นกยูงอินเดีย
นกยูงอินเดีย | |
---|---|
นกยูงอินเดียตัวผู้รำแพนหาง | |
หงอนบนหัวที่เป็นรูปพัดต่างจากนกยูงไทย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Galliformes |
วงศ์: | Phasianidae |
วงศ์ย่อย: | Phasianinae |
สกุล: | Pavo |
สปีชีส์: | P. cristatus |
ชื่อทวินาม | |
Pavo cristatus Linnaeus, 1758 | |
แผนที่แสดงถิ่นกระจายพันธุ์ |
นกยูงอินเดีย หรือ นกยูงสีน้ำเงิน (อังกฤษ: Indian peafowl, Blue peafowl; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo cristatus[2]) เป็นนกยูงชนิดหนึ่ง ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) พบกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ, ภูฏาน และศรีลังกา
มีขนาดเล็กกว่านกยูงไทย (P. muticus) ซึ่งเป็นนกยูงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนจนถึงแหลมมลายูเล็กน้อย ขนหงอนจะมีลักษณะเป็นรูปพัดต่างจากนกยูงไทยที่เป็นกระจุก สีของผิวหนังบริเวณหน้าจะมีสีขาว และมีสีดำคาดบริเวณตา ขนบริเวณคอและอกมีสีน้ำเงิน ขนบริเวณปีกเป็นลายสีขาวสลับกับสีดำ ขนตามลำตัวจะมีสีเขียวอมน้ำเงิน ด้านหลังเป็นเกล็ดคล้ายใบไม้ ในตัวเมียนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ ขนตามลำตัวเป็นสีน้ำตาล ขนคอและหลังจะมีสีอ่อนกว่าตัวผู้
นกยูงอินเดียตัวผู้ตัวเต็มวัย เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูสืบพันธุ์จะมีขนคลุมหางที่ยาวออกมา ประมาณ 2 เท่าของลำตัวหรือประมาณ 150 เซนติเมตร ประกอบด้วยขน 2 ประเภทด้วยกัน คือ ขนที่มีวงกลม ซึ่งเรียกว่า "แววมยุรา"[3] และขนที่อยู่บริเวณขอบ เรียกว่า "T Feathers" ซึ่งบริเวณนี้จะไม่มีแววมยุรา ขนคลุมหางของนกยูงหนึ่งตัวจะประกอบด้วยขนคลุมหางประมาณ 200 เส้น แบ่งเป็นขนที่มีแววมยุรา ประมาณ 170 เส้น และขนคลุมหางที่เป็นขอบหรือ T-feathers อีกประมาณ 30 เส้น ซึ่งขนคลุมหางนี้จะมีเพื่อการเกี้ยวพาราสีตัวเมียในฤดูสืบพันธุ์ ที่เรียกว่า "การรำแพน" [4][5]
นกยูงอินเดียวางไข่ ครั้งละ 5-8 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 28 วัน และในระยะที่เป็นวัยอ่อนนั้นจะมีความแตกต่างกับนกยูงที่ตัวโตเต็มวัยทั้งสีขนและขนาดของลำตัว ลูกนกยูงในวัยนี้จะไม่สามารถระบุเพศได้จากการสังเกตลักษณะและสีของขนจากภายนอก จนกว่าลูกนกจะมีอายุ 8 เดือน จึงจะสามารถระบุเพศด้วยจากการสังเกตลักษณะภายนอกและสีของขนได้ แต่ถ้ามองผิวเผินอาจจะเหมารวมได้ว่าเป็นลูกนกชนิดเดียวกันดังนั้นจะต้องสังเกตอย่างละเอียด โดยลูกของนกยูงไทยจะมีสีเขียวเป็นมันเหลือบบริเวณปลายขนแต่ละเส้นจะมีสีน้ำตาลแต้ม ขนบริเวณหัวและคอจะมีสีเขียวเป็นมันเหลือบและจะมีขนสีขาวแซมประปราย ขนปลายปีกจะมีสีน้ำตาลทองและมีสีดำแต้มบ้าง ส่วนลูกนกยูงอินเดียจะมีลักษณะแตกต่างกันที่ขน บริเวณลำตัวและหลังจะมีลายสีน้ำตาลประทั้งเส้น ขนบริเวณคอจะมีสีขาวเทาและมีสีเขียวเป็นมันเหลือบแซมประปราย ส่วนขนบริเวณคอส่วนล่างและหน้าอกจะเริ่มเห็นสีน้ำเงินแซมเป็นจุด ๆ ขนปลายปีกจะมีสีน้ำตาลลายดำ เมื่อมองโดยรวมก็จะพบว่าลูกนกยูงอินเดียจะมีสีที่อ่อนและหม่นกว่าลูกนกยูงไทย [6][7]
มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงในป่าดงดิบทึบ ตัวผู้ชอบทำลานเอาไว้รำแพนหาง และจะรักษาความสะอาดลานอย่างดี เป็นนกที่ระวังตัวมากและสายตาไวมาก ยากที่จะเข้าใกล้ตัวได้ จะบินหนีก่อน เป็นนกที่บินเก่ง ชอบนอนที่สูงและชอบร้องเวลาเช้าและเย็น เป็นนกที่จดจำที่อยู่ของตนได้เป็นอย่างดี[8] [9]
นกยูงอินเดีย ถือเป็นสัตว์ประจำชาติของอินเดีย ในต้นปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐกัว รัฐทางทิศตะวันออกติดชายฝั่งของอินเดียมีความพยายามจะจัดให้นกยูงอินเดียเป็นสัตว์รำคาญ ซึ่งสามารถฆ่าได้ ทำลายได้ เพราะมองว่าสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตร แต่เรื่องนี้ก็มีการคัดค้านอย่างกว้างขวาง[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ BirdLife International 2012 (2013.1). Pavo cristatus. In: IUCN 2013.1. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2013-10-06.
- ↑ Linnaeus, Carl (1758). Systema naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I. Editio decima, reformata. Holmiae. (Laurentii Salvii). (ละติน)
- ↑ Fitzpatrick J (1923). "Folklore of birds and beasts of India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 28 (2): 562–565.
- ↑ Whistler, Hugh (1949). Popular handbook of Indian birds (4 ed.). Gurney and Jackson, London. pp. 401–410. ISBN 1-4067-4576-6.
- ↑ Blanford, WT (1898). The Fauna of British India, Including Ceylon and Burma. Birds. Vol. 4. Taylor and Francis, London. pp. 681–70.
- ↑ "Common (Indian) Peafowl". Rolling Hills Wildlife Adventure. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
- ↑ Vyas, R (1994). "Unusual breeding site of Indian Peafowl". Newsletter for Birdwatchers. 34 (6): 139.
- ↑ Ali, S and Ripley, S D (1980). Handbook of the birds of India and Pakistan. Vol. 2 (2 ed.). Oxford University Press. pp. 123–126. ISBN 0-19-562063-1.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Dodsworth, PTL (1912). "Occurrence of the Common Peafowl Pavo cristatus, Linnaeus in the neighbourhood of Simla, N.W. Himalayas". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 21 (3): 1082–1083.
- ↑ "อึ้ง!'นกยูง'สัตว์รำคาญ-ฆ่าได้". คมชัดลึก. 13 February 2016. สืบค้นเมื่อ 14 February 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pavo cristatus ที่วิกิสปีชีส์