ข้ามไปเนื้อหา

บัณฑิต อึ้งรังษี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บัณฑิต อึ้งรังษี
เกิด (1970-12-07) 7 ธันวาคม ค.ศ. 1970 (54 ปี)
จังหวัดสงขลา ประเทศไทย
สัญชาติไทย
การศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกน
อาชีพวาทยกร
คู่สมรสแมรี่ อึ้งรังษี
(พ.ศ. 2544)
เว็บไซต์www.bundit.org

บัณฑิต อึ้งรังษี (ชื่อเล่น : ต้น) (เกิด 7 ธันวาคม พ.ศ. 2513) เป็นวาทยกรชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ บัณฑิตเป็นผู้ชนะเลิศ "ร่วม" การแข่งขันมาร์เซล วิล่า (Maazel-Vilar International Conducting Competition) [1] ซึ่งเป็นการแข่งขันอำนวยเพลงรายการใหญ่ ที่คาร์เนกีฮอลล์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2545 (มีผู้ชนะสองคน) และมีการจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว

ชีวิตงานดนตรี

[แก้]

การที่เขาได้รับรางวัลการแข่งขันคอนดักเตอร์ยกรระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น ที่ประเทศโปรตุเกส (รางวัลชนะเลิศ) ในปี พ.ศ. 2542 ที่ประเทศฮังการี ในปี พ.ศ. 2545 และล่าสุดที่ Carnegie Hall มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2545 ในการแข่งขัน Maazel-Vilar International Conducting Competition[2] โดยเป็นผู้ชนะเลิศจากผู้แข่งขัน 362 คนทั่วโลก จากการตัดสินของคณะกรรมการที่มีชื่อเสียงของโลกเช่น Lorin Maazel, Kyung-Wha Chung, Glenn Dicterow, Krzysztof Penderecki ฯลฯ

บัณฑิตได้รับเชิญไปอำนวยเพลงให้กับวงออร์เคสตร้าและโรงอุปรากร (Opera House) รวมกันแล้วมากกว่า 400 คอนเสิร์ต วงต่าง ๆที่เขาได้กำกับมาแล้วก็มีวง New York Philharmonic Orchestra, Los Angeles Philharmonic Orchestra, Orchestra Filarmonica di Arturo Toscanini, La Fenice ในเมืองเวนิส, Orchestra of Rome and Lazio และวงในประเทศต่าง ๆ เช่น สเปน ตุรกี เกาหลี ออสเตรีย ญี่ปุ่น รัสเซีย อิตาลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮังการี ฝรั่งเศส เยอรมนี เชคโกสโลวาเกีย มาเลเซีย ไทย โปรตุเกส และทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งคณะนักร้องประสานเสียงชื่อดังของโลก Mormon Tabernacle Choir ซึ่งถ่ายทอดสดออกอากาศทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้รับการเชิญหลายครั้งจาก Orchestra Internazionale d’Italia ในการตระเวณเปิดการแสดงทั่วเอเชีย

บัณฑิตได้เคยทำงานร่วมกับศิลปินชั้นนำของโลก เช่น Maxim Vengerov, Julia Migenes, the LaBeque Sisters, Paula Robison, Christopher Parkening, Christine Brewer และ Elmer Bernstein และเขายังได้รับการกล่าวขวัญถึงจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำคัญต่าง ๆ เช่น Los Angeles Times, New York Times, American Record Guide, Charleston Post and Courier, Deseret News, Salt Lake Tribune, Gramophone magazine, New York Magazine, L’Unione Sarda (อิตาลี), El Correo Gallego (สเปน) ฯลฯ

นอกเหนือจากการเดินทางไปกำกับวงต่าง ๆ บัณฑิตยังเคยดำรงตำแหน่งให้กับวง New York Philharmonic และวง Charleston Symphony Orchestras รวมทั้งเป็น Principal Guest Conductor ของ Seoul Philharmonic Orchestra ในประเทศเกาหลีใต้, Associate Conductor ของวง Utah Symphony, Music Director ของวง Debut Orchestra (Los Angeles), Apprentice Conductor ของวง Oregon Symphony Orchestra และ Assistant Conductor ของวง Santa Rosa Symphony

บัณฑิตได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ และ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และได้รับปริญญาตรีสองสาขา ทั้งทางด้านดนตรี และบริหารธุรกิจ ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาโทเอกการอำนวยเพลงที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา และศึกษาเพิ่มเติมในประเทศอิตาลี ออสเตรีย รัสเซีย เยอรมนี และฟินแลนด์ ใน ปีพ.ศ. 2541 เขาเป็นหนึ่งในวาทยกรรุ่นใหม่ 9 คนจากทั่วโลกที่ได้รับเชิญไปศึกษาที่ Carnegie Hall ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้รับทุน Leonard Bernstein Fellowship ไปศึกษาต่อกับ Seiji Ozawa ที่ Tanglewood Music Center ระหว่างเรียนได้ทำงานดนตรี ในฐานะวาทยกรสมัครเล่นมาโดยตลอด

ในประเทศบ้านเกิดของตนเอง คุณบัณฑิตได้รับความสนใจจากสื่อ ได้รับเชิญไปออกรายการทีวีและวิทยุ ที่สำคัญ ๆ คือ รายการเจาะใจ[3] ชีพจรโลก ตาสว่าง กว่าจะเป็นดาว กฤษณะล้วงลูก[4] ฯลฯ[5]

ปัจจุบันนี้บัณฑิตแบ่งเวลาให้กับการเดินทางไปกำกับวงออร์เคสตร้า การเขียนหนังสือทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และการเป็นวิทยากรพิเศษให้ความรู้กับนักธุรกิจ นิสิต นักศึกษาและองค์กรต่าง ๆ มากมาย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือทั้งสองเล่มของเขา ชื่อ "ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้" และ"30 วิธีเอาชนะโชคชะตา" ได้ติดอันดับหนังสือขายดี และตอนนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วภายใต้ชื่อว่า "Conduct Your Dreams" และ "The Luckiest Man in the World" ตามลำดับ จากนั้นเขามีผลงานการเขียนตามออกมาอีกหลายเล่ม ได้แก่ กฎแห่งความโชคดี, ดนตรีดีๆ ไม่มีกระได, ทำสิ่งที่รัก ยังไงก็รุ่ง, สำเร็จก่อนใคร, ดนตรีเป็นยาวิเศษ, คิดอย่างแชมป์โลก (ชื่อเดิม World Class สร้างคนไทยไประดับโลก), เชื่อมั่นในตน, คำคมกำลังใจ, เชื่อมั่นในตน 2, คำคมสำเร็จ และล่าสุดกับผลงานเรื่อง เกิดมาเพื่อชนะ

ผลงาน "การอัดเสียง" มีสองอัลบั้ม คือ Mozart in Love ที่อัดกับวง Charleston Symphony Orchestra ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ Elgar Violin Concerto ที่อัดให้กับ Naxos[6] และ DVD 2 อัลบั้ม คือ Beethoven Symphony No. 5 กับวง Orchestra Internazionale d’Italia และ Classics Meet Jazz กับวง Seoul Philharmonic Orchestra[7]

บัณฑิตได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็น "ทูตวัฒนธรรม" ในปี พ.ศ. 2549 และทั้งได้รับรางวัล "ศิลปาธร" ในปี 2548

บัณฑิตมีภรรยาเป็นนักร้องเพลงแจ๊สมืออาชีพชาวอเมริกันชื่อ แมรี่ อึ้งรังษี มีบุตรสาวด้วยกันสี่คน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-15. สืบค้นเมื่อ 2006-09-28.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-15. สืบค้นเมื่อ 2006-09-28.
  3. http://www.youtube.com/watch?v=wp8ZPOAlwWk&feature=channel_video_title
  4. http://www.youtube.com/watch?v=U2IHtSi-F64&feature=channel_video_title
  5. http://www.youtube.com/thebunditchannel
  6. http://www.naxos.com/catalogue/item.asp?item_code=8.572643-45
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-11. สืบค้นเมื่อ 2011-06-06.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]