ข้ามไปเนื้อหา

ฌอร์ฌ บรัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฌอร์จ บรัก
George Braque
เกิด13 พฤษภาคม ค.ศ. 1882
Le Havre
เสียชีวิตค.ศ. 1963 (81 ปี)
สัญชาติฝรั่งเศส
อาชีพศิลปิน

ฌอร์ฌ บรัก (ฝรั่งเศส: George Braque) เป็นศิลปินในคติโฟวิสต์และต่อมาในบาศกนิยม บรักเกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1882 เติบโตในเมืองเลออาฟร์ (Le Havre) และเริ่มศึกษาศิลปะที่โรงเรียนศิลปะในเมืองนี้เมื่ออายุ 17 ปี เขาได้รับการฝึกฝนเป็นช่างทาสีและตกแต่งบ้านเหมือนพ่อและปู่ของเขา บรักมุ่งมั่นจะเป็นมัณฑนากรมากกว่าจิตรกร เขาใช้เวลากลางวันทำงาน และในช่วงเย็นก็ได้เรียนทักษะงานจิตรกรรมด้วยตั้งแต่ปี 1897-1899 ในปีถัดมาเขาก็ได้ย้ายเข้าสู่กรุงปารีสเพื่อศึกษาต่อ และเมื่อชีวิตของเขาก็ได้มาพบกับดูฟีและฟิทซ์ ศิลปินในคติโฟวิสต์ ทำให้เขาหันเหสู่การสร้างสรรค์จิตรกรรมและรวมกลุ่มกับศิลปินคติโฟวิสต์

รูปแบบการทำงาน

[แก้]

คติโฟวิสต์

[แก้]

งานเริ่มแรกของบรักนั้นเป็นงานแบบอย่างลัทธิประทับใจ แต่หลังจากที่เขาได้เห็นผลงานของกลุ่มคติโฟวิสต์ ซึ่งในตอนนั้นบรักเป็นศิษย์ของลิออง บองนาท์ ที่เอกอลเดโบซาร์ ซึ่งที่นี่เขาได้พบกับดูฟี และ ฟิทซ์ ผู้ที่เป็นชาวเมืองเลออาฟร์เช่นเดียวกัน และทั้งคู่ต่างสนใจและปฏิบัติตามหลักของคติโฟวิสต์ จึงโน้มน้าวบรักให้เข้าร่วมกลุ่มด้วย ซึ่งตัวของบรักเองก็มีความประทับใจในผลงานของศิลปินกลุ่มนี้อยู่แล้ว เมื่อคราวเปิดงานแสดงเป็นครั้งแรกที่ ซาลงโดตอน (Salon d’Automme) เขาจึงเข้าร่วมกลุ่มทำการวาดภาพตามหลักของคติโฟวิสต์ และในระยะเวลาไม่กี่ปีที่เข้ามาสู่วงการศิลปะ บรักประสบความสำเร็จด้านการเงินจากการจำหน่ายภาพได้มากคนหนึ่ง เพราะเป็นคนมีฝีมือและเทคนิคดี เห็นได้จาก ในค.ศ. 1907 บรักประสบความสำเร็จในการแสดงผลงานแบบโฟวิสต์ ซึ่งคาห์น ไวเลอร์ นักธุรกิจศิลป์ผู้สนับสนุนศิลปะร่วมสมัย ได้ทำสัญญาผูกขาดซื้องานของบรักทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยจัดงานแสดงส่วนตัวเป็นครั้งแรกที่หอศิลป์ของเขาเองอีกด้วย

รูปแบบของบรักค่อย ๆ มีวิวัฒนาการไปอย่างช้า ๆ โดยได้รับอิทธิพลจากผลงานเก่า ๆ ของปอล เซซาน ที่ซาลงโดตอน และเกิดผลกระทบอย่างมากต่อศิลปินล้ำยุคในปารีส และในปีเดียวกันนี้อาปอลีแนร์ ผู้เป็นนักวิจารณ์และกวีคนสำคัญคนหนึ่ง ได้แนะนำบรักให้รู้จักกับปาโบล ปีกัสโซ และทั้งสองต่างสนิทสนมจนกลายเป็นเพื่อนรักในระยะเวลาอย่างรวดเร็ว และต่างช่วยกันค้นคิดหาแนวทางศิลปกรรมแนวใหม่ อีกทั้งยังร่วมมือศึกษาและทำงานร่วมกันบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดลัทธิใหม่อย่างบาศกนิยมขึ้นมาในที่สุด

บาศกนิยม

[แก้]
George Braque,Portugese,1911 ,Oil on canvas 116.8 cm × 81 cm Kunstmuseum Basel, Switzerland

งานจิตรกรรมของบรักในปี 1908-1913 ได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจใหม่ของบรักในเรื่องของรูปทรงเรขาคณิตและทัศนียภาพที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ซึ่งเขาทำการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้แสงและทัศนียวิทยา ในภาพวาดคนเปลือยของเขาระยะนี้เน้นให้เห็นถึงการเอาใจใส่ในโครงสร้างของรูปทรงอย่างชัดเจน รูปร่างมีความง่ายและตัดเส้นรอบนอกด้วยรูปสีดำ หนักและหนา พื้นหลังภาพมีรายละเอียดปรากฏเป็นรูปเหลี่ยมใหญ่ มีแง่มุม ซึ่งในระหว่างปี ค.ศ. 1908-1909 นั้นเขาได้วาดภาพทิวทัศน์ไว้หลายภาพ โดยเริ่มต้นจากหลักความคิดของพอล เซซาน แล้วค่อยพัฒนาเข้าสู่หลักทฤษฎีของลัทธิคิวบิสม์ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้หลักเกณฑ์เก่าๆ ที่ทำให้ภาพเกิดมิติและรูปวัตุในช่องว่าง เขาได้สร้างภาพให้เต็มไปด้วยพื้นระนาบ มีการใช้เส้นแบบเรขาคณิต ไม่เพียงเท่านั้น เขากับปิกัสโซ ร่วมมือกันคิดค้นให้ลึกซึ้งลงไปอีก มีการวิเคราะห์ความเป็นนามธรรมของรูปทรง ทั้งคู่ได้ถึงจุด เฮอเมทิคสไตล์ (Hermetic Style) คือรูปทรงที่ทึบตัน ประมาณปี ค.ศ. 1911

บรักถือได้ว่าเป็นจิตรกรคนแรกที่นำตัวหนังสือมาใช้กับภาพจิตรกรรม ซึ่งอาจมีผู้ทำมาก่อนแต่ไม่เด่นชัดมากเท่านี้ เห็นได้จากภาพชื่อ “ชาวโปรตุเกส” ที่วาดขึ้นในปี ค.ศ. 1911 ส่วนการใช้เศษวัสดุต่างๆเช่น กระดาษ ผ้า หรือที่เรียกกันว่า งานคอลลาจ นั้น ได้ใช้ในปีถัดมา ซึ่งบรักสามารถผสมสิ่งที่อ่านได้ เช่น ตัวหนังสือ เข้ากับความจริงอันเป็นรูปธรรมปรากฏในผลงาน ทั้งยังเพิ่มคุณค่าในด้านความงามแบบมัณฑนศิลป์ หรือแบบศิลปะตกแต่ง ดังเช่นการใช้กระดาษที่หยาบหรือมีลวดลายต่างๆกัน เพิ่มรอยพื้นผิว (อังกฤษ: texture) ทำให้ผลงานของเขานั้นดูสนุกตามากยิ่งขึ้น และเมื่อต้นปี ค.ศ. 1930 ความเคลื่อนไหวของลัทธิคิวบิสม์เบาลง เมื่อศิลปะนิยมแบบเซอเรียลลิสม์ได้รับความนิยมแทนที่ ในขณะที่ผลงานของปิกัสโซหันเหไปทำงานตามแนวลัทธิใหม่ แต่บรักยังคงยืนหยัดทำงานแนวคิวบิสม์ต่อไป นอกจากนี้ยังหันไปทำงานประติมากรรมด้วย ส่วนมากจะเป็นภาพของสัตว์ต่างๆ เช่น ม้า ปลา เป็นงานชิ้นเล็กๆ และมีลักษณะแบนซึ่งให้ความงามแบบเรียบๆ และมีเสน่ห์ ได้รับความนิยมจากนักออกแบบที่ระลึกนำไปดัดแปลงเป็นศิลปะตกแต่งบ้าน


อ้างอิง

[แก้]
  • Dora Vallier .Braque : the complete graphics ( New York : Gallery Books, 1982)
  • Braque : still lifes and interiors (London : South Bank Centre, 1990)
  • Jean Leymarie. Georges Braque (New York : Solomon R. Guggenheim Museum, 1988)
  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545).

แหล่งข้อมูลอื่นๆ

[แก้]