ข้ามไปเนื้อหา

กสท โทรคมนาคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รุ่นสำหรับพิมพ์ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไปและอาจมีข้อผิดพลาด โปรดอัปเดตบุ๊กมาร์กและใช้ตัวเลือกสำหรับพิมพ์ที่มีมาให้ในเบราว์เซอร์แทน
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
CAT Telecom Public Company Limited

ตึกแคท ทาวเวอร์ (CAT Tower) (หรือเอ็นทีบางรัก ในปัจจุบัน) ที่ทำการของ กสท โทรคมนาคม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าไอคอนสยาม
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง14 สิงหาคม พ.ศ. 2546
หน่วยงานก่อนหน้า
  • การสื่อสารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2520 - 2546)
ยุบเลิก7 มกราคม พ.ศ. 2564 (17 ปี)
หน่วยงานสืบทอด
สำนักงานใหญ่99 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พลเอก สุชาติ ผ่องพุฒิ, ประธานกรรมการ
  • อำนวย ปรีมนวงศ์, รองประธานกรรมการ
  • พันเอก ผศ.ดร. สรรพชัย หุวะนันทน์, กรรมการผู้จัดการใหญ่
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เว็บไซต์http://www.cattelecom.com

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรูปบริษัทมหาชน จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519

กสท โทรคมนาคม ทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในและระหว่างประเทศ ในอดีต ก.ส.ท. ยังทำหน้าที่ให้บริการกิจการไปรษณีย์เพิ่มด้วย โดยรับโอนกิจการเกือบทั้งหมดมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ต่อมามีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงได้แยกกิจการไปรษณีย์ออกไปจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่วนกิจการโทรคมนาคมได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นในชื่อ กสท โทรคมนาคม

กสท โทรคมนาคม ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นระยะเวลา 45 ปี จึงได้มีการควบรวมกิจการกับทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

ประวัติ

ยุคการสื่อสารแห่งประเทศไทย

การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Communications Authority of Thailand (CAT.) เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519[1] เพื่อดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของทั้งกิจการไปรษณีย์และกิจการโทรคมนาคม โดยรับโอนกิจการทั้งหมดมาดำเนินงานต่อจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ยกเว้นสำนักงานเลขานุการกรม กองสื่อสารระหว่างประเทศ กองแผนงาน และสำนักงานบริหารความถี่วิทยุ[1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม[2] โดยได้แยกกิจการไปรษณีย์และกิจการโทรคมนาคมออกจากกัน โดยกิจการไปรษณีย์ได้จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และรวมกิจการไปรษณีย์ในส่วนที่สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมรับโอนมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขก่อนหน้านี้ด้วย ส่วนกิจการโทรคมนาคมได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นในชื่อ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ยุคบริษัทหลังการแปรรูป

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: CAT Telecom Public Company Limited ตัวย่อ CAT) จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 หลังการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในและระหว่างประเทศ

ทุนในการจดทะเบียนประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป สามารถบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับบริษัทเอกชนได้เต็มรูปแบบ รวมทั้งกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่แล้วก็ไม่ได้มีการกระจายหุ้นแต่อย่างใด โดยเป็นกระทรวงการคลังถือหุ้นไว้ 100% ตราบจนกระทั่งควบรวมกิจการ[3]

ควบรวมกิจการกับทีโอที

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 อนุมัติให้ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการกับทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และให้บริษัทแห่งใหม่มีพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบดิจิทัลต่อไป โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด 100% ตามเดิม[4] และได้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564[5][6]

ตราสัญลักษณ์

กสท โทรคมนาคม เปลี่ยนมีสัญลักษณ์มาแล้ว 4 แบบ นับตั้งแต่เป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ของกสท โทรคมนาคม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ตราราชการของ การสื่อสารแห่งประเทศไทย มีความหมายดังนี้[7]:
    • แตรงอน หมายถึง สัญลักษณ์ระบบการสื่อสารที่เป็นสากล
    • พระมหามงกุฎ แสดงความเป็นหน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม (ในขณะนั้น) ให้บริการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
    • รัศมี 19 แฉก แทนปี พุทธศักราช ที่ก่อตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย
  • ด้านเครื่องหมายการค้าของ กสท. มีความหมายดังนี้[7]:
    • รูปซองจดหมายสีแดงและสายฟ้าฟาดสีน้ำเงิน แสดงถึงกิจการของ กสท. ทั้งไปรษณีย์และโทรคมนาคม

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
  2. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2012-01-16.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-21. สืบค้นเมื่อ 2015-08-05.
  4. สนุก.คอม (14 มกราคม 2563). "ครม.ไฟเขียว ควบรวม "CAT-TOT" เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติภายใน 6 เดือน". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "7ม.ค.64 จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ". ฐานเศรษฐกิจ. 2020-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "รมว.ดีอีเอสจุดพลุควบรวมตั้ง'NT'รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยสำเร็จ". ไทยโพสต์. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  7. 7.0 7.1 สัญลักษณ์และความเป็นมาขององค์กร - เว็บไซต์เก่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย

แหล่งข้อมูลอื่น