เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4
เจ้าจอมมารดากลิ่น | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2378[1] |
ถึงแก่อสัญกรรม | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 (91 ปี) |
บุตร | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ |
บิดา | พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) |
เจ้าจอมมารดากลิ่น[1] หรือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น (บางแห่งสะกดว่า ส้อนกลิ่น)[2] (สกุลเดิม คชเสนี; เกิด: พ.ศ. 2378 — ถึงแก่อสัญกรรม: 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) พระสนมเอก[1]ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุลกฤดากร
ประวัติ
[แก้]พื้นเพเดิม
[แก้]เจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นธิดาพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ขุนนางเชื้อสายมอญ[1] ซึ่งบิดาเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี)[2] ส่วนทวดของเจ้าจอมมารดากลิ่นคือ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) หรือ พระยาเจ่ง อดีตเจ้าเมืองเตรินที่คับข้องใจจากการกดขี่ของพม่าและได้อพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยาม เป็นต้นสกุลคชเสนี[3] และมีลูกหลานรับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบมา โดยตระกูลได้เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง)[4] เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]
พระสนม
[แก้]พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ถวายตัวเข้ารับราชการในมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับบรรดาศักดิ์และเป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์[4] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ถวายตัวธิดาคือ กลิ่น หรือ ซ่อนกลิ่น เข้ารับราชการฝ่ายใน และได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ประสูติ: 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2398 — สิ้นพระชนม์: 10 สิงหาคม พ.ศ. 2468) ต้นราชสกุล “กฤดากร ณ อยุธยา”[2]
แม้ว่าเจ้าจอมมารดากลิ่นจะเป็นพระสนมเอก[1] และไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องความสนิทเสน่หากับพระราชสวามีมากนัก แต่จากหลักฐานงานบันทึกของแอนนา ลีโอโนเวนส์ได้กล่าวว่า "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นไม่ใคร่จะเป็นที่โปรดปรานนัก เนื่องจากทรงระแวงญาติพี่น้องที่มีเชื้อสายมอญว่าจะไม่ซื่อสัตย์ภักดีต่อแผ่นดินไทย"[6] ถึงกับเคยลงโทษเจ้าจอมมารดากลิ่น เมื่อครั้งเจ้าจอมมารดากลิ่นทูลขอให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงแต่งตั้งพี่ชายของเจ้าจอมมารดากลิ่นเป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์แทนเจ้าเมืองคนก่อนที่เสียชีวิต ทั้งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งบุคคลอื่นไปแล้วก่อนหน้า เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงถูกระวางโทษด้วยข้อหาบ่อนทำลายพระราชอำนาจด้วยการจำขัง เมื่อแอนนา ลีโอโนเวนส์ทราบเรื่อง เธอจึงไปขอร้องสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ช่วยกราบทูลพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้าจอมมารดากลิ่น ซึ่งปรากฏในจดหมายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ส่งถึงนางลีโอโนเวนส์ว่า "ป.ล. 2 ฉันขอแจ้งให้เธอทราบว่าฉันได้ให้อภัยโทษแก่ คุณกลิ่น นักเรียนของเธอ ตามคำขอร้องของสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว"[5]
ปัจฉิมวัย
[แก้]ท่านมีความเคร่งครัดมากในอัตลักษณ์ความเป็นมอญ ซึ่งในวังกรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ก็ใช้ภาษามอญ กินอาหารมอญ รวมทั้งกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์เองก็ทรงเจาะหูตามธรรมเนียมมอญ[4] กล่าวกันว่าเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ไปถวายงานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และได้ถ่ายทอดการทำข้าวแช่ซึ่งเป็นอาหารมอญแก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีและในราชสำนัก[7] นอกจากนี้เจ้าจอมมารดากลิ่นยังเป็นผู้มีความเมตตา ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่า ความว่า "...เมื่อ พ.ศ. 2466 มารดาของข้าพเจ้าถึงอสัญกรรม วันหนึ่งกรมพระนเรศวรฤทธิ์เสด็จมาเยี่ยมด้วยกันกับเจ้าจอมมารดากลิ่น เมื่อนั่งอยู่ด้วยกันหน้าศพ คุณจอมมารดากลิ่นเห็นข้าพเจ้าเศร้าโศก ท่านสงสารออกปากว่า 'เสด็จต้องเป็นกำพร้า ฉันจะรับเป็นแม่แทนแม่ชุ่มจะโปรดหรือไม่' ข้าพเจ้าได้ฟังท่านแสดงความกรุณาเช่นนั้นจับใจ ก็กราบเรียนในทันทีว่า 'ดี ฉันขอเป็นลูกคุณแม่ต่อไป' แต่วันนั้นมาคุณจอมมารดากลิ่นท่านก็แสดงความเมตตาปรานีอุปการะข้าพเจ้าเหมือนเช่นเป็นบุตรของท่าน ฝ่ายข้าพเจ้าก็ปฏิบัติบูชาท่านมาเหมือนเช่นเป็นมารดา"[8]
เจ้าจอมมารดากลิ่นถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สิริอายุ 91 ปี[9]พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2469[1]
ความสนใจ
[แก้]เจ้าจอมมารดากลิ่น ปรากฏอยู่ในงานเขียนของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยาม โดยงานเขียนของลีโอโนเวนส์ได้ให้มุมมองในตัวของเจ้าจอมมารดากลิ่นที่แตกต่างออกไปจากเจ้าจอมท่านอื่น เป็นต้นว่า มีความสนใจการเรียนภาษาอังกฤษกับแหม่มแอนนามาก นางลีโอโนเวนส์ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษของเจ้าจอมมารดากลิ่นว่า "...เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นศิษย์ที่มีความขยันหมั่นเพียรและมาเรียนเสมอมิได้ขาด ผิดกับผู้หญิงอื่น ๆ ที่เรียนบ้างหยุดบ้าง..."[6][4] กล่าวกันว่านางลีโอโนเวนส์ได้ให้หนังสือ Uncle Tom’s Cabin (หรือ กระท่อมน้อยของลุงทอม) สำหรับอ่านเป็นการบ้าน แต่ด้วยวิริยะอุตสาหะ เจ้าจอมมารดากลิ่นก็สามารถแปลเรื่องดังกล่าวได้อย่างแตกฉาน (ซึ่งอาจจะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยหรือมอญก็เป็นได้)[4] นางลีโอโนเวนส์ได้กล่าวไว้ว่า "เวลาพูดถึงบุคคลในเรื่องนี้ [กระท่อมน้อยของลุงทอม] เธอจะเอ่ยราวกับว่าเป็นผู้คุ้นเคยของเธอมานานปีแล้วฉะนั้น"[4]
และอิทธิพลจากนวนิยายดังกล่าว[2] ราวปี พ.ศ. 2410[4] เจ้าจอมมารดากลิ่นก็ทำการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระดั่งมิสซิสฮาเรียต ส่วนทาสที่ยังขอรับใช้นั้น ท่านก็ให้เงินเดือนเดือนละ 4 บาท รวมทั้งเสื้อผ้าและอาหารด้วย[6] เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นจึงเป็นบุคคลแรก ๆ ในสยามที่เลิกทาสก่อนมีกฎหมายอย่างเป็นทางการนานหลายปี[4] เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นกล่าวต่อแอนนาด้วยน้ำเสียงกังวานในงานเลี้ยง ปีสุดท้ายก่อนที่แอนนาจะเดินทางออกจากสยาม ว่า “ฉันอยากเป็นคนดีเหมือนแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ฉันจะไม่ซื้อขายทาสอีกต่อไป แต่จะปล่อยให้เขาเป็นอิสระตลอดไป ฉะนั้นนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันไม่มีทาสอีกแล้ว แต่จะจ้างคนรับใช้และให้อิสระแก่ทุกคนที่รับใช้ฉัน ใครจะอยู่กับฉันหรือจะไปไหนก็ได้ ถ้าจะกลับบ้านฉันก็ดีใจด้วย นี่คือสัญญาปลดปล่อยทาสที่ฉันจะให้ทุกคนไป ทุกคนเป็นอิสระแล้ว ถ้าใครจะยังอยู่ต่อไป ฉันก็ยินดีรับและจะให้เงินเดือน ๆ ละสี่บาทพร้อมทั้งเสื้อผ้าและอาหาร”
ในส่วนความศรัทธามั่นคงในพระบวรพุทธศาสนาของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นนั้น นอกจากปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังมีจิตศรัทธาสละทรัพย์ส่วนตัวสร้างพระอารามขึ้นที่ตำบลทับยาว อำเภอลาดกระบัง ซึ่งเป็นถิ่นที่มีชาวรามัญตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่มากชื่อว่า วัดสุทธาโภชน์[8] ท่านอุปถัมภ์วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี โดยได้สร้างหอรับพระ หอสวดมนต์ รวมถึงได้ร่วมกับพระครูรามัญญาธิบดี เจ้าอาวาสวัดคงคาราม บูรณะวัดเกาะ จังหวัดราชบุรี ท่านได้ร่วมกับพระนิโครธาภิโยค เจ้าเมืองไทรโยค สร้างวัดดอนกระเบื้อง จังหวัดราชบุรี โดยท่านเคยมาประทับดูการก่อสร้างวัดโดยการนั่งเกวียนมาจากวัดคงคาราม[10]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน (ท.จ.ว.)[11]
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 3 (ม.ป.ร.3)[12]
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3)[13]
อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่น
[แก้]อนุสารีย์เจ้าจอมมารดากลิ่น ตั้งอยู่ภายใต้ซุ้มบุษบกหน้าโบสถ์วัดสุทธาโภชน์ เป็นรูปหินอ่อนกว้าง 36.5 เซนติเมตร สูง 64.5 เซนติเมตร ในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ราชสกุลวงศ์" (PDF). กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 300-301
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ:มติชน. 2550, หน้า 42
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (11 มิถุนายน 2551). "มองผ่าน "กระท่อมน้อยของลุงทอม" ถึง"แหม่มแอนนา" สู่ "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น" และการปฏิรูประบบทาสในสยาม". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 ปรามินทร์ เครือทอง (3 มีนาคม 2560). "จดหมาย "คิงมงกุฎ" ถึงแอนนา เปลี่ยนจาก TO เป็น DEAR และคดีเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน. 2550, หน้า 44
- ↑ ""ข้าวแช่" อาหารมอญ-ของติดสินบนเทวดาเพื่อขอพรให้ได้ลูก ก่อนมาเป็นอาหารชาววัง". ศิลปวัฒนธรรม. 12 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 8.0 8.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน. 2550, หน้า 45
- ↑ ข่าวอสัญญกรรม
- ↑ สิโรตม์ ภินันท์รัชต์ธร. "ศิลปกรรมของชาวมอญสมัยรัตนโกสินทร์ในภาคกลางของประเทศไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 53.
- ↑ "วันที่ ๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28: 1797. 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 21 (32): 570. 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (40): 1179. 3 มกราคม พ.ศ. 2451.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)