552. หน้า 16
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 347
- ↑ คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 547-548
- ↑ Rajanubhab, D., 2001, Our Wars With the Burmese, Bangkok: White Lotus Co. Ltd., ISBN 9747534584
- ↑ ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542.
- ↑ พินิจ จันทร และคณะ. (2565). ย้อนประวัติศาสตร์ ๔๑๗ ปี อยุธยา ๓๓ ราชัน ผู้ครองนคร. กรุงเทพฯ: เพชรพินิจ. 288 หน้า. ISBN 978-616-5784-79-5
- ↑ 7.0 7.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 622-623
- ↑ "จารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2271. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 9.0 9.1 9.2 ศานติ ภักดีคำ (บก.), สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (เผยแพร่). (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 558 หน้า. ISBN 978-616-9-23510-1
- ↑ 10.0 10.1 ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2505). ต้นตระกูลขุนนางไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 544 หน้า.
- ↑ สัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ), พระยา. (2502). เล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี. กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒. พระนคร: โรงพิมพ์กรมมหาดไทย. 219 หน้า.
- ↑ 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 12.12 12.13 12.14 12.15 12.16 12.17 12.18 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 978-974-4-19025-3
- ↑ อมร รักษาสัตย์ . (2510). "ความเจริญและความเสื่อมแห่งราชอาณาจักรไทย : ศึกษาวิเคราะห์ตามหลักทางรัฐประศาสนศาสตร์และสังคมศาสตร์", ใน วารสารพัฒนบริหารศาสตร์, 7(2): 219. อ้างใน พระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ น. 561–62.
- ↑ กรุงไทย. (2517). ประชุมตำนานและเรื่องน่ารู้ของไทย. กรุงเทพฯ: บรรณศิลป์. 404 หน้า.
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2549). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
- ↑ ตรี อมาตยกุล, ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ม.ร.ว, ประเสริฐ ณ นคร และดำเนิร เลขะกุล. (2523). ประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี เล่มที่ ๑๔ (กรกฎาคม–ธันวาคม ๒๕๒๓). แถลงงานรายคาบ ๔ เดือนของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
- ↑ "เรื่องสงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องมูลเหตุที่จะเกิดรบกับพม่า", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 337 หน้า.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 กรมศิลปากร. (2522). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. แปลโดย สมศรี เอี่ยมธรรม. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์. 268 หน้า.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2505). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ พระอธิบายประกอบ. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 622 หน้า.
- ↑ 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). เจ้าภาพพิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภานพิเศษ ( ลมุน อมาตยกุล ) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2479. 437 หน้า.
- ↑ ปวัตร์ นวะมะรัตน. (2552, มิถุนายน). สำรวจวัดดุสิต กว่า 50 ปีก่อน จุดที่เชื่อว่าเป็นวัดพระนมของสมเด็จพระนารายณ์?. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2566.
- ↑ รวมปาฐกถางานอนุสรณ์อยุธยา ๒๐๐ ปี เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2510. หน้า 24.
- ↑ ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, พรนิภา พฤฒินารากร และสุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). "ข้าว:ในสมัยปลายอยุธยา พ.ศ. 2199-2130," ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2531. 148 หน้า. หน้า 142. ISBN 978-974-8350-82-0
- ↑ ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๖(ต่อ) ๓๗ และ ๓๘). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2511. 312 หน้า. หน้า 1.
- ↑ จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. (2546). ขุนนางกรมท่าขวา: การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึง สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 391 หน้า. ISBN 978-974-1-32537-5
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. (2519). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2325-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์. 569 หน้า.
- ↑ เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2558). กัมพูชา จากอาณาจักรฟูนันพนม สู่เขมร-กัมพูชา. กรุงเทพฯ: เพชรประกาย. 358 หน้า. ISBN 978-616-3-44775-3
- ↑ "อธิบายเรื่องทูตไทยไปยุโรป", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๗ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๘-๓๐). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. 328 หน้า. อ้างใน จดหมายเหตุฝรั่งเศส และจดหมายเหตุสเปน.
- ↑ 29.0 29.1 เกียรติกำจร มีขนอน. (2566, 14 พฤศจิกายน). บทความเวทีทัศนะ เรื่อง ราชทูตสเปนที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในปี พ.ศ.2261 ตอน สาเหตุการเดินทางของราชทูตสเปนมากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2261. ผู้จัดการออนไลน์. (14 พฤศจิกายน 2566). สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2566.
- ↑ 30.0 30.1 แชน ปัจจุสานนท์. (2509). ประวัติการทหารเรือไทย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรร์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ๑๔ เมษายน ๒๕๐๙. พระนคร: กรมสารบรรณทหารเรือ กองทัพเรือ. 281 หน้า.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 FERDINAND C. LLANES. (2009). "DROPPING ARTILLERY, LOADING RICE AND ELEPHANTS: A SPANISH AMBASSADOR IN THE COURT OF AYUDHYA IN 1718", New Zealand Journal of Asian Studies, 11(1). (June 2009).
- ↑ สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. (2557). "การพัฒนาการพาณิชยนาวีของไทย", วารสารไทยศึกษา, 9(2):205. (สิงหาคม 2556-มกราคม 2557). สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISSN 1686-7459
- ↑ เบาว์ริง เซอร์จอห์น, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม. (2547). ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 2. แปลโดย อนันต์ ศรีอุดม กัณฐิกา ศรีอุดม และพีรศรี โพวาทอง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. ISBN 974-926-547-5
- ↑ 34.0 34.1 34.2 สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (2532). กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน. แปลโดย จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ฯ. 178 หน้า. ISBN 978-974-4-63039-1
- ↑ Ferdinand C. Llanes. (1994). THE TRADE MISSION TO SIAM IN 1718 IN THE CONTEXT OF FILIPINAS-SIAM RELATIONS AND SOUTHEAST ASIAN HISTORY. The 13th Conference of International Association of Historians of Asia (AI AHA), September 9-12, 1994, Sophia University, Tokyo, Japan.
- ↑ Florentino Rodao. (1997). ESPAÑOLES EN SIAM (1540–1939): Una aportación al estudio de la presencia hispana en Asia Oriental. MADRID, España: Consejo Superior de Investigaciones Científicas. p. 74. ISBN 978-840-0-07634-4
- ↑ 37.0 37.1 37.2 37.3 37.4 37.5 37.6 กรมศิลปากร. (2565). ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 264 หน้า. ISBN 978-616-283-585-8
- ↑ 38.0 38.1 38.2 38.3 สืบแสง พรหมบุญ. (2513). Sino-siamese tributary relation 1282-1853 (ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ. 1282-1853). วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (แมดิสัน). แปลโดย กาญจนี ละอองศรี. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. 193 หน้า. ISBN 978-974-0-75180-9
- ↑ 39.0 39.1 สกินเนอร์, จี. วิลเลียม และคณะ. (2529). Chinese society in Thailand : an analytical history (สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์). แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 403 หน้า. ISBN 978-974-0-75557-9
- ↑ ชวลิต อังวิทยาธร. (2544). การแลกเปลี่ยนและการค้าข้าวบริเวณชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สาขาสังคมศาสตร์ พ.ศ. 2540 ของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 213 หน้า. ISBN 978-974-7-77272-2
- ↑ คมขำ ดีวงษา. (2531). บทบาทของตลาดในเมืองพระนครศรีอยุธยาต่อการค้าภายในและภายนอก พ.ศ. 2173-2310. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะอักษรศาสตร์. 420 หน้า. ISBN 978-974-5-69117-9
- ↑ ประวัติของแผ่นดินไทย ภาคที่ ๒ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี. กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566.
- ↑ 43.0 43.1 หอพระสมุวชิรญาณ. (2466). "ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ", จดหมายเหตุ เรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน. แปลโดย พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ). พิมพ์แจกในงานปลงศพ นายกีกุ่ย ทวีสิน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 74 หน้า.
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. (2555). แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน. 215 หน้า. ISBN 978-974-0-21006-1
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2547). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: มติชน. 615 หน้า. ISBN 978-974-3-23056-1 อ้างใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). หน้า 285.
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. (2538). ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. 469 หน้า.
- ↑ ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2561). อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน. 364 หน้า. ISBN 978-974-02-1594-3
- ↑ 48.0 48.1 บรมบาทบำรุง, พระยา. (2453). "คลองมหาไชยชลมารค", ใน ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ. พระนคร: กระทรวงเกษตราธิการ. 300 หน้า.
- ↑ กระทรวงเกษตราธิการ. (2484). "คลองมหาไชยชลมารค", ใน ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ข้าราชการกระทรวงเกษตราธิการพิมพ์ช่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 315 หน้า.
- ↑ ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2519). สามวัง. กรุงเทพฯ: ปริทัศน์ศาสตร์. 580 หน้า.
- ↑ 51.0 51.1 ยุพร แสงทักษิณ. (2537). วรรณคดียอพระเกียรติ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 326 หน้า. ISBN 978-974-0-05639-3
- ↑ พิทักษ์ สายัณห์. (2521). "วัดป่าโมกวรวิหาร", ประวัติศาสตร์วัดไทย. กรุงเทพฯ: พิทยาคาร. 360 หน้า.
- ↑ อุดม ประมวลวิทย์. (2508). 50 กษัตริย์ไทย. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 767 หน้า.
- ↑ สตรีสาร, 44(38): 14. ธันวาคม 2534.
- ↑ ปรียา หิรัญประดิษฐ์ และคณะ. (2533). เอกสารการสอนชุดวิชา 12306: พัฒนาการวรรณคดีไทย หน่วยที่ 8-15. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 994 หน้า. ISBN 974-613-355-1
- ↑ 56.00 56.01 56.02 56.03 56.04 56.05 56.06 56.07 56.08 56.09 56.10 56.11 56.12 56.13 56.14 56.15 56.16 56.17 56.18 ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๖(ต่อ) ๓๗ และ ๓๘) เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ภาคที่ ๔ ตอน แผ่นดินพระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2511. 312 หน้า.
- ↑ หอจดหมายเหตุ. (2560, 15 กันยายน). คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี. อ้างใน หนังสือฉลองครบรอบ 200 ปี การก่อตั้งคณะรักกางเขนในจันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2566.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๗ เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือแลแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาค ๔. พิมพ์ในงารศพ คุณหญิงผลากรนุรักษ (สงวน เกาไศยนันท์) เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
- ↑ อาเดรียง โลเน. (2546). "การเบียดเบียนศาสนาในปี ค.ศ. 1730 (พ.ศ. 2273 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ", ใน ประวัติมิสซังกรุงสยาม ค.ศ. 1662-1811. แปลโดย นายปอล ซาเวียร์. กรุงเทพฯ: อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 292 หน้า. ISBN 974-911-288-1. อ้างใน จดหมายพระสังฆราชเดอ เกราเล เล่าเรื่อง การเบียดเบียนครั้งนี้ให้พระสันตะปาปาทรงทราบ (ค.ศ. 1733) (EpistolaIllmi et Remi Episcopi Rosaliensis, Vicarii Apostolici regni Siami ad Sanctissimmum Clementem PP. XII) (เอกสารคณะมิสซังต่างประเทศ เล่มที่ 285 หน้า 237–252).
- ↑ 60.0 60.1 60.2 60.3 60.4 60.5 คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: คลังวิทยา, 2510. 472 หน้า.
- ↑ Terwiel, B. J. (2011). Thailand's political history : from the 13th century to recent times (ภาษาอังกฤษ) (Rev. ed.). Bangkok: River Books. ISBN 978-974-9863-96-1.
- ↑ นนทพร อยู่มั่งมี และคณะ. (2551). ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ: มติชน. 487 หน้า. ISBN 974-020-212-8
- ↑ แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, หน้า 120
- ↑ ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย. นิราศเจ้าฟ้าอภัย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2566.
- ↑ ธนิต อยู่โพธิ์. (2521). สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและนักปราชญ์ราชกวีในรัชสมัย. กรุงเทพฯ: อักษรสารการพิมพ์. 98 หน้า.
- ↑ สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2533). วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 542 หน้า. ISBN 974-578-337-4
- ↑ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 11 : พระพุทธนิมิต - ไฟที่ไหม้ลาม : เรื่องสั้น. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. 510 หน้า. ISBN 974-836-527-1
- ↑ สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2533). วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 542 หน้า. ISBN 974-578-337-4
- บรรณานุกรม
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- มาโนช พุ่มไพจิตร. แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป. เชียงใหม่ : หน่วยงานเผยแพร่ข่าวประเสริฐ, 2548.
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. หน้า 165-166. ISBN 978-616-7308-25-8
ดูเพิ่ม
[แก้]หนังสือและบทความ
[แก้]- Dhiravat na Pombejra. (2537). The Last Year of King Thaisa's Reign: Data Concerning Politics and Society from the Dutch East India Company's Siam Factory Dagregister for 1732. ใน ความยอกย้อนของอดีต: พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี. บรรณาธิการโดย วินัย พงศ์ศรีเพียร. หน้า 125-145. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
เว็บไซต์
[แก้]ก่อนหน้า | สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พ.ศ. 2246-2252) |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2251-พ.ศ. 2275) |
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275–2301) | ||
หลวงสรศักดิ์ | กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแห่งกรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2246-พ.ศ. 2251) |
เจ้าฟ้าพร |