ถนนสุทธิสารวินิจฉัย
ถนนสุทธิสารวินิจฉัย | |
---|---|
ถนนสุทธิสารวินิจฉัยช่วงทางแยกรัชดา-สุทธิสารถึงซอยเกตุนุติ | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 4.5 กิโลเมตร (2.8 ไมล์) |
ประวัติ | |
ตำแหน่งที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ระบบทางหลวง | |
ถนนสุทธิสารวินิจฉัย หรือนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า ถนนสุทธิสาร เป็นถนนที่ตั้งชื่อตามราชทินนามของเจ้าของที่ดินช่วงต้นถนน คือ พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) ซึ่งทายาทและผู้อนุบาลของพระสุทธิสารวินิจฉัยได้ยกที่ดินให้ราชการตัดถนน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระสุทธิสารวินิจฉัย[1]
ถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ถนนพหลโยธินช่วงใกล้ทางแยกสะพานควายฟากทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนวิภาวดีรังสิตที่ทางแยกสุทธิสารบริเวณหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสุทธิสาร ตัดผ่านถนนรัชดาภิเษกที่ทางแยกรัชดา-สุทธิสาร และสิ้นสุดที่สะพานข้ามคลองลาดพร้าว โดยบรรจบกับซอยลาดพร้าว 64 แยก 4 (ซอยเกตุนุติ) รวมระยะทางทั้งสิ้น 4.5 กิโลเมตร ส่วนซอยต่าง ๆ ที่แยกจากถนนสุทธิสารวินิจฉัยในระยะ 500 เมตรแรกจากถนนพหลโยธิน ใช้ชื่อซอยว่า "ซอยสุทธิสารวินิจฉัย" จำนวน 3 ซอย ส่วนซอยในถนนช่วงพ้นระยะ 500 เมตรแรกจากถนนพหลโยธินเป็นต้นไป ใช้ชื่อซอยว่า ซอยอินทามระ มีจำนวน 59 ซอย โดยตั้งชื่อตามนามสกุลของพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ หัวหน้ากองคลังของกรมตำรวจ ผู้ตัดถนนต่อจากถนนสุทธิสารวินิจฉัยเดิมเข้าสู่ที่ดินของกรมตำรวจ เพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจในเวลานั้น
ปัจจุบัน ชื่อ "สุทธิสาร" และ "สุทธิสารวินิจฉัย" ได้ถูกนำไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ถนนตัดผ่าน ทั้งของทางราชการและเอกชน เช่น สถานีสุทธิสาร ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล, สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]การตัดถนนสุทธิสารวินิจฉัยมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 กรมตำรวจได้มีโครงการจัดสรรที่ดินของกรมตำรวจบริเวณด้านข้างสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อเพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจในเวลานั้น แต่เนื่องจากกรมตำรวจเป็นหน่วยงานราชการ จึงมีการมอบหมายให้พลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ หัวหน้ากองคลังของกรมตำรวจ เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินการ
ในเวลานั้นที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจยังไม่มีเส้นทางสู่ถนนสาธารณะ ที่ดินด้านทิศตะวันออกยังไม่มีถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนที่ดินด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นจึงได้เจรจากับศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ทายาทผู้เป็นบุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย ขอซื้อที่ดินเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน บุตรและธิดาทั้งสามของพระสุทธิสารวินิจฉัยจึงได้ตกลงยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยขอให้ใช้ชื่อว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัยตามราชทินนามของบิดาเพื่อเป็นอนุสรณ์
เมื่อได้รับมอบที่ดินตอนหน้าด้านทิศตะวันตกมาจากทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยแล้ว กรมตำรวจจึงได้ดำเนินการตัดถนนเข้าสู่ที่ดินจัดสรรจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2503 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกรมตำรวจ (สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ) จึงได้มีมติให้ตั้งชื่อถนนตัดใหม่ในที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจข้างสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ โดยให้แบ่งเป็นสองตอน คือ
- ที่ดินตอนหน้าของพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) ให้ตั้งชื่อว่า "ถนนสุทธิสารวินิจฉัย" มีระยะจากถนนพหลโยธิน (สะพานควาย) เข้าไป 500 เมตร
- ที่ดินตอนหลังของกรมตำรวจ ให้ตั้งชื่อว่า "ถนนอินทามระ" ตามนามสกุลของพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ หัวหน้ากองคลังของกรมตำรวจในขณะนั้น มีระยะต่อจากถนนสุทธิสารวินิจฉัยเป็นต้นไป[2]
ภายหลังกรุงเทพมหานครได้ตัดถนนสุทธิสารวินิจฉัยเพิ่มเติมตั้งแต่ทางแยกรัชดา-สุทธิสาร ไปจนบรรจบกับซอยเกตุนุติ (ซอยลาดพร้าว 64) เมื่อ พ.ศ. 2524[3] ซึ่งถนนตัดใหม่ตั้งแต่แยกรัชดา-สุทธิสาร จนถึงคลองลาดพร้าวยังคงใช้ชื่อว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัยเช่นเดิม ส่วนถนนตั้งแต่คลองลาดพร้าวจนถึงซอยเกตุนุติ (ลาดพร้าว 64) เป็นซอยลาดพร้าว 64 แยก 4
กรณีพิพาทเรื่องชื่อถนน
[แก้]ในปี พ.ศ. 2547 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเรียกชื่อถนน ตรอก ซอย ตามมาตรฐานสากลให้เหมือนกันทั้ง 50 เขต จึงได้เปลี่ยนชื่อถนนอินทามระให้เป็นชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยตลอดทั้งสาย เนื่องจากกรุงเทพมหานครเห็นว่าประชาชนรู้จักแต่ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยมานานแล้ว แต่ยังคงชื่อซอยอินทามระทั้ง 59 ซอยไว้ตามเดิม นายกฤษฎา อินทามระ ทายาทของพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวของทางกรุงเทพมหานคร[4]
ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกฟ้องในกรณีที่มีผู้ฟ้องร้องให้กรุงเทพมหานครเปลี่ยนชื่อถนนเป็นชื่ออื่น โดยศาลปกครองได้พิจารณาข้อเท็จจริงของคดีแล้ว ปรากฏว่า ที่ดินนี้เป็นของ นายจิรายุวัต บุนนาค ผู้อนุบาลพระสุทธิสารวินิจฉัย ได้ยกให้ทางราชการเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระสุทธิสารวินิจฉัย ส่วนที่ดินด้านในเป็นของกรมตำรวจเดิม ได้ใช้ชื่อสกุลของหัวหน้ากองคลังของกรมตำรวจในสมัยนั้น ส่งผลให้ถนนสายนี้มีชื่อเรียกเป็น 2 ชื่อ แต่หากพิจารณาจากสภาพพื้นที่ในขณะนั้น เชื่อได้ว่า ชื่ออื่นที่ใช้นั้นเป็นเพียงชื่อถนนที่เข้าสู่ที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจเท่านั้น ไม่ใช่ถนนสายหลักในปัจจุบัน และในระบบทะเบียนของผู้อำนวยการเขตพญาไทและผู้อำนวยการเขตดินแดงได้ใช้ชื่อถนนสายนี้ว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัยมานานแล้ว ศาลจึงพิจารณาจากประวัติความเป็นมาการได้มาของที่ดินเพื่อสร้างถนน เพื่อเป็นการเชิดชูชื่อเสียง เกียรติยศ เพื่อเป็นอนุสรณ์ความดีงามให้กับเจ้าของที่ดิน จึงตัดสินยกคำฟ้องที่มีผู้ฟ้องให้ใช้ชื่อถนนเป็นชื่ออื่นเสีย[5][6]
ทายาทของพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดและมีการต่อสู้คดีกันอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้กรุงเทพมหานครและผู้ถูกฟ้องอื่น ๆ พิจารณาดำเนินการในเรื่องการกำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระทั้ง 59 ซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด[4] เนื่องจากการดำเนินการของกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามประวัติทะเบียนถนน พ.ศ. 2503 อีกทั้งไม่เคยปรากฏว่า กรุงเทพมหานครเคยรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อถนนดังกล่าว[7][8]
หลังการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด กรุงเทพมหานครตัดสินใจไม่เปลี่ยนชื่อถนนตามที่มีข้อพิพาท โดยอ้างว่าได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนตามคำพิพากษาแล้ว[9] แม้นายกฤษฎาจะยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครอีกครั้งในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องเพราะยังไม่เข้าข่ายเป็นคดีที่มีความผิด ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา[10][11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิสารวินิจฉัย ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2521, สยามอาร์คิดการพิมพ์ 664/113 ซ.ธีระ ถนนจรัลสนิทวงศ์: 2521
- ↑ "สืบค้นประวัติ พระสุทธิสารวินิจฉัย-พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ สู่บรรทัดฐานยกที่ดินให้สาธารณะ". สำนักข่าวอิศรา. 27 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายเชื่อมถนนสุทธิสารวินิจฉัยกับถนนลาดพร้าวตามซอยเกตุนุติ พ.ศ. ๒๕๒๔ [ในท้องที่แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง และแขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร]., เล่ม 98, ตอน 131 ก ฉบับพิเศษ, 13 สิงหาคม พ.ศ. 2524, หน้า 29
- ↑ 4.0 4.1 "ผอ.เขตพญาไท ยังไม่เห็นหนังสือสั่งการ หลังศาล ปค.ให้ กทม. เปลี่ยนชื่อ ถ.สุทธิสารฯ เป็น 'อินทามระ'". สำนักข่าวอิสรา. 25 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ศาลปกครองยกฟ้องทายาทตระกูล 'อินทามระ' ร้อง กทม. ไม่คงชื่อถนน". ไทยรัฐออนไลน์. 17 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ยกฟ้องทายาทตระกูล "อินทามระ" ร้องขอใช้ชื่อถนนแทน "สุทธิสารวินิจฉัย"". ผู้จัดการออนไลน์. 17 สิงหาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-25. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "กทม.แพ้คดี เปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสารฯ". ไทยรัฐออนไลน์. 22 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "วุ่น! เลิกใช้ชื่อ "ถนนสุทธิสารวินิจฉัย" เปลี่ยนเป็น "ถนนอินทามระ" หลัง กทม.แพ้คดี". ผู้จัดการออนไลน์. 25 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-25. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "กทม.สรุปไม่เปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสาร ทั้งที่แพ้คดี "อินทามระ"". ไทยรัฐ. 2018-01-10. สืบค้นเมื่อ 2019-05-28.
- ↑ "ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ไม่รับพิจารณาคดี กทม.ไม่เปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสาร". วอยซ์ทีวี. 2018-09-10. สืบค้นเมื่อ 2019-05-28.
- ↑ "ตระกูลอินทามระ เตรียมยื่นฎีกา เปลี่ยนชื่อถนนใน 30 วัน". สปริงนิวส์. 2018-09-10. สืบค้นเมื่อ 2019-05-28.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนสุทธิสารวินิจฉัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์