คลองบางบำหรุ
คลองบางบำหรุ เป็นคลองสายหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่คลองพระคุณแม่ (หรือคูน้ำพระคุณพ่อแม่) ตรงแนวแบ่งเขตระหว่างตำบลบางกรวยกับตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ไหลไปทางทิศใต้ ลอดผ่านทางรถไฟสายใต้เข้าท้องที่แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร จากนั้นวกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลอดผ่านถนนสิรินธรเข้าท้องที่แขวงบางบำหรุ และลอดผ่านถนนบรมราชชนนีเข้าท้องที่แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ก่อนไหลไปลงคลองบางกอกน้อยฝั่งซ้าย ปากคลองเป็นที่ตั้งของวัดนายโรง คลองมีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร และมีความกว้างประมาณ 4–7 เมตร
คลองบางบำหรุเป็นเส้นทางน้ำเก่าแก่ ปรากฏอยู่ในโครงนิราศหลายเรื่อง เช่น กำสรวลสมุทร วรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น[ก]
ฝ่ายสยงสุโนกไห้ | หานาง แม่ฮา | |
รยมทนนทึงแทงโลม | ลิ่นเล้า |
มาดลบำรุะคราง | ครวญสวาสดิ | |
ให้บำรุะหน้าเหน้า | จอดใจ ฯ |
บำรุะบำราษแก้ว | กูมา | |
จักบำรุงใครใคร | ช่วยได้ |
บรับบเร่อมอา | บ่ร่าง ละเลอย | |
โอ้บเร่อมน้องให้ | ไฝ่เหนสองเหน ฯ |
ยังมีนิราศหลายเรื่องที่กล่าวถึงบางบำหรุระหว่างการเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้แก่ นิราศพระประธม ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท, นิราศพระประธม ของสุนทรภู่ และ นิราศพระปฐม ของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์)[1]
ย่านบางบำหรุเป็นแหล่งสวนมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีผลไม้ขึ้นชื่อคือสับปะรดบางบำหรุ[2] ในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 บริเวณปากคลองบางบำหรุมีตลาดน้ำ[3]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ อย่างไรก็ตาม ผู้แต่ง กำสรวลสมุทร ซึ่งเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม (ในเวลานี้คือคลองอ้อมและคลองบางกรวย) ได้กล่าวถึง "บางบำหรุ" ไว้ก่อนที่จะกล่าวถึงบางเขน ดังนั้น "บางบำหรุ" ในโคลงนิราศนี้จึงอาจไม่ได้หมายถึงคลองบางบำหรุตรงวัดนายโรง แต่อาจหมายถึงทางน้ำสายอื่นที่มีชื่อว่าบางบำหรุเช่นกันในเวลานั้น หรือไม่ก็อาจหมายถึงคลองบางบำหรุสายเดียวกันนี้ โดยในสมัยนั้นอาจเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมช่วงที่เป็นคลองบางกรวยกับช่วงที่เป็นคลองบางกอกน้อยทุกวันนี้ แต่ลำคลองตอนบนได้ตื้นเขินลงในสมัยต่อมา ทั้งนี้ ทางน้ำที่ไหลเป็นแนวตรงกับคลองบางบำหรุไปลงคลองบางกรวยในปัจจุบันมีชื่อว่าคลองผู้การนงค์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "บทกวีนิราศ ตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่".
- ↑ วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์และ สิกิต อริฟวิโดโด. "ภูมิทัศน์สวนในบางกอก: การตีความจากแผนที่และภาพถ่ายโบราณ". ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ↑ "เศรษฐศาสตร์กับการคมนาคม คลองกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของชาวสวน ในสมัยรัชกาลที่ 5". ฐานเศรษฐกิจ.