ข้ามไปเนื้อหา

สนิท วรปัญญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนิท วรปัญญา
ประธานวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2544
ก่อนหน้ามีชัย ฤชุพันธุ์
ถัดไปมนูญกฤต รูปขจร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด3 มิถุนายน พ.ศ. 2482 (85 ปี)
คู่สมรสมณฑา (เชวงศักดิ์สงคราม) วรปัญญา

สนิท วรปัญญา (เกิด 3 มิถุนายน พ.ศ. 2482) อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดลพบุรี และเป็นอดีตประธานวุฒิสภาคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง

ประวัติ

[แก้]

นายสนิท วรปัญญา เกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สมรสกับนางมณฑา เชวงศักดิ์สงคราม อดีตประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี บุตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม มีบุตร 3 คน และเป็นน้องชายของนายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี

นายสนิท เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำตำบลศรีเทพ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอวิเชียรบุรี และโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอโคกสำโรง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สาขาเศรษฐศาสตร์ และผ่านการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 30

การทำงาน

[แก้]

นายสนิท วรปัญญา เริ่มทำงานเป็นพนักงานโครงการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้เข้ารับราชการเป็นเศรษฐกร ประจำกรมวิเทศสหการ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ จากนั้นอีก 2 ปี ได้โอนมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปี พ.ศ. 2514 ได้โอนมาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในตำแหน่งหัวหน้ากองคลังสินค้า องค์การคลังสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 เข้ามารับราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ 9 ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย และเป็นรองอธิบดีกรมการค้าภายใน

ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ ระดับ 10 เป็นที่ปรึกษาการพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเป็นอธิบดีในปี พ.ศ. 2531 ในตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน[1] และเป็นอธิบดีกรมการประกันภัยในปีต่อมา กระทั่งปี พ.ศ. 2537 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และได้ทำหน้าที่รักษาการปลัดกระทรวงพาณิชย์ และตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ คือ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก[2]

หลังเกษียณอายุราชการ นายสนิท ได้เข้าสู่งานการเมืองโดยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดลพบุรี และได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานวุฒิสภา[3] ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป[4][5]

นายสนิท ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใบเหลือง[6][7] ใน 6 ข้อหา คือ แจกเสื้อ แจกเงินให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน แจกเงินให้วัด สัญญาว่าจะให้ประปาหมู่บ้าน สัญญาว่าจะให้ดินลูกรังถมถนนทางเข้าหมู่บ้าน โฆษณาหาเสียง[8] ส่งผลให้นายสนิท วรปัญญา สิ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำให้พ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาด้วย ซึ่งนายสนิท ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สนิท วรปัญญา, เสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, 2531), หน้าประวัติผู้เขียน.
  2. “สนิท วรปัญญา ‘ชาย 2 เสียง’,” ไทยโพสต์, 26 กันยายน 2543, หน้า 4.
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา (นายสนิท วรปัญญา นายเฉลิม พรหมเลิศ นายบุญทัน ดอกไธสง)
  4. คณัศ พันธรักษ์ราชเดช, “ประธานวุฒิสภาคนใหม่,” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 47, 11 (13-19 สิงหาคม 2543), หน้า 24.
  5. “เบื้องหลัง สนิท วรปัญญา ยึดเก้าอี้ประธาน ส.ว.,” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 47, 10 (6-12 สิงหาคม 2543), หน้า 22.
  6. คำวินิจฉัยสั่งการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 76/2544 ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2544 เรื่อง คัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรี (กรณี นายสนิท วรปัญญา)[ลิงก์เสีย]
  7. “ ‘สนิท’ ยืนท่ามกลางความอัปยศครั้งใหญ่!,” ผู้จัดการรายวัน, 14 มีนาคม 2544, หน้า 14.
  8. “ ‘สนิท’ ดิ้นร้องศาลปกครองปลดมติกกต.,” กรุงเทพธุรกิจ, 24 มีนาคม 2544, หน้า 12, 8.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๓๓๙, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ก่อนหน้า สนิท วรปัญญา ถัดไป
มีชัย ฤชุพันธุ์
ประธานวุฒิสภา
(1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2544)
มนูญกฤต รูปขจร