ซุ้มโขง
ซุ้มโขง ซุ้มประตูโขง หรือ ประตูโขง คือ ประตูทางเข้าวัดที่พบในศิลปะล้านนา รวมถึงศิลปะล้านช้างซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะล้านนา ที่ถือคติทางพุทธศาสนาเปรียบเสมือนดั่งป่าหิมพานต์ ทางผ่านระหว่างชมพูทวีปสู่เขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
ลักษณะ
[แก้]ซุ้มประตูโขงที่พบในล้านนา ส่วนใหญ่สร้างเป็นประตูวงโค้งต่อยอดขึ้นไป 5 ชั้น ประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษา รวมถึงรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นาค มกร หงส์ กินรี มอม และตัวลวง เป็นต้น ส่วนยอดที่ซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นได้จำลองซุ้มวิมานของเทพยดาในระดับภพภูมิต่าง ๆ[1] ทำหน้าที่เป็นตัวกั้นระหว่างความไม่สงบภายนอกกับความสงบภายใน เป็นขอบเขตที่ทำให้ผู้ที่เข้าไปภายในต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้มีความสำรวม องค์ประกอบของซุ้มโขงประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมรับฐานปัทมยกเก็จ ตัวเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมยกเก็จตามส่วนฐาน มีช่องเจาะทะลุเป็นทางเข้าสู่ภายในทั้งที่ฐานและตัวเรือนธาตุ ซุ้มทางเข้าเป็นซุ้มวงโค้ง ส่วนยอดเป็นหลังคาลาดและชั้นลดที่เลียนแบบจากเรือนธาตุด้านล่าง ยอดบนสุดมักเป็นรูปดอกบัวตูม
ที่มา
[แก้]ซุ้มโขงน่าจะพัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมขอมโบราณ ที่มีประตูทางเข้าเขตบริเวณปราสาทหรือศาสนสถานใหญ่ เรียกว่า โคปุระ หรือในอินเดียโบราณเรียกประตูนี้ว่า โตรณะ[2] บ้างก็คาดว่าน่าจะมีที่มาจากรูปแบบของซุ้มพระพิมพ์แบบหริภุญชัย บ้างก็ว่ามีที่มาจากรูปแบบซุ้มประตูที่ซ้อนกันเป็นชั้นซึ่งพบสลักบนใบเสมาสมัยทวารวดีจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และแนวคิดซุ้มโขงที่ล้อมรอบองค์เจดีย์แบบเจดีย์วัดสวนดอก เป็นลักษณะแผนผังที่เป็นที่นิยมของศิลปะพม่าที่พุกาม สำหรับหลักฐานทางเอกสาร มีการกล่าวถึงซุ้มโขงมาแล้วตั้งแต่สมัยพญากือนา ซุ้มโขงของล้านนาที่เก่าที่สุดที่พบในขณะนี้ไม่น่าจะมีอายุเก่าไปกว่า พุทธศตวรรษที่ 21[3]
ประเภท
[แก้]ซุ้มประตูโขงหน้าวัด เป็นประติมากรรมแบบลอยตัวก่ออิฐถือปูนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเข้าออกวัด และเป็นตัวแบ่งเขตแดนที่สําคัญของการก้าวข้ามจากแดนโลกภูมิผ่านเข้าสู่แดนพุทธภูมิ สันนิษฐานว่าในอดีตวัดที่สามารถสร้างซุ้มประตูโขงได้ต้องเป็นวัดที่มีความสำคัญหรือวัดที่มีครูบาแก่กล้าวิชา เนื่องจากผู้คนให้ความเคารพบูชาและลูกศิษย์มีความศรัทธาในครูบาอาจารย์ซึ่งจะสร้างตามผังที่เน้นเรื่องจักรวาล คติโดยใช้ซุ้มประตูโขงเป็นประตูทางเข้าของจักรวาล
ซุ้มประตูโขงเข้าพระธาตุ มีลักษณะคล้ายกับซุ้มประตูโขงหน้าวัดเกือบทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่า ประดับตกแต่งน้อยกว่า และตำแหน่งที่ตั้งอยู่ข้างพระธาตุ โดยจะปรากฏเฉพาะวัดที่มีพระธาตุองค์สำคัญ และอีกประการหนึ่ง คือ อาจมีไว้สำหรับให้เจ้านายเสด็จผ่านเข้าไปในลานประทักษิณชั้นในเพื่อประกอบพิธีสำคัญ ๆ ทางพุทธศาสนา
ซุ้มประตูโขงทางเข้าวิหาร มีลักษณะเป็นโขงแบบติดกับผนัง เป็นประติมากรรมนูนสูงหน้าประตูทางเข้าวิหาร
โขงพระเจ้า หรือ กู่พระเจ้า มีลักษณะเป็นมณฑปปราสาทใช้สำหรับประดิษฐานพระประธานสำคัญภายในวิหาร[4]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ซุ้มโขงวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่
-
ซุ้มโขงวัดราชคฤห์ จังหวัดพะเยา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ความหมายของ "ซุ้มประตู" วัดในล้านนา". เชียงใหม่นิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
- ↑ "ซุ้มโขง โคปุระ : คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม". ข่าวสด.
- ↑ "ซุ้มโขง". ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
- ↑ ฐาปกรณ์ เครือระยา. "โขง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21–25 รูปแบบ เทคนิค และแนวคิดของกลุ่มสกุลช่างลำปาง".