เก้งธรรมดา
เสียงร้องของเก้งที่เหมือนเสียงสุนัขเห่า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับย่อย: Ruminantia
วงศ์: Cervidae
วงศ์ย่อย: Cervinae
สกุล: Muntiacus
สปีชีส์: M.  muntjak
ชื่อทวินาม
Muntiacus muntjak
Zimmermann, 1780
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

เก้งธรรมดา หรือ อีเก้ง หรือ ฟาน หรือที่นิยมเรียกกันว่า เก้ง (อังกฤษ: Indian muntjac, Common barking deer, Red muntjac; ชื่อวิทยาศาสตร์: Muntiacus muntjak[2]) เป็นเก้งชนิดหนึ่ง นับเป็นเก้งชนิดที่รู้จักและมีถิ่นกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด

มีส่วนหลังโก่งเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ซีดและอมเทาเล็กน้อย หางด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ฐานเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกะโหลกยื่นยาวขึ้นไปเป็นแท่ง มีขนปกคลุม และมีขนสีดำขึ้นตามแนวเขาจนดูเป็นรูปตัววีเมื่อมองด้านหน้าตรง ส่วนปลายเขาสั้น แต่เป็นง่ามเล็ก ๆ แค่สองง่าม ไม่แตกเป็นกิ่งก้านแบบกวาง ผลัดเขาปีละครั้ง ส่วนตัวเมียไม่มีเขาและฐานเขา แต่บนหน้าก็มีขนรูปตัววีเหมือนกัน เก้งตัวที่อายุมากผู้มีเขี้ยวยาวแหลมโค้งโผล่พ้นขากรรไกรออกมา เวลาเดินจะยกขาสูงทุกย่างก้าว

หากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะพบตอนเย็นหรือหัวค่ำ และตอนเช้ามืดจนถึงช่วงสาย อดน้ำไม่เก่ง จึงมักอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ อาหารหลักได้แก่ยอดไม้, หน่ออ่อน, ใบไม้, ผลไม้ และรวมถึงเปลือกไม้ด้วย ไม่ค่อยกินหญ้า พบแพร่กระจายพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ ศรีลังกา, อินเดีย, จีนตอนใต้, พม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะชวา, เกาะบอร์เนียว, เกาะไหหลำ และหมู่เกาะซุนดา

มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ตกลูกต้นฤดูฝนพอดี ปกติตกลูกครั้งละหนึ่งตัว ตั้งท้องนานราว 6 เดือน ออกลูกตามใต้พุ่มไม้ ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว เมื่ออายุได้ราว 6 เดือน จุดสีขาวนั้นจึงค่อยจางหายไป เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 18 เดือน อายุขัยประมาณ 15 ปี ในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง[2][3]

เก้งเผือก

แก้

เก้งเผือก ซึ่งเป็นสัตว์เผือกโดยสมบูรณ์ มีลักษณะเหมือนเก้งทั่วไป แต่มีสีขนทั้งตัวสีขาวล้วน และนัยน์ตาสีแดง เก้งเผือกนั้นมีการเพาะเลี้ยงที่สวนสัตว์ดุสิต เป็นเก้งที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงได้รับการถวายมาจากชาวบ้านที่จับได้ในป่า ชื่อ "เพชร" ต่อมาเพชรได้แพร่ขยายพันธุ์และออกลูกหลาน มาจนถึงมีด้วยกันถึง 6 ตัว โดยลูกเก้งเผือกตัวที่ 6 ที่เกิดมาชื่อ "ไข่มุก"เป็นลูกเก้งเผือกเพศเมียตัวแรกของสวนสัตว์ดุสิตซึ่งเกิดจากพ่อเก้งเผือกชื่อธูปและแม่เก้งแดงธรรมดา[4]

ในขณะที่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ลูกเก้งเผือกที่เกิดจาก "พุด" ซึ่งเป็นเก้งเผือกตัวผู้ที่เป็นลูกหลานของเพชร กับเก้งตัวเมียธรรมดา ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ หลังจากเกิดได้ไม่นานก็ล้มตายลง ปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและสวนสัตว์ต่าง ๆ มีเก้งเผือกจำนวนไม่เกิน 9 ตัว ทั่วโลก

อ้างอิง

แก้
  1. Timmins, R.J., Duckworth, J.W., Hedges, S., Pattanavibool, A., Steinmetz, R., Semiadi, G., Tyson, M. & Boeadi (2008). Muntiacus muntjak. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 5 April 2009. Database entry includes a brief justification of why this species is of least concern.
  2. 2.0 2.1 "Barking Deer (Muntiacus muntjak curvostylis)". Wildlife Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มกราคม 2012.
  3. วิมุติ วสะหลาย (27 ตุลาคม 2021). "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว.
  4. เขาดินอวด “ลูกเก้งเผือก” เพศเมียอายุ 9 เดือนตัวแรกของสวนสัตว์. ข่าวสด. 1 ธันวาคม 2015 – โดยทาง ยูทูบ.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Muntiacus muntjak
  •   ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Muntiacus muntjak ที่วิกิสปีชีส์