ข้ามไปเนื้อหา

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะทันตแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Dentistry,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาปนา16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483; 84 ปีก่อน (2483-05-16)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์
ที่อยู่
สี  สีม่วงสุทธาสิโนบล[1]
เว็บไซต์www.dent.chula.ac.th

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย จัดตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 มีฐานะเป็นแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ พันเอก ทันตแพทย์ นายแพทย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ (วาด แย้มประยูร) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระคนแรกและต่อมาได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกเช่นกัน [2]

ประวัติ

[แก้]
อาคารคณะทันตแพทยศาสตร์

แนวความคิดการจัดการศึกษาทันตแพทยศาสตร์เริ่มต้นขึ้นแต่ พ.ศ. 2471 ขณะที่ ศาสตราจารย์ พันเอก ทันตแพทย์ นายแพทย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นอาจารย์ ในแผนกอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยเสนอ หากแต่หามีผู้ใดสนใจไม่ เหตุที่หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์มีความสนใจศาสตร์ด้านนี้เนื่องด้วยเคยได้รับทุนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาสาขาทัตแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ในเวลาใกล้เคียงกัน ศาสตราจารย์ พันโท สี สิริสิงห ได้รับพระราชทานทุนการศึกษา จากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เข้าศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน

หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ใน พ.ศ. 2479 พยายามติดต่อกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ แอลเลอร์ เอลลิส อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นถึงเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ และได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์สำหรับราชการทหารไปยัง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการที่เสนอนั้นได้ในกรมแพทย์ทหารบก และได้อนุมัติให้ ศาสตราจารย์ พันเอก ทันตแพทย์ นายแพทย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการจัดโรงเรียนทันตแพทย์ในต่างประเทศ เมื่อ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เดินทางกลับจากดูงานในต่างประเทศนั้น ประจวบกับเป็นเวลาที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ด้วย จึงเปลี่ยนนโยบายจากการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ในกรมแพทย์ทหารบก มาดำริที่จะจัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศจัดตั้งแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ พันเอก ทันตแพทย์ นายแพทย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการศึกษาทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยใช้ตึกวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นที่ทำการสอนในระยะเริ่มแรก มีนิสิตสำเร็จการศึกษารุ่นแรก 8 คน

ต่อมาได้มีการจัดสร้างตึกประจำแผนกทันตแพทยศาสตร์และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 11 ถนนพญาไท จึงได้ย้ายสถานที่ทำการสอนมายังตึกประจำแผนก ส่วนวิชาการแพทย์พื้นที่ฐานยังคงเรียน ณ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลต่อไป ใน พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น โดยแยกคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกเภสัชศาสตร์ และ แผนกสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมเป็นมหาวิทยาลัย สังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศาสตราจารย์ พันเอก ทันตแพทย์ นายแพทย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ (ใช้สถานที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิม)

ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2499 คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลโรคฟัน และได้รับเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลทันตกรรม ต่อมาในวันที่ 8–15 สิงหาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ คณะทันตแพทยศาสตร์ จัดฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ชุดเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐจีน เพื่อหารายได้เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล รวมเป็นเงิน 1,007,801.15 บาท และเงินจำนวนนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแก่คณะทันตแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นทุนเริ่มแรกในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ และคณะทันตแพทยศาสตร์ จึงได้จัดของบประมาณสมทบเงินจำนวนดังกล่าวนี้อีก 4,000,000 บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนปฏิบัติการและ วิจัยเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า "ทันตรักษ์วิจัย"

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ได้ทำพิธีเปิดตึกรังสีวิทยา (รื้อถอน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2534) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกทันตรักษ์วิจัย และในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึกทันตรักษ์วิจัย พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดิษฐานพระปรมาภิไธย "ภปร." ไว้ด้านหน้าอาคาร ด้านถนนอังรีดูนังต์ ภาควิชาต่าง ๆ ทางคลินิกได้ย้ายเข้ามาอยู่ในตึกทันตรักษ์วิจัยนี้ นอกจากภาควิชาศัลยศาสตร์ และภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ยังคงอยู่ในตึกทันตกรรมเดิม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระราชทานนามว่า "มหิดล" และได้ออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่ง วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงโอนกลับมาสังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพิธีเจิมรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่เป็น "หน่วยทันตกรรมพระราชทาน" นับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ ซึ่งสืบเนื่อง มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสนพระทัยต่อสุขภาพในช่องปากของประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกล ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้จัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์สถานวาจวิทยาวัฑฒน์" เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติ และวิวัฒนาการทางด้านทันตแพทยศาสตร์ ของคณะฯ ในขณะที่คณะฯ มีอายุครบ 42 ปี เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเฉลิมฉลองและสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี

ในปี พ.ศ. 2533 ในวาระที่คณะทันตฯ ได้ก่อตั้งมาครบ 50 ปี และเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ 90 พรรษา คณะฯ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และศิษย์เก่า ตลอดจนมีผู้จิตศรัทธาได้ร่วมกันจัดสร้างอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้น พร้อมครุภัณฑ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาคารนี้จัดเป็นโรงพยาบาลทางทันตกรรมแห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้านศัลยกรรมช่องปาก กระดูกขากรรไกรและใบหน้า รวมทั้งโรคฟันอื่น ๆ ครบวงจร โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นรวม 317,900,000.- บาท เป็นเงินนอกงบประมาณ 9,000,000.- บาท และ เงินงบประมาณแผ่นดิน 308,900,000.- บาท โดยผูกพัน 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534 – 2538 ในวโรกาสเดียวกันนี้ ยังได้จัดสร้างพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ ณ บริเวณโถงชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์นี้ เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าอาจารย์ นิสิต ข้าราชการ บุคลากร และประชาชนที่มารับบริการด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ 93 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ ว่า "อาคารสมเด็จย่า 93" ซึ่งนับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่คณะทันตแพทยศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำพิธีเปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2539 [3]

บุคคล

[แก้]

คณบดี

[แก้]

รายนามคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดังนี้

ทำเนียบคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ พันเอก ทันตแพทย์ นายแพทย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ (วาด แย้มประยูร) พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2499
2. ศาสตราจารย์ พันโท ทันตแพทย์ สี สิริสิงห พ.ศ. 2499 – พ.ศ. 2508
3. ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ถวิล ตัณฑิกุล พ.ศ. 2508 – พ.ศ. 2519
4. ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ สูรมน ชำนาญนิธิอรรถ พ.ศ. 2519 – พ.ศ. 2523
5. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.วสันต์ ตันติวิภาวิน พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2527
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง แพทย์หญิง เภสัชกรหญิง พรรณี สุ่มสวัสดิ์ พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2530
7. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2536
8. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.จีรศักดิ์ นพคุณ พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2540
9. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ สุรสิทธิ์ เกียรติพงษ์สาร พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2547
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ฐิติมา ภู่ศิริ พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2551
11. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง วัชราภรณ์ ทัศจันทร์ พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2555
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.สุชิต พูลทอง พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2563
13. ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน

หลักสูตร

[แก้]

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทั้งหมด 5 หลักสูตร 34 สาขาวิชา ได้แก่

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักสูตรระดับปริญญา
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.)
  • สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)[4]
  • สาขาวิชาชีววิทยาช่องปาก [5]
  • สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน
  • สาขาวิชาทันตกรรมทั่วไป (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก
  • สาขาวิชาทันตกรรมบดเคี้ยว
  • สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์
  • สาขาวิชาทันตกรรมหัตถการ
  • สาขาวิชาปริทันตศาสตร์
  • สาขาวิชารังสีวิทยาช่องปากและใบหน้า
  • สาขาวิชาวิทยาเอ็นโดดอนต์
  • สาขาวิชาเวชศาสตร์ช่องปาก
  • สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วท.ด.)[6]
  • สาขาวิชาชีววิทยาช่องปาก
  • สาขาวิชาทันตชีววัสดุศาสตร์
  • สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต
ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก[7] หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก[8]
  • สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน
  • สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์
  • สาขาวิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก
  • สาขาวิชาทันตกรรมหัตถการ
  • สาขาวิชาปริทันตวิทยา
  • สาขาวิชาวิทยาเอ็นโดดอนต์
  • สาขาวิชาบูรณะช่องปากและใบหน้า
  • สาขาวิชาฟื้นฟูสภาพฟันทั้งปาก
  • สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์

พิพิธภัณฑ์

[แก้]
  • พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ ตั้งอยู่ที่ตึกวาจวิทยาวัฑฒน์ ชั้น 1 จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางทันตกรรม ลักษณะโรคฟันผุ วิวัฒนาการทางด้านทันตกรรมของประเทศไทย และเป็นที่จัดแสดงยูนิตทำฟันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเคยทรงทำพระทนต์ รวมทั้งหลอดยาสีพระทนต์พระราชทานสีขาวที่ถูกรีดจนแบนด้วย[9]
  • พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ ตั้งอยู่ที่ห้อง 909–910 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80[10] เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงกายวิภาคศาสตร์ของร่างกายมนุษย์แห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รักษาลักษณะร่างกายมนุษย์โดยใช้เทคนิคพลาสิเนชัน (Plastination) เป็นการแทนที่ของเหลวและไขมันในร่างกายทั้งหมด ด้วยพลาสติกสังเคราะห์[11] จึงไม่มีกลิ่นน้ำยาคงสภาพ ไม่มีการเน่าสลายของเนื้อเยื่อ และคงสภาพได้นาน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541, เล่ม 115, ตอน 21 ก, 22 เมษายน พ.ศ. 2541, หน้า 1.
  2. คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. "ประวัติคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-30. สืบค้นเมื่อ 2013-06-22.
  4. "หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-30. สืบค้นเมื่อ 2013-06-22.
  5. "หลักสูตรชีววิทยาช่องปาก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-25. สืบค้นเมื่อ 2013-06-22.
  6. "หลักสูตรสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-30. สืบค้นเมื่อ 2013-06-22.
  7. "หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-30. สืบค้นเมื่อ 2013-06-22.
  8. "หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-30. สืบค้นเมื่อ 2013-06-22.
  9. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3595 เก็บถาวร 2017-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
  10. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3627 เก็บถาวร 2017-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
  11. Magazine, Thai Dental. "พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ" เก็บถาวร 2018-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. thaidentalmag.com. Retrieved 2017-02-19.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]