คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Faculty of Pharmacy, Mahidol University | |
สถาปนา | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 |
---|---|
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยมหิดล |
คณบดี | รองศาสตราจารย์ เภสัชกร สุรกิจ นาฑีสุวรรณ |
ที่อยู่ | 447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
สี | สีเขียวมะกอก |
เว็บไซต์ | www |
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ในยุคของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งแรกก่อตั้งใช้ชื่อว่า คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เนื่องจากในเวลานั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้โอนย้ายสังกัดคณะเภสัชศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อนหน้าแล้ว (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยมหิดล" จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล" ในปี พ.ศ. 2515 ได้โอนคณะเภสัชศาสตร์เดิม ที่ถูกโอนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์กลับไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตัดสร้อย "พญาไท" ของคณะใหม่ออกกลายเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เช่นในปัจจุบัน
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ขาดแคลนกำลังเภสัชกรในประเทศ จึงได้บรรจุแผนพัฒนาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 โดยมี อาจารย์เภสัชกร ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นผู้ก่อตั้ง และให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นั้นดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง
ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเรียนการสอนโดยแบ่งออกเป็น 10 ภาควิชา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในระดับปริญญาตรีเปิดทำการสอนในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 6 ปี นอกจากนี้ทางคณะฯ ยังส่งเสริมงานวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการเภสัชศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
ประวัติ
[แก้]เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการโอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยยังใช้พื้นที่เดิมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ซึ่งอัตรากำลังผลิตเภสัชกรได้ปีละประมาณ 50 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อสัดส่วนการสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ แม้ในระยะหลังได้เปิดรับและสามารถผลิตเภสัชกรได้ปีละ 100 คนก็ยังประสบปัญหาการใช้ยาของประชาชนในร้านยาที่จ่ายยาผิดไปจากใบสั่งแพทย์ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยและผู้ซื้อยาไปใช้ กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาและได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เรื่องการเพิ่มจำนวนนักศึกษาเภสัชสาสตร์ให้มากขึ้น โดยมีหนังสือที่ 2695/2505 ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอให้เพิ่มจำนวนนักศึกษาสาขาวิชาเภสัชศาสตร์และให้เตรียมการโอนย้ายคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นั้นกลับเข้าสังกัดเดิมคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาใน พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเริ่มโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์คณะที่สองขึ้นที่วิทยาเขตพญาไท
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยใช้ชื่อว่า "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" [1]เนื่องจาก ณ ช่วงเวลานั้น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีคณะเภสัชศาสตร์อยู่แล้วหนึ่งแห่ง (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) โดยโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่นี้ ได้บรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 และตามนโยบายและโครงการของรัฐบาลในแผนกพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2510-2514 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเภสัชกรอันเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขที่ขาดแคลนอยู่ในขณะนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ให้นายแพทย์ชัชวาลน์ โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง
ต่อมาใน พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนาม “ มหิดล “ ให้เป็นชื่อมหาวิทยาลัย โดยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงเปลี่ยนโอนสังกัดไปเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล" ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) ได้โอนย้ายกลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง คณะจึงได้ตัดสร้อย "พญาไท" หลังชื่อคณะ มาเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เช่นในปัจจุบัน [2]
บุคคล
[แก้]ทำเนียบคณบดี
[แก้]ตั้งแต่เปิดทำการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณบดีดำรงตำแหน่งในสังกัดต่างๆของคณะ ตามลำดับต่อไปนี้
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ (รักษาการ) | พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2513 |
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
2. อาจารย์ เภสัชกร ประดิษฐ์ หุตางกูร | พ.ศ. 2513 – พ.ศ. 2515 |
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
2. อาจารย์ เภสัชกร ประดิษฐ์ หุตางกูร | พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2526 |
3. ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง สุคนธ์ พูนพัฒน์ | พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2530 |
4. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ปราณี ใจอาจ | พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2534 |
5. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง พจนีย์ สุริยะวงค์ | พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2536 |
6. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จันทรา ชัยพานิช | พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2540 |
7. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง อรพรรณ มาตังคสมบัติ | พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2544 |
8. ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมพล ประคองพันธ์ | พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2546 |
9. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ (รักษาการ) | พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2547 |
8. ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมพล ประคองพันธ์ | พ.ศ. 2547 |
10. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ พรชัย มาตังคสมบัติ | พ.ศ. 2547 |
11. ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร อำพล ไมตรีเวช | พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2551 |
12. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จุฑามณี สุทธิสีสังข์ | พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2559 |
13. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล | พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2563 |
14. รองศาสตราจารย์ เภสัชกร สุรกิจ นาฑีสุวรรณ | พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน |
การเรียนการสอน
[แก้]ภาควิชา
[แก้]คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมี 10 ภาควิชา และ 1 ศูนย์การศึกษาดังนี้
|
|
คณาจารย์
[แก้]ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีจำนวนบุคลากรสายวิชาการรวมทั้งสิ้น 102 คน ในจำนวนนี้กำลังศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ 10 คน โดยได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ 5 คน, รองศาสตราจารย์ 29 คน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 17 คน, อาจารย์ 39 คน, และผู้ช่วยอาจารย์ 12 คน บุคลากรเหล่านี้สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาเอก 81 คน, เทียบเท่าปริญญาเอก 4 คน, ปริญญาโท 11 คน, และปริญญาตรี 6 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนดังนี้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 83.33 %, ปริญญาโท 10.78 % และปริญญาตรี 5.88 % ข้อมูล ณ วันที่ 06/10/2559
หลักสูตร
[แก้]ปริญญาตรี
[แก้]- หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรวิชาชีพได้รับการรับรอง มาตรฐานจากสภาเภสัชกรรม มีเป้าหมายในการผลิตเภสัชกรที่มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีงามในการ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพชั้นสูง การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับ 21st century skill outcomes ในระดับสากล ชั้นปีที่ 1-4 เน้นความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมขั้นพื้นฐาน ชั้นปีที่ 5 และ 6 สามารถเลือกเรียนด้านเภสัชอุตสาหการ (การผลิต ตรวจวิเคราะห์ ประกันคุณภาพ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ) และด้านบริบาลทางเภสัชกรรม (การดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ร้านขายยา งานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 จะได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานวิชาชีพในแหล่งฝึกงาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาระดับแนวหน้าของประเทศ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่เป็นสถานพยาบาลชั้นนำของประเทศรวมถึงร้านยา คุณภาพ การสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้ นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2,000 ชั่วโมง และต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 225 หน่วยกิต
ปริญญาโท
[แก้]ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์, สาขาวิชาเคมี หรือ สาขาวิชาชีววิทยา จากสถาบันฯ ในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 75% ผู้สมัครต้องทำคะแนนอย่างต่ำ 500 คะแนนในการสอบ TOEFL หรือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีรายละเอียดดังนี้
- หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
|
|
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
- สาขาวิชาเภสัชเคมีและพฤกษเคมี
- สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ชีวภาพ แบ่งออกเป็น 4 วิชาเอก ได้แก่ ชีวเคมี, จุลชีววิทยา, สรีรวิทยา และ เภสัชวิทยา
- สาขาวิชาวิทยาการพืช (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรร่วมกันระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะเภสัชศาสตร์
- หลักสูตรการจัดการสุขภาพมหาบัณฑิต
เป็นหลักสูตรร่วมกันระหว่าง วิทยาลัยการจัดการ, บัณฑิตวิทยาลัย และ คณะเภสัชศาสตร์
ปริญญาเอก
[แก้]ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาเคมี หรือสาขาวิชาชีววิทยา หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากสถาบันฯในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 ผู้สมัครต้องทำคะแนนอย่างต่ำ 500 คะแนนในการสอบ TOEFL หรือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรายละเอียดดังนี้
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์พญาไท ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๑,๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑
- ↑ ประวัติคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล