วอร์ซอเกตโต เป็นเกตโตยิวในทวีปยุโรปภายใต้การยึดครองของนาซีที่ใหญ่ที่สุดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของโปแลนด์ ขึ้นระหว่างเดือนตุลาคมและวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 ในเขตเจเนรัลกอแวร์เมนท์ (General Government) ในโปแลนด์ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี โดยมีชาวยิวมากกว่า 400,000 คนจากบริเวณใกล้เคียงถูกจัดให้อยู่อาศัยอย่างแออัดในพื้นที่ 3.4 ตารางกิโลเมตร จากที่นี้ ผู้อยู่อาศัยในเกตโตราว 254,000 คนถูกส่งตัวไปยังค่ายมรณะแตรบลิงกา ในช่วงสองเดือนในฤดูร้อน ค.ศ. 1942 เฉพาะยอดผู้เสียชีวิตในหมู่ผู้อยู่อาศัยชาวยิวในเกตโตระหว่างโกรสซัคทิโยน วาร์เชา (Großaktion Warschau) ยากที่จะเปรียบเทียบแม้แต่กับการกำจัดเกตโตในฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา ทั้งระหว่างและหลังการลุกฮือวอร์ซอเกตโต ซึ่งอาจหมายถึงการทำลายล้างประชากรเพิ่มอีก 50,000 คนหลังการรื้อถอนเกตโต[1] รวมทั้งสิ้นแล้ว มีชาวยิวโปแลนด์อย่างน้อย 300,000 คนเสียชีวิต ณ ที่แห่งนี้[2][3][4]

พรมแดนของสลัมกรุงวอร์ซอ (แผนที่แบบโต้ตอบ)
ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในวอร์ซอเกตโต

สภาพความเป็นอยู่

แก้

ระหว่างหนึ่งปีครึ่ง ชาวยิวโปแลนด์หลายพันคน เช่นเดียวกับชาวโรมานีบางส่วนจากนครที่เล็กกว่าและชนบทถูกนำตัวเข้ามาในเกตโต ขณะที่โรคระบาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้รากสาดใหญ่)[5] และความอดอยากทำให้จำนวนผู้อยู่อาศัยค่อนข้างอยู่ที่ระดับเดิม

การว่างงานเป็นปัญหาใหญ่ในเกตโต โรงงานผิดกฎหมายถูกสร้างขึ้นเพื่อผลิตสินค้าเพื่อขายอย่างผิดกฎหมายนอกเกตโต และมีการลักลอบนำสินค้าดิบเข้ามา โดยมากมักทำโดยเด็ก เด็กยิวอายุสี่ถึงห้าขวบหลายร้อยคนข้ามไปยัง "ฝั่งอารยัน" เป็นกลุ่ม บางครั้งหลายรอบต่อวัน เพื่อลักลอบนำอาหารเข้ามาในเกตโต และคืนกลับไปด้วยสินค้า การลักลอบมักเป็นหนทางยังชีพเพียงอย่างเดียวของผู้อยู่อาศัยในเกตโต มิฉะนั้นแล้วอาจเสียชีวิตด้วยความอดอยาก แต่แม้จะประสบความยากลำบากแสนสาหัสนี้ก็ตาม ชีวิตในวอร์ซอเกตโตนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมทางการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งดำเนินการโดยองค์การใต้ดิน โรงพยาบาล ครัวซุปสาธารณะ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ศูนย์ผู้อพยพ และสถานพักผ่อนหย่อนใจมีการจัดตั้งขึ้น เช่นเดียวกับระบบโรงเรียน โรงเรียนบางแห่งผิดกฎหมายและดำเนินการภายใต้ฉากหน้าเป็นครัวซุป นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดลับ ชั้นเรียนสำหรับเด็กและแม้แต่วงซิมโฟนีออร์เคสตรา

ผู้อยู่อาศัยในเกตโตมากกว่า 100,000 คนเสียชีวิตเนื่องจากโรคระบาดร้ายแรงหรือการอดอยาก เช่นเดียวกับการสุ่มฆ่า แม้กระทั่งก่อนพวกนาซีเริ่มการเนรเทศครั้งใหญ่ไปยังค่ายมรณะแตรบลิงกา ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม และ 21 กันยายน ค.ศ. 1942 ผู้อยู่อาศัยในเกตโตกว่า 254,000 คน (หรืออย่างน้อย 300,000 คนจากอีกแหล่ข้อมูลหนึ่ง)[6] ถูกส่งไปยังแตรบลิงกาและถูกสังหารที่นั่น[7] จนถึงปลาย ค.ศ. 1942 ชัดเจนแล้วว่าการเนรเทศหมายถึงการตายของพวกเขา ชาวยิวที่เหลืออยู่จำนวนมากตัดสินใจที่จะลุกขึ้นสู้[6]

การลุกฮือวอร์ซอเกตโตและการทำลายล้าง

แก้

วันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1943 หลังไม่มีการเนรเทศนานเกือบสี่เดือน ฉับพลันพวกเยอรมันก็เข้ามาในวอร์ซอเกตโตโดยตั้งใจว่าจะเนรเทศอีกครั้ง ภายในไม่กี่ชั่วโมง ชาวยิวราว 600 คนถูกยิง และอีก 5,000 คนถูกล้อมจับ พวกเยอรมันไม่คาดว่าจะมีการขัดขืน แต่การเตรียมการต่อสู้นั้นดำเนินมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว[8] เหตุการณ์การต้านทานติดอาวุธชาวยิวเริ่มขึ้นวันนั้นเอง นักสู้ยิวประสบความสำเร็จอยู่บ้าง คือ การขับออกยุติลงภายในสี่วัน และองค์การต้านทานเข้าควบคุมเกตโต สร้างที่พักพิงและฐานต่อสู้ ตลอดจนลงมือกับผู้ให้ความร่วมมือชาวยิว[5]

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษศายน ค.ศ. 1943 เมื่อกองทัพนาซีประกอบด้วยกำลังพลหลายพันนายเข้าสู่เกตโต หลังล่าถอยออกมาในช่วงแรก ทหารเยอรมันค่อย ๆ เผาและระเบิดอาคารในเกตโตอย่างเป็นระบบไปทีละช่วงตึก ล้อมจับหรือสังหารทุกคนที่สามารถจับเป็นเชลยได้ การต่อสู้หลักสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 เมษายน และปฏิบัติการของนาซีสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในกลางเดือนพฤษภาคม จนลงเอยในทางสัญลักษณ์ด้วยการระเบิดมหาธรรมศาลาแห่งวอร์ซอ (Great Synagogue of Warsaw) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ตามรายงานอย่างเป็นทางการ อย่างน้อย 56,065 คนถูกสังหาร ณ ที่เกิดเหตุหรือถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันและค่ายมรณะนาซีเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่ไปยังแตรบลิงกา

อ้างอิง

แก้
  1. United States Holocaust Memorial Museum, Warsaw Ghetto Uprising Last Updated: May 20, 2008.
  2. Aktion Reinhard. Treblinka Extermination Camp in the Generalgouvernement. Yad Vashem.
  3. Marcin Urynowicz, Institute of National Remembrance (IPN), Gross Aktion – Zagłada Warszawskiego Getta (Gross Aktion – Annihilation of Warsaw Ghetto) (โปแลนด์)
  4. The statistical data compiled on the basis of "Glossary of 2,077 Jewish towns in Poland" เก็บถาวร 2016-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Virtual Shtetl Museum of the History of the Polish Jews  (อังกฤษ), as well as "Getta Żydowskie," by Gedeon,  (โปแลนด์) and "Ghetto List" by Michael Peters at www.deathcamps.org/occupation/ghettolist.htm  (อังกฤษ). Accessed June 21, 2011.
  5. 5.0 5.1 (English) David Wdowiński (1963). And we are not saved. New York: Philosophical Library pp. 222. ISBN 0-8022-2486-5. Note: Chariton and Lazar were never co-authors of Wdowiński's memoir. Wdowiński is considered the "single author."
  6. 6.0 6.1 "Warsaw Ghetto Uprising", United States Holocaust Memorial Museum. Last Updated: May 20, 2008.
  7. Treblinka, Yad Vashem
  8. Martin Gilbert, 'The Holocaust' (1986), pages 522-523.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

52°14′46″N 20°59′45″E / 52.24611°N 20.99583°E / 52.24611; 20.99583