ข้ามไปเนื้อหา

อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
วันลงนาม9 ธันวาคม ค.ศ. 1948
ที่ลงนามปาแลเดอชาโย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
วันมีผล12 มกราคม ค.ศ. 1951
ผู้ลงนาม39
ภาคี153 ราย (รายชื่อ)
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ

อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[] (อังกฤษ: Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) เป็นความตกลงระหว่างประเทศซึ่งกำหนดให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นความผิดอาญา และกำหนดให้ภาคีแห่งอนุสัญญานี้มีหน้าที่ป้องกันมิให้เกิดความผิดดังกล่าว อนุสัญญานี้เป็นตราสารทางกฎหมายฉบับนี้ที่ประมวลการกระทำต่าง ๆ เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้เป็นความผิดอาญา และเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกที่ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ในสมัยประชุมที่ 3[5] อนุสัญญานี้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1951 และขณะนี้มีภาคีจำนวน 153 ราย[6]

อนุสัญญานี้เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยหลักมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปรากฏการกระทำทารุณหลายประการ เช่น ในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ แต่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เนื่องจากไม่มีบทกำหนดทางกฎหมายที่แน่นอน ดังนั้น ราฟาเอล เลมกิน นักกฎหมายชาวยิว จึงบัญญัติคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "genocide" (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) ขึ้นใน ค.ศ. 1944 เพื่อบรรยายถึงพฤติกรรมที่นาซีเยอรมนีกระทำในการยึดครองยุโรปและพฤติกรรมที่จักรวรรดิออตโตมันกระทำในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มีเนีย และเลมกินก็ได้รณรงค์ให้ถือว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ[7] การรณรงค์ของเลมกินบรรลุผลใน ค.ศ. 1946 เมื่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีข้อมติให้ยอมรับว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ และให้จัดทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและลงโทษการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[8] ข้อมติดังกล่าวนำมาสู่การอภิปรายและเจรจาอย่างกว้างขวางในหมู่รัฐสมาชิกของสหประชาชาติ จนสำเร็จเป็นอนุสัญญาฉบับนี้ในที่สุด

อนุสัญญานี้นิยามว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นการกระทำใด ๆ ใน 5 ประการดังต่อไปนี้ โดยมีเจตนาเพื่อทำลายกลุ่มทางชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา ไม่ว่าทั้งกลุ่มหรือบางส่วนของกลุ่ม คือ (1) การฆ่าสมาชิกของกลุ่ม (2) การกระทำให้สมาชิกของกลุ่มได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจ (3) การกระทำให้สมาชิกของกลุ่มมีสภาพความเป็นอยู่ที่จะส่งผลเป็นการทำลายกลุ่ม (4) การห้ามมิให้มีการกำเนิด และ (5) การบังคับโยกย้ายเด็กออกไปจากกลุ่ม นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย เพราะเหตุที่ผู้เสียหายเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น ๆ มิใช่เกิดขึ้นแก่บุคคลใด ๆ โดยไม่เจาะจง[9] อนุสัญญานี้ยังกำหนดให้การร่วมกันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการสนับสนุนให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นความผิดอาญาอีกด้วย ผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา เจ้าหน้าที่สาธารณะ หรือผู้นำทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความคุ้มกันสำหรับประมุขแห่งรัฐ

อนุสัญญานี้ได้มีอิทธิพลต่อวงการกฎหมายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ บทนิยามในอนุสัญญาได้รับการบรรจุไว้ในกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ เช่น ธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตลอดจนกฎหมายภายในของหลายประเทศ[10] ข้อบทของอนุสัญญาได้รับการถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นเครื่องสะท้อนถึงกฎหมายจารีตประเพณี ดังนั้น จึงมีผลผูกพันเป็นการทั่วไปต่อประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือไม่ นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังวินิจฉัยว่า หลักการในอนุสัญญานี้เป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาด ซึ่งมีผลบังคับเด็ดขาดเป็นการห้ามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และรัฐบาลของชาติใด ๆ จะฝ่าฝืนมิได้[11]

อนึ่ง อนุสัญญานี้ยังให้ศาลยุติธรรมระหว่างมีเขตอำนาจในเชิงบังคับที่จะรับพิจารณาและพิพากษากรณีพิพาทเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งนำมาสู่คดีระหว่างประเทศหลายคดี เช่น คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา (ค.ศ. 2019) ซึ่งประเทศแกมเบียฟ้องว่า ประเทศเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา และคดีฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในยูเครน (ค.ศ. 2022) ซึ่งประเทศยูเครนฟ้องว่า ประเทศรัสเซียได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในภาษาไทยปรากฏคำแปลหลายชื่อ เช่น "อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"[1][2] "อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"[3] และ "อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์"[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Amnesty International Thailand (2024-01-12). "การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กรณีอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นก้าวย่างสำคัญเพื่อคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์". amnesty.or.th.
  2. กรทัศน์ ศุขเฉลิม (2024). "ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการตอบโต้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide (Prevention and Response) Bill) ของสหราชอาณาจักร" (PDF). lawforasean.krisdika.go.th.
  3. สุทธวดี เริ่มคิดการ (2009). "กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับกรณีการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา". digital.library.tu.ac.th.
  4. จันทิมา ลิมปานนท์ (1997). "ปัญหากฎหมายและแนวทางเยียวยาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์". car.chula.ac.th.
  5. "Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide" (PDF). United Nations Audiovisual Library of International Law. สืบค้นเมื่อ 2020-01-05.
  6. "United Nations Treaty Collection". treaties.un.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-06-26.
  7. Auron, Yair, The Banality of Denial, (Transaction Publishers, 2004), 9.
  8. "A/RES/96(I) - E - A/RES/96(I) -Desktop". undocs.org. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
  9. "Genocide Background". United Nations Office on Genocide Prevention and the Responsibility to Protect.
  10. "United Nations Office on Genocide Prevention and the Responsibility to Protect". www.un.org. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
  11. "United Nations Office on Genocide Prevention and the Responsibility to Protect". United Nations. สืบค้นเมื่อ 2023-11-24. The ICJ has also stated that the prohibition of genocide is a peremptory norm of international law (or ius cogens) and consequently, no derogation from it is allowed.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]