ข้ามไปเนื้อหา

อันดับปลาซีกเดียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อันดับปลาซีกเดียว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: พาลีโอซีน-ปัจจุบัน[1]
ปลาลิ้นหมาไม่ทราบชนิด
ภาพวาดในศตวรรษที่ 19 ที่แสดงถึงปลาในอันดับนี้หลายวงศ์ หลายชนิด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Pleuronectiformes
อันดับย่อยและวงศ์
อันดับย่อย Psettodoidei
อันดับย่อย Pleuronectoidei
อันดับย่อย Soleoidei
  • Soleidae (วงศ์ปลาลิ้นหมา)
  • Achiridae (วงศ์ปลาลิ้นหมาอเมริกา)
  • Cynoglossidae (วงศ์ปลายอดม่วง)
ชื่อพ้อง[2]
  • Heterosomata

อันดับปลาซีกเดียว (อังกฤษ: Flatfish) ปลากระดูกแข็งในกลุ่มปลาที่มีก้านครีบ พบได้ทั้งทะเล, น้ำกร่อย และน้ำจืด ในภาษาไทยมักเรียกปลาในอันดับนี้รวม ๆ กัน เช่น "ลิ้นหมา", "ซีกเดียว", "ยอดม่วง", "ลิ้นเสือ", "ลิ้นควาย", "ใบไม้" หรือ "จักรผาน" เป็นต้น โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pleuronectiformes

ลักษณะ

[แก้]

ลักษณะพิเศษคือ มองผิวเผินเหมือนมีแค่ด้านเดียว ลำตัวปรับตะแคงข้างด้านใดด้านหนึ่ง (ซ้ายหรือขวาขึ้นกับวงศ์) ราบไปกับพื้นน้ำเพื่อปรับตัวให้ซ่อนบนทราย หัวมีลักษณะแหลม ตาทั้งสองเมื่อยังเป็นตัวอ่อนเป็นสองข้างเหมือนปลาชนิดอื่น แต่เมื่อโตเต็มวัยจะไม่สมมาตร ตาข้างหนึ่งย้ายไปรวมกับอีกด้านหนึ่งของกะโหลก ตาทั้งสองข้างสามารถยื่นเหนือลำตัวเพื่อใช้ในการมอง

ครีบหลังและครีบทวารมีฐานครีบยาว ลำตัวเกือบแบนราบและเป็นรูปกลมรีเมื่อมองจากด้านข้าง ช่องว่างบริเวณลำตัวจะมีน้อยเนื่องจากลำตัวเปลี่ยนไปมีรูปทรงแบนมาก ในตัวเต็มวัยนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีถุงลมที่ช่วยในการว่ายน้ำ เกล็ดมีลักษณะเป็นแบบสากและแบบเรียบ

ปลาในอันดับนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของทฤษฎีวิวัฒนาการในการปรับตัวที่ ริชาร์ด ดอว์กินส์ นักชีววิทยาชาวอังกฤษ อธิบายไว้ว่า

บรรพบุรุษของปลาลิ้นหมาในธรรมชาติ อาศัยอยู่บริเวณพื้นใต้ทะเล พวกมันจึงปรับตัวนอนราบไปกับพื้นด้วยด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว ซึ่งมันได้สร้างปัญหากับดวงตาข้างหนึ่งที่จะมองเห็นแต่พื้นด้านล่างอยู่ตลอดเวลาที่อยู่ในทราย และจะทำให้ใช้งานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการวิวัฒนาการจึงเกิดขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาตาข้างที่อยู่ด้านล่าง ทำให้ตาด้านนั้นเคลื่อนมาอยู่ด้านเดียวกับที่หงายขึ้นสู่ท้องทะเล

[3]

พฤติกรรม

[แก้]

ปลาในอันดับนี้อาศัยบริเวณพื้นทะเลหรือพื้นน้ำ ออกหากินเวลากลางคืน มักใช้วิธีพรางตัวเพื่อจับเหยื่อ อาจมีความสามารถในการปรับสีผิวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อาจพบบางชนิดเกาะอยู่ตามท้องเรือหรือเสาใต้น้ำ และอาจส่งเสียงร้องได้[4]

เป็นปลากินเนื้อ กินอาหารได้แก่ สัตว์หน้าดินขนาดเล็ก ลูกกุ้ง, ลูกปู, ลูกปลา, หมึกและหอยไม่มีฝา

การกระจายพันธุ์

[แก้]

โดยมากพบในทะเล มีไม่กี่ชนิดที่พบในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย มีความแตกต่างของชนิดและขนาดมาก ใหญ่สุดคือ ชนิดที่พบในทะเลเขตหนาวแถบอะแลสกา เรียกว่า "แฮลิบัต" (Halibut) มีขนาดได้ถึง 2 เมตร หนักได้ถึง 325 กิโลกรัม คือ ปลาแอตแลนติกแฮลิบัต (Hippoglossus hippoglossus) และเล็กสุดเพียง 10 เซนติเมตร โดยมากเป็นปลาเศรษฐกิจใช้บริโภค

มีความหลากหลายและการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีอยู่ทั่วโลก บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำเค็ม บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำจืด บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณพื้นน้ำตื้น แต่บางชนิดอาจจะอยู่บริเวณพื้นทะเลที่มีความลึกเป็นร้อยฟุต

ในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยในน้ำเค็ม พบได้ทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ส่วนชนิดน้ำจืดมี 4 ชนิด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา (Soleidae) พบมากตามแม่น้ำใหญ่ ๆ ในภาคกลาง และจัดเป็น ดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ เมื่อน้ำใกล้จะเน่าปลาลิ้นหมาจะขึ้นมาหายใจบริเวณผิวน้ำก่อนปลาอื่น[5]

อื่น ๆ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Sepkoski, Jack (2002). "A compendium of fossil marine animal genera". Bulletins of American Paleontology. 364: 560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 2011-05-17.
  2. ORDER HETEROSOMATA (อังกฤษ)
  3. Dawkins, Richard (1991). The Blind Watchmaker. London: Penguin Books. pp. 92. ISBN 0140144811.
  4. สกู๊ปพิเศษ หน้า 1: ไทยรัฐ เสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2545
  5. [ลิงก์เสีย] ปฏิบัติการ"รักน้ำ-รักป่า" แห่ง'ลุ่มน้ำคลองยัน' จากไทยรัฐ
  6. "แนะนำจังหวัดอิบารากิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-23. สืบค้นเมื่อ 2010-11-15.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]