ข้ามไปเนื้อหา

กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองบังคับการสายตรวจ
และปฏิบัติการพิเศษ
ตราของกองบังคับการ
อักษรย่อบก.สปพ.
คำขวัญบก.สปพ. ที่พึ่งแรกของประชาชน
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้งพ.ศ. 2504; 64 ปีที่แล้ว (2504)
โครงสร้างเขตอำนาจ
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
แผนที่เขตอำนาจของ กองบังคับการสายตรวจ
และปฏิบัติการพิเศษ
สำนักงานใหญ่29 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

ผู้บริหารหน่วยงาน
  • พลตำรวจตรี วรวิทย์ ญาณจินดา, ผู้บังคับการ
หน่วยงานปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล
บทบาทการอารักขา
 • พระมหากษัตริย์ และพระราชินี
 • พระบรมวงศานุวงศ์
สายตรวจ
ศูนย์รวมข่าว
สุนัขตำรวจ
ต่อต้านการก่อการร้าย
เก็บกู้วัตถุระเบิด
ม้าตำรวจ
สัตวแพทย์และส้ตวบาล
เขตอำนาจปกครอง • 8 กองกำกับการ
สิ่งอำนวยความสะดวก
รถสายตรวจ100 คัน (ประมาณ)
สุนัขตำรวจ87 ตัว
เว็บไซต์
psd.metro.police.go.th

กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (อังกฤษ: Patrol and Special Operation Division) เป็นหน่วยงานในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจนครบาล รู้จักกันในชื่อของ "ตำรวจ 191"[1] ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504[2] มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในเขตนครบาล และภารกิจดูแลประชาชนด้านของงานรับแจ้งเหตุ สายตรวจ งานปฏิบัติการพิเศษและต่อต้านการก่อการร้าย

ประวัติ

[แก้]

กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 ในชื่อของ กองกำกับการรถวิทยุ และศูนย์รวมข่าว เพื่อรับมือกับปัญหาจากในช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัยคุกคามในระดับสูงที่เกินกว่าหน่วยงานปกติของตำรวจนครบาลจะรับมือกับเหตุการณ์ได้ จากนั้นได้รวมเข้ากับ กองกำกับการสุนัขตำรวจ และกองกำกับการตำรวจม้า และเพิ่มเติมภารกิจในการถวายอารักขาความปลอดภัยให้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทยาทและพระบรมวงศานุวงศ์[2]

ตำรวจม้าจากกองกำกับการม้าตำรวจกำลังร่วมพระราชพิธี

ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจใหม่ปรับขึ้นเป็นกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ โดยมี พลตำรวจเอก เสริม จารุรัตน์ เป็นผู้บังคับการคนแรก และได้ขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำตราอุณาโลมมาประดับในอาร์มพร้อมกับเครื่องแบบปฏิบัติงานสีน้ำเงิน พร้อมกับหมวกเบเรต์หน้าหมวกสีเหลือง ซึ่งสีทั้งสองเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำมาใช้งานได้[2]

เมื่อปี พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ตรัสกับ พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ว่าอยากให้นำสุนัขจรจัดมาลองทำการฝึกเป็นสุนัขค้นหายาเสพติด โดยหลังจากฝึกแล้วให้นำไปประจำการตามท่าอากาศยานต่าง ๆ โดย พลตำรวจเอก สันต์ ได้นำสุนัขไปคัดเลือกที่มูลนิธิรักสุนัขหัวหิน ซึ่งเป็นโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ แลำฝึกฝนจนได้เข้าประจำการและนำไปใช้ประจำการจริง[2]

ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่โดยแบ่งโครงสร้างของกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ จากเดิม 7 หน่วย[3] แบ่งออกเป็น 8 หน่วย ด้วยกันคือ ฝ่ายอำนวยการ กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองกำกับการม้าตำรวจ กองกำกับการศูนย์รวมข่าว กองกำกับการสายตรวจ กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด และกลุ่มงานสัตวแพทย์และสัตวบาล โดยได้แบ่งกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจแยกออกมาเป็น 2 กองกำกับการเพื่อให้เกิดความชัดเจนในภารกิจ[4]

พระราชดำรัส

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยได้พระราชทานกับศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 หรือกองกำกับการศูนย์รวมข่าวเอาไว้ว่า[2]

“อย่าทำลายความหวังของใคร เพราะเขาอาจเหลืออยู่แค่นั้นก็ได้”

ภารกิจ

[แก้]

กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ มีภารกิจและอำนาจหน้าที่[3] ดังนี้

  • ถวายความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ และบุคคลสำคัญอื่น ๆ
  • ป้องกันการก่อจลาจล ควบคุมฝูงชนในกรุงเทพมหานครหรือพื้นที่ที่ได้รับคำสั่ง และฝึกยุทธวิธีด้านการปราบจลาจลและควบคุมฝูงชน
  • ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจท้องที่และหน่วยงานอื่น
  • ปฏิบัติตามมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นที่มีความผิดทางอาญาที่อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบ
  • จัดสายตรวจในการออกตรวจ การสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม การก่อความไม่สงบภายใน และรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญต่าง ๆ
  • ตรวจพิสูจน์และดำเนินการเก็บกู้วัตถุระเบิด
  • ต่อต้านการก่อการร้าย เจรจา และช่วยเหลือตัวประกัน รวมถึงฝึกยุทธวิธีให้กับตำรวจท้องที่หรือหน่วยงานอื่นตามได้รับคำสั่ง
  • จัดตำรวจม้าในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งสนับสนุนหน่วยงานอื่นในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและรักษาความสงบ
  • จัดกำลังสุนัขตำรวจในการออกป้องกันปราบปรามอาชญากรรม พร้อมทั้งสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ดูแลรักษาม้าและสุนัขตำรวจ และสนับสนุนหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับคำสั่ง
  • เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและควบคุมสั่งการ สื่อสารข้อมูลไปยังตำรวจท้องที่
  • ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]

หน่วยงานในสังกัดของ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ[3][5] ประกอบไปด้วย

  • ฝ่ายอำนวยการ
  • กองกำกับการสุนัขตำรวจ
  • กองกำกับการม้าตำรวจ
  • กองกำกับการศูนย์รวมข่าว
  • กองกำกับการสายตรวจ
  • กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย
  • กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด
  • กลุ่มงานสัตวแพทย์และสัตวบาล

การปฏิบัติการ

[แก้]

สายตรวจปฏิบัติการพิเศษ

[แก้]
สายตรวจปฏิบัติการพิเศษกำลังอำนวยการจราจร

สายตรวจปฏิบัติการพิเศษ หรือ ตำรวจ 191, สายตรวจ 191 เป็นหน่วยปฏิบัติการของ กองกำกับการสายตรวจ มีภารกิจในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจนครบาลเจ้าของท้องที่ในกรณีที่เจ้าของท้องที่ต้องการกำลังสนับสนุนหรืออยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ[6]

นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการป้อมปรามการเกิดอาชญากรรมด้วยการเปิดสัญญาณไฟวับวาบในพื้นที่เสี่ยง ตามข้อมูลสติติจากศูนย์ผ่านฟ้า เพื่อตัดวงจรการเกิดอาชญากรรม ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม [6]

ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191

[แก้]

ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 หรือ ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า[7] เป็นหน่วยงานของกองกำกับการศูนย์รวมข่าว มีหน้าที่ในการรับแจ้งเหตุภายในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และคอยประสานข้อมูลไปยังศูนย์วิทยุประจำกองบังคับการตำรวจนครบาลในพื้นที่ต่าง ๆ[8] เพื่อให้ตำรวจท้องที่เข้าไปยังพื้นที่ที่ประสบเหตุฉุกเฉินตามที่ได้รับแจ้ง[9]

สุนัขตำรวจ

[แก้]

กองกำกับการสุนัขตำรวจ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนของสุนัขตำรวจ โดยแบ่งเป็นสายงานตามวิธีการใช้งานสุนัข เช่น การสะกดรอย การค้นหายาเสพติด การเก็บกู้วัตถุระเบิด การสาธิต การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การพิสูจน์กลิ่นของกลาง และภารกิจอื่นตามที่ได้รับการร้องขอมา[10] โดยสุนัขที่นำมาฝึกและประจำการนั้นจะอายุงานเฉลี่ยประมาณ 8 ปี โดยจะแบ่งสายงานตามลักษณะนิสัย เช่น ถ้ามีนิสัยร่าเริงจะเหมาะกับการตรวจค้นยาเสพติด หากไม่กลัวเสียงดังจะเหมาะกับการเก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกทั่วไป 3 เดือนก่อนจะแยกฝึกตามสายงานอีก 6 เดือน และทดลองงานอีก 6 เดือนจึงจะได้บรรจุเป็นสุนัขตำรวจ ปัจจุบันมีสุนัขในประจำการทั้งสิ้น 87 ตัว[11]

หากทำภารกิจได้สำเร็จ อาจมีการประดับยศให้กับสุนัขเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับสุนัขและผู้บังคับสุนัขอีกด้วย[10] เช่น กรณีของการคลีคลายคดีของน้องชมพู่ และไอซ์หีบเหล็ก[11]

ต่อต้านการก่อการร้าย

[แก้]

อรินทราช 26 หรือ กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยขึ้น กรมตำรวจจึงได้จัดตั้งหน่วยอรินทราช 26 ขึ้นมาพร้อมกันกับหน่วยนเรศวร 261[12]

สำหรับอรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษในการคลี่คลายและแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรง ทั้งในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย การช่วยเหลือตัวประกัน การจู่โจมจับกุมตามแนว การบริหารวิกฤตการณ์ (Crisis Management) มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตกรุงเทพมหานคร มีขนาดขีดความสามารถระดับกองร้อย[12]

เก็บกู้วัตถุระเบิด

[แก้]

EOD หรือ กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยเดิมใช้ชื่อว่า แผนกวัตถุระเบิด สังกัดกองพลาธิการ กรมตำรวจ มีภารกิจในการดูแลคลังวัตถุระเบิด และตรวจพิสูจน์เก็บกู้วัตถุระเบิด โดยได้จัดตั้งชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดขึ้นมาเป็นหน่วยแรกของตำรวจในปี พ.ศ. 2521 โดย พันตำรวจเอก สุรัตน์ สุมานัส หัวหน้าแผนกเก็บกู้วัตถุระเบิด มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตกรุงเทพมหานคร และมีการจัดตั้งชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดในส่วนภูมิภาค โดยสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยกลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิดชุดแรกนั้นได้ย้ายมาสังกัดกองสรรพวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุงในปี พ.ศ. 2535 และถูกยกขึ้นให้มีสถานะเทียบเท่ากองกำกับการในชื่อว่า กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อปี พ.ศ. 2548[13]

กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด มีพื้นที่รับผิดชอบในบริเวณกรุงเทพมหานครในการค้นหา ตรวจพิสูจน์ เก็บกู้ หรือทำลายวัตถุระเบิดหรือเครื่องกระสุนปืน ดอกไม้เพลิง ทั้งในกรณีที่มีการรับแจ้งหรือมีการข่มขู่ ว่ามีวัตถุระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัยซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบ เพื่อเป็นการป้องกันการก่อวินาศกรรมและการก่อการร้ายในเขตเมือง[13]

ตำรวจม้า

[แก้]
ตำรวจม้าจากกองกำกับการม้าตำรวจกำลังร่วมพระราชพิธี

ตำรวจม้า หรือ กองกำกับการม้าตำรวจ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดย พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ สำหรับเป็นกองเกียรติยศในการนำขบวนในพระราชพิธีต่าง ๆ ก่อนจะถูกรวมเข้ากับกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ[14]

ภารกิจหลักของตำรวจม้าคือการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อไปประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ รวมถึงเป็นกองเกียรติยศในวาระพิเศษต่าง ๆ และถวายความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวัง พระตำหนัก และคอยตรวจตราบริเวณพื้นที่โดยรอบ[14]

นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของสายตรวจปฏิบัติการพิเศษในการเข้าถึงจุดที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ และภารกิจในการมวลชนสัมพันธ์ในชุมชน งานท่องเที่ยว และงานเทศกาลต่าง ๆ[14]

สัตวแพทย์และสัตวบาล

[แก้]

กลุ่มงานสัตวแพทย์และสัตวบาล เป็นหน่วยงานเทียบเท่ากองกำกับการ มีหน้าที่ในการดูแลรักษาสัตว์ในหน่วย คือ สุนัขและม้า จากกองกำกับการสุนัขตำรวจ และกองกำกับการม้าตำรวจ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นภารกิจเฉพาะด้านจำเป็นต้องใช้วุฒิภายนอกคือสัตวแพทย์ และสัตวบาลในการปฏิบัติงาน[15]

ยุทโธปกรณ์

[แก้]

กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ มีอุปกรณ์และยานพาหนะโดยประมาณ ดังนี้

พาหนะ

[แก้]
  • รถสายตรวจ ประมาณ 100 คัน[6]

อาวุธ

[แก้]
  • ปืนไฟฟ้า[6]
  • ปืนลูกซอง[6]
  • ปืนพก[12]
  • ปืนกลเบา[12]
  • ปืนไรเฟิล[12]
  • ระเบิดมือ[12]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติ - กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ". psd.metro.police.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-05. สืบค้นเมื่อ 2023-10-15.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "พระราชทานตราอุณาโลม อาร์มศักดิ์สิทธิ์ตำรวจ191". www.thairath.co.th. 2016-10-30.
  3. 3.0 3.1 3.2 กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  4. ""พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล" กับกรณีแยก "กก.สุนัข-ม้าตำรวจ" เพิ่มอัตราเติบโต-รองรับภารกิจสำคัญ - มติชนสุดสัปดาห์". www.matichonweekly.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "หน่วยงานในสังกัด - กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ". psd.metro.police.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-05. สืบค้นเมื่อ 2023-10-15.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 reporter4 (2023-02-26). "ผกก.สันต์191ปลุกเร้ากำลังพลรถสายตรวจ" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  7. "จนท.ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า เล่านาทีเจรจาเกลี้ยกล่อม ผู้ก่อเหตุวัย 14 ปี ให้มอบตัว". เนชั่นทีวี. 2023-10-04.
  8. "นครบาล 1 จับผู้ต้องหาขู่วางระเบิดรพ.ศิริราช". Thai PBS.
  9. admin. "ชื่นชม!! ร.ต.อ.รุดช่วยเจรจา สาวน้อยใจแฟนคิดสั้นจะกระโดดสะพานพระราม 8 ก่อนโทรตามแฟนมารับกลับบ้านอย่างปลอดภัย – สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ".
  10. 10.0 10.1 "เปิดภาพประวัติศาสตร์ พิธีการให้ยศ' K-9 'กองกำกับการสุนัขตำรวจ". https://www.naewna.com. 2023-03-04. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  11. 11.0 11.1 "191 ติดยศ "สุนัขตำรวจตรี" ให้ "ไอร่า-โคล่าร์" K9 ไขคดีน้องชมพู่-ไอซ์หีบเหล็ก". www.thairath.co.th. 2023-03-03.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 "หน่วยอรินทราช 26 หน่วยจู่โจม หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการสำคัญ". mgronline.com. 2020-02-10.
  13. 13.0 13.1 แจ๊ค (2022-08-24). "ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)".
  14. 14.0 14.1 14.2 "กองตำรวจม้า". www.thairath.co.th. 2019-05-11.
  15. "เส้นทางที่เลือกเดินของ "วิฑูรย์ พูนพิพัฒน์กิจ" บันไดที่ขาด-ความรักที่มี". mgronline.com. 2020-07-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]