สโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน

สโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน (อิตาลี: Football Club Internazionale Milano S.p.A.) หรือที่เรียกย่อว่า อินเตอร์นาซีโอนาเล หรือ อินเตอร์มิลาน ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ[2][3] เป็นทีมฟุตบอลจากประเทศอิตาลี ตั้งอยู่ที่เมืองมิลานในแคว้นลอมบาร์เดีย อินเตอร์เป็นเพียงสโมสรเดียวที่ไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุดอย่างเซเรียอา นับตั้งแต่แข่งขันครั้งแรกใน ค.ศ. 1909

อินเตอร์นาซีโอนาเล
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน
ฉายาI Nerazzurri (ดำ-น้ำเงิน)
La Beneamata (หัวแก้วหัวแหวน)
Il Biscione (งูเขียวใหญ่)
งูใหญ่ (ภาษาไทย)
ก่อตั้ง9 มีนาคม ค.ศ.1908
สนามสตาดีโอจูเซปเปเมียอัซซา
ความจุ75,923 [1]
ประธานจูเซปเป มาร็อตตา
ผู้จัดการทีมซีโมเน อินซากี
ลีกเซเรียอา
2023–24อันดับที่ 1 (ชนะเลิศ)
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรถือกำเนิดขึ้นจากการแตกหักกันของสโมสรคริกเกตมิลานและสโมสรฟุตบอล (ปัจจุบันคือเอซี มิลาน) โดยอินเตอร์ได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1908 และเริ่มครองความยิ่งใหญ่ในประเทศตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งฟุตบอลลีก โดยชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1910 และนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร อินเตอร์ชนะเลิศการแข่งขันในประเทศ 37 รายการ แบ่งเป็นแชมป์ลีกสูงสุด 20 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 9 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 8 สมัย โดยระหว่าง ค.ศ. 2006 ถึง 2010 สโมสรชนะเลิศเซเรียอา 5 สมัยติดต่อกัน ถือเป็นสถิติร่วมของการชนะเลิศฟุตบอลลีกติดต่อกันมากที่สุดในขณะนั้น[4] ในส่วนของการแข่งขันระดับทวีป สโมสรชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยใน ค.ศ. 1964, 1965 และ 2010, ยูฟ่าคัพ 3 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 1 สมัย โดยในฤดูกาล 2009–10 ภายใต้การคุมทีมโดยโชเซ มูรีนโย อินเตอร์สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกของอิตาลีที่คว้าทริปเปิลแชมป์รายการหลัก จากการชนะเลิศเซเรียอา, โกปปาอิตาเลีย และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก[5]

สนามเหย้าของอินเตอร์คือสนามกีฬาซานซีโร ซึ่งใช้งานร่วมกับคู่ปรับร่วมเมืองอย่างเอซี มิลาน โดยถือเป็นสนามฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิตาลี มีความจุ 75,923 ที่นั่ง[6] สโมสรมีคู่ปรับสำคัญ ได้แก่ เอซี มิลาน ซึ่งการพบกันของทั้งคู่มีชื่อเรียกว่าแดร์บีเดลลามาดอนนีนา นับเป็นการแข่งขันดาร์บีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก[7] และยูเวนตุส ซึ่งการพบกันของทั้งคู่เรียกว่าแดร์บีดีตาเลีย [8] ใน ค.ศ. 2024 อินเตอร์ถือเป็นสโมสรที่มีจำนวนผู้ชมในสนามสูงที่สุดในอิตาลี และสูงเป็นอันดับสี่ในยุโรป[9][10] และยังเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีมูลค่าทีมสูงที่สุดในโลก[11] นับตั้งแต่ ค.ศ. 2024 สโมสรอยู่ภายใต้การบริหารโดยโอ๊คทรี บริษัทบริหารสินทรัพย์สัญชาติอเมริกัน

ประวัติ

แก้

ก่อตั้งทีม (ค.ศ. 1908–1960)

แก้
 
ผู้เล่นอินเตอร์มิลานใน ค.ศ. 1910

อินเตอร์มิลาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1908 โดยใช้ชื่อ ฟุตบอล คลับ อินแตร์นาซีโอนาเล ซึ่งมีสมาชิกที่บางส่วนที่แยกตัวมาจากสโมสร มีลาโนตคริกเกร็ตแอนด์ฟุตบอลคลับ (มีทั้งหมด 44 คน) ปัจจุบันคือสโมสรเอซี มิลาน และได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มอิตาลีและสวิส (จอร์โจ มักกีอานี เป็นจิตรกรที่ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสโมสร) สมาชิกจำนวนหนึ่งได้แยกตัวออกก่อตั้งสโมสรแห่งใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการเปิดโอกาสให้นักฟุตบอลที่ไม่ใช่ชาวอิตาลีได้เข้าร่วมทีม นั้นก็หมายถึงชาวต่างชาติก็สามารถลงสนามให้กับทีมได้ จึงได้รวมตัวกันของชาวอิตาลีและสวิส ก่อตั้งสโมสรขึ้นมา สโมสรแห่งนี้จึงได้เป็นสโมสรอีกสโมสรหนึ่งแห่งเมือง มิลาน ที่ได้ขึ้นชื่อว่าก่อตั้งจากชนชั้นแรงงาน

 
จูเซปเป เมอัซซา ผู้เล่นตำนานของสโมสร

สโมสรชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1910 ตามด้วยแชมป์สมัยที่สองใน ค.ศ. 1920 กัปตันทีมซึ่งพาทีมชนะการแข่งขันลีกสูงสุดในฤดูกาล 1910 ได้แก่ เวอร์จิลิโอ ฟอสซาติ ซึ่งถูกสังหารจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งร่วมกับกองทัพอิตาลี ต่อมาใน ค.ศ. 1922 สโมสรทำผลงานย่ำแย่จนสุ่มเสี่ยงที่จะตกชั้นไปสู่ฟุตบอลดิวิชันสอง แต่สามารถเอาตัวรอดได้จากการชนะในการแข่งขันเพลย์ออฟ และใน 6 ปีต่อมา ในยุคของฟาสซิสต์อิตาลี สโมสรถูกบังคับให้ควบรวมกับ สมาคมฟุตบอลมิลานีสยูเนี่ยน สปอร์ติวา จากมิลาน และมีการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น "สปอร์ติวา แอมโบรเซียนา" (สโมสรฟุตบอลแอมโบรเซียนา) และในฤดูกาล 1928–29 สโมสรลงเล่นด้วยเสื้อแข่งสีขาวพร้อมลายกากบาทสีแดงบนตัวเสื้อ โดยการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงและตราของเมืองมิลาน และใน ค.ศ. 1929 ประธานสโมสรคนใหม่ โอเรสเต ซิโมนอตติ ทำการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น Associazione Sportiva Ambrosiana และนำชุดแข่งขันสีน้ำเงิน/ดำ กลับมาใช้เป็นสีหลักอีกครั้ง กระนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนของสโมสรก็ยังเรียกชื่อทีมของตนเองว่า "อินเตอร์" ต่อมา ใน ค.ศ. 1931 ปอซซานี ประธานสโมสรคนใหม่ได้เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น "สปอร์ติวา แอมโบรเซียนา อินเตอร์" (Associazione Sportiva Ambrosiana-Inter) ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นสโมสร

สโมสรชนะเลิศฟุตบอลโกปปาอีตาเลีย (อิตาเลียนคัพ) สมัยแรกในฤดูกาล 1938–39 ด้วยการนำทีมของผู้เล่นตำนานอย่าง จูเซปเป เมอัซซา ซึ่งได้รับเกียรตินำชื่อไปตั้งเป็นสนามเหย้าอย่างซานซีโร หรือ สตาดีโอจูเซปเปเมอัซซา ในปัจจุบัน ตามมาด้วยการชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยที่ห้าใน ค.ศ. 1940 แม้ว่าเมอัซซาจะประสบปัญหาการบาดเจ็บ และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สโมสรได้กลับไปใช้ชื่อเดิม (อินเตอร์) ตามมาด้วยการชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยที่หกและเจ็ด ใน ค.ศ. 1953 และ 1954 ตามลำดับ

ยุครุ่งเรือง (ค.ศ. 1960–67)

แก้

ใน ค.ศ. 1960 เอเลนิโอ เอร์เรรา อดีตผู้จัดการทีมบาร์เซโลนาได้ย้ายมาคุมทีมอินเตอร์ พร้อมด้วยการมาถึงของผู้เล่นคนสำคัญอย่าง ลุยส์ ซัวเรซ มิรามอนเตส เจ้าของตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของยุโรป (บาลงดอร์ในปัจจุบัน) จากผลงานโดดเด่นในการพาบาร์เซโลนาชนะการแข่งขันสองรายการทั้งลาลิกาและอินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัพ การเข้ามาของเอร์เรราสามารถยกระดับทีมไปสู่การเป็นทีมชั้นนำของวงการฟุตบอลยุโรปได้อย่างรวดเร็ว เขาเป็นผู้นำระบบการเล่นแบบ 5–3–2 มาใช้กับทีมซึ่งได้รับฉายาว่า "Verrou" ("กลอนประตู") ซึ่งสร้างความยืดหยุ่นให้กับการเล่นเกมโต้กลับมากขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากแผนการเล่นแบบ Catenaccio ซึ่งคิดค้นโดย คาร์ล รัพพัน ผู้จัดการทีมชาวออสเตรีย โดยเอร์เรราได้เพิ่มจำนวนกองหลังเข้าไปอีกหนึ่งคนในฐานะ สวีปเปอร์ (sweeper) หรือ ลีเบโร (libero) ซึงจะมีตำแหน่งการยืนอยู่ข้างหลังเซนเตอร์ตัวหลักสองคนเพื่อแบ่งเบาภาระคู่เซนเตอร์เมื่อถูกจู่โจมโดยผู้เล่นฝ่ายรุก อินเตอร์จบฤดูกาลด้วยอันดับสามในลีกในปีนั้นตามอันดับสองในปีต่อมา ก่อนจะคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาลที่สามของเอร์เรรา และตามมาด้วยความสำเร็จในรายการยุโรปจากการชนะเลิศยูโรเปียนคัพสองสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1964 และ 1965 ทำให้เอร์เรราได้การขนานนามว่า "il Mago" (พ่อมด)[12] ทีมชุดนันประกอบไปด้วยผู้เล่นแกนหลักหลายราย อาทิ ทาร์ซิสิโอ บวร์นิช และ จาชินโต ฟัคเค็ตติ สองฟูลแบคชื่อดังชาวอิตาลี, อาร์มันโด พิคคี ในตำแหน่งสวีปเปอร์, ลุยส์ ซัวเรส ในตำแหน่งกองกลาง, มารีโอ กอร์โซ ปีกซ้ายพรสวรรค์สูง รวมถึงซานโดร มาสโซลา[13][14][15][16]

ใน ค.ศ. 1964 สโมสรเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพได้อีกครั้ง จากการเอาชนะ โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ ในรอบรองชนะเลิศ รวมถึงปาร์ติซานในรอบก่อนรองชนะเลิศ เข้าไปพบกับเรอัลมาดริด ซึ่งผ่านเข้าชิงชนะเลิศรายการนี้ได้ถึงเจ็ดครั้งในรอบเก้าฤดูกาลหลังสุด และอินเตอร์เอาชนะไปด้วยผลประตู 3–1 จากสองประตูของ ซานโดร มาสโซลา และพวกเขายังชนะการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ หรือ อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ ด้วยการชนะกลุบอัตเลติโกอินเดเปนดิเอนเต และใน ค.ศ. 1965 อินเตอร์ได้ชนะการแข่งขันยูโรเปียนคัพอีกครั้งจากการเอาชนะสปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา ด้วยผลประตู 1–0 ซึ่งนัดชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่ สตาดีโอจูเซปเปเมอัซซา สนามของพวกเขานั่นเอง และยังชนะการแข่งขัน อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพด้วยการชนะอินเดเปนดิเอนเตอีกครั้ง ก่อนจะเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพอีกครั้งใน ค.ศ. 1967 แต่จากการเสียผู้เล่นตัวหลักอย่าง ลุยส์ ซัวเรส ซึ่งได้รับบาดเจ็บ และ การย้ายทีมของ แจร์ ดา กอสตา ส่งผลให้พวกเขาพ่ายต่อเซลติก และในปีนั้นสโมสรได้ทำการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น อินแตร์นาซีโอนาเล มาถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จที่ตามมา (ค.ศ. 1967–1991)

แก้
 
อินเตอร์มิลานชุดที่ชนะเลิศเซเรียอา ฤดูกาล 1970–71

ภายหลังยุครุ่งเรืองของสโมสรในทศวรรษ 1960 อินเตอร์สามารถชนะเลิศลีกสูงสุดอีกครั้งใน ค.ศ. 1971 จากผลงานของกองหน้าตัวหลักอย่างโรแบร์โต โบนินเซญา ซึ่งทำไป 24 ประตูในลีก และตามด้วยแชมป์สมัยที่ 12 ใน ค.ศ. 1980 และพวกเขาแพ้ในนัดชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพเป็นครั้งที่สองในรอบห้าปี โดยแพ้อาเอฟเซ อายักซ์ ซึ่งมีผู้เล่นชื่อดังอย่างโยฮัน ไกรฟฟ์ ใน ค.ศ. 1972 ด้วยผลประตู 0–2 แต่อินเตอร์ก็ยังประสบความสำเร็จในโกปปาอีตาเลีย โดยชนะเลิศอีกสองครั้งในฤดูกาล 1977–78 และ 1981–82 ฮันซี มึลเลอร์ และ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอ สองผู้เล่นชื่อดังของเยอรมนีตะวันตกเล่นให้กับอินเตอร์ในช่วงทศวรรษ 1980 และภายใต้การนำของอันเดรียส เบรห์เม และ โลธาร์ มัทเธอุส รวมถึง ราโมน ดิอาซ อินเตอร์ชนะการแข่งขันเซเรียอาอีกครั้งใน ค.ศ. 1989 ภายใต้การคุมทีมของโจวันนี ตราปัตโตนี แต่ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ในปีต่อมา แม้จะเซ็นสัญญากับผู้เล่นชาวเยอรมันอย่าง เยือร์เกิน คลีนส์มัน แต่สโมสรยังชนะเลิศรายการซูแปร์โกปปาอีตาเลียนาครั้งแรก

ความไม่มั่นคง (ค.ศ. 1991–2004)

แก้

เข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1990 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวของอินเตอร์ เมื่อคู่แข่งสำคัญอย่างยูเวนตุส และ เอซีมิลาน ต่างครองความยิ่งใหญ่ทั้งในประเทศและในการแข่งขันระดับทวีป อินเตอร์มีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่องโดยเฉพาะในฤดูกาล 1993–94 ซึ่งพวกเขามีคะแนนห่างจากโซนตกชั้นเพียงคะแนนเดียว อย่างไรก็ตาม สโมสรยังประสบความสำเร็จในรายการยูฟ่าคัพ หรือ ยูฟ่ายูโรปาลีก ในปัจจุบัน จากการเข้าชิงชนะเลิศได้ถึงสี่ครั้งในช่วงทศวรรษดังกล่าว และคว้าแชมป์ได้สามสมัยใน ค.ศ. 1991, 1994 และ 1998

 
เสื้อของผู้เล่นคนสำคัญอย่าง โรนัลโด, อิบัน ซาโมราโน และ ลูอิช ฟีกู ในพิพิธภัณฑ์สนามซานซีโร

จากการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรโดย มัสซิโม โมรัตติ ใน ค.ศ. 1995 อินเตอร์ทำลายสถิติโลกในการซื้อตัวผู้เล่นถึงสองครั้งในขณะนั้น ด้วยการคว้าตัวผู้เล่นชื่อดังอย่าง โรนัลโด ซึ่งย้ายจากบาร์เซโลนาด้วยราคาสูงถึง 19.5 ล้านปอนด์ รวมถึงการคว้าตัว กริสเตียน วีเอรี มาจากลาซีโอในราคา 31 ล้านปอนด์[17] แต่ตลอดทศวรรษ 1990 ก็เป็นทศวรรษแรกที่พวกเขาไม่สามารถคว้าแชมป์เซเรียอาได้เลย นำไปสู่เสียงวิจารณ์ในเชิงลบจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีต่อผู้บริหาร ผู้จัดการทีม และนักเตะ โดยโมรัตติเป็นเป้าในการโจมตีของแฟน ๆ มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาตัดสินใจปลด ลุยจิ ซิโมนี ผู้จัดการทีมซึ่งเป็นขวัญใจของแฟน ๆ หลังจากเริ่มต้นฤดูกาล 1998–99 ไปเพียงไม่กี่นัด โดยซิโมนีเพิ่งได้รับรางวัลผู้จัการทีมยอดเยี่ยมประจำปีของอิตาลีไม่กี่วันก่อนถูกปลด ในฤดูกาลนั้น อินเตอร์ไม่สามารถทำอันดับไปเล่นรายการยุโรปได้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี โดยจบเพียงอันดับแปด

ในฤดูกาลต่อมา โมรัตติ แต่งตั้งอดีตผู้จัดการทีมยูเวนตุสอย่าง มาร์เชลโล ลิปปี เข้ามาคุมทีม พร้อมกับเซ็นสัญญาผู้เล่นใหม่อย่าง แองเจโล เปรุสซี และ โลร็องต์ บล็องก์ รวมถึงอดีตผู้เล่นยูเวนตุสอย่าง วลาดิเมียร์ จูกอวิช และสโมสรเข้าใกล้ความสำเร็จในประเทศมากที่สุดในรอบสิบปี เมื่อพวกเขาผ่านเข้าชิงชนะเลิศ โกปปาอีตาเลีย แต่ก็แพ้ลัตซีโย ต่อมาในฤดูกาล 2000–01 พวกเขาแพ้ลัตซีโยอีกครั้งในรายการซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ด้วยผลประตู 3–4 แม้จะได้ประตูออกนำไปก่อนจากกองหน้าคนใหม่อย่างร็อบบี คีน และอินเตอร์ยังตกรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก จากการแพ้ สโมสรเฮลซิงบอร์ก ไอเอฟ ของสวีเดน โดยอัลบาโร เรโกบา ผู้เล่นคนสำคัญยิงจุดโทษพลาดในช่วงท้าย และลิปปีถูกปลดจากตำแหน่งหลังจากแข่งขันนัดแรกในเซเรียอาไปเพียงนัดเดียว ซึ่งพวกเขาแพ้ต่อเรจจินา ซึ่งถือเป็นการแพ้เรจจินาเป็นครั้งแรกในเซเรียอา มาร์โก ทาร์เดลลี เข้ามารับตำแหน่งต่อ แต่ก็ไม่สามารถยกระดับทีมได้ และเขาเป็นที่จดจำในเชิงลบโดยแฟนอินเตอร์ เมื่อพาทีมแพ้ในการแข่งขันดาร์บีต่อเอซี มิลานไปถึง 0–6 ผู้เล่นสำคัญของอินเตอร์ในช่วงเวลานี้ได้แก่ฟาบีโอ กันนาวาโร และ วีเอรี ซึ่งทั้งสองคนมีร้านอาหารในเมืองมิลาน ก่อนที่ร้านของทั้งคู่จะถูกทำลายโดยแฟน ๆ ที่ไม่พอใจกับผลการแข่งขันในเกมดาร์บีดังกล่าว

ใน ค.ศ. 2002 อินเตอร์ทำผลงานได้ดีขึ้น พวกเขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพ และใกล้เคียงกับการคว้าแชมป์เซเรียอามากที่สุดในรอบหลายปี โดยในนัดสุดท้ายพวกเขาต้องบุกไปเอาชนะลัตซีโยให้ได้ และพวกเขาออกนำไปก่อน 2–1 หลังผ่าน 24 นาทีแรก ก่อนที่ลัตซีโยจะตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ตามด้วยการยิงอีกสองประตูในครึ่งหลัง อินเตอร์พ่ายไปด้วยผลประตู 2–4 ส่งผลให้ยูเวนตุสคว้าแชมป์ไปครอง ในฤดูกาลต่อมา อินเตอร์คว้ารองแชมป์เซเรียอาอีกครั้ง และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่ก็แพ้คู่ปรับอย่างเอซี มิลานด้วยกฏประตูทีมเยือน

ทวงความยิ่งใหญ่ (ค.ศ. 2004–11)

แก้
 
อินเตอร์มิลานฉลองแชมป์โกปปาอิตาเลีย 2004–05

ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 สโมสรแต่งตั้ง โรแบร์โต มันชีนี อดีตผู้จัดการทีมลัตซีโยเข้ามาคุมทีม และในฤดูกาลแรกอินเตอร์ทำคะแนนไปได้ 72 คะแนน จากผลงานชนะ 18 นัด เสมอ 18 นัด และแพ้ 2 นัด และมันชีนีพาทีมชนะเลิศฟุตบอลถ้วยได้ถึงสองรายการทั้งใน โกปปาอีตาเลีย และ ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ต่อมาในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 อินเตอร์คว้าแชมป์โกปปาอิตาเลียเป็นสมัยที่ห้า โดยเอาชนะโรมาด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–2

อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอา ฤดูกาล 2005–06 และสืบเนื่องจากคดีกัลโชโปลี ส่งผลให้ทีมแชมป์อย่างยูเวนตุสถูกริบแชมป์และลงโทษด้วยการปรับตกชั้น และเอซีมิลานถูกตัดคะแนน และในฤดูกาลต่อมา อินเตอร์สร้างสถิติใหม่ในการชนะติดต่อกัน 17 นัดในเซเรียอา เริ่มต้นในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2006 ด้วยการเปิดบ้านเอาชนะลิวอร์โน 4–1 ก่อนจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 หลังเปิดบ้านเสมออูดีเนเซ 1–1 และในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2007 อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอาสองสมัยติดต่อกัน และถือเป็นแชมป์ครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 1989 หากไม่นับแชมป์จากเหตุการณ์อื้อฉาวของยูเวนตุสและเอซีมิลาน หลังจากชนะเซียนา 2–1 โดยได้สองประตูจากมาร์โก มาเตรัซซี ซึ่งอยู่ในทีมชาติอิตาลีชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2006[18]

อินเตอร์เริ่มต้นฤดูกาล 2007–08 ด้วยความคาดหวังว่าจะคว้าแชมป์รายการใหญ่ทั้งสองรายการ ได้แก่เซเรียอา และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พวกเขาเริ่มต้นได้ดีด้วยการขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในลีก และยังผ่านรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฐานะแชมป์กลุ่ม ผ่านเข้าไปพบกับลิเวอร์พูล แต่พวกเขาก็แพ้ไปด้วยผลประตูรวมสองนัด 0–3 ทำให้อนาคตของมันชีนีไม่แน่นอนนัก และสโมสรยังไม่ชนะทีมใดในเซเรียอาติดต่อกันอีกสามนัดถัดมา และหลังจากตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมันชีนีประกาศอำลาทีมแต่ก็เปลี่ยนใจในวันต่อมา และในนัดสุดท้ายของการแข่งขันเซเรียอา อินเตอร์บุกไปชนะปาร์มากัลโช 1913 จากสองประตูของ ซลาตัน อิบราฮีมอวิช คว้าแชมป์เซเรียอาเป็นปีที่สามติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มันชีนีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากเขาเคยประกาศอำลาทีมก่อนหน้านี้

 
โชเซ มูรีนโย ผู้จัดการทีมซึ่งสร้างประวัติศาสตร์พาอินเตอร์ชนะการแข่งขันสามรายการใหญ่เป็นทีมแรกในอิตาลี

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 สโมสรแต่งตั้ง โชเซ มูรีนโย ผู้จัดการทีมชื่อดังเข้ามาคุมทีม และเขาพาทีมชนะสองถ้วยรางวัลโดยคว้าแชมป์ ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา และคว้าแชมป์ลีกเป็นสมัยที่สี่ติดต่อกัน แต่ก็ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยพ่ายแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กระนั้น อินเตอร์ก็สร้างสถิติด้วยการเป็นทีมแรกในรอบ 60 ปีที่คว้าแชมป์เซเรียอาได้สี่สมัยติดต่อกัน และถือเป็นทีมที่สามต่อจากยูเวนตุสและโตริโนที่ทำได้ และยังถือเป็นสโมสรแรกที่ไม่ได้อยู่ในเมืองตูรินที่ทำได้ และในฤดูกาลต่อมา มูรีนโยพาทีมสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์สามรายการหลัก โดยคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2009–10 ด้วยการเอาชนะแชมป์เก่าอย่างบาร์เซโลนาในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–2 และเอาชนะไบเอิร์นมิวนิกในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 จากสองประตูของดิเอโก มิลิโต[19] รวมถึงคว้าแชมป์เซเรียอาเป็นสมัยที่ห้าติดต่อกัน โดยมีคะแนนเหนือโรมาสองคะแนน และยังเอาชนะโรมาในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลีย 1–0[20] สร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่ชนะเลิศการแข่งขันสามรายการหลักในฤดูกาลเดียว[21] ก่อนที่มูรีนโยจะอำลาทีมเพื่อไปคุมเรอัลมาดริด และถูกแทนที่โดย ราฟาเอล เบนิเตซ ผู้พาทีมชนะการแข่งขันซูแปร์โกปปาอีตาเลียนาจากการชนะโรมา 3–1 ตามด้วยแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2010 ชนะสโมสรมาเซมเบจากสาธารณรัฐคองโกด้วยผลประตู 3–0 ทว่าผลงานในลีกไม่สู้ดีนัก เป็นผลให้เบนิเตซถูกปลดและแทนที่ด้วยเลโอนาร์ดู อาราอูฌู

เลโอนาร์ดูพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยมในช่วงแรกโดยทำคะแนนไปถึง 30 คะแนนจาก 12 นัด ด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 2.5 คะแนนต่อหนึ่งเกม เหนือกว่าสองผู้จัดการทีมก่อนหน้าเขาอย่างมูรีนโยและเบนิเตซ และในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2011 เขาพาทีมสร้างสถิติใหม่ด้วยการเก็บไป 33 คะแนนจาก 13 นัด ทำลายสถิติเดิมของฟาบิโอ กาเปลโล ในการคุมทีมยูเวนตุสในฤดูกาล 2004–05 เลโอนาร์ดูพาอินเตอร์ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกก่อนจะแพ้ชัลเคอ 04 แต่ยังแก้ตัวด้วยแชมป์โกปปาอิตาเลีย โดยชนะปาร์แลโม 3–1 ก่อนที่เลโอนาร์ดูจะอำลาทีม และตามมาด้วยการคุมทีมของสามผู้จัดการทีมอย่าง จาน ปิเอโร กาสเปรินี, เกลาดีโอ รานีเอรี และ อันเดรอา สตรามัชโชนี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

การเปลี่ยนแปลง และช่วงขาลง (ค.ศ. 2011–19)

แก้
 
ผู้เล่นอินเตอร์มิลาน นัดที่พบกับสโมสรฟุตบอลดนีปรอ ในการแข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก กันยายน ค.ศ. 2014

วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2012 สโมสรประกาศว่าโมรัตติได้ขายหุ้นบางส่วนให้แก่กลุ่มทุนจากจีนนำโดย เค็นเน็ธ หวง และในวันเดียวกันสโมสรยังประกาศแผนการสร้างสนามใหม่ แต่ในที่สุดการทำข้อตกลงกับกลุ่มทุนจากจีนก็ล้มเหลว และในฤดูกาล 2012–13 ถือเป็นฤดูกาลที่ย่ำแย่ที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อพวกเขาจบเพียงอันดับเก้าในเซเรียอาไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยุโรป วอลเตอร์ มาซซาร์รี เข้ามาคุมทีมในฤดูกาลถัดมา ก่อนจะพาทีมจบอันดับห้าในลีกและได้สิทธิ์แข่งขันยูโรปาลีกรอบคัดเลือก

ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2013 กลุ่มทุนจากอินโดนีเซีย นำโดยเอริค ทอร์เฮีย ได้ทำข้อตกลงเข้าถือหุ้นจำนวน 70% ของสโมสร[22] บริษัท Internazionale Holding S.r.l. ของ โมรัตติยังคงถือหุ้น 29.5% ของสโมสร และทอร์เฮีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร่วมของสโมสรดีซี ยูไนเต็ด ในเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ และสโมสรเปอร์ซิบ บันดุง ในลีกาซาตู ได้ประกาศว่าอินเตอร์ได้ทำข้อตกลงในการเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ร่วมกับดีซียูไนเต้ด ภายใต้การบริหารทีมของทอร์เฮีย สโมสรได้ปรับกลยุทธ์ทางการเงินจากที่เคยเน้นการสนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ของผู้บริหารไปสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สโมสรก็ได้ละเมิดกฏการเงินของยูฟ่าและถูกปรับใน ค.ศ. 2015 ในช่วงเวลานั้น โรแบร์โต มันชีนีกลับมาคุมทีมเป็นครั้งที่สองแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยจบอันดับแปดในฤดูกาลแรก ก่อนจะคว้าอันดับสี่ในฤดูกาล 2015–16 ได้สิทธิ์กลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 ซูหนิง คอมเมิร์ซ กรุ๊ป บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของจีนซึ่งมีเจ้าของกิจการคือ จาง จินตง ได้ซื้อหุ้นสโมสรอินเตอร์ส่วนใหญ่ที่ทอร์เฮียถือครองอยู่ และเข้าควบคุมกิจการสโมสร โดยที่โมรัตติยังคงเป็นผู้ร่วมถือหุ้นบางส่วน จากการรายงานระบุว่า การเข้าเทคโอเวอร์ของซูหนิงมีมูลค่าเบื้องต้นที่ประมาณ 270 ล้านยูโร[23] การเจรจาแล้วเสร็จในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ส่งผลให้ซูหนิง กรุ๊ป ถือครองหุ้นสโมสรที่ 68.55% อย่างไรก็ตาม การบริหารโดยเจ้าของใหม่ก็ไม่ราบรื่นนัก ทีมประสบกับผลงานย่ำแย่ตั้งแต่การลงแข่งกระชับมิตรช่วงต้นฤดูกาล และในเดือนสิงหาคม สโมสรประกาศแยกทางกับมันชีนีหลังจากมีวิสัยทัศน์ในการบริหารทีมที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร[24] ผู้ที่มาคุมทีมต่อคือ ฟรังก์ เดอ บูร์ ซึ่งทำผลงานย่ำแย่หนักจนถูกปลดหลังคุมทีมไปเพียงสามเดือน โดยอินเตอร์ชนะได้เพียง 4 นัด จาก 11 นัดแรกในเซเรียอา สเตฟาโน ปิโอลี เข้ามารับช่วงต่อ แต่ก็อยู่ได้เพียงช่วงท้ายของฤดูกาล 2016–17 เมื่อสโมสรไม่สามารถทำอันดับติดหนึ่งในสามเป็นปีที่หกติดต่อกัน

ลูเซียโน สปัลเล็ตติ ได้รับการแต่งตั้งด้วยสัญญาสองปี[25] และเขาพาทีมกลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ครั้งแรกในรอบหกฤดูกาล หลังจากเอาชนะลาซีโอด้วยผลประตู 3–2 ในนัดสุดท้ายของเซเรียอา[26][27] ส่งผลให้สปัลเล็ตติได้รับการขยายสัญญาไปจนถึง ค.ศ. 2021 ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2018 สตีเวน จาง เข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่ และเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2019 สโมสรได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า LionRock Capital จากฮ่องกงได้บรรลุข้อตกลงกับ International Sports Capital HK Limited เพื่อซื้อหุ้น 31.05% ในสโมสรและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยใหม่ของอินเตอร์ และแม้จะพาทีมจบอันดับสี่อีกครั้งในฤดูกาล 2018–19 สปัลเล็ตติก็ถูกปลด[28]

กลับสู่ความสำเร็จ (2019–ปัจจุบัน)

แก้

อันโตนีโอ กอนเต (2019–2021)

แก้

ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 สโมสรแต่งตั้ง อันโตนีโอ กอนเต เข้ามาคุมทีมด้วยสัญญาสองปี อินเตอร์เซ็นสัญญากับ โรเมลู ลูกากู ด้วยราคา 74 ล้านยูโร ถือเป็นนักเตะที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร รวมทั้งนีโกเลาะ บาเรลลา จากคัลยารีกัลโชในราคา 44.5 ล้านยูโร และสโมสรปล่อยตัว เมาโร อิการ์ดิ หนึ่งในกองหน้าที่ดีที่สุดในลีกในรอบหลายฤดูกาลที่ผ่านมาให้แก่ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งในราคา 50 ล้านยูโร กอนเตพาทีมมีลุ้นแชมป์เซเรียอาจนถึงนัดสุดท้าย และแม้จะชนะอาตาลันตา 2–0 แต่ก็ทำได้เพียงอันดับสองโดยเป็นรองยูเวนตุสเพียงคะแนนเดียว[29] และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก ก่อนจะแพ้เซบิยาด้วยผลประตู 2–3 สโมสรมีการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้เล่นชุดใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญากับ เครสแจน อีเรกเซิน จากทอตนัมฮอตสเปอร์ในราคา 27 ล้านยูโร รวมถึงอัชร็อฟ ฮะกีมี ซึ่งย้ายมาจากโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ในราคา 43 ล้านยูโร แม้อินเตอร์จะทำผลงานในรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร แต่กอนเตก็พาทีมคว้าแชมป์เซเรียอาได้เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีในฤดูกาล 2020–21 ด้วยคะแนนที่มากกว่ารองแชมป์อย่าง เอซี มิลานถึง 12 คะแนน และเป็นการยุติการคว้าแชมป์เก้าสมัยติดต่อกันของยูเวนตุส[30] อย่างไรก็ตาม กอนเตก็อำลาทีมหลังจบฤดูกาลหลังมีแนวทางในการบริหารทีมที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร โดยอินเตอร์ต้องประสบปัญหาการเงินอีกครั้ง ส่งผลให้ทีมไม่สามารถลงทุนในตลาดซื้อขายตามที่กอนเตต้องการ[31][32]

 
ผู้เล่นอินเตอร์ก่อนลงแข่งเกมกระชับมิตรกับเร็ดบุลซัลทซ์บวร์ค ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2023

ซีโมเน อินซากี (2021–ปัจจุบัน)

แก้

ซีโมเน อินซากี ย้ายจากลัตซีโยเข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 2021–22[33] เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2021 การ์โล ก็อตตาเรลลี ได้ออกนโยบายใหม่ในการเข้าถือหุ้นสโมสรโดยแฟน ๆ สโมสรภายใต้โครงการ InterSpac[34] จากการประสบปัญหาการเงิน ส่งผลให้สโมสรต้องปล่อยผู้เล่นสำคัญออกจากทีม ได้แก่ อัชร็อฟ ฮะกีมี ซึ่งย้ายไป ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ด้วยราคา 68 ล้านยูโร[35] รวมถึงกองหน้าคนสำคัญอย่างลูกากูซึ่งย้ายกลับไปเล่นให้เชลซีด้วยราคาสูงถึง 115 ล้านยูโร ถือเป็นสถิติการขายผู้เล่นที่แพงที่สุดของสโมสรอิตาลี[36] รวมถึงการยกเลิกสัญญากับ ราจา ไนง์โกลัน[37] แต่ทีมก็ยังหาผู้เล่นใหม่มาชดเชยหลายราย อาทิ แด็นเซิล ดึมฟรีส จากเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน รวมถึง เอดิน เจกอ จากโรมา[38] ในฤดูกาลแรกของอินซากี อินเตอร์มีลุ้นแชมป์เซเรียอาจนถึงนัดสุดท้าย แต่ก็จบอันดับสองตามหลังเอซีมิลานสองคะแนน และเป็นทีมที่ยิงประตูมากที่สุดในลีกในฤดูกาลนี้จำนวน 84 ประตู[39] และสโมสรยังประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วยอีกสองรายการด้วยการเอาชนะยุเวนตุสในซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2–1[40] จากประตูในนาทีสุดท้ายของการต่อเวลาพิเศษโดย อาเลกซิส ซันเชซ และเอาชนะยูเวนตุสอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอีตาเลีย 4–2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษจากสองประตูของ อิวัน เปริชิช ภายหลังเสมอกัน 2–2[41]

ในฤดูกาล 2022–23 สโมสรเซ็นสัญญากับผู้เล่นหลายราย โดยยืมตัวลูกากูจากเชลซี รวมถึง แฮนริค มะคีทาเรียน, อ็องเดร โอนานา, ราอูล เบลลาโนวา และ กริสเตียน อัสลานี อินซากีชนะเลิศถ้วยรางวัลใบที่สามในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 โดยเอาชนะเอซี มิลานในซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 3–0[42] ตามด้วยการป้องกันแชมป์โกปปาอีตาเลีย จากการชนะฟีออเรนตินาในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 คว้าแชมป์สมัยที่ 9 และเป็นถ้วยใบที่ 4 ในสองฤดูกาล ในส่วนของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก อินเตอร์ผ่านรอบแบ่งกลุ่มจากการอยู่ร่วมกลุ่มกับทีมใหญ่อย่างไบเอิร์นมิวนิก และบาร์เซโลนา และเอาชนะสองทีมดังจากโปรตุเกสอย่างโปร์ตูและไบฟิกา ตามด้วยการเอาชนะคู่อริอย่าง เอซี มิลาน ในรอบรองชนะเลิศ ผ่านเข้าชิงชนะเลิศรายการนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คว้าแชมป์ใน ค.ศ. 2010 แต่พวกเขาแพ้แมนเชสเตอร์ซิตี 0–1 ณ สนามกีฬาโอลิมปิกอาทาทืร์ค และจบอันดับสามในเซเรียอา แต่ยังชนะเลิศซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2023 ด้วยการชนะนาโปลี 1–0 คว้าแชมป์สมัยที่แปดและเป็นแชมป์สามสมัยติดต่อกัน[43]

แม้จะตกรอบฟุตบอลถ้วยสองรายการอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และโกปปาอีตาเลีย แต่สโมสรจบฤดูกาล 2023–24 ด้วยการคว้าแชมป์เซเรียอาเป็นสมัยที่ 20 หลังจากบุกไปชนะคู่ปรับอย่าง เอซี มิลานด้วยผลประตู 2–1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2024 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีหนึ่งในสองสโมสรคว้าแชมป์ลีกได้ในการแข่งขันแดร์บีเดลลามาดอนนีนา[44] และยังทำสถิติเป็นทีมที่ชนะติดต่อกัน 6 นัดในแดร์บีเดลลามาดอนนีนา อินเตอร์คว้าแชมป์ด้วยคะแนน 94 คะแนน มากกว่ารองแชมป์อย่างเอซี มิลานถึง 19 คะแนน และทำประตูในฤดูกาลนี้จำนวน 89 ประตู รวมทั้งเสียไปเพียง 22 ประตู ด้วยผลต่างประตูได้เสียรวม +67 ประตู ถือเป็นทีมแชมป์ที่มีสถิติในฤดูกาลดีที่สุดนับตั้งแต่เซเรียอา ฤดูกาล 1950–51[45] อินเตอร์ยังกลายเป็นสโมสรที่สองต่อจากยูเวนตุสที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุด 20 สมัย

ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการบริหารอีกครั้ง เมื่อโอ๊คทรี บริษัทบริหารสินทรัพย์ระดับโลกสัญชาติอเมริกัน ยืนยันการเข้าซื้อกิจการสโมสรจาก ซูหนิง กรุ๊ป ภายหลังจากประธานสโมสรคนเก่าอย่าง สตีเวน จาง ไม่สามารถเจรจาชำระหนี้สินจำนวนเกือบ 400 ล้านยูโรได้ตามกำหนด โดยกลุ่มผู้อำนวยการซึ่งมีส่วนต่อความสำเร็จของสโมสร ได้แก่ จูเซปเป มาร็อตตา, อเลสซานโดร อันโตเนลโล, ดาริโอ บัคคิน และ ปิเอโร เอาซิลิโอ จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารเกือบทั้งหมดได้ประกาศลาออก ส่งผลให้ต้องมีการเลือกประธานสโมสรคนใหม่[46][47] ต่อมา ผู้บริหารมีมติแต่งตั้งจูเซปเป มาร็อตตา ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่[48] ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 อินซากีได้รับการขยายสัญญากับสโมสรออกไปจนถึง ค.ศ. 2026

สีและสัญลักษณ์

แก้
 
สโมสรกีฬาแอมโบรเซียนาในชุดสีขาว-แดงเมื่อฤดูกาล 1928–29

หนึ่งในผู้ก่อตั้งอินเตอร์ จอร์โจ มักกีอานี ซึ่งเป็นจิตรกร เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์แบบแรกของอินเตอร์ใน ค.ศ. 1908 โดยสัญลักษณ์แบบแรกเป็นรูปตัวอักษร "FCIM" ฝังอยู่ตรงกลางวงกลม สัญลักษณ์ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายยังคงถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบันพร้อมกับการปรับแต่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยในฤดูกาล 1999–2000 ได้มีการปรับตราสัญลักษณ์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อวางชื่อสโมสรและปีที่ก่อตั้งทั้งด้านบนและด้านล่างของตราตามลำดับ

ใน ค.ศ. 2007 ตราสัญลักษณ์กลับไปใช้ตราเดิมในช่วงก่อนฤดูกาล 1999–2000 อีกครั้ง แต่ได้มีการปรับรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยขึ้นพร้อมใส่ดาว สกูเดตโต และสีโทนสว่าง ตราสัญลักษณ์แบบนี้ถูกใช้งานจนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2014 เมื่อสโมสรตัดสินใจปรับภาพลักษณ์ของตัวสโมสรเอง[49] โดยจุดแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างตราใหม่กับตราก่อนหน้าคือการนำดาวออกไปจากตรา[50]

นับตั้งแต่สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1908 ผู้เล่นสวมเสื้อลายทางสีดำและน้ำเงิน ทำให้ได้รับฉายาว่า เนรัซซูรี (Nerazzurri) ตามธรรมเนียมแล้ว สีชุดแข่งถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึงท้องฟ้าตอนกลางคืน ประกอบกับเวลาที่ก่อตั้งสโมสรก็คือตอนกลางคืน ในเวลา 23 นาฬิกา 30 นาทีของวันที่ 9 มีนาคม ยิ่งไปกว่านั้น สีน้ำเงินยังเป็นสีที่ถูกเลือกโดยจอร์โจ มักกีอานี เพราะเขาเห็นว่าเป็นสีที่ตรงข้ามกับสีแดง ซึ่งเป็นสีชุดแข่งที่คู่อริอย่างสโมสรฟุตบอลและคริกเก็ตมิลานสวมใส่[51][52]

อินเตอร์มีช่วงที่ไม่ได้สวมชุดแข่งขันสีดำ-น้ำเงินอยู่บ้างในฤดูกาล 1928–29 โดยใน ค.ศ. 1928 ชื่อและปรัชญาของสโมสรสร้างความไม่สบายใจแก่พรรคฟาสซิสต์ที่ปกครองอยู่ตอนนั้น ส่งผลให้สโมสรถูกรวมเข้ากับ สหภาพกีฬามีลาเนส (Unione Sportiva Milanese) และเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น สโมสรกีฬาแอมโบรเซียนา (Società Sportiva Ambrosiana) ซึ่งตั้งชื่อตามนักบุญองค์สมโภชของมิลาน[53] และชุดแข่งขันซึ่งเดิมคือลายดำ-น้ำเงิน ก็ถูกแทนที่ด้วยลายธงประจำเมืองมิลาน (ลายกางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว)[54] แต่ต่อมาใน ค.ศ. 1929 ชุดแข่งขันสีดำ-น้ำเงินถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง และหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ฟาสซิสล่มสลาย สโมสรก็เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิม ต่อมาใน ค.ศ. 2008 อินเตอร์เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีด้วยการผลิตเสื้อแข่งขันลายกางเขนสีแดง ซึ่งสื่อถึงธงประจำเมือง และใช้เป็นชุดที่สาม ค.ศ. 2014 สโมสรใช้ชุดเหย้าสีดำซึ่งมีลายนิ้วมือสีน้ำเงินบนเสื้อ[55] ก่อนที่จะย้อนกลับไปใช้ชุดแข่งขันลายประจำในฤดูกาลถัดมา

สัตว์มักถูกใช้ตั้งเป็นชื่อฉายาของสโมสรฟุตบอลอิตาลี โดยงูเขียวใหญ่ ซึ่งเรียกว่า Biscione เป็นฉายาของอินเตอร์ งูเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองมิลาน โดยปรากฏบนมุทราศาสตร์ของมิลาน เป็นรูปงูพิษขดตัวพร้อมกับมีผู้ชายเป็นเหยื่อในเขี้ยวของมัน สัญลักษณ์นี้ยังอยู่บนตราประจำตระกูลสฟอร์ซา (ซึ่งปกครองอิตาลีในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา), เมืองมิลาน, ดัชชีมีลาโน (รัฐของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอายุ 400 ปี) และอินเซอเบรีย (ภูมิภาคทางประวัติศาสตร์ซึ่งครอบคลุมมิลาน) สำหรับในฤดูกาล 2010–11 มีการออกแบบให้มีรูปงูอยู่บนชุดเยือน

ผู้สนับสนุนและสโมสรคู่อริ

แก้

อินเตอร์มิลาน ถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในอิตาลีจากการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ la Repubblica ใน ค.ศ. 2007 โดยก่อนหน้านี้ (นับถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ผู้สนับสนุนของอินเตอร์ในเมืองมิลานมักมาจากชนชั้นกลาง ในขณะที่ผู้สนับสนุนของเอซีมิลานมักเป็นชนชั้นแรงงาน ในช่วงการบริหารของ มัสซิโม โมรัตติ กลุ่มผู้สนับสนุนหรือแฟน ๆ ของสโมสรมักถูกมองว่าเป็นพวกการเมืองฝ่ายซ้าย ในขณะที่ผู้สนับสนุนของเอซีมิลานเป็นพวกฝ่ายขวา[56]

กลุ่มอุลตร้าดั้งเดิมของอินเตอร์คือ Boys San พวกเขามีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสร เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มกองเชียร์ที่เก่าแก่ที่สุดโดยก่อตั้งขึ้นในปี 1969 กลุ่ม Irriducibili ของ Inter Ultras เป็นพวกฝ่ายขวาและมีความสัมพันธ์อันดีกับลาซิโอ อุลตร้าส์ (กองเชียร์ลัตซีโย) เช่นเดียวกับกองเชียร์กลุ่มหลัก (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) ของ Boys San และยังมีกลุ่มที่สำคัญอีกห้ากลุ่มได้แก่ ไวกิ้ง (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด), Irriducibili (ขวา), Ultras (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด), Brianza, Alcoolica (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) และ Imbastisci (ซ้าย)

กลุ่มผู้สนับสนุนของอินเตอร์ส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมในการมารวมตัวกันเพื่อร่วมร้องเพลงเชียร์บริเวณ Curva Nord หรือโค้งทิศเหนือของสนามซานซิโร และโบกธงเพื่อสนับสนุนทีมของพวกเขา อินเตอร์มีสโมสรคู่อริหลายสโมสร แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือเอซีมิลาน และยูเวนตุส ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิตาลี การแข่งขันกับเอซีมิลานมีชื่อเรียกว่า แดร์บีเดลลามาดอนนีนา โดยมีที่มาจากการแยกตัวของอินเตอร์ออกจากสโมสรคริกเก็ต และสโมสรฟุตบอลมิลาน ซึ่งในปัจจุบันก็คือสโมสรฟุตบอลเอซีมิลาน ชื่อเรียกของการแข่งขันมีที่มาจาก มารีย์ (มารดาพระเยซู) ซึ่งมีรูปปั้นอยู่บนยอดมหาวิหารของเมืองมิลาน และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมือง การแข่งขันมักมีบรรยากาศเข้มข้นและมักปรากฏพลุแฟลร์ ทั้งในและนอกสนามเสมอ

การแข่งขันระหว่างอินเตอร์และยูเวนตุสถูกเรียกว่า แดร์บีดีตาเลีย และก่อนจะเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวใน ค.ศ. 2006 ทั้งสองทีมเป็นเพียงสองสโมสรของอิตาลีที่ไม่เคยตกชั้นไปเล่นในลีกระดับสองอย่างเซเรียบีเลย และในปัจจุบันอินเตอร์มิลานเป็นสโมสรเดียวที่ยังครองสถิติดังกล่าว ทั้งสองทีมแย่งความสำเร็จในประเทศกันมายาวนานหลายทศวรรษ และในช่วงปลายทศวรรษ 2000 อินเตอร์ได้พัฒนาความเป็นอริกับโรมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงที่อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอาห้าสมัยติดต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. 2006–10 โรมาเป็นทีมรองแชมป์ถึงสี่จากห้าฤดูกาลดังกล่าว และยังพบกันในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียหลายครั้ง สโมสรอื่น ๆ ที่เป็นอริกับอินเตอร์ได้แก่ อาตาลันตา และ นาโปลี

เกียรติประวัติ

แก้
 
ผู้เล่นอินเตอร์ชุดชนะเลิศอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพเมื่อปี 1965

อินเตอร์ชนะเลิศถ้วยรางวัลในประเทศ 37 รายการ ประกอบด้วยลีก 20 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 9 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 8 สมัย สโมสรเคยชนะเลิศลีกถึง 5 ฤดูกาลติดต่อกันตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2010 นับเป็นสถิติร่วมของการชนะเลิศลีกติดต่อกันมากที่สุดก่อนที่ยูเวนตุสจะชนะเลิศลีก 6 สมัยติดต่อกันในปี 2017[4] อินเตอร์ชนะเลิศแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยในปี 1964, 1965 และ 2010 โดยการชนะเลิศแชมเปียนส์ลีกครั้งล่าสุดนั้น ทำให้พวกเขาคว้าทริปเปิลแชมป์ร่วมกับการชนะเลิศโกปปาอีตาเลียและสกูเด็ตโต[5] นอกจากนี้ สโมสรยังชนะเลิศยูฟ่าคัพ 3 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกหนึ่งสมัย

อินเตอร์เป็นสโมสรที่ไม่เคยตกชั้นจากลีกฟุตบอลสูงสุดของอิตาลี ทำให้พวกเขาเป็นสโมสรเดียวที่แข่งขันในเซเรียอาและลีกสูงสุดยุคก่อนหน้าครบทุกฤดูกาล เนรัซซูรีได้แข่งขันบนลีกสูงสุดถึง 106 ฤดูกาลติดต่อกัน หากนับในระดับทวีปแล้ว มีเพียงสโมสรบริติชเพียง 5 สโมสรที่แข่งขันในลีกสูงสุดติดต่อกันยาวนานกว่า

เกียรติประวัติของสโมสร
ประเภท การแข่งขัน ชนะเลิศ (สมัย) ฤดูกาล
  ระดับประเทศ เซเรียอา 20 1909–10, 1919–20, 1929–30, 1937–38, 1939–40, 1952–53, 1953–54, 1962–63, 1964–65, 1965–66, 1970–71, 1979–80, 1988–89, 2005–06, 2006–07, 2007–08, 2008–09, 2009–10, 2020–21, 2023–24
โกปปาอีตาเลีย 9 1938–39, 1977–78, 1981–82, 2004–05, 2005–06, 2009–10, 2010–11, 2021–22, 2022–23
ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 8 1989, 2005, 2006, 2008, 2010, 2021, 2022, 2023
  ระดับทวีป ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 1963–64, 1964–65, 2009–10
ยูฟ่าคัพ/ยูฟ่ายูโรปาลีก 3 1990–91, 1993–94, 1997–98
  ระดับโลก อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 2 1964, 1965
ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 1 2010

สถิติสำคัญ

แก้
 
ฆาบิเอร์ ซาเนตติ เป็นผู้เล่นที่ลงสนามมากที่สุดตลอดกาลของสโมสร
  • ฆาบิเอร์ ซาเนตติ เป็นเจ้าของสถิติในการลงสนามมากที่สุดของสโมสร ทั้งในการแข่งขันรวมทุกรายการ (858 นัด) และในเซเรียอา (618 นัด)
  • จูเซปเป เมอัซซา เป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูมากที่สุดตลอดกาลของสโมสร (284 ประตูจาก 408 นัด)
  • เอเลนิโอ เอร์เรรา เป็นผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุดของสโมสร (9 ปี, 8 ปีติดต่อกัน)

ผู้เล่นปัจจุบัน

แก้

ผู้เล่นทีมชุดแรก

แก้
ณ วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[57]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK   ยัน ซ็อมเมอร์
2 MF   แด็นเซิล ดึมฟรีส
6 DF   สเตฟัน เดอ ไฟร
7 DF   ปิโอเตอร์ ซีลินสกี
8 FW   มาร์กอ อาร์นาอูตอวิช
9 FW   มาร์คุส ตูราม
10 FW   เลาตาโร มาร์ติเนซ
11 FW   ฆัวกิน กอร์เรอา
12 GK   ราฟฟาเอล ดิ เจนนาโร
13 GK   โฆเซป มาร์ติเนซ
15 DF   ฟรันเชสโก อแซร์บี
16 MF   ดาวีเด ฟรัตเตซี
17 MF   ทาจอน บูคานัน
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
20 MF   ฮาคัน ชัลฮาโนลู
21 MF   กริสเตียน อัสลานี
22 MF   แฮนริค มะคีทาเรียน
23 MF   นีโกเลาะ บาเรลลา
28 DF   แบ็งฌาแม็ง ปาวาร์
30 DF   การ์ลุส ออกุสตู
31 DF   ยาน ออเรล บิสเซ็ค
32 DF   เฟเดรีโก ดีมาร์โก
36 DF   มัตเตโอ ดาร์มีอัน
42 DF   โทมัส ปาลาซิออส
95 DF   อาเลสซันโดร บัสโตนี
99 FW   เมห์ดี ทาเรมี

บุคลากรปัจจุบัน

แก้
 
ซีโมเน อินซากี ผู้ฝึกสอนคนปัจจุบัน
ตำแหน่ง ชื่อ
ผู้ฝึกสอน ซีโมเน อินซากี
ผู้ช่วยทางเทคนิค จูเซปเป บาเรซี
ผู้ช่วยทางเทคนิค ลูกา วีจานี
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส จูเซปเป ปอนเดรลลี
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู นุนซีโอ ปาเปเล
นักวิเคราะห์เกม มีเกเล ซัลซารูโล
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ปีเอโร วอลปี
แพทย์ ดานีเอเล กาซาลีนี

แบรนด์ชุดแข่งและสปอนเซอร์

แก้
ปีที่ใช้ แบรนด์เสื้อ สปอนเซอร์
1979–1981 Puma
1981/1982 Inno-Hit
1982–1986 Mecsport Misura
1986–1988 Le Coq Sportif
1988–1991 Uhlsport
1991/1992 Umbro FitGar
1992–1995 Fiorucci
1995–1998 Pirelli
1998–2018 Nike

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-18. สืบค้นเมื่อ 2010-02-15.
  2. "Inter Milan arrives in Jakarta to prepare for two friendlies". The Jakarta Post. 24 May 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 September 2013. สืบค้นเมื่อ 25 July 2013.
  3. Grove, Daryl (22 December 2014). "10 Soccer Things You Might Be Saying Incorrectly". Paste. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 July 2017. สืบค้นเมื่อ 21 June 2017.
  4. 4.0 4.1 "Italy – List of Champions". RSSSF.[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 "Inter join exclusive treble club". uefa.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 November 2012. สืบค้นเมื่อ 9 August 2012.
  6. "Struttura". sansirostadium.com (ภาษาอิตาลี). San Siro. สืบค้นเมื่อ 22 January 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "Is this the greatest derby in world sports?". Theroar.com.au. 26 January 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2011. สืบค้นเมื่อ 28 September 2011.
  8. "Best supported clubs who attract more than a million fans every season". talkSPORT. 31 March 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2019. สืบค้นเมื่อ 29 May 2019.
  9. 161385360554578 (2019-03-31). "Best supported clubs who attract more than a million fans every season". talkSPORT (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  10. "The World's Most Valuable Soccer Teams". Forbes. 17 April 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 July 2013. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  11. "14. Inter Milan". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  12. "inter.it - F.C. Internazionale Milano". web.archive.org. 2012-10-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-19. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  13. "FIFA Tournaments - Players & Coaches - HERRERA Helenio - Player Profile - FIFA.com". web.archive.org. 2017-01-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  14. "Mazzola: Inter is my second family - FIFA.com". web.archive.org. 2014-10-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  15. "La Grande Inter: Helenio Herrera (1910-1997) - Il MagoLa Grande Inter: Helenio Herrera (1910-1997) - Il Mago". SempreInter.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-10-15.
  16. "Obitaury: Helenio Herrera". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 1997-11-11.
  17. "Ronaldo at 40: Il Fenomeno's legacy as greatest ever No9, despite dodgy knees | Rob Smyth". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-09-17.
  18. "Materazzi secures early title for Inter". www.telegraph.co.uk.
  19. "Bayern Munich 0-2 Inter Milan" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2010-05-22. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  20. "Treble-chasing Inter win Serie A" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2010-05-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  21. "Trebles all round to celebrate rarity becoming routine | Amy Lawrence". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-05-22.
  22. Fontevecchia, Agustino. "Inter Milan Sells 70% Stake To Indonesia's Erick Thohir At $480M Valuation". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  23. "China's Suning buying majority stake in Inter Milan for $307 million". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2016-06-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  24. "OFFICIAL: Inter sack Roberto Mancini | Goal.com". www.goal.com.
  25. "Inter appoint Spalletti as new boss". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  26. "Serie A round-up: Inter Milan beat Lazio to claim final Champions League spot". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
  27. "Lazio 2-3 Inter Milan". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  28. "Luciano Spalletti sacked as Inter Milan manager". OnManorama.
  29. "Atalanta 0-2 Inter: Evergreen Young inspires win to secure runner-up spot". web.archive.org. 2020-08-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-01. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  30. "Inter win first Serie A title in 11 years". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
  31. "Conte shocks Inter Milan, leaves after title win". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-26.
  32. "Antonio Conte leaves Inter over plan to sell €80m of players this summer". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-26.
  33. Horncastle, James. "Simone Inzaghi appointed Inter Milan head coach". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
  34. "Azionariato popolare: da Ligabue a Bocelli, da Pezzali a Bonolis, ecco chi ha aderito". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
  35. "Psg, ecco Hakimi: all'Inter 68 milioni. Il saluto ai nerazzurri: "Solo un anno, ma che anno"". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
  36. "Addio di Lukaku: proprietà e dirigenti, sono tutti responsabili". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
  37. "Nainggolan-Inter, è addio: risoluzione del contratto, il Cagliari lo attende". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
  38. "L'Inter annuncia Dzeko e Dumfries. Edin: "Squadra di campioni, ci divertiremo"". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
  39. "Classifica Serie A 2021/2022". la Repubblica.
  40. Sport, Sky. "Inter-Juventus LIVE". sport.sky.it (ภาษาอิตาลี).
  41. "L'Inter vince la Coppa Italia: 4-2 contro la Juve ai supplementari". RaiNews (ภาษาอิตาลี).
  42. TG24, Sky. "Supercoppa italiana, vince l'Inter: 3 a 0 al Milan". tg24.sky.it (ภาษาอิตาลี).
  43. Pogorzelski, Kevin (2024-01-22). "Inter edge past Napoli to win the 2023 Supercoppa Italiana". Total Italian Football (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  44. "Inter win heated Milan derby to seal 20th Siere A title". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ).
  45. "I numeri di uno Scudetto straordinario | Inter.it". www.inter.it (ภาษาอิตาลี).
  46. agreement, The American fund Oaktree has officially become the new owner of Inter Milan after the management of Chinese owner Steve Zhang failed to repay the €395 million loan received in 2021 and could not reach an extension. "Inter Milan to Have New Owners". beIN SPORTS (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  47. Grez, Maisie Linford, Matias (2024-05-22). "Inter Milan taken over by US investment firm Oaktree after Chinese owners fail to repay loan". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  48. "Inter shareholders approve new Board of Directors | Inter.it". www.inter.it (ภาษาอังกฤษ).
  49. "Nerazzurri rebranding: new logo, same Inter". Inter.it. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2014. สืบค้นเมื่อ 21 July 2014.
  50. "Inter rebranding in detail". Inter.it. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2014. สืบค้นเมื่อ 21 July 2014.
  51. "9 marzo 1908, 43 milanisti fondano l'Inter". ViviMilano.it. 24 June 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2007. สืบค้นเมื่อ 23 October 2007.
  52. "AC Milan vs. Inter Milan". FootballDerbies.com. 25 July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 September 2011. สืบค้นเมื่อ 18 May 2008.
  53. "Emeroteca Coni". Emeroteca.coni.it. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2012. สืบค้นเมื่อ 7 January 2013.
  54. "Ambrosiana S.S 1928". Toffs.com. 24 June 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2007. สืบค้นเมื่อ 23 October 2007.
  55. https://www.sbnation.com/soccer/2014/7/9/5882469/inter-milan-2014-2015-nike-home-kit
  56. "AC Milan vs. Inter Milan". web.archive.org. 2011-09-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-13. สืบค้นเมื่อ 2021-05-12.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  57. "First Team". FC Internazionale Milano. สืบค้นเมื่อ 1 July 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้