ข้ามไปเนื้อหา

ศุภชัย เจียรวนนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศุภชัย เจียรวนนท์
เกิด24 มีนาคม พ.ศ. 2510 (57 ปี)
กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบอสตัน
อาชีพประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
คู่สมรสบุษดี เจียรวนนท์ (มหพันธ์)
บุตรกรวัฒน์ เจียรวนนท์
กมลนันท์ เจียรวนนท์
แซนเดอร์ เจียรวนนท์
บิดามารดา

ศุภชัย เจียรวนนท์ (เกิด: 24 มีนาคม พ.ศ. 2510) เป็นนักธุรกิจชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เช่น ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), รองประธานกรรมการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา, กรรมการในคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, กรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด[1], ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย, ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย[2], กรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และประธานกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

ประวัติ

[แก้]

ศุภชัย เจียรวนนท์ เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2510 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนบุตรธิดา 5 คน ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ พี่สาวคนโตคือ วรรณี รอสส์ พี่ชายสองคนคือ สุภกิต เจียรวนนท์ และ ณรงค์ เจียรวนนท์ น้องสาวคนเล็กคือ ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (อสช 28953) ระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ (การเงิน) จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา สมรสแล้วกับนางบุษดี เจียรวนนท์ (มหพันธ์) มีบุตร 3 คน ได้แก่ นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ นางสาวกมลนันท์ เจียรวนนท์และนายแซนเดอร์ เจียรวนนท์

เก็บเกี่ยวประสบการณ์

[แก้]

หลังจากจบการศึกษา ศุภชัยได้ฝึกงานด้านค้าส่งกับสยามแม็คโคร ซึ่งขณะนั้นซี.พี. ถือหุ้นอยู่ และเคยฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคอล ในฮุสตัส เท็กซัส และยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการเงิน ซึ่งตรงกับที่เรียนมา กับบริษัท Soltex Federal Credit Union, USA และบริษัท วีนิไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย และเมื่อปี 2535 ได้เข้าร่วมงานกับบริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ โดยรับตำแหน่งตั้งแต่พนักงานทั่วไป จนกระทั่งถึงระดับผู้บริหาร อาทิ ผู้บริหารสายงานปฏิบัติการและการวางแผน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านปฏิบัติการ (Operation) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสนับสนุนและประสานงานการวางแผนและปฏิบัติงานโครงการ เป็นต้น [3] [4] นอกจากนั้น ยังดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท ยูทีวี เคเบิล เทเลวิชั่น รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสำคัญในเครือเทเลคอมเอเชีย เช่น บริษัท เอเชีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านโทรศัพท์พีซีที บริษัท เอเชีย อินโฟเน็ต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ต บริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านบรอดแบนด์ และบริษัท ไวร์เออ แอนด์ ไวร์เลส จำกัด ดำเนินธุรกิจก่อสร้างและการจัดจำหน่าย

ประวัติการทำงาน

[แก้]

ในช่วงระหว่างปี 2535-2539 เป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจโทรคมนาคมไทย รัฐบาลได้เปิดสัมปทานให้เอกชนมาลงทุนด้านโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการสื่อสารใหม่ๆ ทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งต่างกู้เงินทั้งในและต่างประเทศมาลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้ามาแข่งขันกับต่างประเทศและชนะการประมูล โดยศุภชัย ได้เข้ามาบุกเบิกธุรกิจนี้ของเครือ ในชื่อ บริษัท เทเลคอม เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ [5]

ช่วงแรกๆ ของการทำงานที่เทเลคอมเอเชีย เขาต้องเรียนรู้อย่างหนัก เนื่องจากเทคโนโลยีและการบริหารจัดการยังเป็นเรื่องใหม่ ศุภชัยต้องเรียนรู้งานตั้งแต่เริ่มต้น ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมกับเรียนรู้ธุรกิจบริการโทรศัพท์พื้นฐาน สร้างเครือข่ายในช่วงบุกเบิกเทเลคอมไทย แล้วค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมา จนกระทั่งได้เข้ามาบริหารโครงการสร้างเครือข่าย จนสามารถดำเนินการติดตั้งเครือข่ายโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายได้สำเร็จลุล่วงภายในเวลาเพียง 2 ปี [6]

ในปี 2540 ธุรกิจทุกแขนงของไทยประสบกับวิกฤติฟองสบู่ และทีเอเป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติค่าเงินบาท เนื่องจากหนี้ที่กู้จากต่างชาติสมัยเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูเป็นสกุลดอลล่าร์ ปรับเพิ่มจาก 25 บาทเป็นสูงสุดถึง 55 บาท ทำให้ภาวะหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท จึงต้องเข้าสู่ภาวะปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด ศุภชัยต้องทำหน้าที่ผู้บริหารหลักไปต่อรองกับเจ้าหนี้ [7]

ศุภชัยได้ชี้แจงเหตุผลที่ทำให้เจ้าหนี้ยอมให้โอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้ว่า โทรศัพท์พื้นฐานยังเติบโตได้ และที่สำคัญแนวโน้มของเทคโนโลยีจะพัฒนาไปสู่บริการข้อมูล บริษัทเป็นรายแรกที่ริเริ่มธุรกิจบรอดแบรนด์รองรับแนวโน้มดังกล่าว รวมถึงยังมีธุรกิจเคเบิลทีวี แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีโอกาสเติบโตได้ในหลายทาง เจ้าหนี้จึงยินยอมผ่อนปรนการชำระหนี้ พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่าศุภชัยจะต้องขึ้นเป็นผู้บริหาร เพื่อทำตามแผนดังที่ได้รับปากไว้[8] หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ศุภชัยก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะบริหาร ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ศุภชัยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ “2015 Frost & Sullivan Asia Pacific Telecom CEO of the Year” ในฐานะผู้นำตัวอย่างที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและพัฒนาธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ในงานประกาศผล “The Asia Pacific ICT Awards” ณ ประเทศสิงคโปร์ ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและนักวิเคราะห์จาก Frost & Sullivan ซึ่งในปีเดียวกันนั้น นายศุภชัยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดที่ 12 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี   และเมื่อปี พ.ศ. 2560  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย

ในเดือนตุลาคม 2562  คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มีมติเอกฉันท์เห็นชอบ ให้นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเป็นคนแรก  ซึ่งมีหน้าที่ทำงานร่วมกับภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลให้เกิดการประยุกต์ใช้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ศุภชัย ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ประธานคณะผู้บริหาร" บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ตามโครงสร้างการบริหารใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยนายธนินท์ เจียรวนนท์ เลื่อนขึ้นเป็น ประธานอาวุโส และ นายสุภกิต เจียรวนนท์ เป็นประธานกรรมการ[9]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ศุภชัย ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นอกเหนือจากการได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในโครงการสานพลังประชารัฐ และเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชนของคณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ  ซึ่งได้ร่วมดำเนินการพัฒนายุทธศาสตร์ 10 ด้านในการยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล มาตั้งแต่ต้นปี 2559  และได้รวมตัวกันของภาคเอกชนชั้นนำของไทย 12 องค์กร ก่อตั้ง “โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน” (CONNEXT ED) เพื่อเข้าร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศอย่างมีระบบ และในเดือนมกราคม 2561  ศุภชัย  ได้รับแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานโครงการสานพลังประชารัฐ กลุ่มการพัฒนาคน     นอกจากนี้ในปี 2559 ศุภชัยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Global Compact Network Thailand ของสหประชาชาติร่วมกับกลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทย   และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคนแรกของ UN Global Compact Local Network ในประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาคธุรกิจภายใต้หลักสากลขององค์กรสหประชาชาติ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ศุภชัย ได้รับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจ สังคม และการศึกษา ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับประเทศและต่างประเทศ กอปรกับมีความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ชัด อีกทั้งยังอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม เขายังได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ในฐานะนักธุรกิจ ผู้อุทิศตนเพื่อสังคม และนักวิชาการผู้มีวิสัยทัศน์ สามารถนำองค์ความรู้มาใช้ในทางธุรกิจจนประสบความสำเร็จ และก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ยังได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์ในงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมแวดวงสื่อสารมวลชนของประเทศไทย

นอกจากนี้ ศุภชัยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ “ปูชนียบุคคลไทย” ประจำปี 2562 สาขาผู้ส่งเสริมศาสนาดีเด่น จากสมาคมสื่อมวลชนเอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมกับสภาเครือข่ายส่งเสริมสังคมไทย ในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถที่ประสบความสำเร็จ และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ จากการริเริ่มโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม รายการธรรมะรูปแบบเรียลลิตี้ครั้งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เยาวชนได้ศึกษาหลักธรรมคำสอน และปฏิบัติตนตามแนวทางพุทธศาสนา โดยศุภชัยได้นิพนธ์เพลง “ความรักจักรวาล” เพื่อมุ่งหวังปลูกความรู้คู่คุณธรรมให้เยาวชนไทย [10]

ในปีเดียวกันศุภชัยได้รับรางวัล “คนไทยตัวอย่าง” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2562 สาขาสื่อสารมวลชนตัวอย่างดีเด่น จัดโดยสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท) ในฐานะคนทำดีต้นแบบของสังคมแห่งปี และได้รับรางวัลชนะเลิศ Gold Telly Award 2019 จากกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเภทรายการโทรทัศน์ ด้านศาสนา จากรายการธรรมะรูปแบบเรียลลิตี้ สามเณรปลูกปัญญาธรรม นานาชาติ

ในปี 2562 ศุภชัย ได้บันทึกเทปสัมภาษณ์รายการ Click Culture ช่อง CNN โดยมี Ms.Kristie Lu Stout เป็นพิธีกรพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่มทรู ในการก่อตั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค และ StartUp Ecosystem ที่จะทำให้เป็น Digital Innovation Hub แห่งแรกในไทย [11][12][13]

ในเดือนมิถุนายน 2562 ศุภชัย ได้รับเกียรติจาก ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้ขึ้นกล่าวในช่วง Closing Ceremony ในการประชุมระดับโลก Social Business Day 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งที่ 9 ของโลก  เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของภาคธุรกิจไทยที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำแนวคิด Social Business หรือธุรกิจเพื่อสังคม ไปใช้ในการช่วยแก้ปัญหาสังคม [14] [15]

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ศุภชัย ได้เป็น 1 ในบุคคลที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานร่วม หรือ Co-Chairs บนเวทีการประชุมระดับโลก World Economic Forum เพื่อหารือเกี่ยวกับ "ความเป็นผู้นำ 4.0: การประสบความสำเร็จในยุคใหม่ของโลกาภิวัตน์” หรือ "Leadership 4.0: Succeeding in a New Era of Globalization” โดยมี นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ เมืองต้าเหลียน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน [16] นอกจากนี้ในเวทีเดียวกันศุภชัยได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใน session “The Quest for Leadership 4.0” กับนักธุรกิจและนักวิชาการชั้นนำระดับโลก ได้แก่ Huang Yiping รองคณบดี วิทยาลัยแห่งชาติเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง Enass Abo-Hamed สมาชิกราชบัณฑิตยสถานแห่งวิศวกรรม Imperial College London John Meacock ประธานคณะผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์โลก บ.Deloitte และ Michelle Zatlyn ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ Cloudflare Inc. โดยมี Amy Bernstein บรรณาธิการ นิตยสาร Harvard Business Review จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ดำเนินรายการ [17]

ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคม 2562 ศุภชัย ในฐานะประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวเปิดหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้บริหารกลุ่มทรู "Data for Leaders" จัดโดย ทรู ดิจิทัล อคาเดมี่ [18]ในเดือนกันยายน 2562 ศุภชัย ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้นำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นอกจากนี้ได้หารือร่วมกับ มร. พอล โพลแมน (Paul Polman) และ Mrs. Lise Kingo ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหารของ UN Global Compact ซึ่งศุภชัย ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งและกิจกรรมของสมาคมฯ[19]

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ชุดที่ 1 มีมติเอกฉันท์เห็นชอบ ให้นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเป็นคนแรก [20]ในเดือนเดียวกัน ศุภชัย ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมบรรยายหัวข้อ "Bring Digital Future to Everyone : Making Changes to Remap Thailand in the Digital World" ในงาน “Digital Thailand Big Bang 2019: ASEAN Connectivity”[21][22]

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ศุภชัย ในฐานะประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น แสดงวิสัยทัศน์เรื่องThailand 2020...โอกาส การค้า การลงทุน ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ THAILAND 2020#ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ[23] [24]

ในเดือนเมษายน 2564 ศุภชัย เข้าร่วมรับโล่เกียรติยศ  World's Most Ethical Companies 2021 จาก Ethisphere สถาบันระดับโลกในด้านการประเมินมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม ในงาน Virtual WME  Honoree Gala  2021 [25]  [26]

ประวัติด้านกิจกรรมเพื่อสังคมและตำแหน่งอื่นๆ

[แก้]
  • ปัจจุบัน  : ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
  • 2561-ปัจจุบัน  : ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • 2561–ปัจจุบัน  :  หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานโครงการสานพลังประชารัฐ กลุ่มการพัฒนาคน 
  • 2560-ปัจจุบัน  : ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • 2560-ปัจจุบัน  :  ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย
  • 2560-ปัจจุบัน  :  กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
  • 2560-ปัจจุบัน  :  ที่ปรึกษาหอการค้าไทย
  • 2559-ปัจจุบัน  :  นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Local Network)
  • 2558 – ปัจจุบัน  : กรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในโครงการสานพลังประชารัฐและเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน
  • 2558-ปัจจุบัน  :  กรรมการที่ปรึกษาการประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ One Young World Summit
  • 2558-2560    :  นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • 2553-ปัจจุบัน  :  กรรมการกลางมูลนิธิรามาธิบดี ฯ
  • 2553-ปัจจุบัน  :  กรรมการที่ปรึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีการจัดการนวัตกรรม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2553-2560     :  ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์นพระบรมราชูปถัมภ์
  • 2553-2559     :  กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • 2553-2554     :  กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  • 2552-2560     :  กรรมการสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • 2551-2552     :  กรรมการคณะกรรมการจัดหาทุนและประชาสัมพันธ์เพื่อก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติ และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • 2551-2552     :  กรรมการอำนวยการ โครงการจัดหาและบริการดวงตาเชิงรุกทั่วประเทศ 
  • 2550              :  กรรมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชน โอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • 2549-ปัจจุบัน  :  ประธานคณะอนุกรรมการหาทุน ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
  • 2549-ปัจจุบัน  :  กรรมการจัดหาและบริการดวงตาแห่งสภากาชาดไทย
  • 2542-ปัจจุบัน  :  กรรมการบริหาร สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • 2548-2550     :  กรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียน (LCA)
  • 2539 - 2543 : ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) ในช่วงปี

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

[แก้]
  • 2560-ปัจจุบัน ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
  • 2558-2559 : รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
  • ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • 2542-20 ก.พ. 2560 กรรมการผู้จัดการใหญ่ / ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • 2549-ปัจจุบัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
  • 2545-ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด
  • 2544-ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท พันธวณิช จำกัด
  • 2543-2548 ประธานกรรมการ บริษัท ฟรีวิลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด
  • 2542-ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท ไวร์เออ แอนด์ ไวร์เลส จำกัด
  • 2540 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • 2539 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเซีย มัลติมีเดีย จำกัด
  • 2538 ผู้จัดการทั่วไปโทรศัพท์นครหลวงตะวันออก บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการบริษัท ยูทีวี เคเบิล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวร์เออ แอนด์ ไวร์เลส จำกัด
  • 2537 ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสนับสนุนและประสานงานการวางแผนและปฏิบัติงานโครงการ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • 2536 ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • 2535 เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • 2534 ประสบการณ์ทำงานประมาณ 2 ปีในบริษัท วีนิไทย จำกัด
  • 2533 ประสบการณ์ทำงาน 1 ปีใน Soltex Federal Credit Union, USA
  • 2532 ประสบการณ์ทำงาน 1 ปีใน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด

ประวัติด้านกรรมการ

[แก้]
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ทรู มูฟ จำกัด
  • บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทย่อยอื่นๆ ในเครือของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
  • บริษัท พันธวณิช จำกัด
  • บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เจียไต๋ เอ็นเตอร์ไพรเซสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
  • บริษัท เอเชีย ฟรีวิลล์ จำกัด
  • บริษัท ซี.พี.โภคภัณฑ์ จำกัด
  • การ์ตูนเน็ตเวิร์ค ประเทศไทย
  • บริษัท ฟรีวิลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด

รางวัล และ เกียรติประวัติ

[แก้]
  • รับโล่เกียรติยศ  World's Most Ethical Companies 2021 จาก Ethisphere สถาบันระดับโลกในด้านการประเมินมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม[27]
  • รางวัล “บุคคลคุณภาพแห่งปี 2020” (QUALITY PERSONS OF THE YEAR 2020) สาขาเทคโนโลยี มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย [28]
  • รับโล่เชิดชูเกียรติ “ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาไทย”ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน โครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี CONNEXT ED ในปี 2562[29]
  • รางวัลชนะเลิศ Gold Telly Award 2019 จากกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเภทรายการโทรทัศน์ ด้านศาสนา จากรายการธรรมะรูปแบบเรียลลิตี้ สามเณรปลูกปัญญาธรรม นานาชาติ ซึ่งเป็นรายการเดียวจากประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในประเภทนี้ [30]
  • รับเข็มประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์สูงสุดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2562
  • รางวัล “คนไทยตัวอย่าง” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2562 สาขาสื่อสารมวลชนตัวอย่างดีเด่น จัดโดยสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท) ในฐานะคนทำดีต้นแบบของสังคมแห่งปี อีกทั้งเป็นผู้นำและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและแผ่นดิน จากการริเริ่มโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม รายการธรรมะรูปแบบเรียลลิตี้ครั้งแรกของประเทศไทย[31]
  • เกียรติคุณวิทยฐานะ “ปูชนียบุคคลไทย” ประจำปี 2562 สาขาผู้ส่งเสริมศาสนาดีเด่น จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมกับสภาเครือข่ายส่งเสริมสังคมไทย ในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถที่ประสบความสำเร็จ และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ จากการริเริ่มโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม รายการธรรมะรูปแบบเรียลลิตี้ครั้งแรกของประเทศไทย[32]
  • รางวัล “Asia Brand Management Innovation Personality Award” ในฐานะผู้บริหารตัวอย่างด้านการบริหารจัดการแบรนด์และส่ง เสริมนวัตกรรม จัดโดยสมาคม Asia Brand ประเทศจีน
  • รางวัล อัสสัมชนิกดีเด่น กลุ่มนักธุรกิจ ประจำปี 2560 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ
  • รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์”  ประจำปี 2560 จาก สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รางวัล “2015 Frost & Sullivan Asia Pacific Telecom CEO of the Year” ในฐานะผู้นำตัวอย่างที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและพัฒนาธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในระดับภูมิภาค เอเชีย แปซิฟิค  ประจำปี 2558 
  • รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย (Thailand Top 100 HR) ประจำปี 2555 ประเภทประธานและกรรมการผู้บริหาร จัดโดย สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • Role Model ประจำปี 2554 โดยนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา
  • Top 10 Role Model 2551 จากผู้อ่านนิตยสาร ผู้จัดการ
  • รางวัล "บุคคลดีเด่นด้านโทรคมนาคม 2549" (Telecom Man of the Year 2006) จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • รางวัล "เปรียว อวอร์ด 2549" (ด้านธุรกิจและการตลาด) จากนิตยสารเปรียว
  • พ.ศ. 2565 ปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รางวัลที่ได้รับของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

[แก้]

ภายใต้การนำของศุภชัย ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลมากมายจากหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่

2556

  • รางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการดำเนินธุรกิจ ปี 2013 (2013 Frost and Sullivan Thailand Excellence Awards)
  • รางวัล ICT ทำดีเพื่อสังคม จากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ในงาน Thailand ICT Management Forum & Thailand ICT Excellence Awards โดยโครงการทรูปลูกปัญญามีเดีย และโครงการ Autistic Application
  • คอลล์ เซ็นเตอร์ ทรูมูฟ เอช และคอลล์ เซ็นเตอร์ ทรูออนไลน์ ได้รับการรับรองมาตรฐานโลก COPC CSP รายแรกของประเทศไทย จาก COPC (Customer Operation Performance Center) 2012
  • รางวัล Trusted Brand Award 2013 แบรนด์ที่เชื่อมั่นได้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคโดยตรงจาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยนิตยสาร Reader’s Digest

TrueOnline ได้รับรางวัลในหมวด ผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ระดับ Platinum TrueMove H ได้รับรางวัลในหมวด ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ระดับ Gold

  • 2 รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2012 คือ รางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการตลาด 5 ปีซ้อน (Marketing Excellence) และรางวัลความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร (Corporate Improvement Excellence)
  • 2 รางวัล “Asia Brand” ในพิธีมอบรางวัล Asia Brand ครั้งที่ 8 จัดโดยสมาคม Asia Brand ร่วมกับองค์กรและสื่อชั้นนำของจีน ตอกย้ำแบรนด์คุณภาพที่สากลให้การยอมรับ

รางวัล “Top 500 Asia Brand” กลุ่มทรูได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 500 แบรนด์ชั้นนำที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในเอเชีย โดยทรูเป็นบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมไทยเพียงรายเดียวที่ติดอันดับตามเกณฑ์รางวัลดังกล่าว รางวัลบุคคล “Asia Brand Management Innovation Personality Award” ซึ่งนายศุภชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับในฐานะผู้บริหารตัวอย่างด้านการบริหารจัดการแบรนด์และส่งเสริมนวัตกรรม สะท้อนบทพิสูจน์ที่ว่า กลุ่มทรู เป็นหนึ่งในองค์กรดีเด่นที่สามารถสร้างแบรนด์สินค้าคุณภาพที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่น และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกไลฟ์สไตล์ จนเป็นที่ยอมรับระดับสากล

  • รางวัล “The Cannes Corporate Media & TV Awards 2013” สามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี 2 รายการเดียวจากไทยและภูมิภาคเอเชีย โดดเด่นประเภทสารคดีโทรทัศน์ ส่งเสริมการศึกษาบทพิสูจน์ คอนเท้นต์คุณภาพที่ได้รับการยอมรับระดับโลก

2555

  • รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2011 สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence) โดยความร่วมมือของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบให้แก่ทรู ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
  • รางวัลเกียรติยศ “สถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศ” โดยกระทรวงแรงงาน มอบให้แก่ทรู ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
  • รางวัล “ICT ทำดีเพื่อสังคม” โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย และวิทยาลัยนวัตกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบให้แก่โครงการ WhiteNet ของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในงาน Thailand ICT Management Forum & Thailand ICT Excellence Awards 2011-2012
  • รางวัล “แบรนด์ที่เชื่อมั่นได้” 2 รางวัล คือ แพลตทินัม อวอร์ด ในหมวดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และ โกล์ด อวอร์ด ในหมวดผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยบริษัท รีดเดอร์ ไดเจสต์ (ประเทศไทย) จำกัด มอบให้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
  • รางวัลสุดยอด Data Center Services Provider of the Year ในประเทศไทย โดยบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน มอบให้แก่บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด
  • รางวัล “WBA Wi-Fi Industry Award 2012 ประเภท Best Next Generation Hotspot (NGH) Initiative Award” โดยสมาพันธ์ผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับแนวหน้าของโลก (Wireless Broadband Alliance - WBA) มอบให้แก่ทรูมูฟ เอช ในงาน WBA Wi-Fi Global Congress

2553

  • รางวัล “การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดีเด่นแห่งปี” ในกลุ่มธุรกิจการบริการ โดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย และวิทยาลัยนวัตกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบให้แก่ทรู
  • โล่รางวัลและเหรียญทองแดงประเภท Contact Center Best Practices (Outsourced) – Large Call Center โดย Contact Center World มอบให้แก่ ทรูทัช บริษัทในกลุ่มทรู
  • รางวัลชนะเลิศ “การบริการคอลเซ็นเตอร์ยอดเยี่ยม” โดยสมาคมอุตสาหกรรมการบริการลูกค้าทางโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มอบให้แก่ ทรูมูฟ ไอโฟน แคร์ เซ็นเตอร์ หนึ่งในคอลล์เซ็นเตอร์กลุ่มทรู

2552

  • รางวัล “เสมาคุณูปการ” ประจำปี 2552 โดยกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้แก่ทรู ในฐานะองค์กรที่ร่วมส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • รางวัล “บริษัทนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านการให้บริการ” โดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ มอบให้แก่ทรู

2551

  • รางวัล “บริษัทยอดเยี่ยมเชิงนวัตกรรม” และบริษัทที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในลำดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เอเชีย มอบให้แก่ทรู
  • รางวัลศูนย์บริการทางโทรศัพท์ยอดเยี่ยม (ประเทศไทย) ประจำปี 2551 โดย Asia Pacific Contact Center Association Leaders (APCCAL) มอบให้บริการ TrueMove Assistant 2222 ของทรูมูฟ
  • รางวัลรองชนะเลิศ ประเภท The Best Outsourcing Partnership มอบให้แก่ทรูทัช จากการประกวด 2008 Top Ranking Performers in the contact Center Industry ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สรุปรางวัลที่ได้รับในปี 2543-2550

  • รางวัล “บริษัทที่มีศักยภาพเชิงแข่งขันที่โดดเด่นที่สุด” (Best Competitive Carrier) โดย Telecom Asia มอบให้แก่ทรู ต่อเนื่อง 3 ปี (ปี 2547-2549)
  • รางวัล “ผู้ให้บริการที่มีศักยภาพสูงสุดแห่งปี” (Most Promising Service Provider) โดย ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เทคโนโลยีเอเชียแปซิฟิค (Frost & Sullivan Asia Pacific Technology Awards 2005)
  • รางวัล Disclosure Award โดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ภายใต้การสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มอบให้แก่ทรู ต่อเนื่อง 3 ปี (ปี 2545-2547) ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีการกำกับดูแลกิจการและมีบรรษัทภิบาลที่ดี
  • รางวัล "บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมที่สร้างสรรค์นวัตกรรมตอ่เนื่องและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว" (Technology Fast 500 Asia Pacific Company Awards) โดย Deloitte Touche Tohmatsu มอบให้แก่ทรูต่อเนื่อง 3 ปี 2545-2547
  • รางวัล Thailand Superbrand ประเภทบริษัท ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม โดยได้รับคัดเลือกจากผู้บริโภค จากผลสำรวจ Asia Superbrand ของ Reader's Digest ในปี 2547 มอบให้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
  • รางวัล Good Corporate Governance โดยนิตยสารยูโรมันนี ในปี 2545 มอบให้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
  • รางวัล 1 ใน 10 บริษัท ชั้นนำของไทย โดยนิตยสารฟาร์อีสเทิน อีโคโนมิครีวิว ปี 2543 มอบให้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]
  •  รัสเซีย :
    • พ.ศ. 2566 - เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งมิตรภาพ[36]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 4ปีรัฐประหาร
  2. https://www.prachachat.net/ict/news-379152
  3. สุภัทธา สุขชู และ นภาพร ไชยขันแก้ว. Right Man?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=94068 (วันที่ค้นข้อมูล: 3 พฤษภาคม 2555).
  4. พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์ และ ดิษนีย์ นาคเจริญ. ศุภชัย เจียรวนนท์ เรียลิตี้ CEO ล่าฝัน...ปั้นTRUE. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชนม 2551.
  5. สุภัทธา สุขชู และ นภาพร ไชยขันแก้ว. Right Man?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=94068 (วันที่ค้นข้อมูล: 3 พฤษภาคม 2555).
  6. พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์ และ ดิษนีย์ นาคเจริญ. ศุภชัย เจียรวนนท์ เรียลิตี้ CEO ล่าฝัน...ปั้นTRUE. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชนม 2551.
  7. สุภัทธา สุขชู และ นภาพร ไชยขันแก้ว. Right Man?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=94068 (วันที่ค้นข้อมูล: 3 พฤษภาคม 2555).
  8. สุภัทธา สุขชู และ นภาพร ไชยขันแก้ว. Right Man?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=94068 (วันที่ค้นข้อมูล: 3 พฤษภาคม 2555).
  9. https://brandinside.asia/cp-group-next-gen-supachai-ceo/
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-01. สืบค้นเมื่อ 2019-07-01.
  11. https://edition.cnn.com/videos/business/2019/06/12/thailand-digital-economy.cnn
  12. https://vimeo.com/349586466
  13. https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9620000042744
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-01. สืบค้นเมื่อ 2019-07-01.
  15. https://www.youtube.com/watch?v=Dxwv1Jm10rI
  16. https://www.weforum.org/events/annual-meeting-of-the-new-champions-2019/sessions/a0W0X00000FuPS2UAN
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-10. สืบค้นเมื่อ 2019-07-03.
  18. https://www.youtube.com/watch?v=8URd8MnPLgg&feature=youtu.be
  19. https://siamrath.co.th/n/106221
  20. https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9620000097550
  21. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/852437
  22. https://www.youtube.com/watch?v=AhvZDOsBSUs&feature=youtu.be
  23. https://www.prachachat.net/economy/news-388174
  24. https://www.youtube.com/watch?v=t1IqaCZuonU
  25. matichon (2021-04-23). "เครือซีพีติด 1ใน135 บ.มีจริยธรรมมากสุดในโลก Ethisphere สถาบันระดับโลกการันตี". มติชนออนไลน์.
  26. Ethisphere. "Honorees 2021". Ethisphere® Institute | Good. Smart. Business. Profit.® (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  27. Ethisphere. "Honorees 2021". Ethisphere® Institute | Good. Smart. Business. Profit.® (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  28. https://www.telecomlover.com/2020/12/01/supachaiwins/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=supachaiwins&utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=supachaiwins
  29. https://mgronline.com/qol/detail/9620000111463
  30. https://mgronline.com/qol/detail/9620000061572
  31. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-15. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  32. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-15. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  33. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้า ๑ เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๓ ข, ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
  34. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า ๒ เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๒ ข, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
  35. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ หน้า ๔ เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๓ ข, ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
  36. ไทยรัฐ ออนไลน์ ,สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ