กองกำลังบูรพา
กองกำลังบูรพา | |
---|---|
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 ส่วนแยก 1 | |
เครื่องหมาย | |
ประจำการ | พ.ศ. 2518 |
ประเทศ | ไทย |
เหล่า | กองทัพบกไทย |
รูปแบบ | กองกำลังป้องกันชายแดน หน่วยเฉพาะกิจ |
บทบาท | การลาดตระเวน หน่วยยามชายแดน กำลังกึ่งทหาร |
ขึ้นกับ | กองทัพบกไทย |
กองบัญชาการ | อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว |
สมญา | กกล.บูรพา |
ปฏิบัติการสำคัญ |
|
ผู้บังคับบัญชา | |
ผบ.กกล.บูรพา | พลตรี เทพพิทักษ์ นิมิตร |
รอง ผบ.กกล.บูรพา | พันเอก กิตติ ประพิตรไพศาล |
เครื่องหมายสังกัด | |
ฉก.ตชด.12 | |
ฉก.ทพ.12 | |
ฉก.ทพ.13 |
กองกำลังบูรพา (อังกฤษ: Burapa Command หรือ Burapa Task Force) คือกองกำลังป้องกันชายแดน 1 ใน 7 ของกองทัพบกไทย[1] ตั้งอยู่ที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ดูแลพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชาช่วงจังหวัดสระแก้วประมาณ 165 กิโลเมตร (103 ไมล์)[1] ต่อเนื่องระหว่างพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 2 ทางตอนเหนือ และกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดของกองทัพเรือทางตอนใต้[2]
กองกำลังบูรพายังปฏิบัติงานในฐานะ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 ส่วนแยก 1 (กอ.รมน.ภาค 1 สย.1) อีกด้วย[3]
ประวัติ
[แก้]เดิมกองกำลังบูรพาถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ในชื่อว่า ที่บังคับการร่วมบูรพา เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในประเทศเวียดนามและกัมพูชา และการก่อความไม่สงบของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตปราจีนบุรี ต่อมาได้แปรสภาพในปี พ.ศ. 2521 มาเป็น กองกำลังบูรพา และปรับภารกิจเป็นการป้องกันชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงจัดกำลังหลักคือกำลังจากองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์[4] และในเวลาต่อมามอบหมายให้จัดกำลังจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์และกองพลทหารราบที่ 9 ผลัดเปลี่ยนกันส่งกำลังมาร่วมปฏิบัติการในระหว่างปี พ.ศ. 2522 - 2530 รวม 12 ปี ซึ่งตรงกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศกัมพูชาที่เกิดการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลเฮง สัมรินที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม และกลุ่มเขมรแดง กลุ่มซอนซาน และกลุ่มสีหนุ โดยส่งผลกระทบมาถึงชายแดนไทยจนเกิดการปฏิบัติการเด่นหลายครั้ง[3] เช่น
ในปี พ.ศ. 2523 ทหารเวียดนามและกองทัพของกัมพูชาฝ่ายเฮง สัมริน จำนวนประมาณ 1 กองพัน ได้ติดตามฝ่ายต่อต้านของกัมพูชาซึ่งฝ่ายต่อต้านได้รุกล้ำเข้ามายึดบ้านโนนหมากมุ่นในฝั่งไทย ทำให้กองกำลังบูรพาได้จัดกำลังเข้าตีเพื่อรักษาอธิปไตยและสามารถผลักดันฝ่ายต่อต้านของกัมพูชากลับไปได้สำเร็จ มีทหารฝ่ายไทยเสียชีวิต 22 นาย บาดเจ็บ 14 นาย ฝ่ายกัมพูชาเสียชีวิต 111 ราย ถูกจับเป็นเชลยได้ 1 ราย และตรวจยึดยุทโธปกรณ์รวมถึงเวชภัณฑ์ได้อีกจำนวนมาก[3]
ในปี พ.ศ. 2526 ทหารเวียดนามและกองทัพของกัมพูชาฝ่ายเฮง สัมริน ได้ติดตามฝ่ายต่อต้านของกัมพูชาซึ่งฝ่ายต่อต้านได้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย จนเกิดการปะทะกันขึ้นกับทหารไทยที่เขาพนมปะ ซึ่งทหารไทยสามารถต่อต้านการรุกล้ำได้สำเร็จ ซึ่งการปะทะดังกล่าวส่งผลให้มีทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 15 นาย สูญหาย 1 นาย ฝ่ายกัมพูชาเสียชีวิต 200 ราย สามารถยึดศพได้จำนวน 10 ศพ ถูกจับเป็นเชลยได้ 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก[3]
จากปัญหาสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อชายแดนไทยทำให้มีกระสุนปืนใหญ่และอาวุธหนักต่าง ๆ ตกรุกล้ำเข้ามาในพรมแดนประเทศไทยก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรชาวไทยและทหารไทย เกิดการวางสนามทุ่นระเบิดและกับระเบิดในพื้นที่ชายแดนจำนวนมาก ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไทยที่ไปเหยียบได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และปัญหาใหญ่ที่สุดคือปัญหาผู้อพยพชาวกัมพูชา ส่งผลกระทบตามมาถึงปัญหาการปล้นสะดมชาวไทยตามแนวชายแดน การค้าอาวุธสงคราม การลักลอบค้ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ การลักลอบตัดไม้ และปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องจัดกำลังในรูปแบบชุดเฉพาะกิจร่วม ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการรักษาความสงบ[3]ในปี พ.ศ. 2530 หลังจากสถานการณ์ในประเทศกัมพูชาลดความรุนแรงลง กองทัพบกจึงได้ปรับลดกำลังของกองกำลังบูรพาและคงเหลือให้กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์เป็นหน่วยหลักหน่วยเดียวในการจัดกำลัง[3]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการปรับโครงสร้างโดยการจัดกำลังปรับจากทหารหลักเป็นกำลังประจำถิ่นมาควบคุมทางยุทธการ ประกอบไปด้วย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 13 และหน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12[4]
ในปี พ.ศ. 2561 กองกำลังบูรพาได้รับการจัดกำลังทหารหลักเข้ามาเพิ่มเติมจำนวน 3 กองบังคับการควบคุม และ 3 หมวดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อใช้ในการควบคุมและบัญชาการกองกำลังประจำถิ่น[4]
โครงสร้าง
[แก้]หน่วยขึ้นตรง
[แก้]กองกำลังบูรพา ประกอบด้วยหน่วยขึ้นตรงต่อกองบัญชาการ[3] ดังนี้
- กองร้อยกองบังคับการ
- กองร้อยเคลื่อนที่เร็ว
- ชุดทหารช่าง
- ส่วนยิงสนับสนุน
- หน่วยทหารสื่อสาร
- หมู่บิน
- ชุดปฏิบัติการข่าว
หน่วยสมทบและขึ้นควบคุมทางยุทธการ
[แก้]กองกำลังบูรพา ประกอบด้วยหน่วยสมทบและขึ้นควบคุมทางยุทธการ[3] ดังนี้
หน่วยขึ้นสมทบ
[แก้]- หน่วยข่าวกรองทางทหาร
- หมวดสุนัขทหาร
- ชุดสื่อสารและวิจัย
- ชุดประสานและรายงานข่าว
- ชุดโทรคมนาคม
- ชุดสำรวจความถี่
หน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ
[แก้]- หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12[5]
- กองร้อยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 1 (ร้อย.ฉก.ตชด.1)
- กองร้อยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 2 (ร้อย.ฉก.ตชด.2)
- กองร้อยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3 (ร้อย.ฉก.ตชด.3)
- กองร้อยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 4 (ร้อย.ฉก.ตชด.4)
- กองร้อยเฉพาะกิจสนับสนุนการรบ (ร้อย.ฉก.สสก.)
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 13
หน่วยเฉพาะกิจรับผิดชอบพื้นที่
[แก้]กองกำลังบูรพา ประกอบด้วยหน่วยเฉพาะกิจรับผิดชอบพื้นที่[4] ดังนี้
- หน่วยเฉพาะกิจตาพระยา – รับผิดชอบพื้นที่อำเภอตาพระยา และอำเภอโคกสูง
- หน่วยเฉพาะกิจอรัญประเทศ – รับผิดชอบพื้นที่อำเภออรัญประเทศ
- หน่วยเฉพาะกิจคลองหาด – รับผิดชอบพื้นที่อำเภอคลองหาด อำเภอวังน้ำเย็น และอำเภอวังสมบูรณ์
ภารกิจ
[แก้]กองกำลังบูรพา มีพื้นที่ในการรับผิดชอบในจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่พื้นที่ติดต่อจากเขตของกองทัพภาคที่ 2 อำเภอตาพระยาไปจนถึงแหลมหนองเอี่ยน อำเภออรัญประเทศ โดยใช้หลักเขตแดนไทย–กัมพูชาเป็นแนวในการแบ่งเขตทั้งสิ้น 24 หลักเขต เริ่มต้นตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 28 ถึง 51 ต่อเนื่องจากปลายแหลมหนองเอี่ยนไปจนถึงเขาตาง๊อก จรดกับพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดซึ่งใช้ลำน้ำคลองน้ำใสในการแบ่งพื้นที่เขตแดน[2]
กองกำลังบูรพา ประกอบด้วยภารกิจหลัก ได้แก่[2]
- การป้องกันชายแดนและดินแดนของประเทศไทยช่วงจังหวัดสระแก้วจากภัยคุกคามในทุกรูปแบบ โดยยึดพันธกิจหลักของกองทัพบกคือการเฝ้าตรวจและป้องกัน การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนทั้งด้านการรบ การข่าว การกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ของราษฎร และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศกัมพูชา[3]
- การรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่ชายแดนเข้ามาในฝั่งประเทศไทย โดยปฏิบัติงานในฐานะของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 ส่วนแยก 1 (กอ.รมน.ภาค 1 สย.1) ในการป้องกันภัยคุกคามจากปัญหายาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง อาชญากรรมข้ามชาติ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ[3]
- การพัฒนาพื้นที่ชายแดนเพื่อความมั่นคง ผ่านการพัฒนาหมู่บ้านเครือข่ายผ่านสามระบบหลัก คือ ระบบประชากร จัดระเบียบประชากรที่อยู่อาศัยกระจัดกระจายในพื้นที่เสี่ยงให้มาอยู่รวมกันในหมู่บ้านเพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย ระบบป้องกัน ฝึกสอนให้ราษฎรสามารถป้องกันตนเองได้จากการรุกรานของฝ่ายตรงข้ามในเบื้องต้น และระบบพัฒนา ช่วยเหลือแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาว่างงาน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง[3]
พื้นที่อ้างสิทธิ
[แก้]กองกำลังบูรพา แบ่งพื้นที่รับผิดชอบตามพื้นที่อ้างสิทธิที่มีหลักฐานแสดงเขตแดนไม่ชัดเจนใน 4 อำเภอของจังหวัดสระแก้ว คืออำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง อำเภออรัญประเทศ และอำเภอคลองหาดแบ่งออกเป็น 8 พื้นที่[2] ได้แก่
หลักเขตที่ 28
[แก้]พื้นที่ที่ 1 บริเวณพื้นที่หลักเขตที่ 28 ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว พิกัด ทีเอ 7768 มีประเด็นพิพาทเนื่องจากการถือแผนที่คนละฉบับ โดยประเทศไทยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ลำดับชุด L 7018 ที่กรมแผนที่ทหารเป็นผู้จัดทำ ขณะที่กัมพูชาใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่พิมพ์โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำให้แนวเขตแดนทับซ้อนกัน ซึ่งพื้นที่หลักเขตที่ 28 มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และการดำเนินกลยุทธ์เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงข่ม สามารถใช้ตรวจการณ์ไปยังฝั่งประเทศกัมพูชาในอำเภอทมอพวก จังหวัดบันเตียเมียนเจย[2]
เนิน 48
[แก้]พื้นที่ที่ 2 บริเวณพื้นที่เนิน 48 บ้านร่มไทร อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว พิกัด ทีเอ 745505 มีประเด็นพิพาทเนื่องจากแนวเส้นเขตแดนซึ่งประเทศไทยยึดตามแนวสันปันน้ำ ขณะที่กัมพูชายึดตามแนวคลองบะอาว ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิประมาณ 0.227 ตารางกิโลเมตร (142 ไร่) รวมไปถึงปัญหาการถือแผนที่คนละฉบับ โดยประเทศไทยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ลำดับชุด L 7018 ที่กรมแผนที่ทหารเป็นผู้จัดทำ ขณะที่กัมพูชาใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่พิมพ์โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบนเนิน 48 ประมาณ 0.1440 ตารางกิโลเมตร (90.0 ไร่) ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้[2]
หลักเขตที่ 33–36
[แก้]พื้นที่ที่ 3 บริเวณพื้นที่หลักเขตที่ 33, 34, 35 และ 36 จุดผ่อนปรนตาพระยา-บึงตากวน อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว มีประเด็นพิพาทเนื่องจากหลักเขตแดนสูญหาไปจากที่ตั้ง จึงไม่สามารถกำหนดเหตุแดนได้อย่างชัดเจน ซึ่งประเทศไทยถือว่าตำแหน่งของหลักเขตที่ 35 และ 36 ควรจะอยู่ห่างออกไปจากตำแหน่งปัจจุบันของหลักเขตไปทางตะวันออก 50 เมตร ขณะที่ประเทศกัมพูชาถือว่าตำแหน่งของหลักเขตทั้งสองควรอยูห่างออกไปจากตำแหน่งปัจจุบันของหลักเขตไปทางตะวันตก 100 เมตร ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิประมาณ 0.1788 ตารางกิโลเมตร (111.8 ไร่) รวมถึงยังถูกฝ่ายกัมพูชากล่าวหาว่ามีการก่อสร้างอาคารบริเวณจุดผ่อนปรนรุกล้ำเขตแดนกัมพูชา ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรวมถึงกำหนดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนได้[2]
หลักเขตที่ 38–39
[แก้]พื้นที่ที่ 4 บริเวณพื้นที่หลักเขตที่ 38 และ 39 บริเวณเขาพนมปะ/พนมฉัตร พิกัด ทีเอ 609411 มีประเด็นพิพาทเนื่องจากประเทศไทยและกัมพูชายึดหลักเขตที่ 38 ไม่ตรงกัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอตาพระยา ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิของทั้งสองประเทศประมาณ 0.2316 ตารางกิโลเมตร (144.8 ไร่) เนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ โดยประเทศไทยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ลำดับชุด L 7017 ที่กรมแผนที่ทหารเป็นผู้จัดทำ ขณะที่กัมพูชาใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่พิมพ์โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จนทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพนมปะ/พนมฉัตร[2]
หลักเขตที่ 42
[แก้]พื้นที่ที่ 5 บริเวณพื้นที่หลักเขตที่ 42 บ้านหนองหญ้าแก้ว อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีประเด็นพิพาทเนื่องจากประเทศไทยเห็นว่าหลักเขตที่ 42 ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ประเทศกัมพูชามีความเห็นว่าหลักเขตควรอยู่ห่างจากตำแหน่งปัจจุบันไปทางตะวันตกประมาณ 70 เมตร ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิจำนวนประมาณ 0.314 ตารางกิโลเมตร (196 ไร่) เนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ โดยประเทศไทยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ลำดับชุด L 7017 ที่กรมแผนที่ทหารเป็นผู้จัดทำ ขณะที่กัมพูชาใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่พิมพ์โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้แต่อย่างไร[2]
หลักเขตที่ 46–47
[แก้]พื้นที่ที่ 6 บริเวณพื้นที่หลักเขตที่ 46 และ 47 บ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีประเด็นพิพาทเนื่องจากประเทศกัมพูชาเห็นว่ามีการเคลื่อนหลักเขตเข้าไปในพื้นที่กัมพูชา ก่อให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิที่ไม่ตรงกันเนื้อที่ประมาณ 0.4024 ตารางกิโลเมตร (251.5 ไร่) ส่งผลให้มีชาวกัมพูชาอยู่อาศัยในเขตฝั่งไทยประมาณ 50 ครอบครัว 250 ราย ลึกเข้ามาให้ชายแดนไทยประมาณ 300 เมตร ทำให้ราษฎรไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ของตนได้[2]
หลักเขตที่ 48–49
[แก้]พื้นที่ที่ 7 บริเวณพื้นที่หลักเขตที่ 48 และ 49 บ้านป่าไร่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีประเด็นพิพาทเนื่องจากประเทศกัมพูชาเห็นว่ามีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งหลักเขตที่ 48 เข้าไปในฝั่งกัมพูชาและมีการอ้างสิทธิจากแนวหลักเขตที่ 48 ไปยังหลักเขตที่ 49 ไปเป็นเส้นตรง ขณะที่ประเทศกัมพูชายึดถือเส้นแบ่งเขตตามแนวลำคลองลึก ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิประมาณ 17.42 ตารางกิโลเมตร (10,890 ไร่) ส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงการขายไฟฟ้าให้กับประเทศกัมพูชาของฝ่ายไทยบริเวณบ้านป่าไร่ ไม่สามารถวางโครงข่ายเสาไฟฟ้าแรงสูงได้ จึงต้องเคลื่อนย้ายไปก่อสร้างโครงข่ายและสายส่งที่บ้านอ่างศิลา ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว และยังมีการก่อสร้างบ่อนกาสิโนโกลเดนคราวน์ และบ่อนกาสิโนสตาร์เวกัสก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน[2]
ในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศเขตการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมพิเศษ (เขตการค้าเสรี) สำหรับการส่งออกในพื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตร (25,000 ไร่) ติดกับชายแดนไทยในพื้นที่พิพาทในด้านทิศเหนือ พื้นที่ตำบลปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย โดยหากมีการตกลงปัญหาหลักเขตที่ 48 อาจจะทำให้พื้นที่บางส่วนของโครงการดังกล่าวอยู่ในเขตแดนของประเทศไทย เช่น พื้นที่เศรษฐกิจโอเนียง รวมถึงมีการดัดแปลงสภาพแวดล้อมส่วนที่ติดตามแนวชายแดนของฝั่งกัมพูชาบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่บ่อนกาสิโนและส่วนที่ตรงข้ามกับตลาดโรงเกลือในประเทศไทย[2]
นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมที่ 1 ในการเก็บกู้วัตถุระเบิดในพื้นที่พิพาทยังถูกหน่วยทหารและตำรวจกัมพูชาเข้ามาขัดขวางและประท้วงอยู่ตลอด ซึ่งฝ่ายไทยได้ยึดตามหลักฐานอ้างอิงล่าสุด ตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้จังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นกัน โดยคัดเลือกพื้นที่ในตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่อ้างสิทธิเช่นกัน[2]
เขาตาง๊อก
[แก้]พื้นที่ที่ 8 บริเวณพื้นที่เขาตาง๊อก อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว มีประเด็นพิพาทเนื่องจากประเทศไทยยึดถือคลองน้ำใสเป็นแนวเขตแดน แต่กัมพูชาให้แนวยอดเขาตาง๊อกจนถึงลำน้ำคลองด่าน ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิประมาณ 2.695 ตารางกิโลเมตร (1,684 ไร่) ส่งผลต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ป่าของโครงการทับทิมสยาม 05 ซึ่งฝ่ายไทยได้สร้างเส้นทางพัฒนาเพื่อความมั่นคงคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3479 ทับพริก–เขาตาง๊อก สำหรับใช้งานเพื่อความมั่นคง[2]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ชายแดน 5,526 กม. กองกำลัง 'รั้วของชาติ' ดูแลตรงไหนบ้าง? | The Opener". theopener.co.th (ภาษาอังกฤษ). 2020-12-22.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 เฟื่องประภัสสร์, ปฏิวัติ (2563). แนวทางแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่อ้างสิทธิ์ เขตแดนไทย - กัมพูชา ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังบูรพา (PDF). วิทยาลัยการทัพบก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-07-12. สืบค้นเมื่อ 2024-07-14.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 เฟื่องประภัสสร์, ปฏิวัติ (2559). ปัญหาการปฏิบัติงานตามภารกิจของกำลังพลกองกำลังบูรพาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว (PDF). วิทยาลัยบริหารัฐกิจมหาวิทยาลัยบูรพา. p. 19.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ""กองกำลังบูรพา" ตอบสนองแผนป้องกันประเทศ จัดระเบียบชายแดน ดูแลปชช". www.khaosod.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "หน่วยเฉพาะกิจ ตชด.ที่ 12 ยึดไม้มะค่าแปรรูปกว่า 100 แผ่น". mgronline.com. 2017-06-14.
- ↑ "จับแรงงานชาวกัมพูชา 59 คน ลักลอบเข้าชายแดนตาพระยา สระแก้ว". www.matichon.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ข่าววันใหม่ : จนท.สกัดจับแรงงานกัมพูชา ลักลอบเข้". Tero Asia.
- ↑ "ไล่ล่าระทึก! สระแก้ว ทหารตาพระยา-ตชด จับแก๊งลักลอบพาคนไทย ทำงานบ่อนเขมร". www.khaosod.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "จะข้ามฝั่งอยู่แล้ว! กองกำลังบูรพาสระแก้ว ประสานศุลกากรอรัญประเทศฯ สกัดกั้นลักลอบขนน้ำมัน". www.opt-news.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ชายชาวไนจีเรีย "ลักลอบข้ามแดน" ด้านจังหวัดสระแก้ว บอกจะมาทำพาสปอร์ตในไทย". komchadluek. 2021-12-08.
- ↑ ""กองกำลังบูรพา ร่วมกับศุลกากรอรัญประเทศ สกัดจับยาเค 100 กิโลกรัม"". rta.mi.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย] - ↑ กองบก (2021-08-12). "ทหารพรานอรัญฯเร่งทำเตียงไม้ไผ่150ตัวมอบโรงพยาบาลสนาม". The Thai Press.
- ↑ "ทหารไทย-กัมพูชา แก้ปัญหาชายแดน อรัญประเทศ-ปอยเปต ร่วมกัน". bangkokbiznews. 2016-12-07.
- ↑ "สระแก้วปรับภูมิทัศน์! เตรียมรับนายกฯไทย-กัมพูชา เปิดสะพานมิตรภาพ22เม.ย.นี้". www.naewna.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ฉก.อรัญฯลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาเปิดช่องอนุโลมแรงงาน". komchadluek. 2020-01-14.
- ↑ "คนไทยก็หนีข้ามมา..!!!! กกล.บูรพา จับคนไทยลอบข้ามแดนไปทำงานบ่อน ในกรุงพนมเปญ". THESTATESTIMES (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "จนท.สระแก้วจับเขมรโรงเกลือ หนีพื้นที่กักกัน หวังลอบข้ามแดนกลับบ้าน 23 คน". www.matichon.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "แห่ลักลอบเข้าไทยต่อเนื่องผ่านเส้นทางธรรมชาติ รวบอีก2 ทำงานบ่อนออนไลน์". thainewsonline. 2021-05-09.
- ↑ "จับแรงงานกัมพูชากว่า 200 คน ลักลอบเข้าเมืองผ่านชายแดน จ.สระแก้ว". Thai PBS.
- ↑ "ทหารพรานกองร้อยที่ 1207 ตรวจยึดวัตถุโบราณศิลปะขอมอายุกว่าหนึ่งพันปี". mgronline.com. 2007-10-09.
- ↑ "'ไทย-กัมพูชา'จับมือผนึกกำลังคุมเข้มชายแดนสระแก้วรับประชุมเอเปค". https://www.naewna.com.
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "กกล.สุรสีห์-บูรพา สกัดแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าไทย". Thai PBS.
- ↑ "ชาวบ้านผงะ!! พบระเบิดกลางไร่อ้อย แจ้งหน่วยทหารและ EOD เข้าเก็บกู้ทำลายทันที - 77 ข่าวเด็ด". 2021-01-15.
- ↑ "จับกุม 2 ตำรวจตั้งแก๊งตบทรัพย์รถขนกระเทียมชายแดนเขมร". bangkokbiznews. 2017-09-14.
- ↑ "'รองโจ๊ก' สั่งเข้มงวดชายแดน ยึดกระเทียม-หัวหอม นำเข้าผิดกฎหมาย". bangkokbiznews. 2018-10-20.
- ↑ "หน่วยเฉพาะกิจร่วมจับยาชายแดนเขมร". mgronline.com. 2006-08-07.
- ↑ "ทหารพรานสระแก้วจับข้าวสารเขมร 50 ตันลอบนำเข้า". www.thairath.co.th. 2011-12-28.
- ↑ "ทหารพราน ทพ.13 เข้าขนย้ายสิ่งของและชาวบ้านออกจากพื้นที่น้ำท่วม ต.ตาหลังใน รอบ 2". เนชั่นทีวี. 2020-10-18.