เกษตรกรรมในประเทศไทย
เกษตรกรรมในประเทศไทย มีลักษณะแข่งขันสูง หลากหลายและเด่นจัด การส่งออกของไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในระดับนานาชาติ ข้าวเจ้าเป็นพืชผลสำคัญที่สุดของประเทศ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังตลาดข้าวโลก โภคภัณฑ์การเกษตรอื่นมีทั้งปลาและผลิตภัณฑ์ปลา มันสำปะหลัง ยาง ธัญพืชและน้ำตาล การส่งออกอาหารแปรรูปทางอุตสาหกรรม เช่น ทูน่ากระป๋อง สับปะรด และกุ้งแช่แข็งกำลังมีเพิ่มขึ้น
ประวัติศาสตร์
[แก้]เกษตรกรรมในประเทศไทยอาจสืบย้อนไปได้ผ่านแง่ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสังคม ซึ่งได้ก่อให้เกิดการเข้าถึงเกษตรกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยสมัยใหม่ หลังการปฏิวัติยุคหินใหม่ สังคมในพื้นที่ได้วิวัฒนาจากการล่าสัตว์และหาของป่า ผ่านระยะนครเกษตร ไปเป็นจักรวรรดิรัฐศาสนา การอพยพเข้ามาของคนไทยนำไปสู่การเข้าถึงเกษตรกรรมแบบยั่งยืนอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการประกอบกิจเกษตรกรรมอื่นส่วนมากของโลก
นับตั้งแต่ พ.ศ. 1543 วัฒนธรรมการผลิตข้าวเหนียวของชาวไทเป็นตัวกำหนดโครงสร้างการบริหารในสังคมที่เน้นการปฏิบัติซึ่งผลิตส่วนเกินที่สามารถจำหน่ายได้ จวบจนถึงปัจจุบัน ระบบดังกล่าวได้รวมเป็นหนึ่งกับความมั่นคงของชาติและความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ อิทธิพลของชาวจีนและชาวยุโรปก่อให้เกิดธุรกิจการเกษตรและเริ่มต้นความต้องการที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเกษตรกรรมผ่านการเพิ่มจำนวนของประชากรจนกระทั่งดินแดนที่เข้าถึงได้ขยายออก
พัฒนาการล่าสุดในทางเกษตรกรรม หมายความว่า นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 การว่างงานได้ลดลงจากกว่า 60% เหลือต่ำกว่า 10% ในต้นคริสต์ทศวรรษ 2000[1] ในสมัยเดียวกัน ราคาอาหารลดลงครึ่งหนึ่ง ความหิวโหยลดลง (จาก 2.55 ล้านครัวเรือนใน พ.ศ. 2531 เหลือ 418,000 ครัวเรือนใน พ.ศ. 2550)[1] และทุพภิกขภัยเด็กลดลงอย่างมาก (จาก 17% ใน พ.ศ. 2530 เหลือ 7% ใน พ.ศ. 2549)[1] ซึ่งสามารถบรรลุได้
- (ก) ผ่านการผสมระหว่างบทบาทอันเข้มแข็งและเชิงบวกของรัฐในการประกันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและการเข้าถึงเครดิต และ
- (ข) การริเริ่มภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในภาคธุรกิจเกษตร[1]
เหล่านี้ได้สนับสนุนให้ไทยเปลี่ยนผ่านเป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมได้สำเร็จ[1]
เกษตรกรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน
[แก้]เกษตรกรรมสามารถขยายตัวได้ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 เมื่อสามารถเข้าถึงที่ดินใหม่และแรงงานว่างงาน[1] ระหว่าง พ.ศ. 2505 ถึง 2526 ภาคการเกษตรโตขึ้นเฉลี่ย 4.1% ต่อปี และ พ.ศ. 2523 ภาคเกษตรมีถึง 70% ของประชากรทำงาน[1] กระนั้น รัฐยังรับรู้ถึงพัฒนาการในภาคเกษตรว่าจำเป็นต่อการกลายเป็นอุตสาหกรรม (industrialization) และการส่งออกถูกเก็บภาษีเพื่อรักษาราคาภายในประเทศให้ต่ำและเพิ่มรายได้แก่การลงทุนของรัฐในเศรษฐกิจภาคอื่น[1] เมื่อมีการพัฒนาในภาคอื่น แรงงานจึงออกไปแสวงหางานในเศรษฐกิจภาคอื่น และการเกษตรถูกบีบให้ใช้คนน้อยลงและเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น[1] โดยได้รับความสะดวกจากกฎหมายของรัฐซึ่งบังคับให้ธนาคารออกเครดิตราคาถูกให้แก่ภาคเกษตร และได้รับเครดิตของตนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร[1] รัฐยังลงทุนในการศึกษา ชลประทานและถนนชนบทต่อไป[1] ผลคือ การเกษตรเริ่มเติบโตที่ 2.2% ระหว่าง พ.ศ. 2526 และ 2550 แต่ยังเป็นว่าเกษตรกรรมปัจจุบันให้งานคนชนบทเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะเกษตรกรกำลังใช้ประโยชน์จากการลงทุนเพื่อให้มีความหลากหลาย[1]
แม้เกษตรกรรมมีความสำคัญในทางการเงินสัมพัทธ์ถดถอยลงในแง่ของรายได้เทียบกับการที่ประเทศไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมและแผลงเป็นอเมริกัน (Americanization) นับจากคริสต์ทศวรรษ 1960 แต่เกษตรกรรมยังให้ประโยชน์ด้านการจ้างงานและการพึ่งพาตนเอง การสนับสนุนสังคมชนบท และการปกป้องวัฒนธรรม กำลังโลกาภิวัตน์ทางเทคนิคและเศรษฐกิจบีบได้ดำเนินการเปลี่ยนเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมอาหารต่อไป และดังนั้น เกษตรกรผู้ถือครองรายย่อยจึงได้รับความเสี่ยง ธรรมชาติดั้งเดิมและคุณค่ามนุษย์ลดลงอย่างมากในทุกพื้นที่ยกเว้นพื้นที่ยากจน
ธุรกิจเกษตร ทั้งที่รัฐและเอกชนเป็นเจ้าของ ขยายตัวนับจากคริสต์ทศวรรษ 1960 และเกษตรกรยั่งยืนถูกบางส่วนมองว่าเป็นมรดกสืบทอดจากอดีตจากเดิมที่สามารถทำให้ทันสมัยเป็นธุรกิจเกษตรได้ อย่างไรก็ดี ระบบการผลิตผสมผสานเข้มข้นเกษตรยั่งยืนยังให้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจไม่ใช่ทางการเงิน แต่รวมถึงประโยชน์ทางสังคมซึ่งปัจจุบันทำให้เกษตรกรรมถูกปฏิบัติเป็นทั้งภาคสังคมและเศรษฐกิจในการวางแผน ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้น "เกษตรกรอาชีพ" คิดเป็น 19.5% ของเกษตรกรทั้งหมดใน พ.ศ. 2547[1]
ด้านที่เป็นเอกลักษณ์ของเกษตรกรรมไทยมีเทคโนโลยีชลประทานซึ่งมีมากว่าสหัสวรรษ นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างบริหารจัดการซึ่งกำเนิดจากการควบคุมน้ำเพื่อการเกษตร ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตและส่งออกโภคภัณฑ์การเกษตรหลายชนิด และภาคธุรกิจเกษตรของไทยมีหนึ่งในบรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกรวมอยู่ด้วย ยังมีศักยะที่ผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นอีกมากจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ปัจจุบัน
ประเทศไทยเป็นผู้นำโลกในการผลิตและส่งออกข้าว ยาง สับปะรดกระป๋อง และกุ้งกุลาดำ เป็นผู้นำภูมิภาคเอเชียในการส่งออกเนื้อไก่ และโภคภัณฑ์อื่นอีกหลายรายการ และเลี้ยงคนได้มากกว่าสี่เท่าของประชากรทั้งประเทศ ประเทศไทยยังแสวงหาการส่งออกปศุสัตว์เพิ่มขึ้นอีก
ในปี พ.ศ. 2555 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ก่อตั้งขึ้น มีประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนแรกของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีองค์กรที่เกี่ยวกับการเกษตรเพิ่มขึ้น ที่สำคัญได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย และ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มีเกษตรกรไทย จำนวน 25.07 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 38.14 ของประชากรทั้งประเทศ[2]
ปัจจุบันประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกองค์กร Asian Forest Cooperation Organization ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ให้ “ใบเขียว” หรือการถูกระบุว่า เป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
การประกอบอาชีพด้านการเกษตร
[แก้]เกษตรกรรมในประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายด้าน คือ
- การทำนา มีการทำทุกภาค โดยภาคกลางมีการทำนามากที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่ทำนามากที่สุดของประเทศ[3]
- การทำสวนยางพารา พบมากในภาคใต้และจังหวัดจันทบุรี ตลอดจนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวไทย[4] นอกจากนี้ ยังมีการปลูกสวนปาล์มน้ำมันด้วยเช่นกัน
- การทำสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ส้ม สับปะรด แตงโม กล้วย ขนุน มะม่วง ละมุด พุทรา องุ่น น้อยหน่า ลางสาด ส่วนสตรอเบอรี่จะนิยมปลูกในภาคเหนือ[5] เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว
- การทำพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย ปอ ฝ้าย นุ่น ละหุ่ง มะพร้าว มันสำปะหลัง ยาสูบ พริกไทย ตาล ถั่วต่าง ๆ
- การเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร โค กระบือ เป็ด ไก่ ห่าน ไหม ช้าง ม้า ลา ล่อ ภายหลังได้มีการนำแกะและแพะเข้ามาเลี้ยง[6] ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแกะเนื้อ และยังมีการเลี้ยงจระเข้เพื่อการค้าอีกด้วย[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 Henri Leturque and Steve Wiggins 2010. Thailand's progress in agriculture: Transition and sustained productivity growth เก็บถาวร 2011-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. London: Overseas Development Institute
- ↑ "Thailand's progress in agriculture: Transition and sustained productivity growth" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-09-20. สืบค้นเมื่อ 2018-12-13.
- ↑ วรทัศน์ วัชรวสี. (2533). ประชาชาติอาเซียน. โอ.เอส.พรินติ้ง เฮ้าส์. หน้า 148.
- ↑ วรทัศน์ วัชรวสี. (2533). ประชาชาติอาเซียน. โอ.เอส.พรินติ้ง เฮ้าส์. หน้า 152.
- ↑ เทคโนโลยีชาวบ้าน (2017-04-24). ""สายพันธุ์สตรอเบอรี่ ที่นิยมปลูกเชิงการค้า"". เทคโนโลยีชาวบ้าน.
- ↑ ท้ายทุ่ง, ทุยโทน (2016-10-23). "เลี้ยงแกะเนื้อ อนาคตสดใส สัตว์เศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อย จับขายได้เร็ว". มติชนออนไลน์.
- ↑ สดคมขำ, สุรเดช (2022-01-13). "เลี้ยงจระเข้ แบบครบวงจร เป็นอาชีพทำเงิน ของ อดิศัย ว่องไวไพโรจน์ ที่กาญจนบุรี". เทคโนโลยีชาวบ้าน.
บรรณานุกรม
[แก้]- Lindsay Falvey, (2000). Thai Agriculture, Golden Cradle of Millennia เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Kasetsart University Press. ISBN 974-553-816-7.
ดูเพิ่ม
[แก้]