ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลยาสูบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทีทีเอ็ม เอฟซี
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลยาสูบ
ฉายาสิงห์อมควัน
ก่อตั้งพ.ศ. 2506 (ในนาม สโมสรพนักงานยาสูบ)
ยุบพ.ศ. 2559
สนามสนามศุลกากร ลาดกระบัง 54
สมุทรปราการ ประเทศไทย
ความจุ1,500
ประธานดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์
ผู้จัดการสุประมิตร บุญมีมาก
ฤดูกาลสุดท้าย
2558

อันดับที่ 19
(ตกชั้นและยุบทีม)
สีชุดทีมเยือน

สโมสรฟุตบอลยาสูบ (อังกฤษ:Thailand Tobacco Monopoly Football Club ตัวย่อ TTM F.C.) หรือชื่อเดิมคือ สโมสรฟุตบอลพนักงานยาสูบ เป็นอดีตสโมสรฟุตบอล ที่มาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในประเทศไทย บริหารงานโดยบริษัท ฟุตบอลยาสูบ จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โดยมีสำนักงานใหญ่ของสโมสรตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

สโมสรฟุตบอลยาสูบ จัดเป็นสโมสรฟุตบอลจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยที่เก่าแก่ที่สุดทีมหนึ่ง โดยมีผลงาน ชนะเลิศการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชั่น 1 ในฤดูกาล 2543/44 และชนะเลิศการแข่งขัน ไทยลีก ในฤดูกาล 2547/48 แต่กลับต้องพลาดโอกาสลงแข่งขันในรายการระดับทวีปอย่าง เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก เนื่องจากส่งรายชื่อผู้เล่นให้ เอเอฟซี ไม่ทันตามกำหนด

ประวัติสโมสร

[แก้]

ก่อตั้ง

[แก้]

ปี พ.ศ. 2506 นายเศรณี จินวาลา ได้มีแนวคิดในการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมทางด้านการกีฬาของโรงงานยาสูบ และได้รับการสนับสนุนจากพลเอกหลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ สุขะวาที) ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และนายกสมาคมพนักงานยาสูบในขณะนั้น จึงได้มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลของโรงงานยาสูบขึ้นในเวลาต่อมา ภายใต้ชื่อว่า สโมสรฟุตบอลพนักงานยาสูบ

ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน

[แก้]

สโมสรฟุตบอลพนักงานยาสูบ เริ่มส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย รายการแรกคือ รายการ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. และได้เลื่อนขึ้นมาเล่นในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ค. ในปี พ.ศ. 2513 ในปี พ.ศ. 2517 สโมสรได้เลื่อนชั้นขึ้นมาแข่งขันใน ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ทางสโมสรฯได้หยุดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันโดยไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลรายการใดๆ

กลับมาลงแข่งขันอีกครั้ง

[แก้]

โดยหลังจากที่หยุดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันได้ระยะหนึ่ง สโมสรได้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2535 และต้องกลับไปเริ่มใหม่ที่ ถ้วย ง. โดยสโมสรสามารถคว้าแชมป์ ถ้วยพระราชทานประเภท ง. ประจำปี 2535 ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นแชมป์แรกของสโมสรสำหรับรายการที่จัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พร้อมกับได้เลื่อนขึ้นไปเล่นในถ้วย ค. ในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ค ประจำปี 2536 สโมสรสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ ทำให้ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในประเภท ข ในปี พ.ศ. 2537 ถึงแม้ในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข สโมสรจะตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ก็สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัพ ครั้งที่ 10 ได้สำเร็จ ก่อนที่ในปีต่อมาสโมสรจะคว้าตำแหน่งรองแชมป์ถ้วย ข ประจำปี 2538 พร้อมกับได้สิทธิเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรก

สู่ระบบลีกอาชีพ

[แก้]

ปี พ.ศ. 2539 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงระบบการแข่งขันฟุตบอลในประเทศไทย ให้มีความเป็นสากล และก่อตั้งระบบฟุตบอลลีกสูงสุดขึ้นเป็นครั้งแรกใน จอห์นนีวอล์กเกอร์ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก 2539 โดยประกอบด้วย 18 ทีมจากฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ก ที่ต้องมาแข่งขันกันในระบบลีก [1] สโมสรฟุตบอลพนักงานยาสูบ ในฐานะรองแชมป์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข ได้ลงแข่งขันในลีกสูงสุดฤดูกาลแรกของประเทศไทย โดยเป็น 1 ใน 5 สโมสรจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยในฤดูกาลนั้น แต่กลับทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร และตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 1 เมื่อจบฤดูกาล

ดิวิชั่น 1

[แก้]

ในการแข่งขัน ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2540/41 สโมสรยังคงมีผลงานที่มีโอกาสลุ้นเลื่อนชั้น เเต่จบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 3 จาก 10 ทีม พลาดการเลื่อนชั้นเพียงคะเเนนเดียวเท่านั้น ฤดูกาล 2541 สโมสรจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 7 เเละ 2542 สโมสรจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 5 ก่อนจะคว้าแชมป์ดิวิชัน 1 ได้ในดิวิชั่น 1 2543 และกลับขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดหรือไทยลีกได้สำเร็จ

กลับคืนไทยลีก

[แก้]

ในการแข่งขันไทยลีก 2544/45 สโมสรพนักงานยาสูบ ที่เพิ่งเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุด สามารถหนีตกชั้นได้สำเร็จโดยจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 8 จาก 12 ทีม ฤดูกาลต่อมาใน ไทยลีก 2545/46 สโมสรฟุตบอลพนักงานยาสูบยังคงต้องหนีตกชั้นอีกเช่นเคย โดยชนะในลีกเพียงแค่ 5 นัด และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 8 จากทั้งหมด 10 ทีม ที่ร่วมแข่งขัน ก่อนที่ในฤดูกาลต่อมาจะจบฤดูกาลด้วยอันดับเดิม และมีคะแนนห่างจากทีมตกชั้นแค่ 3 คะแนน ฤดูกาล 2547/48 สโมสรได้แต่งตั้งให้ โชเซ่ อัลเวส บอร์จีส โค้ชชาวบราซิล เป็นผู้ฝึกสอนคนใหม่ โดยบอจีสนับเป็นผู้ฝึกสอนชาวต่างชาติคนแรกของสโมสร และประสบความสำเร็จเมื่อสามารถพาสโมสรคว้าแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลแรกที่เข้ามาคุมทีม ซึ่งการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศไทยในฤดูกาลดังกล่าว ถือเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกและครั้งเดียวของสโมสรจวบจนถึงปัจจุบัน ฤดูกาล 2549 หลังจากสโมสรคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาลก่อน ทำให้สโมสรได้สิทธิในการลงแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปเอเชียอย่างเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก 2006 ร่วมกับสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในฐานะแชมป์และรองแชมป์ของไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก แต่ทั้ง 2 สโมสรกลับส่งรายชื่อผู้เล่นให้เอเอฟซีไม่ทันตามที่กำหนด จึงทำให้ทั้ง 2 สโมสรถูกตัดสิทธิและพลาดโอกาสลงเล่นในรายการระดับทวีปไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนการแข่งขันในลีก สโมสรไม่สามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้และจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 4

ปรับตัวสู่ไทยลีก

[แก้]

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2552-2558 สโมสรเปลี่ยนชื่อที่ใช้ในการแข่งขันหลายครั้ง เนื่องจากไม่มีสนามเหย้าประจำเป็นของตนเอง จึงต้องย้ายไปใช้สนามกีฬาตามจังหวัดต่างๆเป็นสนามเหย้าเพื่อใช้ในการแข่งขันแต่ละฤดูกาล โดยในฤดูกาล 2552 ทางสโมสรได้มีการเปลี่ยนชื่อสโมสร เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของเอเอฟซี โดยรวมมือกับทางจังหวัดสมุทรสาคร และเปลื่ยนชื่อเป็น สโมสรฟุตบอลทีทีเอ็ม สมุทรสาคร และในฤดูกาล 2553 ได้ย้ายทีมมารวมกับจังหวัดพิจิตร ทางสโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น สโมสรฟุตบอลทีทีเอ็ม พิจิตร และในฤดูกาล 2555 สโมสรย้ายไปใช้สนามเหย้าที่จังหวัดเชียงใหม่ และใช้ชื่อในการแข่งขันว่า สโมสรฟุตบอลทีทีเอ็ม เชียงใหม่ [2] โดยผลงานของทีมในลีกนั้นไม่ดีเท่าที่ควร จนสโมสรตกชั้นในฤดูกาลนั้น

ตกชั้นและพักทีม

[แก้]

และในฤดูกาล 2556 ทางสโมสรได้พยายามย้ายไปเล่นที่จังหวัดลพบุรี และใช้ชื่อทีมว่า "พนักงานยาสูบ ลพบุรี" โดยใช้ สนามกีฬาพระราเมศวร เป็นสนามเหย้า แต่ไม่ได้ใช้สนามนี้เพราะทางไทยพรีเมียร์ลีกไม่อนุญาต จึงไปใช้ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา แทน แต่ก็ใช้ไปเพียงนัดเดียวเท่านั้น และผ่านไปเพียง 3 นัด ก็ได้แยกทางกับลพบุรี และไปใช้ สนามบุณยะจินดา เป็นสนามเหย้าแทน และใช้ชื่อทีมว่า ทีทีเอ็ม เอฟซี ต่อในฤดูกาล 2557 ได้ควบรวมทีมกับทาง สโมสรฟุตบอลศุลกากร ยูไนเต็ด และได้เปลื่ยนแปลงชื่อและฉายาเป็น "สโมสรฟุตบอลยาสูบ ศุลกากร" แต่หลังจากนั้น จึงได้แยกทางแล้วทางสโมสรฯ ได้สิทธิ์บริหารเอง และลงแข่งขันในชื่อ ยาสูบ เอฟซี และใช้ สนามบุณยะจินดา เป็นสนามเหย้าแต่เนื่องจากสนามฯ มีทีมที่ใช้สนามอยู่แล้วทั้ง สโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ และ สโมสรฟุตบอลเจ ดับบลิว โปลิศ ทำให้ต้องย้ายกลับมาใช้ สนามศุลกากร ลาดกระบัง 54[3]แต่ผลงานของทีมกลับไม่ได้ดีอย่างที่หวังไว้ จนในที่สุดทีมต้องตกชั้นไปเล่นใน ลีกภูมิภาค ดิวิชัน 2 โดยหลังจากตกชั้น สโมสรประกาศขอพักทีม 1 ฤดูกาล เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมายของ กระทรวงการคลัง[4]

ชื่อและอัตลักษณ์ของสโมสร

[แก้]

ผลงาน

[แก้]
2552: รอบรองชนะเลิศ

ผลงานในระดับ เอเชีย

[แก้]
2006: ถูกตัดสิทธิเนื่องจากส่งรายชื่อผู้เล่นไม่ทันตามที่เอเอฟซีกำหนด

ผลงานในระดับ อาเซียน

[แก้]
  • อาเซียน คลับ แชมเปียนชิพ : เข้าร่วม 1 ครั้ง
2005: รอบแบ่งกลุ่ม
  • สิงค์โปร์ คัพ : เข้าร่วม 2 ครั้ง
2008: รอบรองชนะเลิศ
2009: รอบรองชนะเลิศ

อดีตผู้เล่นของทีม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-14. สืบค้นเมื่อ 2016-03-01.
  2. "ประวัติ ทีทีเอ็ม เชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-21. สืบค้นเมื่อ 2012-03-25.
  3. http://www.smmsport.com/m/news.php?n=143275[ลิงก์เสีย] กลับที่เดิม! ยาสูบใช้สนาม ลาดกระบัง 54 ลุยลีกวัน2015 - SMM Sport
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ pop13

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]