ข้ามไปเนื้อหา

พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมพ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยารามราชภักดี
(ใหญ่ ศรลัมพ์)
เกิด25 ธันวาคม พ.ศ. 2412
ถึงแก่กรรม11 สิงหาคม พ.ศ. 2469 (56 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตโรคลำไส้พิการ
บิดามารดา
  • พระยาไกรเพชร์รัตนสงคราม (หลำ ศรลัมพ์) (บิดา)

อำมาตย์เอก[1] พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมพ์) (25 ธันวาคม 2412 – 11 สิงหาคม 2469) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร

ประวัติ

[แก้]

พระยารามราชภักดี เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2412 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนามเดิมว่า ใหญ่ ศรลัมพ์ เป็นบุตรชายของ พระยาไกรเพชร์สงคราม (หลำ ศรลัมพ์) ศึกษาวิชาหนังสือไทย ณ สำนักพระอาจารย์เกิด วัดพิชัยบุรณราม จังหวัดอุทัยธานี เมื่ออายุครบบวชจึงได้บรรพชาเป็นพระภิกษุที่ วัดพิชัยบุรณราม

พอถึง พ.ศ. 2429 เมื่ออายุได้ 17 ปีจึงได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนจังหวัดอุทัยธานี อีก 3 ปีต่อมาคือในปี พ.ศ. 2432 ขณะอายุได้ 20 ปีจึงได้รับประทวนตราตั้งเป็นที่ หลวงพินิจสุภาแพ่ง ตำแหน่ง ผู้พิจารณาคดี จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2438 ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น ตุลาการศาลแพ่ง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2440 ทำการแทนหัวหน้าแผนกมหาดไทย จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 เนื่องในวันฉัตรมงคล หลวงพินิจสุภาแพ่ง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศเป็น พระพยุหาภิบาล ถือศักดินา ๒๐๐๐[2]

ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2450 โปรดเกล้าฯ ให้ พระพยุหาภิบาล ไปเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สืบแทน พระยาศรีสัชนาลัยบดี [3] โดยในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้ พระพยุหาภิบาล เป็น อำมาตย์โท[4]

ต่อมาในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปสักการะ พระพุทธชินราช ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ พระพยุหาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย เป็น พระยารามราชภักดี ถือศักดินา ๓๐๐๐[5]

จากนั้นในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 พระยารามราชภักดีได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรแทน พระยาวิเชียรปราการ ที่สลับไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย [6] กระทั่งวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2467 พระยารามราชภักดีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งและราชการเนื่องจากป่วยทุพลภาพพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 3 คนคือ อำมาตย์เอก พระยาสุริยศักดิ์สุนทร (พลุ้ย เปาโรหิตย์) ผู้ว่าราชการ จังหวัดหล่มศักดิ์ อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และ อำมาตย์โท พระยาประทุมธานี (ฟื้น กฤษณบัตร) ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี [7]

พระยารามราชภักดีถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคลำไส้พิการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2469 [8] ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ยศ

[แก้]

ยศเสือป่า

[แก้]
  • – นายหมู่ตรี
  • 14 มิถุนายน 2457 – นายหมู่เอก[9]
  • 9 กันยายน 2459 – นายหมวดโท[10]
  • 14 ตุลาคม 2463 – นายหมวดเอก[11]

ยศพลเรือน

[แก้]
  • 20 ธันวาคม 2461 – อำมาตย์เอก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชทานยศข้าราชการ (หน้า ๒๔๗๓)
  2. พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศ (หน้า ๔๙๓)
  3. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย (หน้า ๙๗๗)
  5. พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  6. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดมณฑลจังหวัด
  7. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  8. ข่าวตาย
  9. ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
  10. พระราชทานยศเสือป่า
  11. พระราชทานยศนายเสือป่า
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๙๘, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๕๙
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๒๔, ๑๘ มิถุนายน ๒๔๖๕
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕๑๘, ๔ มิถุนายน ๒๔๕๙
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๙๔๑, ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๘๗, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
  17. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๙๙, ๑๙ มีนาคม ๑๒๙