ฐานตั้งระบบศูนย์สูตร
ฐานตั้งระบบศูนย์สูตร (อังกฤษ: equatorial mount) เป็นอุปกรณ์สำหรับตั้งเครื่องมือให้หมุนไปตามระบบพิกัดศูนย์สูตร คือมีแกนการหมุนตั้งขนานกับแกนการหมุนของโลก สามารถหมุนไปตามการหมุนของทรงกลมท้องฟ้า[1][2] ฐานตั้งแบบนี้มักใช้ในกล้องโทรทรรศน์ จานดาวเทียม และ กล้องถ่ายภาพ ข้อดีของการใช้ฐานตั้งเป็นระบบศูนย์สูตรคือช่วยให้อุปกรณ์ที่ติดอยู่กับวัตถุนั้นสามารถติดตามวัตถุใด ๆ บนท้องฟ้าตามการหมุนรอบตัวเองของโลก โดยขับเคลื่อนเพียงแกนเดียวด้วยอัตราเร็วคงที่ เมื่อใช้กับจานดาวเทียม การติดตั้งฐานตั้งเป็นระบบศูนย์สูตรจะช่วยให้สามารถชี้ตำแหน่งของดาวเทียมพ้องคาบโลกหลายดวงพร้อมกันได้ด้วยการหมุนเพียงแกนเดียว
ภาพรวม
[แก้]ฐานตั้งระบบศูนย์สูตรตั้งอยู่บนระบบพิกัดศูนย์สูตร ซึ่งประกอบด้วยแกนนอนคือไรต์แอสเซนชันและแกนตั้งคือเดคลิเนชันซึ่งตั้งฉากกัน ที่แกนไรต์แอสเซนชันมักติดตั้งกลไกขับเคลื่อนให้หมุนด้วยอัตราเร็วคงที่ไปตามเวลาโดยมีคาบการหมุนเป็น 23 ชั่วโมง 56 นาทีตามการหมุนรอบตัวเองของโลก นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดค่าด้วยแป้นหมุนปรับค่าซึ่งสามารถแสดงระบบพิกัดทรงกลมท้องฟ้าของเทห์ฟากฟ้าได้โดยตรง
ฐานตั้งระบบศูนย์สูตรแตกต่างจากฐานตั้งระบบขอบฟ้า ซึ่งมีกลไกง่ายกว่าแต่ต้องหมุนแกนสองแกนด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในการติดตามเทห์ฟากฟ้าที่จับจ้องอยู่บนทรงกลมท้องฟ้า
ในอดีตฐานตั้งระบบศูนย์สูตรเคยได้รับความนิยมมากตามหอดูดาวสำคัญหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม นับวันจะยิ่งถูกแทนที่ด้วยฐานตั้งระบบขอบฟ้า เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้โครงสร้างของฐานตั้งระบบขอบฟ้าเสถียรขึ้น การควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ทำให้ง่ายต่อการติดตามวัตถุท้องฟ้าเป้าหมาย ดังนั้นในหอดูดาวที่ออกแบบใหม่ ฐานตั้งระบบศูนย์สูตรไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับในแวดวงดาราศาสตร์สมัครเล่น ฐานตั้งกล้องแบบศูนย์สูตรยังถือว่าค่อนข้างพบได้ทั่วไปอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "LAS MONTURAS". Observatorio J. A. Soldevilla. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-28. สืบค้นเมื่อ 2010-09-29.
- ↑ "Observatorio ARVAL - Polar Alignment for Meade LXD55/75 Autostar telescopes". Observatorio ARVAL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-03. สืบค้นเมื่อ 2010-09-29.