จังหวัดลำปาง
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
จังหวัดลำปาง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Lampang |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
| |
คำขวัญ: ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดลำปางเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ชัชวาลย์ ฉายะบุตร (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 12,533.961 ตร.กม. (4,839.389 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 10 |
ประชากร (พ.ศ. 2564)[2] | |
• ทั้งหมด | 724,678 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 33 |
• ความหนาแน่น | 57.82 คน/ตร.กม. (149.8 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 69 |
รหัส ISO 3166 | TH-52 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | เขลางค์นคร, นครลำปาง, กุกกุฎนคร, อาลัมภางค์, เวียงลคอร |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | กระเชา (ขจาว) |
• ดอกไม้ | พุทธรักษาญี่ปุ่น (ธรรมรักษา) |
• สัตว์น้ำ | ปลารากกล้วยชนิด Acantopsis dialuzona |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000 |
• โทรศัพท์ | 0 5426 5014, 0 5426 5070 |
เว็บไซต์ | http://www.lampang.go.th/ |
ลำปาง (ไทยถิ่นเหนือ: ᩃᩣᩴᨻᩣ᩠ᨦ, ลำป๋าง) เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน มีชื่อเรียกอย่างหลากหลายตั้งแต่ เขลางค์นคร, เวียงละกอน, นครลำปาง ฯลฯ ในภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า "เมืองรถม้า"[3] ที่สัมพันธ์กับเอกลักษณ์ของลำปาง
จังหวัดลำปาง | |
ชื่อภาษาไทย | |
---|---|
อักษรไทย | ลำปาง |
อักษรโรมัน | Lampang |
ชื่อคำเมือง | |
อักษรธรรมล้านนา | ᩃᩣᩴᨻᩣ᩠ᨦ |
อักษรไทย | ลำป๋าง |
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
วัฒนธรรมล้านนา |
---|
สภาพภูมิศาสตร์
ลำปางตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรอบล้อมด้วยหุบเขาจากทุกด้าน ทำให้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำวังที่มีต้นน้ำอยู่ที่ตอนเหนือ บริเวณอำเภอวังเหนือ ที่ไหลลงจากเหนือสู่ใต้ พื้นที่ราบที่กว้างใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางนั่นคือ บริเวณอำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอห้างฉัตร
ที่ตั้ง
จังหวัดลำปางมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย
- ทิศใต้ ติดกับ จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตาก
- ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดตาก
ทิวเขาและภูเขา
พื้นที่ของภาคเหนือประกอบด้วยภูเขากระจายอยู่ 3 ใน 4 ของภาค นั่นได้ตัดแบ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำให้กระจายออกจากกันไม่เป็นผืนใหญ่เหมือนที่ราบในภาคกลางหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำปางเป็นที่ราบ ที่อยู่ระหว่างทิวเขาผีปันน้ำ[4] ซึ่งเป็นทิวเขาที่มีลักษณะซับซ้อน โดยแนวของทิวเขาเอง ต่างเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายอยู่ทางซีกตะวันออกของภาคเหนือ
ที่มาของชื่อ “ผีปันน้ำ” มาจากแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสายที่แยกทิศทางกันไปได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลลงใต้สู่แม่น้ำเจ้าพระยา และกลุ่มน้ำแม่ลาว น้ำแม่กก และน้ำแม่อิง ที่ไหลขึ้นเหนือไปลงแม่น้ำโขง[5]
ทิวเขาผีปันน้ำ ทอดตัวไปมาอย่างสลับซับซ้อน เริ่มจาก
- เส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
- ทอดยาวไปทางทิศใต้ตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอไชยปราการและอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
- ถึงดอยผาโจ้ จึงหักกลับไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย กับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
- แล้วหักวกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย กับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และระหว่างอำเภอวังเหนือและอำเภองาว จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
- จากนั้นทิวเขาหักกลับไปทางทิศเหนือ ตามแนวเส้นแบ่งเขตอำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน และอำเภอเชียงคำ กับอำเภอเชียงม่วนและอำเภอปง จังหวัดพะเยา
- จนสิ้นสุดทิวเขาที่จุดบรรจบกับทิวเขาหลวงพระบาง รวมความยาวประมาณ 475 กิโลเมตร
ตัวเมืองลำปาง[6] อยู่ ณ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 234.92 เมตร และภูเขาสูงที่สุดอยู่ที่ อำเภอเมืองปาน ชื่อว่า “ดอยลังกา” ความสูง 1,986 เมตร บนละติจูด เหนือ 18 องศา 59’ 53” และลองจิจูด ตะวันออก 99 องศา 24’ 26”
ลุ่มน้ำ
อาจนับว่าลำปางประกอบด้วย ลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำงาว มีการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำวังออกเป็น 7 ลุ่มน้ำสาขา สรุปรายละเอียดได้ดังนี้ [7]
- ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนบน มีพื้นที่ประมาณ 1,639.55 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำบริเวณดอยหลวง บ้านป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอวังเหนือ บริเวณตำบลวังแก้ว เขตติดต่ออำเภอวังเหนือกับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังเหนือและอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด 11 ตำบล มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่เย็นและลุ่มน้ำแม่ม่า
- ลุ่มน้ำแม่สอย มีพื้นที่ประมาณ 732.97 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แนวเขตแดนจังหวัดลำปางกับเชียงใหม่ ลุ่มน้ำแม่สอยอยู่ในเขตพื้นที่ในอำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองปาน รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 5 ตำบล มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่ปานและลุ่มน้ำแม่มอน
- ลุ่มน้ำแม่ตุ๋ย มีพื้นที่ประมาณ 809.38 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในเขตอำเภอเมืองปาน ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้เข้าเขตอำเภอเมืองลำปางก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่อำเภอเมืองลำปาง พื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ในอำเภอเมืองปานและอำเภอเมืองลำปาง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล
- ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนกลาง มีพื้นที่ประมาณ 2,077.07 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอแจ้ห่ม มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่ยาว น้ำแม่ไพร น้ำแม่ตาล และน้ำแม่เกี๋ยง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 33 ตำบล
- ลุ่มน้ำแม่จาง มีพื้นที่ประมาณ 1,626.86 ตารางกิโลเมตร เป็นลุ่มน้ำสาขาขนาดกลางที่สำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของลุ่มน้ำวัง มีต้นกำเนิดมาจากดอยหลวงกับดอยผาแดง ซึ่งเป็นแนวสันปันน้ำกับลุ่มน้ำงาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่ทะกับอำเภอแม่เมาะทั้งหมด มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่บ้านสบจาง ในเขตอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลำน้ำแม่เมาะ ลำน้ำแม่ทะ และลำน้ำแม่วะ รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 15 ตำบล
- ลุ่มน้ำแม่ต๋ำ มีพื้นที่ประมาณ 755.75 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเสริมงาม มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเขตอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ไหลไปบรรจบแม่น้ำวังในเขตอำเภอสบปราบ มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือลุ่มน้ำแม่เลียงและน้ำแม่เสริม รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล
- ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนล่าง มีพื้นที่ 3,151.581 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเกาะคา อำเภอแม่ทะ เภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และพื้นที่ในเขตอำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญ คือ ห้วยแม่พริกและห้วยแม่สลิด รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 22 ตำบล
ส่วนลุ่มน้ำงาวนั้นเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม
ลักษณะทางธรณีวิทยา
อาจมองผ่านภาพรวมของภาคเหนือ ที่พบว่ามีลักษณะทางธรณีวิทยาค่อนข้างสลับซับซ้อน มีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกอย่างรุนแรงมาหลายครั้ง ดังที่พบว่าพื้นที่บางส่วนถูกอัดดันยกตัวขึ้นเป็นทิวเขาและภูเขา เกิดการสึกกร่อนพังทลายของหิน และบางส่วนทรุดตัวต่ำลงไปเป็นแอ่งแผ่นดิน ทั้งยังเกิดการตกจมทับถมของโคลนตะกอน ซึ่งต่อมากลายเป็น “หินชั้น” หรือ “หินตะกอน”. [8] บริเวณเหล่านี้ประกอบด้วยหินอายุที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่มหายุคเก่าที่สุด (พรีแคมเบรียน เก่ากว่า 570 ล้านปีมาแล้ว) จนถึงมหายุคใหม่ที่สุด (ซีโนโซอิก 66.4 ล้านปีลงมา)
รอยเลื่อนทางธรณีวิทยา
แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะอยู่ตรงบริเวณพื้นที่เสี่ยง จังหวัดลำปางวางตัวอยู่ท่ามกลาง รอยเลื่อนมีพลังที่นับได้ 2 รอยเลื่อน นั่นคือ รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนพะเยา
- รอยเลื่อนเถิน อยู่ทางทิศตะตกของรอยเลื่อนแพร่ โดยตั้งต้นจากด้านตะวันตกของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานกับรอยเลื่อนแพร่ไปทางด้านเหนือ ของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับรอยเลื่อนแพร่ ไปทางด้านเหนือของอำเภอวังชิ้นและอำเภอลอง รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 90 กิโลเมตร เคยมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์ บนรอยเลื่อนนี้ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2521
- รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุมจังหวัดลำปาง เชียงราย และพะเยา
ภูเขาไฟ
พบแหล่งภูเขาไฟบริเวณตอนกลางของลำปาง ในเขต อำเภอเมืองลำปาง-อำเภอแม่ทะ และเกาะคา-อำเภอสบปราบ โดยกลุ่มหินบะซอลต์ ที่เกิดจากลาวาของภูเขาไฟลำปางไหลอาบออกมาปกคลุมพื้นที่ มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คลุมพื้นที่อำเภอเกาะคา และอำเภอสบปราบ เรียกรวมกันว่า บะซอลต์สบปราบ มีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองลำปาง และอำเภอแม่ทะ รวมเรียกว่า บะซอลต์แม่ทะ ซึ่งได้แก่ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด และภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู กลุ่มนี้ให้ลาวาคลุมพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร ภูเขาไฟลำปางเกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้เกิดรอยเลื่อนลึก (Deepseated fault) ขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ เป็นช่องทางให้หินหนืดภายใต้ผิวโลก ทะลักล้นออกมาในแนวรอยเลื่อนนี้เกิดเป็นปล่องภูเขาไฟเรียงตัวในแนวนี้ด้วย[9]
ถ่านหินลิกไนต์และสุสานหอยขม
ไม่เพียงการพบถ่านหินลิกไนต์จำนวนมหาศาล ที่อำเภอแม่เมาะ ยังมีการค้นพบสุสานหอยขม อายุกว่า 13 ล้านปี ในเขตเหมืองแม่เมาะในพื้นที่กว่า 43 ไร่ อีกด้วย [10]
ภูมิอากาศ
ลำปางเป็นจังหวัดที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาลำปางเป็นดินแดนที่ฝนตกน้อย ฝนแล้ง จนมีปัญหากับการเพาะปลูกอยู่เสมอ แบ่งภูมิอากาศออกได้เป็น 3 ฤดู
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดลำปาง ค่าเฉลี่ย 30 ปี (2504-2533) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 30.2 (86.4) |
33.4 (92.1) |
36.2 (97.2) |
37.5 (99.5) |
35 (95) |
33.2 (91.8) |
32.6 (90.7) |
32.2 (90) |
31.9 (89.4) |
31.4 (88.5) |
30.4 (86.7) |
29.2 (84.6) |
32.77 (90.98) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 13.9 (57) |
15.7 (60.3) |
19.1 (66.4) |
22.6 (72.7) |
24 (75) |
24.1 (75.4) |
23.9 (75) |
23.6 (74.5) |
23.2 (73.8) |
21.9 (71.4) |
18.8 (65.8) |
14.7 (58.5) |
20.46 (68.83) |
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) | 6.2 (0.244) |
6.5 (0.256) |
18.8 (0.74) |
65.9 (2.594) |
158.7 (6.248) |
118.2 (4.654) |
132.4 (5.213) |
198.7 (7.823) |
211.8 (8.339) |
119.4 (4.701) |
34.9 (1.374) |
5.3 (0.209) |
1,076.8 (42.394) |
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย (≥ 0.1 mm) | 1 | 1 | 2 | 7 | 15 | 15 | 17 | 19 | 18 | 13 | 4 | 1 | 113 |
แหล่งที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา. "ลำปาง - ค่าเฉลี่ย 30 ปี (2504-2533)" http://www.tmd.go.th/province_stat.php?StationNumber=48328 |
ประวัติ
ก่อนประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐานของผู้คนลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำใกล้เคียงอย่างลุ่มน้ำงาว มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่เห็นได้จากการพบหลักฐานเป็นกระดูกของมนุษย์โฮโมอีเรกตัสที่มีอายุราว 500,000 ปี ซึ่งถูกเรียกกันว่า "มนุษย์เกาะคา" ที่อยู่ร่วมสมัยกับมนุษย์ปักกิ่งและมนุษย์ชวา ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำวังตอนกลาง (ปัจจุบันคือ หาดปู่ด้าย ตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา ลำปาง) มีการค้นพบกระดูกเมื่อปี พ.ศ. 2541. [11]
ชุมชนบริเวณประตูผา อยู่ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองปัจจุบัน(บริเวณรอยต่อของอำเภองาวและอำเภอแม่เมาะในปัจจุบัน) เป็น แหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประกอบพิธีศพมีอายุกว่า 3,000 ปี ทั้งยังมีภาพเขียนสีจำนวนมากถึง 1,872 ภาพ แบ่งภาพเขียนเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผาเลียงผา กลุ่มที่ 2 ผานกยูง กลุ่มที่ 3 ผาวัว กลุ่มที่ 4 ผาเต้นระบำ กลุ่มที่ 5 ผาหินตั้ง กลุ่มที่ 6 ผานางกางแขน และกลุ่มที่ 7 ผาล่าสัตว์และผากระจง [12]
ยุคประวัติศาสตร์
ที่กล่าวมานั้นคือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในภูมิภาคนี้เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์จากอารยธรรมทางทะเล ที่เข้ามาจากละโว้ นั่นคือ การก่อตั้งอาณาจักรหริภุญชัย ในพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้ชุมชนในลุ่มน้ำปิงและวังกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ขึ้น
หากแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ต่อจากนี้แล้ว อาจแบ่งได้เป็นช่วงใหญ่ 6 ช่วงตามอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง (ในที่นี้จะยุติถึงช่วงปี พ.ศ. 2500) ได้แก่
ยุคที่หนึ่ง : หริภุญชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 13)
กำเนิดเมืองบนลุ่มน้ำวัง
การกำเนิดรัฐบริเวณลุ่มน้ำปิงในนามหริภุญไชยนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย อันได้แก่ เวียงเถาะ, เวียงมะโน ฯลฯ เมืองที่ถือกำเนิดในลุ่มน้ำวัง ก็ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้นเช่นกัน แต่มิใช่เกิดขึ้น โดยกลุ่มคนจากหริภุญไชยเท่านั้น ในตำนาน [13] ที่มีการเล่าถึง "พรานเขลางค์" และ "สุพรหมฤๅษี"ที่อาศัยอยู่บริเวณ "ดอยเขางาม" นับเป็นตัวแทนกลุ่มชนดั้งเดิมในระยะเวลานั้น ซึ่งมีทั้งชาวลัวะและกะเหรี่ยง [14] ในโบราณสถานหลายแห่งมีการกล่าวอ้างถึง "พระนางจามเทวี" เช่น วิหารจามเทวี วัดปงยางคก, ตำหนักเย็น วัดพระธาตุจอมปิง ฯลฯ ซึ่งเป็นสำนึกการเชื่อมโยง ความยาวนาน แต่ก็ไม่ได้การยืนยันทางวิชาการอย่างหนักแน่นพอ
การตั้งถิ่นฐาน
มีการกล่าวถึง 3 พื้นที่ อันได้แก่
- บริเวณศูนย์กลางที่สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณวัดพระแก้วดอนเต้า อำเภอเมืองลำปาง ริมแม่น้ำวัง ที่สุพรหมฤๅษี และพรานเขลางค์ สร้างให้เจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางจามเทวี ปกครองดูแลต่อไป [15] เมืองตั้งอยู่บนที่ดอน ริมแม่น้ำวัง มีองค์ประกอบของเมือง ค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ศักดิ์ รัตนชัย เคยเสนอว่า เมืองนี้มีลักษณะสัณฐานคล้ายเมืองหอยสังข์
- บริเวณตอนเหนือของลุ่มน้ำวัง สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณวัดกู่คำ วัดกู่ขาว วัดปันเจิง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่แรกไปไม่ไกล มีทางเดินเชื่อมจากประตูตาล ยังปรากฏร่องรอยมาจนปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวมีการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีคือ พระพิมพ์ดินเผา และเครื่องปั้นดินเผาทั้งนี้ยังเชื่อมโยงกับแหล่งผลิต คือ "แหล่งทุ่งเตาไห" ที่บ้านทราย ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของวัดพระเจดีย์ซาวหลังไปประมาณ 2 กิโลเมตร [16]
- บริเวณอำเภอเกาะคา สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของพื้นที่วัดพระแก้วดอนเต้าไปกว่า 10 กิโลเมตร ล่องไปตามแม่น้ำวัง ปรากฏหลักฐานคือ เครื่องปั้นดินเผา [17]
ชื่อบ้านนามเมือง
ศาสตราจารย์ แสง มณวิทูร [18] ให้คำอธิบาย "เขลางค์นคร" ว่ามาจากภาษามอญ ว่า ฮฺลาง หรือ ขฺลาง แปลว่า ขัน หรือโอ และตีความว่า พรานเขลางค์ ก็คือ พรานที่อาศัยอยู่ที่ ดอยเขลางค์ ก็คือ ดอยโอคว่ำนั่นเอง ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล ให้คำอธิบายว่า เมืองลำปางก็คือ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง ชื่อของ พระธาตุลำปางหลวง ปรากฏในตำนานเรียก "พระมหาธาตุเจ้าลำปาง" หรือ "พระธาตุหลวงลำปาง" [19] เมืองลำปางจึงน่าจะเป็น "เมืองลำพาง" หรือ "อาลัมพางนคร" ที่พระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของ พระนางจามเทวี พระราชมารดา [20] ยังมีอีกข้อสันนิษฐานจาก อ.สักเสริญ รัตนชัย ว่า เวียงอาลัมพาง น่าจะอยู่บริเวณ กลุ่มวัดกู่คำ วัดกู่ขาว [21]
ยุคที่ 2 : ล้านนา (ราวพุทธศตวรรษที่ 19-พุทธศตวรรษที่ 23)
การตั้งถิ่นฐาน
หลังจากพญามังราย ยึดเมืองเขลางค์นครได้แล้ว จึงได้ให้ขุนไชยเสนา รั้งเมืองและออกมาสร้างเมืองใหม่ในปี พ.ศ. 1845 [22] สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณวัดเชียงภูมิ (วัดปงสนุกในปัจจุบัน) มีการก่อกำแพงเมืองเพิ่มเติม รวมถึงคูเมือง และประตูเมืองต่าง ๆ ได้แก่ "ประตูปลายนา" "ประตูนาสร้อย" "ประตูเชียงใหม่" "ประตูป่อง" [23] อย่างไรก็ตาม เมืองใหม่ที่สร้างมากับเมืองเก่าเขลางค์นครนั้น น่าจะยังมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง แต่ลดระดับความสำคัญลงไปจากเดิมเท่านั้น
สงครามล้านนากับอยุธยา
เวียงลคอรได้เป็นสมรภูมิรบระหว่าง ล้านนา กับกรุงศรีอยุธยา หลายคราว ได้แก่ [24]
- พระบรมราชาธิราชที่ 4 ยกทัพมาตี แต่ไม่สำเร็จ พ.ศ. 1929
- ล้านนาเปิดศึกรุกกวาดต้อนชาวสุโขทัย เชลียง กำแพงเพชร จึงถูกตอบโต้ด้วยการยกทัพมายึดเมืองลคอรได้สำเร็จ พ.ศ. 2053-2058
- พระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072) กษัตริย์อยุธยายกทัพมาตีเวียงลคอรแตก แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับไป พ.ศ. 2058
เมืองยุทธศาสตร์ตอนใต้
การเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนานั้น ถือว่าเป็นรัฐที่เติบโตอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการทางหาร ทางเหนือได้แก่ พม่า และทางใต้ คือ สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ทำให้ล้านนาถูกคุกคามจากทางใต้มากขึ้น นั่นหมายถึงว่า ในขณะนั้นตำแหน่งของหัวเมืองทางใต้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่ง "เวียงลคอร" จึงมีฐานะเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่จะต้านทานกองทัพที่มารุกรานเสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้ "เวียงลคอร" มีอำนาจต่อรองพอที่จะได้รับอานิสงส์ความมั่งคั่งด้วย [25]
ประดิษฐานพระแก้วมรกต ณ วัดพระแก้วดอนเต้า
ปรากฏเหตุการณ์อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" จาก เชียงรายไปเชียงใหม่ กล่าวกันว่าช้างที่อัญเชิญไม่ยอมไปเชียงใหม่ กลับดึงดันที่จะเข้าเวียงลคอร จึงทำให้ "พระแก้วมรกต" ประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วตอนเต้า เป็นเวลาถึง 32 ปี ก่อนจะถูกอัญเชิญไปที่วัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ในเวลาต่อมา [26]
ชื่อบ้านนามเมือง
ชื่อเมือง"เขลางค์นคร" เริ่มถูกตัดให้สั้นเหลือเพียง "เมืองนคร" ในพ.ศ. 2019 จากหลักฐานศิลาจารึก หลักที่ 65 ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ เมืองนคร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช และคำว่า "นคร" ได้เขียนกลายเป็น "ลคอร" สำเนียงชาวพื้นถิ่นออกเป็น "ละกอน" [27]
ยุคที่ 3 : ประเทศราชของพม่า (พุทธศตวรรษที่ 23-24)
ด้วยปัญหาภายในล้านนาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพแท้จริง ในที่สุดก็สลายลงใน พ.ศ. 2101 ซึ่งทัพของ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็สามารถยึดเชียงใหม่อย่างง่ายดาย ผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเวียงลคอร จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของพม่า เรื่อยมาเป็นเวลากว่า 200 ปี [28] ที่อยู่ใต้อิทธิพลความคิด และการอุปถัมภ์จากราชสำนักพม่า หนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ปรากฏวีรกรรมของหนานทิพย์ช้างที่สามารกำจัด ท้าวมหายศ เจ้าเมืองลำพูนที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนได้สำเร็จ ดังปรากฏเรื่องเล่า ณ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง หนานทิพย์ช้างได้รับการยอมรับจากชาวเมืองให้เป็นเจ้าเมือง ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวว่า หนานทิพย์ช้าง ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์พม่า ให้เป็น "พระยาไชยสงคราม" [29] ถือเป็นความชอบธรรมประการหนึ่งในสมัยนั้นที่ยังอยู่ใต้อิทธิพลของพม่า อย่างไรก็ตามหนานทิพย์ช้าง ยังถูกเรียกในนามอื่น ๆ ได้แก่ พระยาสุลวฤๅไชย [30] พ่อเจ้าทิพย์ช้าง [31]
ยุคที่ 4 : ประเทศราชของสยาม (พุทธศตวรรษที่ 24- ทศวรรษ 2430)
นโยบายกวาดต้อนผู้คน
กำลังคนไพร่พลเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงอยู่ของเมือง ๆ หนึ่ง ครั้นล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า โครงสร้างของไพร่พลดังกล่าวอ่อนแอลงจนไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสังกัดได้ดังเดิม เมื่อ "พระเจ้ากาวิละ" อาศัยความร่วมมือจากทางกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ จนกลับมาตั้งศูนย์อำนาจการเมืองทางเหนือได้สำเร็จ จึงได้ใช้ "นโยบายเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" [32] จากหัวเมืองต่าง ๆ ทางเหนือ เช่น เมืองเชียงตุง เมืองสาด เมืองยอง ฯลฯ
การตั้งถิ่นฐาน
อ.สักเสริญ รัตนชัย อ้างถึงตำนานเจ้าเจ็ดตน ฉบับสุวรรณหอคำมงคล ใน ประวัตินครลำปาง [33] ว่า "...สมัยเจ้าคำโสม ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 ...ได้สร้างวิหารหลวงกลางเวียง ก่อองค์เจดีย์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระวิหารวัดหมื่นกาด วิหารวัดน้ำล้อม วิหารวัดป่าดั๊วะในฝั่งเมืองใหม่... ต่อมาในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์เป็นพระยานคร เมื่อ พ.ศ. 2337 ได้สร้างกำแพงและขุดคูเมือง พร้อมทั้งสร้างหอคำขึ้นราว พ.ศ. 2351 ...มีประตูเมืองชื่อต่าง ๆ คือ ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูชัย ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก และประตูเชียงราย..." ทางฝั่งเหนือ ของแม่น้ำวังนั้นประกอบด้วยชุมชนจากเชียงแสนดังที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ บ้านหัวข่วง บ้านสุชาดาราม บ้านช่างแต้ม บ้านปงสนุก นอกนั้นยังมีบ้านพะเยา ที่อยู่บริเวณเดียวกับบ้านปงสนุก ภายหลังได้ย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เมืองพะเยาอีกครั้ง [34]
เศรษฐกิจ
ในส่วนของการค้าขายระยะไกล จะมีพ่อค้าเร่ พ่อค้าวัวต่างที่เชื่อมโยงระหว่าง ยูนนาน พม่า รัฐฉาน หลวงพระบาง เชียงตุง ซึ่งเป็นพ่อค้าไทใหญ่ พ่อค้าฮ่อ ผ่านมา โดยจะเดินทางมาพักบริเวณศาลาวังทาน (บริเวณวัดป่ารวก และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง [35]
ชื่อบ้านนามเมือง
มีการกล่าวถึงขื่อ นครลำปาง ในหลายแห่ง ได้แก่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์[36] ที่กล่าวถึง พระยาละครลำปาง (ในพ.ศ. 2332) พงศาวดารนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ไว้ว่า พ.ศ. 2357 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ได้มีการยกเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เป็นเมืองประเทศราช ทั้งนี้ปรากฏชื่อ "ศรีนครไชย" จากตำนานที่เขียนขึ้นในยุคนี้ เพื่อเป็นการถวายเกียรติสดุดีแด่สกุลเจ้าเจ็ดตน [37]
ยุคที่ 5 : ภายใต้รัฐสยามและระบบทุนนิยม (ทศวรรษ 2430-2459)
การเติบโตของระบบทุนนิยม อิทธิพลชาวตะวันตก และสยามประเทศ
ในยุคสมัยนี้ เริ่มต้นด้วยการนับตั้งแต่การลงนาม สนธิสัญญาเชียงใหม่ [38] อันเนื่องมาจากความขัดแย้งจากกิจการป่าไม้ และความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยาม และรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ขณะที่อังกฤษก็สามารถตั้ง สถานกงสุลประจำนครเชียงใหม่ และนครลำปาง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตนและกลุ่มชนในบังคับอังกฤษ ปัญหาการคุกคามจากอาณานิคมตะวันตกดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสยาม มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อจะรวบอำนาจเข้าสูศูนย์กลางให้มากที่สุด ดังปรากฏการส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาควบคุมการบริหารราชการภายใน จึงอาจกล่าวได้ว่าในยุคนี้หัวเมืองทางเหนือ ได้รับการกดดันอย่างหนักหน่วง แน่นอนว่า กระแสอันเชี่ยวกรากของระบบทุนนิยมที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบเจ้านายทางเหนือพังทลายลง
รัฐบาลสยามได้ปรับตัวครั้งใหญ่ โดยมีการปฏิรูปการปกครองเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล เมืองนครลำปางขึ้นอยู่กับมณฑลพายัพ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ และต่อมาแยกออกไปเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ในปี 2459 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแพร่ [39]
เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย
เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 10 ที่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เป็นผู้บริจาค ผู้สร้างสิ่งสาธารณประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนรัฐบาลสยามอย่างยิ่ง [40] อันได้แก่ สร้างโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงทหาร โรงพยาบาลทหาร ที่ทำการไปรษณีย์ หรือการอุทิศที่ดินเพื่อสร้างที่ทำการศาล เรือนจำกลางลำปาง เป็นต้น
เศรษฐกิจ
ดังที่กล่าวมาแล้ว ในยุคนี้เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมเข้าสู่นครลำปาง กลุ่มแรก ๆ ที่มีโอกาสสะสมทุนก็ได้แก่ กลุ่มทำไม้ ชาวไทใหญ่-พม่า ที่ร่วมกับชาวยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ดังปรากฏการสร้างบ้านใหญ่โต บริเวณท่ามะโอ หรือการสร้างวัดแบบไทใหญ่-พม่า บริเวณย่านป่าขามเป็นจำนวนมาก อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวจีน [41] ที่เดินทางมาจากส่วนกลางของสยามประเทศและศูนย์กลางการค้าทางน้ำ เช่น สวรรคโลก นครสวรรค์ มาประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ โดยเรือหางแมงป่อง ขึ้น-ล่อง ส่งสินค้าระหว่างนครลำปาง กับปากน้ำโพ และอาจไปจนถึงกรุงเทพฯ หรือบางคนสามารถสะสมทุนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอากรเก็บภาษีในท้องถิ่น
การตั้งถิ่นฐาน
เมืองในยุคนี้จะมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มก็มีความเชื่อ และโลกทัศน์ที่ต่างกันในการอยู่อาศัย ใช้ชีวิต ได้แก่ ฝรั่งอังกฤษที่เข้ามาทำไม้ และชาวไทใหญ่-พม่า [42] ตั้งถิ่นฐานบริเวณท่ามะโอ ที่ใกล้แม่น้ำวัง จนใช้บางแห่งเป็นที่ชักลากซุงขึ้นมา เช่นบริเวณด้านหน้าของวัดพระแก้วดอนเต้า (ด้านสระน้ำ) ขณะที่ชาวจีน ชาวไทใหญ่-พม่า ก็เลือกทำเลบริเวณตลาดจีน (กาดกองต้า) ที่ใช้พื้นที่ต่ำใกล้น้ำให้เป็นประโยชน์ในการเป็นท่าเทียบเรือสินค้า โกดัง ที่อยู่อาศัย และห้างไปในตัว ย่านวัดไทใหญ่-พม่า บริเวณป่าขามและใกล้เคียง เป็นบริเวณที่แยกออกมาจากตัวเมือง ขณะเดียวกันก็มีบริเวณม่อนที่มีความสูงสอดคล้องกับคติการสร้างวัด คริสเตียนอเมริกันเพรสไบทีเรียน เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่การค้าขาย แต่เน้นที่การเผยแพร่ศาสนา ให้การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านเกาะ ริมแม่น้ำวัง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่ดินพระราชทาน ใกล้กับสถานกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง [43]
ยุคที่ 6 : รถไฟและรัฐประชาชาติ-ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2459-2500)
การขยายตัวเนื่องมาจากรถไฟ
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเงื่อนไขของการคมนาคมเช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก เมื่อเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองใด เมืองนั้นก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในกรณีลำปาง จากเส้นทางน้ำสู่การค้าทางบกอย่างรถไฟที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย คุ้มค่า ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการดึงคนเข้าเมือง โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาเป็นจำนวนมากพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในแง่ของความรู้ การจัดการตลอดไปจนเครื่องจักรต่าง ๆ ล้วนเติบโตในช่วงนี้
สงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราว พ.ศ. 2485-2488) ญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อเคลื่อนพลผ่านประเทศไทยและได้ตั้งกองบัญชาการที่ลำปาง เข้าทำการยึดอาคารสถานที่ในกิจการของชาวตะวันตก ทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่น ๆ ต่างก็ทำการลี้ภัยออกไป ขณะที่ประเทศไทยสมัยนั้นเป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเมืองด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่าง ๆ หลายครอบครัวในตัวเมืองได้ทำการย้ายไปอยู่นอกเมืองชั่วคราวเพื่อหลบภัยสงคราม บางร้านในเมืองก็พรางอาคารด้วยยอดมะพร้าวหรือเอาสีดำมาทาตัวตึก ทหารญี่ปุ่นได้ยึดอาคารสำคัญในเมืองโดยเฉพาะอาคารร้านค้าบริเวณกาดกองต้า ตลอดไปจนถึงการยึดเอาข่วงโปโล (สวนสาธารณะเขลางค์นครในปัจจุบัน) และบริเวณโรงแรมทิพย์ช้างตั้งเป็นตึกบัญชาการกองพล 1 ญี่ปุ่น ขณะที่อาคารสถานที่ของกลุ่มชนคู่สงครามอย่าง อังกฤษ และอเมริกัน เช่น โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี ต่างก็โดนยึดเป็นที่ตั้งกำลังพลทหารญี่ปุ่น[44] แม้แต่วัดน้ำล้อมก็มีการเล่าว่า มีทหารรถถังของญี่ปุ่นมาขอพักที่วัด [45]
การตั้งถิ่นฐาน
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชาวจีน ซึ่งตั้งตัวอยู่บริเวณถนนประสานไมตรีใกล้ย่านสถานีรถไฟ ย่านการค้าซึ่งเป็นส่วนขยายของเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับขยับขยายไปบริเวณย่านตลาดในเมือง ได้แก่ ตลาดบริบูรณ์ปราการ ตลาดราชวงศ์ ซึ่งปรากฏการตั้งถิ่นฐานบนถนนทิพย์ช้าง ถนนบุญวาทย์ ถนนรอบเวียง
เศรษฐกิจ
ย่านสถานีรถไฟ กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และแหล่งการค้าสำคัญซึ่งมีกิจการที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ โรงสี โรงเลื่อย โกดังเก็บผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังเป็นเส้นทางผ่านไปยัง พะเยา เชียงราย [46] ควบคู่ไปด้วยกันนั้น แหล่งบันเทิง ย่านกินเที่ยว ก็ตามมา ทั้งโรงฝิ่นบนถนนประสานไมตรี และข้างสถานีตำรวจสบตุ๋ยในปัจจุบัน หรือย่านเที่ยวบนถนนบุญวาทย์ที่มีทั้งซ่อง โรงฝิ่น โรงภาพยนตร์ โรงแรม ร้านอาหาร [47]
ชื่อบ้านนามเมือง
จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ. 2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า "ลคอร" ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้
การเมืองการปกครอง
ราชการส่วนภูมิภาค
ราชการส่วนภูมิภาค มีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย เกิดจากการจัดระเบียบราชการในระบอบประชาธิปไตยที่ทำการยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล ที่มีการจัดระเบียบให้มีการบริหารราชการ 3 ส่วนได้แก่ ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476
ศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางที่มีอำนาจปกครองท้องที่ 13 อำเภอที่ดูแลโดยนายอำเภอ
แบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 100 ตำบล 855 หมู่บ้าน
ที่ | ชื่ออำเภอ | ตัวเมือง | อักษรโรมัน | จำนวนตำบล | จำนวนประชากร[48] |
---|---|---|---|---|---|
1. | เมืองลำปาง | Mueang Lampang | 19 | 223,116 | |
2. | แม่เมาะ | Mae Mo | 5 | 39,586 | |
3. | เกาะคา | Ko Kha | 9 | 58,952 | |
4. | เสริมงาม | Soem Ngam | 4 | 30,546 | |
5. | งาว | Ngao | 10 | 53,300 | |
6. | แจ้ห่ม | Chae Hom | 7 | 38,659 | |
7. | วังเหนือ | Wang Nuea | 8 | 43,584 | |
8. | เถิน | Thoen | 8 | 58,294 | |
9. | แม่พริก | Mae Phrik | 4 | 15,884 | |
10. | แม่ทะ | Mae Tha | 10 | 56,944 | |
11. | สบปราบ | Sop Prap | 4 | 26,828 | |
12. | ห้างฉัตร | Hang Chat | 7 | 50,426 | |
13. | เมืองปาน | Mueang Pan | 5 | 32,828 |
ราชการส่วนท้องถิ่น
ภายในจังหวัดลำปาง ประกอบด้วยราชการส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของตนขึ้นมาบริหารท้องที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 1 แห่ง มีเทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 3 แห่ง รวมไปถึงเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ขอบเขตจะสัมพันธ์กับการเป็นศูนย์กลางของตำบล หรือย่านชุมชน จะเห็นได้ว่า ในเทศบาลเมือง หรือเทศบาลตำบล ส่วนหนึ่งจะมีรากฐานเดิมมาจากสุขาภิบาลตำบล โดยหลักประกอบด้วย
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2476 ในนาม สภาจังหวัด)
- เทศบาลนคร
- เทศบาลนครลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2478 ในนาม เทศบาลเมืองลำปาง) อำเภอเมืองลำปาง
- เทศบาลเมือง
- เทศบาลเมืองเขลางค์นคร (ก่อตั้ง พ.ศ. 2512 ในนาม สุขาภิบาลตำบลชมพู) อำเภอเมืองลำปาง
- เทศบาลเมืองพิชัย (ก่อตั้ง พ.ศ. 2535 ในนาม สุขาภิบาลตำบลพิชัย) อำเภอเมืองลำปาง
- เทศบาลเมืองล้อมแรด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2498 ในนาม สุขาภิบาลตำบลล้อมแรด) อำเภอเถิน
- เทศบาลตำบล
|
|
|
รายนามผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ลำดับ | ชื่อ - สกุล | ดำรงตำแหน่ง | ระยะเวลาปฏิบัติงาน |
---|---|---|---|
1 | พระยาสุเรนทรราชเสนา (เจิม จารุจินดา) | พ.ศ. 2453 - พ.ศ. 2470 | 17 ปี |
2 | พระยาวิเศษฤๅไชย (หม่อมหลวงเจริญ อิศรางกูร) | พ.ศ. 2471 - พ.ศ. 2472 | 1 ปี |
3 | พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (พงษ์ บุรุษชาติ) | พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2475 | 3 ปี |
4 | พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทรโสพัส) | พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2476 | 1 ปี |
5 | พระยาประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) | พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2480 | 4 ปี |
6 | พระพายัพพิริยกิจ | พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2482 | 1 ปี |
7 | หลวงอุตตรดิตถาภิบาล | พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2484 | 2 ปี |
8 | หลวงเกษมประศาสน์ | พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2485 | 1 ปี |
9 | หลวงศุภการบริรักษ์ | พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2489 | 4 ปี |
10 | ขุนสีมะสิงห์สวัสดิ์ | พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2490 | 1 ปี |
11. | ขุนอักษรสารสิทธิ์ | พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2494 | 4 ปี |
12 | นายพ่วง สุวรรณรัฐ | พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2495 | 1 ปี |
13 | นายสุวรรณ รื่นยศ | พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2497 | 2 ปี |
14 | ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ | พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2501 | 4 ปี |
15 | นายเชื่อม ศิริสนธิ | พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2504 | 3 ปี |
16 | นายสุบิน เกษทอง | พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2515 | 11 ปี |
17 | นายชุ่ม บุญเรือง | พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2516 | 1 ปี |
18 | นายสำราญ บุษปวนิช | พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2519 | 3 ปี |
19 | นายไสว ศิริมงคล | พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2523 | 4 ปี |
20 | นายสำรวย พึ่งประสิทธิ์ | พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2524 | 1 ปี |
21 | นายชูวงศ์ ฉายะบุตร | พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2528 | 4 ปี |
22 | นายยุทธ แก้วสัมฤทธิ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 30 กันยายน พ.ศ. 2532 | 4 ปี |
23 | นายอุทัย นาคปรีชา | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 - 30 กันยายน พ.ศ. 2533 | 1 ปี |
24 | นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2534 | 0 ปี 257 วัน |
25 | ร้อยตรี พูลศักดิ์ สัตยานุรักษ์ | 16 มิถุนายน พ.ศ. 2534 - 30 กันยายน พ.ศ. 2535 | 1 ปี 106 วัน |
26 | ร้อยเอก อริยะ อุปารมี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2536 | 1 ปี 16 วัน |
27 | นายสุชาติ ธรรมมงคล | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2536 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 | 0 ปี 218 วัน |
28 | นายสหัส พินทุเสนีย์ | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 - 30 กันยายน พ.ศ. 2540 | 3 ปี 128 วัน |
29 | นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช | 20 ตุลาคม พ.ศ. 2540 - 30 กันยายน พ.ศ. 2542 | 1 ปี 345 วัน |
30 | นายพีระ มานะทัศน์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - 30 กันยายน พ.ศ. 2545 | 3 ปี |
29 | นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช (ครั้งที่ 2) | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 - 30 กันยายน พ.ศ. 2546 | 1 ปี |
31 | นายอมรทัต นิรัติศยกุล | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550 | 4 ปี |
32 | นายดิเรก ก้อนกลีบ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551 | 1 ปี 18 วัน |
33 | นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ | 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2552 | 0 ปี 146 วัน |
34 | นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ | 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 - 30 กันยายน พ.ศ. 2552 | 0 ปี 198 วัน |
35 | นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - 30 กันยายน พ.ศ. 2553 | 1 ปี |
36 | นายอธิคม สุพรรณพงศ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - 30 กันยายน พ.ศ. 2554 | 1 ปี |
37 | นายบุญเชิด คิดเห็น | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554 - 26 เมษายน พ.ศ. 2555 | 0 ปี 119 วัน |
38 | นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย | 27 เมษายน พ.ศ. 2555 - 30 กันยายน พ.ศ. 2556 | 1 ปี 156 วัน |
39 | นายธานินทร์ สุภาแสน | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558 | 2 ปี |
40 | นายสามารถ ลอยฟ้า | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559 | 1 ปี |
41 | นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560 | 1 ปี |
42 | นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 - 30 กันยายน พ.ศ. 2562 | 2 ปี |
43 | นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564 | 2 ปี |
44 | นายสิธิชัย จินดาหลวง | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - 30 กันยายน พ.ศ. 2565 | 1 ปี |
45 | นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน | 2 ปี 98 วัน |
วัฒนธรรม
ศิลปสถาปัตยกรรม
ศิลปสถาปัตยกรรม มักจะสะท้อนอุดมการณ์และปฏิบัติการทางเมือง ในที่นี้จึงแบ่งยุคต่าง ๆ เป็นดังนี้
- ยุคก่อนล้านนา
พระพิมพ์ดินเผา ยุคหริภุญชัย (การขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร)
- ยุคล้านนา
ศิลปะยุคทองที่ถือว่าเป็นแบบฉบับของศิลปสถาปัตยกรรมล้านนา ตัวอย่างได้แก่
- วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา อันได้แก่ แผนผัง วิหารหลวง วิหารน้ำแต้ม วิหารพระพุทธ รวมไปถึงพระธาตุลำปางหลวง
- วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน อำเภอเกาะคา ได้แก่ วิหาร
- กู่เจ้าย่าสุตตา (ซุ้มโขงวัดกากแก้ว)
- ยุคฟื้นม่าน
ศิลปะสืบสานแบบจารีตเดิม
- หอคำ อำเภอเมืองลำปาง
- วิหารวัดคะตึกเชียงมั่น อำเภอเมืองลำปาง
ศิลปะแบบเชียงแสน ตัวอย่างได้แก่
- วัดสุชาดาราม อำเภอเมืองลำปาง
- วัดหัวข่วง อำเภอเมืองลำปาง
- ยุคอิทธิพลสยามและตะวันตก
สัญลักษณ์ครุฑตัวแทนราชสำนักสยาม ตัวอย่างได้แก่ ศิลปะแบบพม่า-ไทใหญ่ วัดพม่า-ไทใหญ่ในลำปาง 9 แห่ง สัมพันธ์กับพ่อค้าคหบดีพม่า-ไทใหญ่ที่เข้ามาทำไม้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ตัวอย่างได้แก่
- วิหารหลวง วัดพระแก้วดอนเต้า อำเภอเมืองลำปาง
- วัดศรีชุม อำเภอเมืองลำปาง
- วัดศรีรองเมือง อำเภอเมืองลำปาง
- วัดม่อนจำศีล อำเภอเมืองลำปาง
- วัดม่อนปู่ยักษ์ อำเภอเมืองลำปาง
- วัดป่าฝาง อำเภอเมืองลำปาง
- วัดจองคา อำเภอเมืองลำปาง
- วัดป่ารวก อำเภอเมืองลำปาง
- วัดจองคำ อำเภองาว
- ยุคประชาธิปไตย
สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ ที่เป็นพานแว่นฟ้าซ้อนกันสองชั้นแล้วด้านบนเป็นสมุดไทยซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญนั่นเอง สัญลักษณ์นี้ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของระบอบใหม่ ในจังหวัดลำปางได้ปรากฏสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในที่ต่าง ๆ เช่น หน้าแหนบวัดปงหอศาล อำเภอแม่ทะ ระบุว่าสร้างเสร็จวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ในปฏิทินแบบเก่าปีใหม่เริ่ม เมษายน ดังนั้น มีนาคมจึงเป็นปลายปีแล้ว เมื่อปรับตามปฏิทินร่วมสมัยก็จะกลายเป็น 15 มีนาคม พ.ศ. 2476) หรือวัดอื่น ๆ ในแม่ทะ เช่น ชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นหน้าแหนบของวัดสบทะ ดาวเพดานวิหารวัดนากว้าว แต่ลักษณะของพานนี้เป็นพานชั้นเดียว(พานแว่นฟ้าจะเป็นพานสองชั้นซ้อนกัน) ก็อาจตีความได้ทั้งสองอย่างคือสื่อถึงรัฐธรรมนูญ หรือเป็นพานที่รองรับพับสาธรรมะทั่ว ๆ ไป แผงคอสองวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก อำเภอเมืองลำปาง ที่ระบุว่าอยู่ในปี พ.ศ. 2482 เช่นเดียวกันกับเครื่องบนหลังคาของวิหารหลวงวัดปงสนุก(เหนือ) หลังเก่าที่ถูกรื้อไปแล้ว แต่ยังเก็บชิ้นส่วนนี้ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ สันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนทางใต้ของลำปางก็พบมีการใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าแหนบวิหารหลวง วัดล้อมแรด อำเภอเถิน
พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และแหล่งเรียนรู้
- หอปูมละกอน เทศบาลนครลำปาง ตั้งอยู่บริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา อำเภอเมืองลำปาง
- หอศิลป์ลำปาง มูลนิธินิยม ปัทมเสวี ถนนตลาดเก่า ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง
- หอประวัติศาสตร์นครลำปาง ตั้งอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (หลังเก่า)
การคมนาคม
ทางถนน
ทศวรรษ 2500 ที่เริ่มมีการขยายตัวการของทางหลวง อันได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาโดยมีเหตุผลเรื่องความมั่นคงแฝงอยู่เบื้องหลังการเดินทางดังกล่าว ทำให้แต่ละจังหวัดถูกเชื่อมกันด้วยเส้นทางหลวง จากจังหวัดสู่จังหวัด และยังอาจรวมไปถึงจากจังหวัดไปสู่ตัวอำเภอต่าง ๆ อีกด้วย เส้นทางขึ้นเหนือ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน จากกรุงเทพฯ สู่ จังหวัดเชียงราย
นอกจากนั้นยังมี “โครงการทางหลวงเอเชีย” ที่เป็นความร่วมมือของภูมิภาค เพื่อที่จะพัฒนาการเชื่อมโยง เมืองหลวง เมืองอุตสาหกรรม ท่าเรือ สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งการค้าสำคัญด้วยกัน ประเทศที่เกี่ยวข้องได้แก่ กัมพูชา ไทย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ศรีลังกา ลาว อัฟกานิสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน ความร่วมมือเกิดจาก คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชีย และตะวันออกไกล (ECAFE ปัจจุบันคือ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ESCAP) ในปี 2502 ต่อมาจีน พม่าและมองโกเลียได้ร่วมโครงการในปี 2531-2533 ทางหลวงเอเชียที่ผ่านประเทศไทยสายประธานที่เกี่ยวกับภาคเหนือมี 3 สายนั่นคือ
- สาย A-1 เริ่มจากเขตแดนพม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เลี้ยวไปบรรจบกับ ทางหลวงหมายเลข 1 ที่ตาก แล้วลงไปยังนครสวรรค์
- สาย A-2 เริ่มจากเขตแดนพม่า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าเชียงรายแล้วลงมาตามทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งผ่านจังหวัดลำปาง
- สาย A-3 เริ่มจากแยกสาย A-2 ที่เชียงราย ออกไปตามทางหลวงหมายเลข 1020 เพื่อเลี้ยวไปจดเขตแดนลาว ที่ อำเภอเชียงของ
ขณะที่ทางหลวงหมายเลขที่ 11 ที่เชื่อมลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่ ตัดผ่านในต้นทศวรรษ 2510
จังหวัดลำปางอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 600 กิโลเมตร จากเส้นทางสายเอเชีย (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เข้าสู่ลำปาง ถนนเป็นถนนสี่เส้นทางการจราจรตลอดทาง หรือใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แยกจากถนนพหลโยธิน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ เข้าสู่ลำปาง สิ้นสุดปลายทางที่เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางรถส่วนตัวประมาณ 7-8 ชั่วโมง
การเดินทางภายในจังหวัด
การขนส่งมวลชนเพื่อเดินทางภายในจังหวัดมีรถให้บริการที่คนลำปางเรียกกันว่า "รถสี่ล้อ" แบ่งเป็น 2 ประเภท
- รถสี่ล้อ (รถสองแถว) สีเหลือง-เขียว เส้นทางภายในตัวเมือง สังกัดสหกรณ์เดินรถนครลำปาง จำกัด
- รถสี่ล้อ (รถสองแถว) สีน้ำเงินและสีฟ้า เส้นทางระหว่างอำเภอ สังกัดสหกรณ์เดินรถนครลำปาง จำกัด
ระยะทางเดินทางไปยังอำเภอต่าง ๆ
- อำเภอเกาะคา 15 กิโลเมตร
- อำเภอห้างฉัตร 17 กิโลเมตร
- อำเภอแม่ทะ 25 กิโลเมตร
- อำเภอแม่เมาะ 22 กิโลเมตร
- อำเภอเสริมงาม 43 กิโลเมตร
- อำเภอสบปราบ 52 กิโลเมตร
- อำเภอแจ้ห่ม 56 กิโลเมตร
- อำเภอเมืองปาน 65 กิโลเมตร
- อำเภองาว 83 กิโลเมตร
- อำเภอเถิน 94 กิโลเมตร
- อำเภอวังเหนือ 110 กิโลเมตร
- อำเภอแม่พริก 115 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทางระหว่างต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
รถประจำทางจากกรุงเทพฯ-ลำปาง สามารถเดินทางได้จาก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) มีรถให้เลือกหลายบริษัทหลายระดับ ขณะที่การเดินทางออกจากลำปาง ใช้สถานีขนส่งจังหวัดลำปาง สังกัดเทศบานครลำปาง ณ ถนนจันทรสุรินทร์ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง โดยรถประจำทางมีเส้นทางเดินรถดังนี้
สายกรุงเทพฯ
- สาย 1 กรุงเทพ-เชียงใหม่ (ก) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บลูไนน์ (กรีนบัส)
- สาย 13 กรุงเทพ-ฝาง-บ้านท่าตอน (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-เชียงใหม่-แม่ริม-ฝาง-แม่อาย-บ้านท่าตอน) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. นิววิริยะยานยนต์ทัวร์
- สาย 18 กรุงเทพ-เชียงใหม่ (ข) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. นครชัยแอร์ สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ พรพิริยะทัวร์ วิริยะทัวร์ นิววิริยะยานยนต์ทัวร์ ศรีทะวงศ์ทัวร์ ลิกไนท์ทัวร์ เชิดชัยทัวร์ แอมบาสเดอร์ทัวร์ อินทราทัวร์
- สาย 90 กรุงเทพ-เชียงราย (ก) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์ สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ เชิดชัยทัวร์
- สาย 91 กรุงเทพ-ลำปาง (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. สมบัติทัวร์ พรพิริยะทัวร์ นิววิริยะยานยนต์ทัวร์ เชิดชัยทัวร์ นครชัยแอร์ วิริยะทัวร์ ศรีทะวงศ์ทัวร์
- สาย 924 กรุงเทพ-ลำพูน (ก) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. เชิดชัยทัวร์
- สาย 964 กรุงเทพ-ดอยเต่า-จอมทอง (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-เถิน-ลี้-ดอยเต่า-จอมทอง) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส.
- สาย 9911 กรุงเทพ-ลำพูน (ข) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-เถิน-ลี้-ลำพูน) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส.
สายภาคกลาง
- สาย 114 นครสวรรค์-เชียงใหม่ (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครสวรรค์ยานยนต์ (ถาวรฟาร์ม)
- สาย 155 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (สายเก่า) (พิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก-เถิน-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์ ศรีทะวงค์ทัวร์
- สาย 132 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (สายเก่า) (พิษณุโลก-สุโขทัย-สวรรคโลก-ทุ่งเสลี่ยม-เถิน-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
- สาย 623 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (สายใหม่) (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
สายตะวันออก
- สาย 659 ระยอง-พัทยา-เชียงใหม่ (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์
- สาย 660 ระยอง-เชียงราย-แม่สาย (รถด่วนพิเศษ VIP) (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์
สายตะวันออกเฉียงเหนือ
- สาย 175 ขอนแก่น-เชียงใหม่ (สายเก่า) (ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก-เถิน-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ อีสานทัวร์ ภูหลวงทรานสปอร์ต
- สาย 587 อุบลราชธานี-เชียงใหม่ (อุบลฯ-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์-บัวใหญ่-ชัยภูมิ-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์
- สาย 633 ขอนแก่น-เชียงใหม่ (สายใหม่) (ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ อีสานทัวร์ สมบัติทัวร์
- สาย 635 นครราชสีมา-เชียงใหม่ (นครราชสีมา-สีคิ้ว-โคกสำโรง-ตากฟ้า-เขาทราย-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยทัวร์
- สาย 636 เชียงใหม่-อุดรธานี (อุดรธานี-หนองบัวลำภู-วังสะพุง-เลย-ภูเรือ-ด่านซ้าย-นครไทย-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ จักรพงษ์ทัวร์ อ.ศึกษาทัวร์
- สาย 874 เชียงใหม่-อุบลราชธานี (เชียงใหม่-ดอยติ-ลำปาง-เด่นชัย-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-หล่มสัก-ชุมแพ-ขอนแก่น-โกสุมพิสัย-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-เสลภูมิ-ยโสธร-คำเขื่อนแก้ว-เขื่องใน-อุบลราชธานี) บริษัท เพชรประสริฐ จำกัด
- สาย 876 เชียงใหม่-นครพนม (เชียงใหม่-ดอยติ-ลำปาง-เด่นชัย-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-เลย-หนองบัวลำภู-อุดรธานี-สว่างแดนดิน-พังโคน-สกลนคร-นครพนม) บริษัท เพชรประเสริฐ จำกัด
สายใต้
- สาย 779 ภูเก็ต-เชียงใหม่ (ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร-ประจวบฯ-เพชรบุรี-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 871 เชียงใหม่-หัวหิน (เชียงใหม่-ลำปาง-ตาก-นครสวรรค์-ชัยนาท-อู่ทอง-นครปฐม-ราชบุรี-เพชรบุรี-หัวหิน) บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด
สายตะวันตก
- สาย 875 เชียงใหม่-กาญจนบุรี (เชียงใหม่-ลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-ชัยนาท-สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี) บริษัท ศศนันท์ ทรานสปอร์ต จำกัด
สายเหนือ
- สาย 144 ลำปาง-แพร่ (ลำปาง-ม.ราชภัฏลำปาง-แม่ทะ-แม่แขม-ลอง-แพร่) บริษัท นครลำปางเดินรถ จำกัด (รถตู้ปรับอากาศ)
- สาย 145 ลำปาง-เชียงใหม่ (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ห้างฉัตร-ลำปาง) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 146 ลำปาง-เชียงราย (ลำปาง-งาว-พะเยา-แม่ใจ-พาน-เชียงราย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 147 เชียงใหม่-พาน (เชียงใหม่-ลำปาง-งาว-พะเยา-แม่ใจ-พาน) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 148 เชียงใหม่-ลำปาง-เชียงราย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 149 เชียงใหม่-ลำปาง-แม่สาย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย-แม่จัน-แม่สาย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 167 ลำปาง-เชียงราย (ลำปาง-แจ้ห่ม-วังเหนือ-เวียงป่าเป้า-แม่สรวย-เชียงราย) บริษัท นครลำปางเดินรถ จำกัด
- สาย 169-2 เชียงใหม่-น่าน-ทุ่งช้าง (เชียงใหม่-ลำปาง-เด่นชัย-แพร่-ร้องกวาง-น่าน-ปัว-เชียงกลาง-ทุ่งช้าง) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 672 แม่สาย-แม่สอด (แม่สาย-แม่จัน-เชียงราย-เวียงป่าเป้า-เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-เถิน-บ้านตาก-ตาก-แม่สอด) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 673 แม่สาย-แม่สอด (แม่สาย-แม่จัน-เชียงราย-พะเยา-ม.พะเยา-อ.งาว-ลำปาง-อ.เถิน-อ.บ้านตาก-ตาก-แม่สอด) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 1661 เชียงใหม่-สามเหลี่ยมทองคำ (ข) (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย-แม่จัน-เชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส)
- สาย 1693 ลำปาง-แพร่ (ลำปาง-แม่แขม-เด่นชัย-สูงเม่น-แพร่) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (กรีนบัส) (รถตู้ปรับอากาศ)
ทางราง
เริ่มมีการเดินรถไฟครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2459 ณ สถานีรถไฟนครลำปาง
ศูนย์กลางอยู่ที่สถานีรถไฟนครลำปาง ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง สถานีรถไฟนครลำปาง เปิดใช้งาน 1 เมษายน 2459 รองรับ ขบวน รถรวม พิษณุโลก - ลำปาง และ อุตรดิตถ์ - ลำปาง ก่อนมีรถด่วน สายเหนือตรงจากกรุงเทพ ขึ้นมาทำขบวนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2465
พ.ศ. 2506 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดส่งหัวรถจักรไอน้ำมาแสดงไว้ที่สถานีรถไฟลำปาง และกำหนดให้สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีประวัติศาสตร์ และทำการอนุรักษ์ไว้ รูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟลำปางเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปีก 2 ข้างเชื่อมกับโถงกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม มีการใช้โค้ง (arch) และการประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุ และปูนปั้น พื้นที่ของสถานีรถไฟนครลำปาง มีประมาณ 161 ไร่ มีตัวอาคารสถานี คลังสินค้า พื้นที่เก็บหัวรถจักรและตัวรถไฟ รวมถึงพื้นที่บ้านพักพนักงาน อาคารสถานีดังที่เห็นในปัจจุบันได้ผ่านการต่อเติมมาเป็นบางส่วน โดยเฉพาะช่วงก่อนปีพ.ศ. 2520 มีการต่อเติมส่วนควบคุมบริเวณปีกทางทิศใต้ ส่วนพักคอยด้านติดรางรถไฟ และ ซุ้มด้านหน้าที่จอดรถ จากนั้นมีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา กระเบื้องพื้น และปรับปรุงพื้นชั้นล่างทั้งหมดในปี พ.ศ. 2538 [49]
ทางอากาศ
ลำปางมีท่าอากาศยานที่ใช้เดินทางเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น และท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม นั่งเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีจากกรุงเทพฯ ลงที่ท่าอากาศยานลำปาง
- ท่าอากาศยานลำปาง ตั้งอยู่เลขที่ 175 ถนนสนามบิน 1 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ทั้งหมด 509 ไร่ 72 ตารางวา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 809 ฟุต หรือ 247 เมตร มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ ณ ละติจูดที่ 18 องศา 16 ลิปดา 22 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูดที่ 99 อาศา 30 ลิปดา 24 ฟิลิปดาตะวันออก
ท่าอากาศยานลำปางได้รับงบประมาณผูกพันปี 2555-2557 จำนวน 250 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 4,000 ตารางเมตร โดยเป็นอาคารที่มีลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์แล้วเสร็จเปิดใช้งานในปี 2560[50]
- สายการบิน
สายการบิน | จุดหมายปลายทาง[51] | หมายเหตุ |
---|---|---|
บางกอกแอร์เวย์ | กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ | ทำการบินขึ้น-ลง วันละ 3 เที่ยวบินต่อวัน |
นกแอร์ | กรุงเทพฯ-ดอนเมือง | ทำการบินขึ้น-ลง วันละ 4 เที่ยวบินต่อวัน |
โครงการขนส่งในอนาคต
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข 5 หรือ ถนนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-เชียงใหม่ (ช่วงเด่นชัยลำปาง และ มอเตอร์เวย์ลำปาง-เชียงใหม่) เป็นโครงข่ายการขยายเส้นทางการคมนาคมจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือ โดยผ่าน จังหวัพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาถ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยช่วงที่ผ่านจังหวัดลำปาง ได้ใช้เส้นทางร่วมกับ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 มาจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เข้าสู่จังหวัดลำปาง ผ่านอำเภอแม่ทะ จนมาถึงแยกโยนก หน้ามหาวิทยาลัยเนชั่นลำปาง อำเภอเมืองลำปาง แล้วเลี้ยวซ้าย ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เดิม แล้วเปลี่ยน มาเป็นทางยกระดับ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ไปเรื่อย ๆ (ไม่มีทางขึ้น-ลงใด ๆ) จนมาถึงสี่แยกภาคเหนือ จุดตัด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน เหนือ-ใต้ และ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แนวออก-ตก
- รถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ตามแนวรถไฟสายเหนือ เดิม แต่จะสร้างทางวิ่งคู่ขนานกันไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่
- ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนพหลโยธิน จังหวัดลำปาง เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับเหนือถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองลำปาง ระยะทาง 10.8 กิโลเมตร โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนนพหลโยธิน พร้อมก่อสร้างทางขึ้นลง 5 จุด เป็นทางขึ้น 3 จุด ทางลง 2 จุด และก่อสร้างทางคู่ขนานถนนพหลโยธินเพิ่มจากเดิม รวมถึงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบริเวณสี่แยกภาคเหนือ ซึ่งตัดกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 5 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11
เศรษฐกิจ
โครงการทางเศรษฐกิจในอนาคต ได้แก่
- นิคมอุตสาหกรรมนครลำปาง เป็นโครงการ พัฒนาแรงงานในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ การวิจัย สำรวจความคิดเห็น ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอแนะของหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
- ศูนย์กระจายสินค้าและบริการทางบก เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของภาคเหนือตอนบน บริเวณอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ประชากร
จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดกับประเทศอื่น แต่จังหวัดลำปางติดต่อกับจังหวัดอื่นๆของประเทศไทย ในทิศเหนือนั้นติดต่อกับจังหวัดเชียงราย พะเยา ส่วนทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดตาก และจังหวัดสุโขทัย ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดแพร่ ส่วนทิศตะวันตกติดกับจังหวัดลำพูน จังหวัดลำปางถือว่าเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยหลากหลาย เช่น[52]
- ชาวไทยพื้นราบ ประกอบไปด้วย ชาวไทยวนหรือคนเมือง มีทั้งที่เป็นชาวไทยวนเดิมและไทยวนอพยพมาจากเมืองเชียงแสน(เชียงราย)ในสมัยรัชกาลที่ 1 และชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจากสิบสองปันนาในประเทศจีน
- ชาวไทยเชื้อสายจีน ประกอบไปด้วย ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนไหหลำ ชาวจีนฮากกา ชาวจีนยูนนานหรือฮ่อ
- ชาวไทยภูเขา ประกอบไปด้วย ชาวกะเหรี่ยง ชาวเมี่ยน ชาวม้ง ชาวอาข่า ชาวลีซู ชาวลาหู่ ชาวลัวะ ชาวขมุ
- ชาวไทยเชื้อสายพม่า
จากข้อมูลประชากรจากการทะเบียนในจังหวัดลำปาง พ.ศ. 2561 พบว่าจังหวัดลำปาง มีประชากรทั้งสิ้น 742,883 คน ชาย 363,076 คน ร้อยละ 48.87 หญิง 379,807 คน ร้อยละ 51.13[53] ในด้านแรงงานมีประชากรภาคแรงงาน เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2561 รวมทั้งสิ้นจำนวน 406,033 คน จำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แรงงานในภาคเกษตร และแรงงานนอกภาคเกษตร ซึ่งแบ่งเป็น แรงงานในภาคเกษตร 182,487 คน ร้อยละ 44.94 และแรงงานนอกภาคเกษตร 223,546 คน ร้อยละ 55.06[54]
ปี | ประชากร | ±% |
---|---|---|
2553 | 761,949 | — |
2554 | 757,534 | −0.6% |
2555 | 756,811 | −0.1% |
2556 | 754,862 | −0.3% |
2557 | 753,013 | −0.2% |
2558 | 752,356 | −0.1% |
2559 | 748,850 | −0.5% |
2560 | 746,547 | −0.3% |
2561 | 742,883 | −0.5% |
อ้างอิง:กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย[55] |
การศึกษา
- ระดับอุดมศึกษา
กว่าลำปางจะมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ต้องรอจนถึงปี 2514 ที่มีการก่อตั้งวิทยาลัยครูขึ้น ณ บ้านหนองหัวหงอก ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง
มหาวิทยาลัยรัฐ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2514 ในนาม วิทยาลัยครูลำปาง)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2515 ในนาม โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง รู้จักกันในนาม เกษตรแม่วัง)
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2521)
- มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2522)
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์วิทยพัฒนา จังหวัดลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2541)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2546)
- มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง
มหาวิทยาลัยเอกชน
- มหาวิทยาลัยเนชั่น วิทยาเขตภาคเหนือโยนก (ก่อตั้ง พ.ศ. 2531)
- วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ศูนย์ลำปาง
- ระดับอาชีวศึกษา-อุดมศึกษา
การศึกษาระดับอาชีวศึกษาขยายตัวหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองได้ประกอบอาชีพได้ เป็นทางเลือกนอกจากการเรียนทางวิชาการ
- วิทยาลัยเทคนิคลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2480 ในนาม โรงเรียนอาชีพชาย แผนกช่างโลหะและช่างไม้)
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2480 ในนาม โรงเรียนช่างทอผ้า)
- วิทยาลัยสารพัดช่างลำปาง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2524 ในนาม โรงเรียนสารพัดช่าง)
- วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ
- วิทยาลัยเทคโนโลยีลำปาง (แลมป์ - เทค) เอกชน
- วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง
- โรงเรียนลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยี เอกชน
- วิทยาลัยการอาชีพเถิน
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเถินเทคโนโลยี
- วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม
- โรงเรียน
กลุ่มโรงเรียนที่เปิดสอนระยะแรก คือ กลุ่มโรงเรียนคริสต์ที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน โดยได้รับพระราชทานที่ดิน ได้แก่ โรงเรียนวิชชานารี (เมื่อแรกตั้งชื่อว่า ละกอนเกิร์ลสคูล ต่อมาเป็นสตรีอเมริกัน) โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี (เมื่อแรกตั้งชื่อว่า ละกอนบอยสคูล) ระลอกต่อมา คือ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (หรือรัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา) ได้เสด็จมาเปิดในปี 2448 ขณะที่ลำปางกัลยาณีเริ่มตั้งแต่ปี 2458 ในช่วงทศวรรษ 2450-2460 มีการขยายตัวของโรงเรียนขึ้นมากทั้งในส่วนโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนประชาบาล สัมพันธ์กับพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 โรงเรียนที่เกิดขึ้นช่วงนี้ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวิทยา (ยกส่าย) และโรงเรียนฮั่วเคี้ยว (ประชาวิทย์) ซึ่งก่อตั้งโดยคหบดีชาวจีน หลังปฏิวัติสยาม 2475 โรงเรียนประชาบาลจำนวนหนึ่งกลายเป็นโรงเรียนเทศบาล ขณะที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนคริสต์ในเครือเซนต์คาเบรียลได้เข้ามาตั้งโรงเรียนอรุโณทัยและโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง
- โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
- โรงเรียนลำปางกัลยาณี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร
- โรงเรียนวิชชานารี
- โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี
- โรงเรียนประชาวิทย์ หลักสูตร ภาษาจีน
- โรงเรียนมัธยมวิทยา
- โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง
- โรงเรียนอรุโณทัย
- โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา
- โรงเรียนกิ่วลมวิทยา ลำปาง
- โรงเรียนไตรภพวิทยา
- โรงเรียนมัธยมศาสตร์ หลักสูตรสิงคโปร์
- โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ
- โรงเรียนลำปางวิทยา
- โรงเรียนกีฬาจังหวัดลำปาง
- โรงเรียนเมืองปานวิทยา
- โรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคม
- โรงเรียนเมืองปานพัฒนวิทย์
- โรงเรียนทุ่งอุดมวิทยา
โรงเรียนที่ยกเลิกไปแล้ว
- โรงเรียนราษฎร์มณี ถนนเจริญประเทศ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง
- โรงเรียนพงษ์สวัสดิ์วิทยานุเคราะห์ ถนนจามเทวี ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง
- โรงเรียนมัธยมราษฎร์ ถนนพหลโยธิน ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง
กีฬา
สนามกีฬา
สนามกีฬาและสถานที่เกี่ยวข้อง
- สนามกีฬาจังหวัดลำปาง บริเวณหนองกระทิง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สนามกีฬาเทศบาลนครลำปาง (สวนสาธารณะเวียงละกอน) บริเวณตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง
- ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครลำปาง (โรงยิมเนเซียม โรงเรียนเทศบาล 4) บริเวณตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง
สนามกีฬาเชิงพาณิชย์
- สนามฟุตซอลลำปางยูไนเต็ด ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง
- สนามฟุตซอลซอคเกอร์มาเนีย ใกล้วัดกู่คำ ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
สวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
- สวนสาธารณะหนองกระทิง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สวนสาธารณะเขลางค์นคร ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง (เดิมเป็นที่ตั้งของข่วงโปโล)
- สวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา (ข่วงนคร) ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
- สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (เขื่อนยาง) ชุมชนบ้านดง ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
- สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
- สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา นครลำปาง (สวนสาธารณะประตูเวียง) ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง
- สวนสาธารณะอนันตยศ อำเภอห้างฉัตร
- สวนสาธารณะเมืองเถิน อำเภอเถิน
- สวนน้ำ Sea Paradise บ้านนาป้อใต้ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง
สนามกอล์ฟ
- สนามกอล์ฟ กฟผ.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ 18 หลุม พาร์ 72
- สนามกอล์ฟเขลางค์นครกอล์ฟคลับ ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง 9 หลุม พาร์ 36
- สนามลำปางไดรฟ์ ใกล้วัดม่อนกระทิง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
สระว่ายน้ำ
- ศูนย์ฝึกว่ายน้ำ โรงเรียนเขลางค์นคร ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ สถาบันการพลศึกษา ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ จิตต์อารีย์ ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ เจนแอนด์จอย ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ กนกวิมานสปอร์ตคลับ ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ โรงเรียนวิชชานารี ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ โรงแรมเวียงทอง ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
- สระว่ายน้ำ โรงเรียนอ้อมอารีย์ อำเภอเกาะคา
- สระว่ายน้ำ โรงเรียนอักษรศิลป์ ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน
- สระว่ายน้ำ โรงเรียนล้อมแรด ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน
สนามบาสเกตบอล
- โรงยิมเนเซียม โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
- โรงยิมเนเซียม สถาบันการพลศึกษา ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- โรงยิมเนเซียม โรงเรียนเทศบาล 4 เทศบาลนครลำปาง ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
สนามเทนนิส
- สนามเทนนิส สถาบันพลศึกษาลำปาง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สนามเทนนิสสโมสรข้าราชการ จังหวัดลำปาง ข้างโรงแรมทิพย์ช้าง ถนนฉัตรไชย ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
คอร์ตแบดมินตัน
- สนามเอกชัยคอร์ต ถนนสุเรนทร์ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง
- สนามนาวีคอร์ต ถนนไฮเวย์ลำปาง - งาว ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง
- สนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
สถาบันทางด้านกีฬา
- สมาคมกีฬาจังหวัดลำปาง เก็บถาวร 2015-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (หลังเดิม) ถนนบุญวาทย์ ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง
- ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปาง ใน สนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- โรงเรียนกีฬาจังหวัดลำปาง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สถาบันการพลศึกษา ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
การแข่งขันกีฬาระดับชาติและระดับภูมิภาค
- เจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 7 วันที่ 24-30 มิถุนายน 2516 ณ สนามกีฬาจังหวัดกลางลำปาง บริเวณหนองกระทิง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- เจ้าภาพกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 เมื่อ 23-29 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง บริเวณหนองกระทิง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 22 "นครลำปางเกมส์" วันที่ 18-31 มีนาคม พ.ศ. 2549 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง บริเวณหนองกระทิง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
กีฬาอาชีพ
- สโมสรฟุตบอลลำปาง ก่อตั้งในปี 2552 เข้าร่วมแข่งขัน "ลีกภูมิภาค ภาคเหนือ" ที่จัดโดย สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฤดูกาล 2553 ปัจจุบันแข่งขันในไทยลีก โดยเลื่อนชั้นจากไทยลีก 2 ในฤดูกาล 2564–65 มีสนามเหย้าคือสนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง
- สโมสรฟุตซอลลำปางยูไนเต็ด ก่อตั้งและเข้าร่วมแข่งขันในปี 2554 เคยใช้สนามเหย้าบริเวณตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง ปัจจุบันยุบสโมสรไปแล้ว
สื่อมวลชนด้านกีฬา
นอกจากในคอลัมน์กีฬาที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ที่เสนอเรื่องราวกีฬาในลำปางล้วน ๆ นั่นคือ ลำปางสปอร์ตไทม์
ศาสนา ความเชื่อ ชาตินิยมและวีรบุรุษ
วัดในพุทธศาสนา
พระอารามหลวง
โบสถ์คริสต์ศาสนาและพื้นที่เกี่ยวข้อง
มัสยิดและพื้นที่เกี่ยวข้อง
1. มัสยิดอัลฟาลาฮฺ ถนนทิพวรรณ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง
วัดซิกข์และพื้นที่เกี่ยวข้อง
1.วัดซิกข์ ลำปาง ถนนพหลโยธิน ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง
สุสาน
- สุสานเทศบาลนครลำปาง (บ้านศรีปงชัย) ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง
- สุสานบ้านพระบาท ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง
หอผีที่สำคัญในลำปาง
- หออะม็อก อำเภอเมืองลำปาง
- เจ้าพ่อประตูผา อำเภองาว
อนุสาวรีย์
- เจ้าแม่สุชาดา บ้านวังย่าเฒ่า ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง
- พ่อเจ้าทิพย์ช้าง ณ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง
- เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ณ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง
- เจ้าพ่อพญาคำลือ อำเภอแจ้ห่ม
- พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ณ โรงงานน้ำตาล อำเภอเกาะคา
- เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี มณฑลทหารบกที่ 32 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเกาะคา
- เจ้าพ่อพญาวัง อำเภอวังเหนือ
- ครูแคลระ รัตนศาสตร์สมบูรณ์ ณ โรงเรียนลำปางกัลยาณี ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง
การท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยว
|
|
อุทยานแห่งชาติ
- อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน
- อุทยานแห่งชาติดอยหลวง อำเภอวังเหนือ
- อุทยานแห่งชาติดอยจง อำเภอเสริมงาม
- อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อำเภองาว
- อุทยานแห่งชาติแม่วะ อำเภอเถิน
- อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน อำเภอห้างฉัตร
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก อำเภองาว
อ้างอิง
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2565.
- ↑ เกี่ยวกับรถม้าดู เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ. (2559). รถม้า: 100 ปีที่ (ยังคง) อยู่คู่เมืองลำปาง. ใน ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น (บก.), ร้อยปีเปลี่ยนไป ลำปางเปลี่ยนแปลง (น. 89-105). ลำปาง: สำนักงานจังหวัดลำปาง.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน ใช้ “ทิวเขา” แทน “เทือกเขา” แม้ว่าจะมีความหมายคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเห็นว่า เทือกเขาควรใช้กับภูเขาที่ขนาดสูงใหญ่อย่างเช่น เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาฮินดูกูช เทียนชาน ฯลฯ ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 4), 2545, น.93
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 4), 2545, น.79
- ↑ ความสูงของเมืองเป็นความสูงเฉลี่ยเหนือระดับทะเลปานกลาง วัด ณ บริเวณใกล้เคียงจุดที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด ดูใน ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่4), 2545, น.68-69
- ↑ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร. "ระบบลุ่มน้ำวัง". สืบค้นจาก http://www.haii.or.th/wiki/index.php/ระบบลุ่มน้ำลุ่มน้ำวัง เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2558
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่4), 2545, น.65
- ↑ กรมทรัพยากรธรณี. " ปล่องภูเขาไฟลำปาง จังหวัดลำปาง". สืบค้นจาก http://www.dmr.go.th/main.php?filename=n06 เก็บถาวร 2020-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2558
- ↑ ASTVผู้จัดการออนไลน์. "สุสานหอยขม 13 ล้านปี : ลิกไนต์ 1.32 แสนล้านทางคู่ขนานที่ต้องเลือก". สืบค้นจาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9480000039526 เก็บถาวร 2005-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (21 มีนาคม 2548) สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2558
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม (ธันวาคม 2544)
- ↑ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ภาพเขียนสี พิธีกรรม 3,000 ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์ , กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
- ↑ รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร, แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515
- ↑ โพธิรังสี,พระ. คำแปลจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองหริปุญไชย. พิมพ์ครั้งที่ 3. ในงานฌาปนกิจศพ นายชัช แดงดีเลิศ. พระนคร : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2515, น.53
- ↑ โพธิรังสี,พระ. คำแปลจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองหริปุญไชย. พิมพ์ครั้งที่ 3. ในงานฌาปนกิจศพ นายชัช แดงดีเลิศ. พระนคร : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2515, น.53
- ↑ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 180-182
- ↑ ภาสกร โทณะวณิก. การศึกษาเมืองโบราณเวียงพระธาตุลำปางหลวง วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529
- ↑ รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร, แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515
- ↑ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 117
- ↑ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 120-121
- ↑ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 122
- ↑ รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร, แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515
- ↑ ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, 2512, หน้า 10
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, น.147 และ 202-203
- ↑ สมหมาย เปรมจิตต์, ปริวรรต. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ :มิ่งเมือง, 2540, หน้า 67-68
- ↑ พรหมราชปัญญา, พระ. รัตนพิมพ์วงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปล ใน พระแก้วมรกต, กรุงเทพฯ : มติชน, 2546
- ↑ ในที่นี้จึงเลือกใช้ คำว่า “เวียงลคอร” เพื่ออธิบายให้เป็นเอกภาพ ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, น.74
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, น.208
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, น.261
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล, เจ้าหลวงลำปางและธิดาเจ้าหลวงลำปางคนสุดท้าย, เอกสารอัดสำเนา, 2546
- ↑ บนจารึกอนุสาวรีย์เจ้าพ่อทิพย์ช้าง ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, น. 264-268
- ↑ ศักดิ์ รัตนชัย. “ประวัตินครลำปาง” ใน อนุสรณ์การแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดลำปาง 24 มิถุนายน 2516, น.67-68
- ↑ สุกัญญา เอี่ยมชัย. การศึกษาเพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์ชุมชนเมืองลำปาง วิทยานิพนธ์ ปริญญาการผังเมืองมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 134-135 เรื่อง เก็บผักใส่ซ้าฯในลำปาง อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, 2512, หน้า 16
- ↑ ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง 2459-2512 ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, น.31
- ↑ สมหมาย เปรมจิตต์, ปริวรรต. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ :มิ่งเมือง, 2540, หน้า 129-130
- ↑ ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, หน้า 13
- ↑ ดู ความขัดแย้งที่เกิดจรากปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่าไม้ และปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน จนทำให้เกิด “สนธิสัญญาเชียงใหม่” ฉบับแรก ได้ ใน สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, หน้า 358-359
- ↑ "ประกาศ เลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลก และแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่า มณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-10-20. สืบค้นเมื่อ 2013-01-16.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล, เจ้าหลวงลำปางและธิดาเจ้าหลวงลำปางคนสุดท้าย, เอกสารอัดสำเนา, 2546
- ↑ ดูบทบาทของพ่อค้าชาวจีนได้ในบทความของ มาร์โก วี. พาเทล, เครือมาศ วุฒิการณ์ แปล. “ประวัติและพัฒนาการของการค้าขายในลำปาง ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง ค.ศ.1939” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ, สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏลำปาง, 2544, หน้า 36-41 หรือจะอ่านประวัติศาสตร์เชิงบอกเล่าที่แสนจะมีสีสันได้ใน วิถี พานิชพันธ์.“คุณย่าเล่าว่า” ในเล่มเดียวกัน
- ↑ ดูบทบาทของการทำไม้ของชาวอังกฤษ และชาวไทใหญ่-พม่า และท่าทีของคนพื้นเมืองต่อการทำไม้ ซึ่งให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ ใน มาร์โก วี. พาเทล, อ้างแล้ว, หน้า 28-35
- ↑ อ่านเรื่องราวของคริสเตียนในลำปางได้ใน คริสตจักรที่ 1 ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2543
- ↑ ดูบรรยากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง 2459-2512 ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, หน้า 92
- ↑ อ่านเพิ่มเติม สงครามโลกครั้งที่ 2 จากคำบอกเล่า ได้ใน พระครูปลัดสว่าง สุปภาโส. 80 ปี พระราชคุณาภรณ์ หลวงพ่อเล่าให้ฟัง, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2544, หน้า 12-14
- ↑ ดู ศูนย์กลางลำปางกับการส่งสินค้าออกหัวเมืองต่าง ๆ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์, อ้างแล้ว, หน้า 42-57
- ↑ ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์, อ้างแล้ว, หน้า 93
- ↑ จำนวนประชากรและบ้าน จำแนกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล จังหวัดลำปาง ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553, สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ↑ จังหวัดลำปาง. "สถานีรถไฟลำปาง". สืบค้นจาก http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page6.html เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Bangkok airways summer timetable, http://bangkokair.com/time-table/PG-timetable.pdf เก็บถาวร 2015-11-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-31. สืบค้นเมื่อ 2015-04-08.
- ↑ "::ฐานข้อมูลชาติพันธุ์ในนครลำปางสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง::". www.culture.lpru.ac.th.
- ↑ "สถิติประชากร 2561". สำนักงานสถิติจังหวัดลำปาง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-25. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2019.
- ↑ "ภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดลำปาง ไตรมาส 3/2561". สำนักงานสถิติจังหวัดลำปาง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-25. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2019.
- ↑ "สถิติประชากรและบ้าน - จำนวนประชากรแยกรายอายุ". ระบบสถิติทางการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2019.
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
หนังสือและบทความ
- ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น (บรรณาธิการ). (2559). ร้อยปีเปลี่ยนไป ลำปางเปลี่ยนแปลง. ลำปาง: สำนักงานจังหวัดลำปาง.
- ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2559). ทวนกระแสประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำวัง: พลวัตของผู้คนลุ่มแม่น้ำวังสมัยก่อนประวัติศาสตร์–ก่อนการปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียง พ.ศ. 2427. ลำปาง: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
- ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2561). น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์: ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่. ลำปาง: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
เว็บไซต์
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2005-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
18°17′N 99°29′E / 18.29°N 99.48°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดลำปาง
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย