อาชิกางะ โยชิมาซะ
อาชิกางะ โยชิมาสะ 足利 義政 | |
---|---|
ภาพอาชิกางะ โยชิมาสะ เชื่อว่าเป็นของโทซะ มิตสึโนบุ วาดในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 15) | |
โชกุน | |
ดำรงตำแหน่ง 1449–1474 | |
กษัตริย์ | |
ก่อนหน้า | อาชิกางะ โยชิกัตสึ |
ถัดไป | อาชิกางะ โยชิฮิซะ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 มกราคม ค.ศ. 1436 |
เสียชีวิต | 27 มกราคม ค.ศ. 1490 | (54 ปี)
คู่สมรส | ฮิโนะ โทมิโกะ |
บุพการี |
|
ลายมือชื่อ | |
อาชิกางะ โยชิมาสะ (ญี่ปุ่น: 足利 義政; โรมาจิ: Ashikaga Yoshimasa; 20 มกราคม ค.ศ. 1436 – 27 มกราคม ค.ศ. 1490)[1] เป็นโชกุนคนที่ 8 แห่งตระกูลอาชิกางะ ดำรงตำแหน่งช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1449 ถึง ค.ศ. 1473 ในสมัยของโชกุนโยชิมาซะได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมถอยของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะจากเหตุการณ์สงครามโอนิง
ประวัติ
[แก้]อาชิกางะ โยชิมาซะ เป็นบุตรชายของโชกุนองค์ที่ 6 อาชิกางะ โยชิโนริ (ญี่ปุ่น: 足利 義教; โรมาจิ: Ashikaga Yoshinori) กับมิไดโดะโกะโระ ฮิโนะ ชิเงโกะ (ญี่ปุ่น: 日野 重子; โรมาจิ: Hino Shigeko) มีชื่อในวัยเด็กว่า มิฮารุ (三春).[2] โยชิชิเงะมีพี่ชายคือ อาชิกางะ โยชิกัตสึ (ญี่ปุ่น: 足利 義勝; โรมาจิ: Ashikaga Yoshikatsu) ใน ค.ศ. 1441 เมื่อโยชิชิเงะมีอายุห้าปี โชกุนโยะชิโนะริผู้เป็นบิดาถูกเจ้าครองแคว้นที่ชื่อว่า อากามัตสึ มิตสึซูเกะ (ญี่ปุ่น: 赤松 満祐; โรมาจิ: Akamatsu Mitsusuke) ทำการลอบสังหารถึงแก่อสัญกรรมยามานะ โซเซ็ง (ญี่ปุ่น: 山名 宗全; โรมาจิ: Yamana Sōzen) นำทัพเข้าปราบและสังหารอากามัตสึ มิตสึซูเกะ
ณ วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1443 (วันที่ 21 เดือน 7 ปีคากิตสึที่ 3) โยชิกัตสึ ผู้ดำรงตำแหน่งโชกุนอายุ 10 ปี ปกครองได้เพียงสองปี ก็ประสบอุบัติเหตุตกจากม้าถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1443 โดยไม่มีทายาท อาชิกางะ โยชิชิเงะ ขณะอายุเพียงเจ็ดปีจึงถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อจากพี่ชาย[3] แต่ทว่าโยชิชิเงะยังเยาว์วัยเกินกว่าที่จะรับตำแหน่ง ทำให้ตำแหน่งโชกุนว่างลงเป็นเวลาหกปี ในระหว่างนั้นมี ฮาตาเกยามะ โมจิกูนิ (ญี่ปุ่น: 畠山 持国; โรมาจิ: Hatakeyama Mochikuni) ซึ่งดำรงตำแหน่งคันเร (ญี่ปุ่น: 管領; โรมาจิ: Kanrei) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อโยชิชิเงะอายุสิบสามปีใน ค.ศ. 1449 จึงเข้ารับตำแหน่งโชกุนและเปลี่ยนชื่อเป็น อาชิกางะ โยชิมาซะ[4]
เนื่องจากโชกุนโยะชิมะซะไม่มีบุตรชาย จึงมอบหมายให้น้องชายของตนคืออะชิกะงะ โยะชิมิ (ญี่ปุ่น: 足利 義視; โรมาจิ: Ashikaga Yoshimi) เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุนในค.ศ. 1464 โดยที่อะชิกะงะ โยะชิมิ ได้รับการสนับสนุนจากคังเรโฮะโซะกะวะ คะซึโมะโตะ (ญี่ปุ่น: 細川 勝元; โรมาจิ: Hosokawa Katsumoto) แต่ทว่า มิไดโดะโกะโระฮิโนะ โทะมิโกะ (ญี่ปุ่น: 日野 富子; โรมาจิ: Hino Tomiko) ได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่โชกุนโยะชิมะซะอย่างไม่คาดฝันในค.ศ. 1465 ชื่อว่า อะชิกะงะ โยะชิฮิซะ (ญี่ปุ่น: 足利 義尚; โรมาจิ: Ashikaga Yoshihisa) ทำให้เกิดประเด็นปัญหาการสืบทอดตำแหน่งโชกุน โดยที่ยะมะนะ โซเซ็ง (ญี่ปุ่น: 山名 宗全; โรมาจิ: Yamana Sōzen) พ่อตาและคู่แข่งทางการเมืองของคังเรคะซึโมะโตะได้ใช้โอกาสนี้ให้การสนับสนุนแก่โยะชิฮิซะที่ยังเยาว์วัย จากประเด็นปัญหาการสืบทอดตำแหน่งโชกุนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างซะมุไร ทั้งคังเรคะซึโมะโตะและยะมะนะโซเซ็งต่างซ่องสุมกำลังของตน โดยที่โฮะโวะกะวะตั้งมั่นอยู๋ทางตะวันออกของนครเกียวโต ในขณะที่ยะมะนะตั้งอยู่ทางตะวันตก เรียกว่า สงครามปีโอนิง (ญี่ปุ่น: 応仁の乱; โรมาจิ: Ōnin no Ran) ซึ่งปะทุขึ้นในค.ศ. 1467 เมื่อทัพของทั้งสองฝ่ายเข้าห้ำหั่นกันกลางเมืองเกียวโต สร้างความเสียหายให้แก่วัดวาอารามและศาลเจ้าทั้งหลายในเมืองเกียวโต ในค.ศ. 1473 ทั้งโฮะโซะกะวะ คะซึโมะโตะ และยะมะนะ โซเซ็ง ต่างล้มป่วยเสียชีวิต แม้กระนั้นสงครามยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากโออุชิ มะซะฮิโระ (ญี่ปุ่น: 大内 政弘; โรมาจิ: Ōuchi Masahiro) ยังคงให้การสนับสนุนแก่โยะชิมิ
ใน ค.ศ. 1473 โชกุนโยชิมาซะได้ยกตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายของตนคือ อะชิกะงะ โยะชิฮิซะ โชกุนโยะชิมะซะสละตำแหน่งโชกุน กลายเป็นโอโงะโชะ
หลังจากสู้รบยาวนานสิบปี ทำให้ทั้งสองฝ่ายเหนื่อยล้า และโออุชิ มะซะฮิโระเดินทางออกจากเมืองเกียวโตไปในที่สุดเมื่อค.ศ. 1477 สงครามโอนิงที่ดำเนินยืดเยื้อมากว่าสิบปีจึงสิ้นสุดลง
โอโงะโชะโยะชิมะซะสร้างคฤหาสน์ศาลาเงิน (ญี่ปุ่น: 銀閣; โรมาจิ: Ginkaku) ขึ้นในค.ศ. 1482 บนเขาฮิงะชิยะมะทางตะวันออกของนครเกียวโต เพื่อเป็นที่พำนึกในบั้นปลายชีวิตให้แก่ตนเองเฉกเช่นเดียวกับโชกุน อะชิกะงะ โยะชิมิสึ ซึ่งได้สร้างคฤหาสน์ศาลาทอง สมัยของโชกุนโยะชิมะซะเป็นสมัยแห่งความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมอีกสมัยหนึ่ง เรียกว่า สมัยวัฒนธรรมฮิงะชิยะมะ (ญี่ปุ่น: 東山文化; โรมาจิ: Higashiyama-bunka) ชนชั้นซะมุไรยังคงรับวัฒนธรรมจากจีนราชวงศ์หมิงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาศิลปะด้านการจัดสวน การจัดดอกไม้ ละครโนะ และจิตรกรรมหมึก
หลังจากสงครามปีโอนิง รัฐบาลโชกุนฯตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคังเรและตระกูลโฮะโซะกะวะ หลังจากที่โฮะโซะกะวะ คะซึโมะโตะ เสียชีวิต โฮะโซะกะวะ มะซะโมะโตะ (ญี่ปุ่น: 細川 政元; โรมาจิ: Hosokawa Masamoto) บุตรชายของคะซึโมะโตะ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นคังเรและสืบทอดอำนาจต่อจากบิดา โชกุนโยะชิฮิซะถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1487 โดยปราศจากทายาท โอโงะโชะโยะชิมะซะจึงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโยะชิมิผู้เป็นน้องชาย และให้บุตรชายของโยะชิมิคือ อะชิกะงะ โยะชิตะเนะ (ญี่ปุ่น: 足利 義稙; โรมาจิ: Ashikaga Yoshitane) เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งโชกุน โอโงะโชะโยะชิมะซะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อค.ศ. 1490 โยะชิตะเนะจึงขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนต่อมา
ครอบครัว
[แก้]- บิดา: อาชิกางะ โยชิโนริ
- มารดา: ฮิโนะ ชิเงโกะ (ค.ศ. 1411–1463)
- ภรรยา: ฮิโนะ โทมิโกะ
- นางสนม: โอดาเตะ ซาจิโกะ
- ลูก:
- บุตร (เกิด ค.ศ. 1459) จากโทมิโกะ
- อาชิกางะ โยชิฮิซะ จากโทมิโกะ
- บุตรี (ค.ศ. 1463–1486) จากโทมิโกะ
- โคยามะ มาซาโตชิ (ค.ศ. 1462–1505) พระสงฆ์ที่เคเกียวจิ จากโทมิโกะ
- ยูยามะ ซูโจ (ค.ศ. 1455–1532) ต่อมาคือ โซจิอิน จากซาจิโกะ
- บุตรบุญธรรม:
สมัยบากูฟุของโยชิมาซะ
[แก้]ปีที่โยชิมาซะดำรงตำแหน่งเป็น โชกุน มีชื่อสมัย หรือ เน็งโง มากกว่าหนึ่งชื่อ[5] เลขในวงเล็บคือปีคริสต์ศักราช
- โฮโตกุ (1449–1452)
- เคียวโตกุ (1452–1455)
- โคโช (1455–1457)
- โชโรกุ (1457–1460)
- คันโช (1460–1466)
- บุนโช (1466–1467)
- โอนิน (1467–1469)
- บุนเม (1469–1487)
- โชเกียว (1487–1489)
- เอ็นโตกุ (1489–1492)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Ashikaga Yoshimasa" in The New Encyclopædia Britannica. Chicago: Encyclopædia Britannica Inc., 15th edn., 1992, Vol. 1, p. 625.
- ↑ Titsingh, Isaac. (1834). Annales des empereurs du japon, p. 342., p. 342, ที่กูเกิล หนังสือ
- ↑ Titsingh, p. 342, p. 342, ที่กูเกิล หนังสือ; Screech, Timon. (2006). Secret Memoirs of the Shoguns: Isaac Titsingh and Japan, 1779–1822, p. 234 n.10; n.b., Yoshikatsu (b. 1434 – d. 1443) = 8yrs. In this period, "children were considered one year old at birth and became two the following New Year's Day; and all people advanced a year that day, not on their actual birthday."
- ↑ Titsingh, p. 346., p. 346, ที่กูเกิล หนังสือ
- ↑ Titsingh, pp. 331–361., p. 331, ที่กูเกิล หนังสือ
บรรณานุกรม
[แก้]- Ackroyd, Joyce. (1982) Lessons from History: The Tokushi Yoron. Brisbane: University of Queensland Press. ISBN 9780702214851; OCLC 7574544
- Keene, Donald. (2003). Yoshimasa and the Silver Pavilion: The Creation of the Soul of Japan. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-13056-1; OCLC 52268947
- Titsingh, Isaac. (1834). Nihon Ōdai Ichiran; ou, Annales des empereurs du Japon. Paris: Royal Asiatic Society, Oriental Translation Fund of Great Britain and Ireland. OCLC 585069