ข้ามไปเนื้อหา

อาหารสิงคโปร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวมันไก่แบบสิงคโปร์เป็นอาหารสิงคโปร์ที่ได้รับความนิยมมากและเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติของสิงคโปร์

อาหารสิงคโปร์ เป็นตัวบ่งชี้ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสิงคโปร์ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย และได้มีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมมานานนับศตวรรษ อาหารได้รับอิทธิพลจากชาวพื้นเมืองมลายู ชาวจีน อินโดนีเซีย เปอรานากัน วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมาจากอังกฤษ และกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลโปรตุเกสซึ่งเรียกชาวคริสตัง อิทธิพลจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น ศรีลังกา ไทย ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง พบในอาหารพื้นเมืองเช่นกัน ในสิงคโปร์ อาหารถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการกำหนดเอกลักษณ์ของชาติและความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในสิงคโปร์ การพบปะและรับประทานอาหารระหว่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติ อาหารสิงคโปร์ได้รับการส่งเสริมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดเทศกาลอาหารสิงคโปร์ในเดือนกรกฎาคมเพื่อส่งเสริมอาหารสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กที่มีประชากรหนาแน่นมาก ที่ดินเป็นทรัพยากรสำคัญที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ผลิตภัณฑ์และเครื่องปรุงส่วนใหญ่นำเข้ามา แม้ว่าจะมีกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็กที่ปลูกผัก ผลไม้ หรือสัตว์ปีกและปลา เนื่องจากสิงคโปร์ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญ จึงสามารถพบผลิตภัณฑ์และเครื่องปรุงทั่วโลกได้ที่นี่

อาหารหลักและของว่าง

[แก้]

อาหารจีน

[แก้]
บักกุ๊ดเต๋
ซุปปลาบีหุน
ข้าวมันไก่สิงคโปร์
หมี่ฮกเกี้ยน
ขนมปังสังขยาหรือกายาโทสต์

อาหารส่วนใหญ่ที่เข้ามายังสิงคโปร์มาจากผู้อพยพจากจีนตอนใต้รุ่นแรก ๆ (ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ฮากกา และไหหลำ) และมีการปรับปรุงให้เข้ากับเครื่องปรุงในท้องถิ่น และรับอิทธิพลจากอาหารมลายู อินเดีย และอื่นๆเข้ามา อาหารจีนในสิงคโปร์จะได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลักของชาวจีนในสิงคโปร์ ชื่อของอาหารจีนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ ได้มาจากสำเนียงทางจีนตอนใต้ โดยภาษาจีนฮกเกี้ยนเป็นสำเนียงที่ใช้มากที่สุด และการออกเสียงยังต่างไปตามสำเนียงย่อยของท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย เช่น โงเฮี่ยว (五香) เป็นการออกเสียงของภาษาจีนฮกเกี้ยนในฉางโจว ตัวอย่างอาหารในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • บักกุ๊ดเต๋ (ภาษาจีน: 肉骨茶; pinyin: ròu gǔ chá)เป็นซี่โครงหมูต้มกับเครื่องเทศและสมุนไพรจีน
  • บ๊ะจ่าง (ภาษาจีน: 肉粽; pinyin: ròu zòng) เป็นอาหารว่างที่ทำจากข้าวเหนียว ใส่หมู เห็ด ไข่เค็ม ห่อด้วยใบไผ่ นำไปนึ่ง ต้นกำเนิดมาจากอาหารจีน แต่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวเปอรานากัน
  • หมี่บะช่อ (อักษรจีนตัวย่อ: 肉脞面; อักษรจีนตัวเต็ม: 肉脞麵; pinyin: roù cuò miàn) เส้นหมี่หมูสับหรือไก่สับ กินแบบแห้งหรือใส่น้ำซุป นิยมใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวแบบแบน
  • บันเมียน (อักษรจีนตัวย่อ: 板面; อักษรจีนตัวเต็ม: 板麵; pinyin: bǎn miàn) เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแบน กินกับผัก เนื้อสัตว์บด เห็ดหั่น และไข่ กินกับน้ำซุปที่ทำจากแองโชวี่หรืออีกันบีลิส
  • ขนมหัวผักกาด (อักษรจีนตัวย่อ: 菜头粿; อักษรจีนตัวเต็ม: 菜頭粿; pinyin: cài tóu guǒ) ขนมทำจากแครอทหรือหัวผักกาด นำมาตัดแบ่งแล้วผัดกับกระเทียม ไข่ หัวไชเท้าดอง และกุ้ง ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว บางสูตรใส่กะปิด้วย
  • ก๋วยเตี๋ยวผัด (อักษรจีนตัวย่อ: 炒粿条; อักษรจีนตัวเต็ม: 炒粿條; pinyin: chǎo guǒ tiáo) เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบแบน ทำจากข้าว ผัดกับซอสสีดำ ใส่กุ้ง ไข่ ถั่วงอก ลูกชิ้น ผักใบเขียว กุนเชียง ซีอิ๊ว
  • ชาร์เซียว (อักษรจีนตัวย่อ: 叉烧饭; อักษรจีนตัวเต็ม: 叉燒飯; pinyin: chā shāo fàn) เป็นอาหารจีนกวางตุ้ง ที่นำข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวมากินกับหมูย่าง หมักด้วยซอสรสจัด
  • ก๋วยเตี๋ยวหลอด (อักษรจีนตัวย่อ: 猪肠粉; อักษรจีนตัวเต็ม: 豬腸粉; pinyin: zhū cháng fěn) เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวนึ่ง ทำจากข้าวเป็นแผ่นหนาแบน นำมาม้วนเป็นแท่ง บางครั้งใส่หมู ไก่ หรือผัก กินกับซอสถั่วเหลือง ปรุงรสหวาน
  • โจ๊ก (ภาษาจีน: 粥; pinyin: zhōu) เป็นโจ๊กแบบกวางตุ้งใส่เครื่องปรุงหลายอย่าง รวมทั้งไก่และหมู มักจะกินคู่กับแองโชวี ไข่เยี่ยวม้าหรือไข่สด
  • จุ๊ยก๊วย (ภาษาจีน: 水粿; pinyin: shuǐ guǒ) ขนมนึ่งทำจากข้าว โรยหน้าด้วยหัวไชโป๊ว กินเป็นอาหารเช้า
  • ข้าวอบไก่หม้อดิน (อักษรจีนตัวย่อ: 砂煲鸡饭; อักษรจีนตัวเต็ม: 砂煲雞飯; pinyin: shā bāo jī fàn) หรือข้าวไก่หม้อดิน เป็นข้าวหุงในหม้อดิน โปะหน้าด้วยไก่และกุนเชียง ราดด้วยซีอิ๊ว บางครั้งใส่ปลาเค็ม
  • หมี่กะหรี่ไก่ (อักษรจีนตัวย่อ: 咖喱鸡面; อักษรจีนตัวเต็ม: 咖喱雞麵; pinyin: gā lí jī miàn) หมี่ไข่สีเหลืองกินกับแกงกะหรี่
  • กุ้งดรุนเกน (อักษรจีนตัวย่อ: 醉虾; อักษรจีนตัวเต็ม: 醉蝦; pinyin: zuì xiā) กุ้งปรุงกับไวน์ข้าวแบบจีน
  • ข้าวหน้าเป็ด (อักษรจีนตัวย่อ: 鸭饭; อักษรจีนตัวเต็ม: 鴨飯; pinyin: yā fàn) ทำจากข้าวและเป็ด หุงกับกลอยและกุ้ง กินแบบง่ายกับข้าวขาว และซอสสีดำข้น กินกับไข่ต้มแข็ง ผักดอง เต้าหู้ทอด ข้าวเป็ดแบบแต้จิ๋วคล้ายกัน แต่จะหั่นเนื้อเป็ดบางกว่า
  • ทาร์ตไข่ (อักษรจีนตัวย่อ: 蛋挞; อักษรจีนตัวเต็ม: 蛋撻; pinyin: dàn tà) เป็นแพสตรีที่มีไส้เป็นคัสตาร์ดไข่
  • หมี่ลูกชิ้นปลา (อักษรจีนตัวย่อ: 鱼丸面; อักษรจีนตัวเต็ม: 魚丸麵; pinyin: yú wán miàn) โดยมากเป็นแบบแต้จิ๋ว เป็นหมี่หลายแบบ มีทั้งแบบใส่น้ำซุปปลาและแบบแห้ง ใส่ลูกชิ้นปลา ถั่วงอก และผักกาดหอม คล้ายหมี่บะช่อ
  • ซุปปลาบีหุน (อักษรจีนตัวย่อ: 鱼头米粉; อักษรจีนตัวเต็ม: 魚頭米粉; pinyin: yú tóu mǐ fěn) เป็นซุปปลาที่มีส่วนผสมหลักเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าว ใส่หัวปลาทอด ใสน้ำซุปปลาและนม
  • ข้าวผัด (อักษรจีนตัวย่อ: 炒饭; อักษรจีนตัวเต็ม: 炒飯; pinyin: chǎo fàn) เป็นข้าวผัดกับไข่ เนื้อสัตว์ ผัก
  • ข้าวมันไก่ (จีนตัวย่อ: 海南鸡饭; จีนตัวเต็ม: 海南雞飯; พินยิน: hǎi nán jī fàn) เป็นไก่ต้มกินกับข้าวที่หุงด้วยน้ำซุปไก่ กินกับซอสพริก ซีอิ๊วดำ และขิงบด อาจใช่ไก่อบแทนไก่ต้มได้ ถือเป็นอาหารที่เป็นเอกลกษณ์ของสิงคโปร์ จุดกำเนิดอยู่ที่เมืองเหวินชาง เกาะไหหลำ แต่รูปแบบในสิงคโปร์ไม่เหมือนต้นตำรับที่ไหหลำมากนัก
  • แฮหมี่ (จีนตัวย่อ: 虾面; จีนตัวเต็ม: 蝦麵; พินยิน: xiā miàn)เป็นหมี่เหลืองกินกับกุ้ง ใส่น้ำซุปกุ้งและซี่โครงหมู ใส่ลูกชิ้นปลา
  • ฮาร์เชืองไก (จีนตัวย่อ: 虾酱鸡; จีนตัวเต็ม: 蝦醬雞; พินยิน: xiā jiàng jī;) เป็นปีกไก่ทอดหมักกับกะปิ
  • หมี่ฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ: 福建炒虾面; จีนตัวเต็ม: 福建炒蝦麵; พินยิน: fú jiàn chǎo xiā miàn) เป็นหมี่ขาวหรือหมี่เหลืองทอดกับกุ้ง ปลาดุกหั่น
  • ฮอร์ฟุน (ภาษาจีน: 河粉; พินยิน: hé fěn) เป็นหมี่ขาวแบน มีน้ำราด ใส่ปลาหรือกุ้ง อาจใส่เนื้อวัวได้
  • ฮุมชิมเปง (จีนตัวย่อ: 咸煎饼; จีนตัวเต็ม: 咸煎餅; pinyin: xián jiān bǐng) เป็นขนมทอด ลักษณะคล้ายแพสตรี บางครั้งใส่ไส้ถั่วบด
  • ขนมปังสังขยาหรือกายาโทสต์ เป็นอาหารเช้าแบบพื้นเมือง กายาหรือสังขยาเป็นแยมรสหวานทำจากมะพร้าวและไข่ ใช้ทาบนขนมปัง กินกับกาแฟและไข่ลวก เป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของสิงคโปร์
  • กวยจั๊บ (ภาษาจีน: 粿汁; พินยิน: guǒ zhī) เป็นอาหารจีนแต้จิ๋ว ทำจากเส้นกวยจั๊บ น้ำซุปใส่ซีอิ๊วดำ ใส่เครื่องในหมู เป็ด เต้าหู้ ผักดองและไข่ต้ม
  • โลร์มี (จีนตัวย่อ: 卤面; จีนตัวเต็ม: 滷麵; พินยิน: lǔ miàn) เป็นเส้นหมี่แบบฮกเกี้ยน ใส่น้ำซุปสีดำ ใส่เนื้อสัตว์หั่น ลูกชิ้นปลา และถั่วงอก
  • มี่สั้ว (จีนตัวย่อ: 面线; จีนตัวเต็ม: 麵線; pinyin: miàn xiàn) เป็นเส้นมี่สั้ว ซึ่งอาจใส่ลูกชิ้นปลา หรือ หมู ไต ไก่
  • มินเชียงกูเอะห์ (ภาษาจีน: 面煎粿; พินยิน: miàn jiān guǒ) เป็นแพนเค้กชิ้นหนา ใส่ถั่วลิสงบดและน้ำตาล บางแบบใส่มะพร้าวขูดและถั่วแดงบด มีทั้งแบบบลูเบอร์รีชีสและช็อกโกแลต
  • โงเฮียง (ภาษาจีน: 五香; พินยิน: wǔ xiāng) โงเฮียงเป็นอาหารที่ส่วนผสมของผัก อาหารทะเลหรือเนื้อสัตว์
  • หอยทอด (ภาษาจีน: 蚝煎; พินยิน: háo jiān) เป็นหอยนางรมผสมแป้งและไข่นำไปทอด
  • ซาลาเปาหรือเปา (ภาษาจีน: 包; พินยิน: bāo) เป็นขนมนึ่งทำจากแป้งสาลี ไส้เป็นหมูสับ ถั่วแดงบด เม็ดบัวบด หรือผัก
  • ฟัลโลเบียน เป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยหมูผัด ใส่ผักและซัมบัล
  • ซุปเครื่องในหมู (จีนตัวย่อ: 猪杂汤; จีนตัวเต็ม: 豬雜湯; พินยิน: zhū zá tāng) เป็นซุปที่เป็นพื้นฐานของก๋วยจั๊บ
  • ปอเปี๊ยะ (จีนตัวย่อ: 薄饼; จีนตัวเต็ม: 薄餅; พินยิน: báo bǐng) เป็นอาหารแบบจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋ว ใส่กุนเชียง กุ้ง และผักกาดหอม
  • โรยักแบบจีน เป็นสลัดผัก ใส่กะปิสีเข้ม ซึ่งต่างจากโรยักแบบมลายู และแบบมามักหรือแบบทมิฬ
  • ซุนก๋วย(ภาษาจีน: 笋粿; พินยิน: sǔn guǒ) ทำจากผักกาดขาว ใส่ซีอิ๊วดำ
  • โจ๊กปลาแต้จิ๋ว (จีนตัวย่อ: 潮州鱼粥; จีนตัวเต็ม: 潮州魚粥; พินยิน: cháo zhōu yú zhōu) เป็นโจ๊กใส่เนื้อปลา หัวหอมและผักอื่นๆ
  • บีหุนมังสวิรัตน์ (จีนตัวย่อ: 斋米粉; จีนตัวเต็ม: 齋米粉; พินยิน: zhāi mǐ fěn) เป็นซุปบีหุน ใส่ผัก เต้าหู้ หมี่กึง ไม่ใส่เนื้อสัตว์
  • หมี่เกี๊ยว (จีนตัวย่อ: 云吞面; จีนตัวเต็ม: 雲吞麵; พินยิน: yún tūn miàn) เป็นหมี่เหลือง ใส่ไส้เป็นไก่ กุ้ง หรือหมู บางครั้งใส่หมูย่างหั่นบาง ๆ
  • ย้งโต่วฟู่ (จีนตัวย่อ: 酿豆腐; จีนตัวเต็ม: 釀豆腐; พินยิน: niàng dòu fǔ) เป็นน้ำซุปใส่ผักยัดไส้ปลาและเนื้อสัตว์บด น้ำซุปใส่แองโชวี หรือรับประทานแบบแห้งกับซอสพริกและถั่ว
  • ยูเซี่ยก้วย (จีนตัวย่อ: 油条; จีนตัวเต็ม: 油條; พินยิน: yóu tiáo) เป็นขนมทอดที่นิยมใช้ในเทศกาลตรุษจีน
  • ยูเซ้ง (จีนตัวย่อ: 鱼生; จีนตัวเต็ม: 魚生; พินยิน: yú shēng) เป็นสลัดปลาดิบที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อาหารมลายู

[แก้]
หมี่โซโต
นาซิโกเร็ง (ข้าวผัด)
หมี่เรอบุต

เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารของชาวมลายูในคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะชวาและหมู่เกาะรีเยา เครื่องเทศและกะทิเป็นเครื่องปรุงที่พบได้โดยทั่วไป แต่ก็จะใช้เครื่องปรุงของชาวจีน เช่นเต้าหู้ ด้วย ชาวจีนและชาวทมิฬได้นำอาหารของชาวมลายูไปประยุกต์เช่นกัน

  • อาจาด เป็นผักหรือผลไม้ดอง ใส่พริกป่น ถั่วลิสง และเครื่องเทศ โดยมีทั้งแบบอินเดียและแบบเปอรานากัน
  • อาการ์ อาการ์ เป็นวุ้นที่สกัดจากสาหร่ายและเคี่ยวให้แข็ง ลักษณะคล้ายเยลลี่
  • อายัมโกเร็ง หรือไก่ทอด
  • อายัมบาการ์ ไก่ย่างใส่เครื่องเทศและถ้าใช้ปลาเรียกอีกันบาการ์
  • อายัมเปอร์จิก ไก่ย่างใส่ส่วนผสมรสเผ็ดหวาน
  • อายัมเปินเญิต เป็นไก่ทอด ที่ปรับปรุงมาจากอาหารอินโดนีเซีย
  • อัสซัมเปอดาส เป็นอาหารทะเลและผัก กินกับซอสที่ใส่มะขาม กะทิ พริก และเครื่องเทศ
  • บักโซหรือบะโซ เป็นลูกชิ้นเนื้อ กินกับเส้นหมี่
  • เบอเกอดิล หรือ เปอร์เกอเดล เป็นมันฝรั่งทอด กินกับหมี่โซโต
  • เบอลาจัน เป็นกะปิแบบพื้นเมือง ทำจากกุ้ง
  • กะหรี่ปั๊บ หรืออีปก-อีปก เป็นแพสตรีใส่ไส้กะหรี่ไก่ มันฝรั่ง และไข่ต้ม บางครั้งใช้ปลาซาร์ดีนแทนไก่
  • เดิงเดิงปารู เป็นอาหารอินโดนีเซียทำจากปอดวัวแห้ง ปรุงกับเครื่องเทศ
  • กาโด กาโด เป็นสลัดแบบพื้นบ้านของอินโดนีเซีย ใส่ถั่วลิสง ปรุงรสเผ็ด
  • โกเร็งปีซัง เป็นกล้วยห่อหรือชุบแป้ง ทอด รับประทานเป็นของว่าง บางแบบใช้จำปาดะแทน
  • กูไล ดวน อูบี คือใบมันเทศต้มกับกะทิ
  • เกอโรปก เป็นแครกเกอร์ทอด ทำจากกุ้ง บางครั้งใช้ปลาหรือผัก
  • เกอตูปัต ข้าวนึ่ง ห่อเป็นทรงสี่เหลี่ยม กินกับสะเต๊ะ
  • เลอมักซีปุต ทำจากหอย ปรุงกับกะทิ เคี่ยวให้ข้น
  • ลนตง เป็นข้าวนึ่ง ลักษณะคล้ายเกอตูปัต กินกับซุปผักรสเผ็ด
  • หมี่เรอบุต เป็นหมี่เหลือง กินกับซอสหวานและเผ็ดที่ทำจากซีอิ๊ว กินกับไข่ต้มและเต้าหู้
  • หมี่สยาม เป็นหมี่จากข้าว กินกับซุปรสเผ็ด หรือแบบแห้ง กินกับไข่ต้ม
  • หมี่โซโต เป็นหมี่ไก่รสเผ็ด แต่ก็มีแบบไม่เผ็ดด้วย
  • นาซิอายัมเปินเยิต เป็นอาหารอินโดนีเซีย ทำจากไก่ทอด กินกับซัมบัลรสเผ็ด ผักและข้าว
  • นาซิโกเร็ง เป็นข้าวผัดรสเผ็ดและหวาน มีต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซีย
  • นาซิเลอมัก เป็นข้าวหุงกับกะทิ กินกับออมเลต แองโชวี ถั่วลิสง แตงกวา ซัมบัล บางครั้งกินกับไก่ทอด หรือโอตัก-โอตักที่ห่อด้วยใบตอง
  • นาซิปาดัง เป็นอาหารอินโดนีเซีย ทำจากข้าว ใส่เนื้อสัตว์และผัก ใส่ไก่ทอด หรือแกงผัก
  • นาซิกูนิง เป็นข้าวหุงกับกะทิและขมิ้น
  • สะเต๊ะ เป็นเนื้อสัตว์ที่ปรุงกับซอสถั่วลิสงรสเผ็ด กินกับเกอตูปัต แตงกวา และหัวหอม
  • โซโตอายัม เป็นซุปไก่รสเผ็ด กินกับข้าวหรือมันฝรั่งทอด
  • ซัมบัล เป็นเครื่องปรุงรส ที่มีส่วนผสมหลักเป็นพริก
  • โรตียาลา เป็นขนมปังแบน กินกับแกง
  • โรตี จอห์น เป็นโรตีใส่ไข่และเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์ หัวหอม กินกับซอสพริก
  • เรินดัง เป็นเนื้อวัวปรุงกับกะทิ และเครื่องเทศแบบสุมาตรา
  • ซุปหางวัว เป็นซุปใส่หางวัว ใส่จันทน์เทศ กานพลู พริก และเครื่องเทศ
  • โอตัก โอตัก หรือโอตะห์ ทำจากปลา ปรุงรสเผ็ด ห่อใบตองย่าง

อาหารอินเดีย

[แก้]
โรยักแบบอินเดีย
ข้าวกับ ปาปาดัมบนใบตอง

เช่นเดียวกับอาหารสิงคโปร์ประเภทอื่น อาหารสิงคโปร์แบบอินเดียได้รับอิทธิพลจากกลุ่มวัฒนธรรมหลายกลุ่ม อาหารจากอินเดียเหนือและอินเดียใต้สามารถพบได้ทั้งสองแบบในสิงคโปร์[1]

  • อาจาร์ เป็นผักดองและผลไม้ดองที่พบในอาหารมาเลเซียและอาหารเปอรานากัน
  • อัปปัม เป็นแพนเค้กทำจากข้าวหมัก
  • ไก่เนย เป็นอาหารประเภทไก่ มีน้ำราด ทำจากเครื่องเทศ โยเกิร์ต เนย และมะเขือเทศ
  • แกงกะหรี่ เป็นแกงผักแบบอินเดียหรือใส่เนื้อสัตว์ มีรูปแบบของชาวมลายูและชาวจีนด้วย
  • มามักโรยัก เป็นอาหารที่ประกอบด้วยผักและผลไม้หลายชนิด เต้าหู้ อาหารทะเลทอด ถั่วลิสงบด ซอสพริกรสเผ็ดและหวาน มีรูปแบบพื้นบ้านของชาวจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย
  • มะตะบะ เป็นอาหารที่มาจากตะวันออกกลาง เป็นอาหารของมุสลิมอินเดีย ประกอบด้วยแผ่นโรตีใส่ไส้เนื้อสัตว์ทอดรสเผ็ด หัวหอม และไข่ กินกับแกง
  • มูรูกู เป็นแครกเกอร์ชนิดหนึ่ง
  • นาน เป็นขนมปังแบน อบในเตาทันดูร์
  • นาซิบิรยานี เป็นข้าวปรุงหรือหุงใส่แกงแกะ ไก่ ผัก หรือปลา กินกับข้าวบาสมาติ
  • ปาบปาดัม หรือแปบปอมหรือปาปาด เป็นอาหารอินเดียใต้ชนิดหนึ่ง
  • ปูตูมายัม เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากศรีลังกา เป็นเค้กแบน กินกับน้ำตาลมะพร้าว
  • โรตีปราตา เป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากปาราทาของปากีสถานและอินเดีย เป็นอาหารเช้าที่มีชื่อเสียง กินกับน้ำตาลและแกง และรูปแบบสมัยใหม่ที่ใส่ไส้ไข่ เนยแข็ง ช็อกโกแลต มะสะล่า ทุเรียน ไอศกรีม ส่วนมากกรอบด้านนอกและนุ่มด้านใน
  • ซุบกัมบิง เป็นอาหารมามักหรืออาหารของชาวทมิฬมุสลิมแบบดั้งเดิม เป็นซุปแกะรสเผ็ด
  • ซุบตูลัง เป็นอาหารมามักแบบดั้งเดิม ทำจากกระดูกแพะและเนื้อวัว น้ำซุปเป็นซอสรสเผ็ด
  • ทันดูรี เป็นเนื้อสัตว์ปรุง ปกติเป็นไก่ ใช้ส่วนผสมของเครื่องเทศและโยเกิร์ต อบในเตาดินเหนียว
  • โดซา เป็นแพนเค้กข้าวและถั่วเลนทิล กินกับมันฝรั่งรสเผ็ด และซัมบาร์หลายชนิด
  • วาได เป็นอาหารว่างแบบทอด รสเผ็ด ทำจากดาล เลนทิล หรือมันฝรั่ง

อาหารข้ามวัฒนธรรม

[แก้]
กาตงหลักซาและ โอตะก์-โอตะก์

มีอาหารในกลุ่มนี้หลายชนิดที่เป็นอาหารลูกผสมหรืออาหารหลายวัฒนธรรม

  • อายัมบัวะห์เกอลวก เป็นอาหารเปอรานากัน เป็นซุปไก่ใส่เครื่องเทศและถั่วดำ
  • แกงหัวปลา เป็นอาหารของชาวมาลายาลี (เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวอินเดียที่มาจากเกราลา) ที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีนและชาวมลายู ที่นำหัวปลามาต้มในน้ำแกง ใส่กะทิ น้ำมะขามเปียก ใส่ผัก กินกับข้าวหรือขนมปัง
  • การี เลอมัก อายัม เป็นแกงไก่แบบเปอรานากัน ใส่กะทิ
  • การี เดอบัล เป็นแกงแบบยูเรเซียของสิงคโปร์ที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสและเปอรานากัน ใส่ไก่ กะหล่ำปลี ไส้กรอก และเบคอน
  • กุเอะห์ เปียที เป็นทาร์ตที่บางและกรอบ ไส้เป็นส่วนผสมรสหวานและเผ็ดของผักหั่นบางและกุ้ง เป็นอาหารเปอรานากันที่เป็นที่นิยม
  • หลักซาเป็นเส้นหมี่หนาทำจากข้าวหรือบีหุน กินกับน้ำซุปที่เป็นน้ำแกงใส่กะทิ ใส่กุ้ง ไข่ บางครั้งเติมไก่ ถั่วงอก ลูกชิ้น โดยต้นกำเนิดเป็นอาหารเปอรานากัน และมีรูปแบบเฉพาะของสิงคโปร์ที่เรียกกาตงหลักซา บางชนิดมีการตัดหมี่เป็นท่อนสั้น ๆ
  • หมี่โกเร็ง หมี่ไข่สีเหลือง ผัดกับเนยกี ซอสมะเขือเทศ พริก ไข่ ผัก และเนื้อสัตว์หลายชนิด อาจใส่อาหารทะเลได้
  • กุ้งธัญพืช นำกุ้งมาผัดดับธัญพืชรสหวาน
  • ซัมบัล กังกง เป็นผักบุ้งผัดกับซัมบัล
  • สะเต๊ะบีหุน เป็นเส้นบีหุน กินกับซอสถั่วลิสงรสเผ็ด
  • อาหารตะวันตกแบบสิงคโปร์ อาหารยุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน โดยจะมีรูปแบบของอาหารมลายู อาหารจีนไหหลำ ที่ปรุงในสิงคโปร์ และผสมกับอาหารตะวันตก เกิดขึ้นในยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้เกิดอาหาร เช่น สตูหมูในซอสมะเขือเทศกินกับถั่วเขียว ข้าวราดแกงไหหลำและเนื้อไก่ ไก่อบกินกับขนมปัง
  • เตาฮูโกเร็ง เต้าหู้ผัดรสหวาน
  • ตูตูกูเอะห์ เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่ง มีไส้มะพร้าวขูดและถั่วลิสง รสหวาน

อาหารทะเล

[แก้]
ปูผัดพริก

อาหารสิงคโปร์ใช้อาหารทะเลหลายชนิดทั้งปลา หมึก ปู กุ้งมังกร หอย และหอยนางรม อาหารทะเลยอดนิยมได้แก่

  • ซัมบัลสติงเกรย์ หรือฮังฮีร์ (อักษรจีนตัวย่อ: 魟鱼; อักษรจีนตัวเต็ม: 魟魚; พินอิน: gōng yú) เนื้อสัตว์ผสมกับซัมบัล ห่อและเสิร์ฟในใบตอง บางครั้งเรียกอีกัน บาการ์ในภาษามลายู เป็นอาหารทั่วไปในมาเลเซียแต่เป็นอาหารแปลกในสิงคโปร์
  • ปูผัดพริกไทยดำ เป็นการผัดปูเปลือกแข็งกับซอสพริกไทยดำ
  • ปูผัดพริก เป็นปูเปลือกแข็งผัดกับซอสข้นทำจากมะเขือเทศและพริก
  • ออมเลตหอยนางรม ออมเล็ตใส่หอยนางรมผสมกับแป้งและผัดให้สุก ใส่ผักชี

ผลไม้

[แก้]
ทุเรียนในสิงคโปร์

ผลไม้เขตร้อนหลายชนิดพบได้ตลอดปี ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ขนุน ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด ผลไม้เหล่านี้ ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารได้ เช่น ขนมใส่น้ำแข็ง หมูเปรี้ยวหวาน และสลัด เช่น โรยัก

ขนมหวาน

[แก้]
ตังยวน
เซ็นดอล

ขนมหวานในสิงคโปร์มีประวัติความเป็นมาที่หลากหลาย ตัวอย่าง ได้แก่

  • เยลลี่อัลมอนด์ เป็นเยลลี่นิ่มทำจากอัลมอนด์
  • เต้าหู้บาร์เลย์ มักใส่แป๊ะก๊วย หรือเห็ดหิมะ
  • พุดดิ้งมะม่วง
  • ซุปถั่วแดง
  • ซุปถั่วเขียว
  • โอร์นี เป็นขนมแบบแต้จิ๋วที่ประกอบด้วยกล้วยบด ชิ้นมะพร้าว แป๊ะก๊วย เป็นอาหารยอดนิยมในภัตตาคารจีน
  • เค้กชิฟฟ่อนใบเตย เป็นเนื้อเบาใส่ใบเตย มีสีเขียว
  • สาคูแตงไทย แตงไทยหั่นเป็นชิ้นหรือตักเป็นลูก กินกับกะทิและสาคู
  • สาคูแคนตาลูบ แคนตาลูบหั่นเป็นชิ้นหรือตักเป็นก้อนกลม กินกับกะทิและสาคู
  • บุรบุรชาชา กลอยหรือมันเทศ หั่นเป็นชิ้น กินกับสาคูและกะทิ มีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น
  • เซ็นดอล เป็นขนมที่ทำจากกะทิ ใส่น้ำตาลมะพร้าว ตัวเซ็นดอลทำจากแป้งใส่ใบเตย น้ำแข็งไส และใส่เครื่องปรุงอื่นเพิ่มเติม เช่น ถั่วแดง
  • เชงตึง ซุปใสใส่ลำไย ข้าวบาร์เลย์ วุ้นหั่น เม็ดบัว น้ำเชื่อม กินทั้งร้อนและเย็น คล้ายกับอาหารเวียดนามที่เรียกชิงโบเลือง
  • ไอซ์กาจัง เป็นน้ำแข็งไส กินกับเยลลี่ ข้าวโพด ถั่วแดง ลูกจาก ราดด้วยน้ำเชื่อมใส่สี ซึ่งประกอบด้วยน่ำตาลมะพร้าว น้ำกุหลาบ และนมระเหย
  • กุยห์หรือกูเอะห์ เป็นขนมชิ้นเล็ก มีกะทิเป็นส่วนผสมหลัก มีหลายรูปแบบ มักมีผลไม้ เช่น ทุเรียน กล้วย ใบเตย มีลักษณะใกล้เคียงกับขนมในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอาหารเปอรานากัน ตัวอย่างเช่น กูเอะห์ลาปิส เป็นขนมที่มีหลายชั้น ใช้ไข่ขาวปริมาณมาก ลาปิสซากู เป็นขนมที่มีหลายสี รสหวาน ใส่กะทิ
  • ทาร์ตสับปะรด ทาร์ตใส่ไส้สับปะรดกวน
  • ปูลุต อีตัม เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวดำ กินกับกะทิ
  • เรด รูบี หรือทับทิมกรอบ เป็นขนมไทยที่ทำจากชิ้นแห้วผสมกับแป้งมันและสีแดง กินกับน้ำแข็งไส น้ำหวานสีแดง และนมระเหย
  • เค้กซูกี เป็นเค้กนิ่ม ทำจากแป้งสาลีชนิดพิเศษที่ใช้ทำพาสตา ใส่ไข่แดงจำนวนมาก พบในอาหารยูเรเชีย อาหารมลายู และอาหารจีน
  • ซากูกูลาเมอลากา พุดดิ้งสาคูกินกับกะทิและน้ำเชื่อมจากน้ำตาลปี๊บ
  • เตาซาน ถั่วเขียวในเยลลี่ กินแบบร้อน
  • ตังยวน ขนมทรงกลมทำจากข้าวเหนียว กินกับน้ำซุป บางครั้งใส่ไส้งาดำ ถั่วแดง หรือถั่วลิสง
  • เต้าฮวย เต้าหู้แบบอ่อน กินกับน้ำเชื่อม

เครื่องดื่ม

[แก้]
กาแฟแบบพื้นเมืองที่เรียกโกปีโอ

เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในสิงคโปร์ ได้แก่

  • เฉาก๊วย (ภาษาจีน: 仙草水; pinyin: xiān cǎo shuǐ) เป็นเครื่องดื่มรสหวาน ใส่เฉาก๊วย
  • บาร์เลย์มะนาว (ภาษาจีน: 柠檬薏米水; pinyin: níng méng yì mǐ shuǐ)
  • น้ำแห้ว (ภาษาจีน: 马蹄水; pinyin: mǎ tí shuǐ)
  • น้ำเต้าหู้ (ภาษาจีน: 豆奶/豆花水; pinyin: dòu nǎi/dòu huā shuǐ)
  • ชาเก๊กฮวย (ภาษาจีน: 菊花茶; pinyin: jú huā chá)
  • บันดุง เป็นน้ำเชื่อมกุหลาบ ใส่นมระเหย
  • ชาฟอง แบบดั้งเดิมจะใส่ลูกโบบาทำจากมันสำปะหลังผสมกับคาราจีแนนลงในชาดำใส่นมแล้วเขย่า
  • น้ำอ้อยแบบคั้นสด
  • ชาขิงผสมกับนมระเหย
  • เบียร์ไทเกอร์

อาหารสิงคโปร์ที่แปลกในสิงคโปร์

[แก้]
สิงคโปร์สลิง
หมี่สิงคโปร์
  • หมี่สิงคโปร์ (ภาษาจีน: 星州炒米粉; พินอิน: xīng zhōu chǎo mí fěn) เป็นเส้นบีหุนผัด ปรุงรสด้วยผงกะหรี่ ไม่พบในสิงคโปร์โดยทั่วไป เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนที่มาจากตะวันตกและฮ่องกง
  • สิงคโปร์สลิง เป็นคอกเทลที่พัฒนาขึ้นในแรฟเฟิลโฮเต็ลในสิงคโปร์ ไม่พบทั่วไปในสิงคโปร์ แต่จะพบเฉพาะในแรฟเฟิลโฮเต็ล
  • ก๋วยเตี๋ยวผัดสิงคโปร์ (อักษรจีนตัวย่อ: 星州炒粿条; อักษรจีนตัวเต็ม: 星州炒粿條; พินอิน: xīng zhōu chǎo guǒ tiáo) เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบแบน ผัดกับซีอิ๊วดำ พบในร้านอาหารจีนในแคนาดา และสหรัฐ ไม่พบในสิงคโปร์ อาหารที่พบในสิงคโปร์และมีลักษณะใกล้เคียงกันคือชาร์ก๋วยเตี๋ยว

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Indian Cuisines in Singapore". สืบค้นเมื่อ 7 April 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]