อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น
อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น | |
---|---|
ที่ตั้ง | อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี |
พิกัด | 12°55′23.2″N 101°45′2.9″E / 12.923111°N 101.750806°E |
พื้นที่ | 118.14 ตารางกิโลเมตร (73,836.60 ไร่)[1] |
จัดตั้ง | 26 ธันวาคม 2552 |
ผู้เยี่ยมชม | 5,065 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559) |
หน่วยราชการ | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ครอบคลุมพื้นที่ป่าขุนซ่อง ป่าจันตาแป๊ะ และป่าเขาวังแจงในท้องที่ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
[แก้]สภาพภูมิประเทศของป่าขุนซ่องนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลูกคลื่นลอนลาด ซึ่งจัดเป็นที่ราบต่ำที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่เป็นภูเขาสูงติดต่อกันเป็นเทือกยาวลงมาจากเหนือจดใต้ ทางด้านตะวันออกเป็นแนวขนานขยายถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว มียอดเขาสูงสุด คือ ยอดเขาสิบห้าชั้น มีความสูง 802 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในตอนกลางของพื้นที่จะมีภูเขาลูกต่ำๆ คือ เขาสะท้อน ทางตอนใต้ของพื้นที่มีเขาสะบ้า ด้านทิศเหนือติดต่อเข้าไปเป็นผืนป่าเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ตลอดผืนป่าแห่งนี้จะมีลำคลองหลายสาย คลองที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ คือ คลองโตนด จัดเป็นคลองที่กว้างและลึก มีความยาวเกือบตลอดพื้นที่จากด้านทิศเหนือไหลมาออกทางด้านทิศตะวันตก มีน้ำไหลปริมาณมาก ทางด้านทิศเหนือจะมีคลองทราย นอกจากนั้นยังมีลำคลองอื่นๆ ที่เป็นลำน้ำที่มาจากคลองโตนด ได้แก่ คลองดินสอ คลองไทร คลองคต คลองอีเกก คลองน้ำเป็น คลองสะบ้า คลองยาง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทย จึงทำให้มีลักษณะของฤดูกาลที่เด่นชัดทั้งสามฤดู คือ
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูกาลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง เดือนที่มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุดคือเดือนมกราคม
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม และเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวที่สุดในรอบปี
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนกลางเดือนตุลาคม เป็นระยะที่มีมรสุดตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตลอดฤดูฝน มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 3,059 มิลลิเมตร เดือนที่มีฝนตกชุกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน
อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส
ทรัพยากรป่าไม้
[แก้]สภาพป่าของป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง เป็นป่าที่เคยผ่านการสัมปทานทำไม้มาแล้ว ซึ่งจากการสำรวจพบชนิดป่าทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
1. ป่าดิบชื้น พบบริเวณที่ลุ่มหุบเขาและเชิงเขา เป็นป่าที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา เนื่องจากมีพรรณไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลายชนิด พืชพื้นล่างได้แก่ ระกำ หวายสกุลต่างๆ และเร่ว
2. ป่าดิบแล้ง ในพื้นที่จะมีป่าดิบแล้งปริมาณน้อยกว่าป่าดิบชื้น พบบริเวณเชิงเขา โครงสร้างของสังคมพืช แบ่งได้เป็น 4 ชั้นคือ ไม้ชั้นบน ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นล่าง และไม้พื้นล่าง
3. ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่พบน้อยมาก พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ กราด กระโดน ส้าน เต็ง พะยอม รัง และแสลงใจ เป็นต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่ หญ้าคา กระเจียว หญ้าคมบาง และหญ้าขจรจบ
ทรัพยากรสัตว์ป่า
[แก้]สัตว์ป่าที่สำคัญในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ได้แก่ ช้าง กวางป่า เก้ง วัวแดง กระทิง เสือ หมี และสัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกกระสาคอขาว ไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ฟ้าหลังขาว เป็นต้น
จุดเด่นน่าสนใจ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
- ↑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.