ข้ามไปเนื้อหา

วัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่)

พิกัด: 0°N 0°E / 0°N 0°E / 0; 0
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสวนดอก
พระเจดีย์วัดสวนดอก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสวนดอก
ที่ตั้งถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท
เจ้าอาวาสพระราชรัชมุนี (นิมิต สิขรสุวณฺโณ)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดสวนดอก (ไทยถิ่นเหนือ: ) หรือ วัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีพระราชรัชมุนี เป็นเจ้าอาวาส

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

วัดสวนดอกตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร

ประวัติ

[แก้]

วัดสวนดอกสร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเถระ) พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระสุมนเถระ" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

ภาพทางอากาศวัดสวนดอก
พ.ศ. 2429

ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอกเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป จนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้านครเชียงใหม่และพระประยูรญาติมาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

ปูชนียสถาน-วัตถุ

[แก้]

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา

[แก้]
พระเจดีย์วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลพญากือนา แต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าเก้าตื้อ

[แก้]
พระเจ้าเก้าตื๊อภายในอุโบสถวัดสวนดอก

พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ("ตื้อ" เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พญาแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัยในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าค่าคิง

[แก้]

พระเจ้าค่าคิง (เท่าพระวรกาย) เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพญากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพญากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

[แก้]
กู่บรรจุพระอัฐิพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ปัจจุบันได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

ธรรมาสน์เทศนา

[แก้]

ธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 และซุ้มประตูวัด จำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2474

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

[แก้]

วัดสวนดอก ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 6842 วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [2]

ประเพณีประจำปีของวัดสวนดอก

[แก้]
  1. ประเพณีทำบุญสลากภัต ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือเดือน 11
  2. ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาแล้วทุกปี
  3. ประเพณีทำบุญสรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เหนือทุกปี

การจัดสร้างเมรุชั่วคราว

[แก้]

วัดสวนดอก เป็นสถานที่ตั้งของกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ จึงถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ในการจัดสร้างเมรุชั่วคราว สำหรับการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายฝ่ายเหนือหลายพระองค์ ได้แก่

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงวัดสวนดอก, เล่ม ๑๐๗, ตอน ๑๕๐ ง, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓, หน้า ๖๘๔๒
  2. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
  3. หมายกำหนดการ ที่ ๒/๒๔๗๗ เรื่อง พระราชทานเพลิงพระศพ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ณ พระเมรุวัดสวนดอก นครเชียงใหม่ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๓฿฿ หน้า ๑๔๕
  4. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. [ม.ป.ท.] : โรงพิม์ชวนพิมพ์, 2516. 260 หน้า. [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัด เชียงใหม่ วันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2516]
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันที่ ๑๓, ๑๕ - ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕) เล่ม 109 ตอนที่ 14ง วันที่ 23 มกราคม 2535
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๗) เล่ม 122 ตอนที่ 7ข วันที่ 31 สิงหาคม 2547
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘) เล่ม 133 ตอนที่ 16ข หน้า 343 วันที่ 15 มิถุนายน 2559

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

0°N 0°E / 0°N 0°E / 0; 0