มารี โซฟีแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล
มารี โซฟีแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล | |
---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก | |
ระหว่าง | 13 มีนาคม ค.ศ. 1808 - 3 ธันวาคม ค.ศ. 1839 |
ราชาภิเษก | 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1815
พระราชวังเฟรเดอริกส์บอร์ก |
สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ | |
ระหว่าง | 13 มีนาคม ค.ศ. 1808 - 14 มกราคม ค.ศ. 1814 |
พระราชสมภพ | 28 ตุลาคม พ.ศ. 2310 ณ ฮาเนา เฮสส์ ประเทศเยอรมนี |
สวรรคต | 22 มีนาคม พ.ศ. 2395 ณ พระราชวังเฟรเดอริกส์บอร์ก โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (พระชนมายุ 84 พรรษา) |
พระราชสวามี | พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก |
พระราชบุตร | เจ้าชายคริสเตียน เจ้าหญิงมารี หลุยส์ เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงหลุยส์ เจ้าชายคริสเตียน เจ้าหญิงจูเลียนา หลุยส์ เจ้าหญิงเฟรเดอริเก มารี เจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์ก |
ราชวงศ์ | เฮสส์ โอลเดนบวร์ก (โดยการอภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | เจ้าชายชาร์ลส์แห่งเฮสส์-คาสเซิล |
พระราชมารดา | เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเดนมาร์ก |
มารี โซฟีแห่งเฮ็สเซิล-คัสเซิล (ภาษาเยอรมัน:Marie Sophie Friederike von Hessen-Kassel,28 ตุลาคม พ.ศ. 2310 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2395) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ และทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น ผู้สำเร็จราชการแห่งเดนมาร์กในระหว่างปีพ.ศ. 2357 ถึง พ.ศ. 2358 ในช่วงที่พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์กพระสวามีเสด็จประพาสต่างประเทศ เป็นพระราชินีที่เป็นนิยมของชาวเดนมาร์กซึ่งนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งเดนมาร์กทรงเคยเป็นพระราชินีที่เป็นที่นิยมในเดนมาร์กมาก่อน และชาวเดนมาร์กก็ไม่เคยเห็นว่าพระนางเป็นชาวต่างชาติแต่ได้คิดว่าพระนางทรงเป็นเดนมาร์กทั้งกายและใจ
ภูมิหลัง
[แก้]เจ้าหญิงมารี โซฟีแห่งเฮสส์-คาสเซิลเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในเจ้าชายชาร์ลส์แห่งเฮสส์-คาสเซิลกับเจ้าหญิงหลุยส์แห่งเดนมาร์ก พระนางประสูติในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2310 ณ เมืองฮาเนา แคว้นเฮสส์ พระอัยกาและพระอัยยิกาฝ่ายพระบิดาของพระนางคือ เฟรเดอริคที่ 2 แลนด์เกรฟแห่งเฮสส์-คาสเซิลและเจ้าหญิงแมรีแห่งบริเตนใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่กับสมเด็จพระราชินีคาโรลีนแห่งบริเตนใหญ่ พระอัยกาและพระอัยยิกาฝ่ายพระมารดาของพระนางคือ พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 แห่งเดนมาร์กกับสมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งเดนมาร์กซึ่งเป็นพระราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าจอร์จที่ 2 กับสมเด็จพระราชินีคาโรลีน พระบิดาของเจ้าหญิงมารี โซฟีเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองของแลนด์เกรฟและผู้ปกครองแห่งเฮสส์-คาสเซิล เนื่องจากเป็นพระโอรสองค์รองทำให้ทรงไม่มีพระอิศริยยศผู้ปกครองแคว้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงดำรงในพระอิศริยยศดังกล่าว และทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์เฮสส์ ราชสำนักเดนมาร์กได้เสนอตำแหน่งต่างๆที่ดีกว่าตำแหน่งจากเฮสส์-คาสเซิลแก่พระองค์
เจ้าหญิงมารี โซฟีทรงเจริญพระชันษาในเดนมาร์ก ที่ซึ่งพระบิดาของพระนางทรงได้รับพระอิศริยยศของเดนมาร์ก ซึ่งก็คือ ตำแหน่งผู้ว่าการแคว้น พระมารดาของพระนางเป็นพระธิดาพระองค์ที่สามของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 แห่งเดนมาร์กกับหลุยส์แห่งบริเตนใหญ่ สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ซึ่งทำให้เจ้าหญิงทรงมีศักดิ์เป็นพระนัดดาในพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์กและเป็นพระญาติชั้นหนึ่งของมกุฎราชกุมารเฟรเดอริค ซึ่งต่อมาคือพระสวามีของพระนาง
อภิเษกสมรสและสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
[แก้]ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2333 ณ เมืองก็อตธ็อป พระนางทรงอภิเษกสมรสกับพระญาติชั้นหนึ่งคือ มกุฎราชกุมารเฟรเดอริคแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งต่อมาในอนาคตคือ พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก พระสวามีของพระนางทรงดำรงพระอิศริยยศผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่มีพระชนมายุ 16 พรรษาซึ่งตรงกับปีพ.ศ. 2327 ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดาซึ่งมีพระสติวิปลาส และต่อมาเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2351 ทั้งสองพระองค์ทรงครองราชสมบัติหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าคริสเตียน โดยพระเจ้าเฟรเดอริคทรงดำรงอยู่ในพระอิศริยยศผู้สำเร็จราชการในทางพฤตินัยมากกว่า 2 ทศวรรษ เจ้าหญิงมารี โซฟีทรงถูกเลือกโดยมกุฎราชกุมารเฟรเดอริคเพื่อมาเป็นพระชายา ซึ่งการอภิเษกสมรสครั้งนี้พระสวามีของพระนางเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระของพระองค์ในราชสำนักและเป็นประโยชน์ต่อเดนมาร์ก เพราะพระนางมีพระโลหิตชาวเดนมาร์กผ่านทางพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงเดนมาร์กและจะทำให้ประชาชนยอมรับในพระนางได้ง่าย ถึงแม้ว่าพระบิดาของพระนางจะเป็นชาวเยอรมัน การอภิเษกสมรสตรั้งนี้เป็นที่ตื่นเต้นในสายตาชาวเดนมาร์กที่จะได้ราชินีซึ่งเป็นชาวเดนมาร์กไม่ใช่ชาวต่างชาติอย่างในอดีต เมื่อพระนางเสด็จมาถึงกรุงโคเปนเฮเกนทรงได้รับการต้อนรับจากพสกนิกรชาวเดนมาร์กอย่างเนืองแน่น แต่เมื่อทรงประทับในราชสำนักเดนมาร์ก พระนางทรงถูกลดความสำคัญเพราะขณะนั้นผู้ที่มีความนิยมในขณะนั้นคือ เจ้าหญิงหลุยส์ ออกัสตาแห่งเดนมาร์กพระขนิษฐาของพระสวามี ซึ่งได้รับการขนานพระนามว่าทรงเป็น สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของราชสำนักเดนมาร์ก พระนางมารี โซฟีทรงถูกกดดันจากการให้กำเนิดบุตร การที่พระเจ้าเฟรเดอริคทรงร่วมพระแท่นกับพระราชินีครั้งล่าสุด ทำให้พระนางทรงได้รับการประชวรทำให้ไม่สามารถมีพระบุตรได้อีกซึ่งทำให้พระสวามีทรงเสียพระทัยมากเพราะพระองค์ประสงค์ที่จะได้พระโอรสที่มีพระพลานามัยสมบูรณ์ พระนางมารี โซฟีทรงถูกบังคับให้ยอมรับการที่พระเจ้าเฟรเดอริคทรงรับเฟรเดอริเก เดนเนมานด์มาเป็นพระสนม ซึ่งทำให้พระนางทรงเสียพระทัยมาก
ในระหว่างสงครามนโปเลียน พระเจ้าเฟรเดอริคทรงนำเดนมาร์กเข้าสู่สงครามโดยเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส แต่หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 1แห่งฝรั่งเศสทรงพ่ายแพ้และหลบหนีออกจากมอสโก ในปีพ.ศ. 2356 ทำให้ทรงถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา การปราชัยครั้งนี้ส่งผลให้เดนมาร์กอยู่ในสถานะผู้แพ้ สวีเดนโดยรัชทายาทคาร์ล จอห์นแห่งสวีเดนได้รีบดำเนินการอย่างรวดเร็วทรงส่งกองทัพที่ประจำอยู่ที่ฮ็อลชไตน์เพื่อการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเดนมาร์กและสวีเดนในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2357 โดยในสนธิสัญญากำหนดให้เดนมาร์กต้องมอบนอร์เวย์ให้แก่สวีเดน และสวีเดนจะยกแคว้นโพเมราเนียและรูเกนให้เป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์กเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน และจ่ายเงินสมทบสำหรับการเสียนอร์เวย์แก่เดนมาร์ก ซึ่งเรียกว่า สนธิสัญญาเคล และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสูญเสียนอร์เวย์ของเดนมาร์ก พระเจ้าเฟรเดอริคทรงยอมในสนธิสัญญาเคล พระองค์ทรงเห็นว่าสวีเดนและอังกฤษพยายามจะแบ่งประเทศเดนมาร์ก และทรงเห็นว่ารัชทายาทแห่งสวีเดนจะคุกคามเดนมาร์กทุกเมื่อถ้ามีโอกาส พระองค์ทรงพิจารณาว่าภัยคุกคามของสวีเดนต่อเดนมาร์กนั้นรุนแรง พระองค์ทรงดำริที่จะดึงมหาอำนาจมาช่วยเหลือเดนมาร์กจากการคุกคามของสวีเดน อังกฤษและรัสเซีย โดยพระเจ้าเฟรเดอริคทรงเข้าร่วมในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาในปีพ.ศ. 2357 ทำให้ช่วยรับประกันเอกราชของเดนมาร์กได้ ในช่วงที่พระเจ้าเฟรเดอริคเสด็จไปประชุมที่เวียนนา พระนางมารี โซฟีทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างพ.ศ. 2357 ถึงพ.ศ. 2358 หลังจากการสูญเสียนอร์เวย์ให้แก่สวีเดนทำให้ทั้งสองพระองค์สูญเสียพระอิศริยยศในนอร์เวย์ซึ่งก็คือ พระอิศริยยศ "สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์"
ในระหว่างพระสวามีเสด็จไปประชุมที่เวียนนา พระนางทรงบริหารจัดการกิจการของประเทศเป็นอย่างดีในระหว่างพ.ศ. 2357 ถึงพ.ศ. 2358 พระนางทรงสนพระทัยในเรื่องการเมืองและลำดับศักดิ์ของวงศ์ตระกูล และพระนางทรงนิพนธ์และเผยแพร่หนังสือ Exposé de la situation politique du Danemarc ในปีพ.ศ. 2350 ถึงพ.ศ. 2357 ซึ่งเกี่ยวกับการเมืองของเดนมาร์ก และในปีพ.ศ. 2365 ถึงพ.ศ. 2367 ทรงตีพิมพ์หนังสือ Supplement-Tafeln zu Joh เกี่ยวกับลำดับวงศ์ตระกูล หนังสือเริ่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้พระสวามีใช้ในภายหลังในการรับเจ้าชายคริสเตียนซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก พระนางทรงอุปถัมภ์องค์กรการกุศล Det Kvindelige Velgørende Selskab ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2358
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระราชินีมารี โซฟี | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hendes Majestæt (ใต้ฝ่าละอองพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 เสด็จสวรรคตในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382 ณ พระราชวังอามาเลียนเบอร์ก กรุงโคเปนเฮเกน สิริพระชนมายุ 71 พรรษา พระนางทรงดำรงเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง ใน 2 รัชกาลถัดมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์กและพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 แห่งเดนมาร์ก พระนางทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบและทรงเป็นที่เคารพจากการทีทรงเป็นเสาหลักของราชวงศ์เก่าแก่ พระนางมารี โซฟีทรงสิ้นพระชนม์ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2395 ณ พระราชวังเฟรเดอริคเบอร์ก โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สิริพระชนมายุ 84 พรรษา พระบรมศพถูกฝังที่มหาวิหารร็อคสไลด์เคียงข้างพระบรมศพของพระสวามี
พระโอรส-ธิดา
[แก้]พระนางมารี โซฟีและพระเจ้าเฟรเดอริคมีพระโอรส-ธิดารวมกัน 8 พระองค์แต่ 6 พระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้ทรงเหลือพระธิดา 2 พระองค์ที่ดำรงพระชนม์ชีพจนสูงพระชันษา เนื่องจากทรงไม่มีพระโอรสที่ยังดำรงพระชนม์ชีพ ทำให้เมื่อพระเจ้าเฟรเดอริคสิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์จึงไปได้แก่พระญาติซึ่งครองราชย์เป็น พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก พระโอรส-ธิดาของพระนางได้แก่
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส (ประสูติและสิ้นพระชนม์) และพระโอรส-ธิดา | |
เจ้าชายคริสเตียน | พ.ศ. 2334 |
22 กันยายนพ.ศ. 2334 |
23 กันยายนสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงมารี หลุยส์ | พ.ศ. 2335 |
19 พฤศจิกายนพ.ศ. 2336 |
12 ตุลาคมสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเดนมาร์ก | พ.ศ. 2336 |
28 ตุลาคมพ.ศ. 2424 |
31 มันาคมอภิเษกสมรส 1 สิงหาคม พ.ศ. 2372 เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งเดนมาร์ก (พ.ศ. 2335–2406) ไม่มีพระโอรสธิดา | |
เจ้าหญิงหลุยส์ | พ.ศ. 2338 |
21 สิงหาคมพ.ศ. 2338 |
7 ธันวาคมสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าชายคริสเตียน | พ.ศ. 2340 |
1 กันยายนพ.ศ. 2340 |
5 กันยายนสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงจูเลียนา หลุยส์ | พ.ศ. 2345 |
12 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2345 |
23 กุมภาพันธ์สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงเฟรเดอริเก มารี | พ.ศ. 2348 |
3 มิถุนายนพ.ศ. 2348 |
14 กรกฎาคมสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์ก | พ.ศ. 2351 |
18 มกราคมพ.ศ. 2434 |
30 พฤษภาคมอภิเษกสมรสครั้งแรก 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2371 เจ้าชายเฟรเดอริคแห่งเดนมาร์กซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก (พ.ศ. 2351–2406) ต่อมาทรงหย่า ไม่มีพระโอรสธิดา อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ดยุคคาร์ลแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ชอนเดนบวร์ก-กลีคสบวร์ก (พ.ศ. 2356 - พ.ศ. 2421) ซึ่งต่อมาเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ไม่มีพระโอรสธิดา |
พระราชินีมารี โซฟีทรงไม่มีพระโอรสและพระราชนัดดาสายตรงเลย ในขณะที่เจ้าหญิงหลุยส์ แคโรไลน์แห่งเฮสส์-คาสเซิลพระขนิษฐาองค์สุดท้องของพระนางทรงมีทายาทมากมายและยังทรงพระเยาว์มาก พระราชินีมารีจึงทรงรับไว้อุปการะโดยทรงให้การศึกษาตามแบบราชวงศ์ เนื่องจากพระนัดดาที่ทรงรับอุปการะยังทรงพระเยาว์กว่าพระราชธิดาทั้งสองของพระนางมารีมาก ทำให้บางพระองค์ทรงคิดว่าพระราชินีซึ่งเป็นพระมาตุจฉาคือพระอัยยิกาของพระองค์ ซึ่งหนึ่งในพระราชนัดดาที่ทรงรับเลี้ยงคือ เจ้าชายคริสเตียนแห่งไลค์สเบอร์ก ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายคริสเตียนแห่งไลค์สเบอร์กและเจ้าหญิงหลุยส์แห่งเฮสส์พระชายา ทรงตั้งพระนามพระธิดาพระองค์หนึ่งว่า มารี โซฟี เฟรเดอริเก แด็กมาร์แห่งไลค์สเบอร์ก ตามพระนามของพระราชินีมารี โซฟี และต่อมาพระธิดาพระองค์นี้ทรงเป็น จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระมเหสีในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย
พระอิศริยยศ
[แก้]- 28 ตุลาคม พ.ศ. 2310 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2333 : เจ้าหญิงมารีแห่งเฮสส์-คาสเซิล
- 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2333 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2351 : มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์
- 13 มีนาคม พ.ศ. 2351 - 14 มกราคม พ.ศ. 2357 : สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ ดัสเชสแห่งแซ็กซ์-เลาว์บูร์ก
- 14 มกราคม พ.ศ. 2357 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382 : สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ดัสเชสแห่งแซ็กซ์-เลาว์บูร์ก
- 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2395 : สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งเดนมาร์ก
อ้างอิง
[แก้]- http://www.kvinfo.dk/side/597/bio/1408/origin/170/
- Landgravial House of Hesse-Kassel เก็บถาวร 2008-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Royal House of Denmark
ก่อนหน้า | มารี โซฟีแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ | สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก (ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก) (13 มีนาคม พ.ศ. 2351 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382) |
เจ้าหญิงแคโรไลน์ อเมลีแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์ก | ||
เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ | สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ (ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก) (13 มีนาคม พ.ศ. 2351 – 14 มกราคม พ.ศ. 2357) |
พระสวามีทรงสูญเสียนอร์เวย์ ลำดับถัดไป เจ้าหญิงเฮดวิก เอลิซาเบธ ชาร์ล็อตแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อตท็อป | ||
ตำแหน่งว่างจากสงครามนโปเลียน ลำดับสุดท้าย ดัสเชสชาร์ลอตต์แห่งเม็คเคล็นเบิร์ก-สเตรลิตซ์ |
ดัสเชสแห่งแซ็กซ์-เลาว์บูร์ก (ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก) (6 เมษายน พ.ศ. 2357 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382) |
เจ้าหญิงแคโรไลน์ อเมลีแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์ก |