ตำหรับสายเยาวภา
ผู้ประพันธ์ | พระประยูรญาติในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท |
---|---|
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ภาษาไทย |
ประเภท | ตำราอาหาร |
ตำหรับสายเยาวภา เป็นตำราอาหารที่เป็นการรวบรวมตํารับอาหารส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยสายปัญญาสมาคม เพื่อเป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท
พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์และหม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ มีความประสงค์ที่จะจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท จึงได้ชักชวนพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์ เลือกเฟ้นเขียนตำราปรุงอาหาร โดยมีหม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ เป็นผู้รวบรวม และหม่อมหลวงติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ กับคุณหญิงติ๊ สีหศักดิ์สนิทวงศ์ ช่วยหม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ คัดแยกหมวดหมู่กับข้าว และช่วยเขียนคำอธิบายวิธีการฝีมือในการจัดปรุงอาหาร หม่อมราชวงศ์ดัน สนิทวงศ์ ช่วยเขียนคำอธิบายคุณสมบัติของวัตถุที่ประกอบอาหารทางเทคนิคโดยละเอียด[1]
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระอนุชา ได้ประทานลิขสิทธิ์ของตำราเล่มนี้แก่หม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ อาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนสายปัญญา และเป็นธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ภายหลังมีการตีพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2482, พ.ศ. 2494 จนถึง พ.ศ. 2514[2]
เนื้อหาอาจแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ ตํารับอาหารของพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารฝรั่งและอาหารจีน แต่ทรงดัดแปลงให้เป็นไทย เช่น ซูปผักโหมหรือซุปผักโขม ซุปสาคู และแกงจืดจากผลไม้ไทย เป็นต้น อีกกลุ่มเนื้อหา คือ ตํารับอาหารในสายราชสกุลสนิทวงศ์และผู้ใกล้ชิด สูตรอาหารเช่น อาหารฝรั่งที่มักมีวิธีการทำไม่ซับซ้อน และอาหารไทยบางตำรับที่ลดความซับซ้อนลง[3] มีหลายตํารับที่คิดค้นหรือดัดแปลงขึ้นใหม่ รวมทั้งตั้งชื่อใหม่ด้วย เช่น "แกงตูมี้" และ "ไข่ฟูใจน้อย" เป็นต้น ตํารับในส่วนที่เป็นของสมาชิกในราชสกุลสนิทวงศ์นั้น มีทั้งที่เป็นตํารับของเจ้านายและราชสกุลฝ่ายชาย เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ในขณะที่ตํารับอาหารส่วนใหญ่เป็นตํารับที่ตกทอดมายังสายของสะใภ้ในราชสกุล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ตำหรับสายเยาวภา: บอกวิธีปรุงอาหารคาวหวาน มีภาพประกอบ".
- ↑ สุนทรี อาสะไวย์. "ที่มาของอาหารชาววัง "สายเยาวภา" สู่ตำราอาหารของพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. "เมื่อ "ตำรับกับข้าวชาววัง" ออกสู่โลกกว้าง".