ข้ามไปเนื้อหา

กรมอุตุนิยมวิทยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมอุตุนิยมวิทยา
Meteorological Department
ตราราชการของกรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพรวมกรม
ก่อตั้ง23 มิถุนายน พ.ศ. 2485; 82 ปีก่อน (2485-06-23)
กรมก่อนหน้า
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
บุคลากร1,100 คน (พ.ศ. 2566)[1]
งบประมาณต่อปี1,898,834,500 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารกรม
  • สุกันยาณี ยะวิญชาญ, อธิบดี
  • นาวาตรี สมนึก สุขวณิช, รองอธิบดี
  • ว่าง, รองอธิบดี
  • ว่าง, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกรมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เว็บไซต์เว็บไซต์ของกรม

กรมอุตุนิยมวิทยา (อังกฤษ: Meteorological Department) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย ระดับกรม สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ในการพยากรณ์อากาศ รายงานปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว ความสูงของคลื่น รายงานพยากรณ์อากาศประจำวันและพยากรณ์อากาศในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งออกประกาศเตือนต่าง ๆ โดยผู้ทำหน้าที่หลักในหน่วยงานคือ นักอุตุนิยมวิทยา

ประวัติ

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2466 เริ่มมีการดำเนินงานใน "กรมทดน้ำ" กระทรวงเกษตราธิการ และต่อมาปลายปีได้จัดตั้ง เป็น "แผนกอุตุนิยมศาสตร์และสถิติ" กองรักษาน้ำ กรมทดน้ำ (ปัจจุบันคือ กรมชลประทาน) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2479 จึงได้มีการจัดตั้งเป็นกองอุตุนิยมวิทยา สังกัดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และยกฐานะขึ้นเป็นกรมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ชื่อว่า "กรมอุตุนิยมวิทยา"

ป้ายกรมอุตุนิยมวิทยา ในปี พ.ศ.2557
พระรูป กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2505 จึงได้โอนมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และโอนมาสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ในลำดับต่อมาได้มีการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยา ได้โอนมาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และเมื่อราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ถูกโอนเข้ามาสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]
  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองเครื่องมืออุตุนิยมวิทยา
  • กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ
  • กองบริการดิจิทัลอุตุนิยมวิทยา
  • กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
  • กองพยากรณ์อากาศ
  • กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา
  • กองสื่อสาร
  • กองอุตุนิยมวิทยาการบิน
  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ
  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก
  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำนักพยากรณ์อากาศ

[แก้]

หน้าที่จัดทำแผนที่อุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์และพยากรณ์อากาศทั่วไป รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศเพื่อการคมนาคมขนส่งทางบกทั่วประเทศ และการเดินเรือในอ่าวไทยและน่านน้ำใกล้เคียง ออกคำเตือนลักษณะอากาศร้ายที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยระบบพยากรณ์อากาศต่าง ๆ ที่ทันสมัยและเป็นสากล เผยแพร่และให้บริการการพยากรณ์อากาศและเตือนภัยธรรมชาติทางอุตุนิยมวิทยาอย่างรวดเร็วโดยระบบและเทคนิคที่ทันสมัย ติดตามและประเมินผลการพยากรณ์อากาศ และศึกษาค้นคว้าเทคนิคเพื่อปรับปรุงการพยากรณ์อากาศให้ทันสมัยตลอดเวลา ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

สำนักเครื่องมืออุตุนิยมวิทยา

[แก้]

หน้าที่และความรับผิดชอบให้คำปรึกษา ศึกษา พัฒนา วางแผน ดำเนินการ และจัดทำคู่มือในการติดตั้งบำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องมือและอุปกรณ์อุตุนิยมวิทยา ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการตรวจอากาศที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล ศึกษา พัฒนา และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์อุตุนิยมวิทยา ดำเนินการและให้บริการเกี่ยวกับการสอบเทียบและตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการตรวจอากาศให้ถูกต้องตามมาตรฐานและข้อกำหนดขององค์การ อุตุนิยมวิทยาโลก ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว

[แก้]

สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว มีภารกิจในการเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิทั้งภายในและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการกระทำทั้งธรรมชาติและมนุษย์ ถือเป็นหน่วยงานหลักสำหรับการดูแลระบตรวจวัดแผ่นดินไหวของประเทศไทย มีสถานีติดตั้งทั่วประเทศและเชื่อมโยงสัญญาณความสั่นสะเทือนแบบเวลาจริงจากต่างประเทศนับร้อยสถานี เป็นสำนักงานตั้งขึ้นใหม่ตามโครงสร้างของกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อ กลางปี 2552 บุคลากรเป็นอัตรากำลังใหม่และเริ่มเข้ามาปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปี 2553

อ้างอิง

[แก้]
  1. รายงานประจำปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๕๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]