พัน กี-มุน
พัน กี-มุน | |
---|---|
เลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 8 | |
ดำรงตำแหน่ง 1 มกราคม 2007 – 31 ธันวาคม 2016 | |
ก่อนหน้า | โคฟี แอนนัน |
ถัดไป | อังตอนียู กูแตรึช |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า | |
ดำรงตำแหน่ง 17 มกราคมพ 2004 – 10 พฤศจิกายน 2006 | |
ประธานาธิบดี | โน มูฮยอน |
ก่อนหน้า | ยุน ยังควาน |
ถัดไป | ซง มินซุน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | [1] เทศมณฑลอึมซ็อง จังหวัดชุงช็องเหนือ ดินแดนเกาหลี จักรวรรดิญี่ปุ่น | 13 มิถุนายน ค.ศ. 1944
เชื้อชาติ | เกาหลีใต้ |
ศาสนา | ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ[2][3] |
คู่สมรส | ยู ซุนแท็ก |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยนานาชาติโซล (B.A.) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (M.P.A.) |
ลายมือชื่อ (ภาษาเกาหลี) | |
ลายมือชื่อ | |
พัน กี-มุน (อักษรโรมัน: Ban Ki-moon; เกาหลี: 반기문; ฮันจา: 潘基文; อาร์อาร์: Ban Gi-mun; เอ็มอาร์: Pan Ki-mun) ประธานคณะกรรมการจริยธรรมในคณะกรรมการโอลิมปิกสากล[4] อดีตเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 8 ต่อจากโคฟี แอนนัน โดยได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2007 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง พันเคยเป็นนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ เขาได้ก้าวเข้าสู่พิธีการทูตตั้งแต่ปีที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยได้รับตำแหน่งแรกในนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในระหว่างการทำงาน เขาได้สร้างชื่อเสียงในด้านความถ่อมตนและความสามารถ
พันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2005 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 เขาเริ่มการรณรงค์หาเสียงสำหรับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ เดิมทีพันถูกพิจารณาว่ามีโอกาสเข้ารับตำแหน่งน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในฐานะรัฐมนตรี เขาสามารถเดินทางไปยังประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทุกประเทศได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เขาได้เปรียบมากขึ้น
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2006 เขาได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 8 เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2007 เขาสืบทอดตำแหน่งแอนนันสำเร็จ และนำการปฏิรูปครั้งสำคัญในการรักษาสันติภาพและปฏิบัติการการจัดวางกำลังของสหประชาชาติ ในทางการทูต พันได้ให้ความเอาใจใส่อย่างมากต่อความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ ที่ซึ่งเขาช่วยชักนำให้ประธานาธิบดีซูดาน อูมัร ฮะซัน อะห์มัด อัลบะชีร์ ยินยอมให้กองกำลังรักษาสันติภาพเข้าสู่ซูดาน ในประเด็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อน เขาได้กดดันปัญหาดังกล่าวหลายครั้งกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
ประวัติ
[แก้]พันสมรสกับนางยู ซูน แท็ก และมีลูกชาย 1 คน กับลูกสาว 2 คน ถึงแม้จะเป็นชาวเกาหลีใต้โดยกำเนิด แต่พันก็มีความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยมในทศวรรษที่ 60 พันชนะเลิศการแข่งขันภาษาอังกฤษซึ่งจัดขึ้นโดยสภากาชาดอเมริกัน ทำให้เขาได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและเข้าพบ จอห์น เอฟ. เคนเนดี อีกด้วย เขาระบุว่าตนเองเป็นคริสต์ศาสนิกชนซึ่งไม่ได้เข้ารีตนิกายใด ๆ
พันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซลใน 1970 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปีค.ศ. 1985
เลขาธิการสหประชาชาติ
[แก้]ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 พันประกาศที่จะสมัครเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากโคฟี แอนนัน ที่จะหมดวาระเมื่อสิ้น ค.ศ. 2006 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาวเกาหลีใต้ลงชิงตำแหน่ง โดยพันได้คะแนนนำเป็นอันดับหนึ่งทุกครั้งในการลงคะแนนหยั่งเสียงทั้ง 4 หนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีการจัดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม[5] 14 กันยายน[6] 28 กันยายน[7] และ 2 ตุลาคม[8]
จากผลการลงคะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พันได้รับเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 14 เสียงโดยไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่เสียงเดียว และอีก 1 เสียงซึ่ง "ไม่ลงคะแนน" นอกจากนั้น เขายังไม่ถูกคัดค้านโดยใช้วีโต้คัดค้านเลย ในขณะที่ผู้ลงสมัครที่เหลืออีก 5 คนนั้นถูกลงคะแนนคัดค้านโดยแต่ละชาติสมาชิกถาวร 5 ชาติ-ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา-อย่างน้อย 1 เสียง[9] หลังจากการลงคะแนนเสียง ชาชิ ธารูร์ ตัวแทนจากประเทศอินเดียซึ่งได้รับคะแนนเป็นอันดับสองได้ขอถอนตัวออกจากการคัดเลือกไปและกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเขารู้สึก "มั่นใจว่าพันจะชนะ" ขณะที่ผู้แทนถาวรของจีนต่อสหประชาชาติกล่าวว่า "ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดจากการหยั่งเสียงในวันนี้ว่าท่านรัฐมนตรีพัน คี มูนจะเป็นผู้ลงสมัครซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแนะนำแก่สมัชชาใหญ่"[10]
ในวันที่ 9 ตุลาคม คณะมนตรีความมั่นคงได้เลือกให้พันเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม สมาชิกสมัชชาใหญ่ทั้ง 192 ชาติก็มีมติแต่งตั้งให้พันเป็นว่าที่เลขาธิการสหประชาชาติ[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Warren Hoge (2006-12-09). "For New U.N. Chief, a Past Misstep Leads to Opportunity". The New York Times.
- ↑ "Correction: Ban Ki-moon". The Economist. 2007-01-11. สืบค้นเมื่อ 2007-08-02.
- ↑ "Transcript of Press Conference by Secretary-General-Designate Ban Ki-moon At United Nations Headquarters". un.org. 13 October 2006. สืบค้นเมื่อ 2007-12-15.
- ↑ "IOC elects former United Nations Secretary General Ban Ki-moon to head its Ethics Commission". 29 April 2021.
- ↑ "Ban takes 1st Straw Poll". UNSG.org. 2006-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-08. สืบค้นเมื่อ 2006-09-28.
- ↑ "Ban firms up lead in second Straw Poll". UNSG.org. 2006-09-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-12. สืบค้นเมื่อ 2006-09-28.
- ↑ "Ban slips but holds, Vike Freiberga pushes into third". UNSG.org. 2006-09-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-12. สืบค้นเมื่อ 2006-09-28.
- ↑ "Ban Ki-moon wins". UNSG.org. 2006-10-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-02.
- ↑ "Ban vows to reform U.N. if given top job". seattlepi.nwsource.com. 2006-10-03. สืบค้นเมื่อ 2006-10-09.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-07. สืบค้นเมื่อ 2006-10-16.
ก่อนหน้า | พัน กี-มุน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โคฟี แอนนัน | เลขาธิการสหประชาชาติ คนที่ 8 (1 มกราคม พ.ศ. 2550 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559) |
อังตอนียู กูแตรึช |