สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก
สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก หรือ สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมึนเชิน (เยอรมัน: FC Bayern München)[4] เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของประเทศเยอรมนี ตั้งอยู่ที่นครมิวนิก รัฐไบเอิร์น อีกชื่อหนึ่งอาจเรียกว่า บาวาเรียมิวนิก หรือ ไบเอิร์น เป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ ปัจจุบันเล่นอยู่ในบุนเดิสลีกา ลีกสูงสุดของฟุตบอลเยอรมนี พวกเขาเป็นเจ้าของสถิติชนะเลิศลีกสูงสุด 33 สมัย และทำสถิติชนะเลิศติดต่อกัน 11 สมัยตั้งแต่ ค.ศ. 2013–2023 และยังชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล สูงสุด 20 สมัย รวมทั้งถ้วยยุโรปอีกหลายรายการ
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | Der FCB (The FCB) Die Bayern (The Bavarians) Stern des Südens (Star of the South) Die Roten (The Reds)[1] FC Hollywood[2] เสือใต้ (ในภาษาไทย) | |||
ชื่อย่อ | ไบเอิร์น | |||
ก่อตั้ง | 27 กุมภาพันธ์ 1900 | |||
สนาม | อัลลีอันทซ์อาเรนา | |||
ความจุ | 75,000[3] | |||
ประธาน | แฮร์แบร์ท ไฮเนอร์ | |||
ซีอีโอ | ยาน-คริสเตียน ดรีเซิน | |||
ผู้จัดการ | แว็งซ็อง กงปานี | |||
ลีก | บุนเดิสลีกา | |||
2023–24 | บุนเดิสลีกา อันดับที่ 3 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1900 โดยกลุ่มนักฟุตบอล 11 คน นำโดย ฟรันทซ์ จอห์น[5] แม้ไบเอิร์นมิวนิกจะชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1932 ทว่าสโมสรกลับไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมแข่งขันฤดูกาลแรกของบุนเดิสลีกาใน ค.ศ. 1963 ไบเอิร์นมิวนิกประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ภายใต้การนำของกัปตันทีมอย่าง ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์ ผู้พาสโมสรชนะเลิศยูโรเปียนคัพ 3 สมัยติดต่อกันระหว่าง ค.ศ. 1974–1976 ไบเอิร์นมิวนิกเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปยุโรป พวกเขาชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 6 สมัย นับเป็นสถิติสูงสุดของเยอรมนี โดยชนะเลิศครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พวกเขาคว้าสามถ้วยรางวัล ทำสถิติเป็นสโมสรที่สองของทวีปยุโรป ที่ชนะเลิศการแข่งขันสามถ้วยรางวัลในฤดูกาลเดียวกันได้สองครั้ง หลังเคยทำได้ใน ค.ศ. 2013 สโมสรยังชนะเลิศยูฟ่าคัพ 1 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2 สมัย ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก อีก 2 สมัย ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรเดียวของเยอรมนีที่ชนะการแข่งขันระดับโลกได้สองรายการ
ผู้เล่นของไบเอิร์นมิวนิกได้รับรางวัลบาลงดอร์รวมกัน 5 สมัย, รางวัลนักฟุตบอลชายยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัย, รางวัลรองเท้าทองคำยุโรป 5 สมัย, รางวัลนักฟุตบอลชายยอดเยี่ยมของยูฟ่าอีก 3 สมัย ภายหลังจากชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกใน ค.ศ. 2020 ไบเอิร์นมิวนิกกลายเป็นสโมสรที่สองในประวัติศาสตร์ที่ชนะเลิศ 6 ถ้วยรางวัลภายในหนึ่งปีปฏิทิน (ชนะเลิศบุนเดิสลีกา, เดเอ็ฟเบ-โพคาล และ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาล 2019–2020 ตามด้วยการชนะเลิศเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ 2020, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2020 และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2020 ในฤดูกาลต่อมา) พวกเขายังเป็น 1 ใน 5 สโมสรที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของยูฟ่าครบสามรายการ (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าคัพ และ ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ) รวมทั้งเป็นสโมสรเดียวของเยอรมนีที่ทำได้ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 สโมสรอยู่ในอันดับสองจากการจัดอันดับโดยค่าสัมประสิทธิ์สโมสรฟุตบอลโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป ไบเอิร์นมิวนิกมีคู่อริในภูมิภาคได้แก่ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน และ แอร์สเทอร์ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค รวมถึงการเป็นอริกับ โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990
ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเยอรมนี[6] และเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก คำขวัญประจำสโมสรคือ "Mia San Mia" แปลว่า "เรา คือ เรา" นับตั้งแต่ฤดูกาล 2005–2006 สโมสรลงเล่นที่สนามอัลลีอันทซ์อาเรนา แทนสนามเดิมคือ โอลึมพีอาชตาดีอ็อน ซึ่งถูกใช้งานมา 33 ปี สีประจำสโมสรคือสีแดงและสีขาว และตราสโมสรเป็นสัญลักษณ์ของธงรัฐไบเอิร์นซึ่งเป็นสีฟ้าและขาว ในแง่ผลประกอบการ ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำรายรับได้มากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงบาร์เซโลนาและเรอัลมาดริด ด้วยมูลค่า 634.1 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2021[7] ใน ค.ศ. 2023 สโมสรมีสมาชิกกว่า 300,000 ราย สโมสรยังมีชื่อเสียงในกีฬาประเภทอื่น ๆ เช่น หมากรุก, แฮนด์บอล, บาสเกตบอล, ยิมนาสติก, โบว์ลิ่ง และ เทเบิลเทนนิส
ประวัติ
แก้ยุคแรก (1900–65)
แก้ไบเอิร์นมิวนิก ก่อตั้งขึ้นภายในสโมสรกีฬายิมนาสติก (MTV 1879) ของเมืองมิวนิกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900 สมาคมฟุตบอลเยอรมนี มีมติห้ามไม่ให้นักฟุตบอลจากสโมสรดังกล่าวเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้นักเตะจำนวน 11 คนตัดสินใจออกจากสโมสร แล้วมาก่อตั้งสโมสรใหม่ในชื่อ สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ไบเอิร์นมิวนิกก็ชนะคู่แข่งในท้องถิ่นด้วยผลประตูขาดลอยรวมถึงการเอาชนะทีมเอฟเซนอร์ทเทิร์นด้วยผลประตู 15–0[8] และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศรายการ เซาท์ เยอรมัน แชมป์เปียนชิพ ฤดูกาล 1900–01 ฤดูกาลถัดมาสโมสรสามารถคว้าถ้วยรางวัลระดับท้องถิ่นหลายรายการ
ถัดมาในฤดูกาล 1910–11 สโมสรได้เข้าร่วมก่อตั้งลีกใหม่ของรัฐไบเอิร์นคือ เครียส์ลีกา โดยได้แชมป์ในฤดูกาลแรก แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้แชมป์อีกเลยกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น การแข่งขันทุกอย่างก็หยุดชะงักลงแต่ในช่วงสิ้นสุดทศวรรษแรกของการก่อตั้งสโมสรนั้น ไบเอิร์นมิวนิคสามารถดึงดูดผู้เล่นทีมชาติเยอรมนีคนแรกเข้าสู่ทีมได้ซึ่งก็คือ แม็กซ์ กาบลอนสกี และใน ค.ศ. 1920 สโมสรมีสมาชิกกว่า 700 รายส่งผลให้พวกเขากลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในมิวนิก หลังสงครามสิ้นสุด สโมสรได้แชมป์ในระดับภูมิภาคหลายครั้ง ก่อนจะได้แชมป์ เซาท์ เยอรมัน แชมป์เปียนชิพใน ค.ศ. 1926 และทำได้อีกครั้งในสองปีต่อมา และได้แชมป์ระดับชาติครั้งแรกใน ค.ศ. 1932 เมื่อผู้ฝึกสอน ริชาร์ด คอห์น นำทีมเอาชนะไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ท 2–0 ในรายการชิงแชมป์เยอรมัน ภายหลังการกำเนิดระบอบนาซีขึ้น ทำให้ผู้จัดการทีมและผู้เล่นหลายรายต้องหลบหนีออกจากประเทศ จนมีคำกล่าวว่า ไบเอิร์นมิวนิคคือทีมของคนยิว ในขณะที่คู่แข่งร่วมเมืองอย่าง เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน กลับได้รับการสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลเป็นจำนวนมาก
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ไบเอิร์นมิวนิกได้เข้าร่วมการประชุมการก่อตั้งโอเบอร์ลีกา โดยแบ่งลีกออกเป็น 5 ส่วน ในช่วง ค.ศ. 1945–63 พวกเขาเปลี่ยนผู้จัดการทีมถึง 13 คน หลังจากที่ แลนเดอร์ กลับจากการลี้ภัยสงครามใน ค.ศ. 1947 ก็กลับมาเป็นประธานสโมสรอีกครั้ง สโมสรประสบปัญหาทางการเงินใน ค.ศ. 1950 โรแบนด์ เอนเดลอร์ ได้หาเงินทุนมาสนับสนุนทีมเป็นเวลา 4 ปี โดยอยู่จนถึง ค.ศ.1951 ใน ค.ศ. 1955 สโมสรตกชั้นไปแข่งในโอเบอร์ลีกา ในฤดูกาลถัดไป โดยพวกเขาคว้าแชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาล หลังเอาชนะทีม ฟอร์ทูน่า ดุยเซลดอล์ฟ 1–0 ใน ค.ศ. 1963 โอเบอร์ลีกาถูกรวมลีกเป็นลีกแห่งชาติแค่ลีกเดียว โดยคัดเอา 5 อันดับแรกจากตารางคะแนน ไบเอิร์นมิวนิกอยู่อันดับ 3 และ 1860 มิวนิกเป็นแชมป์โอเบอร์ลีกา ทางสมาคมเห็นว่าในหนึ่งเมืองควรมีสโมสรฟุตบอลแค่ทีมเดียวจึงตัดสิทธิไบเอิร์นมิวนิกออกจากบุนเดิสลีกา อย่างไรก็ตามในสองปีต่อมา ทีมก็เลื่อนชั้นสู่บุนเดิสลีกาได้สำเร็จด้วยการนำทีมของนักเตะระดับตำนานอย่าง ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์, แกร์ท มึลเลอร์ และ เซฟฟ์ เมียเออร์
ยุคแห่งความสำเร็จ (1965–79)
แก้ในฤดูกาลแรกในการแข่งในระดับบุนเดิสลีกานั้น สโมสรคว้าอันดับสามพร้อมแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลมาได้ ทำให้ได้สิทธิลงแข่งในฟุตบอลยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ และคว้าแชมป์มาครองได้ หลังเอาชนะสโมสรเรนเจอส์ในช่วงต่อเวลา 1–0 จากประตูของ ฟรันทซ์ โรท ถัดมาใน ค.ศ. 1967 แม้ทีมจะได้แชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาล แต่ด้วยรูปแบบการเล่นที่ไม่ดี สโมสรเลยแต่งตั้ง บลังโก เซเบค เข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนของทีม ด้วยรูปแบบการเล่นที่เน้นการบุก และความมีวินัยมากกว่าเดิม ทำให้พวกเขาได้แชมป์ฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วยใน ค.ศ. 1969 โดยเป็น 1 ใน 4 ทีมที่คว้าแชมป์สองรายการได้ในปีเดียวกัน เช่นเดียวกับ โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์, แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เคิลน์ และ เอ็สเฟา แวร์เดอร์ เบรเมน โดยเซเบคใช้ผู้เล่นทั้งฤดูกาลแค่ 13 คนเท่านั้น
ใน ค.ศ. 1970 อูโด แลตเท็ก นำทีมคว้าแชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาลได้ในฤดูกาลแรก รวมถึงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นสมัยที่สามในฤดูกาล 1971–72 ซึ่งในปีนี้ไบเอิร์นมิวนิกเปลี่ยนมาใช้สนามกีฬาโอลิมปิกในมิวนิกเป็นครั้งแรกในนัดตัดสินที่พบกับชัลเคอ 04 โดยมีการถ่ายทอดสอดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บุนเดิสลีกาอีกด้วย พวกเขาเอาชนะไปด้วยผลประตู 5–1 คว้าแชมป์อย่างเป็นทางการ และสร้างสถิติใหม่หลายรายการในขณะนั้น อาทิ เป็นทีมที่ทำคะแนนสูงสุด และทำประตูในลีกมากที่สุด[9] ก่อนจะป้องกันแชมป์ได้อีกสองสมัยติดต่อกันในสองฤดูกาลถัดมา ยิ่งไปกว่านั้น ใน ค.ศ. 1974 สโมสรคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสมัยแรก โดยเอาชนะ อัตเลติโกเดมาดริด ด้วยผลประตู 4–0 ในนัดแข่งใหม่ หลังจากที่ใน ค.ศ. 1967 สโมสรเคยได้แชมป์คัพวินเนอร์สคัพ และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูโรเปียนคัพใน ค.ศ. 1968 และ 1972
ต่อมาใน ค.ศ. 1975 พวกเขาป้องกันแชมป์ยูโรเปียนคัพ ได้สำเร็จ เมื่อเอาชนะลีดส์ยูไนเต็ด 2–0 จากประตูของ รอธ และ มึลเลอร์ ซึ่งหลังจบการแข่งขันแฟนฟุตบอลของลีดส์ได้ก่อจราจลในกรุงปารีส และถูกแบนจากการเข้าชมฟุตบอลยุโรปเป็นเวลาสามปี[10] สโมสรยังครองความยิ่งใหญ่ต่อเนื่องเมื่อคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสามสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1976 เอาชนะ อาแอ็ส แซ็งเตเตียน ที่เมืองกลาสโกว์ 1–0 ทำให้พวกเขาเป็นสโมสรที่สามที่คว้าแชมป์รายการนี้สามปีติดต่อกัน ถ้วยรางวัลสุดท้ายในช่วงทศวรรษนี้คืออินเตอร์คอนติเนนตอลคัพ โดยเอาชนะสโมสรครูไซโรจากบราซิลทั้งสองนัด หลังจากนั้นสโมสรก็เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงและไม่ได้แชมป์อะไรเลย ก่อนที่ใน ค.ศ. 1977 เบ็คเคินเบาเออร์จะย้ายไปนิวยอร์ก คอสมอส และใน ค.ศ. 1979 เซฟฟ์ และ อูลี โฮเนบ ประกาศเลิกเล่นฟุตบอล รวมถึง แกร์ท มึลเลอร์ ที่ย้ายไปร่วมทีม ฟอร์ท เลาว์เดอดาเล่
เอฟซี เบรท์เนอร์ และ เอฟซี ฮอลลีวูด (1979–1998)
แก้ช่วงหลัง ค.ศ. 1980 เป็นช่วงที่วุ่นวายทั้งในสนามและปัญหาทางการเงินของทีม เพาล์ เบรท์เนอร์ และ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอช่วยให้ทีมได้แชมป์บุนเดิสลีกาใน ค.ศ. 1980 และ 1981 จนได้รับชื่อทีมใหม่ว่า เอฟซี เบรท์เนอร์ หลังจากได้แชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาล ค.ศ. 1982 เบรท์เนอร์ประกาศเลิกเล่นฟุตบอล และสองปีหลังจากนั้นสโมสรก็ไม่ได้แชมป์ใด ๆ เลยจนอดีตโค้ชอย่าง อูโด เลตเทค เข้ามาคุมทีมอีกครั้ง ไบเอิร์นมิวนิกก็ได้แชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลใน ค.ศ. 1984 และยังคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาถึง 5 ครั้ง จากการแข่งขัน 6 ฤดูกาล โดยได้สองแชมป์ใน ค.ศ. 1986 และได้รองแชมป์ยูโรเปียนคัพใน ค.ศ. 1982 และ 1987 ยุพ ไฮน์เคิส ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ฝึกสอนใน ค.ศ. 1987 เขาช่วยให้ทีมคว้าแชมป์หลังจากนั้น 2 ฤดูกาลได้แก่ ฤดูกาล 1988–89, 1989–90 แล้วฟอร์มการเล่นของทีมก็ตกลง หลังจากจบฤดูกาล 1990–91 พวกเขาได้อันดับสอง แต่ในฤดูกาล 1991–92 สโมสรมีคะแนนมากกว่าโซนตกชั้นเพียง 5 คะแนน ถัดมาในฤดูกาล 1993–94 พวกเขาตกรอบคัดเลือกยูฟ่าคัพ เมื่อแพ้ทีมนอริชจากอังกฤษ ที่โอลิมปิค สเตเดียม โดยเป็นทีมเดียวจากอังกฤษที่มาชนะไบเอิร์นมิวนิคถึงที่นี่
ความสำเร็จกลับมาอีกครั้งเมื่อ ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์ เข้ามาคุมทีมในช่วงกลางฤดูกาล 1993–94 ช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์ได้สำเร็จ หลังจาก 4 ปี ที่ว่างเปล่าก่อนหน้านี้ จากนั้นเขาก็ถูกแต่งตั้งเป็นประธานสโมสร โดยมีการแต่งตั้งจิโอวานนี ตราปัตโตนี และออทโท เรฮาเกิล เป็นผู้จัดการทีมต่อ ทั้งคู่จบด้วยการไม่ได้รางวัลอะไรเลย ช่วงนั้นผู้เล่นของไบเอิร์นมิวนิกมักมีข่าวปรากฏในแวดวงฮอลลีวูดบ่อย ๆ รวมถึงมักเป็นข่าวในนิตยสารวงการบันเทิงมากกว่านิตยสารฟุตบอลจนได้รับการขนานนามว่า เอฟซี ฮอลลีวูด ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์กลับมาดูแลทีมอีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาโค้ชฤดูกาล 1995–96 เขาช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพได้สำเร็จ โดยเอาชนะบอร์โดในรอบชิงชนะเลิศ ถัดมาในฤดูกาล 1996–97[11] ตราปัตโตนีนำทีมกลับมาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้อีกครั้ง แต่ในฤดูกาลถัดมา ไบเอิร์นเสียแชมป์ต่อทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาอย่างไกเซอร์สเลาเทิร์น และตราปัตโตนีลาออกอีกครั้ง[12]
ทศวรรษ 2000: แชมป์ยุโรปสมัยที่ 4
แก้ออทมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ อดีตผู้จัดการทีมซึ่งประสบความสำเร็จกับดอร์ทมุนท์ได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมระว่าง ค.ศ. 1998–2004 เพียงฤดูกาลแรกเขาก็พาไบเอิร์นคว้าแชมป์บุนเดิสลีกา และเข้ารอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปียนส์ลีกก่อนจะแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในช่วงทดเวลาด้วยผลประตู 1–2[13] ฤดูกาลถัดมา เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของสโมสร พวกเขาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาโดยต้องตัดสินถึงนัดสุดท้าย และคว้าแชมป์ด้วยผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่าเลเวอร์คูเซน และยังคว้าแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลได้ ถัดมาในฤดูกาล 2000–01 สโมสรคว้าสองถ้วยรางวัลใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาโดยตัดสินกันในนัดสุดท้ายอีกครั้ง และพวกเขามีคะแนนมากกว่ารองแชมป์อย่างชาลเคอ 04 เพียงหนึ่งคะแนน และยังคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นสมัยที่ 4 โดยชนะบาเลนเซียในการดวลลูกโทษหลังเสมอกัน 1–1 ณ สนามซานซีโร เป็นการกลับมาคว้าแชมป์ในรอบกว่า 25 ปี[14]
สโมสรเริ่มต้นฤดูกาล 2001–02 ด้วยแชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ เอาชนะกลุบอัตเลติโกโบกายูนิออร์สจากอาร์เจนตินาด้วยผลประตู 1–0 แต่พวกเขาจบฤดูกาลโดยไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดเพิ่มได้ ถัดมาในฤดูกาล 2002–03 สโมสรคว้าแชมป์สองรายการในประเทศได้เป็นครั้งที่ 4 ด้วยการมีคะแนนมากกว่าทีมรองแชมป์ซึ่งก็คือเฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ทถึง 16 คะแนนถือเป็นสถิติใหม่ที่ทีมแชมป์มีคะแนนเหนือทีมรองแชมป์มากที่สุดในขณะนั้น[15] อย่างไรก็ตาม ฮิตซ์เฟลด์ ประกาศลาออกในฤดูกาลถัดมาเนื่องจากผลงานทีมไม่สู้ดี รวมถึงการแพ้สโมสรลีกาสองอย่างอเลมันเนีย อาคเคินในรอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย[16] เฟลิคส์ มากัท เข้ามารับช่วงต่อและพาทีมคว้าสองแชมป์ทั้งบุนเดิสลีกาและเดเอ็ฟเบ-โพคาลสองฤดูกาลติดต่อกันทั้งฤดูกาล 2004–05 และ 2005–06 ซึ่งก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2005 สโมสรได้ย้ายไปเล่น ณ สนามแห่งใหม่คืออัลลีอันทซ์อาเรนาร่วมกับอริและเพื่อนร่วมเมืองอย่าง 1860 มึนเชิน และในฤดูกาล 2006–07 สโมสรมีผลงานย่ำแย่ โดยจบเพียงอันดับ 4 ในบุนเดิสลีกา และตกรอบฟุตบอลถ้วยโดยแพ้อาคเคินอีกครั้งเป็นเหตุให้มากัทถูกปลดในช่วงพักเบรกฤดูหนาว
ฮิตซ์เฟลด์กลับมาคุมทีมอีกครั้ง และสืบเนื่องจากความล้มเหลวในฤดูกาลที่ผ่านมาทีมมีการทุ่มซื่อผู้เล่นหลายราย ได้แก่ ลูกา โตนี และ ฟร็องก์ รีเบรี สโมสรเริ่มต้นด้วยแชมป์เดเอ็ฟเอ็ล-ลีกาโพคาล และจบฤดูกาลด้วยแชมป์อีกทั้งสองรายการในประเทศ พวกเขามีคะแนนมากกว่าเบรเมินถึงสิบคะแนนในบุนเดิสลีกา และยังคว้าแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาล แต่ต้องตกรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพโดยแพ้สโมสรรัสเซียอย่างเซนิตเซนต์ปีเตอส์เบิร์กขาดลอยสองนัด 1–5 ในฤดูกาล 2008–09 สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อผู้รักษาประตูอย่างอ็อลลีเวอร์ คาห์น ประกาศเลิกเล่นอาชีพ และฮิตซ์เฟลด์ยังอำลาทีมเพื่อไปคุมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ และถูกแทนที่โดยเยือร์เกิน คลีนส์มัน ผู้ฝึกสอนซึ่งพาเยอรมนีคว้าอันดับสามฟุตบอลโลก 2006 แต่ก็ถูกปลดโดยยังไม่จบฤดูกาลจากผลงานย่ำแย่ โดยมีคะแนนตามหลังเฟาเอ็ฟเอ็ล ว็อลฟส์บวร์ค และตกรอบเดเอ็ฟเบ-โพคาลจากการแพ้เลเวอร์คูเซน รวมถึงผลงานย่ำแย่ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้บาร์เซโลนาในรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–5 ซึ่งบาร์เซโลนายิงได้ถึง 4 ประตูใน 45 นาทีแรกของการแข่งขันนัดแรกที่สเปน ยุพ ไฮน์เคิส เข้ามาคุมทีมชั่วคราวและพาทีมประคองตัวจบด้วยรองแชมป์บุนเดิสลีกา[17]
ในฤดูกาล 2009–10 ลูวี ฟัน คาล ผู้จัดการทีมชื่อดังชาวดัตซ์เข้ามาคุมทีมและสโมสรมีฤดูกาลที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษ โดยสามารถคว้าแชมป์สองรายการในประเทศได้อีกครั้ง และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2009–10 แต่แพ้อินเตอร์มิลานด้วยผลประตู 0–2 ในฤดูกาลนี้ทีมมีผลงานโดดเด่นด้วยฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมของอาร์เยิน โรบเบิน ซึ่งย้ายมาจากเรอัลมาดริด แม้จะเป็นผู้เล่นตำแหน่งริมเส้นแต่เขาทำได้ถึง 23 ประตูในทุกรายการ[18] โดยโรบเบินเข้ามาประสานงานร่วมกับรีเบรีในฐานะสองผู้เล่นคนสำคัญในแนวรุก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็ยของทีมไปอีกเกือบหนึ่งทศวรรษ จนเป็นที่มาของฉายา "Robbery" ในช่วงเวลานั้น ผู้เล่นอายุน้อยอย่างเดวิด อาลาบา และ โทมัส มึลเลอร์ ยังได้รับโอกาสขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักในทีมชุดใหญ่ แม้จะพาทีมประสบความสำเร็จแต่ฟัน คาล ก็ถูกปลดในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ภายหลังตกรอบ 16 ทีมสุดยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้อินเตอร์มิลานไปอีกครั้ง ผู้ช่วยของฟัน คาล ซึ่งก็คือแอนดรีส์ จอนเกอร์ คุมทีมต่อชั่วคราวและพาทีมจบอันดับสามในลีก
ทศวรรษที่ 2010: แชมป์ยุโรปสมัยที่ 5
แก้ยุพ ไฮน์เคิส (2011–2013)
แก้ยุพ ไฮน์เคิส กลับมาคุมทีมอีกครั้งในฤดูกาล 2011–12 และสโมสรเซ็นสัญญากับผู้เล่นคนสำคัญก็คือมานูเอ็ล น็อยเออร์ ซึ่งเข้ามาเป็นตัวแทนอ็อลลีเวอร์ คาห์น รวมถึงกองหลังอย่างเฌโรม โบอาเท็ง แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ทีมคว้าแชมป์รายการใดได้ โดยพวกเขาจบอันดับสองในบุนเดิสลีกาด้วยคะแนนตามหลังดอร์ทมุนท์ถึง 8 คะแนน รวมทั้งแพ้ดอร์ทมุนท์ในรอบชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาลด้วยผลประตู 2–5[19] และแม้จะเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปียนลีกที่สนาม อัลลีอันซ์ อารีนา แต่ก็แพ้จุดโทษเชลซีภายหลังเสมอกัน 1–1[20]
ต่อมาในฤดูกาล 2012–13 สโมสรเซ็นสัญญากับฆาบิ มาร์ติเนซ และพวกเขามีฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เริ่มจากแชมป์เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ ด้วยการชนะดอร์ทมุนท์ และไม่แพ้ใครติดต่อกัน 8 นัดแรกในบุนเดิสลีกา ต่อมา ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2013 สโมสรคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาทั้งที่เหลือการแข่งขันอีก 6 นัด เป็นสถิติการคว้าแชมป์ที่เร็วที่สุดในเยอรมนี พร้อมทำสถิติมากมาย เช่น ทีมที่ได้คะแนนสูงสุด คือ 91 คะแนน, ทำแต้มห่างกับอันดับสองมากที่สุดถึง 25 คะแนน, ชนะมากที่สุดในฤดูกาลจำนวน 29 นัด และเสียประตูน้อยที่สุดเพียง 18 ประตู และเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปียนลีกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปีหลังสุด และครั้งนี้พวกเขาทำสำเร็จเมื่อเอาชนะดอร์ทมุนท์ได้ที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ด้วยผลประตู 2–1 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 5 ตามด้วยแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลสมัยที่ 16 จากการชนะชตุทการ์ทด้วยผลประตู 3–2 ทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรแรกของเยอรมนีที่ชนะเลิศสามถ้วยรางวัลในฤดูกาลเดียว และเป็นสโมสรที่เจ็ดของยุโรปที่ทำได้ สโมสรประกาศตั้งแต่ยังไม่สิ้นสุดฤดูกาลว่าแป็ป กวาร์ดิออลา จะเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในฤดูกาล 2013–14 แม้สโมสรจะประกาศว่าเป็นความต้องการของไฮน์เคิสเองที่จะเกษียณหลังหมดสัญญาคุมทีม แต่ประธานสโมสรอย่าง อูลี เฮอเนส ออกมายอมรับในภายหลังว่าไฮน์เคิสไม่ได้ต้องการอำลาทีม แต่เป็นความตั้งใจของสโมสรที่ต้องการแต่งตั้งกวาร์ดิออลา จึงเป็นการบีบให้ไฮน์เคิสต้องอำลาทีม[21]
แป็ป กวาร์ดิออลา (2013–2016)
แก้วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 แป็ป กวาร์ดิออลาได้รับการแต่งตั้งเข้ามาคุมทีม และก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2013–14 มีรายงานว่าทีมมีสมาชิกมากถึง 200,000 คน มากที่สุดในเยอรมนี กวาร์ดิออลาเริ่มต้นด้วยการเซ็นสัญญากับอดีตลูกทีมอย่างเตียโก อัลกันตารา และเขาพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยม แม้จะประเดิมด้วยการแพ้ดอร์ทมุนท์ในเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ 2013 ด้วยผลประตู 2–4 แต่ในเวลาต่อมา สโมสรทำสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกันต่อเนื่องจากฤดูกาลที่แล้วถึง 53 นัด ก่อนที่สถิติจะจบลงโดยแพ้เอาคส์บวร์ค สองนัดหลังจากที่พวกเขาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาไปแล้ว[22] กวาร์ดิออลายังพาทีมชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก และยูฟ่าซูเปอร์คัพ โดยเอาชนะเชลซีซึ่งคุมทีมโดย โชเซ มูรีนโย ในการดวลจุดโทษ และยังชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล โดยเอาชนะดอร์ทมุนท์ 2–0 แต่พวกเขาแพ้เรอัลมาดริดในรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยังมีเหตุการณ์สำคัญของสโมสร เมื่อ อูลี เฮอเนส ประธานสโมสรได้ถูกศาลตัดสินจำคุกจากคดีเลี่ยงภาษี ก่อนที่เฮอเนสจะประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ คาร์ล ฮ็อปเนอร์ รองประธานสโมสรในขณะนั้นได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน
เข้าสู่ฤดูกาล 2014–15 ไบเอิร์นมิวนิกเซ็นสัญญากับกองหน้าชื่อดังอย่างรอแบร์ต แลวันดอฟสกีมาจากดอร์ทมุนท์แบบไม่มีค่าตัว รวมถึงยืมตัวกองกลางชื่อดังอย่างชาบี อาลอนโซ มาจากเรอัลมาดริด และพวกเขาปล่อยตัว โทนี โครส ไปให้เรอัลมาดริด สโมสรป้องกันแชมป์ลีกได้ต่อเนื่องทั้งสองฤดูกาลต่อมา พร้อมกับการอำลาทีมของผู้เล่นตัวหลักอย่าง บัสทีอัน ชไวน์ชไตเกอร์ และ เกลาดิโอ ปิซาร์โร และยังคว้าแชมป์ลีกและเดเอ็ฟเบ-โพคาลได้ทั้งสองรายการใน ค.ศ. 2016 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศอีกสองครั้ง แพ้บาร์เซโลนา และ อัตเลติโกเดมาดริด ตามลำดับ และกวาร์ดิออลาอำลาทีมเพื่อไปคุมแมนเชสเตอร์ซิตีแม้จะได้รับการทาบทามสัญญาฉบับใหม่จากสโมสร ตลอดระยะเวลา 3 ฤดูกาลที่กวาร์ดิออลาคุมทีม เขาได้รับการยกย่องในแง่การปฏิวัติรูปแบบการเล่นให้แก่ฟุตบอลเยอรมนี ซึ่งแผนการเล่นของเขายังถูกนำไปปรับใช้โดยทีมชาติเยอรมนีในการแข่งขันรายการสำคัญ
การ์โล อันเชลอตตี (2016–2017)
แก้การ์โล อันเชลอตตี เข้ามารับตำแหน่งต่อในฤดูกาล 2016–17[23] และสโมสรเซ็นสัญญากับ มัทซ์ ฮุมเมิลส์ กองหลังคนสำคัญของดอร์ทมุนท์ และอูลี เฮอเนส ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 อันเชลอตตีพาทีมคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้เป็นสมัยที่ห้าติดต่อกัน[24] แต่ไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วยทั้งสองรายการ ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 สโมสรประกาศว่าคู่แข่งอย่าง เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน จะยุติการลงเล่น ณ สนาม อัลลีอันทซ์อาเรนา ภายหลังจากตกชั้นไปสู่ลีกา 4 และก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2017–18 สโมสรได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุน้อยหลายราย อาทิ กีงส์แล กอมาน, กอร็องแต็ง ตอลีโซ, แซร์ช กนาบรี และ นิคคลัส ซือเลอ รวมถึงการยืมตัว ฮาเมส โรดริเกซ มาจากเรอัลมาดริด แต่ต้องแลกกับการเสียผู้เล่นตัวหลักอย่าง ฟิลลิพ ลาห์ม กัปตันทีมซึ่งประกาศเกษียณตัวเอง รวมถึงการอำลาทีมของอาลอนโซ อันเชลอตตีทำผลงานในฤดูกาลที่สองได้ไม่ดีนัก และถูกปลดหลังจากแพ้ต่อปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง 0–3 ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
วิลลี ซาญอล เข้ามาคุมทีมชั่วคราวก่อนที่ไฮน์เคิส จะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งจนจบฤดูกาล ซึ่งเขายืนยันที่จะคุมทีมชั่วคราวไปจนจบฤดูกาลเท่านั้นเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น สโมสรจบฤดูกาลด้วยแชมป์บุนเดิสลีกาอีกครั้ง แต่ในการคุมทีมนัดสุดท้ายของไฮน์เคิสซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล ไบเอิร์นมิวนิกแพ้ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ทด้วยผลประตู 1–3 ซึ่งฟรังค์ฟวร์ทคุมทีมโดย นีกอ กอวัช ผู้จัดการทีมซึ่งจะเข้ามาคุมทีมไบเอิร์นมิวนิคในฤดูกาลต่อไปนั่นเอง
นีกอ กอวัช (2018–2019)
แก้กอวัชเข้ามาทำผลงานได้ไม่น่าประทับใจนักในช่วงแรก โดยตามหลังคู่แข่งอย่างดอร์ทมุนต์เมื่อผ่านครึ่งฤดูกาลแรกในลีก แต่ผลงานก็ดีขึ้นหลังจากช่วงหยุดพักในฤดูหนาว และทีมกลับขึ้นสู่อันดับหนึ่งของตารางได้อีกครั้ง แต่ก็ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้ลิเวอร์พูล ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2011 ที่สโมสรไม่สามารถผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ และต่อมา อาร์เยิน โรบเบิน และ ฟร็องก์ รีเบรี สองผู้เล่นคนสำคัญได้ประกาศว่าจะอำลาทีมหลังจบฤดูกาล และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 สโมสรประกาศว่า พวกเขาบรรลุข้อตกลงในการซื้อตัวลูกัส แอร์น็องแดซ ด้วยราคา 80 ล้านยูโร ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของการซื้อตัวผู้เล่นของสโมสรเยอรมนี[25] ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 สโมสรชนะเลิศบุนเดิสลีกา 7 สมัยติดต่อกัน และหนึ่งสัปดาห์ต่อมา พวกเขาเอาชนะ แอร์เบ ไลพ์ซิช ในรอบชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล 2019 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 19 และถือเป็นครั้งที่ 12 ที่สโมสรสามารคว้าแชมป์ลีกและแชมป์ฟุตบอลถ้วยในประเทศได้ในฤดูกาลเดียวกัน
กลับมาใช้ผู้ฝึกสอนชาวเยอรมัน
แก้ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค และ แชมป์ยุโรปสมัยที่ 6 (2019–2021)
แก้ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019[26] และกอวัชพาทีมทำผลงานได้ย่ำแย่ก่อนจะโดนปลดหลังจากพาทีมแพ้ ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ทด้วยผลประตู 1–5 ฟลิคได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว[27] ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมจนจบฤดูกาล 2019–2020 จากผลงานอันยอดเยี่ยม และในเวลาต่อมา ฟลิคได้รับสัญญาให้เป็นผู้จัดการทีมถาวรไปจนถึง ค.ศ. 2023[28] ฟลิคพาทีมคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาและเดเอ็ฟเบ-โพคาลได้อีกครั้ง และยังพาทีมผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2013 รวมทั้งชนะบาร์เซโลนาด้วยผลประตู 8–2[29] และเอาชนะ ออแล็งปิกลียอแน ในรอบรองชนะเลิศ 3–0 เข้าไปชิงชนะเลิศกับปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ที่กรุงลิสบอน และเอาชนะไปด้วยผลประตู 1–0 จากประตูของ กีงส์แล กอมาน[30] ส่งผลให้ไบเอิร์นมิวนิคเป็นสโมสรที่สองที่ชนะเลิศการแข่งขันสามรายการในฤดูกาลเดียวกันได้สองครั้งต่อจากบาร์เซโลนา[31]
เข้าสู่ฤดูกาลใหม่ ไบเอิร์นมิวนิกเริ่มต้นด้วยแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพสมัยที่สอง จากการเอาชนะเซบิยา 2–1 โดย ฆาบิ มาร์ติเนซ เป็นผู้ทำประตูในช่วงต่อเวลาพิเศษ[32] ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2020 พวกเขาชนะเลิศเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ เอาชนะโบรุสซีอาดอร์ทมุนด์ 3–2 ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 สโมสรคว้าแชมป์ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2020 (เลื่อนการแข่งขันมาจากเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา) เอาชนะ สโมสรกีฬาอัลอะฮ์ลี 2–0 ในรอบรองชนะเลิศจากสองประตูของ รอแบร์ต แลวันดอฟสกี ตามด้วยการเอาชนะ ติเกรส ยูเอเอ็นแอล จากเม็กซิโกในรอบชิงชนะเลิศ 1–0 ด้วยประตูของ แบ็งฌาแม็ง ปาวาร์ ทำสถิติเป็นสโมสรที่สองต่อจากบาร์เซโลนาที่ชนะเลิศการแข่งขัน 6 รายการต่อเนื่องกันในระยะเวลา 1 ปี แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันแชมป์ยุโรป โดยพ่ายปารีแซ็ง-แฌร์แม็งในรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่ยังชนะเลิศบุนเดิสลีกาได้เป็นสมัยที่เก้าติตด่อกัน และในฤดูกาลนี้กองหน้าคนสำคัญอย่างแลวันดอฟสกี ยังทำลายสถิติตลอดกาลของตำนานอย่าง แกร์ท มึลเลอร์ ในการทำประตูประจำฤดูกาลมากที่สุดในการแข่งขันบุนเดิสลีกา โดยทำไป 41 ประตู[33] อย่างไรก็ตาม สโมสรได้ประกาศในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ว่าฟลิคจะอำลาทีมเมื่อจบฤดูกาล และผู้ที่จะมารับตำแหน่งต่อคือ ยูลีอาน นาเกิลส์มัน ซึ่งขณะนั้นคุมสโมสรไลพ์ซิช โดยสโมสรต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินถึง 25 ล้านยูโรให้แก่ แอร์เบ ไลพ์ซิช[34] ต่อมา ได้มีการประกาศว่า ฟลิค จะไปรับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติเยอรมนี หลังจากที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมในยุคของโยอาคิม เลิฟ[35]
ยูลีอาน นาเกิลส์มัน, โทมัส ทุคเคิล และแชมป์ลีกสมัยที่ 33 (2021–2024)
แก้ภายใต้การคุมทีมของนาเกิลส์มัน ไบเอิร์นมิวนิกเอาชนะสโมสรเบรเมอร์ เอสวี ด้วยผลประตู 12–0 ในเดเอ็ฟเบ-โพคาล ฤดูกาล 2021–22 รอบแรก ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งถือเป็นการชนะคู่แข่งด้วยผลต่างประตูที่ขาดลอยที่สุดในรอบ 24 ปีของสโมสร ก่อนที่นาเกิลส์มันจะพาทีมคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้เป็นสมัยที่ 10 ติดต่อกัน หลังจากเอาชนะดอร์ทมุนท์ 3–1 แต่พวกเขาก็ล้มเหลวในฟุตบอลถ้วยอีกสองรายการ ในฤดูกาล 2022–23 สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกองหน้าอย่างแลวันดอฟสกีย้ายร่วมทีมบาร์เซโลนา แต่พวกเขาก็ลงทุนในตลาดซื้อขายด้วยการย้ายมาของผู้เล่นชื่อดังอย่าง ซาดีโย มาเน และ มัตไตส์ เดอ ลิคต์ รวมถึงการเซ็นสัญญากับสองผู้เล่นสำคัญจาก อาเอฟเซ อายักซ์ ซึ่งเป็นที่จับตามองในยุโรปอย่าง ไรอัน คราเฟินแบร์ค และ นูแซร์ มาซราอุย นาเกิลส์มันพาทีมเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ด้วยการเอาชนะ แอร์เบ ไลพ์ซิช ในเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ 5–3 ก่อนที่เขาจะถูกยกเลิกสัญญาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023[36]
โทมัส ทุคเคิล อดีตผู้จัดการทีมโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ และเชลซี เข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2023 แม้จะตกรอบฟุตบอลถ้วยทั้งสองรายการ แต่ทุคเคิลก็พาทีมป้องกันแชมป์บุนเดิสลีกาได้ โดยต้องลุ้นถึงนัดสุดท้ายหลังจากบุกไปเอาชนะแอร์สเทอ เอ็ฟเซ เคิลน์ ในวันที่ 27 พฤษภาคม คว้าแชมป์เป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน ภายหลังจบฤดูกาล สโมสรสั่งปลดผู้บริหารสองรายได้แก่ อ็อลลีเวอร์ คาห์น และ ผู้อำนวยการกีฬาอย่างฮาซาน ซาลิฮามิดซิช ซึ่งถูกวิจารณ์จากผลงานอันย่ำแย่ของสโมสรภายหลังปลดนาเกิลส์มันออกจากตำแหน่ง[37] ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2023 สโมสรได้ทำลายสถิติในการซื้อตัวผู้เล่นของบุนเดิสลีกาอีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญากับแฮร์รี เคน จากทอตนัมฮอตสเปอร์ด้วยราคา 110 ล้านยูโร ก่อนที่สโมสรเริ่มต้นฤดูกาล 2023–24 ด้วยการแพ้แอร์เบ ไลป์ซิก 0–3 ในเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ และพลาดการคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยเสียตำแหน่งให้แก่ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซิน และจบฤดูกาลอย่างน่าผิดหวังเนื่องจากไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดได้ ในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 ทุคเคิลประกาศอำลาสโมสรเนื่องการความไม่ลงตัวในการเจรจาสัญญาฉบับใหม่ รวมถึงแนวทางการบริหารทีมที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร[38][39]
ค.ศ. 2024–ปัจจุบัน
แก้แว็งซ็อง กงปานี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมด้วยสัญญาสามปี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เขาประเดิมการคุมทีมนัดแรกในลีกด้วยการเอาชนะ เฟาเอ็ฟเอ็ล ว็อลฟส์บวร์ค ด้วยผลประตู 3–2
ตราสโมสร
แก้ตราสโมสรไบเอิร์นมิวนิกแต่ละยุคสมัย | ||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
สนามแข่ง
แก้ตั้งแต่ ค.ศ. 1925 ไบเอิร์นมิวนิกได้ลงเล่น ณ สนาม กรึนวัลเดอร์ ชตาดีอ็อน ร่วมกับ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง สนามได้ถูกทำลายในช่วงสงคราม
ใน ค.ศ. 1972 เมืองมิวนิกได้มีมติในการสร้าง โอลึมพีอาชตาดีอ็อน (สนามกีฬาโอลิมปิก) เพื่อรองรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1972 ถือเป็นสนามกีฬาซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรม[40] สนามแห่งนี้เปิดตัวในการแข่งขันบุนเดสลีกานัดสุดท้ายของฤดูกาล 1971–72 สามารถผู้ชมจำนวน 79,000 คนในช่วงแรก ๆ โดยสนามแห่งนี้ถือเป็นสนามกีฬาชั้นแนวหน้าของโลก และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศรายการสำคัญมากมาย เช่น ฟุตบอลโลก 1974 ในปีถัดมา สนามกีฬาได้รับการปรับปรุงและพัฒนาหลายด้าน เช่น การเพิ่มจำนวนที่ที่นั่งจากประมาณร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 66 ในที่สุด สนามแห่งนี้ก็มีความจุ 63,000 ที่นั่งสำหรับการแข่งขันระดับชาติ และ 59,000 ที่นั่งสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันรายการยุโรป อย่างไรก็ตาม แฟนฟุตบอลหลายคนได้วิจารณ์ว่า การเข้าชม ณ สนามแห่งนี้ หนาวเกินไปในฤดูหนาว โดยผู้ชมครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเนื่องจากขาดที่กำบัง รวมถึงมีการร้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างผู้ชมและตัวสนาม ทว่าการปรับปรุงสนามก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสถาปนิกนามว่า กึนเทอร์ ไบนิช คัดค้านการปรับปรุงสนาม[41]
หลังการพิจารณาร่วมกันอย่างถี่ถ้วนระหว่าง เมืองมิวนิก รัฐไบเอิร์น สโมสรไบเอิร์นมิวนิก และ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน ได้มีมติร่วมกันที่จะสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ในปลาย ค.ศ. 2000 ซึ่งไบเอิร์นมีแนวคิดที่จะต้องการสร้างสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ (ที่มิใช่สนามกีฬาทั่วไป) มาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ของเยอรมนีได้กระตุ้นแนวคิดในการสร้างสนามใหม่ เนื่องจากโอลึมพีอาชตาดีอ็อนไม่ตรงตามเกณฑ์ของฟีฟ่าในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกอีกต่อไป สนามแห่งใหม่ได้แก่ อัลลีอันทซ์อาเรนา ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองทางตอนเหนือของมิวนิก เปิดใช้งานในต้นฤดูกาล 2005–06[42] ความจุเบื้องต้นคือประมาณ 66,000 ที่นั่ง และภายหลังได้มีการเพิ่มเป็น 69,901 ที่นั่ง โดยเปลี่ยนที่นั่ง 3,000 ที่นั่งเป็นอัตราส่วน 2:1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 ก่อนจะมีการเพิ่มความจุเป็น 71,000 ที่นั่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2015 ข้อเสนอเพื่อเพิ่มความจุได้รับการอนุมัติจากสภาเมือง ดังนั้น สนามจึงมีความจุ 75,000 ที่นั่งจนถึงปัจจุบัน (70,000 ที่นั่งในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก)
อัลลีอันทซ์อาเรนา ยังมีจุดเด่นในด้านความโปร่งแสงจากภายนอก ซึ่งมีการใช้ลูกเล่นด้วยการใช้แสงสีต่าง ๆ ตกแต่งในวันที่มีแข่ง โดยจะใช้สีแดงเมื่อเป็นเกมในบ้านของไบเอิร์นมิวนิก และสีขาวในวันที่ทีมชาติเยอรมนีลงแข่ง[43]
กลุ่มผู้สนับสนุน
แก้ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเยอรมนี และเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก ในการประชุมสามัญประจำปี ค.ศ. 2018 คณะกรรมการของสโมสรได้ประกาศว่าสโมสรมีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกมากถึง 291,000 ราย และมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้สนับสนุนกว่า 390,000 ราย ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ลงทะเบียนมากที่สุดในโลก กลุ่มผู้สนับสนันของสโมสรมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในเยอรมนี รวมถึงในออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรายงานว่าผู้สนับสนุนจำนวนมากเดินทางกว่า 200 กิโลเมตรมาจากพรมแดนของทั้งสองประเทศเพื่อมาชมการแข่งขันที่ อัลลีอันทซ์อาเรนา[44] ไบเอิร์นมิวนิกมีค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ชมในสนาม 75,000 รายซึ่งเต็มความจุของสนาม อัลลีอันทซ์อาเรนา และตั๋วของนัดการแข่งขันทั้งเกมในบ้านและเกมเยือนจะถูกขายหมดอย่างรวดเร็วล่วงหน้าหลายเดือน[45] และจากกรณีศึกษาของ Sport+Markt พบว่าไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเป็นอันดับห้าของโลกจำนวน 20.7 ล้านคน และกว่า 10 ล้านคนในเยอรมนี[46]
สโมสรคู่อริ
แก้ไบเอิร์นมิวนิกเป็นหนึ่งในสามสโมสรฟุตบอลอาชีพซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมิวนิก พวกเขามีคู่แข่งโดยตรงคือ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน ซึ่งในอดีตเป็นสโมสรใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนไบเอิร์นมิวนิก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1950 รวมถึงกรณีขัดแย้งที่ 1860 มึนเชินได้รับคัดเลือกให้ร่วมแข่งขันฤดูกาลแรกของบุนเดิสลีกาใน ค.ศ. 1963 แต่ไบเอิร์นมิวนิกไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว การพบกันของทั้งสองทีมถือเป็นเกมดาร์บีระดับประเทศซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อและผู้สนับสนุนของทั้งสองทีม[47] โดยทั่วไปแล้ว แฟนฟุตบอลของสโมสร เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน จะมาจากชนชั้นแรงงาน ในขณะที่ไบเอิร์นมิวนิกจะมีผู้สนับสนุนจากชนชั้นสูงและผู้มีฐานะทางสังคม[48] อันเนื่องมาจากสมาชิกของสโมสรมักเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง อาทิ นักธุรกิจ นักการเมือง หรือบุคคลจากวงการบันเทิง อย่างไรก็ดี ไบเอิร์นมิวนิกก็มักให้ความช่วยเหลือ 1860 มึนเชินหลายครั้งเมื่อประสบปัญหาทางการเงินแม้จะเป็นอริกัน[49]
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1920 ไบเอิร์นมิวนิกพัฒนาการเป็นคู่แข่งกับ แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นสโมสรที่ตั้งอยู่ในรัฐบาวาเรียเช่นเดียวกัน ฟิลลิพ ลาห์ม อดีตกัปตันทีมของไบเอิร์นมิวนิกกล่าวว่า "การพบกับ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค ถือเป็นการแข่งขันที่พิเศษ และดุเดือดทุกครั้ง" ทั้งสองทีมลงเล่นในลีกระดับเดียวกันในกลางทศวรรษ 1920 แต่ในช่วงเวลานั้น เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค ประสบความสำเร็จเหนือไบเอิร์นมิวนิกโดยชนะการแข่งขันลีกสูงสุดถึงห้าสมัยในทศวรรษนั้นซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของประเทศในขณะนั้น ทว่าอีกหลายทศวรรษต่อมา ไบเอิร์นมิวนิกก็ก้าวขึ้นมาเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศ และทำลายสถิติการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค ได้ใน ค.ศ. 1987 เมื่อพวกเขาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาสมัยที่สิบ[50] การพบกันระหว่างสองสโมสรมีชือเรียกว่า ดาร์บีแห่งบาวาเรีย
แอร์สเทอ เอ็ฟเซ ไคเซิร์สเลาเทิร์น เป็นอีกหนึ่งสโมสรที่พัฒนาความเป็นอริกับไบเอิร์นมิวนิกมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งการแข่งขันครั้งสำคัญเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1973 เมื่อไบเอิร์นแพ้ต่อไคเซิร์สเลาเทิร์นด้วยผลประตู 4–7 ทั้งที่ออกนำไปก่อน 4–1 ประตู[51] และความเป็นอริเพิ่มขึ้นจากการแย่งความสำเร็จในบุนเดิสลีกายาวนานหลายฤดูกาล และในอดีตไคเซิร์สเลาเทิร์น รวมถึงภูมิภาคโดยรอบเคยเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นบาวาเรีย กระทั่งมีการลงประชามติให้แยกจากกันหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
สโมสรอื่น ๆ ที่มีความเป็นอริกับไบเอิร์นมิวนิกอย่างเปิดเผยตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มีอีกหลายทีมด้วยกัน อาทิ โบรุสซีอาเมินเชินกลัทบัค, ฮัมบัวร์เกอร์ เอ็สเฟา, เอ็สเฟา แวร์เดอร์เบรเมิน, ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซิน และ ชัลเคอ 04 นอกจากนี้ การแข่งขันระหว่างไบเอิร์นมิวนิกและโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ ก็มีความดุเดือดและได้รับความสนใจจากผู้ติดตามจำนวนมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2010 ที่ทั้งสองทีมแย่งความสำเร็จในการแข่งขันทุกรายการ โดยดอร์ทมุนท์ซึ่งคุมทีมโดยอดีตผู้จัดการทีมอย่าง เยือร์เกิน คล็อพ สามารถสร้างทีมขึ้นมาต่อกรกับไบเอิร์นมิวนิกอย่างสมศักดิ์ศรี และคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้สองสมัยใน ค.ศ. 2011 และ 2012 ทั้งสองสโมสรยังพบกันในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใน ค.ศ. 2013 ที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ซึ่งไบเอิร์นมิวนิกเอาชนะไปด้วยผลประตู 2–1 รวมถึงการพบกันในรอบชิงชนะเลิศถ้วยเดเอ็ฟเบ-โพคาลหลายครั้ง ใน ค.ศ. 2008, 2012, 2014 และ 2016 ความพ่ายแพ้ต่อดอร์ทมุนท์ 2–5 ในรอบชิงชนะเลิศปี 2012 ถือเป็นความพ่ายแพ้ที่ขาดลอยที่สุดของไบเอิร์นมิวนิกในรอบชิงชนะเลิศรายการนี้ ไบเอิร์นมิวนิกยังสามารถตัดกำลังดอร์ทมุนท์ได้โดยตรงจากการย้ายทีมของผู้เล่นคนสำคัญ อาทิ รอแบร์ต แลวันดอฟสกี, มารีโอ เกิทเซอ และ มัทซ์ ฮุมเมิลส์ ซึ่งย้ายร่วมทีมไบเอิร์นมิวนิก
ไบเอิร์นมิวนิกยังมีสโมสรซึ่งเป็นคู่แข่งระดับทวีปซึ่งได้แก่สโมสรชั้นนำในยุโรป อาทิ เรอัลมาดริด, เอซี มิลาน, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ บาร์เซโลนา โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างเรอัลมาดริด และไบเอิร์นมิวนิก ถือเป็นการพบกันของสองสโมสรที่บ่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกจำนวน 24 นัด
การบริหาร และฐานะการเงิน
แก้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพ สโมสรมักใช้อดีตผู้เล่นสำคัญของสโมสรเข้ามาบริหารทีม[52] โดยมีการแบ่งหน้าที่ของฝ่ายบริหารออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มแรกได้แก่ ผู้บริหารซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านฟุตบอลซึ่งมีบุคคลสำคัญ อาทิ อูลี เฮอเนส, คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอ, ฮาซาน ซาลิฮามิดชิช รวมถึง อ็อลลีเวอร์ คาห์น โดยฝ่ายบริหารกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในการซื้อขายนักเตะ รวมถึงการเลือกผู้จัดการทีม สาเหตุที่ไบเอิร์นมิวนิกมักใช้อดีตผู้เล่นของสโมสร และทีมชาติเยอรมนีเข้ามาดูแลด้านฟุตบอลนั้น เนื่องจากประสบการณ์ในฐานะนักเตะอาชีพมีส่วนช่วยในการบริหารได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สโมสรยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเข้ามาดูแลสโมสรโดยเฉพาะ อาทิ ทิโมธีส เฮิทเทส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของด็อยท์เชอเทเลอค็อม ไบเอิร์นมิวนิกแบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นสโมสรออกเป็นสี่ส่วนได้แก่ หุ้นที่สโมสรและกลุ่มผู้สนับสนุน (แฟนฟุตบอล) ถือครองร่วมกันคิดเป็น 75% และอีก 25% ที่เหลือนั้น เป็นการแบ่งกันระหว่างสามบริษัทใหญ่อย่าง อลิอันซ์, อาวดี้ และ อาดิดาส ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งจะเป็นการรับรองได้ว่าฐานะการเงินของสโมสรย่อมมีความมั่นคงเป็นอันดับต้น ๆ สโมสรหนึ่งของโลกและแทบจะไม่มีโอกาสล้มละลาย โดยอาดิดาสเข้าถือครองหุ้นใน ค.ศ. 2002 ด้วยมูลค่า 77 ล้านยูโร ตามมาด้วยอาวดี้ใน ค.ศ. 2009 มูลค่า 90 ล้านยูโร และใน ค.ศ. 2014 อลิอันซ์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมรายล่าสุดด้วยมูลค่ากว่า 110 ล้านยูโร พวกเขาเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำรายรับได้มากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงบาร์เซโลนา และ เรอัลมาดริด ด้วยมูลค่า 634.1 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2021
ผู้สนับสนุนบนเสื้อของสโมสรได้แก่ ด็อยท์เชอเทเลอค็อม ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนมาตั้งแต่ฤดูกาล 2002–03 และจะสิ้นสุดลงในฤดูกาล 2022–23[53] ในขณะที่ชุดแข่งขันของสโมสรผลิตโดยอาดิดาส ซึ่งเป็นผู้ผลิตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1974 และมีการขยายสัญญาไปจนสิ้นสุดฤดูกาล 2029–30[54] นอกจากนี้ไบเอิร์นมิวนิกยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลกอีกมากมายซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ทีม อาทิ กาตาร์แอร์เวย์, ซีเมนส์, ดีเอชแอล, ท่าอากาศยานนานาชาติฮะมัด และ โคคา-โคล่า เป็นต้น ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำไรได้มากถึง 27 ฤดูกาลติดต่อกันในขณะที่หลายสโมสรในเยอรมนีมักประสบภาวะขาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมคู่แข่งอย่าง โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ ที่เคยประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนเกือบถึงขั้นล้มละลายในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มาแล้ว[55][56][57] โดยไบเอิร์นมิวนิกนั้นขึ้นชื่อในการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนในสโมสร พวกเขายังเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำรายรับได้มากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงบาร์เซโลนา และ เรอัลมาดริด ด้วยมูลค่า 634.1 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2021
ในขณะที่สโมสรชั้นนำหลายสโมสร อาทิ เรอัลมาดริด และ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มักเน้นการทำการตลาดในต่างประเทศ ไบเอิร์นมิวนิกจะเน้นการตลาดในประเทศเป็นหลัก[58] แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สโมสรได้เน้นการทำการตลาดในภูมิภาคเอเชียรวมถึงสหรัฐมากขึ้น และในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ไบเอิร์นมิวนิคได้เปิดสำนักงานต่างประเทศสาขา 3 ที่กรุงเทพมหานคร ต่อจากนครนิวยอร์ก (2014) และ เซี่ยงไฮ้ (2017) และจากการที่สโมสรเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใน ค.ศ. 2012 มูลค่าแบรนด์ของสโมสรสูงมีจำนวนสูงถึง 786 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อนหน้าแซงหน้าเรอัลมาดริดที่มีมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ และเป็นรองเพียงอันดับหนึ่งอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่มูลค่า 853 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่พวกเขาจะแซงหน้าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ในปีต่อมา[59] จากรายงานทางการเงินของสโมสรในฤดูกาล 2018–19 ปรากฏว่าสโมสรทำรายได้สูงถึง 750.4 ล้านยูโร และทำกำไรจากการดำเนินงาน 146.1 ล้านยูโร โดยกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 52.5 ล้านยูโร ซึ่งหมายความว่านี่เป็นปีที่ 27 ติดต่อกันที่สโมสรทำไรได้
ผู้เล่น
แก้ผู้เล่นทีมชุดแรก
แก้- ณ วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2024 [60]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ถูกยืม
แก้หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง
แก้ชื่อ | สัญชาติ | ตำแหน่ง | ปี | ลงเล่น | ประตู |
---|---|---|---|---|---|
ฟรันซ์ เบคเคนเบาเออร์ | DF | 1964–1977 | 427 | 60 | |
แกร์ด มึลเลอร์ | FW | 1964–1979 | 453 | 398 | |
อูลี่ เฮอเนส | FW | 1970–1979 | 239 | 86 | |
เซปป์ ไมเออร์ | GK | 1962–1979 | 536 | 0 | |
ฮันส์-กอร์ก ซวาร์เซนเบค | DF | 1966–1981 | 416 | 21 | |
เพาล์ ไบรท์เนอร์ | MF | 1970–1974, 1978–1983 | 255 | 83 | |
คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอร์ | FW | 1974–1984 | 310 | 162 | |
ดีเตอร์ เฮอเนส | FW | 1979–1987 | 224 | 102 | |
เคลาส์ ออเกนธาเลอร์ | DF | 1975–1991 | 404 | 52 | |
โรแลนด์ โวฮ์ฟาร์ธ | FW | 1984–1993 | 254 | 119 | |
โลทาร์ มัทเทอุส | DF/MF | 1984–1988, 1992–2000 | 302 | 85 | |
สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก | MF | 1990–1992, 1998–2002 | 160 | 35 | |
โอลิเวอร์ คาห์น | GK | 1994–2008 | 429 | 0 | |
เมห์เม็ต โชล | MF | 1992–2007 | 334 | 87 | |
บิเชนเต ลิซาลาซู | DF | 1997–2004, 2005–2006 | 182 | 7 | |
Giovane Élber | FW | 1997–2003 | 169 | 92 | |
ฟิลลิพ ลาห์ม | DF | 2002–2017 | 332 | 12 | |
รอแบร์ต แลวันดอฟสกี | FW | 2014–2022 | 253 | 238 |
เกียรติประวัติ
แก้ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเยอรมนี พวกเขาเป็นเจ้าของสถิติชนะเลิศมากที่สุดในทั้งสี่รายการที่เคยลงแข่งขัน ได้แก่ฟุตบอลลีกสูงสุด (บุนเดิสลีกา), เดเอ็ฟเบ–โพคาล, เดเอ็ฟเอ็ล–ลีกาโพคาล และ เดเอ็ฟเอ็ล–ซูเพอร์คัพ นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นสโมสรของเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระหว่างประเทศมากที่สุด โดยชนะการแข่งขันกว่า 14 รายการ รวมถึงชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 6 สมัย และพวกเขาเป็นสโมสรเดียวของเยอรมนีที่ชนะการแข่งขันรายการหลักของยูฟ่าครบทั้งสามรายการ (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าคัพ และ ยูฟ่าคัพวินเวอร์สคัพ และยังทำสถิติชนะเลิศการแข่งขันสามถ้วยรางวัลในฤดูกาลเดียวได้ถึงสองครั้ง
ระดับประเทศ
แก้- บุนเดิสลีกา
- ชนะเลิศ (33): 1931–32, 1968–69, 1971–72, 1972–73, 1973–74, 1979–80, 1980–81, 1984–85, 1985–86, 1986–87, 1988–89, 1989–90, 1993–94, 1996–97, 1998–99, 1999–2000, 2000–01, 2002–03, 2004–05, 2005–06, 2007–08, 2009–10, 2012–13, 2013–14, 2014–15, 2015–16, 2016–17, 2017–18, 2018–19, 2019–20, 2020–21, 2021–22, 2022–23
- เดเอ็ฟเบ-โพคาล
- ชนะเลิศ (20): 1957, 1966, 1967, 1969, 1971, 1982, 1984, 1986, 1998, 2000, 2003, 2005, 2006, 2008, 2010, 2012, 2013, 2015, 2019, 2020
- เดเอ็ฟเอ็ล-ลีกาโพคาล
- ชนะเลิศ (6): 1997, 1998, 1999, 2000, 2004, 2007
- เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ
- ชนะเลิศ (10): 1987, 1990, 2010, 2012, 2016, 2017, 2018, 2020, 2021, 2022
ระดับทวีปยุโรป
แก้- ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- ชนะเลิศ (6): 1973–74, 1974–75, 1975–76, 2000–01, 2012–13, 2019–20
- ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1966–67
- ยูฟ่าคัพ/ยูฟ่ายูโรปาลีก
- ชนะเลิศ (1): 1995–96
- ยูฟ่าซูเปอร์คัพ
- ชนะเลิศ (2): 2013, 2020
ระดับโลก
แก้- อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ
- ชนะเลิศ (2): 1976, 2001
ชนะเลิศสามรายการ
แก้- สามรายการ
การแข่งขันที่มีช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ จะไม่นับรวมกับแชมป์รายการอื่น ๆ
สถิติสโมสร
แก้- นักฟุตบอลที่ลงเล่นมากที่สุด:โทมัส มึลเลอร์(715 นัด)
- นักฟุตบอลที่ทำประตูรวมสูงสุด: แกร์ด มึลเลอร์ (563 ประตู)
- นักฟุตบอลที่ทำประตูในบุนเดิสลีกาสูงสุด: แกร์ด มึลเลอร์ (398 ประตู)
- ชนะในบุนเดิสลีกาสูงสุด: ไบเอิร์นมิวนิก 11–1 โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ (บุนเดิสลีกา, 27 พฤศจิกายน 1971)
- แพ้ในบุนเดิสลีกาสูงสุด: ไบเอิร์นมิวนิก 0–7 ชัลเคอ 04 (บุนเดิสลีกา, 9 ตุลาคม 1976)
- ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: อ็อตมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ (ชนะเลิศถ้วยรางวัล 14 รายการ, 1998–2004 และ 2007–08)
นอกจากนี้ ไบเอิร์นมิวนิกยังเป็นเจ้าของสถิติสำคัญในประเทศหลายรายการได้แก่:
- ชนะเลิศฟุตบอลบุนเดิสลีกา (33 สมัย) และ เดเอ็ฟเบ-โพคาล (20 สมัย)
- ชนะเลิศบุนเดิสลีกาติดต่อกันมากที่สุด (11 สมัย ค.ศ. 2013–2023)
- เป็นหนึ่งในสองสโมสรที่ลงเล่นในบุนเดิสลีกามากที่สุด (60 ฤดูกาล, ร่วมกับ เอ็สเฟา แวร์เดอร์เบรเมิน)
- มีคะแนนรวมในบุนเดิสลีกาสูงที่สุด (4,067 คะแนน)
- ชนะในบุนเดิสลีกาด้วยจำนวนนัดที่มากที่สุด (1,168 นัด)
- ทำประตูรวมในบุนเดิสลีกามากที่สุด (4,329 ประตู)
- มีผลต่างระหว่างประตูได้/เสียที่ดีที่สุดในบุนเดิสลีกา (2,215 ประตู)
- ทำคะแนนในการแข่งขันบุนเดิสลีกาในหนึ่งฤดูกาลได้สูงที่สุด (91 คะแนน, ฤดูกาล 2012–13)
- ชนะในบุนเดิสลีกาในหนึ่งฤดูกาลมากที่สุด (29 นัด, ฤดูกาล 2012–13 และ 2013–14)
- ทำประตูในบุนเดิสลีกาในหนึ่งฤดูกาลได้มากที่สุด (101 ประตู, ฤดูกาล 1971–72)
ค้นคว้าเพิ่มเติม
แก้- Hüetlin, Thomas: Gute Freunde. Die wahre Geschichte des FC Bayern München. Blessing, München 2006, ISBN 3-89667-254-1.
- Schulze-Marmeling, Dietrich: Der FC Bayern und seine Juden. Aufstieg und Zerschlagung einer liberalen Fußballkultur. Verlag Die Werkstatt, Göttingen 2011, ISBN 978-3-89533-781-9.[61]
- Bausenwein, Christoph, Schulze-Marmeling, Dietrich: FC Bayern München. Unser Verein, unsere Geschichte. Verlag Die Werkstatt, Göttingen 2012, ISBN 978-3-89533-894-6.
อ้างอิง
แก้- ↑ "Never-say-die Reds overcome Ingolstadt at the death". FC Bayern Munich. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2017. สืบค้นเมื่อ 12 February 2017.
- ↑ Whitney, Clark (8 April 2010). "CL Comment: Van Gaal's Bayern Give New Meaning to "FC Hollywood"". goal.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2014. สืบค้นเมื่อ 28 September 2014.
- ↑ "Ab sofort 75.000 Fans bei Bundesliga-Heimspielen" [As of now 75,000 for Bundesliga home matches]. FC Bayern Munich. 13 January 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2015. สืบค้นเมื่อ 13 January 2015.
- ↑ "พี่เสือกด 3-1 ซิวบุนเดสฯเร็วสุด 27 นัด". ผู้จัดการออนไลน์. 26 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 17–33. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ "Why Bayern Munich are the best-supported club in world football". www.bundesliga.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Deloitte Football Money League 2022". Deloitte United Kingdom (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Bayern fans bring club's earliest years to light". The Local Germany (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-05-22.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 165–171. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ "BBC News | Uniteds Euro Showdown | Unlucky Paris match for Leeds". news.bbc.co.uk.
- ↑ UEFA.com (1996-06-01). "1995/96: Klinsmann sparks Bayern triumph | UEFA Europa League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The most unlikely Bundesliga winners of all – DW – 03/28/2020". dw.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Jenkins, Tom (2010-03-30). "Football: How Manchester United won the Champions League in 1999". the Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ UEFA.com (2001-05-23). "2000/01: Kahn saves day for Bayern | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 351–433. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ "CNN.com - Aachen shock holders Bayern in cup - Feb. 4, 2004". edition.cnn.com.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "End of a Brief Era: German Club Bayern Munich Sacks Coach Klinsmann". Der Spiegel (ภาษาอังกฤษ). 2009-04-27. ISSN 2195-1349. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ "Bayern sign Dutch winger Robben from Real". Reuters (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-08-28. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ "Dortmund do the double – DW – 05/12/2012". dw.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Smyth, Rob (2012-05-19). "Champions League final: Bayern Munich v Chelsea – as it happened | Rob Smyth". the Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ "Guardiola to take charge at Bayern | FC Bayern Munich". bundesliga.com - the official Bundesliga website (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Augsburg inflict first league defeat on Bayern Munich". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2014-04-05.
- ↑ "Bayern Munich confirm Carlo Ancelotti will replace Pep Guardiola". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Bundesliga: Bayern take title with huge win". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2017-04-29.
- ↑ "Für 80 Millionen Euro: Bayern holt Lucas Hernandez". kicker (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ https://fcbayern.com/en/news/2019/07/interview-with-hansi-flick
- ↑ https://fcbayern.com/en/news/2019/11/fc-bayern-relieve-head-coach-niko-kovac-of-his-duties
- ↑ "Bayern gives coach Hansi Flick permanent deal through 2023". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ UEFA.com. "Barcelona-Bayern | UEFA Champions League 2019/20". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Barcelona vs. Bayern Munich - Football Match Summary - August 14, 2020 - ESPN". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ UEFA.com (2022-05-17). "Has any team ever won the quadruple? Who's won the treble?". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Bayern beat Sevilla to win Super Cup". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-06-19.
- ↑ Reuters (2021-05-22). "Lewandowski scores 41st Bundesliga goal of season to break Müller's record". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Falk, Christian (2021-04-27). "Julian Nagelsmann leaving RB Leipzig to become Bayern Munich manager". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Germany hire Treble-winning Flick as manager". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-25.
- ↑ "FC Bayern feuert Julian Nagelsmann! Thomas Tuchel wird Bayern-Trainer!". bild.de (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ "Bayern Munich fire Oliver Kahn and Hasan Salihamidzic – DW – 05/27/2023". dw.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Veth, Manuel. "Thomas Tuchel Rejects Bayern Munich - What Happens Next?". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Thomas Tuchel: Bayern Munich boss to leave despite U-turn talks". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-05-17.
- ↑ Manfred Brocks .... (1985). Monumente der Welt (in German). Harenberg. pp. 286–287. ISBN 3-88379-035-4.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 463–469. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 463–469. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 465–469. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern : die Geschichte des deutschen Rekordmeisters. Göttingen: Werkstatt. ISBN 3-89533-426-X. OCLC 54964622.
- ↑ "Allianz Arena tops the lot! - FC Bayern Munich". web.archive.org. 2018-02-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-10. สืบค้นเมื่อ 2022-06-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-23. สืบค้นเมื่อ 2022-06-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Bayern Magazin: Sonderheft DFB-Pokal, 27 February 2008 (in German)
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 439–449. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 439–449. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern : die Geschichte des deutschen Rekordmeisters. Göttingen: Werkstatt. ISBN 3-89533-426-X. OCLC 54964622.
- ↑ "1. FC Kaiserslautern - Bayern München 7:4 (Bundesliga 1973/1974, 12. Spieltag)". weltfussball.de (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ "Mitglieder des Aufsichtsrates der FC Bayern München AG gewählt". Bayern Magazin (in German). 61 (11): 14. 2010.
- ↑ "FC Bayern: Telekom verlängert als Hauptsponsor". kicker (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ "Bayern renew Adidas deal to 2030". SportsPro (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-04-29.
- ↑ "'I would rather beg for money than ask Bayern' - Dortmund CEO reveals secret of Bayern loan | Goal.com". www.goal.com.
- ↑ Welle (www.dw.com), Deutsche. "Chasing the money: Remembering the BVB crisis | DW | 10.03.2015". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Borussia: From bust to boom". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Bloomberg Soccer Trivia". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2013-09-19. สืบค้นเมื่อ 2022-07-22.
- ↑ "FC Bayern München AG". web.archive.org. 2013-06-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-08. สืบค้นเมื่อ 2022-07-22.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "First Team". fcbayern.com. FC Bayern München AG. 2021. สืบค้นเมื่อ 31 August 2021.
- ↑ Vgl. Markwart Herzog: Fußball unterm Hakenkreuz เก็บถาวร 28 ตุลาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. In: H-Soz-u-Kult, 15. Juni 2011 (Sammelrezension zu: Backes, Gregor: "Mit Deutschem Sportgruss, Heil Hitler". Der FC St. Pauli im Nationalsozialismus. Hamburg 2010/Dietrich Schulze-Marmeling: Der FC Bayern und seine Juden. Aufstieg und Zerschlagung einer liberalen Fußballkultur. Göttingen 2011/Jakob Rosenberg u. a. (Hrsg.): Grün-Weiß unterm Hakenkreuz. Der Sportklub Rapid im Nationalsozialismus (1938–1945). Wien 2011)