ข้ามไปเนื้อหา

ภูมิศาสตร์ลาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่ประเทศลาวแสดงรายละเอียด

ลาวเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและทางตะวันตกของเวียดนาม มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร ในใจกลางของแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้อมรอบด้วยพม่า จีน ไทย เวียดนามและกัมพูชา โดยตำแหน่งที่ตั้งทำให้มีฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมากกว่า เป็นทางผ่านของการค้า การสื่อสาร การอพยพและความขัดแย้งในระดับนานาชาติ ส่งผลต่อสถานะทางเชื้อชาติและการแพร่กระจายของกลุ่มชนต่างๆภายในประเทศ

ภูมิศาสตร์

[แก้]
แผนที่ภูมิศาสตร์ของลาว

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

ประเทศลาวเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างละติจูดที่ 14 - 23 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 100 - 108 องศาตะวันออก มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 236,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 230,800 ตารางกิโลเมตร ภาคพื้นน้ำ 6,000 ตารางกิโลเมตร โดยลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องด้วยตลอดแนวชายแดนของประเทศลาว ซึ่งมีความยาวรวม 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้

ความยาวพื้นที่ประเทศลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ยาวประมาณ 1,700 กว่ากิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 500 กิโลเมตร และที่แคบที่สุด 140 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]
แม่น้ำโขง ไหลผ่านหลวงพระบาง
แม่น้ำโขง ไหลผ่านหลวงพระบาง

ภูมิประเทศของลาวอาจแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ

  1. เขตภูเขาสูง เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่นี้อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ
  2. เขตที่ราบสูง คือพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ปรากฏตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา เขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง), ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณ (ภาคใต้)
  3. เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต นับเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ แนวที่ราบลุ่มเหล่านี้เริ่มปรากฏตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสุวรรณเขต ซึ่งอยู่ตอนใต้เซบั้งไฟและเซบั้งเหียง และที่ราบจำปาศักดิ์ทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ เมื่อนำเอาพื้นที่ของเขตภูเขาสูงและเขตที่ราบสูงมารวมกันแล้ว จะมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด โดยจุดที่สูงที่สุดของประเทศลาวอยู่ที่ภูเบี้ย ในแขวงเชียงขวาง วัดความสูงได้ 2,817 เมตร (9,242 ฟุต)

ประเทศลาวมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่หลายสาย โดยแม่น้ำซึ่งเป็นสายหัวใจหลักของประเทศ คือ แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศลาวเป็นระยะทาง 1,835 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญทั้งในด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมจากลาวเหนือไปจนถึงลาวใต้ และการใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แม่น้ำสายสำคัญของลาวแห่งอื่น ๆ ยังได้แก่

  • แม่น้ำอู (พงสาลี-หลวงพระบาง) ยาว 448 กิโลเมตร
  • แม่น้ำงึม (เชียงขวาง-เวียงจันทน์) ยาว 353 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งเหียง (สุวรรณเขต) ยาว 338 กิโลเมตร
  • แม่น้ำทา (หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว) ยาว 523กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซกอง (สาละวัน-เซกอง-อัตตะปือ) ยาว 320 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งไฟ (คำม่วน-สุวรรณเขต) ยาว 239 กิโลเมตร
  • แม่น้ำแบ่ง (อุดมไซ) ยาว 215 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซโดน (สาละวัน-จำปาศักดิ์) ยาว 192 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซละนอง (สุวรรณเขต) ยาว 115 กิโลเมตร
  • แม่น้ำกะดิ่ง (บอลิคำไซ) ยาว 103 กิโลเมตร
  • แม่น้ำคาน (หัวพัน-หลวงพระบาง) ยาว 90 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ประเทศลาวอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน มีลมมรสุมแต่ไม่มีลมพายุ สำหรับเขตภูเขาภาคเหนือและเขตเทือกเขา อากาศมีลักษณะกึ่งร้อนกึ่งหนาว อุณหภูมิสะสมเฉลี่ยประจำปี 15-30 องศาเซลเซียส และความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนมีประมาณ 10 องศาเซลเซียส จำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดต่อปีประมาณ 2,300-2,400 ชั่วโมง (ประมาณ 6.3-6.5 ชั่วโมงต่อวัน) ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมีประมาณร้อยละ 70-85 ปริมาณน้ำฝนในฤดูฝน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม) มีร้อยละ 75 - 90 ส่วนในฤดูแล้ง (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน) ปริมาณน้ำฝนมีเพียงร้อยละ 10-25 และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีของแต่ละเขตก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น เขตเทือกเขาบริเวณทางใต้ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 300 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณแขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยบุรี ได้รับเพียงแค่ 100-150 เซนติเมตร ส่วนแขวงเวียงจันทน์และแขวงสุวรรณเขตในช่วง 150-200 เซนติเมตร เช่นเดียวกับแขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว

ทรัพยากรธรรมชาติ

[แก้]

การคมนาคมในลาวเริ่มพัฒนาในสมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้การคมนาคม การเข้าถึงสินค้าสะดวกขึ้น และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวการสำรวจการค้าของป่าไม้ ความต้องการสัตว์ป่าและของป่าที่ไม่ใช้ไม้จากต่างประเทศ มีแผนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดทั้งมวลส่งผลต่อการเพิ่มการทำลายป่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ป่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าและจำกัดการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูก

เส้นทางการคมนาคม

[แก้]

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงและขาดการพัฒนา การขนส่งในลาวจึงมีข้อจำกัดมาก ในอดีตการติดต่อระหว่างเมืองหลวงกับพื้นที่อื่น ระหว่างหมู่บ้านหรือระหว่างชนเผ่าจึงมีจำกัด แม่น้ำโขงและแม่น้ำอูเป็นเส้นทางธรรมชาติที่เหมาะสมทางเรือ หมู่บ้านของชาวลาวที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสายเล็กจะใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม

ดูเพิ่ม

[แก้]

ประเทศลาว