เหตุโจมตีผู้เข้าแถวซื้อขนมปังในแชร์นีฮิว
เหตุโจมตีผู้เข้าแถวซื้อขนมปังในแชร์นีฮิว | |
---|---|
เป็นส่วนหนึ่งของ การล้อมแชร์นีฮิว | |
พลเรือนที่เสียชีวิตจากการถูกโจมตี | |
สถานที่ | แชร์นีฮิว ยูเครน |
พิกัด | 51°31′10″N 31°19′36″E / 51.51954°N 31.32665°E |
วันที่ | 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ประมาณ 09:00 น.[1] (UTC+2) |
เป้าหมาย | พลเรือน |
ตาย | 14 คน[2] |
ผู้ก่อเหตุ | กองทัพรัสเซีย |
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย กองทัพรัสเซียได้ยิงโจมตีและสังหารพลเรือนที่กำลังเข้าแถวรอซื้อขนมปังข้างซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองแชร์นีฮิว แคว้นแชร์นีฮิว ทางภาคเหนือของประเทศยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 14 คน[2][3] การยิงโจมตีของรัสเซียในเวลาไล่เลี่ยกันยังส่งผลให้พลเรือนที่อาศัยอยู่ในละแวกซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้นเสียชีวิตอีกอย่างน้อย 3 คน[4]
ภูมิหลัง
[แก้]เมืองแชร์นีฮิวของยูเครนถูกกองกำลังรัสเซียโจมตีมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (ซึ่งเป็นวันที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน)[5] การสู้รบบริเวณเมืองนี้ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก ในวันที่ 3 มีนาคม การโจมตีทางอากาศของรัสเซียคร่าชีวิตชาวเมืองไป 47 คน[6] จากนั้นเมืองนี้ก็ถูกรัสเซียปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม[7] ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม เมื่อกองกำลังยูเครนสามารถตีฝ่าวงล้อมของรัสเซียออกไปได้[8]
ในช่วงที่เมืองแชร์นีฮิวถูกปิดล้อมและถูกกระหน่ำยิง ในเมืองไม่มีไฟฟ้าหรือการสื่อสารที่เสถียร ชาวเมืองไม่มีอาหารเพียงพอและต้องเสี่ยงชีวิตออกไปต่อแถวซื้ออาหารมากักตุน[9] ในเวลานั้นร้านค้าส่วนใหญ่ขาดแคลนสินค้าประเภทอาหาร แต่มีข่าวลือในหมู่ผู้อยู่อาศัยย่านถนนดอตแซนกอ ถนนปูคอว์ และถนนกอสมอเนาติวว่าในวันที่ 16 มีนาคม ซูเปอร์มาร์เก็ตซอยุซ (อาคารเลขที่ 19 ถนนดอตแซนกา) จะเริ่มนำขนมปังมาขายตั้งแต่เวลา 10:00 น. ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงออกไปต่อแถวรอที่ซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าวตั้งแต่เวลาประมาณ 07:30 น.[4] แถวหนึ่งมีคนประมาณ 40 คน อยู่ที่ทางเข้าหลักของซูเปอร์มาร์เก็ต อีกแถวหนึ่งมีคนประมาณ 50 คน อยู่ที่ทางเข้าด้านข้างของซูเปอร์มาร์เก็ต[4]
ภาพจากดาวเทียมที่ถ่ายในวันเกิดเหตุแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านี้ไม่มีร่องรอยของหน่วยทหารหรือยุทโธปกรณ์ใด ๆ ในย่านเกิดเหตุ[4]
การโจมตี
[แก้]วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
วิดีโอแสดงผลจากการโจมตี |
เมื่อเวลาประมาณ 08:50–09:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (UTC+2) จรวดปืนใหญ่จากระบบยิงหลายลำกล้องเบเอม-21 กราด ของรัสเซีย[10] ได้พุ่งชนต้นไม้ข้างผนังอาคารเลขที่ 25 ถนนดอตแซนกอ[4] เศษจรวดทะลุผนังห้องอยู่อาศัยเลขที่ 1 ของอาคารหลังนั้น ก่อให้เกิดไฟไหม้ซึ่งทำให้หญิงเจ้าของห้องถูกไฟคลอกเสียชีวิต ในขณะที่หญิงอีกคนที่อาศัยอยู่บนชั้น 4 ของอาคารเดียวกันสำลักควันเสียชีวิต[1][10] อีกประมาณ 90 วินาทีต่อมา จรวดอีกลูกก็พุ่งใส่ผู้คนที่กำลังต่อแถวรอซื้อขนมปังข้างซูเปอร์มาร์เก็ตซอยุซ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน[4] จากนั้นจรวดอีกหลายลูกก็พุ่งใส่อาคารที่อยู่อาศัยอีกหลายหลังในละแวกนั้น ส่งผลให้ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในห้องเลขที่ 20 ของอาคารเลขที่ 132 ถนนปูคอว์ เสียชีวิตอีก 1 คน[4]
จุดที่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมากที่สุดจากการโจมตีดังกล่าวข้างต้นคือบริเวณทางเข้าด้านข้างของซูเปอร์มาร์เก็ตซอยุซ เนื่องจากเป็นจุดที่มีผู้คนมารวมตัวกันมากที่สุดและอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ผู้คนจึงได้รับผลกระทบจากจรวดปืนใหญ่โดยตรง ตำรวจเมืองแชร์นีฮิวนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล[11] เหยื่ออีกคนหนึ่งไม่ได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แต่ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา[4] ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน ฮิวแมนไรตส์วอตช์ (ซึ่งอ้างอิงหน่วยงานท้องถิ่น) รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน และบาดเจ็บอีก 26 คน จากเหตุโจมตีละแวกซูเปอร์มาร์เก็ตซอยุซในเช้าวันที่ 16 มีนาคม[1]
ปฏิกิริยา
[แก้]ภายในวันเดียวกันหลังเกิดเหตุ สำนักงานอัยการแคว้นแชร์นีฮิวได้ยื่นฟ้องคดีอาญาว่าด้วยการโจมตีดังกล่าว หน่วยความมั่นคงยูเครนสาขาแคว้นแชร์นีฮิวก็เริ่มดำเนินการสอบสวนเช่นกัน[12]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ซูเปอร์มาร์เก็ตซอยุซ (ใกล้จุดเกิดเหตุ) ใน พ.ศ. 2557
-
คราบเลือดของเหยื่อที่อาคารหลังหนึ่งในละแวกซูเปอร์มาร์เก็ต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "Украина: В Чернигове в результате действий российских войск погибли десятки мирных жителей". Human Rights Watch. 2022-06-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-13.
- ↑ 2.0 2.1 "Ворог накрив артилерією Чернігів, серед загиблих - американець" (ภาษายูเครน). Ukrinform. 17 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2022. สืบค้นเมื่อ 18 March 2022.
- ↑ Суспільне (2022-03-17). "Кількість загиблих у черзі за хлібом у Чернігові зросла до 14, - Сергій Василина". Суспільне | Новини (ภาษายูเครน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-29. สืบค้นเมื่อ 2022-03-29.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 "Who's next in the dead line? Finding responsible for killing people queueing for a bread in Chernigiv" (ภาษาอังกฤษ). Truth Hounds. 19 October 2022. สืบค้นเมื่อ 22 March 2023.
- ↑ "ЗСУ "підсмажили" техніку окупантів під Черніговом" [The Armed Forces of Ukraine "roasted" the equipment of the occupiers near Chernihiv]. Gazeta.ua (ภาษายูเครน). Hazeta po-ukrayinsʹky (Newspaper in Ukrainian). 25 February 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2022. สืบค้นเมื่อ 25 February 2022.
У полон Збройних сил України здалися гвардії капітан Міхоєв і єфрейтор Касаткін. [Captain Mikhoyev and Corporal Kasatkin surrendered to the Armed Forces of Ukraine.]
- ↑ "Death toll from Russian air strikes on Chernihiv city rises to 47, local authorities say". Reuters. March 4, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 6, 2022. สืบค้นเมื่อ March 9, 2022.
- ↑ Kaufman, Ellie (10 March 2022). "Russian forces have moved about 3 miles closer to Kyiv and Chernihiv is now "isolated," US defense official says". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2022. สืบค้นเมื่อ 11 March 2022.
- ↑ Axe, David (31 March 2022). "Ukraine's Best Tank Brigade Has Won The Battle For Chernihiv". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2022. สืบค้นเมื่อ 3 April 2022.
- ↑ "«Відкриваю очі: люди лежать»: розповідають ті, хто вижив після обстрілу черги за хлібом" (ภาษายูเครน). Медійна ініціатива за права людини. 2022-06-06.
- ↑ 10.0 10.1 "«Відкриваю очі: люди лежать»: розповідають ті, хто вижив після обстрілу черги за хлібом". Медійна ініціатива за права людини. 2022-06-06.
- ↑ Romanenko, Valentina (17 March 2022). "Нові обстріли Чернігова: є жертви і поранені, серед загиблих - громадянин США". Ukrayinska Pravda (ภาษายูเครน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 March 2022. สืบค้นเมื่อ 18 March 2022.
- ↑ "У Чернігові російські війська обстріляли людей, які стояли в черзі за хлібом: як мінімум 10 загиблих" (ภาษายูเครน). Suspilne. 16 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2022. สืบค้นเมื่อ 17 March 2022.
- ↑ "Київ - особливості харчових закупів під час війни" (ภาษายูเครน). Deutsche Welle. 2022-03-11. สืบค้นเมื่อ 11 March 2022.
- ↑ "Полиці більше не пусті. Як працюють українські аптеки та магазини під час війни" (ภาษายูเครน). Економічна правда. 2022-03-31. สืบค้นเมื่อ 31 March 2022.