ข้ามไปเนื้อหา

หมึกสาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Octopoda)
หมึกสาย
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 323.2–0Ma ยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลาย – ปัจจุบัน
หมึกสายธรรมดา (Octopus vulgaris)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
อันดับใหญ่: Octopodiformes
อันดับ: Octopoda
Leach, 1818[1]
อันดับย่อย
ชื่อพ้อง
  • Octopoida
    Leach, 1817[2]
รูปแสดงกายภาคของหมึกสาย

หมึกสาย หรือ หมึกยักษ์[3] เป็นมอลลัสก์ประเภทหมึกอันดับหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Octopoda

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า "Octopus" หรือ Octopoda ซึ่งใช้เป็นชื่อวิทยาศาสตร์นั้นมาจากภาษากรีกคำว่า ὀκτάπους (oktapous, "แปดเท้า") อันมีที่มาจากการที่หมึกสายนั้นจะมีหนวดทั้งหมด 8 เส้นนั่นเอง[4][5]

ลักษณะและกายวิภาค

[แก้]

หมึกสาย จะมีความแตกต่างไปจากหมึกกล้วยหรือหมึกกระดองอย่างเห็นได้ชัด โดยที่หมึกสายจะมีส่วนหัวที่กลมยาวคล้ายลูกโป่ง หนวดมีทั้งหมด 8 เส้น และไม่มีหนวดเส้นยาว 2 เส้นสำหรับจับเหยื่อแบบหมึกกล้วย ไม่มีครีบข้างลำตัว แต่จะมีพังผืดเชื่อมต่อกันระหว่างหนวดแต่ละเส้น ในโครงสร้างของหมึกสายจะไม่มีแคลเซียมแข็งเป็นแกนกลางลำตัวเหมือนหมึกกล้วยหรือหมึกกระดอง ซึ่งทำให้ร่างกายของหมึกสายนั้นยืดหยุ่นตัวได้สูง หมึกสายจึงสามารถคืบคลานไปตามท้องทะเลได้อย่างคล่องแคล่ว[6]

ในธรรมชาติหมึกสายเป็นหมึกที่อาศัยอยู่ตามลำพังไม่เป็นฝูงเหมือนหมึกกล้วยหรือเป็นคู่เหมือนหมึกกระดอง โดยหลบซ่อนตัวอยู่ตามรูหรือโพรงใต้น้ำ นอกจากนี้แล้ว ร่างกายของหมึกสายนั้นสามารถรอดรูเล็ก ๆ ที่มีความกว้างเพียงไม่กี่เซนติเมตรได้ จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ พบว่าหมึกสายสามารถรอดรูเล็ก ๆ ได้ ด้วยการใช้หนวดวัดขนาดความกว้างของรูก่อน ก่อนที่จะใช้หนวดทั้งหมดค่อย ๆ มุดรอดไป และส่วนหัวจะเป็นส่วนสุดท้ายที่จะมุดรอดออกมา แต่หมึกสายก็ไม่สามารถที่จะมุดรอดรูที่มีความกว้างเพียง 1.5 นิ้วได้ ซึ่งเป็นความกว้างที่น้อยกว่าความกว้างระหว่างดวงตาทั้งคู่ของหมึกสาย ที่จะมีกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ระหว่างนั้น อีกทั้งหมึกสายยังสามารถที่จะคืบคลานไปมาบนบกได้ โดยอยู่ได้โดยปราศจากน้ำได้นานถึง 1 ชั่วโมง[7]

หมึกสาย มีหัวใจทั้งหมด 3 ดวง และมีสมองแยกออกจากกันอยู่ในโคนหนวดแต่ละหนวดถึง 9 สมอง หนวดของหมึกสายนั้นมีประสาทสัมผัสและปุ่มดูดเรียงตัวกัน 1–2 แถว ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเป็นจำนวนมาก ในตัวผู้เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะเปลี่ยนไปเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเกิดเป็นลิ้นนำถุงน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ของตัวเมีย ซึ่งหนวดเส้นนี้ของตัวผู้ในตอนปลายจะไม่มีปุ่มดูด อันเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเพศของหมึกสาย[6]

หมึกสาย พบแล้วทั้งหมดมากกว่า 1,000 ชนิด เป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมาอย่างยาวนานมาแล้วถึง 550–600 ล้านปีก่อน[7] ทั้งหมดอาศัยอยู่ในทะเล กระจายพันธุ์ไปในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วโลก หมึกสายเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลเป็นหลัก เช่น แนวปะการัง บางชนิดพบในเหวลึกกว่า 5,000 เมตร[3] หรือกระทั่งพบในสถานที่ ๆ หนาวเย็นจนน้ำเป็นน้ำแข็งอย่างมหาสมุทรแอนตาร์กติก โดยที่มหาสมุทรแอนตาร์กติก พบหมึกสายทั้งหมด 16 ชนิด และทุกชนิดจะมีสารสีน้ำเงินในกระแสเลือด คือ ฮีโมไซยานิน ที่ช่วยทำให้เอาตัวรอดได้ในสถานที่ ๆ ติดลบเช่นนี้ [8]

หมึกสายกินครัสเตเชียนเป็นอาหารหลัก เช่น กุ้ง หรือปู กระนั้น หมึกสายก็ยังตกเป็นอาหารของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ เช่น ปลากะรัง[7] หมึกสายมีวิธีการป้องกันตัวที่หลากหลาย โดยสามารถที่จะเปลี่ยนสีผิวลำตัวได้อย่าวรวดเร็ว ในบางชนิดผิวหนังสามารถที่จะมีติ่งหรือตุ่มผุดขึ้นมาเลียนแบบสภาพของพื้นผิวทะเลได้ด้วย หรือในบางชนิดก็สามารถพรางตัวเลียนแบบสัตว์ชนิดอื่นได้อย่างหลากหลาย เช่น ปลาลิ้นหมา หรืองูสมิงทะเล[7] [9] รวมถึงการพ่นหมึก ซึ่งเป็นสารประกอบเมลามีนและสารเคมีอื่น ๆ ออกมาเหมือนกับหมึกทั่วไป หมึกของหมึกสายนั้นจะพ่นในลักษณะที่แตกต่างไปจากหมึกกล้วย กล่าวคือ หมึกสายจะพ่นหมึกในลักษณะแบบม่านบังตาเพื่อไม่ให้ศัตรูเห็น แล้วหมึกสายก็จะพุ่งตัวหนีไปหลบซ่อนในโพรง แต่กับหมึกกล้วยซึ่งเป็นหมึกที่ว่ายน้ำอยู่กลางน้ำได้อย่างรวดเร็ว หมึกกล้วยจะพ่นหมึกออกมาในลักษณะของกลุ่มหมึก และซ่อนตัวเองในกลุ่มหมึกนั้น เพราะไม่สามารถหาที่หลบได้เหมือนหมึกสาย[6]

วงจรชีวิตและพฤติกรรม

[แก้]
รูปหมึกสายบนภาชนะดินเผาของอารยธรรมกรีกโบราณ

หมึกสาย เป็นสัตว์ที่มีความฉลาดมาก จนเชื่อได้ว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีความเฉลียวฉลาดที่สุดในโลก จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า หมึกสายสามารถที่จะเรียนรู้การเปิดฝาขวดเพื่อจับอาหารได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมมาจากการเรียนรู้มิใช่สัญชาตญาณ รวมถึงสามารถจดจำช่องทางที่จะหลบหนีออกจากที่คุมขังได้ด้วย นอกจากนี้แล้ว ชาวประมงที่จับหมึกสายมาอย่างยาวนานยังรายงานว่า หมึกสายยังมุดเข้าไปในกรงที่เขาวางล่อเพื่อจับเหยื่อกินเป็นอาหารในหลาย ๆ กรง โดยใช้หนวดหนีบชิ้นปลาซาร์ดีนติดตัวไปหลายชิ้น ก่อนที่จะเข้าไปกินอย่างสบายอารมณ์ในกรง ๆ หนึ่ง อีกทั้งหมึกสายในธรรมชาติ ยังเรียนรู้ที่จะมุดเข้าไปในกรงจับล็อบสเตอร์หรือกุ้งมังกรเพื่อที่จะจับกินเป็นอาหารได้ด้วย แม้ล็อบสเตอร์จะหาทางออกไม่ได้ แต่หมึกสายสามารถที่จะมุดหนีออกมาได้อย่างไม่มีปัญหา [7]

หมึกสาย เป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้น บางชนิดมีอายุแค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี บางชนิดที่มีขนาดใหญ่อาจมีช่วงอายุถึง 5 ปี การตายของหมึกสายส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว หมึกสายตัวผู้จะตายลง ขณะที่หมึกสายตัวเมียจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกราว 6 เดือน เพื่อดูแลไข่ โดยหมึกสายตัวเมียจะเป็นฝ่ายดูแลไข่ที่วางเรียงตัวไว้ในโพรงหรือผนังถ้ำ โดยที่จะใช้หนวดพัดพาน้ำให้ไหลผ่านเพื่อรับออกซิเจนด้วย ตลอดระยะเวลานี้ หมึกสายตัวเมียจะไม่กินอาหารเลย และจะไม่อยู่ห่างจากไข่ จนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัว หมึกสายตัวเมียก็จะตายลง[7]

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

[แก้]

หมึกสาย เป็นหมึกที่มนุษย์ผูกพันและใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ ด้วยการบริโภคเป็นอาหารเช่นเดียวกับหมึกหรือหอยประเภทอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปใต้ เช่น กรีซ ที่นั่นจะมีการออกจับหมึกสาย ด้วยการใช้ภาชนะดินเผาคล้ายหม้อทิ้งลงไปในพื้นทะเล ก่อนที่จะกลับมากว้านขึ้นมา หมึกสายก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น หากหมึกสายไม่ยอมออกมาก็จะมีวิธีไล่ด้วยการใช้น้ำเกลือเข้มข้นสาดเข้าไป จนกระทั่งในอารยธรรมกรีกโบราณ มีภาพจิตรกรรมบนภาชนะดินเผาชนิดต่าง ๆ ปรากฏเป็นรูปหมึกสายอยู่เป็นจำนวนมาก[10] ในขณะที่น่านน้ำไทยมีหมึกสายอยู่ประมาณ 7 ชนิด ได้แก่ Amphioctopus aegina, A. marginatus, A. membranaceus, A. exannulatus, Callistoctopus ornatus, Cistopus indicus, และOctopus cyanea[3] ชาวประมงที่จังหวัดเพชรบุรี มีวิธีการตกหมึกสายด้วยภูมิปัญญาที่คิดขึ้นเอง ซึ่งจะจับได้ดีโดยเฉพาะในยามที่ทะเลมีคลื่นลมแรง ด้วยการใช้เปลือกหอยสังข์ร้อยต่อกันให้ยาวแล้วผูกด้วยเชือก ใช้เวลาจับ 1 คืน อันเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อผ่านกันมารุ่นต่อรุ่น[11]

หมึกสาย ยังเป็นหมึกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาบริโภคกันแบบซูชิของอาหารญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า "ทะโกะ" หรือ "ดะโกะ" (ญี่ปุ่น: タコ, だこ; และในหมึกสายขนาดเล็กเรียกว่า "ไอดะโกะ"; あいだこ ส่วนหมึกสายขนาดใหญ่เรียก "ไมดะโกะ"; まいだこ[12]) เช่นเดียวกับอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ โดยมักจะผ่านการแล่ให้เป็นชิ้นที่บางขึ้น โดยเฉพาะส่วนหนวด จนกลายเป็นอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง มีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ มีทั้งการแช่แข็งและบริโภคสด[13]

ในปี ค.ศ. 2017 นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยซองคยูนกวาน ประเทศเกาหลีใต้ ได้ประดิษฐ์แผ่นกาวที่เลียนแบบปุ่มดูดของหนวดหมึกสาย จากการสังเกตเฝ้าพฤติกรรมของหมึกสายเป็นเวลา 2 ปี ผลที่ได้ คือ แผ่นกาวที่ประดิษฐ์จากแผ่นโพลิเมอร์ที่มีความเหนียวและแรงยึดเกาะสูงมาก สามารถยึดเกาะวัสดุต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีทั้ง ซิลิคอน, แก้ว, วัตถุที่มีพื้นผิวชุ่มชื้น, วัตถุที่อยู่ในน้ำ หรือเปื้อนน้ำมันได้ และยังสามารถดูดวัตถุที่อยู่ในน้ำที่มีน้ำหนักมากถึง 400 กรัมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 10,000 ครั้ง ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปเพื่อใช้ในวงการแพทย์สำหรับเป็นเทปกาวปิดแผลที่ไม่มีผลระคายเคืองผิวหนังมนุษย์ [14]

นอกจากนี้แล้วในวัฒนธรรมร่วมสมัย หมึกสายยังเป็นหมึกประเภทที่มักปรากฏตัวในรูปลักษณ์ของสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ที่จู่โจมมนุษย์ เช่น นวนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อาทิ Twenty Thousand Leagues Under the Sea ของ ฌูล แวร์น เป็นต้น[7]

การจำแนก

[แก้]
ภาพเคลื่อนไหวของหมึกสายธรรมดา
หมึกสายธรรมดาในภาชนะดินเผา

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. "Octopoda". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. Helsinki.fi, Mikko's Phylogeny Archive: Coleoidea – Recent cephalopods
  3. 3.0 3.1 3.2 "Octopus : หมึกยักษ์/หมึกสาย". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 30 June 2016.[ลิงก์เสีย]
  4. Oktapous, Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, at Perseus
  5. ชื่อวิทยาศาสตร์ จากภาษากรีกโบราณ ὀκτώποδ-, ὀκτώπους (หรือ ὀκτάποδ- ὀκτάπους) "แปดเท้า" > ὀκτώ- or ὀκτά- [รวมกันหมายถึง ὀκτώ "แปด"] และ πόδ-, πούς "เท้า". Cf. ภาษากรีกสมัยใหม่ χταπόδι < οκταπόδι < οκταπόδιον < ὀκτάπους.
  6. 6.0 6.1 6.2 การพัฒนา, "มหัศจรรย์พันธุ์ลึก". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Deep Sea Aliens, "Animal Planet Showcase". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 16 มีนาคม 2556
  8. หน้า 66–89, ความงามใต้โลกน้ำแข็ง โดย โลรอง บาเลสตา. นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย: ฉบับที่ 192 กรกฎาคม 2560
  9. The Mimic Octopus, "Nick Baker's Weird Creatures". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556
  10. C. Michael Hogan. 2007 Knossos fieldnotes, The Modern Antiquarian
  11. การตกปลาหมึกสาย
  12. "Iron Chef Thailand เชฟกระทะเหล็ก 11 มิ.ย.57 ปลาหมึกยักษ์ 1/6". ช่อง 7. 11 June 2014. สืบค้นเมื่อ 12 June 2014.
  13. "จากคู่ค้าสู่คู่คิด". นิตยสารผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-03-16.
  14. หน้า 7 โลกาวิภัฒน์ GLOBALIZATION, พัฒนาแผ่นกาวติดหนึบ ดั่งหนวดปลาหมึกยักษ์. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21708: วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]