ข้ามไปเนื้อหา

กระต่ายยุโรป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Oryctolagus)

กระต่ายยุโรป
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Pleistocene–Holocene
สมัยไพลสโตซีนถึงปัจจุบัน[2]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: อันดับกระต่าย
Lagomorpha
วงศ์: วงศ์กระต่าย
Leporidae
สกุล: กระต่ายยุโรป
Oryctolagus
(Linnaeus, 1758)
สปีชีส์: Oryctolagus cuniculus[1]
ชื่อทวินาม
Oryctolagus cuniculus[1]
(Linnaeus, 1758)
การกระจายพันธุ์:
  ถิ่นกำเนิด
  นำเข้า
ชื่อพ้อง

Lepus cuniculus Linnaeus, 1758

กระต่ายยุโรป หรือ กระต่ายบ้าน (อังกฤษ: European rabbit[3], common rabbit; ชื่อวิทยาศาสตร์: Oryctolagus cuniculus) เป็นกระต่ายพื้นเมืองของแถบยุโรป (สเปน และ โปรตุเกส) และตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา (โมร็อกโกและแอลจีเรีย) เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Oryctolagus ที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ 6 ชนิด

จุดกำเนิด

[แก้]

กระต่ายยุโรปก็มีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ คือเริ่มจากมนุษย์จับกระต่ายยุโรปมาเลี้ยง แต่ระยะเวลาในการเริ่มต้นนำกระต่ายยุโรปมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ แล้วนับว่ามีอายุสั้นกว่ามาก ประวัติการเริ่มต้นนำกระต่ายยุโรปมาเลี้ยง พึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีมานี้ โดยเริ่มในยุคต้นของอาณาจักรโรมัน ประมาณ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช (116-27 ก่อนคริสต์ศักราช) กระต่ายยุโรป ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบรอยต่อระหว่างทวีปแอฟริกาหนือและยุโรปตอนใต้ ได้ถูกจับมาเลี้ยงแบบจำกัดเขตตามสวนหรืออุทยานที่มีรั้วหรือกำแพงล้อมรอบแบบกึ่งเลี้ยงกึ่งกระต่ายป่า เพื่อเป็นเกมการล่าสัตว์ของกษัตริย์หรือขุนนาง และเพื่อใช้เป็นอาหารของพวกพระหรือนักบวชชาวโรมันในระหว่างถือบวชก่อน หลังจากนั้นการเลี้ยงกระต่ายก็ค่อย ๆ แพร่หลายไปเรื่อยและมีการพัฒนาขึ้น ทั้งวิธีการเลี้ยงและสายพันธุ์ จากจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงในยุโรปตอนใต้ (แถบสเปนและอิตาลีในปัจจุบัน) กระต่ายยุโรปก็ถูกนำไปเลี้ยงแพร่หลายทั่วยุโรป รวมทั้งข้ามไปถึงเกาะอังกฤษ และในยุคกลาง (ราวกลางศตวรรษที่ 17) พวกนักเดินเรือก็นำกระต่ายติดเรือไปด้วย เพื่อใช้เป็นอาหารในเรือและนำไปปล่อยตามเกาะหรือแผ่นดินใหม่ที่ค้นพบ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร จึงทำให้กระต่ายแพร่ขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสัตว์พื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1859 กระต่ายเพียงไม่กี่คู่ได้ถูกนำไปปล่อยตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลีย และในระยะเวลาอีกประมาณ 30 ปี ต่อมากระต่ายเหล่านั้นก็แพร่ขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนมากมายเป็นหลายสิบล้านตัว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะสม มีอาหารเหลือเฟือ และไม่มีศัตรูตามธรรมชาติคอยลดจำนวนประชากร จนกระต่ายกลายเป็นศัตรูสำคัญของการปลูกพืช ที่รัฐบาลออสเตรเลียปัจจุบันต้องค้นคิดหาวิธีการต่าง ๆ มาลดจำนวนกระต่ายในประเทศลง หรืออย่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าใจกันว่ากระต่ายถูกนำติดตัวไปกับกลุ่มผู้อพยพจากยุโรปสมัยแรกเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร และแม้จะมีรายงานว่ากระต่ายที่นำติดตัวไปจากยุโรป จะแพร่พันธุ์ในสภาพป่าเขาธรรมชาติของทวีปอเมริกาไม่ดีนัก แต่จำนวนกระต่ายในอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ในแง่ของการเลี้ยงกระต่าย จึงถือว่ากระต่ายยุโรป เป็นต้นสายพันธุ์ของกระต่ายที่พัฒนามาเป็นกระต่ายเลี้ยงสวยงามต่าง ๆ หลากหลายสายพันธุ์เช่นในปัจจุบัน [4]

ลักษณะทางกายภาพ

[แก้]

กระต่ายยุโรปเป็นกระต่ายที่มีขนสีน้ำตาลเทา (บางครั้งอาจมีสีดำ) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดเป็นกระต่ายขนาดกลาง โดยการจัดมาตรฐาน กระต่ายยุโรปก็ยังจัดอยู่ในช่วง 34 ถึง 50 เซนติเมตร มีน้ำหนักตั้งแต่ 1.1 ถึง 2.5 กิโลกรัม[5] มีหูยาว ขาหลังขนาดใหญ่และ หางสั้นขนปุย เคลื่อนที่โดยการกระโดด ด้วยขาหลังที่ยาวและมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ขาด้านหลังมีช่องว่างภายใน มีขนหนาเพื่อรองรับการกระแทกเมื่อกระโดดอย่างรวดเร็ว เท้าที่ยาวและมีพังผืดเพื่อกระจายแรงขณะกระโดด และมีเปลือกตาหรือหนังตาถึง 3 ชั้น[6]

การดำรงชีวิต

[แก้]
กระต่ายยุโรปใช้เวลากินหญ้าค่อนข้างนาน

เป็นสัตว์สังคม อาศัยในโพรงขนาดย่อม หากินในช่วงเวลาพลบค่ำเป็นส่วนใหญ่ และทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อฟ้ามืด เพราะประสิทธิภาพในการมองเห็นของกระต่ายจะลดลงในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางวันนั้นจะไม่ทำกิจกรรมใด ๆ จะอาศัยอยู่ในโพรงที่สร้างไว้ และเพื่อหลบภัยจากศัตรูอีกด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hoffman, R.S.; Smith, A.T. (2005). "Order Lagomorpha". ใน Wilson, D.E.; Reeder, D.M (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 205–206. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
  2. "Fossilworks: Oryctolagus cuniculus". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-08. สืบค้นเมื่อ 2024-06-24.
  3. 3.0 3.1 Villafuerte, R. & Delibes-Mateos, M. (2020) [errata version of 2019 assessment]. "Oryctolagus cuniculus". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T41291A170619657. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T41291A170619657.en. สืบค้นเมื่อ 17 February 2022.
  4. กระต่าย ๑ น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  5. Macdonald, D.W.; Barrett , P. (1993). Mammals of Europe. New Jersey: Princeton University Press. ISBN 0-691-09160-9.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. Pets 101 : Pet Guide, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2555

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Oryctolagus cuniculus
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Oryctolagus cuniculus ที่วิกิสปีชีส์