ข้ามไปเนื้อหา

ฮฺวา มู่หลาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮฺวา มู่หลาน
花木蘭 / 花木兰
ภาพเขียนสมัยราชวงศ์ชิง
ปรากฏครั้งแรกมู่หลานฉือ
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
เพศหญิง
อาชีพทหารม้า
บ้านเกิดราชวงศ์เว่ย์เหนือ
ฮฺวา มู่หลาน
อักษรจีนตัวเต็ม
อักษรจีนตัวย่อ

ฮฺวา มู่หลาน (จีนตัวเต็ม: 花木蘭; จีนตัวย่อ: 花木兰) เป็นบุคคลชาวจีนโบราณซึ่งยังไม่มีหลักฐานระบุชัดเจนว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ปรากฏครั้งแรกในร้อยกรองชื่อ มู่หลานฉือ (木蘭辭; "ลำนำมู่หลาน") ที่บรรยายว่า นางไปรับราชการทหารแทนบิดาผู้สูงวัย ออกรบสิบสองปีจนมีความดีความชอบ แต่ไม่รับรางวัลใด ๆ ขอกลับคืนมาอยู่บ้านดังเดิมก็พอแล้ว

เรื่องมู่หลานนั้นได้รับการดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงสมัยใหม่หลายรูปแบบ ทั้งภาพยนตร์แอนิเมชัน ภาพยนตร์คนแสดง และละครโทรทัศน์

เอกสาร

[แก้]

ร้อยกรอง มู่หลานฉือ นั้นปรากฏครั้งแรกในเอกสารที่เรียกว่า กู่จินเยฺว่ลู่ (古今樂錄; "บันทึกบทเพลงเก่าใหม่") ซึ่งจัดทำขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ราวร้อยปีก่อนตั้งราชวงศ์ถัง ปัจจุบันเนื้อความดั้งเดิมของร้อยกรองนั้นสูญหายไปสิ้นแล้ว ส่วนเนื้อความที่มีอยู่นั้นเอามาจากที่บันทึกไว้ในเอกสารอีกชุด เรียกว่า เยฺว่ฝู่ชือ (樂府詩; "ประชุมร้อยกรองสำนักสังคีต") ซึ่งกัว เม่าเชี่ยน (郭茂倩) จัดทำขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 หรือ 12 เพื่อรวบรวมเนื้อเพลงและโคลงกลอนเอาไว้ โดยระบุว่า เอาเนื้อความมาจาก กู่จินเยฺว่ลู่

มู่หลานฉือ เป็นร้อยกรอง แต่ละวรรคจึงมีพยางค์เท่ากันตามฉันทลักษณ์ จากเนื้อความที่มีอยู่เห็นได้ว่า แต่ละบทมีห้าวรรค แต่บางบทอาจเพิ่มเป็นเจ็ดหรือเก้าวรรค และลำนำมีคำคล้องจองทั้งสิ้นสามสิบเอ็ดคู่

มู่หลานฉือ ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไร จนกระทั่งสมัยราชวงศ์หมิง สฺวี เว่ย์ (徐渭) เอาไปแต่งเป็นบทงิ้วชื่อ ฉือมู่หลาน (雌木蘭; "แม่สาวมู่หลาน") หรือชื่อเต็มว่า ฉือมู่หลานที่ฟู่ฉงจฺวิน (雌木蘭替父從軍; "แม่สาวมู่หลานเข้าเป็นทหารแทนบิดา") มีเนื้อหาสององก์[1][2] ทำให้เรื่องราวของมู่หลานมีชื่อเสียงขึ้นมา ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ฉู่ เหรินโฮ่ว (褚人獲) เอาไปแต่งเป็นส่วนหนึ่งของนิยายเรื่อง สุยถัง (隋唐)[3][4] มู่หลานจึงกลายเป็นตำนานเล่าขานในหมู่ชาวจีนทำนองเดียวกับตำนานเรื่อง เหลียงชานปั๋ว-ยฺหวี่จู้อิงไถ (梁山伯與祝英台; "เหลียง ชานปั๋ว กับจู้ อิงไถ")

ชื่อ

[แก้]

คำว่า "มู่หลาน" (木蘭) แปลตรงตัวว่า "กล้วยไม้ป่า" (wild orchid) และสามารถหมายถึง ดอกแมกโนเลีย

ชื่อสกุลของมู่หลานนั้นปรากฏต่างกัน เอกสาร หมิงฉื่อ (明史; "พงศาวดารหมิง") ว่า มู่หลานแซ่ "จู" (朱) แปลว่า ชาด ส่วนบทงิ้ว ฉือมู่หลาน ว่า แซ่ "ฮฺวา" (花) ที่แปลว่า "ดอกไม้" และ ชิงฉือเก่า (清史稿; "ร่างพงศาวดารชิง") รับเอาแซ่ "ฮฺวา" นี้ไปบันทึกไว้[1] ในสมัยหลังมักถือกันว่า มู่หลานแซ่ "ฮฺวา" เพราะความหมาย "ดอกไม้" สอดคล้องกับชื่อตัวที่แปลว่า "กล้วยไม้ป่า" และมีสุนทรียรสทางโคลงกลอนมากกว่า

เรื่องราว

[แก้]

มู่หลานฉือ

[แก้]

มู่หลานฉือ ระบุว่า แต่ละสกุลต้องส่งบุรุษหนึ่งคนไปเป็นทหาร มู่หลานวิตกมาก เพราะชายในครอบครัวมีเพียงบิดาผู้ชรา และน้องชายซึ่งยังเล็กนัก มู่หลานจึงตัดสินใจไปเป็นทหารแทนบิดา มู่หลานแต่งกายเป็นชาย โดยที่เพื่อนร่วมทัพไม่รู้ระแคะระคายแม้แต่น้อย หลังจากรบทัพจับศึกได้สิบสองปี กองทัพก็กลับคืนสู่พระนคร มีการปูนบำเหน็จ มู่หลานมีความชอบมาก จะได้เป็นขุนน้ำขุนนาง แต่นางบอกปัดตำแหน่งลาภยศใด ๆ ขอเพียงม้าเร็วให้ขึ้นขี่กลับไปบ้านได้ทันใจก็พอ

เมื่อกลับถึงบ้าน ครอบครัวและชาวบ้านใกล้เรือนเคียงพากันมายินดี มู่หลานเข้าไปเปลี่ยนชุดเป็นหญิงออกมาเชิญเพื่อนทหารให้เข้าบ้าน คนเหล่านั้นจึงตกตะลึงไปตาม ๆ กัน

สุยถัง

[แก้]

ส่วน สุยถัง ว่า ฮฺวา มู่หลาน และครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย ฮฺวา หู (花弧) บิดาผู้สูงวัย, มารดาแซ่ ยฺเหวียน (袁), น้องสาวหนึ่งคนชื่อ ฮฺวา โย่วหลาน (花又蘭), กับน้องชายวัยทารกอีกหนึ่งคน เป็นชาวเมืองข่านเติร์กตะวันตก (Western Turkic Khaganate) ซึ่งมีเหอซัวน่าข่าน (曷娑那可汗; Heshana Khan) ปกครอง ต่อมา เมืองข่านเข้าช่วยราชวงศ์ถังทำสงคราม ราชวงศ์ถังนั้นเพิ่งตั้งขึ้นและหมายจะปกครองเมืองจีนทั้งแว่นแคว้น ฮฺวา หู ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร มู่หลานจึงแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นบุรุษแล้วไปรับราชการแทนบิดา กองทัพกบฏของโต้ว เจี้ยนเต๋อ (竇建德) จับมู่หลานได้ เซี่ยนเหนียง (線娘) ธิดาของโต้ว เจี้ยนเต๋อ นำมู่หลานไปสอบสวน และพยายามให้มู่หลานเข้าเป็นพวก แต่เมื่อทราบว่า มู่หลานเป็นสตรี เซี่ยนเหนียงก็ประทับใจในความเสียสละของมู่หลานเป็นอันมาก หญิงทั้งสองจึงสาบานเป็นพี่น้องกัน มู่หลานก็นับถือโต้ว เจี้ยนเต๋อ เป็นบิดา และเข้าร่วมทัพกบฏ[4][5]

ภายหลัง ฝ่ายกบฏแพ้สงครามและจะต้องถูกประหาร มู่หลานกับเซี่ยนเหนียงจึงมอบตัวต่อกองทัพราชวงศ์ถังและขอตายแทนคนทั้งหลาย หลี่ ยฺเหวียน (李淵) กษัตริย์ถัง ซึ้งพระทัยในความกตัญญูของสตรีทั้งสอง จึงอภัยโทษให้คนทั้งปวง ชายาของหลี่ ยฺเหวียน ซึ่งเป็นมารดาของหลี่ ชื่อหมิน (李世民) ประทานเงินรางวัลให้มู่หลาน และประทานสมรสให้เซี่ยนเหนียงกับลัว เฉิง (罗成) แม่ทัพราชวงศ์ถังที่รักใคร่ชอบพอกันอยู่[6]

มู่หลานรับเงินแล้วก็เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน หวังใจว่า จะพากันย้ายรกรากไปเมืองเล่อโช่ว (樂壽) ซึ่งเคยเป็นที่มั่นกบฏ ปัจจุบันคืออำเภอเซี่ยน (獻縣) ในนครชางโจว (沧州) มณฑลเหอเป่ย์ (河北省) แต่เมื่อถึงบ้าน มู่หลานพบว่า บิดาสิ้นชีพนานแล้ว ส่วนมารดาก็มีสามีใหม่แซ่เว่ย์ (魏) นอกจากนี้ ข่านยังเรียกนางไปเป็นสนม มู่หลานจึงฆ่าตัวตาย ก่อนตายได้สั่งให้โย่วหลาน น้องสาว เอาจดหมายไปให้เซี่ยนเหนียงที่เมืองจีน โย่วหลานจึงแต่งกายเป็นชายแล้วเดินทางไปพบลัว เฉิง สามีของเซี่ยนเหนียง แต่คนทั้งหลายจับได้ว่า แท้จริงแล้วชายหนุ่มที่มาส่งจดหมายนั้นเป็นหญิง ก็หัวเราะลั่น[7]

เนื้อเรื่องว่า บิดาของมู่หลานเป็นชาวเติร์ก ส่วนมารดาเป็นจีน[8] จึงมีผู้อธิบายว่า ที่มู่หลานฆ่าตัวตายนั้น เพราะแม้ไม่ใช่จีนเต็มร้อย แต่ไม่ก็ประสงค์จะอยู่ในเงื้อมมือเจ้าแคว้นแดนอื่น[9]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Kwa & Idema 2010, p. xvii
  2. Huang, Martin W. (2006), Negotiating Masculinities in Late Imperial China, University of Hawaii Press, pp. 67–8, ISBN 0824828968
  3. Kwa & Idema 2010, pp. xx–xxi, 119–120
  4. 4.0 4.1 Huang 2006, pp. 120, 124–5
  5. Ren-Huo Chu. Suei Tang Yan Yi ที่ โครงการกูเทนแบร์ก , Ch. 56 (第五十六回)
  6. Ren-Huo Chu. Suei Tang Yan Yi ที่ โครงการกูเทนแบร์ก , Ch. 59 (第五十九回)
  7. Ren-Huo Chu. Suei Tang Yan Yi ที่ โครงการกูเทนแบร์ก , Ch. 60 (第六十回)
  8. Ch. 56, "其父名弧,字乘之,拓拔魏河北人,为千夫长。续娶一妻袁氏,中原人。"
  9. Huang 2006, p. 120

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]